สรุปการประชุมสภาผู้แทนราษฎรการพิจารณาร่างพระราชบัญญัติงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. ๒๕๔๘ ฉบับที่ ๗

ข่าวการเมือง Thursday September 9, 2004 11:24 —รัฐสภา

ฉบับที่ ๗
สรุปการประชุมสภาผู้แทนราษฎร
การพิจารณาร่างพระราชบัญญัติงบประมาณรายจ่าย
ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. ๒๕๔๘
วันพุธที่ ๑ กันยายน ๒๕๔๗
เวลา ๑๕.๓๐ - ๑๖.๓๐ นาฬิกา
นายพีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรกรุงเทพมหานคร พรรคประชาธิปัตย์ ได้อภิปรายต่อในเรื่องของการจัดซื้อเครื่องบินบุคคลสำคัญ ซึ่งใช้งบประมาณในการจัดซื้อประมาณ ๒,๐๐๐ ล้านบาท และค่าบำรุงรักษาประมาณ ๒๐ ล้านบาท ต่อเดือน นั้น ไม่ใช่ความ จำเป็นเร่งด่วนตามยุทธศาสตร์เพื่อการเสริมสร้างศักยภาพการแข่งขันและการพัฒนาที่ยั่งยืนของประเทศ ดังนั้นจึงควรปรับลดงบประมาณลง ๑๓,๔๐๐ ล้านบาท
นายสุพัฒน์ ธรรมเพชร สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดพัทลุง พรรค ประชาธิปัตย์ ได้อภิปรายสงวนคำแปรญัตติในมาตรา ๔ โดยขอปรับลดลงร้อยละ ๕ ซึ่งให้เหตุผลว่า การจัดงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. ๒๕๔๘ นั้น ไม่กระจายงบประมาณอย่างทั่วถึง โดยกระจุกอยู่ในบางพื้นที่เท่านั้น และได้ตั้งข้อสังเกตในการจัดสรรงบประมาณกลางว่า ยังขาด รายละเอียดของแผนงานที่ชัดเจน ทำให้ยากแก่การตรวจสอบ ดังนั้นจึงควรมีกรอบและหลักเกณฑ์ แนวทางในการประเมินผลอย่างมีประสิทธิภาพ นอกจากนี้ควรจัดสรรงบประมาณเพิ่มขึ้นในด้านการกีฬาและการพัฒนาภาคใต้ โดยเน้นด้านการศึกษาให้มากยิ่งขึ้น
นายชาญศักดิ์ ชวลิตนิติธรรม สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดชลบุรี พรรค
ชาติไทย ได้อภิปรายสงวนคำแปรญัตติในมาตรา ๔ โดยขอปรับลดลงร้อยละ ๑๐ ซึ่งเป็นการใช้จ่าย งบประมาณตามยุทธศาสตร์ เพื่อการเสริมสร้างศักยภาพการแข่งขันและการพัฒนาที่ยั่งยืนของประเทศ และได้กล่าวถึงเรื่องของการศึกษาว่า
- ค่าใช้จ่ายเพื่อเสริมสร้างศักยภาพทางการศึกษานั้นยังไม่มีรายละเอียดที่ชัดเจน เช่น ควรมีการกำหนดงบประมาณทางด้านอาหารกลางวันอย่างต่อเนื่องด้าน
คอมพิวเตอร์ และอินเตอร์เน็ตในแต่ละตำบล
- สำหรับด้านการท่องเที่ยวก็ยังไม่มีงบประมาณในการแก้ไขปัญหาในเรื่องของการจราจรของเมืองพัทยา ซึ่งทั้ง ๒ กรณีนี้ไม่ได้ถูกระบุไว้ในการใช้จ่ายงบประมาณตามยุทธศาสตร์ข้างต้น
นายถาวร เสนเนียม สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดสงขลา พรรคประชาธิปัตย์ ได้อภิปรายถึงงบประมาณรายจ่ายงบกลางประจำปี พ.ศ. ๒๕๔๖ และ ๒๕๔๗ ซึ่งมีการจัดสรร งบประมาณกลางเพิ่มมากขึ้นทุกปี แต่นำไปใช้ไม่ถึงร้อยละ ๕๐ ของงบประมาณที่ได้รับ แสดงให้เห็นว่า รัฐบาลขาดประสิทธิภาพในการบริหารงบประมาณ โดยยกตัวอย่างโครงการหลายโครงการที่มีการจัดงบประมาณให้ แต่ยังไม่ได้เริ่มดำเนินการในโครงการนั้น ๆ อาทิ โครงการกรุงเทพเมืองแฟชั่น โครงการพัฒนาคุณภาพข้าวหอมมะลิเพื่อการส่งออก โครงการแปลงสวนยางเป็นทุน เป็นต้น

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ