รัฐมนตรีกลุ่ม G20 ยืนยันร่วมกันผลักดันการเจรจาเกษตรของ WTO ให้สำเร็จปลายปีนี้

ข่าวเศรษฐกิจ Friday September 16, 2005 14:21 —กรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ

          นายสุวิทย์ เมษินทรีย์ ผู้ช่วยรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ ซึ่งเป็นหัวหน้าคณะผู้แทนไทยเข้าร่วมประชุมรัฐมนตรีกลุ่ม G20 เมื่อวันที่ 9-10 กันยายน 2548 ณ ประเทศปากีสถาน พร้อมด้วยนายการุณ กิตติสถาพรปลัดกระทรวงพาณิชย์ และเจ้าหน้าที่กระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่าที่ประชุมประสบความสำเร็จการร่วมกันกำหนดกลยุทธ์ในการผลักดันให้การเจรจาการค้าสินค้าเกษตรภายใต้ WTO คืบหน้าให้ได้ก่อนการประชุมรัฐมนตรี WTO ครั้งที่ 6 ที่ฮ่องกง ในเดือนธันวาคม ศกนี้   
การประชุมรัฐมนตรีกลุ่ม G20 มีวัตถุประสงค์หลักเพื่อร่วมหารือเรื่องกลยุทธ์ของกลุ่มเพื่อผลักดันให้ประเทศมหาอำนาจเช่นสหรัฐฯ และสหภาพฯ เข้าร่วมการเจรจาอย่างจริงจังมากขึ้นโดยใช้ข้อเสนอของกลุ่ม G20 ในเรื่องการเปิดตลาดสินค้าเกษตร การอุดหนุนภายใน และการอุดหนุนส่งออกเป็นพื้นฐานในการเจรจาเพื่อให้ได้ข้อสรุปโดยเร็วซึ่งจะเป็นปัจจัยหลักที่จะทำให้การประชุมรัฐมนตรี WTO ปลายปีนี้ประสบความสำเร็จ ทั้งนี้ นายสุวิทย์เปิดเผยว่าที่ประชุมมีความเห็นร่วมกันว่ากลุ่ม G20 จะต้องรักษาจุดยืนร่วมกันต่อข้อเสนอของกลุ่มทั้งสามเรื่องดังกล่าว และต้องส่งสัญญาณที่ชัดเจนว่ากลุ่ม G20 จะไม่ลดระดับเป้าหมายการเจรจาเกษตรที่ตั้งไว้ นอกจากนี้ ที่ประชุมยังเห็นชอบกับท่าทีของไทยซึ่งเสนอให้กลุ่มผลักดันเรื่องความโปร่งใสในการเจรจา โดยร่างข้อตกลงใดๆ จะต้องมาจากการหารือกับสมาชิก WTO ทั้งหมด (Bottom up approach) เพื่อป้องกันมิให้สหรัฐฯ และสหภาพฯ ไปทำความตกลงระหว่างกันและผลักดันให้ทุกประเทศต้องยอมรับเหมือนการเจรจาในรอบอุรุกวัย ทั้งนี้ รัฐมนตรีกลุ่ม G20 จะสั่งการให้ผู้แทนที่เจนีวาเข้าพบผู้อำนวยการใหญ่องค์การการค้าโลก (นาย Pascal Lamy) เพื่อยื่นข้อเสนอของกลุ่ม G20 และท่าทีของกลุ่มที่ได้ตกลงกันในครั้งนี้ นายสุวิทย์ให้ความเห็นเพิ่มเติมว่าประเด็นสำคัญ คือ กลุ่ม G20 จะต้องรวมพลังและประสานกับกลุ่มประเทศกำลังพัฒนาต่างๆ ให้มากที่สุด เพื่อร่วมกันผลักดันข้อเรียกร้องของประเทศกำลังพัฒนา
สำหรับไทยต้องเตรียมความพร้อมเพื่อให้สามารถตักตวงผลประโยชน์ได้อย่างเต็มที่ ซึ่งเรื่องที่ไทยให้ความสำคัญ เช่น การลดภาษีสูงที่สินค้าเกษตรสำคัญของไทยเช่น ข้าวและน้ำตาลถูกเรียกเก็บจากประเทศต่างๆ ลงให้มากที่สุดโดยการกำหนดเพดานภาษี หรือที่เรียกว่า Tariff Cap รวมทั้ง ต่อต้านการทำกฎเกณฑ์สำหรับสินค้าพิเศษ (special products) ซึ่งประเทศผู้นำเข้ายื่นข้อเสนอเพื่อปกป้องภาคเกษตรของตนฝ่ายเดียวโดยไทยผลักดันให้กฎเกณฑ์ดังกล่าว คำนึงถึงผลกระทบต่อภาคเกษตรของประเทศผู้ส่งออกโดยเฉพาะประเทศกำลังพัฒนาด้วยรวมทั้ง ยืนยันให้มีการจัดทำกฎเกณฑ์การอุดหนุนภายในที่เข้มงวดเพื่อป้องกันประเทศพัฒนาแล้วหลีกเลี่ยงพันธกรณี สำหรับการอุดหนุนส่งออกกลุ่ม G20 ได้ร่วมกันยื่นข้อเสนอไปแล้วให้มีการยกเลิกภายใน 5 ปี ซึ่งหากผลการเจรจาเป็นไปตามที่ผลักดันก็คาดว่าราคาข้าวจะเพิ่มขึ้นได้ประมาณร้อยละ 20 หรือคิดเป็นมูลค่าประมาณ 20,000 ล้านบาท และราคาน้ำตาลคาดว่าจะสูงขึ้นประมาณร้อยละ 25
กลุ่ม G20 เป็นการรวมตัวกันของประเทศกำลังพัฒนาที่เป็นสมาชิกองค์การการค้าโลกโดยมีแนวคิดเดียวกันที่จะแก้ปัญหาการค้าสินค้าเกษตรของโลก และเพิ่มอำนาจในการเจรจาต่อรองกับประเทศพัฒนาแล้ว เช่น สหรัฐฯ สหภาพยุโรป และญี่ปุ่น ซึ่งยังมีมาตรการปกป้องและคุ้มครองภาคเกษตรสูง ปัจจุบันมีสมาชิกรวม 21 ประเทศ คือ อาร์เจนตินา โบลิเวีย บราซิล ชิบี จีน คิวบา อียิปต์ กัวเตมาลา อินเดีย อินโดนีเซีย เม็กซิโก ไนจีเรีย ปากีสถาน ปารากวัย ฟิลิปปินส์ แอฟริกาใต้ แทนซาเนีย เวเนซูเอลา อุรุกวัย ซิมบับเว และไทย
กรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ กระทรวงพาณิชย์ อาคาร ค ถ.ราชดำเนินกลาง แขวงบวรนิเวศน์ เขตพระนคร กรุงเทพมหานคร 10200 โทรศัพท์ (66) 2282-6171-9 แฟกซ์ (66) 2280-0775
-พห-

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ