บันทึกการประชุมวุฒิสภา ครั้งที่ ๓๗ (สมัยสามัญนิติบัญญัติ)

ข่าวการเมือง Tuesday November 27, 2001 11:04 —รัฐสภา

                                บันทึกการประชุมวุฒิสภา
ครั้งที่ ๓๗ (สมัยสามัญนิติบัญญัติ)
วันศุกร์ที่ ๒๓ พฤศจิกายน ๒๕๔๔
ณ ตึกรัฐสภา
เริ่มประชุมเวลา ๐๙.๓๕ นาฬิกา
เมื่อสมาชิกฯ มาครบองค์ประชุมแล้ว พลตรี มนูญกฤต รูปขจร ประธานวุฒิสภา
นายพิเชฐ พัฒนโชติ รองประธานวุฒิสภาคนที่หนึ่ง และนายบุญทัน ดอกไธสง รองประธานวุฒิสภา
คนที่สอง ขึ้นบัลลังก์
ประธานวุฒิสภาได้กล่าวเปิดประชุม แล้วแจ้งให้ที่ประชุมรับทราบเรื่องต่าง ๆ ดังนี้
๑. รายงานการเงินของแผ่นดินประจำปีงบประมาณ พ.ศ. ๒๕๔๒
อนึ่ง ที่ประชุมได้พิจารณารายงานการพิจารณาศึกษาผลการตรวจสอบรายงาน
การเงินของแผ่นดินประจำปีงบประมาณ พ.ศ. ๒๕๔๒ ของคณะกรรมาธิการการงบประมาณ
วุฒิสภา ซึ่งเสนอต่อที่ประชุมเพื่อประกอบการพิจารณาการรับทราบรายงานการเงินของแผ่นดินฯ
ดังกล่าว และมีมติเห็นด้วยในหลักการกับข้อสังเกตของคณะกรรมาธิการ ตามที่ที่ประชุมมอบหมาย
ให้คณะกรรมาธิการไปปรับปรุงใหม่เพื่อส่งไปยังคณะรัฐมนตรีและสำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน
เพื่อพิจารณาดำเนินการต่อไป ตามข้อบังคับฯ ข้อ ๙๑
๒. รายงานสรุปผลของคณะกรรมาธิการการคมนาคม วุฒิสภา เรื่อง การบริหาร
งานประมูลก่อสร้างอาคารสนามบินสุวรรณภูมิ
๓. คณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาร่างข้อบังคับว่าด้วยประมวลจริยธรรมของ
สมาชิกวุฒิสภาและกรรมาธิการ พ.ศ. …. ได้ขอขยายเวลาการพิจารณาเรื่องดังกล่าวออกไป
อีก ๓๐ วัน นับแต่วันที่ ๑๙ พฤศจิกายน ๒๕๔๔ ซึ่งเป็นการขอขยายเวลาในสมัยประชุม
สามัญนิติบัญญัติ ประธานวุฒิสภาจึงอนุญาตให้ขยายเวลาได้ตามที่ขอมา ตามข้อบังคับฯ
ข้อ ๙๒ วรรคสอง
จากนั้น ประธานวุฒิสภาได้ปรึกษาที่ประชุมเพื่อขอนำเรื่อง คณะกรรมาธิการ
วิสามัญพิจารณาร่างพระราชบัญญัติขายตรงและตลาดแบบตรง พ.ศ. …. และคณะกรรมาธิการ
วิสามัญพิจารณาร่างพระราชบัญญัติธุรกิจนำเที่ยวและมัคคุเทศก์ (ฉบับที่ ..) พ.ศ. ….
ขอขยายเวลาการพิจารณาร่างพระราชบัญญัติดังกล่าว ออกไปเป็นกรณีพิเศษ อีก ๓๐ วัน
ตามรัฐธรรมนูญฯ มาตรา ๑๗๔ ขึ้นมาพิจารณาก่อน ซึ่งที่ประชุมมีมติเห็นชอบและมีมติ
ให้ขยายเวลาการพิจารณาร่างพระราชบัญญัติทั้ง ๒ ฉบับดังกล่าวได้ตามที่คณะกรรมาธิการ
วิสามัญฯ ร้องขอ
ต่อมา ประธานวุฒิสภาแจ้งให้ที่ประชุมทราบว่า ได้รับหนังสือจากประธาน
สภาผู้แทนราษฎรว่า ในการประชุมสภาผู้แทนราษฎรเมื่อวันพุธที่ ๒๑ พฤศจิกายน ๒๕๔๔
ที่ประชุมได้พิจารณาและลงมติไม่เห็นชอบด้วยกับร่างพระราชบัญญัติคุ้มครองการดำเนินงาน
ขององค์การห้ามอาวุธเคมี พ.ศ. …. ซึ่งคณะกรรมาธิการร่วมกันพิจารณาเสร็จแล้ว จึงถือว่า
ร่างพระราชบัญญัติฉบับนี้ถูกยับยั้งไว้ ตามรัฐธรรมนูญฯ มาตรา ๑๗๕ (๓) แต่เนื่องจาก
ร่างพระราชบัญญัติดังกล่าวเป็นร่างพระราชบัญญัติเกี่ยวด้วยการเงิน สภาผู้แทนราษฎรจึงได้
ยกร่างพระราชบัญญัตินี้ขึ้นพิจารณาใหม่ทันที แล้วลงมติยืนยันตามร่างเดิมด้วยคะแนนเสียง
มากกว่ากึ่งหนึ่งของจำนวนสมาชิกทั้งหมดเท่าที่มีอยู่ของสภาผู้แทนราษฎร จึงถือว่า
ร่างพระราชบัญญัติดังกล่าวได้รับความเห็นชอบของรัฐสภา ตามรัฐธรรมนูญฯ มาตรา ๑๗๖
จากนั้น รองประธานวุฒิสภาคนที่หนึ่ง และรองประธานวุฒิสภาคนที่สอง
ได้ผลัดเปลี่ยนกันเป็นประธานของที่ประชุม โดยประธานของที่ประชุมได้ปรึกษาที่ประชุม
เพื่อขอนำเรื่องด่วน ลำดับที่ ๓ ขึ้นมาพิจารณาก่อน ซึ่งที่ประชุมมีมติเห็นชอบ ประธานของ
ที่ประชุมจึงเสนอให้ที่ประชุมพิจารณาเรื่องด่วน ดังนี้
๑. ร่างพระราชบัญญัติคุ้มครองการดำเนินงานขององค์การห้ามอาวุธเคมี
พ.ศ. …. ซึ่งคณะกรรมาธิการร่วมกันพิจารณาเสร็จแล้ว เมื่อคณะกรรมาธิการฯ แถลงรายงาน
และมีสมาชิกฯ อภิปรายแล้ว ที่ประชุมเห็นว่ากรณีที่สภาผู้แทนราษฎรได้พิจารณาและลงมติ
ไม่เห็นชอบด้วยร่างพระราชบัญญัติฉบับนี้ และได้ยกร่างพระราชบัญญัตินี้ขึ้นพิจารณาใหม่ทันที
แล้วลงมติยืนยันตามร่างเดิมด้วยคะแนนเสียงมากกว่ากึ่งหนึ่งของจำนวนสมาชิกทั้งหมดเท่าที่
มีอยู่ของสภาผู้แทนราษฎร ตามรัฐธรรมนูญฯ มาตรา ๑๗๖ โดยที่วุฒิสภายังไม่ได้พิจารณา
ร่างพระราชบัญญัติดังกล่าวตามที่คณะกรรมาธิการร่วมกันเสนอมา ตามรัฐธรรมนูญ ฯ
มาตรา ๑๗๕ (๓) นั้น เป็นกรณีมีปัญหาเกี่ยวกับอำนาจหน้าที่ของวุฒิสภาตามมาตรา ๒๖๖
และมีมติให้เสนอเรื่องพร้อมทั้งความเห็นต่อศาลรัฐธรรมนูญเพื่อพิจารณาวินิจฉัยต่อไป
๒. ร่างพระราชบัญญัติระเบียบข้าราชการฝ่ายอัยการ (ฉบับที่ ..) พ.ศ. ….
ซึ่งคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาเสร็จแล้ว ที่ประชุมได้พิจารณาในวาระที่ ๒ เริ่มต้นด้วย
ชื่อร่าง คำปรารภ แล้วเรียงตามลำดับมาตราจนจบร่าง และลงมติในวาระที่ ๓ ให้แก้ไขเพิ่มเติม
เลิกประชุมเวลา ๑๖.๒๐ นาฬิกา
(ลายเซ็น)
(นายจำนงค์ สวมประคำ)
เลขาธิการวุฒิสภา
สรุปผลการพิจารณาร่างพระราชบัญญัติ
ให้แก้ไขเพิ่มเติมร่างพระราชบัญญัติ จำนวน ๑ ฉบับ คือ
- ร่างพระราชบัญญัติระเบียบข้าราชการฝ่ายอัยการ (ฉบับที่ ..) พ.ศ. ….
กลุ่มงานรายงานการประชุม
สำนักการประชุม
โทร. ๐ ๒๒๔๔ ๑๕๖๘
โทรสาร ๐ ๒๒๔๔ ๑๕๖๖

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ