รายงานสรุปภาวะเศรษฐกิจการค้าไทย ประจำเดือน สิงหาคม 2547

ข่าวเศรษฐกิจ Thursday October 28, 2004 14:21 —กรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ

        1. การส่งออก
1.1 ภาวะการส่งออก
- มูลค่าส่งออกขยายตัวสูงอย่างต่อเนื่อง โดยในเดือนสิงหาคมมูลค่าส่งออกเท่ากับ 8,285.5 ล้านเหรียญสหรัฐฯ เพิ่มขึ้นจากเดือนเดียวกันของปีที่แล้วร้อยละ 27.7 และการส่งออกช่วง 8 เดือนแรกของปี 2547 มีมูลค่าเท่ากับ 62,749.2 ล้านเหรียญสหรัฐฯ เพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปี 2546 ร้อยละ 22.9 โดยเป็นการเพิ่มขึ้นในกลุ่มสินค้าเกษตร/อุตสาหกรรมเกษตรร้อยละ 13.5 และสินค้าอุตสาหกรรม ร้อยละ 24.9
- การส่งออกสินค้าเกษตรสำคัญขยายตัวอย่างต่อเนื่องทั้งมูลค่าและปริมาณ ข้าวมีอัตราการขยายตัวทั้งมูลค่า (ร้อยละ 58.1) และปริมาณ (ร้อยละ 39.8) จากเดือนเดียวกันของปี 2546 แต่ปริมาณและมูลค่าลดลงเมื่อเปรียบเทียบกับเดือนที่แล้ว ทั้งนี้ เนื่องจากระดับราคาข้าวปรับตัวสูงขึ้นอย่างต่อเนื่องทำให้ผู้นำเข้าชะลอการนำเข้าลง โดยความต้องการของผู้นำเข้าส่วนใหญ่เป็นข้าวขาวและข้าวนึ่ง โดยตลาดส่งอออกที่สำคัญ คือ อิหร่าน ประเทศแถบแอฟริกา และจีน และการส่งออกข้าวในช่วง 8 เดือนแรกของปี 2547 มูลค่าขยายตัวร้อยละ 64.8 และปริมาณขยายตัว ร้อยละ 46.0 สำหรับผลิตภัณฑ์มันสำปะหลังในเดือนนี้ มูลค่าส่งออกขยายตัว 49.6 และปริมาณการส่งออกขยายตัวร้อยละ 30.1 และการส่งออกในช่วง 8 เดือนแรก ขยายตัวทั้งมูลค่า (ร้อยละ 44.3) และปริมาณ (ร้อยละ 51.1) ส่วนยางพารา ในเดือนนี้ขยายตัวทั้งมูลค่า (ร้อยละ 49.6) และปริมาณ (ร้อยละ 14.1) แต่ในช่วง 8 เดือน มูลค่าขยายตัวร้อยละ 28.5 แต่ปริมาณส่งออกยังคงลดลงร้อยละ 7.6
- การส่งออกสินค้าหมวดอาหารลดลงร้อยละ 5.6 (มูลค่าการส่งออกในช่วง 8 เดือนแรกของปี 2547 ลดลงร้อยละ 2.1) สินค้ากุ้งและไก่สดแช่เย็นแช่แข็งแปรรูป มูลค่าส่งออกลดลงร้อยละ 23.7 และ ร้อยละ 37.9 ตามลำดับ (ในช่วง 8 เดือนแรกของปี 2547 ลดลงร้อยละ 11 และร้อยละ 45.3) แต่ในส่วนของไก่แปรรูป มูลค่าการส่งออกเมื่อเปรียบเทียบกับเดือนที่แล้วขยายตัวร้อยละ 10.2 สำหรับผักผลไม้สด แช่เย็น แช่แข็ง กระป๋องและแปรรูป และอาหารอื่นๆ มูลค่าการส่งออกในเดือนนี้ยังขยายตัวร้อยละ 11.5 และร้อยละ 7.6 และในช่วง 8 เดือนแรกของปี ขยายตัวร้อยละ 13.7 และร้อยละ 12.3 ตามลำดับ
- สินค้าอุตสาหกรรมขยายตัวได้ดีร้อยละ 27.3 (มูลค่าการส่งออกช่วง 8 เดือนแรกขยายตัวร้อยละ 24.9) สินค้าที่ขยายตัวสูง ได้แก่ เครื่องปรับอากาศ และส่วนประกอบ (ร้อยละ 68.2) วัสดุก่อสร้าง (ร้อยละ 64.2) และผลิตภัณฑ์ยาง (ร้อยละ 50.1) สำหรับและสินค้าที่ส่งออกลดลง ได้แก่ เครื่องวิดีโอ เครื่องเสียงและส่วนประกอบ (ลดลงร้อยละ 8.7) เครื่องใช้เดินทาง เครื่องหนัง และรองเท้า (ลดลงร้อยละ 6.3) และเครื่องใช้และเครื่องประดับตกแต่ง (ลดงร้อยละ 1.1)
1.2 ตลาดส่งออก/เป้าหมาย
- ตลาดหลักยังขยายตัวได้ดีร้อยละ 24.4 (ขยายตัวร้อยละ 21.1 ในช่วง 8 เดือนแรกของปี) จากเป้าหมายร้อยละ 11 โดยรวมแล้วขยายตัวได้ดีสูงกว่าเป้าหมายทุกตลาด ยกเว้นบรูไนในเดือนนี้การส่งออกเท่าเดิม (ขยายตัวร้อยละ 0)
- ตลาดรองขยายตัวร้อยละ 21.8 สูงกว่าเป้าหมายเล็กน้อย (ร้อยละ 17.4) โดยในช่วง 8 เดือนแรกขยายตัวต่ำกว่าเป้าหมายเล็กน้อยร้อยละ 16.3 ในเดือนสิงหาคม ตลาดที่ขยายตัวสูงกว่าเป้าหมาย คือ แคนาดา (ร้อยละ29.9) และฮ่องกง (ร้อยละ 30) ส่วนตลาดไต้หวัน (ร้อยละ 11.9) เกาหลีใต้ (ร้อยละ 14.7) และทวีปออสเตรเลีย (ร้อยละ 18.6) อัตราการขยายตัวต่ำกว่าเป้าหมาย
- ตลาดใหม่ขยายตัวได้ดีร้อยละ 36.1 (ขยายตัวร้อยละ 31.5 ในช่วง 8 เดือนแรกของปี) จากเป้าหมาย ร้อยละ 25.7 โดยตลาดที่มีการขยายตัวสูง ได้แก่ แอฟริกา (ร้อยละ 66.5) และอินโดจีน (ร้อยละ 39.9) และตลาดที่ขยายตัวต่ำกว่าเป้าหมาย คือ จีน (ขยายตัวร้อยละ 24.4 ต่ำกว่าเป้าหมายร้อยละ 38) และจีน (ขยายตัวร้อยละ 40.8 ต่ำกว่าเป้าหมายร้อยละ 55)
2. การนำเข้าและดุลการค้า
- การนำเข้าในเดือนสิงหาคม 2547 เพิ่มขึ้นในอัตราที่สูงในทุกหมวดสินค้า โดยมีมูลค่าการนำเข้า 8,501.5 ล้านเหรียญสหรัฐฯ เพิ่มขึ้นร้อยละ 35.4 จากช่วงเดียวกันของปีที่แล้ว และเพิ่มขึ้นจากเดือนก่อนร้อยละ 4.8 ส่งผลให้ไทยขาดดุลการค้าประมาณ 216 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ซึ่งเป็นการขาดดุลครั้งแรกในรอบ 3 เดือน โดยในเดือนสิงหาคมมีมูลค่าการนำเข้าน้ำมันดิบเพิ่มขึ้นร้อยละ 66.6จากเดือนที่แล้ว และเพิ่มขึ้นร้อยละ 82 เมื่อเทียบกับปีที่แล้ว
- การนำเข้าในช่วง 8 เดือนแรกของปี 2547 ขยายตัวร้อยละ 30.4 และไทยยังเกินดุลการค้าประมาณ 492.9 ล้านเหรียญสหรัฐฯ โดยการนำเข้าขยายตัวสูงทุกหมวดโดยเฉพาะสินค้าที่นำเข้ามาผลิตเพื่อการส่งออก ได้แก่ สินค้าเชื้อเพลิง(ร้อยละ48.5) สินค้าวัตถุดิบและกึ่งสำเร็จรูป(ร้อยละ 31.4) สินค้าทุน(ร้อยละ 27.3) สินค้ายานพาหนะฯ(ร้อยละ 23.4) และสินค้าอุปโภคบริโภค(ร้อยละ 23.2)
3. ดัชนีเศรษฐกิจ
- ค่าดัชนีวัฏจักรธุรกิจในเดือนสิงหาคม 2547 มีค่าแสดงทิศทางถึงภาวะเศรษฐกิจที่ยังคงขยายตัวต่อเนื่อง พิจารณาจากค่าดัชนีชี้นำวัฏจักรธุรกิจระยะสั้น ซึ่งคาดการณ์ล่วงหน้า 3-5 เดือน มีค่า 126.6 สูงขึ้นจากเดือนเดียวกันของปีก่อน ร้อยละ 2.9 และดัชนีคาดการณ์ภาวะธุรกิจ ในไตรมาสที่ 4/2547 (ตุลาคม-ธันวาคม) มีค่า 53.7 สูงกว่าระดับ 50 บ่งชี้ว่านักธุรกิจยังคงมีความมั่นใจต่อภาวะเศรษฐกิจของประเทศ
- สำหรับค่าดัชนีชี้นำวัฏจักรเงินเฟ้อ ซึ่งชี้นำล่วงหน้า 7-9 เดือน มีค่า 99.4 ขยายตัวเพิ่มขึ้นจากระยะเดียวกันของปีก่อนร้อยละ 1.9 ซึ่งแสดงถึงภาวะเงินเฟ้อมีแนวโน้มสูงขึ้น ซึ่งเป็นผลจากการสูงขึ้นของมูลค่าสินค้านำเข้าโดยเฉพาะน้ำมันเชื้อเพลิง
- สำหรับแนวโน้มการส่งออกโดยรวม ดัชนีคาดการณ์ธุรกิจส่งออกในไตรมาสที่ 3 ของปี 2547 (กรกฎาคม — กันยายน) มีค่า 67.6 สูงกว่าระดับ 50 และผู้ส่งออกส่วนใหญ่ (ร้อยละ 52) คาดว่าการส่งออกจะยังคงเพิ่มขึ้น ซึ่งแสดงว่าทิศทางการส่งออกยังขยายตัวต่อเนื่อง
- ส่วนดัชนีความเชื่อมั่นของผู้บริโภค เดือนสิงหาคม 2547 การจับจ่ายใช้สอยในอนาคต (3เดือน) มีค่าลดลงจากร้อยละ 49.1 เป็น 41.3 หรือลดลงร้อยละ 16 เนื่องจากความวิตกเกี่ยวกับค่าครองชีพที่สูงขึ้นเนื่องจากต้นทุนสินค้าที่เพิ่มขึ้น
กรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ กระทรวงพาณิชย์ อาคาร ค ถ.ราชดำเนินกลาง แขวงบวรนิเวศน์ เขตพระนคร กรุงเทพมหานคร 10200 โทรศัพท์ (66) 2282-6171-9 แฟกซ์ (66) 2280-0775
-พห-

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ