In Focusผู้อพยพแห่เสี่ยงตายข้ามเมดิเตอร์เรเนียน: ปัญหาที่ยังสางไม่ออกในยุโรป

ข่าวต่างประเทศ Wednesday May 27, 2015 14:15 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

ปัญหาผู้อพยพหรือผู้ลี้ภัยกำลังกลับมาอยู่ในความสนใจของผู้คนทั่วโลก เพราะเป็นปัญหาที่มีความเกี่ยวเนื่องโยงใยหลายประเทศ ไม่ใช่ปัญหาของประเทศใดประเทศหนึ่ง หรือทวีปใดทวีปหนึ่ง อีกทั้งปัญหาในแต่ละภูมิภาคก็จะมีมิติ รากเหง้าของปัญหาที่แตกต่างกันออกไป แต่ที่จะพูดถึงในครั้งนี้เกี่ยวข้องกับกลุ่มประเทศที่ถือว่าเป็นประเทศพัฒนาแล้วอย่างยุโรป เพื่อที่พิจารณาดูว่ายุโรปมีแนวทางในการรับมือและแก้ไขกับปัญหานี้อย่างไร ซึ่งก็ไม่ได้หมายความว่าแนวทางที่ยุโรปใช้จะมีความเหมาะสมกับในภูมิภาคอื่นๆ

ประเด็นผู้อพยพที่ลักลอบเดินทางมายังยุโรปได้กลายมาเป็นที่สนใจอีกครั้ง เมื่อเกิดเหตุเรือลักลอบขนผู้ลี้ภัยราว 700 คนล่มลงนอกชายฝั่งของลิเบีย โดยมีผู้รอดชีวิตเพียง 28 รายเมื่อช่วงกลางเดือนเม.ย.ที่ผ่านมา ขณะที่สำนักงานข้าหลวงใหญ่ผู้ลี้ภัยแห่งสหประชาชาติ (UNHCR) ระบุว่า เหตุเรือล่มครั้งนี้อาจเป็นเหตุการณ์สูญเสียครั้งใหญ่ที่สุดของการอพยพลี้ภัยมายังยุโรป

เส้นทางสายมรณะ

ข้อมูลจากองค์การระหว่างประเทศเพื่อการโยกย้ายถิ่นฐาน (IOM) แสดงให้เห็นว่ามีผู้อพยพจำนวนมากขึ้นที่เอาชีวิตมาทิ้งในระหว่างการเดินทางเสี่ยงภัยเพื่อข้ามทะเลเมดิเตอร์เรเนียนมายังยุโรป ขณะที่มีการประเมินกันว่ามีผู้เสียชีวิตไปแล้วกว่า 1,800 รายในปีนี้ เมื่อเทียบจำนวนไม่ถึง 100 รายในช่วงเดียวกันของปีก่อน

IOM คาดว่าจำนวนผู้อพยพที่เสียชีวิตในทะเลเมดิเตอร์เรนียนอาจจะสูงถึง 30,000 รายในปีนี้ หากอัตราการอพยพในปัจจุบันยังคงดำเนินต่อไป

ข้อมูลที่น่าสะพรึงกลัวก็คือการที่ IOM ระบุว่าทะเลเมดิเตอร์เรเนียนเป็นพื้นที่อันตรายที่ผู้อพยพเอาชีวิตมากทิ้งมากที่สุด โดยมีผู้เสียชีวิตคิดเป็นสัดส่วนราว 80% ของการเสียชีวิตของผู้เดินทางลี้ภัยทั่วโลกในปีนี้ และภายในทะเลเมดิเตอร์เรเนียนเอง เส้นทางที่คร่าชีวิตผู้อพยพมากที่สุดก็คือเส้นทางจากแอฟริกาเหนือมายังอิตาลีและมอลตา

ตัวเลขดังกล่าวนับว่าสูงมากเมื่อเทียบกับพื้นที่ที่อันตรายเป็นอันดับ 2 สำหรับผู้อพยพ อย่าง Horn of Africa หรือคาบสมุทรในทางตะวันออกเฉียงเหนือของแอฟริกา ที่มีผู้อพยพเสียชีวิตเป็นสัดส่วน 10%

สถานีต้นทางของการอพยพ

ด้วยสภาพภูมิประเทศของยุโรปที่ใกล้เคียงกับทวีปแอฟริกา ซึ่งมีแค่ทะเลเมดิเตอร์เรเนียคั่นกลาง ประกอบกับความแตกต่างกันอย่างสิ้นเชิงของภาวะเศรษฐกิจและสภาพความเป็นอยู่ของประชาชนในทั้ง 2 ทวีปนี้ จึงไม่ใช่เรื่องน่าแปลกใจที่ยุโรปจะมีความน่าดึงดูดใจสำหรับชาวแอฟริกันที่ต้องการแสวงหาชีวิตใหม่ๆที่ดีกว่าเดิม

นอกจากนี้ สถานการณ์ความขัดแย้งและความวุ่นวายทางการเมืองที่ทวีความรุนแรง โดยเฉพาะอย่างยิ่งในลิเบีย ก็เป็นอีกปัจจัยหนึ่งที่บีบคั้นให้ผู้คนในแอฟริกาต้องพยายามทำทุกวิถีทาง แม้กระทั่งการเสี่ยงกระโจนลงเรือที่แออัดยัดเยียดและมีค่าโดยสารที่ขูดเลือดขูดเนื้อ เพื่อให้ได้เข้ามาไขว่คว้าหาโอกาสในยุโรป

นายกรัฐมนตรีมัตโตโอ เรนซีของอิตาลี กล่าวย้ำว่า ปัญหาของลิเบียต้องได้รับการแก้ไข “จากสาเหตุที่เป็นรากเหง้า" ผู้อพยพกว่า 3,500 รายได้สังเวยชีวิตไปกับความพยายามที่จะข้ามทะเลเมดิเตอร์เรเนียนเมื่อปีที่แล้ว จากบริเวณชายแดนของลิเบียเพื่อเข้ามายังยุโรป โดยยอดผู้เสียชีวิตได้เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องในช่วงต้นปีนี้

นายฟรานเซสโก โทซาโต นักวิเคราะห์จาก Ce.S.I. Centre for International Studies ในกรุงโรมกล่าวว่า “กลุ่มผู้ลักลอบนำผู้อพยพเข้าเมืองได้ทำกำไรมหาศาลจากการเดินทางในลักษณะนี้ โดยคิดราคาหลายพันยูโรต่อผู้อพยพแต่ละราย"

เขาตั้งข้อสังเกตว่าลิเบียกำลังเผชิญปัญหาการมี 2 รัฐสภาที่เป็นอริกัน ซึ่งได้แก่ สภาผู้แทนราษฎรที่ได้รับการยอมรับจากนานาประเทศ และสภาแห่งชาติทั่วไปที่กลุ่มอิสลามให้การสนับสนุน “สถานการณ์ดังกล่าวบานปลายเกินการควบคุม และจำเป็นต้องมีแนวทางแก้ไขอย่างเร่งด่วนเพื่อจัดการประเด็นผู้อพยพ"

นักวิเคราะห์กล่าวว่า ลิเบียต้องการรัฐบาลที่มีความเป็นเอกภาพ ซึ่งจะสามารถปกครองประเทศด้วยกฎหมาย “การทำให้ลิเบียมีเสถียรภาพมากขึ้น ขณะที่ลาดตระเวณทะเลเมดิเตอร์เรเนียนไปควบคู่กัน เป็นเพียงทางเดียวสำหรับกลุ่มประเทศยุโรปที่จะยุติความหายนะจากการอพยพดังกล่าว"

มนุษยธรรม Vs ความมั่นคง

ชะตากรรมที่เลวร้ายของผู้อพยพ ที่ลอยลำมากับเรือเก่าๆที่มีสภาพผุพังด้วยการจัดการของกลุ่มคนที่แสวงหาประโยชน์จากอาชญกรรมการค้าเพื่อนมนุษย์ด้วยกันนั้น ส่งผลให้ทางการ EU ต้องเผชิญกับทางเลือกที่กลืนไม่เข้าคายไม่ออก

ด้านนายมอริซิโอ สคาเลีย อัยการอิตาลีที่อยู่ระหว่างดำเนินการตรวจสอบการเดินทางเข้าเมืองโดยผิดกฎหมายจากลิเบียมายังอิตาลี ระบุว่า มีผู้อพยพจำนวนมากถึง 1 ล้านคนที่พร้อมจะเดินทางออกจากชายฝั่งลิเบีย โดยคาดว่าจะมีการเดินทางกันจำนวนมากในช่วงฤดูร้อน

คลื่นมนุษย์ที่พยายามหลบหนีจากบริเวณชายฝั่งของลิเบียมาทางตอนเหนือเพื่อข้ามทะเลเมดิเตอร์เรนียนมาแสวงหาชีวิตใหม่ในยุโรปนั้น ไม่ใช่เพียงแค่ประเด็นทางด้านมนุษยธรรมเท่านั้น แต่ยังเป็นความท้าทายด้านความมั่นคงที่สำคัญต่อ EU ด้วย ซึ่งก็เป็นสถานการณ์ที่ประเทศอื่นๆที่ประสบปัญหาผู้อพยพต้องเผชิญอยู่เช่นเดียวกัน

เมื่อลิเบียได้กลายเป็นรัฐที่ล้มเหลว และชายฝั่งของลิเบียได้กลายเป็นจุดลงเรือของคลื่นมนุษย์ที่พร้อมจะเอาชีวิตเข้าเสี่ยงเพื่อให้ได้เดินทางมายังยุโรป ประชาชนจำนวนมากมาจากลิเบียเอง ขณะเดียวกันก็มีจำนวนมากที่มาจากภูมิภาคแอฟริกาที่อยู่ทางใต้ของทะเลทรายซาฮารา ซึ่งลักลอบเข้ามายังบริเวณชายฝั่งของลิเบียโดยผ่านการจัดการของเครือข่ายที่โยงใยซับซ้อนและแผ่ขยายอิทธิพลเข้ามาในหลายประเทศใน EU ด้วย

การรวบรวมอำนาจรัฐเพื่อจัดการกับวิกฤตผู้อพยพที่เกิดจากพื้นที่ที่ไร้รัฐบาลที่มีเสถียรภาพนั้น จึงนับเป็นโจทย์หินสำหรับ EU

โควตากระจายความรับผิดชอบ

การเสียชีวิตของผู้อพยพจำนวนมากในท้องทะเลได้จุดกระแสการเรียกร้องให้มีการดำเนินการในด้านมนุษยธรรม ซึ่งตามมาด้วยข้อเสนอในการจัดสรรโควตาในการรับผู้อพยพของบรรดาประเทศสมาชิก EU แต่เพียงแค่เริ่มเสนอ รัฐบาลของหลายประเทศก็ได้แสดงความไม่เห็นด้วยกับแนวคิดในการจัดโควตาดังกล่าวแล้ว

เมื่อกลางเดือนพ.ค.ที่ผ่านมา EU ได้เสนอโควตาผู้อพยพต่อประเทศสมาชิกภายใต้โครงการโควตารับผู้อพยพของ EU โดยคณะกรรมาธิการยุโรป (EC) ได้เสนอว่า EU จะรับผู้อพยพยจำนวน 20,000 คน และจะกระจายผู้อพยพดังกล่าวไปยังประเทศสมาชิกในจำนวนที่เท่าๆกัน

แม้ว่าข้อเสนอนี้จะช่วยผ่อนคลายแรงกดดันที่มีต่ออิตาลี กรีซและมอลตา ซึ่งเป็นประเทศที่มีพื้นที่ชายฝั่งใกล้กับทางตอนเหนือของทวีปแอฟริกาและต้องเป็นด่านหน้าในการรับมือกับกระแสผู้อพยพ แต่อังกฤษได้ออกมาคัดค้านมาตรการนี้

ขณะเดียวกัน คาดว่า EC จะประกาศรายละเอียดเกี่ยวกับแผนที่จะรับมือกับผู้อพยพในวันนี้ (27 พ.ค.)

อย่างไรก็ตาม แนวทางดังกล่าวต้องได้รับความเห็นชอบจากประเทศสมาชิก EU ขณะที่บรรดาผู้นำ EU มีกำหนดจะจัดการประชุมสุดยอดในช่วงปลายเดือนมิ.ย.เพื่อหารือถึงข้อเสนอดังกล่าว

กระแสคัดค้านของสมาชิก EU

แผนการของ EU ที่ใช้ระบบโควตาภาคบังคับกับประเทศสมาชิกในการเฉลี่ยรับผู้อพยพนั้น ได้ก่อให้เกิดกระแสวิพากษ์วิจารณ์จากหลายประเทศ โดยนอกเหนือจากอังกฤษแล้ว ก็ยังรวมถึงฝรั่งเศสและสเปนด้วย

ล่าสุด นางจัสติน กรีนนิง รมว.กระทรวงการพัฒนาระหว่างประเทศของอังกฤษ ได้ออกมาระบุชัดเจนเมื่อวานนี้ว่า รัฐบาลอังกฤษจะไม่ยอมรับแผนการของ EU ที่จะจัดสรรโควตาผู้อพยพชาวแอฟริกันที่เดินทางมายังอิตาลีและกรีซ

นางกรีนนิงเปิดเผยกับบีบีซีว่า อังกฤษจะไม่ยอมรับโควตาภาคบังคับหรือแผนการตั้งถิ่นฐานภาคบังคับ โดยแสดงความวิตกว่า ท้ายที่สุดแล้ว วิธีการดังกล่าวจะเป็นการดึงดูดผู้อพยพที่ต้องเดินทางเข้ามายังยุโรปให้มีจำนวนมากขึ้น

รมว.กระทรวงการพัฒนาระหว่างประเทศของอังกฤษกล่าวว่า คำตอบที่แท้จริงในระยะยาวของปัญหานี้ก็คือการร่วมมือกันของประชาคมโลกเพื่อพัฒนาและยกระดับคุณภาพชีวิตของประชาชนทั่วโลกให้มีความเท่าเทียมกัน ไม่ทอดทิ้งให้ประชาชนในพื้นที่ส่วนใดส่วนหนึ่งของโลกต้องเผชิญกับความล้าหลังและความยากจน

ทางด้านองค์การสหประชาชาติ (UN) ประเมินว่า มีผู้ลี้ภัยจำนวน 60,000 คนพยายามจะเดินทางข้ามทะเลเมดิเตอร์เรเนียนในปีนี้

ขณะเดียวกัน องค์การนิรโทษกรรมสากลเปิดเผยว่า มีผู้ลี้ภัยจำนวนมากอพยพหลบหนีจากความทารุณในลิเบีย และมีผู้ลี้ภัยกว่า 1,800 รายเสียชีวิตในทะเลเมดิเตอร์เรเนียนในปีนี้ ซึ่งเพิ่มขึ้น 20 เท่าจากปี 2557

กองกำลังทางทะลหวังกวาดล้างขบวนการค้ามนุษย์

นอกเหนือจากข้อเสนอเกี่ยวกับโควตาในการรับผู้อพยพนั้น เมื่อวันที่ 18 พ.ค. บรรดารัฐมนตรีต่างประเทศและกลาโหมของ EU ได้อนุมัติแผนการที่จะจัดตั้งกองกำลังทางทะเล เพื่อจัดการกับขบวนการลักลอบค้ามนุษย์ที่ดำเนินการอยู่ในลิเบีย โดยตั้งเป้าที่จะเริ่มปฏิบัติการในเดือนมิ.ย. และจะมีกองบัญชาการอยู่ในกรุงโรม

ทั้งนี้ อังกฤษจะมีบทบาทสำคัญในการร่างมติที่จะระบุหลักการทางกฎหมายสำหรับ EU ในการใช้กองกำลังทางทหารต่อขบวนการค้ามนุษย์

ปฏิบัติการทางทะเลดังกล่าวจะมี 3 ระยะ ซึ่งก็คือ การรวบรวมข่าวกรองเกี่ยวกับกลุ่มลักลอบขนส่งผู้อพยพ การตรวจตราและเฝ้าระวังเรือขนส่งผู้อพยพ และการทำลายเรือดังกล่าว

นางเฟเดอริกา โมเกอรินี ประธานฝ่ายนโยบายต่างประเทศของ EU กล่าวว่า นี่ไม่ใช่การทำลายเรือ แต่เป็นการทำลายรูปแบบทางธุรกิจของขบวนการลักลอบค้ามนุษย์

ที่ผ่านมาการแก้ไขปัญหาผู้อพยพในยุโรปยังเป็นการแก้ที่ปลายเหตุ ไม่ได้จัดการที่ต้นตอแท้จริงกันอย่างจริงจัง ประกอบกับมีกลุ่มคนที่ฉวยประโยชน์จากความเดือดร้อนของเพื่อนมนุษย์ด้วยกัน จึงทำให้ปัญหานี้บานปลายและทวีความรุนแรงมากขึ้น เราคงต้องจับตาดูสถานการณ์และความพยายามในการแก้ไขปัญหาของ EU ว่าจะประสบผลสำเร็จมากน้อยเพียงใด และจะมีการดำเนินมาตรการอื่นๆเพิ่มเติมหรือไม่


แท็ก In Focus:   ยุโรป  

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ