สรุปการบรรยายพิเศษ เรื่อง นาโนเทคโนโลยีกับการพัฒนาระบบเศรษฐกิจของประเทศ โดย ศ.ดร.ไพรัช ธัชยพงษ์

ข่าวเศรษฐกิจ Tuesday September 21, 2004 15:52 —กรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ

        สรุปการบรรยายพิเศษ เรื่อง นาโนเทคโนโลยีกับการพัฒนาระบบเศรษฐกิจของประเทศ โดย ศ.ดร.ไพรัช  ธัชยพงษ์ที่ปรึกษาผู้อำนวยการสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ และที่ปรึกษานายกรัฐมนตรี ด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ฝ่ายข้าราชการประจำเมื่อวันที่ 27 กรกฎาคม 2547 ณ สำนักงานปลัดกระทรวงพาณิชย์
เมื่อวันที่ 27 กรกฎาคม 2547 ปลัดกระทรวงพาณิชย์ได้เรียนเชิญ ศาสตราจารย์ ดร.ไพรัช ธัชยพงษ์ ที่ปรึกษาผู้อำนวยการสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี (สวทช.) มาเป็นผู้บรรยายในหัวข้อเรื่อง"นาโนเทคโนโลยีกับการพัฒนาระบบเศรษฐกิจของประเทศ"ให้กับผู้บริหารระดับสูง ตั้งแต่ระดับผู้อำนวยการกอง ขึ้นไปของกระทรวงพาณิชย์
สถาบันกรมพระจันทบุรีนฤนาถ เห็นว่าเนื้อหาการบรรยายพิเศษดังกล่าวมีความสำคัญ อย่างยิ่งในการสร้างรายได้เข้าสู่ประเทศในอนาคต อันเป็นพันธกิจของกระทรวงพาณิชย์ จึงได้สรุปสาระสำคัญเพื่อเผยแพร่ ดังนี้
คำว่า "นาโนเทคโนโลยี" เป็นเทคโนโลยีแบบใหม่ ที่มนุษย์สามารถเข้าไปจัดการกับระดับอะตอมได้ เกิดจากคำว่า "นาโน" กับคำว่า "เทคโนโลยี" รวมกัน
นาโน - เป็นหน่วยวัดอย่างหนึ่ง ถ้าเรากล่าวถึง 1 ใน 1000 ของมิลลิเมตร ก็คือ ไมโครเมตร หรือไมโครชิพที่เรารู้จักกัน ซึ่งเราไม่สามารถมองเห็นแล้ว
1 ใน 1000 ของไมโครเมตร เรียก นาโนเมตร (1 ใน 10 เมตร) หรือ 1 ในพันล้านของเมตร เล็กกว่าเส้นผมประมาณ 5 หมื่นเท่า หรือ 1 แสนเท่า มองด้วยตาไม่เห็น จึงเรียกว่าเป็นเทคโนโลยี ในระดับนาโน (0.1 นาโน - 100 นาโน เรียกนาโนเทคโนโลยี)
Molecular Economy เศรษฐกิจโมเลกุล ที่เราเข้าไปจัดการได้ จะเกิดผลิตภัณฑ์ใหม่ ๆ หลายชนิด เช่น
- ทำเสื้อเกราะของทหารป้องกันอาวุธเคมี เรียกว่า ระบบBiosensor
- การเอายาเข้าไปรักษามะเร็งในร่างกายได้ตรงจุดโดยนำนาโนเทคโนโลยีเข้าไปช่วย
- Solar Cell แปลงแสงอาทิตย์ให้เป็นกระแสไฟฟ้า
สำหรับนาโนเทคโนโลยี แบ่งออกได้เป็น 3 กลุ่ม ดังนี้
1) Nanoelectronic เป็นการใช้ปรากฏการณ์ของอิเล็กตรอนมาผลิตสินค้าให้เล็กลง (อิเล็กตรอน เป็นแม่เหล็กที่มี 2 ขั้ว) เช่น
- ทำแว่นตาให้คนตาบอดใส่แล้วมองเห็นได้ (สามารถแยกสีได้)
- อุตสาหกรรมยานยนต์ ประเทศไทยมีอุตสาหกรรมยานยนต์มาก จึงควรมีการทำวิจัย เกี่ยวกับการนำนาโนมาใช้ในการผลิตชิ้นส่วนยานยนต์ เพื่อทำให้ยานยนต์มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น
- ใช้ทางการแพทย์ ประเทศสวีเดนได้ออกแบบชิ้นส่วนที่จะเข้าไปในเส้นเลือดได้ เพื่อวัดความดันตรวจดูว่าเส้นเลือดตีบหรือไม่ ซึ่งจะวัดผลได้แม่นยำกว่าวิธีปัจจุบัน ประเทศญี่ปุ่นคิดค้นวิธีนำยาไปใส่ในเซลล์มะเร็ง เพื่อรักษามะเร็งได้ตรงจุดมากขึ้น ทำให้สามารถกันเนื้อส่วนที่ดีไว้
2) Nano Material (วัสดุนาโน) ความรู้ด้านนาโนเทคโนโลยีทำให้สามารถผลิตวัสดุ แบบใหม่ที่ใช้ผลิตผลิตภัณฑ์ได้หลายชนิด เช่น
- ผลิตภัณฑ์เครื่องสำอางค์ เช่น บริษัท ลอรีอัล (L'OREAL) ทำครีมเครื่องสำอางค์ที่ทาแล้วสามารถซึมลงใต้ผิวหนังได้มากกว่า เพราะเนื้อครีมมีขนาดเล็กมาก
- สีที่ทำด้วยนาโน ทาแล้วไม่ต้องทำความสะอาด เพราะจะไม่ดูดซับสิ่งสกปรกต่าง ๆ
- สารที่แก้สารพิษ ของพวกทหารใช้ยามสงคราม
- กางเกงและเสื้อผ้าที่ไม่ยับ และไม่ดูดซับน้ำหรือสิ่งสกปรก โดยการใส่ผงนาโนเข้าไปในเนื้อผ้า
- Carbon ยุคใหม่ Carbon nanotubes แข็งกว่าเพชร 10 เท่า และเบามาก ปัจจุบันเอามาใส่ในไม้เทนนิส หรือ ผสมในตัวถังรถยนต์ ทำให้รถยนต์มีความแข็ง และน้ำหนักเบา
3) Nano Biotechnology (นาโนชีวภาพ) ประเทศตะวันตก และประเทศญี่ปุ่น ได้มีการทำวิจัยในเรื่องนี้อย่างมาก เกิดการแข่งขันกัน ซึ่งใครคิดขึ้นได้ก่อนก็จะได้เปรียบในทางการค้าและอื่น ๆ อย่างมาก เช่น
- การรักษาโรคมาเลเรีย มีการศึกษาดูโครงสร้างโปรตีนของมาเลเรียเพื่อค้นหายามารักษาโรคมาเลเรีย ประเทศทางตะวันตกไม่มีโรคนี้ เพราะฉะนั้นเขาจะไม่สนใจการวิจัยในเรื่องนี้แล้ว แต่เราเป็นประเทศในเขตร้อนชื้น โรคนี้จึงยังมีอยู่ เราจึงต้องมีการทำวิจัยในเรื่องนี้
ประเทศไทย เราต้องช่วยกันคิดว่าจะทำอย่างไรให้การวิจัยเข้าไปอยู่ในภาคเอกชนให้ได้ เพราะภาคเอกชนจะคิดออกมาเป็นสินค้าให้สามารถขายได้ ถ้าการวิจัยไม่ได้เข้าไปอยู่ในภาคเอกชน ก็เป็นเพียงแค่การวิจัยแค่นั้น ไม่มีการผลิตเป็นสินค้าออกมา ในต่างประเทศเงินงบประมาณวิจัย จะมีเยอะ เพราะเขาให้ความสำคัญ
การซักถามปัญหา
คำถาม : เราสามารถนำนาโนเทคโนโลยีมาช่วยทำให้ผ้าไหมที่เรานำมาตัดเสื้อผ้าไม่ให้ยับ หรือ รีดง่ายขึ้นได้บ้างไหม
คำตอบ : - เรื่องนี้ ผอ.ศูนย์ MTEC (National Metal and Materials Technology Center) และ NANOTEC (National Nanotechnology Center) ได้ลงไปดูไหมที่ระนอง มีบริษัทที่ทำไหมเก่งและปรากฏว่าเส้นไหมเล็กกว่าไหมไทย เป็นไหมมาจากเมืองจีน เราก็เริ่มให้นักวิจัยของเราไปดูว่า การทำไหมไม่ให้ยับ และไม่ดูดซับ คืออะไร และมีแนวโน้มสูงว่าเราจะนำตัวนั้นเข้ามาใส่ผ้าไหมไทยด้วย
- จังหวัดเชียงใหม่ก็มีบริษัทที่ทำปิโตรเคมี ได้มีการนำไหมไทยมาทำการทดลองไม่ให้ดูดซับน้ำ โดยใช้พลาสม่า ปรากฏว่าผ้าไหมก็ไม่ดูดซับน้ำจริง แต่เป็นแค่ขั้นเริ่มต้น เท่านั้น
คำถาม : 1) ประเทศไทยมีข้อจำกัดในเรื่องของนาโนเทคโนโลยี ถึงแม้ประเทศไทยจะพัฒนากำหนดยุทธศาสตร์ในเรื่องนี้แล้วก็ตาม สิ่งแรกที่เห็น เราจะพัฒนาผลิตภัณฑ์อย่างไรในเชิงพาณิชย์ ต้องมีการทำวิจัยและพัฒนาในด้านนี้ แต่ยังไม่เห็นไปในเชิงนั้นสักเท่าไร
2) ข้อจำกัดของ IT สมมุติว่าเรามีการนำเข้าผลิตภัณฑ์ที่เป็นนาโนเข้ามา สิ่งนี้ก็เป็นข้อจำกัดหนึ่งที่เราจะพัฒนาผลิตภัณฑ์ไปในทางที่เราต้องการไม่ได้ และเป็นข้อจำกัดที่ คิดว่ามีเรื่องที่จะเกี่ยวข้องกันอีก 2 - 3 เรื่อง คือ ในเมื่อเรามีตลาดนาโนเทคโนโลยี แต่เราไม่สามารถผลิตสินค้ามารองรับตลาดได้ จึงกลายเป็นข้อจำกัดใหญ่ เห็นด้วยกับนาโน เทคโนโลยี อย่างวันนี้เป็นการสร้าง Awareness ให้กับข้าราชการกระทรวงพาณิชย์ หลายเรื่องเราอาจจะเสริมได้ เช่น เรื่องระบบ IP หรือระบบการค้าภายในประเทศ หรือเรื่องการนำเข้าส่งออกในเรื่องการกำหนดเงื่อนไขต่าง ๆ แต่ข้อสังเกตนี้ ต้องช่วยแก้ไขปัญหาให้ได้
คำตอบ : - คิดว่าบางทีการลงทุนเพื่อส่งออกทั้งหมดอาจไม่จำเป็นเสมอไป เราจะลงทุนแล้วทำในไทยด้วยก็ได้ แต่ทำอย่างไรจึงจะให้บริษัทยักษ์ใหญ่มีความสัมพันธ์กับ Lab วิจัยของเราให้ได้ สัมพันธ์กับมหาวิทยาลัยไทยให้ได้ ต้องใส่ Incentive หรืออะไรบางอย่าง แต่ข่าวดีก็มี เช่น TOYOTA มาลงทุนทำ Lab วิจัยที่เมืองไทย หรือ BOI ก็พยายามจะชักนำอุตสาหกรรมที่ขึ้นต้นน้ำ หรือวิจัยพัฒนามากขึ้น หรือกรณีที่เราทำ Science Park ก็เป็นจุดเริ่มต้น พยายามดึงเอกชนเข้ามาสัก 30 ราย ให้มาอยู่ภายใต้ Lab ของเรา เห็นด้วยว่าจะ ต้องแก้กลไกเหล่านี้ คือ ตลาดสินค้าไทยของเราไม่ค่อยแข่งขัน เพราะเราไม่ได้ไปขายในตลาดโลก
คำถาม : ทุกวันนี้เรื่องอุตสาหกรรมอาหาร เช่น เครื่องแกง ซอส น้ำปลา ฯลฯ เราได้มีการนำนาโนเทคโนโลยีมาใช้กันหรือไม่ เพราะพวกนี้เน่าเสียง่าย ถ้านำนาโนมาช่วยอาจจะทำให้อาหารพวกนี้อยู่ได้นานขึ้น ยืดอายุขึ้น
คำตอบ : - เคยทำมะม่วงไม่ให้ดำได้ สามารถอยู่ได้ถึง 14 วัน โดยใส่แก๊สเฉื่อยเข้าไป
- ศูนย์ MTEC ทำถุงพลาสติกที่ควบคุมการเคลื่อนย้ายอากาศภายนอก ภายใน และนำไปให้เอกชนทดลองใช้ ปรากฏว่าเก็บพริกสด หรือผักสดได้ประมาณ 3 อาทิตย์ หรือมากกว่า ใน เรื่องนี้ เราก็ทำอยู่ (Active Packaging)
คำถาม : - เรื่องของ Spa เรามีการประคบ แล้วเราสามารถนำนาโนมาช่วยได้ไหม อาจจะช่วยทำให้หายเมื่อยเร็วขึ้น จะได้มีการนำไปสนับสนุนธุรกิจพวกนี้
คำตอบ : - สิ่งนี้เป็นวิจัยหัวข้อหนึ่งของเราเลย รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวิทยาศาสตร์ฯ สนใจในเรื่องนี้ท่านเรียก กระทรวงสาธารณสุขมาคุยกับเราว่าจะทำอย่างไรให้สามารถนำตัวนี้ใส่ไปในสมุนไพร แล้วให้ซึมเข้าร่างกายได้ (คือทำให้มันเล็กลง) เมืองไทยมี Niche แน่นอนในเรื่อง Spa การแพทย์ สุขภาพ
คำถาม : เรื่องอาหาร ในการนำนาโนเข้ามาเกี่ยวข้อง จะเกี่ยวกับเรื่องพืช GMO หรือไม่เพราะถ้าเกี่ยวกับเรื่อง GMO ก็ยังมีการถกเถียงกันมากว่าจะดีหรือไม่ดี ประเทศไทยควรจะเป็นคนผลิตหรือไม่ ไม่ทราบว่าในทางวิทยาศาสตร์ท่านมองในเรื่องนี้อย่างไร เพราะเราเองก็ยังไม่ชัดเจนในเรื่องนี้
คำตอบ : GMO คนไทยก็ทำได้ ยกตัวอย่างเช่น ที่กำแพงแสนทำมะละกอที่ลูกสวยๆ พริกชี้ฟ้าเม็ดเท่ากัน ทางยุโรปหรือ EU เคยค้านเรื่อง GMO ไว้เยอะ แต่ตอนนี้ก็อ่อนลงไป มีสหรัฐอเมริกาที่เห็นด้วยกับ GMO ตลอด แต่อะไรที่ผ่านการพิสูจน์แล้วจาก อย. หรือ FDA แล้ว และมีการติดฉลากให้ดี ก็น่าจะใช้ได้ ในเรื่องของนาโนก็มีคนค้าน แต่มีน้อย
ปลัดกระทรวงพาณิชย์ : ท่าน ดร.ไพรัชฯ ได้ใช้เวลาอันสั้น อธิบายให้พวกเราเห็นภาพได้ ขณะนี้พวกเรายังอาจจะนำมาเชื่อมโยงไม่ถูกว่าเกี่ยวข้องกับงานของเราอย่างไร แต่ที่มองเห็นชัดๆ อย่างน้อย คือ
1. ในเรื่องการผลิตสินค้าที่จะส่งออกหรือใช้ในประเทศก็ตาม เทคโนโลยีตัวนี้สำคัญมาก
2. หน่วยงานทรัพย์สินทางปัญญา อยากให้กรมให้ความสนใจในเรื่องนี้มาก ๆ ควรมีบทบาทในเชิงรุก และน่าจะมีการไปเชื่อมโยงกับสถาบันวิจัยต่างๆ โดยเฉพาะในเรื่องนาโนนี้ เราคงต้องไปดูว่ามีอะไรเกิดขึ้น เขาวิจัยอะไรบ้าง และต้องเชื่อมไปในภาคธุรกิจเอกชนด้วย และผลงานที่ออกมา เราจะคุ้มครองให้ได้อย่างไร ซึ่งข้อมูลพวกนี้กรมทรัพย์สินทางปัญญาน่าจะมีน่าจะรู้ว่าเขาคิดอะไรออกมาบ้างทั้งในและนอกประเทศ จะทำให้เราสามารถรู้ทิศทางการวิจัยว่าไปในด้านไหน ตรงนี้เราน่าจะทำ ทางส่วนกระทรวงพาณิชย์ เราเห็นชัดขึ้น ทุกวันนี้นาโนเทคโนโลยีอยู่กับเราแล้ว ศักยภาพของนาโนมีมหาศาลมาก ถ้าเราไม่ได้มาฟังวันนี้ เราก็คิดไม่ออกว่าเป็น อย่างไร เกี่ยวข้องกับเราอย่างไร เช่น เสื้อผ้าที่ไม่สกปรกเลย ไม่ต้องซัก มันคือสิ่งที่เราคิดไม่ถึง ในวันนี้
ทั้งหมดนี้ต้องร่วมมือกันระหว่างฝ่ายวิจัย และอุตสาหกรรรม กระทรวงพาณิชย์เป็นตัวเชื่อม (ก็ได้) เพราะฉะนั้น เรามีทั้งลูกค้าส่งออก และในประเทศไทย เราน่าจะคุยให้ลูกค้าเราฟังบ้างว่ามีอะไรใหม่ๆ และควรมีการทำ R&D ภายในกระทรวงพาณิชย์ คือ เราจะเอาเทคโนโลยีใหม่ๆมาใช้ในการผลิตสินค้า หรือมาทำการตลาดของเราอย่างไร หน้าที่ตรงนี้กระทรวงเราขาดไป
กรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ กระทรวงพาณิชย์ อาคาร ค ถ.ราชดำเนินกลาง แขวงบวรนิเวศน์ เขตพระนคร กรุงเทพมหานคร 10200 โทรศัพท์ (66) 2282-6171-9 แฟกซ์ (66) 2280-0775
-พห-

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ