สรุปการประชุมสภาผู้แทนราษฎรการรายงานแสดงผลการดำเนินการของคณะรัฐมนตรี ฉบับที่ ๗

ข่าวการเมือง Friday May 28, 2004 16:02 —รัฐสภา

ฉบับที่ ๗
สรุปการประชุมสภาผู้แทนราษฎร
การรายงานแสดงผลการดำเนินการของคณะรัฐมนตรี
ตามแนวนโยบายพื้นฐานแห่งรัฐ
ตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย มาตรา ๘๘ วรรคสอง
วันพุธที่ ๒๖ พฤษภาคม ๒๕๔๗
เวลา ๒๑.๓๐ - ๒๒.๓๐ นาฬิกา
ต่อจากนั้นนายวราเทพ รัตนากร รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง ได้ตอบชี้แจงว่า เงินทุนสำรองระหว่างประเทศที่รัฐบาลชุดที่ผ่านมา สามารถทำให้เพิ่มขึ้นจาก ๑,๖๐๐ ล้านเหรียญดอลลาร์สหรัฐ มาเป็น ๓๒,๐๐๐ ล้านเหรียญดอลลาร์สหรัฐ และรัฐบาลชุดนี้ทำให้เงินทุนสำรองระหว่างประเทศเพิ่มขึ้นจาก ๓๒,๐๐๐ ล้านเหรียญดอลลาร์สหรัฐ เป็น ๔๒,๐๐๐ ล้านเหรียญดอลลาร์สหรัฐ ซึ่งเพิ่มขึ้นเพียง ๑๐,๐๐๐ ล้านเหรียญดอลลาร์สหรัฐ นั้น ในเรื่องดังกล่าวนี้เป็นเรื่องเกี่ยวกับบัญชี และ ในปี ๒๕๔๗ เงินทุนสำรองระหว่างประเทศเพิ่มขึ้นเป็น ๔๓,๐๐๐ ล้านเหรียญดอลลาร์สหรัฐ แต่เรื่องที่รัฐบาลชุดที่ผ่านมาได้ชี้แจงว่า สามารถเพิ่มเงินทุนสำรองได้ถึง ๓๒,๐๐๐ ล้านเหรียญดอลลาร์สหรัฐ นั้น ยังมีหนี้อยู่อีก ๖๔,๐๐๐ ล้านเหรียญดอลลาร์สหรัฐ ที่ต้องนับรวมเข้าไปด้วย แต่รัฐบาลชุดปัจจุบันสามารถทำให้หนี้ลดลงเหลือเพียง ๕๒,๐๐๐ ล้านเหรียญดอลลาร์สหรัฐ ลดลงถึง ๑๒,๐๐๐ ล้านเหรียญดอลลาร์สหรัฐ และรัฐบาลชุดที่ผ่านมายังได้มีการทำธุรกรรม SWAP ติดลบถึง ๒,๐๐๐ ล้านเหรียญดอลลาร์สหรัฐ แต่รัฐบาลชุดปัจจุบันทำธุรกรรม SWAP เป็นบวก ๗,๐๐๐ ล้านเหรียญดอลลาร์สหรัฐ จึงสรุปได้ว่ารัฐบาลชุดปัจจุบันสามารถทำให้เงินทุนสำรองเพิ่มขึ้นเป็น ๔๓,๐๐๐ ล้านเหรียญดอลลาร์สหรัฐ บวกกับอีก ๗,๐๐๐ ล้านเหรียญดอลลาร์สหรัฐ ที่ได้จากการทำธุรกรรม SWAP และบวกกับอีก ๑๒,๐๐๐ ล้านเหรียญดอลลาร์สหรัฐ ในการลดหนี้ลง
ส่วนการชำระหนี้ IMF ก่อนกำหนดนั้น หนี้ของ IMF ประกอบด้วยเงินกู้ ๒ สกุล คือ ดอลลาร์สหรัฐ ซึ่งการจ่ายดอกเบี้ยเป็นแบบอัตราลอยตัวและสกุลเงินเยน ซึ่งการจ่ายดอกเบี้ยเป็นแบบอัตราคงที่ คือ ร้อยละ ๒ การชำระหนี้ก่อนกำหนดนั้นถือว่าเป็นการประหยัดเงิน เพราะว่าขณะนี้อัตราดอกเบี้ยที่จะต้องจ่ายนั้นอยู่ที่ร้อยละประมาณไม่ถึง ๑ เท่านั้น
จากนั้น นายธารินทร์ นิมมานเหมินท์ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร แบบบัญชี รายชื่อ พรรคประชาธิปัตย์ ได้อภิปรายในประเด็นที่ถูกพาดพิง คือ
- เรื่องปัญหาวิกฤตทางเศรษฐกิจ ประเทศไทยได้เสียเงินทุนสำรองระหว่างประเทศจากที่มีอยู่ถึง ๔๐,๐๐๐ ล้านเหรียญดอลลาร์สหรัฐ แต่เมื่อใช้อัตราแลกเปลี่ยนแบบลอยตัวทำให้เหลือเงินทุนสำรองฯ เพียง ๘๐๐ ล้านเหรียญดอลลาร์สหรัฐ และเมื่อได้เข้ามาดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง หนี้สาธารณะ ที่รัฐบาลต้องเข้าไปดูแลมีถึง ๑ ล้านล้านบาท ซึ่งเป็นปัญหาความไม่มั่นคงในระบบสถาบันการเงินที่จะต้องได้รับการแก้ไข
- เรื่อง พระราชกำหนดว่าด้วยการปฏิรูประบบสถาบันการเงิน (ปรส.) เนื่องจากประชาชนและผู้ฝากเงิน พร้อมทั้งเจ้าหนี้ได้รับความเสียหายจากการปิดสถาบันการเงิน ๕๘ แห่ง โดยมีกองทุนฟื้นฟูเป็นเจ้าหนี้รายใหญ่รายเดียวของทั้ง ๕๘ สถาบันการเงิน จึงได้มีการออกพระราชกำหนดจัดตั้ง ปรส.ขึ้น ซึ่งเป็นเงื่อนไข ที่รัฐบาลได้ทำไว้กับ IMF โดยต้อง
- เป็นองค์กรเบ็ดเสร็จ ห้ามถูกแทรกแซงโดยพรรคการเมืองและกระทรวง การคลัง
- มีคณะกรรมการซึ่งมีอำนาจในการบริหารงานต่าง ๆ อย่างอิสระ
- ให้ดำเนินการประมูลสินทรัพย์ด้วยความโปร่งใสและรวดเร็ว
จากนั้นได้ตั้งข้อสังเกตไว้ว่า มีความเห็นด้วยกับหลักการปฏิบัติของ ปรส. แต่หาก ปรส. ไม่พยายามแยกหนี้ดี-หนี้เสีย ออกจากกันตั้งแต่แรกแล้ว สุดท้ายหนี้ดีจะกลายเป็นหนี้เสียและการประมูล สินทรัพย์ในช่วงที่ประเทศอยู่ในภาวะวิกฤตินั้น คงหาผู้ที่มาประมูลได้ยาก ซึ่งข้อสังเกตดังกล่าวนี้ไม่ได้รับการยอมรับและนำไปปฏิบัติ สิ่งแรกที่ทำเมื่อได้เข้ามาเป็นรัฐบาล คือ การเร่งจัดตั้งธนาคารรัตนสินทร์เพื่อรองรับการแยกหนี้ดีหนี้เสีย โดยการช่วยลูกค้าที่ดีของ ปรส. ไม่ให้กลายเป็นหนี้เสีย แต่หลังจากที่สถาบันการเงินได้ถูกปิดลง ๘-๙ เดือน หนี้ในส่วนที่ดีกลายเป็นหนี้เสีย ทำให้หนี้ที่ไม่เกิดรายได้ NPL สูงถึงร้อยละ ๙๘ การแยกหนี้ดีหนี้เสียจึงไม่สามารถทำได้

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ