พยากรณ์อากาศเพื่อการเกษตร ตั้งแต่วันที่ 12 - 18 กันยายน 2548

ข่าวทั่วไป Monday September 12, 2005 14:33 —กรมอุตุนิยมวิทยา

          พยากรณ์อากาศเพื่อการเกษตร
วัน จันทร์ที่ 12 กันยายน พ.ศ. 2548 ฉบับที่ 109/2548
คาดหมายลักษณะอากาศเพื่อการเกษตรใน 7 วันข้างหน้า
ตั้งแต่วันที่ 12-18 กันยายน 2548
ในระยะนี้ร่องความกดอากาศต่ำหรือร่องฝนพาดผ่านภาคเหนือตอนล่าง ภาคกลางตอนบน และภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนล่างเข้าสู่พายุดีเปรสชั่นในทะเลจีนใต้ตอนกลาง ซึ่งคาดว่าในช่วงวันที่ 13—16 ก.ย. พายุดีเปรสชั่นนี้จะเคลื่อนตัวขึ้นสู่ฝั่งประเทศเวียดนามตอนกลาง ลาว และจะเคลื่อนเข้าปกคลุมภาคตะวันออกเฉียงเหนือของประเทศไทย และมรสุม ตะวันตกเฉียงใต้ที่ปกคลุมทะเลอันดามัน ภาคใต้ และอ่าวไทยจะมีกำลังแรงขึ้น ลักษณะเช่นนี้จะทำให้บริเวณภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคกลาง และภาคตะวันออก และภาคใต้ตอนบนมีฝนตกชุกหนาแน่น และคลื่นลมบริเวณอ่าวไทยและทะเลอันดามันจะมีกำลังแรงขึ้น
ข้อควรระวัง
ในช่วงวันที่ 13—18 ก.ย. ภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคกลาง และภาคตะวันออก และภาคใต้ตอนบน ซึ่งได้แก่จังหวัดแม่ฮ่องสอน เชียงใหม่ ลำพูน ลำปาง ตาก แพร่ สุโขทัย พิษณุโลก พิจิตร เพชรบูรณ์ หนองคาย นครพนม มุกดาหาร ขอนแก่น ร้อยเอ็ด อุบลราชธานี กาญจนบุรี ราชบุรี จันทบุรี ตราด เพชรบุรี และประจวบคีรีขันธ์ จะมีฝนตกชุก หนาแน่น เกษตรกรในที่ลาดเชิงเขาและที่ราบลุ่มของพื้นที่เสี่ยงภัยควรระมัดระวังอันตรายและป้องกันความเสียหายจากสภาวะฝนตกหนัก และน้ำท่วม สำหรับคลื่นลมในอ่าวไทยและทะเลอันดามันจะมีกำลังแรงขึ้นในช่วงวันที่ 13—16 ก.ย. ชาวเรือและ ชาวประมงควรเพิ่มความระมัดระวังในการเดินเรือ
ผลกระทบของลักษณะอากาศต่อการเกษตรตามภาคต่างๆในระยะ7วันข้างหน้ามีดังนี้
เหนือ
ลักษณอากาศ
# ในช่วงวันที่ 12-14 ก.ย. มีฝนฟ้าคะนอง 40-60 % ของพื้นที่ และมีฝนตกหนักบางแห่ง ส่วนมากทางด้านตะวันตกและตอนล่างของภาค ส่วนในช่วงวันที่ 15—18 ก.ย. จะมีฝนเพิ่มมากขึ้นอยู่ในเกณฑ์ 70 — 80% ของพื้นที่และมีฝนตกหนัก บางแห่ง ลมแปรปรวน ความเร็ว 10—25 กม./ชม. ความชื้นสัมพัทธ์เฉลี่ยตอนเช้า 95 % ตอนบ่าย 70%
ผลกระทบต่อการเกษตร
# ระยะนี้จะมีฝนตกชุก และในช่วงวันที่ 15-18 ก.ย. จะมีฝนเพิ่มมากขึ้น ซึ่งอาจทำให้เกิดน้ำล้นตลิ่งบริเวณที่ราบลุ่มริมน้ำ เกษตรกรที่อาศัยอยู่ในบริเวณดังกล่าวควรเตรียมที่สำหรับอพยพสัตว์เลี้ยงและสิ่งของไว้ด้วย
ตะวันออกเฉียงเหนือ
ลักษณะอากาศ
# ในช่วงวันที่ 12-13 ก.ย. มีฝนฟ้าคะนอง 40-60 % ของพื้นที่ ส่วนในช่วงวันที่ 14-18 ก.ย. จะมีฝนเพิ่มมากขึ้น อยู่ในเกณฑ์ 80-90% ของพื้นที่ และมีฝนตกหนักถึงหนักมากบางพื้นที่ส่วนมากทางด้านตะวันออกและตอนบนของภาค ลมแปรปรวน ความเร็ว 15-30 กม./ชม. ความชื้นสัมพัทธ์เฉลี่ยตอนเช้า 95 % ตอนบ่าย 70%
ผลกระทบต่อการเกษตร
# ระยะนี้มีฝนตกชุก และในช่วงวันที่ 14-18 ก.ย. จะมีฝนเพิ่มมากขึ้น เกษตรกรควรระวังอันตรายและป้องกันความเสียหายจากสภาวะน้ำท่วมไว้ด้วย ส่วนชาวสวนควรระวังการระบาดของโรครากเน่าในน้อยหน่า และ โรคราแป้งในมะขามหวาน
กลาง
ลักษณะอากาศ
# ในช่วงวันที่ 12-13 ก.ย. มีฝนฟ้าคะนอง 40-60 % ของพื้นที่ ส่วนในช่วงวันที่ 14-18 ก.ย. จะมีฝนเพิ่มมากขึ้น อยู่ในเกณฑ์ 70-80% ของพื้นที่ กับมีฝนตกหนักบางพื้นที่ส่วนมากทางด้านตะวันตกและตอนล่างของภาค ลมตะวันตกเฉียงใต้ ความเร็ว 15-30 กม./ชม. ความชื้นสัมพัทธ์เฉลี่ยตอนเช้า 95 % ตอนบ่าย 70%
ผลกระทบต่อการเกษตร
# ในช่วงที่มีฝนตกชุก เกษตรกรควรป้องกันความเสียหายจากสภาวะน้ำท่วมขัง นอกจากนี้ควรระวังและป้องกันการระบาดของโรคแอนแทรกโนสและโรคราจุดสนิมในฝรั่ง และโรคกุ้งแห้งในพริก
ตะวันออก
ลักษณะอากาศ
# มีฝนฟ้าคะนอง 40-60 % ของพื้นที่เกือบตลอดสัปดาห์ ลมตะวันตกเฉียงใต้ ความเร็ว 15-35 กม./ชม. เว้นแต่ในช่วงวันที่ 14-16 ก.ย. จะมีฝนเพิ่มมากขึ้นอยู่ในเกณฑ์ 80-90% ของพื้นที่ และมีฝนตกหนักถึงหนักมากบางแห่ง ส่วนมากตามชายฝั่งบริเวณจังหวัดชลบุรี ระยอง จันทบุรี และตราด ลมตะวันตกเฉียงใต้ ความเร็ว 20-35 กม./ชม. ความชื้นสัมพัทธ์เฉลี่ยตอนเช้า 95 % ตอนบ่าย 70%
ผลกระทบต่อการเกษตร
# เนื่องจากระยะนี้บริเวณจังหวัดชลบุรี ระยอง จันทบุรี และตราด จะมีฝนตกชุก ชาวสวนยางพาราควรระวังและป้องกันการระบาดของโรคพืชจากเชื้อราด้วย
ใต้
ลักษณะอากาศ
# ฝั่งตะวันออกมีฝนฟ้าคะนอง 30% ของพื้นที่ เว้นแต่ในช่วงวันที่ 14-18 ก.ย. จะมีฝนเพิ่มขึ้นอยู่ในเกณฑ์ 60-80% ของพื้นที่ และมีฝนตกหนักหลายพื้นที่ทางตอนบนของภาค ลมตะวันตกเฉียงใต้ ความเร็ว 15-35 กม./ชม.
# ฝั่งตะวันตกมีฝนฟ้าคะนอง 30% ของพื้นที่ เว้นแต่ในช่วงวันที่ 14—18 ก.ย. จะมีฝนเพิ่มขึ้นอยู่ในเกณฑ์ 40—60% ของพื้นที่ และมีฝนตกหนักบางพื้นที่ ส่วนมากทางตอนบนของภาค ลมตะวันตกเฉียงใต้ ความเร็ว 20-35 กม./ชม.
ความชื้นสัมพัทธ์เฉลี่ยตอนเช้า 95% ตอนบ่าย 60%
ผลกระทบต่อการเกษตร
# ในช่วงวันที่ 14-18 ก.ย. จะมีฝนเพิ่มขึ้นและมีฝนตกหนักหลายพื้นที่ทางตอนบนของภาค เกษตรกรที่ปลูกผักควรระวังและป้องกันการระบาดของโรคเน่าดำในผักตระกูลกะหล่ำและผักกาด โรคราน้ำค้างในแตงกวา และหนอนเจาะผลในมะเขือ สำหรับบริเวณตอนล่างของภาคมีฝนตกน้อย ชาวสวนควรดูแลให้น้ำแก่ไม้ผลและไม้ยืนต้น
สอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ กรมอุตุนิยมวิทยา 0-2399-4568-74
-สส-

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ