บันทึกการประชุมวุฒิสภา ครั้งที่ ๑ (สมัยสามัญนิติบัญญัติ)

ข่าวการเมือง Monday August 16, 2004 09:14 —รัฐสภา

                            บันทึกการประชุมวุฒิสภา
ครั้งที่ ๑ (สมัยสามัญนิติบัญญัติ)
วันจันทร์ที่ ๙ สิงหาคม ๒๕๔๗
ณ ตึกรัฐสภา
เริ่มประชุมเวลา ๐๙.๔๕ นาฬิกา
เมื่อสมาชิกฯ มาประชุมครบองค์ประชุมแล้ว นายสุชน ชาลีเครือ ประธานวุฒิสภา
นายนิพนธ์ วิสิษฐยุทธศาสตร์ รองประธานวุฒิสภาคนที่หนึ่ง และนายสหัส พินทุเสนีย์ รองประธาน
วุฒิสภาคนที่สอง ขึ้นบัลลังก์
ประธานวุฒิสภาได้กล่าวเปิดประชุม แล้วแจ้งให้ที่ประชุมรับทราบเรื่องต่าง ๆ ดังนี้
๑. พระบรมราชโองการประกาศพระราชกฤษฎีกาเรียกประชุมรัฐสภาสมัยประชุม
สามัญนิติบัญญัติ พ.ศ. ๒๕๔๗ ในวันที่ ๑ สิงหาคม ๒๕๔๗
๒. พระบรมราชโองการประกาศให้รัฐมนตรีพ้นจากความเป็นรัฐมนตรีและ
แต่งตั้งรัฐมนตรี
๑) ให้รัฐมนตรีพ้นจากความเป็นรัฐมนตรี ดังต่อไปนี้
นายประมวล รุจนเสรี รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงมหาดไทย
พ้นจากความเป็นรัฐมนตรี
นางสิริกร มณีรินทร์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุข
พ้นจากความเป็นรัฐมนตรี
๒) ให้แต่งตั้งรัฐมนตรี ดังต่อไปนี้
นายสุวัจน์ ลิปตพัลลภ เป็นรองนายกรัฐมนตรี
นายอนุทิน ชาญวีรกูล เป็นรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุข
ทั้งนี้ ตั้งแต่วันที่ ๓๐ มิถุนายน พุทธศักราช ๒๕๔๗ เป็นต้นไป
๓. นายประยุทธ ศรีมีชัย สมาชิกวุฒิสภาจังหวัดนครศรีธรรมราช ได้ถึงแก่อนิจกรรม
เมื่อวันที่ ๙ สิงหาคม ๒๕๔๗
๔. คณะรัฐมนตรีได้มีมติเมื่อวันที่ ๒๒ มิถุนายน ๒๕๔๗ และวันที่ ๖
กรกฎาคม ๒๕๔๗ รับทราบข้อสังเกตของคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาร่างพระราชบัญญัติ
รวม ๒ ฉบับ ดังนี้
๑) ข้อสังเกตของคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาร่างพระราชบัญญัติ
มหาวิทยาลัยราชภัฏ พ.ศ. .... และมอบให้กระทรวงศึกษาธิการ สำนักงาน ก.พ. สำนักงาน ก.พ.ร.
และสำนักงบประมาณ รับไปพิจารณาดำเนินการแล้วแจ้งให้สำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรีทราบ
เพื่อนำเสนอคณะรัฐมนตรีต่อไป และเห็นชอบให้นำเหตุผลของร่างพระราชบัญญัติ
ที่คณะกรรมาธิการวิสามัญฯ ของวุฒิสภาแก้ไขเป็นเหตุผลของร่างพระราชบัญญัติมหาวิทยาลัย
ราชภัฏ พ.ศ. .... ในการประกาศราชกิจจานุเบกษาต่อไป
๒) ข้อสังเกตของคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาร่างพระราชบัญญัติ
สภาที่ปรึกษาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (ฉบับที่ ..) พ.ศ. .... และเห็นชอบให้นำเหตุผล
ของร่างพระราชบัญญัติที่คณะกรรมาธิการวิสามัญฯ ของวุฒิสภาแก้ไขเป็นเหตุผลของ
ร่างพระราชบัญญัติสภาที่ปรึกษาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (ฉบับที่ ..) พ.ศ. ....
ในการประกาศราชกิจจานุเบกษาต่อไป
๕. ในการประชุมสภาผู้แทนราษฎร ครั้งที่ ๑ (สมัยสามัญนิติบัญญัติ)
วันพุธที่ ๔ สิงหาคม ๒๕๔๗ ที่ประชุมได้พิจารณาและลงมติอนุมัติพระราชกำหนดแก้ไขเพิ่มเติม
พระราชบัญญัติคณะสงฆ์ พ.ศ. ๒๕๐๕ พ.ศ. ๒๕๔๗ ซึ่งคณะรัฐมนตรีเป็นผู้เสนอ
และในคราวประชุมครั้งเดียวกัน ที่ประชุมได้พิจารณาและรับทราบร่างแผนปฏิบัติการเพื่อกำหนด
ขั้นตอนการกระจายอำนาจทางการเงิน การคลัง และงบประมาณให้แก่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น
และร่างแผนปฏิบัติการถ่ายโอนบุคลากรให้แก่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ตามมาตรา ๓๓
แห่งพระราชบัญญัติกำหนดแผนและขั้นตอนการกระจายอำนาจให้แก่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น
พ.ศ. ๒๕๔๒ แล้ว
๖. คณะกรรมาธิการวิสามัญฯ ได้ขอขยายเวลาการปฏิบัติภารกิจตามที่วุฒิสภา
มอบหมาย รวม ๒ คณะ ดังนี้
๑) คณะกรรมาธิการวิสามัญศึกษาปัญหาความมั่นคงในจังหวัดภาคใต้
ขอขยายเวลาการพิจารณาศึกษาเรื่องดังกล่าวออกไปอีก ๙๐ วัน นับแต่วันที่ ๑๓
กรกฎาคม ๒๕๔๗
๒) คณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาศึกษากรณีการหายตัวไปของ
นายสมชาย นีละไพจิตร ขอขยายเวลาการพิจารณาศึกษาเรื่องดังกล่าวออกไปอีก ๖๐ วัน
นับแต่วันที่ ๒๐ กรกฎาคม ๒๕๔๗
ซึ่งการขอขยายเวลาของคณะกรรมาธิการวิสามัญฯ ทั้ง ๒ คณะดังกล่าว
เป็นการขอขยายเวลานอกสมัยประชุม ประธานวุฒิสภาจึงได้อนุญาตให้ขยายเวลาได้ตามที่ขอมา
ตามข้อบังคับฯ ข้อ ๙๒ วรรคสอง
๗. คำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญที่ ๔๗ / ๒๕๔๗ ลงวันที่ ๖ กรกฎาคม พ.ศ. ๒๕๔๗
เรื่อง ประธานรัฐสภาขอให้ศาลรัฐธรรมนูญพิจารณาวินิจฉัยตามรัฐธรรมนูญฯ มาตรา ๒๖๖
กรณีการใช้อำนาจหน้าที่ขององค์กรตามรัฐธรรมนูญฯ ของคณะกรรมการตรวจเงินแผ่นดินและวุฒิสภา
ในกระบวนการเพื่อให้ได้มาซึ่งผู้ว่าการตรวจเงินแผ่นดิน มีความโดยสรุปว่า กรณีตามคำร้องของ
ประธานรัฐสภาที่เกี่ยวกับปัญหาการใช้อำนาจหน้าที่ของคณะกรรมการตรวจเงินแผ่นดินและวุฒิสภา
ซึ่งเป็นองค์กรตามรัฐธรรมนูญฯ ในกระบวนการเพื่อให้ได้มาซึ่งผู้ว่าการตรวจเงินแผ่นดิน นั้น
มีการใช้อำนาจหน้าที่ที่ไม่ชอบด้วยรัฐธรรมนูญฯ เพราะมิได้ดำเนินการให้เป็นไปตามรัฐธรรมนูญฯ
มาตรา ๓๑๒ มาตรา ๓๓๓ (๑) และพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการตรวจ
เงินแผ่นดิน พ.ศ. ๒๕๔๒ มาตรา ๑๕ วรรคหนึ่ง (๖) มาตรา ๓๐ ประกอบด้วยระเบียบ
คณะกรรมการตรวจเงินแผ่นดินว่าด้วยหลักเกณฑ์และวิธีการสรรหาผู้ที่สมควรได้รับการเสนอชื่อ
เป็นผู้ว่าการตรวจเงินแผ่นดิน พ.ศ. ๒๕๔๓ ข้อ ๖ (๕) และมาตรา ๓๑
ต่อมา ประธานวุฒิสภา รองประธานวุฒิสภาคนที่หนึ่ง และรองประธานวุฒิสภา
คนที่สอง ได้ผลัดเปลี่ยนกันทำหน้าที่ประธานของที่ประชุม โดยประธานของที่ประชุมได้เสนอ
ให้ที่ประชุมพิจารณาเรื่องด่วน ตามลำดับ ดังนี้
๑. พระราชกำหนดแก้ไขเพิ่มเติมพระราชบัญญัติคณะสงฆ์ พ.ศ. ๒๕๐๕
พ.ศ. ๒๕๔๗ ซึ่งคณะรัฐมนตรีเป็นผู้เสนอ หลังจากสมาชิกฯ อภิปราย รองนายกรัฐมนตรี
(นายวิษณุ เครืองาม) ตอบชี้แจงแล้ว ที่ประชุมได้ลงมติอนุมัติพระราชกำหนดดังกล่าว
๒. ร่างพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง
(ฉบับที่ ..) พ.ศ. .… (งดการบังคับคดีและการขายทอดตลาด) ซึ่งคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณา
เสร็จแล้ว ที่ประชุมได้พิจารณาในวาระที่ ๒ เริ่มต้นด้วยชื่อร่าง คำปรารภ แล้วเรียงตามลำดับ
มาตราจนจบร่าง และลงมติในวาระที่ ๓ ให้แก้ไขเพิ่มเติม
เลิกประชุมเวลา ๑๕.๑๕ นาฬิกา
(นายมนตรี รูปสุวรรณ)
เลขาธิการวุฒิสภา
สรุปผลการพิจารณาพระราชกำหนด
อนุมัติพระราชกำหนด จำนวน ๑ ฉบับ คือ
- พระราชกำหนดแก้ไขเพิ่มเติมพระราชบัญญัติคณะสงฆ์ พ.ศ. ๒๕๐๕
พ.ศ. ๒๕๔๗
สรุปผลการพิจารณาร่างพระราชบัญญัติ
ให้แก้ไขเพิ่มเติมร่างพระราชบัญญัติ จำนวน ๑ ฉบับ คือ
- ร่างพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง
(ฉบับที่ ..) พ.ศ. .… (งดการบังคับคดีและการขายทอดตลาด)
กลุ่มงานรายงานการประชุม
สำนักรายงานการประชุมและชวเลข
โทร. ๐ ๒๘๓๑ ๙๑๒๗
โทรสาร ๐ ๒๘๓๑ ๙๑๒๓

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ