บทสรุปภาวะการส่งออกของประเทศไทยเดือน ม.ค.-ต.ค. 2548

ข่าวเศรษฐกิจ Friday December 2, 2005 15:18 —กรมส่งเสริมการส่งออก

1. เศรษฐกิจไทยในปี 2548 คาดว่าจะขยายตัวประมาณร้อยละ 5.25-6.25 ในขณะที่ปี 2547 GDPไทยขยายตัวที่ประมาณร้อยละ 6.3 และปี 2549 คาดว่าจะขยายตัวประมาณร้อยละ 4.25-4.75
2. ประเทศไทยเป็นผู้ส่งออกสำคัญอันดับที่ 23 ของโลก ในปี 2547 มีสัดส่วนการส่งออกประมาณร้อยละ 1.13 ของการส่งออกรวมในตลาดโลก ปี 2546 (ไทยอยู่อันดับที่ 23 สัดส่วนร้อยละ 1.16)
3. ประเทศไทยเป็นผู้นำเข้าสำคัญอันดับที่ 23 ของโลก ของปี 2547 มีสัดส่วนการนำเข้าประมาณร้อยละ 1.66 ของการนำเข้าในตลาดโลก
4. การค้าของไทยในเดือน ม.ค.-ต.ค. 2548 มีมูลค่า 190,783.51 ล้านเหรียญสหรัฐฯ เพิ่มขึ้นร้อยละ 21.04 แยกเป็นการส่งออกมูลค่า 91,595.09 ล้านเหรียญสหรัฐฯ เพิ่มขึ้นร้อยละ 15.26 การนำเข้ามีมูลค่า 99,188.41 ล้านเหรียญสหรัฐฯเพิ่มขึ้นร้อยละ 26.93 ไทยเสียเปรียบดุลการค้า เป็นมูลค่า 7,593.32 ล้านเหรียญสหรัฐฯ
5. กระทรวงพาณิชย์ได้ตั้งเป้าหมายการส่งออกในปี 2548 ที่มูลค่า 115,837 ล้านเหรียญสหรัฐฯ เพิ่มขึ้นร้อยละ 20 การส่งออกเดือน ม.ค.-ต.ค. 2548 มีมูลค่า 91,595.09 ล้านเหรียญสหรัฐฯ เพิ่มขึ้นร้อยละ 15.26 หรือคิดเป็นร้อยละ 79.07 ของเป้าหมายการ ส่งออก คาดว่าจะสามารถส่งออกได้ตามเป้าหมาย
6. สินค้าส่งออกสำคัญ 50 อันดับแรก สัดส่วนรวมกันร้อยละ 83.57 ของมูลค่าการส่งออกเดือน ต.ค. 2548 สินค้าที่มีศักยภาพส่งออกสูง มีดังนี้
- เพิ่มขึ้นมากกว่าร้อยละ 40 มี 2 รายการ คือ รถยนต์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ และผลิตภัณฑ์ข้าวสาลีและอาหารสำเร็จรูปอื่นๆ เพิ่มขึ้นร้อยละ 44.06 และ 43.50 ตามลำดับ
7. ตลาดส่งออกสำคัญ 50 อันดับแรก สัดส่วนรวมกันร้อยละ 95.78 ของมูลค่าการส่งออก เดือน ม.ค.-ต.ค. 2548 ตลาดที่มีมูลค่าการส่งออกเปลี่ยนแปลงสูง มีดังนี้
- เพิ่มขึ้นมากกว่าร้อยละ 100 มี 1 ตลาด ได้แก่ อาร์เจนตินา โดยมีอัตราการขยายตัวร้อยละ 280.30
- เพิ่มขึ้นมากกว่าร้อยละ 50 มี 5 ตลาด ได้แก่ อินเดีย ซาอุดิอาระเบีย ตุรกี นิวซีแลนด์ และสาธารณรัฐเช็ก โดยมีอัตราการขยายตัวร้อยละ 63.23, 54.49,62.03,65.82 และ 66.91 ตามลำดับ
8. การนำเข้า
8.1 สินค้านำเข้ามีสัดส่วนโครงสร้างดังนี้
- สินค้าเชื้อเพลิง สัดส่วนร้อยละ 18.05 เพิ่มขึ้นร้อยละ 67.81
- สินค้าทุน สัดส่วนร้อยละ 28.20 เพิ่มขึ้นร้อยละ 26.93
- สินค้าวัตถุดิบและกึ่งสำเร็จรูป สัดส่วนร้อยละ 42.57 เพิ่มขึ้นร้อยละ 17.88
- สินค้าบริโภค สัดส่วนร้อยละ 6.54 เพิ่มขึ้นร้อยละ 13.87
- สินค้ายานพาหนะและอุปกรณ์ขนส่ง สัดส่วนร้อยละ 3.42 เพิ่มขึ้นร้อยละ 8.90
- สินค้าอื่นๆ สัดส่วนร้อยละ 1.23 เพิ่มขึ้นร้อยละ 49.85
8.2 แหล่งนำเข้าสำคัญ 10 อันดับแรก
มีสัดส่วนรวมกันร้อยละ 68.12 ของมูลค่าการนำเข้าเดือน ต.ค. 2548 ได้แก่ ญี่ปุ่น จีน สหรัฐอเมริกา มาเลเซีย สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ สิงคโปร์ ไต้หวัน ซาอุดีอาระเบีย เกาหลีใต้ และออสเตรเลีย สัดส่วนร้อยละ 21.98, 9.24, 7.23, 6.80, 5.10, 4.47, 3.76, 3.41, 3.29 และ 2.84 โดยมีอัตราการขยายตัวร้อยละ 16.55, 38.85, 19.28, 45.01, 75.13, 26.20, 10.48, 84.43, 7.40 และ 64.89 ตามลำดับ
9. ข้อคิดเห็น
องค์กรเพื่อความร่วมมือและพัฒนาเศรษฐกิจ (OECD) ได้เผยแพร่รายงานภาวะเศรษฐกิจผ่านสำนักข่าวรอยเตอร์เกี่ยวกับภาวะเศรษฐกิจโลกเมื่อวันที่ 29 พฤศจิกายน 2548 โดยคาดว่าในปี 2549 เศรษฐกิจโลกจะขยายตัวแข็งแกร่ง เศรษฐกิจของสมาชิก OECD 30 ชาติอุตสาหกรรมจะเติบโตร้อยละ 2.7 ในปี 2548 และจะขยายตัวเป็นร้อยละ 2.9 ในปี 2549 เศรษฐกิจสหรัฐจะชะลอตัวลงจากร้อยละ 3.6 ในปี 2548 เป็นร้อยละ 3.5 ในปี 2549 เศรษฐกิฐญี่ปุ่น คาดว่าจะขยายตัวลดลง เป็นร้อยละ 2 ในปี 2549 จากร้อยละ 2.4 ในปี 2548 เศรษฐกิจของประเทศในเขตยุโรโซน 12 ประเทศคาดว่าจะขยายตัวเพิ่มเป็นร้อยละ 2.1 ในปี 2549 จากร้อยละ 1.4 ในปี 2548 ส่วนเศรษฐกิจประเทศจีนซึ่งอยู่นอกกลุ่ม OECD คาดว่าจะขยายตัวต่อเนื่องร้อยละ 9 หรือมากกว่านั้นในปี 2549
ส่วนการเจริญเติบโตด้านการค้าในตลาดโลกคาดว่าจะขยายตัวสูงขึ้นร้อยละ 9.2 จากร้อยละ 9.1 ในปี 2548
การที่เศรษฐกิจและการค้าในตลาดโลกขยายตัวย่อมส่งผลดีต่อประเทศไทยในการขยายตลาดการค้าให้กว้างขวางยิ่งขึ้นด้วย
ในภาพรวมการส่งออกของไทยได้มีนักวิเคราะห์ภาคเอกชนโดยเฉพาะ ผู้อำนวยการศูนย์ศึกษาการค้าระหว่างประเทศ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย (ดร.อัทธ์ พิศาลวานิช)ให้ความเห็นว่าการผลักดันการส่งออกให้ถึงเป้าหมายเพิ่มขึ้นร้อยละ 20 มีความเป็นไปได้ยากเพราะมีผลกระทบจากราคาน้ำมัน อัตราดอกเบี้ยที่สูงขึ้นมีผลให้ราคาสินค้าปรับตัวสูงขึ้น ผู้บริโภคจะประหยัดมากขึ้น
ตลาดส่งออก ปัจจุบันไทยมีแนวโน้มพึ่งพาตลาดในเอเซียเพิ่มขึ้นโดยในปี 2544 ไทยมีสัดส่วนการส่งออกไปทวีปเอเซียร้อยละ 54.01 เพิ่มขึ้นเป็นร้อยละ 59.29 ในปี 2547 และปี 2548 จะมีการส่งออกไปทวีปเอเซีย ประมาณร้อยละ 60 เศษ ตลาดส่งออกสำคัญในเอเซียได้แก่ ญี่ปุ่น จีน อินเดีย อาเซียน เกาหลี ไต้หวันและอินโดจีน เป็นต้น
สินค้าส่งออก
- กุ้ง สดแช่เย็นแช่แข็ง เป็นสินค้าส่งออกสำคัญอันดับที่ 25 สัดส่วน 0.85 มูลค่า 782.82 ล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่มขึ้นร้อยละ 22.14 ในช่วง ม.ค.-ต.ค. สินค้านี้มีโอกาสขยายตัวเพิ่มขึ้นสูง ในปี 2549 เนื่องจากได้รับคืนสิทธิพิเศษทางภาษีศุลกากรจากสหภาพยุโรป ส่วนตลาดสหรัฐฯ ซึ่งเป็นตลาดส่งออกหลักถึงแม้จะยังไม่ยกเลิกการเก็บภาษีการทุ่มตลาดแต่ไทยยังได้เปรียบกว่าคู่แข่งขันอีก 5 ประเทศเพราะภาษีที่สหรัฐฯเรียกเก็บจากไทยต่ำกว่าคู่แข่งขันกุ้งจึงเป็นสินค้าที่มีแนวโน้มดีสินค้าหนึ่งในปี 2549
แต่ขณะนี้การส่งออกกุ้งไปตลาดสหรัฐกำลังประสบปัญหาที่สหรัฐกำหนดให้ผู้นำเข้าต้องวางเงินค้ำประกันนำเข้าสินค้าเกษตรและประมงจากต่างประเทศและผู้นำเข้าก็จะผลักดันภาระนี้ให้กับผู้ส่งออกซึ่งผู้ส่งออกของประเทศอื่น เช่น อินเดีย ก็ได้รับผลกระทบนี้เช่นเดียวกัน
ในการนี้ภาคเอกชนได้แจ้งไปยังกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ให้รับทราบเพื่อประสานงานไปยังกระทรวงพาณิชย์พิจารณาดำเนินการแก้ไขปัญหาต่อไป
- รถยนต์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ เป็นสินค้าส่งออกสำคัญอันดับที่ 2 มีสัดส่วนการส่งออกร้อยละ 7.00 มูลค่า 6,414.18 ล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่มขึ้นร้อยละ 44. 06 ในขณะที่เป้าหมายการส่งออกอยู่ที่ 10,574 เพิ่มขึ้นร้อยละ 40.0 จึงคาดว่าสินค้านี้จะสามารถส่งออกได้เกินเป้าหมายการส่งออก
ด้านการผลิตรถยนต์ปี 2548 จะมีปริมาณการผลิตทั้งปีประมาณ 1.15 ล้านคัน จากกำลังการผลิต 1.4 ล้านคันใน 15 โรงงาน 21 ตราสัญญลักษณ์ (Brand) ทำให้ไทยไต่อันดับขึ้นจากการเป็นผู้ผลิตรถยนต์อันดับที่ 15 มาเป็นอันดับที่ 14 ของโลกและขึ้นมาเป็นผู้ส่งออกอันดับที่ 7 จากอันดับที่ 8
ภาครัฐโดยเฉพาะกระทรวงอุตสาหกรรมและภาคเอกชนในอุตสาหกรรมนี้ให้ความเห็นว่าควรมีการพัฒนาเทคโนโลยีการผลิตให้มากยิ่งขึ้นทั้งด้านบุคคลากรวิศวกร เนื่องจากในอนาคตการผลิตรถยนต์จะใช้แรงงานคนน้อยลงแต่จะอาศัยการผลิตด้วยหุ่นยนต์แทน ดังนั้นวิศวกรจะเข้ามามีบทบาทในการควบคุมกระบวนการผลิตมากขึ้น
- เครื่องใช้ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ เป็นสินค้าส่งออกอันดับที่ 13 มีสัดส่วนการส่งออก 2.12 มูลค่า 1,944.83 ล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่มขึ้นร้อยละ 23.56 แนวโน้มการส่งออกสินค้าในกลุ่มนี้จะไม่ค่อยดีนักเนื่องจากจะต้องแข่งขันอย่างรุนแรงกับสินค้าจากจีน ขณะที่ต้นทุนการผลิตในประเทศไทยได้ปรับตัวที่สูงขึ้น จึงเป็นอุตสาหกรรมที่น่าเป็นห่วงซึ่งภาครัฐจะต้องมีมาตรการและแนวทางการส่งเสริมให้อุตสาหกรรมนี้สามารถอยู่ได้
สำหรับอุตสาหกรรมที่มีแนวโน้มเติบโตได้ดีในปี 2549 คือ อุตสาหกรรมรถยนต์และอีเล็กทรอนิกส์ เพราะนักลงทุนจากต่างชาติจะย้ายฐานการผลิตเข้ามามากขึ้นหลังจากที่บีโอไอประกาศสิทธิประโยชน์ฉบับใหม่
ดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรมและผลผลิตพืชหลักในช่วงกันยายน 2548 ขยายตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ 4.9 และ 3 ตามลำดับ ส่วนดัชนีกำลังการผลิตเพิ่มขึ้นจากร้อยละ 70.2 ในเดือนสิงหาคม เป็นร้อยละ 72.8 ในเดือนกันยายน
ผลกระทบต่อเศรษฐกิจการค้าไทยในปี 2549 มีทั้งปัจจัยเสี่ยงและปัจจัยบวก ซึ่งสรุปได้ดังนี้
ปัจจัยเสี่ยง
1. ภาวะเศรษฐกิจโลกชะลอตัวอาจส่งผลกระทบต่อการส่งออกให้ขยายตัวในอัตราที่ลดลงได้ในบางจุดโดยเฉพาะเศรษฐกิจสหรัฐซึ่งเป็นตลาดส่งออกสำคัญ คาดว่าจะขยายตัวร้อยละ 3.0-3.3 ในปี 2549 จากประมาณการร้อยละ 3.6 ในปี 2548 ส่วนจีนคาดว่าจะขยายตัวร้อยละ 8.5-9.0 ในขณะที่ประมาณการปี 2548 ขยายตัวร้อยละ 9.5
2. อัตราดอกเบี้ยอยู่ในขาขึ้นมีผลให้ต้นทุนการผลิตสูงขึ้นและผู้บริโภคอาจจะประหยัดมากขึ้นในบางจุด
3. อัตราเงินเฟ้อคาดว่ายังคงสูงไปถึงครึ่งปีแรกของปี 2549
4. การขาดแคลนวัตถุดิบ ซึ่งภาครัฐต้องให้ความสำคัญในการแสวงหารวมทั้งทบทวนการจัดเก็บภาษีให้เหมาะสมเพื่อเป็นการเพิ่มขีดความสามารถในเชิงแข่งขันกับประเทศคู่แข่งขันในตลาดโลก
5. การแข่งขันในตลาดโลกจะมีความรุนแรงมากขึ้น เช่น สินค้าเกษตร ซึ่งขณะนี้ประเทศจีนได้พัฒนาการผลิตสินค้าข้าว ข้าวโพด และถั่วเขียว และส่งออกตลาดสำคัญของไทย อาทิ ฮ่องกง ญี่ปุ่น และอินเดีย เป็นต้น
6. การขาดแคลนแรงงานในอุตสาหกรรมที่ต้องใช้แรงงานจำนวนมาก (Labour Intensive) เช่น สิ่งทอและอื่นๆ มีผลให้เป็นอุปสรรคต่อการขยายกำลังการผลิต
ปัจจัยบวก
1. ราคาน้ำมันคาดว่ามีแนวโน้มปรับตัวลดลงและมีภาวะผันผวนน้อยลง เนื่องจากกำลังการผลิตน้ำมันในตลาดโลกยังมีถึงเพดานสูงสุด
2. อัตราแลกเปลี่ยน เงินบาทคาดว่าจะมีเสถียรภาพมากขึ้นโดยธนาคารแห่งประเทศไทยจะสามารถควบคุมมิให้ผันผวนมากนัก
3. นักลงทุนจากต่างประเทศยังให้ความสำคัญในการเข้ามาลงทุนเพิ่มขึ้นในอุตสาหกรรมต่างๆ เนื่องจากสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุนได้ประกาศการให้สิทธิประโยชน์ฉบับใหม่ที่เอื้ออำนวยต่อการลงทุน
4. จำนวนนักท่องเที่ยวคาดว่าจะเพิ่มขึ้นจะส่งผลให้ไทยมีรายได้สูงขึ้น
5. สถานการเกี่ยวกับไข้หวัดนกคาดว่าจะคลี่คลายไปในทางที่ดีซึ่งจะส่งผลให้สามารถขยายการส่งออกไก่ได้เพิ่มขึ้น
6. การลงทุนในโครงการต่างๆ ของภาครัฐคาดว่าจะเป็นไปตามเป้าหมาย
7. อัตราเงินเฟ้อในช่วงหลังของปี 2549 คาดว่าจะค่อนข้างคงที่
ข้อเสนอแนะจากภาคเอกชน
1. ส่งเสริมการเจาะขยายตลาดส่งออกสินค้าใหม่ๆ เพิ่มขึ้น เช่น ตลาดรัสเซีย ยุโรปตะวันออก อาเซียน ตลาดเพื่อนบ้านและอื่นๆ ให้มากยิ่งขึ้น
2. ภาครัฐควรมีความรอบคอบในการจัดทำข้อตกลงเขตการค้าเสรีกับประเทศที่กำลังเจรจาโดยเฉพาะสหรัฐ ซึ่งมีทั้งได้ประโยชน์และความเสี่ยง เนื่องจากภาคเอกชนมีความกังวลว่าเอกชนไทยจะได้รับความคุ้มครองไม่เท่าเทียมกันในทุกกรณี
3. ภาครัฐควรส่งเสริมให้นักธุรกิจไทยขยายการลงทุนทั้งด้านธุรกิจการค้าและการผลิตไปยังต่างประเทศที่อุดมไปด้วยวัตถุดิบและมีความพร้อมด้านแรงงานให้มากขึ้น รวมทั้งการเสาะแสวงหาวัตถุดิบในราคาต่ำ
ส่วน ภาพรวมของการเจริญเติบโตเศรษฐกิจไทย ศูนย์วิจัยกสิกรไทยได้พยากรณ์ ดังนี้
รายการ ปี 2548 ปี 2549
การส่งออก 15.3 12.0
การนำเข้า 25.9 12.0
ดุลการค้า (ล้านดอลลาร์) -8,469 -9,485
ดุลบัญชีเดินสะพัด (ล้านดอลลาร์) -3,665 -4,185
ดุลบัญชีเดินสะพัด (% ต่อจีดีพี) -2.1 -2.2
อัตราเงินเฟ้อทั่วไป 4.6 3.8-4.3
อัตราเงินเฟ้อพื้นฐาน 1.6 2.0-2.5
ผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (จีดีพี) 4.2-4.5 4.5-5.0
ที่มา: http://www.depthai.go.th

แท็ก การส่งออก   GDP  

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ