สรุปการประชุมสภาผู้แทนราษฎรการรายงานแสดงผลการดำเนินการของคณะรัฐมนตรี ฉบับที่ ๘

ข่าวการเมือง Friday May 28, 2004 16:03 —รัฐสภา

ฉบับที่ ๘
สรุปการประชุมสภาผู้แทนราษฎร
การรายงานแสดงผลการดำเนินการของคณะรัฐมนตรี
ตามแนวนโยบายพื้นฐานแห่งรัฐ
ตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย มาตรา ๘๘ วรรคสอง
วันพุธที่ ๒๖ พฤษภาคม ๒๕๔๗
เวลา ๒๒.๓๐ นาฬิกา - เลิกประชุม
นายรุ่งเรือง พิทยศิริ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรระบบบัญชีรายชื่อ พรรค ไทยรักไทย ได้อภิปรายในเรื่อง การฟื้นฟูสถาบันการเงินและการแก้ปัญหาสินทรัพย์ด้อยคุณภาพ โดยได้กล่าวว่า การปฏิรูปสถาบันการเงินในปี ๒๕๓๙ ซึ่งมีการปิดสถาบันการเงินทั้งหมด ๑๖ แห่ง เป็นการปิดชั่วคราวเพื่อเข้าไปตรวจสอบสถานะการเงิน แต่เนื่องจากประเทศประสบกับภาวะเศรษฐกิจในปี ๒๕๔๐ จึงทำให้การปิดสถาบันการเงินในครั้งนั้นต้องปิดถาวร
ในการปกป้องค่าเงินบาท จะต้องทำให้ค่าเงินบาทแข็งขึ้น เพื่อให้เกิดผลประโยชน์แก่การชำระเงินต่างประเทศ โดยเฉพาะอย่างยิ่งเรื่องอัตราดอกเบี้ย ในกรณีที่อัตราดอกเบี้ยการชำระหนี้ สูงมากๆ จะทำให้ NPL เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว ส่งผลเสียหายต่อการปฏิรูปสถาบันการเงินทำให้การดำเนินงานเป็นไปอย่างยากลำบาก
ด้านการฟื้นฟูตลาดเงิน มีการรวมตลาดเงินบาทภายในและภายนอกประเทศ ส่งผลทำให้มีการนำเงินบาทไปซื้อเงินดอลลาร์มากขึ้น ดังนั้นเงินบาทจึงมีค่าลดลงอย่างรวดเร็ว
ในขณะนั้นรัฐบาลได้ใช้นโยบายดอกเบี้ยต่ำและนโยบายขาดดุล แต่ก็ยังไม่สามารถ แก้ไขปัญหาเศรษฐกิจได้
การเข้าไปจัดการแก้ไขหนี้ด้อยคุณภาพของรัฐบาล มีการจัดตั้ง ปรส. และ บสท. ซึ่งต่างก็มีเจตนารมณ์ในการจัดตั้งไม่แตกต่างกัน โดยเข้าไปจัดการหนี้ด้อยคุณภาพ และฟื้นฟูปรับปรุงโครงสร้างให้เกิดประสิทธิภาพ โดยการดำเนินงานของ ปรส. นั้น จะเข้าไปดำเนินการโดยการเลหลังขายทั้งหมด ๑๐๐ % ส่วน บสท. จะทำการฟื้นฟู ๖๐ % ส่วนที่เหลือจึงจะขายเลหลัง
ในส่วนตัวนั้นขอถามรัฐบาลดังนี้
- ในเรื่องการออกตั๋วสัญญาใช้เงินของธนาคารกรุงไทย จำนวน ๓ แสน ๘
หมื่นล้านบาทที่ครบกำหนดจะต้องจ่ายในปีนี้ ซึ่งในขณะนี้รัฐบาลก็ยังไม่ได้
กล่าวถึงเรื่องนี้แต่อย่างใด
- การตั้งคณะกรรมการศึกษารายงาน ศปร.* (ศศปร.) ๓ นั้น ยังไม่ทราบว่า
เรื่องดังกล่าวอยู่ในขั้นตอนช่วงใด ดังนั้นจึงเรียกร้องให้รัฐมนตรีว่าการ
กระทรวงการคลังช่วยตรวจสอบด้วย
ต่อมา นายโภคิน พลกุล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย ได้กล่าวเกี่ยวกับวิกฤติทางเศรษฐกิจในช่วงปี ๒๕๓๕ - ๒๕๓๘ ว่า ในปี ๒๕๓๗ การเปิดวิเทศธนกิจจะมีการนำเงินกู้ ต่างประเทศระยะสั้นเข้ามาจำนวนมาก แต่เนื่องจากการบริหารจัดการไม่ดีพอ จึงเกิดปัญหาดังกล่าว ขณะนั้นธนาคารแห่งประเทศไทยได้มีนโยบาย ๕ อย่าง เพื่อทำให้เศรษฐกิจดีขึ้น ดังนี้
๑. ใช้นโยบายการคลังที่เข้มงวด
๒. ใช้นโยบายการเงินและนโยบายด้านอัตราดอกเบี้ย
๓. เพิ่มเงินทุนสำรอง
๔. ใช้นโยบายอัตราแลกเปลี่ยนที่มีความยืดหยุ่น
๕. กีดกันการนำเข้าเงินกู้ระยะสั้น
ทั้งนี้ปัญหาวิกฤติทางเศรษฐกิจได้สะสมมาเป็นเวลานานแล้ว แต่เพิ่งประสบภาวะวิกฤติอย่างรุนแรงในปี ๒๕๓๙ อันเนื่องมาจากการดำเนินนโยบายที่ผิดพลาดต่อเนื่องอย่างยาวนานของ รัฐบาลในอดีต
ต่อมา นายวราเทพ รัตนากร รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง ได้กล่าวถึง การดำเนินการแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจให้ดีขึ้น โดยมีการจัดตั้งคณะกรรมการ ศศปร.ในปี ๒๕๔๕ เพื่อทำการศึกษาหาข้อยุติปัญหาดังกล่าว โดยผลการศึกษาจะสรุปเสร็จสิ้นในเดือนมิถุนายน ๒๕๔๗ นี้
* ศปร. ย่อมาจาก คณะกรรมการศึกษาและเสนอแนะมาตรการเพิ่มประสิทธิภาพการบริหารจัดการระบบ
การเงินของประเทศ

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ