กระทรวงกิจการภายในและการสื่อสารของญี่ปุ่นเปิดเผยในวันนี้ (4 ก.ค.) ว่า การใช้จ่ายภาคครัวเรือนของญี่ปุ่นในเดือนพ.ค. เพิ่มขึ้น 4.7% จากช่วงเดียวกันของปีที่แล้ว โดยครัวเรือนที่มีสมาชิกสองคนขึ้นไปใช้จ่ายเฉลี่ย 316,085 เยน (2,200 ดอลลาร์) ในเดือนดังกล่าว
สำนักข่าวเกียวโดรายงานว่า ตัวเลขการใช้จ่ายภาคครัวเรือนเป็นตัวชี้วัดสำคัญของการบริโภคภาคเอกชน ซึ่งคิดเป็นมากกว่าครึ่งหนึ่งของผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (GDP) ของญี่ปุ่น
ขณะเดียวกัน แนวโน้มการบริโภคและค่าจ้างเป็นหนึ่งในปัจจัยหลักที่ธนาคารกลางญี่ปุ่น (BOJ) กำลังจับตามองเพื่อวัดความแข็งแกร่งทางเศรษฐกิจ และตัดสินใจว่าจะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยเมื่อใด
สมาพันธ์สหภาพแรงงานญี่ปุ่น (Rengo) ซึ่งเป็นกลุ่มสหภาพแรงงานใหญ่ที่สุดของญี่ปุ่น เปิดเผยเมื่อวานนี้ว่า บริษัทต่าง ๆ ของญี่ปุ่นตกลงจะปรับขึ้นค่าจ้าง 5.25% ในปีนี้ ซึ่งถือเป็นการปรับขึ้นค่าจ้างครั้งใหญ่ที่สุดในรอบ 34 ปี โดยการขึ้นค่าจ้างถูกมองว่ามีความจำเป็นเพื่อช่วยประชาชนรับมือกับค่าครองชีพที่พุ่งสูงขึ้นอย่างรวดเร็วอันเนื่องมาจากภาวะเงินเฟ้อ
อย่างไรก็ตาม ผู้กำหนดนโยบายและนักวิเคราะห์แสดงความกังวลว่า ความตึงเครียดด้านการค้าโลกที่เกิดจากนโยบายภาษีศุลกากรของประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ผู้นำสหรัฐฯ อาจส่งผลกระทบต่อทิศทางการปรับขึ้นค่าจ้าง และทำให้ความพยายามของ BOJ ในการปรับนโยบายการเงินกลับสู่ระดับที่เป็นกลางนั้นมีความซับซ้อนมากขึ้น