ปัญหาการจัดการศึกษาตามรัฐธรรมนูญฯกรณีการเก็บค่าใช้จ่ายทางการศึกษาขั้นพื้นฐาน

ข่าวเศรษฐกิจ Wednesday June 30, 2004 13:12 —สภาที่ปรึกษาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ

ความเห็นและข้อเสนอแนะ
เกี่ยวกับปัญหาการจัดการศึกษาตามรัฐธรรมนูญฯกรณีการเก็บค่าใช้จ่ายทางการศึกษาขั้นพื้นฐาน
1. ความเป็นมา
รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2540 มีบทบัญญัติเกี่ยวกับการจัดการศึกษาขั้นพื้นฐานไว้ โดยเฉพาะในหมวด 5 แนวนโยบายพื้นฐานแห่งรัฐ ตามมาตรา 81 และ ในหมวด 3 สิทธิและ
เสรีภาพของปวงชนชาวไทย ตามมาตรา 43 บัญญัติให้บุคคลย่อมมีสิทธิเสมอกันในการรับการศึกษาขั้นพื้นฐานไม่น้อยกว่าสิบสองปีที่รัฐจะต้องจัดให้อย่างทั่วถึงและ มีคุณภาพโดยไม่เก็บค่าใช้จ่าย โดยเฉพาะประเด็นที่เกี่ยวข้องกับการเก็บค่าใช้จ่ายทาง การศึกษาในการจัดการศึกษาขั้นพื้นฐานที่มีความเกี่ยวข้องกับพระราชบัญญัติการศึกษา แห่งชาติ พุทธศักราช 2542 และที่แก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่ 2) พุทธศักราช 2545 ในมาตรา 10 (1) ที่บัญญัติว่า การจัดการศึกษาต้องจัดให้บุคคลมีสิทธิและโอกาสเสมอกันในการรับการศึกษาขั้นพื้นฐานไม่น้อยว่าสิบสองปีที่รัฐต้องจัดให้อย่างทั่วถึงและมีคุณภาพ โดยไม่เก็บค่าใช้จ่าย มาตรา 58 ให้มีการระดมทรัพยากรและการลงทุนด้านงบประมาณ การเงินและ ทรัพย์สิน ทั้งจากรัฐ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น บุคคล ครอบครัว ชุมชน มาตรา 59 และมาตรา 60 ที่กำหนดให้รัฐต้องจัดสรรงบประมาณแผ่นดินให้กับการศึกษา โดยเฉพาะการจัดสรรเงินอุดหนุนทั่วไปเป็นค่าใช้จ่ายรายบุคคลที่เหมาะสมแก่ผู้เรียนการศึกษาภาคบังคับและการศึกษา ขั้นพื้นฐานที่จัดโดยรัฐและเอกชนให้เท่าเทียมกัน
การดำเนินการของหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับการจัดการศึกษานับตั้งแต่ประกาศใช้ รัฐธรรมนูญฯ พ.ศ.2540 และพระราชบัญญัติการศึกษาแห่งชาติ พ.ศ.2542 และที่แก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่2) พ.ศ.2545 ได้ดำเนินการตามมาตราต่างๆ ในหลายประเด็น และยังไม่สามารถดำเนินการได้ในบางมาตรา เมื่อนำมาพิจารณาพบว่าในบางประเด็นที่มีการดำเนินการไปแล้วนั้น ไม่สอดคล้องกับรัฐธรรมนูญฯและพระราชบัญญัติการศึกษาแห่งชาติฯ โดยเฉพาะในประเด็นที่เกี่ยวข้องกับการเก็บค่าใช้จ่ายทางการศึกษาในระดับการศึกษาขั้นพื้นฐาน
สภาที่ปรึกษาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ซึ่งมีหน้าที่ในการให้คำปรึกษาและข้อเสนอแนะต่อคณะรัฐมนตรีในประเด็นปัญหาต่างๆ ที่เกี่ยวข้องเศรษฐกิจและสังคม ตามหมวด 5 แห่งรัฐธรรมนูญฯ เพื่อให้เกิดประโยชน์แก่สาธารณะ จึงได้ดำเนินการศึกษาประเด็น “ปัญหาการจัดการศึกษาตามรัฐธรรมนูญฯ กรณีการเก็บค่าใช้จ่ายทางการศึกษาขั้นพื้นฐาน” ขึ้น เพื่อจัดทำความคิดเห็นและข้อเสนอแนะต่อรัฐบาลในประเด็นดังกล่าวต่อไป
2. การดำเนินการของสภาที่ปรึกษาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ
การศึกษาเรื่อง “ปัญหาการจัดการศึกษาตามรัฐธรรมนูญฯ กรณีการเก็บค่าใช้จ่ายทางการศึกษาขั้นพื้นฐาน” มีวัตถุประสงค์เพื่อประเมินผลการดำเนินการด้านการศึกษาของ หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง โดยอาศัยการพิจารณาจากเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญฯ เป็นแนวทางใน การประเมิน และ วิเคราะห์ถึงสภาพปัญหาและอุปสรรคของการจัดการศึกษาที่ไม่เป็นไปตาม รัฐธรรมนูญฯ รวมถึงพิจารณาแนวทางในการดำเนินการจัดการศึกษาของรัฐให้สอดคล้องกับ รัฐธรรมนูญฯ ในประเด็นที่เกี่ยวข้องกับการเก็บค่าใช้จ่ายทางการศึกษาขั้นพื้นฐาน
สภาที่ปรึกษาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ได้ดำเนินการรวบรวมข้อมูลจากหน่วยงาน องค์กร และแหล่งข้อมูลต่างๆ เพื่อรับฟังความคิดเห็นจากผู้ที่เกี่ยวข้อง โดยการดำเนินงานของสภาที่ปรึกษาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ในการศึกษาประเด็นที่เกี่ยวข้องกับการเก็บค่าใช้จ่ายทางการศึกษาขั้นพื้นฐาน ประกอบด้วย
- การสำรวจวรรณกรรม โดยการศึกษาข้อมูลจากเอกสาร รายงาน หนังสือสั่งการ และหนังสือหารือระหว่างหน่วยงาน ทั้งที่เป็นข้อมูลของภาครัฐ และภาคเอกชน นักวิชาการ และองค์กรพัฒนาเอกชนที่เกี่ยวข้องกับการจัดการศึกษา
- การจัดเสวนากลุ่มย่อย โดยเชิญผู้บริหารระดับสูง ผู้ทรงคุณวุฒิ ผู้เชี่ยวชาญ และ ตัวแทนจากองค์กรต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง เพื่อเข้าร่วมแสดงความคิดเห็นและกำหนดประเด็นการศึกษา ประกอบด้วยผู้แทนจากกระทรวงศึกษาธิการ สมาชิกสภาร่าง รัฐธรรมนูญฯ สำนักงานผู้ตรวจการแผ่นดินของรัฐสภา สภาผู้ปกครองและครูแห่งประเทศไทย องค์กรเครือข่ายภาคประชาชนที่เกี่ยวข้องกับการศึกษา นักวิชาการ สมาชิกสภาที่ปรึกษาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ
- การจัดสัมมนา โดยเชิญผู้บริหารระดับสูง ผู้ทรงคุณวุฒิ ผู้เชี่ยวชาญ และตัวแทนจากองค์กรต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง เพื่อระดมและร่วมแสดงความคิดเห็นนำไปสู่การกำหนดประเด็นการศึกษา ประกอบด้วยผู้แทนจากกระทรวงศึกษาธิการ สมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญฯ สำนักงานผู้ตรวจการแผ่นดินของรัฐสภา สภาผู้ปกครองและครูแห่งประเทศไทย บุคลากรทางการศึกษาของภาครัฐและเอกชน องค์กรเครือข่ายภาคประชาชนที่เกี่ยวข้องกับการศึกษา นักวิชาการ สมาชิกสภาที่ปรึกษาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ และผู้สนใจ
- การรวบรวมความคิดเห็นในรูปแบบเอกสารแสดงความคิดเห็นจากผู้เข้าร่วมการสัมมนาและผู้ที่ไม่ได้เข้าร่วมการสัมมนาสภาที่ปรึกษาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติได้ดำเนินการรวบรวมข้อมูลและความคิดเห็นที่มีอยู่อย่างครบถ้วน เพื่อใช้ในการวิเคราะห์ สังเคราะห์ และประมวลเป็นความเห็นและข้อเสนอแนะของสภาที่ปรึกษาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติเสนอต่อคณะรัฐมนตรี โดยคำนึงถึงทุกความคิดเห็นที่สภาที่ปรึกษาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติได้รับในทุกด้าน ทั้งนี้สภาที่ปรึกษาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติได้ดำเนินการจัดทำความเห็นและข้อเสนอแนะโดยยึดหลักการเป็นภาวะที่ดีที่สุดภายใต้ความจำกัด (optimization) การจัดลำดับความสัมพันธ์ก่อนหลัง (prioritization) ความคิดสร้างสรรค์และทำได้จริง และก่อให้เกิดพลังผลักดันให้เกิดการปฏิบัติ
3. ข้อเท็จจริงเกี่ยวกับการดำเนินการทางด้านการศึกษา
3.1 เจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญฯและพระราชบัญญัติการศึกษาแห่งชาติ
ในหมวด 3 มาตรา 43 ตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2540 กล่าวถึงสิทธิและเสรีภาพทางด้านการศึกษาของบุคคลและองค์กรต่างๆ ประกอบด้วย
- สิทธิของประชาชนชาวไทยในการรับการศึกษาขั้นพื้นฐานไม่น้อยกว่าสิบสองปีที่รัฐจะต้องจัดให้อย่างทั่วถึงและมีคุณภาพ โดยไม่เก็บค่าใช้จ่าย
- การคำนึงถึงการมีส่วนร่วมขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นและเอกชนในการจัด การศึกษาอบรมของรัฐ
- การให้ความคุ้มครองการจัดการศึกษาอบรมขององค์กรวิชาชีพและเอกชนภายใต้การกำกับดูแลของรัฐ ทั้งนี้ให้เป็นไปตามกฎหมายบัญญัติ ในหมวด 5 มาตรา 81 ตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2540 แนวนโยบายพื้นฐานแห่งรัฐ กล่าวถึงแนวนโยบายพื้นฐานแห่งรัฐด้านการศึกษา ซึ่งประกอบด้วยแนวนโยบายที่สำคัญที่รัฐต้องดำเนินการ ดังต่อไปนี้
- จัดการศึกษาอบรมและสนับสนุนให้เอกชนจัดการศึกษาอบรมให้เกิดความรู้คู่คุณธรรม
- จัดให้มีกฎหมายเกี่ยวกับการศึกษาแห่งชาติ
- การปรับปรุงการศึกษาให้มีความสอดคล้องกับการเปลี่ยนแปลงทางด้านเศรษฐกิจและสังคม
- สร้างเสริมความรู้และปลูกฝังจิตสำนึกที่ถูกต้องเกี่ยวกับการเมืองการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข
- การสนับสนุนการค้นคว้าวิจัยในศิลปวิทยาการต่างๆ
- เร่งรัดพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีเพื่อการพัฒนาประเทศ
- การพัฒนาวิชาชีพครู
- ส่งเสริมภูมิปัญญาท้องถิ่น ศิลปะ และวัฒนธรรมของชาติ
3.2 การดำเนินงานของหน่วยงานที่เกี่ยวข้องที่ผ่านมา
จากความไม่ชัดเจนถึงวิธีการและการดำเนินงานที่ผ่านมามีข้อถกเถียงกันเป็นวงกว้างในประเด็นของการเรียกเก็บค่าใช้จ่ายทางการศึกษาของสถานศึกษาในระบบทุกระดับ โดยเฉพาะระดับการศึกษาขั้นพื้นฐาน ซึ่งเป็นส่วนประกอบที่สำคัญของระบบการศึกษาทั้งหมด หน่วยงานที่เกี่ยวข้องจึงดำเนินการศึกษา สอบถาม วิเคราะห์ประเด็นการเก็บค่าใช้จ่ายทางการศึกษา เพื่อให้สามารถดำเนินการไปได้และมีความสอดคล้องกับรัฐธรรมนูญฯและพระราชบัญญัติการศึกษาแห่งชาติฯ นั้น มีรายละเอียดโดยสรุปได้ดังนี้
3.2.1 กระทรวงศึกษาธิการได้ดำเนินการ โดยมีหนังสือถึงคณะกรรมการกฤษฎีกา ตามหนังสือที่ ศธ 0209 / 100 ลงวันที่ 21 สิงหาคม 2546 และ หนังสือที่ ศธ 0209 / 1031 ลงวันที่ 22 สิงหาคม 2546 เพื่อหารือในประเด็นที่เกี่ยวข้องกับการเรียกเก็บค่าใช้จ่ายทางการศึกษาที่นอกเหนือจากที่รัฐต้องจัดสรรให้ เพื่อการจัดการศึกษาเพิ่มเติมนอกเหนือจาก หลักสูตรการศึกษาขั้นพื้นฐาน การจัดประสบการณ์และการเรียนรู้เพื่อพัฒนาคุณภาพการศึกษาหรือบริการอื่น เพื่อสร้างคุณภาพชีวิตและมาตรฐานการศึกษาของนักเรียนให้ดีขึ้น ซึ่งกระทรวงศึกษาธิการพิจารณาเห็นว่า สถานศึกษาขั้นพื้นฐานอาจจะระดมทรัพยากรเพื่อการศึกษาและให้ผู้ปกครองนักเรียนมีส่วนร่วมรับภาระค่าใช้จ่ายทางการศึกษาที่นอกเหนือจากที่รัฐจัดสรรให้ได้หรือไม่ รวมถึงประเด็นทางการจัดการอื่นๆ ซึ่งคณะกรรมการกฤษฎีกาสรุปประเด็นได้ 4 ประเด็น โดยสรุปได้ดังนี้
ประเด็นที่ 1 กระทรวงศึกษาธิการจะประกาศกำหนดสถานศึกษาที่ให้บริการจัดการศึกษาขั้นพื้นฐานเป็นสองประเภท ดังนี้ จะได้หรือไม่
- สถานศึกษาที่ให้บริการจัดการศึกษาขั้นพื้นฐานโดยไม่เก็บค่าใช้จ่ายซึ่งรัฐจะจัดให้มีจำนวนเพียงพอสำหรับเด็กนักเรียนที่ใช้บริการในเขตพื้นที่การศึกษานั้น
- สถานศึกษาที่ให้บริการจัดการศึกษาขั้นพื้นฐานทั้งของรัฐและเอกชนบางแห่งผู้เรียนต้องรับภาระค่าใช้จ่ายในการเรียนเอง เช่น โรงเรียนนานาชาติ โรงเรียนสาธิตในสังกัดสถาบันอุดมศึกษา หรือโรงเรียนของรัฐหรือเอกชนอื่นที่ประสงค์ไม่ขอรับ งบประมาณเงินอุดหนุนทั่วไปเป็นค่าใช้จ่ายรายบุคคลที่รัฐจัดสรรให้ โดยขอเก็บเงินบำรุงการศึกษาหรือค่าเล่าเรียนจากผู้ปกครองนักเรียน
ผลสรุปว่า กระทรวงศึกษาจึงไม่อาจประกาศกำหนดให้สถานศึกษาของรัฐที่จัดการศึกษาขั้นพื้นฐานเรียกเก็บค่าใช้จ่ายในการศึกษาเล่าเรียนได้ แต่สำหรับสถานศึกษาของเอกชนที่มิได้รับจัดการศึกษาขั้นพื้นฐานโดยไม่เก็บค่าใช้จ่ายตามที่รัฐมีหน้าที่ ย่อมไม่มีหน้าที่จะต้องจัดการศึกษาขั้นพื้นฐานโดยไม่เก็บค่าใช้จ่ายแต่อย่างใด
ประเด็นที่ 2 การเรียกเก็บค่าใช้จ่ายเพื่อจัดการศึกษาในสถานศึกษาขั้นพื้นฐานทั้งของรัฐและเอกชน ซึ่งเป็นค่าใช้จ่ายในการจัดการศึกษานอกเหนือหลักสูตร การจัดประสบการณ์และการเรียนรู้เพื่อพัฒนาคุณภาพการศึกษาหรือบริการอื่น เพื่อสร้างคุณภาพชีวิตและมาตรฐานการศึกษาของนักเรียนจะกระทำได้หรือไม่ เพียงใด
ผลสรุปว่า การจัดการศึกษานอกหลักสูตรสำหรับการศึกษาขั้นพื้นฐานนั้นย่อมไม่อยู่ในหน้าที่ที่รัฐจะต้องจัดตามรัฐธรรมนูญฯและพระราชบัญญัติการศึกษาแห่งชาติ พ.ศ.2542 โดยไม่เก็บค่าใช้จ่ายตามที่ได้ให้ความเห็นในประเด็นที่หนึ่งไปแล้ว ดังนั้น การจัดการศึกษานอกหลักสูตรจึงอาจเรียกเก็บค่าใช้จ่ายได้ ทั้งนี้ ตามความสมัครใจของนักเรียนว่าจะเข้าร่วมในการศึกษานอกหลักสูตรนั้นหรือไม่
ประเด็นที่ 3 คณะกรรมการเขตพื้นที่การศึกษาหรือองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นประกาศรายละเอียดเกี่ยวกับการส่งเด็กเข้าเรียนในสถานศึกษาและจัดสรรโอกาสเข้าศึกษาต่อสำหรับเด็กที่อยู่ในเกณฑ์การศึกษาภาคบังคับ ตามมาตรา 5 แห่งพระราชบัญญัติการศึกษาภาคบังคับ พ.ศ.2545 พร้อมทั้งได้แจ้งการเข้าเรียนว่าเด็กคนใดได้เข้าเรียนในสถานศึกษาใดแล้ว เด็กคนนั้นไม่ยอมเข้าเรียนในสถานศึกษาที่กำหนดให้ แต่เข้าไปเรียนในสถานศึกษาตามข้อ 1.2 จะถือว่าเด็กคนนั้นสละสิทธิที่จะได้รับการศึกษาขั้นพื้นฐานโดยไม่เก็บค่าใช้จ่าย ซึ่งเด็กจะต้องเสียค่าใช้จ่ายในการเรียนเองได้หรือไม่
ผลสรุปว่า หากคณะกรรมการเขตพื้นที่การศึกษาหรือองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นได้ประกาศรายละเอียดเกี่ยวกับการส่งเด็กเข้าเรียนในสถานศึกษา และการจัดสรรโอกาสเข้าศึกษาให้แก่เด็กซึ่งอยู่ในเกณฑ์การศึกษาภาคบังคับ รวมทั้งได้แจ้งเป็นหนังสือให้ผู้ปกครองของเด็กทราบอันเป็นการจัดให้เด็กเข้ารับการศึกษาที่มีคุณภาพโดยไม่เก็บค่าใช้จ่ายและให้สิทธิโอกาสเสมอกันแล้วก็ถือว่ารัฐได้ปฏิบัติหน้าที่ในการจัดการศึกษาขั้นพื้นฐานตามที่กำหนดไว้ใน รัฐธรรมนูญฯและพระราชบัญญัติการศึกษาแห่งชาติ พ.ศ.2542 ดังกล่าวข้างต้นแล้ว ส่วนเด็กจะเลือกเรียนในสถานศึกษาที่รัฐจัดให้หรือสถานศึกษาอื่นซึ่งต้องเสียค่าใช้จ่ายก็เป็นสิทธิของเด็กผู้นั้น
ประเด็นที่ 4 กรณีที่คณะกรรมการเขตพื้นที่การศึกษาหรือองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นประกาศรายละเอียดเกี่ยวกับการส่งเด็กเข้าเรียนในสถานศึกษาและจัดสรรโอกาสเข้าศึกษาต่อ ตามมาตรา 5 แห่งพระราชบัญญัติการศึกษาภาคบังคับ พ.ศ.2545 แล้ว แต่เด็กคนนั้นมีความประสงค์จะไปเรียนในสถานศึกษาอื่นที่มิได้จัดให้ สถานศึกษาดังกล่าวจะปฏิเสธไม่รับเด็กนั้นเข้าเรียนได้หรือไม่
ผลสรุปว่า การจัดสรรโอกาสให้เด็กได้รับสิทธิเข้ารับการศึกษาภาคบังคับตาม รัฐธรรมนูญฯและกฎหมายที่เกี่ยวข้องเป็นหน้าที่ของคณะกรรมการเขตพื้นที่การศึกษาหรือ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ซึ่งเมื่อได้ประกาศจัดสรรโอกาสให้เด็กเข้ารับการศึกษาใน สถานศึกษาใดแล้ว สถานศึกษานั้นไม่อยู่ในฐานะที่จะเป็นผู้เลือกได้ว่าจะรับหรือไม่รับเด็กเข้ารับการศึกษาภาคบังคับ หากแต่มีหน้าที่จะต้องจัดการศึกษาให้เด็กผู้มีสิทธิตามประกาศฯ ส่วนกรณีที่เด็กผู้ได้รับสิทธิเข้ารับการศึกษาภาคบังคับประสงค์จะเข้าเรียนในสถานศึกษาอื่นที่ คณะกรรมการเขตพื้นที่การศึกษาหรือองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นมิได้ประกาศจัดสรรโอกาสให้ สถานศึกษาอื่นนั้นอาจปฏิเสธไม่รับเด็กที่มาขอเข้าเรียนนั้นได้ และหากเด็กเห็นว่าการจัดสรรโอกาสไม่ถูกต้องหรือไม่เป็นธรรม ก็จะต้องร้องเรียนหรือขอทบทวนกับคณะกรรมการเขตพื้นที่การศึกษาหรือองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นต่อไป
3.2.2 คณะรัฐมนตรีได้มีหนังสือที่ นร 0503 / 2561 ลงวันที่ 19 กุมภาพันธ์ 2547 เรื่อง การเรียกเก็บค่าใช้จ่ายเพื่อจัดการศึกษาในสถานศึกษาขั้นพื้นฐาน โดยรับทราบผลการพิจารณาของคณะกรรมการกฤษฎีกา ซึ่งในบางประเด็นกระทรวงศึกษาธิการยังมีความเห็นที่ไม่สอดคล้องกับความเห็นที่พิจารณาเสนอมา จึงเห็นควรให้มีการพิจารณาข้อหารือดังกล่าวใหม่ พร้อมทั้งรับความเห็นของคณะรัฐมนตรีไปพิจารณาด้วยว่าในกรณีสถานศึกษาที่มีความพร้อม เช่น โรงเรียนเอกชน หรือโรงเรียนสาธิตในสังกัดสถาบันอุดมศึกษา เป็นต้น และผู้ปกครองให้ความยินยอมแล้ว จะขอรับหรือไม่รับงบประมาณเงินอุดหนุนทั่วไปเป็นค่าใช้จ่ายส่วนบุคคลที่รัฐจัดสรรให้ พร้อมทั้งเก็บเงินบำรุงการศึกษาหรือค่าเล่าเรียนเพิ่มอีกด้วยได้หรือไม่
3.2.3 สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน ดำเนินการปรับปรุงแก้ไขแนวทางในการปฏิบัติในการเรียกเก็บค่าใช้จ่ายในสถานศึกษาขั้นพื้นฐาน สังกัดสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน ตามบันทึกที่ ศธ 04006 / 54 ลงวันที่ 11 มีนาคม 2547 เรื่อง การเก็บค่าใช้จ่ายในสถานศึกษาขั้นพื้นฐาน และตามหนังสือที่ ศธ 04006 / 1230 ลงวันที่ 12 มีนาคม 2547 เรื่อง การเก็บค่าใช้จ่ายในสถานศึกษาขั้นพื้นฐาน โดยแนวปฏิบัติในการเรียกเก็บค่าใช้จ่ายเพื่อจัดการศึกษาในสถานศึกษาขั้นพื้นฐาน สังกัดสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน ที่ให้ยกเลิกแนวปฏิบัติในการเรียกเก็บค่าใช้จ่ายเพื่อการจัดการศึกษาในสถานศึกษาขั้นพื้นฐาน สังกัดสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน และให้ใช้ตามแนวทางใหม่ โดยมีรายละเอียด ดังนี้
1) รายการที่ให้สถานศึกษาใช้เงินอุดหนุนรายหัวเป็นค่าใช้จ่ายในการจัดการศึกษา
1.1 ค่าใช้จ่ายในการศึกษาเล่าเรียนตามระเบียบว่าด้วยการเก็บเงินบำรุงการศึกษา ในสถานศึกษา สังกัดกระทรวงศึกษาธิการ พ.ศ. 2520 ได้แก่
- ค่าระเบียบการและใบสมัคร
- ค่าสมัครเข้าเรียน
- ค่าขึ้นทะเบียนเป็นนักเรียนหรือนักศึกษา
- ค่าบำรุงสุขภาพหรือห้องพยาบาล
- ค่าบำรุงห้องสมุด
- ค่าภาคปฏิบัติหรือวัสดุฝึกหัดหรืออุปกรณ์การศึกษา
- ค่าลงทะเบียนรายวิชา
- ค่าสอบแก้ตัว
1.2 ค่าวัสดุ ครุภัณฑ์ และค่าตอบแทนใช้สอย ที่ใช้ในการเรียนการสอนของ สถานศึกษาที่มีวัตถุประสงค์การใช้งานร่วมกันเพื่อประโยชน์ของส่วนรวม ซึ่งสถานศึกษาได้รับการจัดสรรจากรัฐ
2) รายการที่เป็นค่าใช้จ่ายในการจัดกิจกรรมเสริมพิเศษเพิ่มเติมจากหลักสูตรการเรียนการสอนตามปกติ ที่รัฐต้องจัดตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2540 และพระราชบัญญัติการศึกษาแห่งชาติ พุทธศักราช 2542 และที่แก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่ 2) พุทธศักราช 2545 นั้น ให้พิจารณาเป็น 2 กรณี
2.1 กรณีที่บริการนั้นจัดสำหรับนักเรียนทุกคน หรือนักเรียนส่วนใหญ่ เช่น การเรียนภาษาต่างประเทศกับเจ้าของภาษา ให้สถานศึกษาจัดทำรายละเอียดของกิจกรรมเหตุผลความจำเป็นและรายละเอียดค่าใช้จ่ายจริง เพื่อขอความเห็นชอบจากคณะกรรมการสถานศึกษาขั้นพื้นฐาน ตลอดจนความเห็นของผู้ปกครองเพื่อประกอบการพิจารณา เมื่อได้รับความเห็นชอบแล้วจึงเรียกเก็บได้ ทั้งนี้ให้มีมาตรการที่จะดูแลนักเรียนที่ยากจนและมีปัญหาการชำระเงินเพิ่มเติมให้ได้รับบริการด้วย
2.3 กรณีที่เป็นบริการเฉพาะผู้ที่มีความสนใจ ให้สถานศึกษาจัดทำรายละเอียดและประมาณการค่าใช้จ่ายเสนอคณะกรรมการสถานศึกษาขั้นพื้นฐานเพื่อขอความเห็นชอบและเก็บเฉพาะผู้ที่สมัครใจ
3) อื่นๆ
3.1 ค่าปรับการลงทะเบียนรายวิชาช้า ให้เก็บค่าปรับได้ครั้งละ 10 บาท
3.2 ค่าออกใบรับรอง ใบรายงานต่างๆ ถ้าเป็นภาษาไทย ชุดแรกไม่เก็บค่าใช้จ่าย ชุดต่อไปให้เก็บได้ชุดละ 5 บาท หากเป็นฉบับภาษาอังกฤษให้เก็บได้ชุดละ ๒๐ บาท
4) การรับบริจาค สถานศึกษาอาจรับบริจาคได้ แต่ต้องเป็นไปด้วยความสมัครใจ ไม่เป็นการบังคับ ไม่เป็นไปเพื่อการแลกเปลี่ยนผลประโยชน์หรือเงื่อนไขกับทาง ราชการ โดยนำมาใช้ประโยชน์ในการจัดการเรียนการสอนและการพัฒนาโรงเรียน กรณีที่บริการนั้นจัดสำหรับนักเรียนทุกคนหรือนักเรียนส่วนใหญ่ เช่น การเรียนภาษาต่างประเทศกับเจ้าของภาษา ให้สถานศึกษาจัดทำรายละเอียดของกิจกรรมเหตุผลความจำเป็น และรายละเอียดค่าใช้จ่ายจริง เพื่อขอความเห็นชอบจากคณะกรรมการสถานศึกษาขั้นพื้นฐาน ตลอดจนความเห็นของผู้ปกครองเพื่อประกอบการพิจารณา เมื่อได้รับความเห็นชอบแล้วจึงเรียกเก็บได้ ทั้งนี้ให้มีมาตรการที่จะดูแลนักเรียนที่ยากจนและมีปัญหาการชำระเงินเพิ่มเติมให้ได้รับบริการด้วย
3.3 ความเห็นเกี่ยวกับการดำเนินการ กรณีการจัดเก็บค่าใช้จ่ายทางการศึกษาขั้นพื้นฐาน
การสัมมนาประชาปรึกษาและการสัมมนาเฉพาะกลุ่ม เพื่อศึกษาสภาพปัญหาและการดำเนินการของสถานศึกษา ในกรณีการเรียกเก็บค่าใช้จ่ายทางการศึกษาขั้นพื้นฐานในบางกรณีนั้นได้ความคิดเห็นและข้อเสนอแนะ ดังนี้
3.3.1 การบริหารจัดการการศึกษาในสถานศึกษาขั้นพื้นฐาน
1) การที่สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน แจ้งแนวทางการปฏิบัติในการเรียกเก็บค่าใช้จ่ายเพื่อจัดการศึกษาในสถานศึกษาขั้นพื้นฐานนั้น ไม่สามารถที่จะกระทำได้ และยังเป็นการเพิ่มภาระค่าใช้จ่ายทางการศึกษาให้แก่ผู้ปกครองและนักเรียน
2) การจัดการศึกษานอกเหนือหลักสูตรเป็นการจัดประสบการณ์และการเรียนรู้เพื่อพัฒนาคุณภาพการศึกษาหรือบริการอื่นๆ ซึ่งเป็นหน้าที่ของรัฐที่จะต้องดำเนินการจัดให้ตาม รัฐธรรมนูญฯและพระราชบัญญัติการศึกษาแห่งชาติ ดังนั้นค่าใช้จ่ายนอกเหนือหลักสูตรที่จัดเก็บเพิ่มเติมจึงไม่สามารถเรียกเก็บได้
3) คณะกรรมการสถานศึกษาไม่ควรมีอำนาจในการอนุมัติโครงการต่างๆ ในกรณีการจัดการศึกษานอกเหนือหลักสูตรของสถานศึกษานั้น
4) การระดมทุนหรืองบประมาณเพื่อใช้ในการจัดการศึกษา ควรเป็นหน้าที่ของส่วนกลางหรือองค์กรท้องถิ่น ไม่ควรให้สถานศึกษาเป็นผู้รับผิดชอบ เพราะจะทำให้เกิดความไม่ ชัดเจนในหน้าที่และบทบาทของสถานศึกษา
5) การกำหนดมาตรการระดมทุนเพื่อการศึกษาจากส่วนกลาง และจัดสรรตามความ จำเป็นของสถานศึกษาในแต่ละพื้นที่ เพื่อลดความเหลื่อมล้ำของการจัดการศึกษา อาทิ ภาษีการศึกษาหรือการบริจาค เพื่อนำมาลดหย่อนในส่วนของภาษีอื่นๆ
6) ความไม่ชัดเจนของค่าใช้จ่ายทางการศึกษาที่รัฐอุดหนุน เช่น ค่าหนังสือชุดนักเรียน และค่าใช้จ่ายอื่นๆ ทำให้เกิดความสับสนของผู้ที่เกี่ยวข้อง ผู้บริหารโรงเรียน ผู้ปกครอง นักเรียน ในการเรียกเก็บค่าใช้จ่ายทางการศึกษา
3.3.2 การจัดการศึกษาที่ไม่สอดคล้องตามรัฐธรรมนูญฯ และพระราชบัญญัติการศึกษาแห่งชาติ
1) การกำหนดแนวทางปฏิบัติการเรียกเก็บค่าใช้จ่ายเพื่อจัดการศึกษาใน สถานศึกษาขั้นพื้นฐาน เป็นการดำเนินการที่ไม่สอดคล้องตามรัฐธรรมนูญฯ ตามมาตรา 43
2) การจัดการศึกษานอกเหนือหลักสูตรเป็นการจัดประสบการณ์และการเรียนรู้เพื่อพัฒนาคุณภาพการศึกษาหรือบริการอื่นๆ ซึ่งเป็นหน้าที่ของรัฐที่จะต้องดำเนินการ ไม่สามารถแยกเป็นในหลักสูตรและนอกหลักสูตรได้
3) การเรียกเก็บค่าใช้จ่ายบางประเภทที่มีความเกี่ยวข้องกับการจัดการศึกษา เช่น ค่าสาธารณูปโภคเพิ่มเติม หรือค่ารักษาพยาบาล และค่าใช้จ่ายอื่นๆ ที่มีส่วนเกี่ยวข้องเพื่อการศึกษาของผู้เรียนควรที่จะไม่สามารถที่จะจัดเก็บได้
4. ความเห็นและข้อเสนอแนะ ในประเด็นปัญหาการจัดการศึกษาตามรัฐธรรมนูญฯ กรณี การเรียกเก็บค่าใช้จ่ายทางการศึกษาขั้นพื้นฐาน
4.1 ขอให้คณะรัฐมนตรีพิจารณาทบทวนคำสั่งของกระทรวงศึกษาธิการ ตามบันทึกที่ ศธ 04006 / 54 ลงวันที่ 11 มีนาคม 2547 เรื่องการเก็บค่าใช้จ่ายในสถานศึกษาขั้นพื้นฐาน และหนังสือที่ ศธ 04006 / 1230 ลงวันที่ 12 มีนาคม 2547 เรื่องการเก็บค่าใช้จ่ายในสถานศึกษาขั้นพื้นฐาน ตามข้อที่ “รายการที่เป็นค่าใช้จ่ายในการจัดกิจกรรมเสริมพิเศษเพิ่มเติมจากหลักสูตรการเรียนการสอนตามปกติ” โดยค่าใช้จ่ายที่เกิดขึ้นเป็นส่วนหนึ่งของการจัดการศึกษาขั้นพื้นฐานด้วย ซึ่งการปฏิบัติดังกล่าวไม่สอดคล้องกับรัฐธรรมนูญฯตามมาตรา 43 ที่ระบุว่า “บุคคลย่อมมีสิทธิเสมอกันในการรับการศึกษาขั้นพื้นฐานไม่น้อยกว่าสิบสองปีที่รัฐจะต้องจัดให้อย่างทั่วถึงและมีคุณภาพโดยไม่เก็บค่าใช้จ่าย ...”
4.2 รัฐควรเร่งรัดออกกฏหมายส่งเสริมและสนับสนุนให้เกิดการระดมทรัพยากรเพื่อการศึกษาตามมาตรา 58 (1) และ (2) แห่งพระราชบัญญัติการศึกษาแห่งชาติ พุทธศักราช 2542 และที่แก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่ 2) พุทธศักราช 2545 เพื่อให้เกิดแนวทางในการปฏิบัติที่ชัดเจน โดยสอดคล้องตามเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญฯ เช่น
- กฎระเบียบเกี่ยวกับการจัดเก็บภาษีการศึกษาของท้องถิ่นและส่วนกลางเพื่อเป็นการระดมทรัพยากรจากภายนอก โดยมีวัตถุประสงค์ในด้านการศึกษาเป็นการเฉพาะที่ชัดเจน
- การตั้งกองทุนทางการศึกษาแห่งชาติ เพื่อเป็นการระดมทรัพยากรเพื่อการศึกษาและเพื่อนำงบประมาณมาสนับสนุน ปรับปรุงคุณภาพของการศึกษาให้มีคุณภาพตามมาตรฐานที่กำหนดไว้เป็นอย่างน้อย และกระจายงบประมาณสนับสนุนเพิ่มเติมไปยังสถานศึกษาที่มีความขาดแคลนโดยตรง
- จัดทำแนวทางหรือกฎเกณฑ์การรับบริจาคของสถาบันการศึกษาให้มีความชัดเจน เพื่อแก้ปัญหาการบริจาคที่มีลักษณะต่างตอบแทนมุ่งหวังผลประโยชน์อื่นหรือมีเงื่อนไขในการเข้าศึกษาต่อ
4.3 ในการดำเนินการต่างๆ ตามรัฐธรรมนูญฯและพระราชบัญญัติการศึกษาแห่งชาติ ในมาตราต่างๆ ถ้ามีความไม่ชัดเจนในประเด็นใดที่เห็นว่าจะขัดหรือแย้ง ควรหารือต่อ ศาลรัฐธรรมนูญฯ ซึ่งมีหน้าที่โดยตรงและถือเป็นที่สุด อาทิ
- การเก็บค่าใช้จ่ายทางการศึกษาขั้นพื้นฐานเพื่อจัดการศึกษานอกเหนือหลักสูตรและการศึกษานอกหลักสูตรจะกระทำได้หรือไม่
- การเรียกเก็บค่าใช้จ่ายของสถาบันการศึกษาที่ไม่ขอรับเงินอุดหนุนการศึกษาจากรัฐ เช่น โรงเรียนสาธิตของมหาวิทยาลัย เป็นการขัดต่อสิทธิในการเข้าศึกษาขั้นพื้นฐานของผู้เรียนที่ไม่มีความสามารถในการจ่ายค่าใช้จ่ายทางการศึกษาหรือไม่
4.4 เร่งรัดให้กระทรวงศึกษาธิการแก้ไขปรับปรุงกฎหมาย / กฎ / ระเบียบ ที่เกี่ยวข้องกับการจัดการศึกษาขั้นพื้นฐาน รวมทั้งค่าใช้จ่ายเพื่อจัดการศึกษาขั้นพื้นฐาน ให้สอดคล้องตามเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญฯ และพระราชบัญญัติการศึกษาแห่งชาติ พุทธศักราช 2542 และที่แก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่ 2) พุทธศักราช 2545 เพื่อเป็นแนวทางปฏิบัติที่ชัดเจนของผู้ที่เกี่ยวข้องและสถานศึกษาขั้นพื้นฐานในการนำไปปฏิบัติให้เป็นไปในทิศทางเดียวกัน
ที่มา: สภาที่ปรึกษาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ
www.nesac.or.th, โทร.02-612-9222 ต่อ 118, 119 โทรสาร.02-612-6918-9

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ