ดัชนีราคาผู้บริโภคทั่วไปและดัชนีราคาผู้บริโภคพื้นฐานของภาคใต้เดือนกรกฎาคม 2548
สำนักดัชนีเศรษฐกิจการค้า ขอรายงานความเคลื่อนไหวดัชนีราคาผู้บริโภคทั่วไปของภาคใต้เดือนกรกฎาคม 2548 โดยสรุป
จากการสำรวจราคาสินค้าและบริการของภาคใต้จำนวน 337 รายการ ครอบคลุมหมวดอาหารและเครื่องดื่ม เครื่องนุ่งห่ม เคหสถาน การตรวจรักษาและบริการส่วนบุคคล ยานพาหนะการขนส่งการสื่อสาร การบันเทิง การอ่าน การศึกษา ฯลฯ เพื่อนำมาคำนวณดัชนีราคาผู้บริโภคทั่วไปของภาคใต้ ได้ผลดังนี้
1. ดัชนีราคาผู้บริโภคทั่วไปของภาคใต้เดือนกรกฎาคม 2548 ในปี 2545 ดัชนีราคาผู้บริโภคทั่วไปของภาคใต้เท่ากับ 100 และเดือนกรกฎาคม 2548เท่ากับ 111.2 สำหรับเดือนมิถุนายน 2548 เท่ากับ 110.0
2. การเปลี่ยนแปลงของดัชนีราคาผู้บริโภคทั่วไปของภาคใต้เดือนกรกฎาคม 2548 เมื่อเทียบกับ
2.1 เดือนมิถุนายน 2548 สูงขึ้นร้อยละ 1.1
2.2 เดือนกรกฎาคม 2547 สูงขึ้นร้อยละ 5.4
2.3 เดือนมกราคม - กรกฎาคม 2548 เทียบกับช่วงเดียวกับของปี 2547 สูงขึ้นร้อยละ 4.3
3.ดัชนีราคาผู้บริโภคทั่วไปของภาคใต้เดือนกรกฎาคม 2548 เทียบกับเดือนมิถุนายน 2548 สูงขึ้นร้อยละ 1.1 จากการสูงขึ้นของดัชนีราคาสินค้าหมวดอื่น ๆ ที่ไม่ใช่อาหารและเครื่องดื่ม ร้อยละ 1.8 ขณะที่สินค้าหมวดอาหารและเครื่องดื่ม ดัชนีราคาโดยเฉลี่ยไม่เปลี่ยนแปลง โดยมีการเคลื่อนไหว ดังนี้
3.1 สินค้าหมวดอาหารและเครื่องดื่ม ดัชนีราคาโดยเฉลี่ยไม่เปลี่ยนแปลง อย่างไรก็ตามสินค้าบางชนิดมีราคาเปลี่ยนแปลง ดังนี้
สินค้าและบริการสำคัญที่ราคาสูงขึ้น ได้แก่
- ไก่สด ความต้องการ เพิ่มขึ้นทั้งตลาดภายในประเทศและการส่งออก
- ปลาและสัตว์น้ำ ได้แก่ ปลาช่อน ปลานิล ปลากะพง ปลาทู ปลาหมึกกล้วย หอยแครง หอยลาย และหอยแมลงภู่ ปริมาณที่จับได้ลดลงประกอบกับต้นทุนเชื้อเพลิงมีราคาสูง
- ไข่ ได้แก่ ไข่ไก่ ไข่เป็ด เนื่องจากปริมาณผลผลิตที่ออกสู่ตลาดไม่เพียงพอกับความต้องการ
- ผลิตภัณฑ์นม ได้แก่ นมสด UHT นมข้นหวาน ครีมเทียม และนมถั่วเหลือง
- อาหารสำเร็จรูป ได้แก่ ข้าวผัด และก๋วยเตี๋ยว ผู้ประกอบการปรับราคา
จำหน่ายสูงขึ้น
สินค้าและบริการสำคัญที่ราคาลดลง ได้แก่
- เนื้อสุกร ภาวะการจำหน่ายชะลอตัวเนื่องจากราคาสูงเมื่อเทียบกับเนื้อสัตว์ชนิดอื่น ๆ ผู้บริโภคหันไปบริโภคไก่และสัตว์น้ำทดแทนประกอบกับภาครัฐได้กำหนดให้เนื้อสุกรเป็นสินค้าควบคุม
- ผักสด ได้แก่ แตงกวา ผักคะน้า ผักบุ้ง มะเขือ ถั่วฝักยาว บวบ ฟักเขียว เห็ด มะนาว ต้นหอม หัวผักกาดขาว และขิง ปริมาณผลผลิตออกสู่ตลาดมากตามฤดูกาล
3.2 สินค้าหมวดอื่น ๆ ที่ไม่ใช่อาหารและเครื่องดื่ม ดัชนีราคาสูงขึ้นร้อยละ 1.8
สินค้าสำคัญที่ราคาสูงขึ้น ได้แก่
- น้ำมันเชื้อเพลิง ได้แก่ น้ำมันเบนซิน และน้ำมันดีเซลหมุนเร็ว เป็นไปตาม
ภาวะราคาน้ำมันดิบในตลาดโลก และน้ำมันสำเร็จรูปในตลาดสิงคโปร์ที่สูงขึ้น
- ค่าโดยสารสาธารณะ ได้แก่ ค่าโดยสารรถประจำทางทั้งในท้องถิ่นและ
นอกท้องถิ่น จากการที่ บขส. ได้ปรับอัตราค่าโดยสารสูงขึ้น ตั้งแต่วันที่ 8 กรกฎาคม 2548 นอกจากนี้ค่าโดยสารเครื่องบินได้ปรับสูงขึ้นด้วย
- สิ่งที่เกี่ยวกับทำความสะอาด ได้แก่ ผงซักฟอก เป็นต้น
- ค่าใช้จ่ายส่วนบุคคล ได้แก่ แชมพู แปรงสีฟัน ยาสีฟัน น้ำหอม ครีมนวดผม และแป้งทาผิว เป็นต้น
ที่มา: สำนักดัชนีเศรษฐกิจการค้า สำนักงานปลัดกระทรวง กระทรวงพาณิชย์ โทร.0-2507-5850 โทรสาร.0-2507-5825