รัฐบาลควรวางมาตรการการขายนมบูดให้กับโรงเรียน ที่รัฐสภา วันที่ 25 กรกฎาคม 2544 นายตรีพล เจาะจิตต์ ที่ปรึกษา คณะกรรมาธิการการเกษตรและสหกรณ์ สภาผู้แทนราษฎร แถลงภายหลังการประชุมว่า ที่ประชุมได้หยิบบกปัญหาโครงการอาหารเสริมนมโรงเรียนหรือนมโรงเรียนขึ้นมาพิจารณา โดยเชิญหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง อาทิ อธิบดีกรมการปกครอง องค์การส่งเสริมกิจการโคนมแห่งประเทศไทยกรมปศุสัตว์ และตัวแทนผู้ประกอบการนมโรงเรียน 79 บริษัท มาชี้แจง พบว่านมโรงเรียนมีปัญหามาโดยตลอด โดยกรมปศุสัตว์ได้ยืนยันว่ามีการนำนมผงมาละลายน้ำให้เด็กกิน ซึ่งถือว่าเป็นการปลอมปนอยู่จำนวนมาก โดยเฉพาะในภาคเหนือมีถึง 29 เปอร์เซ็นต์ ภาคอีสาน 25-30 เปอร์เซ็นต์ และภาคใต้ 20 เปอร์เซ็นต์ โดยการปลอมปนดังกล่าวส่วนใหญ่ จะเป็นนมของสหกรณ์โคนมต่าง ๆ นายตรีพลกล่าวเพิ่มเติมว่า ที่ประชุมกรรมาธิการฯ ได้มีมติร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องและผู้ประกอบการทั้ง 79 ราย เพื่อเสนอต่อรัฐบาล ซึ่งเป็นแนวทางแก้ไขคือ 1. ควรกำหนดให้นมโรงเรียนต้องผลิตจากนมสด 100 เปอร์เซ็นต์ และมีสลากติดว่าเป็นนมโรงเรียน2. ต้องกำหนดพื้นที่การประมูลของแต่ละบริษัทให้ชัดเจนเพื่อส่งเสริมให้บริษัทเล็ก ๆ ได้มีส่วนทำธุรกิจนี้ด้วย 3. กำหนดโควต้าในการเซ็นสัญญาของแต่ละบริษัทให้ชัดเจน 4. เนื่องจากมีการทุจริตจาก อบต. เกือบทุกภาคจึงขอเสนอให้รัฐบาลดึงงบประมาณเกี่ยวกับการจัดซื้อนมโรงเรียนทั่วประเทศในปี 2545 จำนวน 7,900 ล้านบาท มาบริหารเองโดยการจัดซื้อแต่ละแห่งจะต้อง ผ่านความเห็นชอบจาก อบต. ว่าควรซื้อนมจากที่ใดก่อน 5. ตั้งคณะกรรมการระดับจังหวัดขึ้นมาตรวจสอบนมโรงเรียนเพราะที่ผ่านมามีแต่คณะกรรมการตรวจรับซึ่งเป็นชาวบ้านในพื้นที่ ทำให้เกิดความเกรงใจกัน และ 6. ทางกรรมาธิการฯ จะตั้งคณะอนุกรรมการเพื่อติดตามเรื่องดังกล่าวเป็นระยะ และเห็นว่ารัฐบาลควรเร่งออกพระราชบัญญัติสภานมโดยเร็วเพื่อเป็นการแก้ไขปัญหาเกี่ยวกับผลิตภัณฑ์นมอย่างครบวงจรเป็นการถาวร ...................................