ยุทธศาสตร์การสร้างชุมชนเข้มแข็งด้านการเกษตรแบบองค์รวม

ข่าวเศรษฐกิจ Friday November 19, 2004 09:34 —สภาที่ปรึกษาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ

ความเห็นและข้อเสนอแนะ
เกี่ยวกับยุทธศาสตร์การสร้างชุมชนเข้มแข็งด้านการเกษตรแบบองค์รวม
1. ความเป็นมา
แนวทางการพัฒนาประเทศซึ่งเริ่มปรับทิศทางไปสู่การให้ความสำคัญกับชุมชน ในฐานะเป็นองค์กรทางสังคมที่ครอบครัวเกษตรกรดำรงชีวิตอยู่ และเป็นหน่วยทางสังคมสำคัญ ที่จะสร้างความมั่นคงปลอดภัยทั้งทางด้านสังคม เศรษฐกิจ และ การเมือง ให้กับครอบครัวเกษตรกร ทำให้ ประเด็นเรื่องความเข้มแข็งของชุมชน ได้รับการกำหนดให้เป็นหนึ่งในยุทธศาสตร์สำคัญของ การพัฒนาประเทศ โดยได้มีการนำเสนอว่า ฐานคิดของการวางแนวนโยบายเรื่องความเข้มแข็งของชุมชน จะต้องไม่เป็นการมองแบบแยกส่วนและไม่มุ่งเน้นไปที่การแก้ปัญหาเพียงบางเรื่อง แต่จะต้องเป็นการมองปัญหาแบบ องค์รวม คือมุ่งแก้ไขปัญหาทุก ๆ ด้านไปพร้อม ๆ กัน โดยมีเป้าหมายให้ชุมชนมีความเข้มแข็ง คนในชุมชนสามารถกำหนดเป้าหมายของตนเอง และสามารถสร้างกระบวนการให้บรรลุเป้าหมายที่ตั้งไว้ได้
เพื่อให้บรรลุเป้าหมายดังกล่าวข้างต้น สภาที่ปรึกษาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ โดย คณะทำงานการเกษตรและสหกรณ์ จึงได้ดำเนินการจัดทำโครงการสัมมนาขึ้นในภูมิภาคต่าง ๆ ทั้ง 4 ภูมิภาค เพื่อให้ได้ข้อมูล ความเห็น และข้อเสนอแนะจากการมีส่วนร่วมของเกษตรกรทั่วประเทศ จากนั้นจึงได้จัดทำข้อเสนอแนะเป็น
เอกสารเชิงนโยบายเกี่ยวกับชุมชนเข้มแข็งด้านการเกษตรแบบองค์รวม เพื่อเสนอต่อคณะรัฐมนตรี
2. การดำเนินการของสภาที่ปรึกษาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ
สภาที่ปรึกษาเศรษฐกิจสังคมแห่งชาติ โดยคณะทำงานการเกษตรและสหกรณ์ ได้ดำเนินการศึกษา เรื่อง ชุมชนเข้มแข็งด้านการเกษตรแบบองค์รวม โดยมีรายละเอียด ดังนี้
2.1 ศึกษาจากรายงานวิจัย และเอกสารต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้อง เช่น
1) แนวทางพัฒนาเครื่องชี้วัดการพัฒนาเมืองน่าอยู่ ชุมชนน่าอยู่ ของสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ
2) การสร้างและพัฒนาตัวชี้วัดความเข้มแข็งขององค์กรธุรกิจชุมชน ของสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ
3) ญาณวิทยาใหม่ในการสร้างความรู้เพื่อความเข้มแข็งของชุมชนและสังคม ของมหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ
4) เอกสารประกอบการสัมมนาระดับชาติ เรื่อง “ การพัฒนาทุนทางสังคม ” หนทางสู่ความยั่งยืนของประเทศไทย ของสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและ สังคมแห่งชาติ
5) แผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ
6) นโยบายของรัฐบาล
2.2 เชิญผู้ทรงคุณวุฒิทั้งจากภาครัฐ และเอกชน รวมทั้งนักวิชาการ มาให้ข้อมูล และร่วมแลกเปลี่ยนความคิดเห็น
2.3 จัดสัมมนาระดมความคิดเห็นในระดับภูมิภาคทั้ง 4 ภูมิภาค โดยเชิญผู้เข้าร่วมในลักษณะพหุภาคี ซึ่งประกอบไปด้วย ผู้นำชุมชน ปราชญ์ชาวบ้าน ปัญญาชนชนบท และนักวิชาการ เพื่อให้ทราบถึง สภาพปัญหาที่เป็นจริง ตลอดจนแนวทางในการแก้ไขปัญหา อันเป็นประโยชน์ในการรวบรวมประมวล วิเคราะห์ และสังเคราะห์ข้อมูล
2.4 คณะทำงานการเกษตรและสหกรณ์ และมหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ ร่วมกันศึกษาและสังเคราะห์ข้อมูลที่ได้จากการสัมมนา เพื่อจัดทำยุทธศาสตร์การสร้างชุมชนเข้มแข็งด้าน การเกษตรแบบองค์รวมคณะทำงานการเกษตรและสหกรณ์ จึงนำความรู้และความเห็นที่ได้จากการดำเนินการ ทั้ง 4 ประการข้างต้น มาจัดทำเป็นความเห็นและข้อเสนอแนะ เกี่ยวกับ ยุทธศาสตร์การสร้างชุมชน เข้มแข็งด้านการเกษตรแบบองค์รวม เสนอต่อสภาที่ปรึกษาเศรษฐกิจสังคมแห่งชาติและคณะรัฐมนตรีต่อไป
3. ความหมายของการเกษตรแบบองค์รวม
การเกษตรแบบองค์รวมเป็นวิถีชีวิตของคนในชุมชนหมู่บ้านทั่วทุกภูมิภาคของ ประเทศไทยที่มิได้มีความหมายจำกัดเฉพาะเรื่องการผลิตอาหาร หรือสินค้าทางด้านการเกษตร เท่านั้น แต่หมายรวมไปถึงมิติอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องกับการดำรงชีวิตอย่างมีคุณภาพของผู้ทำการเกษตรหรือเกษตรกร ที่มีเป้าหมายเพื่อการดำรงอยู่อย่างมั่นคงปลอดภัย เป็นชีวิตที่มีคุณภาพ มีการอยู่ร่วมกับผู้อื่นอย่างสันติและเอื้ออาทร โดยมีการเกษตรเป็นรากฐานของการดำรงชีวิต ทั้งนี้กิจกรรม การเกษตรจะต้องเป็นการเกษตรแบบยั่งยืน ไม่ทำลายสิ่งแวดล้อมหรือระบบนิเวศน์ และเป็นการเกษตรที่เอื้อให้ผู้ผลิต ผู้บริโภคและธรรมชาติ สามารถดำรงอยู่ร่วมกันอย่างมีดุลยภาพและยั่งยืน
4. สถานการณ์ของปัญหา
การดำรงอยู่ของชุมชนในอดีต มีกระบวนการสร้างความรู้ การสร้างกฎเกณฑ์กติกาในการอยู่ร่วมกัน และการสร้างระบบความสัมพันธ์ทั้งกับคนในชุมชนและนอกชุมชน พร้อมทั้งสามารถอยู่ร่วมกับธรรมชาติได้อย่างสมดุล ไม่มุ่งทำลายและนำสิ่งที่มีอยู่ตามธรรมชาติมาเป็นของตนเกิน ความจำเป็น อีกทั้งคนในชุมชนมีความรู้สึกผูกพันกับชุมชน มีความมั่นใจและพึงพอใจในการดำรงชีวิตอยู่ในชุมชน ซึ่งทั้งหมดนี้นำไปสู่การตระหนักในพลังในการสร้างสรรค์ของตนเอง และศักดิ์ศรีของความเป็นมนุษย์ แต่อย่างไรก็ตามการเสื่อมสลายของการเกษตรแบบองค์รวมก็มาพร้อมกับ แนวทางการพัฒนาเศรษฐกิจของไทย นับตั้งแต่ไทยได้เริ่มใช้แผนพัฒนาเศรษฐกิจแห่งชาติ ฉบับที่ 1 ในปีพ.ศ. 2504 เป็นต้นมา เริ่มต้นจากฐานคิดของการพยายามพัฒนาภาคอุตสาหกรรมให้เจริญเติบโต ด้วยวิธีการต่างๆ ได้ก่อให้เกิดการจัดระเบียบสังคมในรูปแบบใหม่ ซึ่งได้ส่งผลให้ ชุมชน และหมู่บ้านจำนวนมาก ตกอยู่ในสภาพที่เรียกว่า “ บ้านแตกสาแหรกขาด" สภาพการณ์เหล่านี้อาจนิยามว่าเป็นการเสื่อมสลายของวิถีชีวิตการเกษตรแบบองค์รวม ได้ดังนี้
4.1 นโยบายการส่งเสริมให้ปลูกพืชเชิงเดี่ยวเพื่อการค้าของภาครัฐ ที่ได้วางนโยบายในการส่งเสริมและสนับสนุนให้เกษตรกรเปลี่ยนจากการปลูกพืชหลากหลายแบบพอมีพอกินไปสู่ การปลูกพืชเชิงเดี่ยวเพื่อการค้า หากแต่ได้ละเลยปัญหาพื้นฐานของการทำเกษตรกรรมเพื่อการค้า เช่น มิได้มีการสร้างกลไกขึ้นมารองรับการเปลี่ยนแปลง ไม่ว่าจะเป็นระบบข้อมูลข่าวสารเพื่อ การผลิตและการตลาด ระบบการจัดการกับผลผลิตทางการเกษตรที่เพิ่มสูงขึ้น การแปรรูปผลผลิต การคุ้มครอง ดูแลระบบนิเวศน์ ฯลฯ ซึ่งล้วนมีผลทำให้เกษตรกรตกอยู่ในภาวะเสี่ยงต่อการขาดทุน และเป็นหนี้สิน
4.2 นโยบายการจัดการที่ดิน ซึ่งรัฐบาลมุ่งเป้าหมายไปที่การเร่งการผลิตสินค้า เกษตรกรรม เพื่อป้อนโรงงานอุตสาหกรรมและเพื่อการส่งออก โดยมิได้ให้ความสำคัญกับ การพัฒนาและสร้างความสมดุลในระบบนิเวศน์ โดยเฉพาะการให้ความสำคัญกับการธำรงรักษาไว้ซึ่งที่ดินซึ่งเป็นฐานทรัพยากรในการดำรงชีวิตของชุมชน
4.3 นโยบายการจัดการศึกษาของรัฐ ที่ต้องการใช้การศึกษาในระบบโรงเรียนเป็นเครื่องมือสำหรับการเตรียมคน หรือฝึกคนเข้าสู่อาชีพในภาคอุตสาหกรรม ทำให้การศึกษาในทุกๆ ระดับไม่ตอบสนองต่อการดำรงชีวิตในชุมชน ระบบความรู้ที่ได้รับการสร้างสรรค์และสะสมอยู่ในชุมชน ถูกแทนที่ด้วยระบบความรู้ใหม่จากภายนอกชุมชน ทำให้คนตกอยู่ในภาวะที่ต้องพึ่งพิง ความรู้และเทคโนโลยีจากภายนอก ขาดพลังสร้างสรรค์ในการปรับเปลี่ยนความรู้ให้สามารถ ตอบสนองความต้องการ รวมทั้งลดทอนความสามารถในการจัดการปัญหาต่างๆ ด้วยตนเอง
4.4 นโยบายการสร้างโรงงานอุตสาหกรรมของภาครัฐ ในพื้นที่ ซึ่งเคยทำเกษตรกรรม มีผลในทางลบต่อระบบนิเวศน์ ที่คนในชุมชนเคยได้พึ่งพาเพื่อการดำรงชีวิต มีผลทำให้คนต้องอาศัยการดำรงชีวิตจากแหล่งรายได้อื่นๆ เช่น การรับจ้าง หรือการผลิต โดยอาศัยปัจจัยการผลิตจากภายนอกชุมชน การดำรงชีวิตที่มีความสมดุลกับธรรมชาติจึงค่อยๆ หมดไปจากวิถีชีวิตชุมชน
ผลโดยรวมที่เกิดขึ้นกับชุมชนหมู่บ้านของไทยก็คือ ชุมชนมีความเสี่ยงสูง ชุมชน ไม่สามารถควบคุมและจัดการกับสภาวการณ์ของความเสี่ยงในเรื่องต่างๆ ที่สำคัญได้ด้วยตนเอง เช่น การผลิต ราคาของผลผลิต การบริโภค การเป็นหนี้สิน หากแต่ต้องพึ่งพิงความรู้ องค์กร ทางสังคม และบุคคลจากภายนอกชุมชน ซึ่งมีผลทำให้จิตสำนึกในการแก้ไขปัญหาร่วมกันของ คนในชุมชนเริ่มลดน้อยลง คนเริ่มแสวงหาทางออกแบบตัวใครตัวมันมากขึ้น ความล้มเหลวใน การแก้ปัญหาอย่างต่อเนื่อง ทำให้พลังสร้างสรรค์ของคนชุมชนค่อยๆ ลดทอนลง ชุมชนขาด อำนาจอิสระที่จะแก้ไขปัญหาด้วยตนเอง ต้องพึ่งพาภายนอกมาก ทำให้ศักดิ์ศรีของความเป็นมนุษย์ ถูกลดทอนลง
5. ข้อเสนอแนะ
การนำเสนอยุทธศาสตร์การสร้างชุมชนเข้มแข็งด้านการเกษตรแบบองค์รวม เริ่มต้นด้วยการกำหนดเป้าหมายของการสร้างชุมชนเข้มแข็งด้านการเกษตรแบบองค์รวม และหลักการพื้นฐานในการกำหนดยุทธศาสตร์การสร้างชุมชนเข้มแข็งด้านการเกษตรแบบองค์รวม จากนั้นจึงนำเสนอยุทธศาสตร์การสร้างชุมชนเข้มแข็งด้านการเกษตรแบบองค์รวม
5.1 เป้าหมายของการสร้างชุมชนเข้มแข็งด้านการเกษตรแบบองค์รวมเป้าหมายของการสร้างชุมชนเข้มแข็งด้านการเกษตรแบบองค์รวม มิได้มุ่งไปที่การคาดหวังผลกำไรหรือผลที่ได้จากกิจกรรมการเกษตรแต่เพียงอย่างเดียว เพราะเป้าหมายดังกล่าวมีแนวโน้ม ที่จะนำไปสู่การทำลายระบบนิเวศน์ การแข่งขันเอารัดเอาเปรียบ การแก่งแย่งชิงดี ซึ่งมีแนวโน้มที่จะก่อให้เกิดผลกำไรในระยะสั้น และไม่เอื้ออำนวยให้ชุมชนดำรงอยู่ร่วมกันอย่างสันติสุข พึ่งพาอาศัยกัน โดยมีการดำรงชีวิตที่มีคุณภาพ ดังนั้น เป้าหมายของการสร้างชุมชนเข้มแข็งด้าน การเกษตรแบบองค์รวมได้แก่
5.1.1 ให้ชุมชนสามารถพึ่งตนเองทางความรู้ โดยสามารถสร้างความรู้จากฐาน ภูมิปัญญา ซึ่งเชื่อมโยงกับฐานทรัพยากรและวัฒนธรรมของชุมชน ส่วนความรู้และเทคโนโลยีจากภายนอกชุมชน ควรนำมาปรับใช้ แต่ไม่ใช่การพึ่งพิง และทำให้ชุมชนพึ่งตนเองไม่ได้ เพราะภูมิปัญญาที่ได้สร้างสรรค์มา ไม่ได้รับการสืบสาน แต่กลับถูกทำลายลงทุกวัน
5.1.2 ให้ผู้ซึ่งอาศัยการเกษตรเป็นรากฐานในการดำรงชีวิต สามารถดำรงชีวิตอยู่ได้อย่างมีคุณภาพ คือ มีความมั่นคงในด้านการผลิต การแลกเปลี่ยน และการบริโภค มีความปลอดภัยจากสารเคมีและสิ่งที่เป็นอันตรายต่อชีวิต มีโอกาสเข้าถึงการบริการของรัฐ และสามารถดำรงชีวิต อย่างมีศักดิ์ศรีของความเป็นมนุษย์
5.1.3 ให้ชุมชนที่มีการเกษตรเป็นรากฐานในการดำรงชีวิตมีฐานทรัพยากร ที่สมบูรณ์ โดยคนในชุมชนสามารถใช้ฐานทรัพยากรที่มีอยู่มาใช้เพื่อการเกษตรและการดำรงชีวิตได้อย่างยั่งยืน
5.1.4 ให้ชุมชนที่มีการเกษตรเป็นรากฐานในการดำรงชีวิต สามารถพึ่งตนเองได้ มีความมั่นใจว่าจะสามารถแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้นได้ โดยไม่รอให้คนอื่นเข้ามาช่วยเหลือ แต่สามารถแสวงหาความช่วยเหลือจากแหล่งต่างๆ ได้อย่างเสมอภาค
5.1.5 ให้ผู้ซึ่งอาศัยการเกษตรเป็นรากฐานในการดำรงชีวิต มีความมั่นใจต่อความมั่นคงในการดำรงชีวิต หลุดพ้นจากความยากจน มีรายได้เพียงพอ ไม่ละทิ้งชุมชน และมุ่งมั่นสร้างความเจริญก้าวหน้าและความเข้มแข็งให้กับชุมชน
5.2 หลักการในการกำหนดยุทธศาสตร์การสร้างชุมชนเข้มแข็งด้านการเกษตรแบบองค์รวม
การกำหนดยุทธศาสตร์การสร้างชุมชนเข้มแข็งด้านการเกษตรแบบองค์รวม ในทุกๆ ด้าน จะวางอยู่บนหลักการที่สำคัญ ดังนี้
5.2.1 เป็นยุทธศาสตร์ที่คำนึงถึงความหลากหลายของกิจกรรม ซึ่งเป็นวิถีชีวิตของเกษตรกร โดยเกษตรกรสามารถเลือกดำเนินกิจกรรมที่สอดคล้องกับฐานทรัพยากร ความรู้วัฒนธรรมประเพณี ความพึงพอใจ และการตลาด ดังนั้นยุทธศาสตร์ที่นำมาใช้จะต้องมีความยืดหยุ่น และเปิดทางเลือกให้ชุมชนเป็นผู้ตัดสินใจว่าจะใช้แนวทางใดเพื่อสร้างความเข้มแข็งให้กับวิถีชีวิตเกษตรกร
5.2.2 การดำเนินการตามยุทธศาสตร์จะต้องให้ความสำคัญกับการมีส่วนร่วมของเกษตรกรอย่างแท้จริง เพื่อให้กิจกรรมต่างๆ มีความยั่งยืนและสนองตอบต่อความต้องการของเกษตรกร
5.2.3 คำนึงถึงความเชื่อมโยงระหว่างภาคการเกษตรกับภาคการผลิต การค้า และการบริการอื่นๆ ของประเทศ ทั้งนี้เพื่อไม่ให้เกิดการกำหนดยุทธศาสตร์แบบแยกส่วน
5.3 ข้อเสนอยุทธศาสตร์
ยุทธศาสตร์การสร้างชุมชนเข้มแข็งด้านการเกษตรแบบองค์รวม ประกอบไปด้วย 7 ยุทธศาสตร์ ดังนี้
ยุทธศาสตร์ที่ 1 การสร้างนวัตกรรมการศึกษาเพื่อชุมชน
เพื่อให้การศึกษาในระบบโรงเรียน เป็นกระบวนการเรียนรู้ที่เชื่อมโยงกับวิถีการดำรงชีวิต ผู้เรียนที่มาจากชุมชนเกษตรกรรมควรได้รับประสบการณ์ในการศึกษา วิเคราะห์ และแก้ปัญหาของชุมชน โดยผ่านกระบวนการปฏิบัติจริง เพื่อนำไปสู่การเรียนรู้เพื่อชีวิต และให้กระบวนการ ทางการศึกษาเป็นส่วนสำคัญในการสร้างชุมชนเข้มแข็งด้านการเกษตรแบบองค์รวม
1) ปรับทิศทางการจัดการศึกษาให้เด็กและเยาวชนจากชุมชนเกษตรกรรม ได้เรียนรู้ ทั้งจากครูในโรงเรียน และจากการทำงานร่วมกับคนในชุมชนอย่างจริงจัง ไม่ใช่เป็นเพียงการนำผู้รู้จากชุมชนหรือปราชญ์ชุมชนไปสอนในห้องเรียนเท่านั้น การเรียนรู้จากชุมชนจะต้องเป็น การปฏิบัติจริง ซึ่งจะทำให้เกิดปัญญาในทางปฏิบัติ คือ เรียนรู้จากประสบการณ์การดำรงชีวิตในชุมชน
2) การศึกษาจะต้องไม่จัดโดยครูหรือนักการศึกษาเท่านั้น แต่จะต้องให้คนในชุมชน พ่อแม่ เด็ก และเยาวชน ให้เข้ามามีส่วนร่วมในการจัดการศึกษา หลักสูตรของโรงเรียนจะต้อง สร้างขึ้นจากรากฐานของภูมิปัญญา ความรู้ และวัฒนธรรมของชุมชน
3) ผู้เป็นครูจะต้องถือเป็นหน้าที่ที่จะต้องเรียนรู้ระบบของชุมชน มีความรู้เกี่ยวกับ ชุมชนที่ตนเองทำงานอยู่เป็นอย่างดี มีการวิจัยร่วมกับชุมชน
4) โรงเรียนจะต้องจัดการศึกษาให้นักเรียนมีความรู้เกี่ยวกับชุมชนตนเอง เช่น ประวัติชุมชน สภาพภูมิศาสตร์ ลักษณะทางกายภาพของชุมชน การผลิต ความรู้ต่างๆ ที่คนได้ สืบสานและสร้างสมมา เนื่องจากในปัจจุบันคนในชุมชนไม่รู้เรื่องชุมชนตนเอง
ยุทธศาสตร์ที่ 2 การสร้างทุนความรู้และเทคโนโลยีสำหรับชุมชน
เพื่อให้ชุมชนสามารถนำความรู้ในด้านต่างๆ และเทคโนโลยีสมัยใหม่ ที่มีอยู่มากมายมาใช้แก้ไขปัญหาของชุมชนที่มีการเกษตรเป็นฐานในการดำรงชีวิต คนในชุมชนรู้เท่าทัน ไม่ตกเป็นทาสหรือเป็นเหยื่อของเทคโนโลยีที่เสี่ยงหรือเป็นอันตราย หรือเป็นเทคโนโลยีที่ไม่เหมาะสมกับชุมชน โดยกำหนดมาตรการ ดังนี้
1) รัฐจะต้องให้การสนับสนุนทั้งในด้านงบประมาณและบุคลากร เพื่อสนับสนุน การวิจัยเชิงปฏิบัติการ ซึ่งมุ่งเน้นการนำประเด็นปัญหาทางด้านเกษตรกรรมของชุมชน ไม่ว่าจะเป็น ในด้านการผลิต การแปรรูป การออกแบบบรรจุ และการตลาด มาเป็นประเด็นหลักของการวิจัย โดยสนับสนุนให้มีการนำความรู้และเทคโนโลยีสมัยใหม่มาปรับใช้ให้เหมาะสมกับวิถีชีวิตของเกษตรกร ไม่ใช่เป็นการวิจัยที่มีเป้าหมายเพื่อการค้าและกำไรแต่เพียงอย่างเดียว
2) จัดตั้งสถาบันหรือศูนย์กลาง ที่มีพันธกิจในการวิจัย การเผยแพร่ความรู้และเทคโนโลยี และการสร้างกระบวนการเรียนรู้ เพื่อทำงานเชื่อมโยงกับองค์กรชุมชน และทำหน้าที่เป็นแหล่งความรู้และเป็นที่ปรึกษาให้กับเกษตรกร
3) สร้างกลไกสนับสนุนให้ชุมชนมีการจัดองค์กรหรือเวทีชุมชน เพื่อให้เกิด การปรึกษาหารือเกี่ยวกับปัญหาของชุมชน การเรียนรู้ร่วมกัน และระดมทั้งความรู้สมัยใหม่ และความรู้ที่เป็นภูมิปัญญาของชุมชนมาใช้เพื่อแก้ไขปัญหาของชุมชน การนำความรู้และเทคโนโลยีสมัยใหม่มาใช้ จะต้องไม่กระทำอย่างรวบรัด ฉาบฉวย และเกิดผลทางลบ
ยุทธศาสตร์ที่ 3 การวิจัยชุมชน โดยชุมชน เพื่อชุมชน
เพื่อทำให้คนในชุมชนสามารถวิจัยได้ด้วยตนเอง แทนการให้นักวิชาการหรือบุคคล ภายนอกเข้ามาวิจัยเรื่องเกี่ยวกับชุมชนตามความสนใจของตนเอง การวิจัยชุมชนจะต้องเริ่มต้นจากประเด็นปัญหาที่ชุมชนต้องการคำตอบ และชุมชนเป็นผู้ดำเนินการวิจัย โดยนักวิชาการหรือบุคคลภายนอกอาจเป็นที่ปรึกษาให้กับชุมชนได้ โดยมีมาตรการ ดังนี้
1) จัดให้มีการวิจัยชุมชน โดยชุมชน เพื่อชุมชน เป็นวาระแห่งชาติ โดยให้มีการ จัดสรรงบประมาณ เพื่อปรับกระบวนทัศน์ของการวิจัย ซึ่งเคยทำโดยนักวิชาการ ไปสู่การให้ชุมชนเป็นผู้วิจัยและนักวิชาการ อาจเป็นที่ปรึกษาหรือให้การสนับสนุนตามที่ชุมชนต้องการ
2) สนับสนุนให้สถาบันอุดมศึกษาและนักวิชาการ คิดนวัตกรรมของวิธีวิทยาการวิจัยที่ชุมชนสามารถจะนำไปใช้ประโยชน์ได้
3) สร้างกระบวนการเรียนรู้ในทางการวิจัยระหว่างชุมชนกับนักวิชาการ
4) สนับสนุนให้องค์กรที่ทำงานกับชุมชน มีการวิจัยร่วมกับชุมชน
5) สนับสนุนให้มีการเผยแพร่ผลงานวิจัยชุมชน โดยชุมชน เพื่อชุมชน อย่างต่อเนื่อง เพื่อสร้างชุมชนทางวิชาการของชุมชน
6) ให้รางวัลแก่นักวิจัยชุมชน ที่มีผลงานดีเด่น เพื่อทำให้สังคมเห็นความสำคัญ และให้การยอมรับผลงานวิจัยชุมชน โดยชุมชน เพื่อชุมชน
ยุทธศาสตร์ที่ 4 การเสริมสร้างพลังให้องค์กรชุมชน
เพื่อให้องค์กรที่ชุมชนได้ร่วมกันก่อตั้งขึ้นมาจากความเข้าใจ และสำนึกของผู้ที่เข้ามาเป็นสมาชิกขององค์กรโดยมีเจตจำนงหรือเป้าหมายที่เป็นประโยชน์กับชุมชน สามารถดำเนินการ ตามพันธกิจได้อย่างต่อเนื่อง องค์กรมีการขยายตัวหรือการเจริญเติบโต สามารถระดมสรรพกำลังของชุมชนมาสร้างความเข้มแข็งให้กับชุมชนได้อย่างยั่งยืน โดยมีมาตรการที่สำคัญ ดังนี้
1) จะต้องมีการนิยามความหมายขององค์กรชุมชนอย่างชัดเจน ว่าองค์กรชุมชน จะต้องเป็นองค์กรที่ตั้งขึ้นจากความเข้าใจและสำนึกของคนในชุมชน และเป็นองค์กรที่คนในชุมชน ตั้งขึ้นโดยมีเป้าหมายเพื่อคนในชุมชน
2) การให้การสนับสนุนองค์กรในชุมชน รัฐจะต้องให้ความสำคัญกับองค์กรที่ชุมชนเป็นผู้ก่อตั้งขึ้นตามเจตจำนงของชุมชน แทนการสนับสนุนองค์กรที่มีการจัดตั้งโดยบุคคลภายนอก ทั้งนี้เพื่อสร้างความเข้มแข็งให้กับองค์กรชุมชน ซึ่งเป็นองค์กรที่คนในชุมชนต้องเข้ามามีส่วนร่วม อย่างแท้จริง เพื่อให้องค์กรสามารถแก้ไขปัญหาของชุมชนได้
3) ให้การสนับสนุนองค์กรชุมชนเพื่อสร้างนวัตกรรมและกลไก เพื่อส่งเสริมความรู้ เฉพาะด้านแก่ผู้นำองค์กรชุมชน ทั้งนี้เพื่อให้ผู้นำองค์กรชุมชนได้เพิ่มพูนความรู้ และทักษะที่จำเป็นสำหรับสังคมสมัยใหม่ เช่น ความรู้เกี่ยวกับเขตการค้าเสรี ความรู้เกี่ยวกับสิทธิบัตร ความรู้เกี่ยวกับการบริหารจัดการที่ดี ความรู้เกี่ยวกับเทคโนโลยีทางการเกษตรสมัยใหม่ ความรู้ด้านการตลาด การจัดการ กฎหมาย ภาษา คอมพิวเตอร์ เป็นต้น
4) สนับสนุนให้องค์กรชุมชนจัดทำแผนชุมชนให้ชัดเจน โดยจะต้องถือว่า แผนชุมชนเป็นเครื่องมือ เพื่อสร้างความเข้มแข็งให้กับชุมชน แผนชุมชนไม่ใช่เป้าหมาย โดยองค์กรชุมชนจะต้องสามารถสื่อสารกับองค์กรภาครัฐ เพื่อให้แนวนโยบายของรัฐสร้างขึ้นจากเจตนารมณ์ของชุมชนอย่างแท้จริง รวมทั้งการแปลงนโยบายสู่การปฏิบัติ ที่นำไปสู่การขับเคลื่อนใน ภาคประชาชน
5) ดำเนินการให้มีการออกกฎหมายเพื่อรองรับสถานะขององค์กรชุมชน ทั้งนี้เพื่อให้ องค์กรชุมชนมีขอบข่ายอำนาจและหน้าที่ในการดำเนินการตามพันธกิจเพื่อความเข้มแข็งของชุมชนได้อย่างมีประสิทธิภาพ
ยุทธศาสตร์ที่ 5 การฟื้นฟูฐานทรัพยากรของชุมชน
เพื่อให้เกษตรกรสามารถอาศัยชุมชนเป็นฐานในการดำรงชีวิตอย่างยั่งยืน โดยคนในชุมชนสามารถใช้ฐานทรัพยากร เช่น ป่า ลำน้ำ ชายฝั่งทะเล ซึ่งในอดีตเป็นแหล่งอาหารหรือแหล่งที่มาของการดำรงชีวิตในด้านต่างๆ ทั้งนี้ชุมชนจะต้องมีการใช้ทรัพยากรของชุมชนในเชิงอนุรักษ์ โดย.ไม่ก่อให้เกิดการทำลายทรัพยากรของชุมชน โดยกำหนดมาตรการ ดังนี้
1) รัฐจะต้องมีนโยบายที่ชัดเจนในการสนับสนุนให้ชุมชนมีฐานทรัพยากรเป็น ของชุมชน และกำหนดให้การมีฐานทรัพยากรที่มีคุณค่าต่อการดำรงชีวิตของคนในชุมชน เป็น ดัชนีชี้วัดความสำเร็จของการพัฒนาประเทศ
2) สร้างกลไกสนับสนุนให้ชุมชนแต่ละแห่งทำแผนการฟื้นฟูและอนุรักษ์ฐานทรัพยากร ที่จำเป็นสำหรับการดำรงชีวิต และให้รัฐถือเป็นหน้าที่ที่จะต้องลดอุปสรรคของ การที่จะทำให้การสร้างและฟื้นฟูฐานทรัพยากรของชุมชนประสบความสำเร็จ
3) นโยบายใดๆ ของรัฐ ที่เกี่ยวข้องกับการจัดการทรัพยากรชุมชน จะต้องให้ ความสำคัญกับการอนุรักษ์ความหลากหลายทางพันธุกรรมของพืชและสัตว์
4) สร้างระบบที่เอื้อให้ชุมชนมีสิทธิที่จะร่วมกันกำหนดกติกาในการใช้ประโยชน์จากฐานทรัพยากรของชุมชนเพื่อการดำรงชีวิต แต่มิใช่เพื่อการค้า
5) ให้รัฐจัดสรรงบประมาณเพื่อการสร้างและฟื้นฟูฐานทรัพยากรของชุมชน เพื่อให้ ชุมชนสามารถดำเนินการตามแผนชุมชนได้อย่างเป็นรูปธรรม
6) ส่งเสริมให้มีการทำการเกษตรแบบปลอดภัยจากสารเคมีอย่างจริงจัง ทั้งนี้เพื่อเป็นการฟื้นฟูทรัพยากรของชุมชนให้มีความสมดุลตามธรรมชาติ เพื่อป้องกันอันตรายที่จะเกิดขึ้นกับ ระบบนิเวศน์และความปลอดภัยของมนุษย์ ทั้งนี้เพื่อให้คนมีชีวิตที่มีคุณภาพ
ยุทธศาสตร์ที่ 6 การสร้างฐานข้อมูลด้านการเกษตรแบบองค์รวม
เพื่อให้มีการริเริ่มการจัดทำข้อมูลที่เป็นประโยชน์อย่างแท้จริงแก่ชุมชน เนื่องจากยุคนี้เป็นยุคสารสนเทศ องค์กรต่างๆ ล้วนมีระบบข้อมูลที่ทันสมัยเพื่อการตัดสินใจ และเพื่อเสริมสร้าง ความรู้และทักษะองค์กรชุมชน จึงจำเป็นต้องมีระบบฐานข้อมูลที่จำเป็นในด้านต่างๆ เพื่อการจัดทำแผนชุมชน และการดำเนินการต่างๆ อันจะเป็นการสร้างความเข้มแข็งให้กับชุมชนเกษตรกรรม ซึ่งมีมาตรการ ดังนี้
1) สนับสนุนให้ชุมชนและนักวิชาการร่วมกันวางระบบที่จะใช้เป็นต้นแบบ หรือ แม่บทในการจัดทำฐานข้อมูลด้านเกษตรแบบองค์รวม โดยต้นแบบนี้จะช่วยให้ชุมชนทราบว่า มีข้อมูลใดบ้างที่จำเป็นสำหรับชุมชน
2) สนับสนุนให้ชุมชน สร้างฐานข้อมูลของชุมชน
3) สร้างกลไกและกระบวนการเรียนรู้ให้ชุมชนสามารถเข้าถึงฐานข้อมูลของหน่วยราชการ และองค์กรอื่นๆ เพื่อให้ชุมชนสามารถใช้ประโยชน์จากฐานข้อมูลที่มีอยู่แล้ว
4) จัดสรรงบประมาณสนับสนุนให้ชุมชนมีอุปกรณ์และเครื่องมือที่สามารถสร้างระบบ ฐานข้อมูลและเชื่อมโยงฐานข้อมูลได้
ยุทธศาสตร์ที่ 7 การสร้างภาคปฏิบัติการจริงของยุทธศาสตร์
เพื่อให้สามารถแปลงยุทธศาสตร์ที่กำหนดไว้ไปสู่การปฏิบัติอย่างจริงจัง ได้ผลสำเร็จและบรรลุเป้าหมายที่ตั้งไว้ อันจะทำให้คนในชุมชนมีความมั่นใจ มองเห็นขั้นตอนและกระบวนการ ที่จะทำให้ยุทธศาสตร์ที่วางไว้ประสบความสำเร็จ ภายในระยะเวลาที่เหมาะสม โดยมีมาตรการ ดังนี้
1) รัฐจะต้องกำหนดนโยบายในเรื่อง “ การสร้างชุมชนเข้มแข็งด้านเกษตรแบบองค์รวม ”ให้เป็นวาระแห่งชาติ โดยมีการกำหนดเรื่องการสร้างชุมชนเข้มแข็งด้านเกษตรแบบองค์รวมไว้ในนโยบายของรัฐ และมีการขอตั้งงบประมาณเพื่อการนี้อย่างเหมาะสมและพอเพียง
2) รัฐจะต้องดำเนินการให้มีการจัดตั้ง “ องค์กรชุมชนเกษตรระดับชาติ ” ซึ่งมีฐานะเป็นองค์กรอิสระ เพื่อดำเนินงานเกี่ยวกับการสร้างชุมชนเข้มแข็งด้านเกษตรแบบองค์รวม โดยมี ผู้นำชุมชน ปราชญ์ชาวบ้าน หรือและตัวแทนชุมชน เป็นผู้บริหารและผู้ปฏิบัติงาน โดยอาจมี ที่ปรึกษาเป็นนักวิชาการหรือผู้เชี่ยวชาญได้ ทั้งนี้จะต้องมีการจัดสรรงบประมาณให้กับองค์กรนี้ ในลักษณะเดียวกันกับที่จัดให้หน่วยราชการ หรือหน่วยงานในกำกับของรัฐ
3) รัฐจะต้องสนับสนุนและส่งเสริมให้องค์กรชุมชนเกษตรระดับชาติที่จัดตั้งขึ้น จัดทำแผนการดำเนินงานตามยุทธศาสตร์ทั้งระยะยาว ( แผน 4 ปี ) และระยะสั้น ( แผนประจำปี ) เสนอต่อรัฐบาล เพื่อขอจัดตั้งงบประมาณและให้มีการดำเนินงานตามแผนอย่างต่อเนื่อง
ที่มา: สภาที่ปรึกษาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ
www.nesac.or.th, โทร.02-612-9222 ต่อ 118, 119 โทรสาร.02-612-6918-9

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ