สรุปการประชุมสภาผู้แทนราษฎรการรายงานแสดงผลการดำเนินการของคณะรัฐมนตรี ฉบับที่ ๕

ข่าวการเมือง Friday May 28, 2004 16:00 —รัฐสภา

ฉบับที่ ๕
สรุปการประชุมสภาผู้แทนราษฎร
การรายงานแสดงผลการดำเนินการของคณะรัฐมนตรี
ตามแนวนโยบายพื้นฐานแห่งรัฐ
ตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย มาตรา ๘๘ วรรคสอง
วันพุธที่ ๒๖ พฤษภาคม ๒๕๔๗
เวลา ๑๙.๓๐ - ๒๐.๓๐ นาฬิกา
ว่าที่ร้อยตรี ไพโรจน์ สุวรรณฉวี สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร จังหวัดนครราชสีมา พรรคชาติพัฒนา อภิปรายผลการดำเนินงานของรัฐบาล (ต่อ) ในประเด็นดังนี้
- การฟื้นฟูและพัฒนาระบบสถาบันการเงินที่ได้รับผลกระทบจากวิกฤตเศรษฐกิจ เมื่อปี ๒๕๔๐ ไม่ประสบผลสำเร็จ เนื่องจากมีการยุบเลิกคณะกรรมการปฏิรูประบบสถาบันการเงิน (ปรส.) โดยที่ผู้กระทำความผิดยังไม่ได้รับการลงโทษ จากความผิดในกรณีต่าง ๆ ดังนี้
- กรณีการตั้งพวกพ้องเข้ามาเป็นคณะกรรมการใน ปรส. โดยขาดคุณสมบัติ
- กรณีการประมูลสินทรัพย์ในการชำระหนี้เพื่อที่อยู่อาศัย ได้มีการตั้ง บริษัทต่างชาติบริษัทหนึ่งเป็นที่ปรึกษาในการเขียน TOR เพื่อนำสินทรัพย์ ดังกล่าวมาประมูลขาย โดยบริษัทที่ปรึกษาในการเขียน TOR บริษัทนี้กลับมีหุ้นถึงร้อยละ ๙๙ ในบริษัทที่ชนะการประมูล และสินทรัพย์ที่ทำการประมูลมีมูลค่า ๓๐,๐๐๐ ล้านบาท ซึ่งประมูลได้ในราคาเพียง ๑๐,๐๐๐ ล้านบาท และเมื่อประมูลได้แล้วนั้นจะต้องทำสัญญาภายใน ๗ วัน แต่บริษัทที่ประมูลได้กลับไม่มาทำสัญญา ต่อมาภายหลัง ปรส. ได้ทำสัญญากับอีกบริษัทหนึ่งที่ไม่ได้เป็นผู้ที่ยื่นประมูลมาแต่ตั้งแต่ต้น นอกจากนี้ยังได้รับสิทธิประโยชน์ทางด้านภาษีด้วยการยกเว้นภาษีมูลค่าเพิ่ม และลดค่าธรรมเนียมเหลือร้อยละ ๐.๐๑ ด้วย ซึ่งการทำสัญญานั้นไม่น่าจะถูกต้อง
- กรณีการเปิดประมูลสินเชื่อทางธุรกิจ ซึ่งมีมูลค่าของสินทรัพย์ ประมาณ ๑ แสน ๙ พันล้านบาทเศษ โดยมีบริษัทต่างชาติเป็นผู้ประมูลได้ในราคา ๒๑,๔๕๘ ล้านบาท คิดเป็นเพียงร้อยละ ๑๙.๕๙ เท่านั้น
- กรณีการขายทรัพย์สินของสถาบันการเงินทั้ง ๕๖ แห่ง ที่ปิดกิจการไปแล้ว มีมูลค่าทั้งหมดประมาณ ๖ แสนล้านบาท แต่ ปรส. ประมูลขายได้เพียง ๒ แสน ๖ หมื่นล้านบาทเท่านั้น
โดยว่าที่ร้อยตรี ไพโรจน์ฯ ได้เรียกร้องให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังดำเนินการสอบสวนและดำเนินคดีกับนักการเมืองและพรรคพวก
ในระหว่างที่ว่าที่ร้อยตรี ไพโรจน์ สุวรรณฉวี ได้อภิปรายอยู่นั้น ได้มีสมาชิกฯ ประท้วงว่า ไม่ควรปล่อยให้มีการอภิปรายย้อนหลังไปถึงรัฐบาลในอดีต โดยหากให้มีการอภิปรายถึงรัฐบาล ในอดีตแล้วเหตุใดจึงไม่กล่าวถึงการลอยตัวค่าเงินบาทด้วย ซึ่งขณะนั้นนายกรัฐมนตรีดำรงตำแหน่ง รองนายกรัฐมนตรีเป็นผู้ได้ประโยชน์
นายโภคิน พลกุล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย ได้ลุกขึ้นชี้แจงกรณีถูกพาดพิง ๒ ประเด็น
- การกล่าวหานายกรัฐมนตรีว่ามีส่วนเกี่ยวข้องกับการลอยตัวค่าเงินบาทนั้น ไม่ถูกต้องเนื่องจากนายกรัฐมนตรีได้เข้ามาเป็นรองนายกรัฐมนตรีในสมัยนั้น หลังจากการประกาศลอยตัวค่าเงินบาทแล้ว
- เมื่อผู้กล่าวหามาเป็นรัฐบาลในเวลาต่อมา นายโภคิน พลกุล ก็ได้ให้ตั้งกรรมการตรวจสอบ และให้ดำเนินคดี แต่ก็ไม่มีการดำเนินการใด ๆ จนนายโภคินต้อง ฟ้องร้องคดีด้วยตัวเอง โดยศาลชั้นต้นได้ตัดสินให้ชนะคดีได้รับเงินชดใช้ค่าเสียหาย ๑๐ ล้านบาท แต่ขณะนี้อยู่ระหว่างการอุทธรณ์ของคู่กรณี

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ