สาร ส.ส. ฉบับที่ ๙๗ วันที่ ๑๕-๒๑ พฤศจิกายน ๒๕๔๗

ข่าวการเมือง Monday November 15, 2004 08:00 —รัฐสภา

=   พิธีถวายผ้าพระกฐิน
วันอังคารที่ ๙ พฤศจิกายน ๒๕๔๗ เวลา ๑๔.๐๐ นาฬิกา นายอุทัย พิมพ์ใจชน ประธานรัฐสภา และประธานสภาผู้แทนราษฎร พร้อมด้วยข้าราชการสำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร นำผ้าพระกฐินพระราชทาน ประจำปี ๒๕๔๗ ในนาม "สภาผู้แทนราษฎร" ไปถวายพระสงฆ์ จำพรรษา ณ พระอุโบสถ วัดราชนัดดารามวรวิหาร กรุงเทพฯ
= ให้การรับรอง
วันพฤหัสบดีที่ ๑๑ พฤศจิกายน ๒๕๔๗ เวลา ๑๔.๐๐ นาฬิกา นายอุทัย พิมพ์ใจชน ประธานรัฐสภา และประธานสภาผู้แทนราษฎร ให้การรับรอง นายมุห์ซิน พอก อออีน เอกอัครราชทูต สาธารณรัฐอิสลามอิหร่านประจำประเทศไทย ณ ห้องรับรอง ๑ ชั้น ๒ อาคารรัฐสภา
= มอบช่อดอกไม้
วันพุธที่ ๑๐ พฤศจิกายน ๒๕๔๗ เวลา ๑๖.๑๐ นาฬิกา นายวิทยา ทรงคำ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร จังหวัดเชียงใหม่ ได้นำคณะข้าราชการครู ๔ ภูมิภาค เข้ามอบช่อดอกไม้แก่ นายสุชาติ ตันเจริญ รองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่สอง ในโอกาสที่สภาผู้แทนราษฎรได้ผ่าน ร่างพระราชบัญญัติระเบียบข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา ตลอดจนต่างพระราชบัญญัติ เงินเดือนวิทยฐานะและเงินประจำตำแหน่งของข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา ณ ห้องทำงานรองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่สอง ชั้น ๓ อาคารรัฐสภา
= บรรยายสรุป
วันจันทร์ที่ ๘ พฤศจิกายน ๒๕๔๗ คณะอาจารย์และพระนิสิตจากมหาวิทยาลัย มหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย วิทยาเขตพะเยา จังหวัดพะเยา ฟังบรรยายสรุปเรื่อง "บทบาท อำนาจหน้าที่ของรัฐสภา" โดยนายทองคำ แก้วพรม ผู้อำนวยการกลุ่มงานเข้าชื่อเสนอกฎหมาย สำนัก การประชุม ณ ห้องสารนิเทศ อาคารรัฐสภา
= เยี่ยมชมรัฐสภา
วันพุธที่ ๑๐ พฤศจิกายน ๒๕๔๗ คณะนักศึกษาปริญญาโทและปริญญาเอก สาขาวิชาพยาบาลศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล ได้เดินทางมาเยี่ยมชมรัฐสภาและฟังบรรยายสรุปเรื่อง "บทบาท อำนาจหน้าที่ของรัฐสภา" โดยนายทองคำ แก้วพรม ผู้อำนวยการกลุ่มงานเข้าชื่อเสนอกฎหมาย สำนักการประชุม ณ ห้องสารนิเทศ อาคารรัฐสภา
= สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ กับวิถีทางการปกครองระบอบ
ประชาธิปไตย
ตามประวัติศาสตร์ชาติไทย สมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ ได้ทรงมีบทบาทในการบริหารพระราชภาระแทนพระมหากษัตริย์ เมื่อครั้งในรัชกาลที่ ๕ พระบาทสมเด็จ พระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เสด็จยุโรปเป็นครั้งแรกในปี พ.ศ. ๒๔๔๐ จึงได้ทรงสถาปนาสมเด็จ พระนางเจ้าเสาวภาผ่องศรี พระอัครราชเทวี เป็นผู้สำเร็จราชการต่างพระองค์ โดยได้ทรงตรา พระราชกำหนดผู้สำเร็จราชการแผ่นดิน รัตนโกสินทร์ศก ๑๑๕ ขึ้น ในมาตรา ๒ แห่งพระราชกำหนดนั้น มีว่า "ในระหว่างเวลาที่ไม่ได้เสด็จประทับอยู่ในกรุงสยามนี้ ให้สมเด็จพระนางเจ้าเสาวภาผ่องศรี พระบรมราชินีนาถ อันเป็นพระราชขนนีแห่งสมเด็จพระบรมโอรสาธิราชมกุฎราชกุมารนั้นเป็นผู้สำเร็จราชการแผ่นดินต่างพระองค์ กับทั้งให้มีที่ประชุมอันหนึ่งเป็นที่ปรึกษาด้วย" ในพระราชพิธีทรงสถาปนา สมเด็จพระบรมราชินีนาถ เป็นผู้สำเร็จราชการรักษาพระนคร เมื่อวันที่ ๒๑ มีนาคม พ.ศ. ๒๔๓๙ นั้น สมเด็จพระบรมราชินีนาถได้ทรงกระทำสัจจาธิษฐานเฉพาะพระพักตร์พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ในการรับพระราชทานตำแหน่งผู้สำเร็จราชการต่างพระองค์ ตามที่บัญญัติไว้ในพระราชกำหนดนั้น ในครั้งนั้นพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงรับถ้อยคำอัญเชิญเสด็จประเทศยุโรป ตั้งแต่วันที่ ๗ เมษายน ๒๔๔๐ (รัตนโกสินทร์ศก ๑๑๖) มีกำหนดเวลาประมาณ ๙ เดือน เมื่อสมเด็จ พระนางเจ้าเสาวภาผ่องศรี พระบรมราชินีนาถ ทรงทำหน้าที่ผู้สำเร็จราชการแผ่นดิน ทรงปฏิบัติ พระราชกรณียกิจต่าง ๆ แทนพระองค์อย่างดียิ่ง ทรงมีพระปรีชาฉลาดเฉียบแหลม ได้ทรงปฏิบัติ พระราชภารกิจของพระองค์อย่างเต็มที่ ได้ทรงวางรากฐานแห่งความเจริญรุ่งเรืองของบ้านเมือง โดยเฉพาะทางด้านแพทย์ ทรงให้รักษาตามแผนปัจจุบัน ซึ่งเป็นตัวอย่างแก่ประชาชนทั่วไป ในคราวประสูติสมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอ เจ้าฟ้าอัษฎางคเดชาวุธ และทรงส่งเสริมให้สตรีมาคลอดบุตร ในโรงพยาบาล ซึ่งมีการรักษาพยาบาลตามแผนใหม่ ซึ่งสะดวกและปลอดภัยกว่า พระเกียรติคุณ ครั้งนั้นเป็นที่สรรเสริญโดยทั่วไปทั้งในประเทศและต่างประเทศ
ต่อมาในรัชสมัยของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช มีพระราชประสงค์จะทรงผนวชเป็นพระภิกษุในพุทธศาสนา ตามโบราณราชประเพณี จึงไม่สามารถปฏิบัติพระราชภารกิจในฐานะพระมหากษัตริย์ได้ ซึ่งตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช ๒๔๗๕ แก้ไข เพิ่มเติม พุทธศักราช ๒๔๙๕ ได้บัญญัติไว้ในมาตรา ๑๗ ว่า "ในเมื่อพระมหากษัตริย์จะไม่ประทับอยู่ ในราชอาณาจักร หรือด้วยเหตุใดเหตุหนึ่งจะทรงบริหารราชการไม่ได้ จะได้ทรงแต่งตั้งผู้ใดผู้หนึ่ง ด้วยความเห็นชอบของสภาผู้แทนราษฎร เป็นผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ และให้ประธานสภาผู้แทนราษฎรเป็นผู้ลงนามรับสนองพระบรมราชโองการ" จึงเป็นการสมควรที่จะแต่งตั้งผู้สำเร็จราชการ แทนพระองค์ ซึ่งพระองค์ทรงมีพระราชดำริเห็นว่า ได้เคยมีแบบอย่างที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ในรัชกาลที่ ๕ ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งสมเด็จพระอัครมเหสี เป็นผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ เมื่อเสด็จพระราชดำเนินต่างประเทศ และโดยที่สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินี ทรงมี พระชนมายุอันสมควร และทรงดำรงตำแหน่งสภานายิกา สภากาชาดไทย ซึ่งแสดงถึงพระปรีชาสามารถในอันที่จะรับพระราชภารกิจในคราวนี้ได้ จึงมีพระราชประสงค์ที่จะทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินี เป็นผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ ตามความใน มาตรา ๑๗ ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย
ทั้งนี้ ที่ประชุมสภาผู้แทนราษฎร ครั้งที่ ๑๗/๒๔๙๙ (สามัญ) ชุดที่ ๑ วันอังคารที่ ๑๘ กันยายน พุทธศักราช ๒๔๙๙ ได้มีการประชุมลับ เพื่อพิจารณาญัตติขอรับความเห็นชอบในการแต่งตั้งผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ตามรัฐธรรมนูญ ซึ่งคณะรัฐมนตรีเป็นผู้เสนอ และที่ประชุมสภาผู้แทนราษฎรได้ลงมติเป็นเอกฉันท์ เห็นชอบในการแต่งตั้งสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินี เป็นผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ ในระหว่างที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงผนวช
หลังจากที่เห็นชอบจากสภาผู้แทนราษฎรแล้ว พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ได้ทรงมีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินี เป็นผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ ในระหว่างที่ทรงผนวช อาศัยอำนาจตามความในมาตรา ๑๗ ของรัฐธรรมนูญ แห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช ๒๔๗๕ แก้ไขเพิ่มเติม พุทธศักราช ๒๔๙๕ ประกาศ ณ วันที่ ๑๘ กันยายน พุทธศักราช ๒๔๙๙ โดยมีพลเอก ประจนปัจจนึก ประธานสภาผู้แทนราษฎร เป็นผู้รับสนองพระบรมราชโองการ
= กรรมาธิการการศาสนาฯ เสนอให้รัฐบาลออกกฎกระทรวง
คณะกรรมาธิการการศาสนา ศิลปะ และวัฒนธรรม สภาผู้แทนราษฎร ได้เสนอให้ รัฐบาลออกกฎกระทรวงว่าด้วยเรื่องทรัพย์สินของผู้ที่จะมาบวชเป็นพระ เพื่อกำหนดให้ผู้ที่จะบวช ต้องแจ้งบัญชีทรัพย์สินต่อสำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติก่อนบวช ซึ่งหากทรัพย์สินใดที่ได้มาระหว่างการบวชก็ให้ตกเป็นของวัดทั้งหมด แต่ถ้าได้มาก่อนบวชก็ให้ตกเป็นของพระเช่นเดิม เพื่อป้องกันคำครหาและการยักย้ายถ่ายเททรัพย์สิน รวมทั้งได้เสนอให้สำนักพระพุทธศาสนาเป็นผู้กำกับดูแล การจดทะเบียนของมูลนิธิวัดต่าง ๆ ทั่วประเทศ แทนกระทรวงมหาดไทยด้วย เพื่อป้องกันไม่ให้มูลนิธิ ที่ไม่ประสงค์ดีเข้ามาแอบแฝงทำสิ่งไม่ถูกต้อง
นอกจากนี้ยังได้เตรียมการจัดระเบียบสำนักคนทรงเจ้า โดยจะให้ผู้ว่าราชการจังหวัด พนักงานปกครองส่วนท้องถิ่น และสภาวัฒนธรรม ในแต่ละจังหวัดเข้ามามีส่วนร่วมในการแก้ไขปัญหาด้วย ซึ่งการตั้งสำนักคนทรงเจ้านั้นจะต้องอยู่ในกรอบของกฎหมาย และไม่ส่งผลกระทบต่อผู้อื่น
= กกต. เตรียมชี้แจงวิธีการหาเสียงเลือกตั้ง
คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) เตรียมชี้แจงเกี่ยวกับวิธีการหาเสียงเลือกตั้ง โดยได้เชิญหัวหน้าพรรค เลขาธิการพรรค หรือกรรมการบริหารพรรค พรรคละ ๒ คน ไปร่วมรับฟังการชี้แจง ของ กกต. เกี่ยวกับวิธีการหาเสียงเลือกตั้ง ในวันที่ ๑๗ พฤศจิกายน ๒๕๔๗ เวลา ๑๔.๐๐-๑๖.๐๐ นาฬิกา ณ สำนักงาน กกต. และในวันที่ ๒๔-๒๖ พฤศจิกายน ๒๕๔๗ จะเชิญตัวแทนของพรรคการเมืองมาร่วม รับฟังข้อมูลเกี่ยวกับการเลือกตั้ง ได้แก่ การสมัครรับเลือกตั้ง การหาเสียงเลือกตั้ง การใช้จ่ายในการหาเสียงเลือกตั้ง การร้องเรียนและการร้องคัดค้านการเลือกตั้ง รวมทั้งการตรวจสอบการเลือกตั้ง โดยจะจัดขึ้น ณ โรงแรมเดอะทวินทาวเวอร์ กรุงเทพฯ
= การประชุมสภาผู้แทนราษฎร
สรุปการประชุมสภาผู้แทนราษฎร
วันพุธที่ ๑๐ พฤศจิกายน ๒๕๔๗
การประชุมสภาผู้แทนราษฎร ชุดที่ ๒๑ ปีที่ ๔ ครั้งที่ ๒๘ (สมัยสามัญนิติบัญญัติ) วันพุธที่ ๑๐ พฤศจิกายน ๒๕๔๗ เริ่มขึ้นเมื่อเวลา ๑๓.๓๐ นาฬิกา โดยมีนายสุชาติ ตันเจริญ รองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่สอง เป็นประธานการประชุม หลังจากที่สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร ได้ขอหารือในเรื่องต่าง ๆ แล้ว เมื่อครบองค์ประชุม ได้ดำเนินการประชุมตามระเบียบวาระ ดังนี้
๑. กระทู้ถาม (ไม่มี)
๒. เรื่องที่ประธานจะแจ้งต่อที่ประชุม
ประธานได้แจ้งให้ที่ประชุมรับทราบเรื่องต่าง ๆ ดังนี้
๑. รับทราบผลการดำเนินการตามข้อสังเกตของคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาร่างพระราชบัญญัติคุ้มครองการประชุมภาคีอนุสัญญาว่าด้วยการค้าระหว่างประเทศ ซึ่งชนิดสัตว์ป่าและพืชป่าที่ใกล้สูญพันธ์ ครั้งที่ ๑๓ ในประเทศไทย พ.ศ. ….
๒. รับทราบเรื่องนายกรัฐมนตรีได้รับร่างพระราชบัญญัติเกี่ยวด้วยการเงิน ไว้พิจารณาให้คำรับรองจำนวน ๓ ฉบับ คือ
๒.๑ ร่างพระราชบัญญัติภาพยนตร์ พ.ศ. …. ซึ่ง นางอนงค์วรรณ เทพสุทิน กับคณะเป็นผู้เสนอ
๒.๒ ร่างพระราชบัญญัติกองทุนส่งเสริมภาพยนตร์ไทย พ.ศ. …. ซึ่ง
นางอนงค์วรรณ เทพสุทิน กับคณะเป็นผู้เสนอ
๒.๓ ร่างพระราชบัญญัติมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้า
พระนครเหนือ พ.ศ. …. ซึ่ง ศาสตราจารย์วิจิตร ศรีสอ้าน กับคณะ เป็นผู้เสนอ
๓. รับทราบเรื่องวุฒิสภาลงมติให้ขยายเวลาการพิจารณาร่างพระราชบัญญัติออกไปเป็นกรณีพิเศษ อีก ๓๐ วัน ตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย มาตรา ๑๗๔ ดังนี้
๓.๑ ร่างพระราชบัญญัติพัฒนาการบริหารงานยุติธรรมแห่งชาติ
พ.ศ . …. นับตั้งแต่วันที่ ๓ พฤศจิกายน ๒๕๔๗
๓.๒ ร่างพระราชบัญญัติศุลกากร (ฉบับที่ ..) พ.ศ. …. นับตั้งแต่ วันที่ ๑๐ พฤศจิกายน ๒๕๔๗
๓.๓ ร่างพะราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมพระราชกำหนดพิกัดอัตราศุลกากร พ.ศ. ๒๕๓๐ (ฉบับที่ ..) พ.ศ. …. นับตั้งแต่วันที่ ๑๐ พฤศจิกายน ๒๕๔๗
๔. รับทราบเรื่องวุฒิสภาได้พิจารณาและลงมติเห็นชอบด้วยกับร่าง
พระราชบัญญัติ ซึ่งสภาผู้แทนราษฎรเห็นชอบแล้ว ดังนี้
๔.๑ ร่างพระราชบัญญัติให้ใช้ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา (ฉบับที่..) พ.ศ. ….
๔.๒ ร่างพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลเยาวชนและครอบครัวและ
วิธีพิจารณาคดีเยาวชนและครอบครัว (ฉบับที่ .. ) พ.ศ. ….
๕. รับทราบเรื่องที่ประชุมวุฒิสภาได้ลงมติไม่เห็นชอบด้วยกับร่างพระราชบัญญัติทางหลวง (ฉบับที่..) พ.ศ. …. ซึ่งคณะกรรมาธิการร่วมกันพิจารณาเสร็จแล้ว
๓. รับรองรายงานการประชุม (ไม่มี)
จากนั้น ที่ประชุมได้พิจารณาเรื่องที่มีมติให้เลื่อนขึ้นมาพิจารณาก่อน ตามลำดับดังนี้
๑. ร่างพระราชบัญญัติระเบียบข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา
พ.ศ. …. ซึ่งคณะกรรมาธิการร่วมกันพิจารณาเสร็จแล้ว
ที่ประชุมได้พิจารณารายงานฉบับนี้ โดยสมาชิกได้อภิปรายว่า กฎหมายฉบับนี้เป็นกฎหมายสำคัญที่เกี่ยวข้องกับการปฏิรูปการศึกษาโดยตรง ซึ่งในการพิจารณาของคณะกรรมาธิการ ร่วมกันได้มีการแก้ไขในเรื่องการพิจารณาความดีความชอบของข้าราชการครู ผู้บริหารสถานศึกษา ผู้อำนวยการเขตพื้นที่การศึกษากำหนดให้ต้องได้รับความเห็นชอบจากคณะอนุกรรมการข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา ในเรื่องตำแหน่งข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษาได้มีการแก้ไข ให้ตำแหน่งรองผู้อำนวยการสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาและตำแหน่งรองผู้อำนวยการสถานศึกษาสามารถเลื่อนวิทยฐานะจนถึงระดับเชี่ยวชาญได้ ซึ่งสอดคล้องกับการที่ผู้อำนวยการสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาและผู้อำนวยการสถานศึกษาสามารถเลื่อนวิทยฐานะถึงระดับเชี่ยวชาญพิเศษ และเป็นไปตามหลักของการจัดชั้นวิทยฐานะและในเรื่องของการที่ ก.ค.ศ. จะกำหนดให้มีการประเมินอาจารย์ ๒ ระดับ ๗ ก่อนจึงจะปรับเข้าตำแหน่งตามโครงสร้างใหม่ภายหลังกฎหมายมีผลบังคับใช้นั้น เห็นว่าอาจขัด ต่อกฎหมายได้ เนื่องจากตำแหน่งดังกล่าวได้กำหนดอัตราตามโครงสร้างใหม่แล้ว และในการประเมินตามมาตรา ๕๔ นั้น จะใช้ในกรณีของครูที่ยังไม่ได้รับอัตราตำแหน่งที่จะปรับเข้าสู่โครงสร้างนี้เท่านั้น และขอให้มีการเร่งรัดทำหนังสือเพื่อให้ ก.ค.ศ. รีบดำเนินการกำหนดตำแหน่งข้าราชการครู และบุคลากรทางการศึกษาตามกฎหมายนี้ให้กับข้าราชการพลเรือนที่สังกัดกระทรวงศึกษาธิการอยู่ในขณะนี้ด้วย และขอให้ผู้อำนวยการสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาซึ่งตามกฎหมายนี้จะต้องดำรงตำแหน่งประธาน อ.ก.ค.ศ. มีอำนาจพิจารณาความดีความชอบแต่งตั้งโยกย้ายครูและบุคลากรทางการศึกษาได้นั้น ขอให้ใช้อำนาจด้วยความเป็นธรรมด้วย จากนั้นกรรมาธิการได้ผลัดเปลี่ยนกันชี้แจงว่า ในเรื่องของการกำหนดให้ อ.ก.ค.ศ. เป็นผู้มีอำนาจพิจารณาความดีความชอบของข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา ซึ่งแต่เดิมนั้นกำหนดให้สถานศึกษาเป็นผู้มีอำนาจนั้น กรรมาธิการร่วมกันได้พิจารณากันอย่างกว้างขวาง แต่เมื่อลงมติเสียงส่วนใหญ่เห็นว่าควรให้ อ.ก.ค.ศ. เป็นผู้มีอำนาจดังนั้นจึงต้องปฏิบัติตาม เรื่องข้าราชการพลเรือนสามัญจำนวนมากได้มีการเรียกร้องให้มีการแก้ไขให้มีบัญชีเงินเดือนเหมือนกับข้าราชการครูนั้น กรรมาธิการร่วมกันได้มีบันทึกข้อสังเกตถึงรัฐบาลเพื่อให้มีดำเนินการแก้ไขตามกลไกของกฎหมายต่อไป เมื่อที่ประชุมได้พิจารณารายงานฉบับนี้แล้ว ได้ลงมติด้วยคะแนน ๒๗๑ เสียง เห็นชอบกับร่างพระราชบัญญัติฉบับนี้ตามที่คณะกรรมาธิการร่วมกันพิจารณา
๒. ร่างพระราชบัญญัติเงินเดือน เงินวิทยฐานะ และเงินประจำตำแหน่ง
ข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา พ.ศ. …. ซึ่งคณะกรรมาธิการร่วมกันพิจารณาเสร็จแล้ว
ที่ประชุมได้พิจารณารายงานฉบับนี้ โดยสมาชิกได้อภิปรายว่า ในเรื่องของเงินเดือน เงินวิทยฐานะ และเงินประจำตำแหน่งที่ ก.ค.ศ. จะต้องกำหนดนั้นในระหว่างที่กฎหมายฉบับนี้ยังไม่มีผลบังคับใช้นั้นขอให้กระทรวงศึกษาธิการมีการดำเนินการเตรียมความพร้อมในเรื่องนี้ไว้เพื่อรักษา สิทธิประโยชน์ของข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษาด้วย เมื่อที่ประชุมได้พิจารณารายงาน ฉบับนี้แล้ว ได้ลงมติด้วยคะแนน ๒๗๕ เสียง เห็นชอบกับร่างพระราชบัญญัติฉบับนี้ตามที่คณะกรรมาธิการร่วมกันพิจารณา
๓. พิจารณากรณีวุฒิสภาแก้ไขเพิ่มเติมร่างพระราชบัญญัติสถาบันการ
พลศึกษา พ.ศ. …. ตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย มาตรา ๑๗๕
ที่ประชุมได้พิจารณาร่างพระราชบัญญัติฉบับนี้ โดยสมาชิกได้อภิปรายว่า วุฒิสภาได้มีการแก้ไขในหลายมาตรา โดยเฉพาะในเรื่องวัตถุประสงค์ซึ่งมีการเพิ่มเติมให้กว้างขวางขึ้นเพื่อให้บริการแก่ชุมชนที่สถาบันพลศึกษานั้นตั้งอยู่ด้วย และยังได้แก้ไขกำหนดห้ามสถาบันพลศึกษาปฏิเสธการรับบุคคลเข้ารับการศึกษาโดยอ้างเหตุเพียงว่ายากจนและขาดแคลนทุนทรัพย์ไม่สามารถจ่าย ค่าเล่าเรียนได้นั้นเห็นว่าเหมาะสมแล้ว ในเรื่องการกำหนดโทษความผิดในการปลอมแปลงเครื่องหมายของสถาบัน การใช้ตราที่ถูกปลอมแปลง การนำเครื่องหมายและตราของสถาบันไปใช้ในการค้านั้น เห็นว่า วุฒิสภาได้มีการแก้ไขให้สมบูรณ์ยิ่งขึ้น หลังจากที่ประชุมได้พิจารณาร่างพระราชบัญญัติฉบับนี้แล้วได้ลงมติเห็นชอบด้วยกับการแก้ไขเพิ่มเติมของวุฒิสภาด้วยคะแนน ๒๕๑ เสียง จึงถือว่าร่าง พระราชบัญญัติฉบับนี้ได้รับความเห็นชอบจากรัฐสภาแล้ว ตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยมาตรา ๑๗๕ (๓)
๔. ร่างพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์
(ฉบับที่..) พ.ศ. …. (ปรับปรุงจำนวนเงินในสัญญาซื้อขาย จำนวนเงินการกู้ยืม ความรับผิดของ
เจ้าสำนักโรงแรม และอัตราค่าธรรมเนียม) ซึ่งคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาเสร็จแล้ว
ที่ประชุมได้พิจารณาร่างพระราชบัญญัติฉบับนี้ในวาระที่ ๒ โดยเริ่มต้นด้วย ชื่อร่าง คำปรารภ และเรียงตามลำดับมาตราจนจบร่าง จากนั้นที่ประชุมได้ลงมติเห็นชอบในวาระ ที่ ๓ ด้วยคะแนนเสียงเห็นด้วย ๒๔๑ เสียง เพื่อเสนอให้วุฒิสภาพิจารณาต่อไปตามรัฐธรรมนูญ
๕. ร่างพระราชบัญญัติส่งเสริมวิสาหกิจชุมชน พ.ศ. …. ซึ่งคณะกรรมาธิการ
ร่วมกันพิจารณาเสร็จแล้ว
ที่ประชุมได้พิจารณารายงานฉบับนี้ โดยสมาชิกได้อภิปรายว่า ในเรื่องของการให้ ผู้บริหารท้องถิ่นสามารถเป็นกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิของคณะกรรมการส่งเสริมวิสาหกิจชุมชนซึ่งวุฒิสภาและสภาผู้แทนราษฎรมีความเห็นต่างกันนั้น กรรมาธิการร่วมกันได้พิจารณาแก้ไขให้ผู้บริหารท้องถิ่นสามารถเป็นกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิได้เฉพาะในส่วนของกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ ซึ่งมีความเชี่ยวชาญด้านการบริหารการเงิน การคลัง และการอุตสาหกรรมนั้นเห็นว่าเหมาะสมแล้ว เมื่อที่ประชุมได้พิจารณารายงานฉบับนี้แล้วได้ลงมติด้วยคะแนน ๒๒๔ เสียง เห็นชอบกับร่างพระราชบัญญัติฉบับนี้ตามที่ คณะกรรมาธิการร่วมกันพิจารณา
๖. ร่างพระราชบัญญัติศุลกากร (ฉบับที่..) พ.ศ. …. ซึ่งคณะกรรมาธิการร่วมกันพิจารณาเสร็จแล้ว
ที่ประชุมได้พิจารณารายงานฉบับนี้ โดยสมาชิกได้อภิปรายว่า ในเรื่องของการกำหนดว่าผู้ใดจะเป็นผู้มีอำนาจใช้ดุลพินิจว่ามีเหตุอันควรสงสัยสมควรทำการตรวจค้น ซึ่งสภาผู้แทนราษฎรมีความเห็นต่างจากวุฒิสภานั้น กรรมาธิการร่วมกันได้แก้ไขโดยกำหนดให้หัวหน้าสถานีตำรวจซึ่งอยู่ใกล้ที่สุดเป็นผู้มีอำนาจในการตรวจค้นนั้นเห็นว่าเหมาะสมแล้ว เมื่อที่ประชุมได้พิจารณารายงานฉบับนี้แล้วได้ลงมติด้วยคะแนน ๒๓๘ เสียง เห็นชอบกับร่างพระราชบัญญัติฉบับนี้ตามที่คณะกรรมาธิการ ร่วมกันพิจารณา
๗. ร่างพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลรัษฎากร (ฉบับที่..) พ.ศ. …. (ค่าลดหย่อนอุปการะเลี้ยงดูบิดามารดา) ซึ่งคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาเสร็จแล้ว
ที่ประชุมได้พิจารณาร่างพระราชบัญญัติฉบับนี้ในวาระที่ ๒ โดยเริ่มต้นด้วย ชื่อร่าง คำปรารภ และเรียงตามลำดับมาตราจนจบร่าง โดยสมาชิกได้อภิปรายว่า ในเรื่องของการกำหนดค่าลดหย่อนอุปการะควรยกเว้นให้กับผู้ที่เลี้ยงดูบุพการีชั้นที่เหนือกว่าบิดามารดาด้วย ซึ่งกรรมาธิการได้ชี้แจงว่า การจะลดหย่อนให้กับบุพการีชั้นที่เหนือกว่าบิดามารดาด้วยนั้นเกรงจะทำให้เกิดความยุ่งยากในการกำหนดชั้นของบุพการีในเบื้องต้นจึงเห็นควรกำหนดให้เฉพาะบิดามารดาของ ตนเองและคู่สมรส จากนั้น ที่ประชุมได้ลงมติเห็นชอบในวาระที่ ๓ ด้วยคะแนนเสียงเห็นด้วย ๒๐๐ เสียง เพื่อเสนอให้วุฒิสภาพิจารณาต่อไปตามรัฐธรรมนูญ ทั้งนี้ที่ประชุมได้ลงมติเห็นชอบด้วยกับ ข้อสังเกตของคณะกรรมาธิการ เพื่อแจ้งไปยังคณะรัฐมนตรีด้วย
๘. ร่างพระราชบัญญัติกองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการ (ฉบับที่..) พ.ศ. …. ซึ่งคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาเสร็จแล้ว
ที่ประชุมได้พิจารณาร่างพระราชบัญญัติฉบับนี้ในวาระที่ ๒ โดย เริ่มต้นด้วย ชื่อร่าง คำปรารภ และเรียงตามลำดับมาตราจนจบร่าง จากนั้นที่ประชุมได้ลงมติเห็นชอบในวาระ ที่ ๓ ด้วยคะแนนเสียงเห็นด้วย ๒๑๖ เสียง เพื่อเสนอให้วุฒิสภาพิจารณาต่อไปตามรัฐธรรมนูญ
๙. ร่างพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลรัษฎากร (ฉบับที่..) พ.ศ. …. (ค่าลดหย่อนเงินที่บริจาคแก่พรรคการเมือง) ซึ่งคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาเสร็จแล้ว
ที่ประชุมได้พิจารณาร่างพระราชบัญญัติฉบับนี้ในวาระที่ ๒ โดยเริ่มต้นด้วย ชื่อร่าง คำปรารภ และเรียงตามลำดับมาตราจนจบร่าง จากนั้นที่ประชุมได้ลงมติเห็นชอบในวาระ ที่ ๓ ด้วยคะแนนเสียงเห็นด้วย ๒๒๓ เสียง เพื่อเสนอให้วุฒิสภาพิจารณาต่อไปตามรัฐธรรมนูญ ปิดประชุมเวลา ๑๖.๔๐ นาฬิกา
สรุปการประชุมสภาผู้แทนราษฎร
วันพฤหัสบดีที่ ๑๑ พฤศจิกายน ๒๕๔๗
การประชุมสภาผู้แทนราษฎร ชุดที่ ๒๑ ปีที่ ๔ ครั้งที่ ๒๙ (สมัยสามัญนิติบัญญัติ) วันพฤหัสบดีที่ ๑๑ พฤศจิกายน ๒๕๔๗ เริ่มขึ้นเมื่อเวลา ๑๓.๓๐ นาฬิกา โดยนายสุชาติ ตันเจริญ รองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่สอง เป็นประธานในการประชุม เมื่อครบองค์ประชุม ประธาน การประชุมได้ดำเนินการพิจารณาตามระเบียบวาระ คือ ระเบียบวาระที่ ๑
กระทู้ถามสด จำนวน ๓ เรื่อง
๑. กระทู้ถามสดของนายวิรัตน์ กัลยาศิริ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดสงขลา
พรรคประชาธิปัตย์ เป็นผู้ตั้งกระทู้ถาม เรื่อง กรณีเดินทางไปแสวงบุญตามหลักการศาสนาอิสลาม ถามนายกรัฐมนตรี ซึ่งนายอนุรักษ์ จุรีมาศ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวัฒนธรรม นายวันมูหะมัดนอร์ มะทา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ และนายวิเชษฐ์ เกษมทองศรี รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคม ได้ร่วมกันตอบกระทู้ว่า ปัญหาของการจัดสถานที่ให้กับผู้ที่จะเดินทางไปแสวงบุญนั้น เกิดจากการไม่ทราบจำนวนคนที่แน่นอน ซึ่งในปีนี้กระทรวงวัฒนธรรมได้เสนอให้คณะรัฐมนตรีอนุมัติ งบประมาณจำนวน ๑๐๐ ล้านบาท เพื่อสำรองจ่าย ๓๐% ในการจัดสถานที่พัก โดยให้กรมการศาสนา ดำเนินการจองสถานที่พักที่ถูกสุขลักษณะและไม่ไกลจากสถานที่ประกอบพิธี ทั้งนี้ในการเช่าจองสถานที่พักดังกล่าวนั้น รัฐบาลได้ดำเนินการในรูปของคณะกรรมการ ซึ่งประกอบไปด้วย วุฒิสมาชิก กรรมการ ผู้ทรงคุณวุฒิ ผู้แทนกรมการศาสนา ผู้แทนสถานทูตไทย นอกจากนี้รัฐบาลยังช่วยลดค่าใช้จ่ายในการเดินทางไปแสวงบุญของผู้ที่จะเดินทาง โดยให้มีการยกเว้นค่าธรรมเนียมที่เกี่ยวข้องกับเที่ยวบินที่จะไปแสวงบุญทุกเที่ยวบิน
อย่างไรก็ตามมีสายการบินรวม ๔ สายการบิน ที่จะดำเนินการบิน ได้แก่
๑. การบินไทย จัด ๕ เที่ยวบิน โดยออกจากหาดใหญ่ ๔ เที่ยวบิน และออกจากภูเก็ต ๑ เที่ยวบิน ทั้งนี้จะมี ๒ เที่ยวบินที่รัฐบาลได้คัดเลือกบุคคลจำนวน ๓๕๐ คน ให้ร่วมเดินทางในโครงการส่งเสริมคนดีเพื่อเฉลิมพระเกียรติ ๗๒ พรรษาด้วย
๒. ภูเก็ตแอร์ไลน์ จัด ๗ เที่ยวบิน โดยออกจากหาดใหญ่ ๕ เที่ยวบิน และออกจากกรุงเทพฯ ๒ เที่ยวบิน
๓. สายการบินรอยัลบรูไน จัด ๒๗ เที่ยวบิน
๔. สายการบินมาเลเซีย จัด ๖ เที่ยวบิน
ทั้งนี้รัฐบาลได้ให้การสนับสนุนการเดินทางของชาวมุสลิมที่จะไปแสวงบุญอย่างเต็มที่ โดยจะดำเนินการในด้านต่าง ๆ ให้ดียิ่งขึ้นกว่าทุกปีที่ผ่านมา
๒. กระทู้ถามสดของนายอลงกรณ์ พลบุตร สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดเพชรบุรี
พรรคประชาธิปัตย์ เป็นผู้ตั้งกระทู้ถาม เรื่อง การซื้ออาวุธยุทโธปกรณ์ จำนวน ๔.๖ หมื่นล้านบาท จากสหราชอาณาจักร ถามนายกรัฐมนตรี เนื่องจากรัฐมนตรีที่ได้รับมอบหมายติดภารกิจ จึงขอเลื่อน การตอบกระทู้ถามนี้ไปตอบในการประชุมสภาผู้แทนราษฎรครั้งต่อไป
๓. กระทู้ถามสดของนายกอร์ปศักดิ์ สภาวสุ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแบบบัญชีรายชื่อ
พรรคประชาธิปัตย์ เป็นผู้ตั้งกระทู้ถาม เรื่อง การแก้ปัญหาภาพพจน์ของประเทศไทยในสังคมระหว่างประเทศ ถามรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ เนื่องจากรัฐมนตรีติดภารกิจ จึงขอเลื่อนการตอบกระทู้ถามนี้ไปตอบในการประชุมสภาผู้แทนราษฎรครั้งต่อไป
กระทู้ถามทั่วไป จำนวน ๘ เรื่อง
๑. กระทู้ถามของนายวิชัย ชัยจิตวณิชกุล สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดอุดรธานี
พรรคไทยรักไทย เป็นผู้ตั้งกระทู้ถาม เรื่อง กรณีประชาชนกับการบริหารจัดการทรัพยากรธรรมชาติ ในท้องถิ่น ถามนายกรัฐมนตรี เนื่องจากรัฐมนตรีที่ได้รับมอบหมายติดภารกิจ จึงขอเลื่อนการตอบ กระทู้ถามนี้ไปตอบในการประชุมสภาผู้แทนราษฎรครั้งต่อไป
๒. กระทู้ถามของนายสุวโรช พะลัง สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดชุมพร พรรค
ประชาธิปัตย์ เป็นผู้ตั้งกระทู้ถาม เรื่อง ปัญหาการตัดไม้ทำลายป่าที่จังหวัดชุมพร ถามนายกรัฐมนตรี เนื่องจากรัฐมนตรีที่ได้รับมอบหมายติดภารกิจ จึงขอเลื่อนการตอบกระทู้ถามนี้ไปตอบในการประชุมสภาผู้แทนราษฎรครั้งต่อไป
๓. กระทู้ถามของนายอำนวย คลังผา สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดลพบุรี พรรค
ไทยรักไทย เป็นผู้ตั้งกระทู้ถาม เรื่อง การยึดทรัพย์ขบวนการค้ายาเสพติดต่ำกว่าที่ตั้งเป้าหมาย ถามนายกรัฐมนตรี ซึ่งนายพงศ์เทพ เทพกาญจนา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม ได้ตอบกระทู้ว่า รัฐบาลได้ให้ความสำคัญกับการแก้ไขปัญหายาเสพติดอย่างมาก เพราะเป็นเรื่องที่ประชาชนได้รับ ความเดือดร้อนมาเป็นเวลานาน ซึ่งรัฐบาลได้ดำเนินการติดตาม จับกุมและดำเนินคดีกับผู้ผลิตผู้ค้า ไปแล้วกว่า ๑๕๐,๐๐๐ ราย ยึดยาบ้าได้ประมาณ ๓๕๐ ล้านเม็ด และมีการบำบัดฟื้นฟูผู้ติดยาเสพติดกว่า ๔๐๐,๐๐๐ ราย โดยในส่วนที่เกี่ยวข้องกับการติดตามยึดทรัพย์นั้นจะมีกฎหมายต่าง ๆ เข้ามา เกี่ยวข้องเป็นจำนวนมาก ซึ่งขณะนี้ได้มีการยึดทรัพย์ตามกฎหมาย ป.ป.ส. และ ป.ป.ง. แล้วทั้งสิ้นประมาณ ๗,๐๐๐ ล้านบาท นอกจากนี้ยังมีคดียึดทรัพย์รายใหญ่ที่ค้างอยู่ในศาลชั้นต้น ศาลอุทธรณ์ และศาลฎีกา อีกหลายคดี โดยได้ติดต่อประสานกับสำนักงานศาลยุติธรรมเพื่อเร่งรัดให้พิจารณาคดี ต่าง ๆ ซึ่งในส่วนของ ป.ป.ง. นั้น ทางรัฐบาลก็ได้ร่วมมือกับประเทศต่าง ๆ ในการป้องกันและ ปราบปรามการฟอกเงิน อีกทั้งยังให้ประชาชนเข้ามามีส่วนร่วมในการสอดส่องดูแลแจ้งเบาะแสเกี่ยวกับยาเสพติดอีกด้วย รวมทั้งยังใช้มาตรการทางภาษีในกรณีที่มีข้อมูลหลักฐานพอสมควรว่าเป็นผู้ค้า ยาเสพติด แต่ไม่สามารถดำเนินคดีทางอาญาได้ เพราะหลักฐานยังไม่เพียงพอ อย่างไรก็ตามรัฐบาลได้พยายามใช้มาตรการต่าง ๆ ในการติดตามยึดทรัพย์บรรดาผู้ค้ายาเสพติด เพราะไม่ต้องการให้คน เหล่านี้ได้ประโยชน์จากทรัพย์สินใด ๆ จากการค้ายาเสพติด เพื่อลดแรงจูงใจในการค้ายาเสพติด และ ในขณะเดียวกันก็ได้ปรามบุคคลที่จะค้ายาเสพติดไม่ให้เข้าไปยุ่งเกี่ยวกับยาเสพติดอีกด้วย
๔. กระทู้ถามของนายระวัง เนตรโพธิ์แก้ว สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแบบบัญชีรายชื่อ
พรรคไทยรักไทย เป็นผู้ตั้งกระทู้ถาม เรื่อง การป้องกันและปราบปรามยาบ้า ถามนายกรัฐมนตรี แต่เนื่องจากผู้ตั้งกระทู้ถามไม่ติดใจที่จะถาม ดังนั้นกระทู้ถามดังกล่าวจึงตกไป
๕. กระทู้ถามของพันตำรวจโท สมชาย เพศประเสริฐ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร
จังหวัดนครราชสีมา พรรคไทยรักไทย เป็นผู้ตั้งกระทู้ถาม เรื่อง การนำรถที่ชำรุดเสียหายจากการชน ไปจอดทิ้ง ทำให้เสียทัศนียภาพการท่องเที่ยวของกรุงเทพมหานคร ถามนายกรัฐมนตรี แต่เนื่องจาก ผู้ตั้งกระทู้ถามไม่ติดใจที่จะถาม ดังนั้นกระทู้ถามดังกล่าวจึงตกไป
๖. กระทู้ถามของนายสมบูรณ์ อุทัยเวียนกุล สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดตรัง
พรรคประชาธิปัตย์ เป็นผู้ตั้งกระทู้ถาม เรื่อง การขยายเขตไฟฟ้าในจังหวัดตรัง ถามนายกรัฐมนตรี ซึ่งนายสุธรรม แสงประทุม รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงมหาดไทย เป็นผู้ตอบกระทู้ว่า กระทรวงมหาดไทย โดยการไฟฟ้าส่วนภูมิภาคมีพื้นที่รับผิดชอบในการดำเนินการจัดหาไฟฟ้า ซึ่งเป็นสาธารณูปโภคขั้นพื้นฐานให้กับประชาชนทั่วประเทศ ครอบคลุมพื้นที่ทั้งหมด ๕๑๐,๐๐๐ ตารางกิโลเมตร มีหมู่บ้านในพื้นที่รับผิดชอบประมาณ ๗๑,๗๐๒ หมู่บ้าน โดยในแต่ละปีจะมีหมู่บ้านที่ได้รับการ จัดตั้งขึ้นใหม่อีกประมาณ ๑,๐๐๐ หมู่บ้าน ซึ่งการดำเนินการเพื่อให้ไฟฟ้าได้ไปถึงทุกครัวเรือนนั้น ต้องใช้เงินลงทุนเป็นจำนวนมาก ดังนั้นการไฟฟ้าส่วนภูมิภาคจึงได้ดำเนินการจัดทำแผนงานโครงการ เพื่อให้จ่ายไฟฟ้าได้อย่างทั่วถึง โดยมีแผนงานมาตั้งแต่ปี ๒๕๐๔ ถึง ๒๕๔๙ จำนวน ๓๖ โครงการ ในวงเงินลงทุนจำนวนกว่า ๔๖,๘๕๒ ล้านบาท เพื่อให้ครอบคลุมจำนวนหมู่บ้านทั้งหมด ๙๗,๗๓๕ หมู่บ้าน ซึ่งการไฟฟ้าส่วนภูมิภาคได้ดำเนินการขยายเขตไฟฟ้าให้หมู่บ้านในพื้นที่รับผิดชอบมีหมู่บ้านที่มีไฟฟ้าใช้แล้วทั้งหมด ๗๑,๐๘๑ หมู่บ้าน และสำหรับพื้นที่ในจังหวัดตรังนั้น การไฟฟ้าส่วนภูมิภาคได้ดำเนินการขยายเขตไฟฟ้าในหมู่บ้าน ทั้งสิ้น ๗๕๑ หมู่บ้าน มีจำนวน ๑๔๓,๓๙๗ ครัวเรือน แต่มีไฟฟ้าใช้ ๑๓๖,๗๔๐ ครัวเรือน ซึ่งยังคงเหลือที่จะต้องดำเนินการต่อไปอีกประมาณ ๖,๙๒๗ ครัวเรือน ทั้งนี้ ในปี ๒๕๔๗ การไฟฟ้าส่วนภูมิภาคก็มีแผนงานในการขยายเขตไฟฟ้าในจังหวัดตรังในหมู่บ้านที่ยังไม่มี ไฟฟ้าใช้ ซึ่งเป็นแผนงานที่จะดำเนินการตามแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ ๙ โดยจะขยายเขตไฟฟ้าตามปกติ จำนวน ๓,๓๙๑ ครัวเรือน และเป็นระบบพลังแสงจากดวงอาทิตย์ จำนวน ๑,๗๐๐ ครัวเรือน ซึ่งในเดือนธันวาคม ๒๕๔๗ ก็จะขยายเขตไฟฟ้าตามปกติให้กับประชาชนที่ยังไม่มีไฟฟ้าใช้อีกจำนวน ๑,๓๙๙ ครัวเรือน และติดตั้งระบบพลังแสงจากดวงอาทิตย์ จำนวน ๔๓๗ ครัวเรือน
ทั้งนี้ การไฟฟ้าส่วนภูมิภาคจะดำเนินการเร่งรัดขยายเขตไฟฟ้าให้แก่ประชาชนพื้นที่จังหวัดตรังให้มีไฟฟ้าใช้ในส่วนที่เหลือทุกครัวเรือนภายในเดือนเมษายน ๒๕๔๘ เพื่อสนับสนุนนโยบายของรัฐบาล และสนองตอบต่อความต้องการของประชาชน
๗. กระทู้ถามของนายเอกภาพ พลซื่อ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดร้อยเอ็ด
พรรคไทยรักไทย เป็นผู้ตั้งกระทู้ถาม เรื่อง การจัดการบริหารน้ำในเขื่อนอุบลรัตน์ ถามรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน แต่เนื่องจากผู้ตั้งกระทู้ถามไม่ติดใจที่จะถาม ดังนั้นกระทู้ถามดังกล่าวจึงตกไป
๘. กระทู้ถามของนายนคร มาฉิม สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดพิษณุโลก
พรรคประชาธิปัตย์ เป็นผู้ตั้งกระทู้ถาม เรื่อง การก่อสร้างสระน้ำในโรงเรียนบางกลางท่าวพิทยาคม จังหวัดพิษณุโลก ถามนายกรัฐมนตรี ซึ่งนายสุธรรม แสงประทุม รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงมหาดไทย เป็นผู้ตอบกระทู้ว่า โรงเรียนบางกลางท่าวพิทยาคมนั้นเป็นโรงเรียนในระดับมัธยมศึกษา มีนักเรียนจำนวน ๑๗๕ คน ซึ่งได้จัดทำโครงการขอรับการสนับสนุนเพื่อขุดสระน้ำในโรงเรียน เพื่อใช้ ในการอุปโภคบริโภค และใช้ในการประกอบการเรียนการสอนด้วยเกษตรทฤษฎีใหม่ เพื่อให้การเรียนการสอนเป็นไปอย่างครบถ้วนสมบูรณ์ โดยได้ดำเนินการของบประมาณในการก่อสร้างสระน้ำ ขนาดกว้าง ๘๐ เมตร ยาว ๑๖๐ เมตร ลึก ๓ เมตร เป็นเงินประมาณ ๑,๕๐๐,๐๐๐ บาท ซึ่งสำนักงานชลประทานที่ ๓ จังหวัดพิษณุโลก ได้ดำเนินการตรวจสอบความเหมาะสม รวมทั้งได้สำรวจ การออกแบบและจัดเข้าแผนโครงการขุดลอกหนองน้ำและคลองธรรมชาติไว้เรียบร้อยแล้ว แต่ยังไม่ได้จัดงบประมาณเพื่อดำเนินการก่อสร้าง และต่อมาในปี ๒๕๔๕ ได้มีการประกาศใช้แผนปฏิบัติการกำหนดขั้นตอนการกระจายอำนาจการปกครองแก่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ซึ่งได้กำหนดให้ กรมชลประทานถ่ายโอนภารกิจโครงการขุดลอกหนองน้ำและคลองธรรมชาติให้แก่องค์การบริหาร ส่วนตำบล เทศบาล และองค์การบริหารส่วนจังหวัด ดังนั้น กรมชลประทานจึงไม่สามารถดำเนินงานตามโครงการที่โรงเรียนบางกลางท่าวพิทยาคมเสนอมาได้ เนื่องจากจะอยู่ในความรับผิดชอบของ องค์การบริหารส่วนตำบลบ้านแยง ทั้งนี้ สำนักงานกรมชลประทานที่ ๓ จะเป็นหน่วยสนับสนุนทางด้านเทคนิควิชาการและการออกแบบเท่านั้น ซึ่งในช่วงแรกองค์การบริหารส่วนตำบลบ้านแยง ยังไม่มี งบประมาณเพียงพอในการก่อสร้าง และต่อมากระทรวงมหาดไทยก็ได้จัดสรรงบประมาณในโครงการดังกล่าวแล้ว และขณะนี้ก็ได้ดำเนินการก่อสร้างน้ำบาดาลดื่มได้ในโรงเรียน ซึ่งคาดว่าจะแล้วเสร็จ ในเร็ว ๆ นี้ นอกจากนี้ยังมีการก่อสร้างระบบประปาหอถังและบ่อประมงภายในโรงเรียนด้วย ทั้งนี้ รัฐบาลมุ่งเน้นในการแก้ไขปัญหาของประชาชนอย่าง ทั่วถึงและต่อเนื่องโดยได้ดำเนินการเชิงรุกอย่างเป็นขั้นตอนในทุกพื้นที่ เพื่อจะได้บรรเทาความเดือดร้อนให้กับประชาชนอย่างยั่งยืน
ปิดประชุมเวลา ๑๕.๓๐ นาฬิกา

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ