นางอัจนา ไวความดี ผู้ช่วยผู้ว่าการสายนโยบายการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) แถลงถึงผลการประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงินในวันนี้ ซึ่งที่ประชุมได้พิจารณาภาวะเศรษฐกิจและแนวโน้มในระยะต่อไป เพื่อกำหนดแนวนโยบายการเงินที่เหมาะสม โดยมีประเด็นที่สำคัญ ดังนี้
1. จากการประเมินข้อมูลเศรษฐกิจการเงินล่าสุด คณะกรรมการฯ มีความเห็นว่า ภาวะเศรษฐกิจปัจจุบันได้รับผลกระทบจากราคาน้ำมันในประเทศที่แพงขึ้น ทำให้กิจกรรมทางเศรษฐกิจในบางด้าน เช่น การใช้จ่ายเพื่อการบริโภคเริ่มชะลอลง แต่ความสามารถของเศรษฐกิจที่จะขยายตัวได้ต่อเนื่องในระยะต่อไปยังอยู่ในเกณฑ์ดีพอควร โดยมีการขยายตัวของการส่งออก การลงทุนของภาคเอกชน และการลงทุนของภาครัฐเป็นปัจจัยสนับสนุน อย่างไรก็ตาม ภาวการณ์ด้านต่างประเทศมีความไม่แน่นอนมากขึ้น โดยเฉพาะราคาน้ำมันและแนวโน้มเศรษฐกิจโลก ทำให้ความเสี่ยงต่อเศรษฐกิจอาจมีมากขึ้นในระยะต่อไป
2. เสถียรภาพทางเศรษฐกิจอยู่ในเกณฑ์ที่น่าพอใจ โดยดุลบัญชีเดินสะพัดเกินดุลต่อเนื่อง และทุนสำรองทางการปรับสูงขึ้น แต่ราคาน้ำมันที่เพิ่มขึ้นได้สร้างแรงกดดันมากขึ้นต่อดุลการค้าและอัตราเงินเฟ้อในประเทศ ล่าสุดอัตราเงินเฟ้อทั่วไปเร่งตัวขึ้น โดยสูงขึ้นเป็นร้อยละ 3.6 ในเดือนกันยายน ในขณะที่อัตราเงินเฟ้อพื้นฐานเพิ่มขึ้นเป็นร้อยละ 0.6 หากไม่รวมค่าเช่าบ้านซึ่งเป็นปัจจัยที่ทำให้เงินเฟ้อพื้นฐานไม่เร่งตัวมากนักในช่วงที่ผ่านมาอัตราเงินเฟ้อพื้นฐานอยู่ที่ร้อยละ 0.9
3. ในระยะต่อไป ความเสี่ยงทางด้านเงินเฟ้อจะมีสูงขึ้น ทั้งจากเศรษฐกิจที่ขยายตัวต่อเนื่อง อัตราการใช้กำลังการผลิตในภาคอุตสาหกรรมที่สูงขึ้น ภาวะตึงตัวของตลาดแรงงาน การขยายตัวของสินเชื่อ และราคาสินค้าที่อาจปรับขึ้นเนื่องจากต้นทุนที่สูงขึ้น สิ่งเหล่านี้จะทำให้แรงกดดันเงินเฟ้อสูงขึ้นในปีหน้า ทั้งอัตราเงินเฟ้อทั่วไปและอัตราเงินเฟ้อพื้นฐาน ดังนั้นความเสี่ยงด้านเงินเฟ้อในระยะต่อไปมีมากขึ้นกว่าที่ประเมินไว้ก่อนหน้านี้
4. จากที่อัตราเงินเฟ้อในประเทศมีแนวโน้มที่จะเร่งตัวมากขึ้น ในขณะที่เศรษฐกิจมีแนวโน้มขยายตัวอยู่ในเกณฑ์ที่น่าพอใจ คณะกรรมการฯ จึงเห็นว่าความจำเป็นของอัตราดอกเบี้ยในประเทศต่ำอย่างในปัจจุบันมีน้อยลง อัตราดอกเบี้ยในประเทศควรปรับสูงขึ้นเพื่อให้ระดับของอัตราดอกเบี้ยกลับเข้าสู่ระดับที่เหมาะสมต่อการดูแลเสถียรภาพเศรษฐกิจ โดยการปรับเปลี่ยนควรเกิดขึ้นอย่างค่อยเป็นค่อยไป และสอดคล้องกับการดูแลให้เศรษฐกิจสามารถเติบโตได้อย่างต่อเนื่องและมีเสถียรภาพ
ดังนั้น คณะกรรมการฯ จึงเห็นควรปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยตลาดซื้อคืนพันธบัตรระยะ 14 วันอีกร้อยละ 0.25 ต่อปี จากร้อยละ 1.5 เป็นร้อยละ 1.75 ต่อปี โดยมีผลทันทีในวันนี้ ทั้งนี้คณะกรรมการฯ จะติดตามผลกระทบของปัจจัยที่จะมีผลต่อเสถียรภาพและการขยายตัวทางเศรษฐกิจทั้งสองด้าน เพื่อกำหนดนโยบายการเงินที่เหมาะสมกับสถานการณ์ต่อไป
--ธนาคารแห่งประเทศไทย--
-ยก-
1. จากการประเมินข้อมูลเศรษฐกิจการเงินล่าสุด คณะกรรมการฯ มีความเห็นว่า ภาวะเศรษฐกิจปัจจุบันได้รับผลกระทบจากราคาน้ำมันในประเทศที่แพงขึ้น ทำให้กิจกรรมทางเศรษฐกิจในบางด้าน เช่น การใช้จ่ายเพื่อการบริโภคเริ่มชะลอลง แต่ความสามารถของเศรษฐกิจที่จะขยายตัวได้ต่อเนื่องในระยะต่อไปยังอยู่ในเกณฑ์ดีพอควร โดยมีการขยายตัวของการส่งออก การลงทุนของภาคเอกชน และการลงทุนของภาครัฐเป็นปัจจัยสนับสนุน อย่างไรก็ตาม ภาวการณ์ด้านต่างประเทศมีความไม่แน่นอนมากขึ้น โดยเฉพาะราคาน้ำมันและแนวโน้มเศรษฐกิจโลก ทำให้ความเสี่ยงต่อเศรษฐกิจอาจมีมากขึ้นในระยะต่อไป
2. เสถียรภาพทางเศรษฐกิจอยู่ในเกณฑ์ที่น่าพอใจ โดยดุลบัญชีเดินสะพัดเกินดุลต่อเนื่อง และทุนสำรองทางการปรับสูงขึ้น แต่ราคาน้ำมันที่เพิ่มขึ้นได้สร้างแรงกดดันมากขึ้นต่อดุลการค้าและอัตราเงินเฟ้อในประเทศ ล่าสุดอัตราเงินเฟ้อทั่วไปเร่งตัวขึ้น โดยสูงขึ้นเป็นร้อยละ 3.6 ในเดือนกันยายน ในขณะที่อัตราเงินเฟ้อพื้นฐานเพิ่มขึ้นเป็นร้อยละ 0.6 หากไม่รวมค่าเช่าบ้านซึ่งเป็นปัจจัยที่ทำให้เงินเฟ้อพื้นฐานไม่เร่งตัวมากนักในช่วงที่ผ่านมาอัตราเงินเฟ้อพื้นฐานอยู่ที่ร้อยละ 0.9
3. ในระยะต่อไป ความเสี่ยงทางด้านเงินเฟ้อจะมีสูงขึ้น ทั้งจากเศรษฐกิจที่ขยายตัวต่อเนื่อง อัตราการใช้กำลังการผลิตในภาคอุตสาหกรรมที่สูงขึ้น ภาวะตึงตัวของตลาดแรงงาน การขยายตัวของสินเชื่อ และราคาสินค้าที่อาจปรับขึ้นเนื่องจากต้นทุนที่สูงขึ้น สิ่งเหล่านี้จะทำให้แรงกดดันเงินเฟ้อสูงขึ้นในปีหน้า ทั้งอัตราเงินเฟ้อทั่วไปและอัตราเงินเฟ้อพื้นฐาน ดังนั้นความเสี่ยงด้านเงินเฟ้อในระยะต่อไปมีมากขึ้นกว่าที่ประเมินไว้ก่อนหน้านี้
4. จากที่อัตราเงินเฟ้อในประเทศมีแนวโน้มที่จะเร่งตัวมากขึ้น ในขณะที่เศรษฐกิจมีแนวโน้มขยายตัวอยู่ในเกณฑ์ที่น่าพอใจ คณะกรรมการฯ จึงเห็นว่าความจำเป็นของอัตราดอกเบี้ยในประเทศต่ำอย่างในปัจจุบันมีน้อยลง อัตราดอกเบี้ยในประเทศควรปรับสูงขึ้นเพื่อให้ระดับของอัตราดอกเบี้ยกลับเข้าสู่ระดับที่เหมาะสมต่อการดูแลเสถียรภาพเศรษฐกิจ โดยการปรับเปลี่ยนควรเกิดขึ้นอย่างค่อยเป็นค่อยไป และสอดคล้องกับการดูแลให้เศรษฐกิจสามารถเติบโตได้อย่างต่อเนื่องและมีเสถียรภาพ
ดังนั้น คณะกรรมการฯ จึงเห็นควรปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยตลาดซื้อคืนพันธบัตรระยะ 14 วันอีกร้อยละ 0.25 ต่อปี จากร้อยละ 1.5 เป็นร้อยละ 1.75 ต่อปี โดยมีผลทันทีในวันนี้ ทั้งนี้คณะกรรมการฯ จะติดตามผลกระทบของปัจจัยที่จะมีผลต่อเสถียรภาพและการขยายตัวทางเศรษฐกิจทั้งสองด้าน เพื่อกำหนดนโยบายการเงินที่เหมาะสมกับสถานการณ์ต่อไป
--ธนาคารแห่งประเทศไทย--
-ยก-