อุตสาหกรรมรองเท้าและชิ้นส่วน

ข่าวเศรษฐกิจ Wednesday October 29, 1997 10:20 —สภาหอการค้าแห่งประเทศไทย

อุตสาหกรรมรองเท้าและชิ้นส่วน
อุตสาหกรรมรองเท้าและชิ้นส่วนได้มีการผลิตมาเป็นเวลานานแล้วในประเทศไทย ในระยะแรกจะเป็นการผลิตเพื่อทดแทนการนำเข้า เพื่อสนองตอบต่อความต้องการของผู้บริโภคในประเทศ ซึ่งส่วนใหญ่จะเป็นผู้ที่มีรายได้ต่ำ ดังนั้นผลผลิตที่นำออกมาจำหน่ายส่วนใหญ่จะเป็นสินค้าคุณภาพต่ำราคาถูก โดยการผลิตจะใช้แรงงานเป็นหลัก โรงงานที่ผลิตสินค้ารองเท้าและชิ้นส่วนคุณภาพดีจะเน้นการผลิตเพื่อการส่งออกเป็นหลัก ปัจจุบันโรงงานผลิตรองเท้าและชิ้นส่วนของไทยมีการพัฒนาขึ้นมาก โดยเน้นการผลิตสินค้าที่มีคุณภาพดี เพื่อสนองตอบต่อความต้องการทั้งตลาดในและต่างประเทศ การผลิตในปัจจุบันจึงมีแนวโน้มที่จะใช้เครื่องจักรมากขึ้น และใช้แรงงานลดลงเพื่อป้องกันปัญหาด้านแรงงานและลดต้นทุนการผลิต ทั้งนี้การผลิตรองเท้าและชิ้นส่วนในปัจจุบันจำเป็นต้องพึ่งพาวัตถุดิบจากต่างประเทศเป็นหลัก เนื่องจากวัตถุดิบในประเทศมีไม่เพียงพอ คุณภาพไม่สม่ำเสมอ และต่ำกว่ามาตรฐานที่ต่างประเทศต้องการ วัตถุดิบที่จำเป็นต้องนำเข้ามาจากต่างประเทศได้แก่ หนังแท้คุณภาพดี พื้นรองเท้า พลาสติกและเคมีภัณฑ์ เป็นต้น
เนื่องจากภาวะการแข่งขันที่รุนแรงของตลาดโลกในปัจจุบันและความจำเป็นที่จะต้องพึ่งพาวัตถุดิบจากต่างประเทศ ทำให้การส่งออกผลิตภัณฑ์รองเท้าและชิ้นส่วนของไทยมีแนวโน้มชะลอตัวลง ดังนั้นอุตสาหกรรมการผลิตเพื่อส่งออกของไทยจำเป็นต้องมีการปรับตัวเพื่อจะรับมือกับสถานการณ์ที่เปลี่ยนแปลงไป รวมถึงการศึกษาเพื่อหาแนวโน้มการส่งออกอุตสาหกรรมประเภทนี้ในอนาคตจะเป็นแนวทางที่สำคัญของภาครัฐบาลในการปรับปรุงแนวทางในการส่งเสริมการผลิตผลิตภัณฑ์สินค้ารองเท้าและชิ้นส่วนต่อไป
การผลิต
การผลิตรองเท้าและชิ้นส่วนในระยะแรกของไทยจะเป็นการผลิตเพื่อทดแทนการนำเข้า โดยต้นทุนการผลิตจะมีแรงงานเป็นองค์ประกอบที่สำคัญ สินค้าที่ผลิตส่วนใหญ่จะมีคุณภาพต่ำราคาถูก เพื่อสนองตอบต่อความต้องการของผู้บริโภคภายในประเทศหลักซึ่งมีรายได้ต่ำ และจากผลการพัฒนาประเทศที่มุ่งสนับสนุนการผลิตเพื่อการส่งออก เพื่อลดการขาดดุลการค้าทำให้อุตสาหกรรมประเภทต่าง ๆ มีการขยายตัวอย่างมาก รวมทั้งอุตสาหกรรมรองเท้าและชิ้นส่วน ปัจจัยที่สำคัญประการหนึ่งของการพัฒนาอุตสาหกรรมของไทยได้แก่ การได้เปรียบเชิงเปรียบเทียบของแรงงานไทย ทั้งนี้เนื่องมาจากค่าจ้างแรงงานในอดีตของไทยมีอัตราต่ำเมื่อเทียบกับประ-เทศผู้ผลิตอื่น ๆ อีกทั้งประเทศไต้หวัน และเกาหลี ซึ่งเป็นประเทศผู้ผลิตรองเท้ารายใหญ่ของโลกถูกตัดสิทธิพิเศษทางศุลกากร (GSP) และประสบปัญหาต้นทุนการผลิตด้านการจ้างแรงงานสูงขึ้น ทำให้ประเทศผู้ผลิตรองเท้าและชิ้นส่วนที่สำคัญย้ายฐานการผลิตมาสู่ประเทศไทย ส่งผลให้ในช่วงปี 2529 - 2533 การส่งออกผลิตภัณฑ์รองเท้าและชิ้นส่วนของไทยมีอัตราการเติบโตสูงถึงร้อยละ 54.6 ต่อปี
กระบวนการผลิตรองเท้าไม่สามารถใช้เครื่องจักรทดแทนแรงงานได้ทั้งหมด แรงงานมี ฝีมือจัดได้ว่าเป็นปัจจัยที่สำคัญสำหรับอุตสาหกรรมประเภทนี้ ปัจจุบันอุตสาหกรรมรองเท้ารองรับแรงงานทั้งสิ้นประมาณ 127,000 คน พิจารณาด้านต้นทุนการผลิตพบว่า ประมาณร้อยละ 70 เป็นค่าวัตถุดิบ, ร้อยละ 18 เป็นค่าแรงงาน ที่เหลืออีกร้อยละ 12 จะเป็นค่าใช้จ่ายในการดำเนินงาน จะเห็นได้ว่าต้นทุนแรงงานยังคงเป็นปัจจัยที่สำคัญประการหนึ่งสำหรับการผลิตอุตสาหกรรมประเภทนี้ ปัญหาที่สำคัญของผู้ผลิตในด้านแรงงานได้แก่ การเรียกร้องค่าจ้างขั้นต่ำเพิ่มขึ้นทุกปี และปัญหาการเข้าออกบ่อย ๆ ของแรงงาน เนื่องมาจากแรงงานที่ใช้ในอุตสาหกรรมนี้จำเป็นต้องเป็นแรงงานที่มีฝีมือ (skill labor) การจ้างแรงงานใหม่จะต้องมีการฝึกอบรมเบื้องต้นทำให้เสียเวลา และค่าใช้จ่ายเพิ่มขึ้น
ปัจจุบันร้อยละ 90 ของผู้ประกอบการอุตสาหกรรมประเภทนี้เป็นผู้ประกอบการขนาดกลางและผลิตในครอบครัว ที่เหลือร้อยละ 10 เป็นผู้ประกอบการขนาดกลางถึงใหญ่ ซึ่งทำการผลิตเพื่อการส่งออกมีกำลังการผลิตประมาณ 350 ล้านคู่ต่อปี และส่วนใหญ่จะได้รับการสนับสนุนจาก BOI สำหรับนโยบายของ BOI ในปัจจุบันได้มีการเปลี่ยนแปลงไปจากอดีต โดยให้ความสำคัญกับการลงทุนในประเทศเพิ่มขึ้นซึ่งผู้ผลิตเพื่อจำหน่ายในประเทศสามารถขอรับการส่งเสริมจาก BOI ได้ เป็นผลให้ปัจจุบันมีผู้ผลิตรองเท้าเพื่อจำหน่ายในประเทศขอรับการส่งเสริมการลงทุนเพิ่มขึ้นมาก
รูปแบบการผลิต
การผลิตของอุตสาหกรรมรองเท้าและชิ้นส่วนของไทยมีรูปแบบการผลิต 3 ลักษณะคือ
1. การผลิตภายใต้ใบอนุญาตของบริษัทแม่ในต่างประเทศ (License) ส่วนใหญ่จะเป็นการผลิตเพื่อส่งออก
2. การผลิตตามสัญญา (Contract) ในการนี้ผู้ว่าจ้างจะเป็นผู้กำหนดแบบและวัตถุดิบโดยการผลิตจะส่งออกไปยังประเทศผู้ว่าจ้างทั้งหมด
3. การผลิตโดยใช้ยี่ห้อของตนเอง ส่วนใหญ่จะผลิตเพื่อใช้ในประเทศ
ประเภทของรองเท้าที่ทำการผลิตในประเทศไทย
1. รองเท้ากีฬา (HS 31201)
2. รองเท้าแตะ (HS 31202)
3. รองเท้าหนัง (HS 31203)
4. รองเท้ายางและรองเท้าพลาสติก (HS 31204)
5. รองเท้าอื่น ๆ (HS 31205)
6. ส่วนประกอบรองเท้า (HS 31206)
ภาวะตลาดในประเทศ
ภาวะการตลาดรองเท้าภายในประเทศเริ่มมีการแข่งขันที่รุนแรงเพิ่มมากขึ้น ทั้งนี้สืบเนื่องมาจากการที่รัฐบาลลดภาษีการนำเข้ารองเท้าจากต่างประเทศ ทำให้รองเท้ามียี่ห้อจากต่างประเทศเข้ามาขายในไทยมากขึ้นและราคาถูกลง ผู้ผลิตเพื่อขายสำหรับตลาดในประเทศจำต้องมีการพัฒนาคุณภาพของผลิตภัณฑ์ และประสิทธิภาพการผลิต รวมทั้งการนำกลยุทธทางการตลาดมาใช้เช่น การพยายามขยายฐานกลุ่มลูกค้าให้ครอบคลุมในทุก ๆ พื้นที่ ปรับระบบการจำหน่าย และเน้นการประชาสัมพันธ์เพิ่มขึ้นเช่น การเป็นสปอนเซอร์สนับสนุนกีฬา เป็นต้น สำหรับมูลค่าตลาดในประเทศทั้งหมดประมาณ 4,000 ล้านบาท โดยรองเท้ากีฬามีสัดส่วนประมาณร้อยละ 50 ซึ่งเป็นสินค้าแบรนอินเตอร์โดยที่ประเทศไทยได้รับ License จากต่างประเทศเช่น อดิดาส, ไนกี้ และ รีบอค ที่เหลืออีกประมาณร้อยละ 50 จะเป็นรองเท้านักเรียนซึ่งเป็นยี่ห้อที่ใช้ในประเทศเช่น บาจา และนันยาง เป็นต้น การตลาดสำหรับรองเท้านักเรียนจะเน้นที่รูปแบบ ราคาและความคงทน เพื่อดึงดูดลูกค้า
ภาวะการส่งออกรองเท้าและชิ้นส่วนของไทย
การส่งออกผลิตภัณฑ์รองเท้าและชิ้นส่วนของไทยมีมูลค่าเพิ่มขึ้นทุกปี อุตสาห-กรรมชนิดนี้ได้เข้ามามีบทบาทสำคัญต่อการส่งออกของไทย กล่าวคือมูลค่าการส่งออกรองเท้าและชิ้นส่วนมีมูลค่าสูงจัดอยู่ใน 10 อันดับแรกของสินค้าส่งออกที่สำคัญของไทยตั้งแต่ปี 2533 จนถึงในปัจจุบัน ในปี 2533 สัดส่วนมูลค่าการส่งออกรองเท้าและชิ้นส่วนเทียบกับมูลค่าการส่งออกทั้งหมดมีอัตราส่วนร้อยละ 3.4 และขยายตัวเพิ่มขึ้นถึงร้อยละ 3.8 ในปี 2538 แต่อย่างไรก็ตามหากพิจารณาถึงอัตราเพิ่มของมูลค่าการส่ง-ออกสินค้านี้จะเห็นว่า การส่งออกผลิตภัณฑ์รองเท้าและชิ้นส่วนของไทยเริ่มมีอัตราการชะลอตัวอย่างเห็นได้ชัด ในปี 2534 มีอัตราการขยายตัวเพิ่มขึ้นจากปีก่อนเพียงร้อยละ 17.7 ถัดมาในปี 2535 มีอัตราการขยายตัวเพิ่มขึ้นจากปี 2534 เพียงร้อยละ 7.7 เท่านั้น ทั้งนี้เป็นผลสืบเนื่องมาจากภาวะการแข่งขันที่รุนแรง ขณะเดียวกันความได้เปรียบด้านต้นทุนแรงงานของไทยก็เริ่มจะหมดลง และที่สำคัญการกำหนดมาตรการกีดกันทางการค้าของประเทศที่เป็นตลาดสำคัญของไทย อาทิ เช่น สหรัฐอเมริกา และกลุ่มประชาคมยุโรป
พิจารณามูลค่าการส่งออกรองเท้าของไทยแยกตามรายประเภทพบว่า รองเท้ากีฬามีมูลค่าการส่งออกสูงสุดเมื่อเทียบกับรองเท้าประเภทอื่น ๆ ทั้งนี้เนื่องมาจากการผลิตรองเท้ากีฬาของไทยจะเป็นการผลิตโดยรับใบสั่งผลิตจากบริษัท ยกเว้นในปี 1995 รองเท้ายางและรองเท้าพลาสติกมีมูลค่าการส่งออกสูงสุดคือ 22,800 ล้านบาท ซึ่งเป็นปีเดียวที่รองเท้าประเภทนี้มีมูลค่าการส่งออกสูงสุด
สำหรับตลาดการส่งออกรองเท้าและชิ้นส่วนของไทยไปยังประเทศต่าง ๆ พบว่า การส่งออกรองเท้าไปยังประเทศสหรัฐอเมริกามีมูลค่าการส่งออกสูงสุด รองลงมาได้แก่ อังกฤษ และเยอรมัน ตามลำดับ
สหรัฐอเมริกาซึ่งเป็นตลาดที่สำคัญของไทยสามารถแบ่งกลุ่มผู้บริโภคได้ 2 กลุ่มด้วยกันคือ กลุ่มผู้บริโภครองเท้ามียี่ห้อ และกลุ่มผู้บริโภครองเท้าไม่มียี่ห้อ ปัจจุบันการส่งออกรองเท้าและชิ้นส่วนของไทยไปยังตลาดไม่มียี่ห้อเริ่มมีปัญหาการสั่งซื้อลดลง อันเนื่องมาจากผู้บริโภคหันมานิยมบริโภคสินค้ามียี่ห้อมากขึ้น
กลุ่มประชาคมยุโรปจัดได้ว่าเป็นตลาดนำเข้ารองเท้าที่สำคัญของไทยรองมาจากประเทศสหรัฐอเมริกา โดยในปี 2539 ประเทศไทยมีมูลค่าการส่งออกรองเท้า และชิ้นส่วนไปยังกลุ่มประชาคมยุโรปถึง 8,737 ล้านบาท โดยประเทศอังกฤษมีมูลค่าการนำเข้าสูงสุดเท่ากับ 2,755 ล้านบาท รองลงมาได้แก่ เยอรมัน 1,682 ล้านบาท และเบลเยี่ยม 1,539 ล้านบาท ตามลำดับ (ตารางที่ 5)
ลักษณะทั่วไปของตลาดนี้ กลุ่มวัยทำงานจะนิยมใช้รองเท้าหนังเป็นหลัก ส่วนกลุ่มวัยรุ่นจะนิยมรองเท้ากีฬาและรองเท้าผ้าใบมากกว่า ปัจจุบันผลิตภัณฑ์รองเท้าของไทยยังคงเป็นที่ยอมรับจากผู้บริโภคในกลุ่มประชาคมยุโรป ขณะเดียวกันการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างการผลิตและการตลาดของกลุ่มประชาคมยุโรป เช่น การใช้วัตถุดิบราคาถูก และการผลิตที่อยู่ภายในกลุ่มประชาคมยุโรปเอง ทำให้ต้นทุนการผลิตและราคาที่จำหน่ายภายในกลุ่มลดลง อาจจะทำให้ประเทศสมาชิกในกลุ่มหันมาบริโภคสินค้าที่ผลิตได้เองมากกว่าที่จะนำเข้าจากประเทศไทย จะเห็นว่ามูลค่าการส่งออกรองเท้าของไทยไปยังกลุ่มประชาคมยุโรปเริ่มมีแนวโน้มลดลงตั้งแต่ปี 2535 ซึ่งประเทศไทยในฐานะผู้ผลิตจำเป็นต้องมีการปรับปรุงกระบวนการผลิตให้สามารถแข่งขันกับประเทศผู้ผลิตอื่น ๆ ได้
สามารถแบ่งกลุ่มประเทศคู่ค้ารองเท้าของไทยออกเป็น 4 กลุ่มหลักได้แก่ สหรัฐอเมริกา, กลุ่มประชาคมยุโรป, สาธารณรัฐอาหรับอิมิเรต และกลุ่มประเทศอื่น ๆ ในการนี้จะพิจารณาถึงสัดส่วนการส่งออกไปยังกลุ่มประเทศคู่ค้าดังกล่าวพบว่า สัดส่วนการส่งออกรองเท้าของไทยไปยังกลุ่มประชาคมยุโรปและสหรัฐอเมริกามีแนวโน้มสูงขึ้นมาโดยตลอด และเริ่มจะมีแนวโน้มลดลงในปี 2537 และ 2538 ทั้งนี้เนื่องมาจากการส่งออกไปยังประเทศคู่ค้าอื่น ๆ ของไทยเพิ่มมากขึ้นสำหรับประเทศสาธารณรัฐอาหรับอิมิเรตนั้นการส่งออกรองเท้าของไทยมีสัดส่วนการส่งออกเพิ่มสูงขึ้นทุกปี
นโยบายส่งเสริมการส่งออกรองเท้าและชิ้นส่วนของไทย
จากการที่อุตสาหกรรมชนิดนี้มีบทบาทที่สำคัญต่อการส่งออกของไทยในปัจจุบัน ทางภาครัฐบาลได้ให้การสนับสนุนการผลิตเพื่อการส่งออกของอุตสาหกรรมชนิดนี้ในด้านต่าง ๆ เช่น
1. การลดภาษีการนำเข้าวัตถุดิบในการผลิตดังนี้
หนังดิบ อัตราภาษีเดิมร้อยละ 30
อัตราภาษีใหม่ร้อยละ 0
หนังฟอกกึ่งสำเร็จรูป อัตราภาษีเดิมร้อยละ 20
อัตราภาษีใหม่ร้อยละ 5
หนังฟอกสำเร็จรูป อัตราภาษีเดิมร้อยละ 40
อัตราภาษีใหม่ร้อยละ 10
ชิ้นส่วนรองเท้า อัตราภาษีเดิมร้อยละ 30-40
อัตราภาษีใหม่ร้อยละ 10
2. การชดเชยอัตราภาษีสินค้าส่งออกรองเท้าแต่ละประเภท (ภาษีมุมน้ำเงิน) ตั้งแต่วันที่ 27 กรกฎาคม 2532 ในอัตราร้อยละ 0.47 - 0.97
3. มาตราการทางด้านภาษี ภาษีขาออก ใช้มาตราการคืนและชดเชยภาษีขาเข้าวัตถุดิบมาตรา 19 แก่ผู้ส่งออก
4. มาตราการทางการค้า การส่งออก เสรี การนำเข้า เสรี (กรมการค้าต่างประเทศ, 2537)
แนวโน้มในอนาคต
อุตสาหกรรมรองเท้าของไทยเมื่อพิจารณาแยกตามชนิดของผลิตภัณฑ์ จะพบว่ามีความแตกต่างกันบ้างเล็กน้อยในด้านกระบวนการผลิตคือ รองเท้ากีฬามีแนวโน้มที่จะใช้เทคโนโลยีสมัยใหม่ขั้นสูงเพิ่มขึ้น เพื่อเพิ่มความสามารถในการแข่งขันกับประเทศผู้ผลิตอื่น ๆ ในขณะที่รองเท้าบางประเภทกระบวนการผลิตส่วนใหญ่จะใช้แรงงาน เช่น รองเท้าแตะ และรองเท้าหนัง เป็นต้น สำหรับรองเท้าหนังจะแตกต่างจากรองเท้าประเภทอื่น ๆ คือ แรงงานที่ใช้ส่วนใหญ่จะเป็นแรงงานมีฝีมือ (skill labor) ผลิตจากวัตถุดิบคุณภาพดี
จากการสอบถามผู้ประกอบการอุตสาหกรรมประเภทนี้ พบว่าผู้ประกอบการมีความมั่นใจในการผลิตสินค้านี้เพื่อขายในตลาดต่างประเทศ โดยชี้ให้เห็นว่าประเทศไทยยังคงรักษาระดับการส่งออกได้ไม่น้อยกว่าร้อยละ 10 เทียบกับปีที่ผ่านมา เนื่องมาจากแรงงานในประเทศส่วนใหญ่เป็นแรงงานมีฝีมือ ซึ่งมีความชำนาญในการผลิตโดยแรงงานหลักอยู่ที่แผนกเย็บ เมื่อพิจารณาเปรียบเทียบกับค่าจ้างกับประเทศคู่แข่งเช่น อินโดนีเซีย และจีนแล้ว จะเห็นว่าแรงงานของไทยแม้ว่าจะมีค่าจ้างแรงงานที่สูงกว่า แต่ขณะเดียวกันประสิทธิภาพในการผลิตก็สูงขึ้นด้วยเช่นเดียวกัน ส่งผลให้ผลผลิตต่อต้นทุนแรงงานที่ใช้ยังคงได้เปรียบเชิงเปรียบเทียบอีกทั้งจำนวนแรงงานมีฝีมือที่จะรองรับการพัฒนาอุตสาหกรรมประเภทนี้ของไทยยังคงมีอยู่ จึงอาจกล่าวได้ว่าอุตสาหกรรมประเภทนี้ยังมีแนวโน้มที่ดีสำหรับการส่งออกของไทย
(ยังมีต่อ)

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ