สรุปการประชุมสภาผู้แทนราษฎรวันพฤหัสบดีที่ ๓ พฤศจิกายน ๒๕๔๘

ข่าวการเมือง Friday November 4, 2005 10:23 —รัฐสภา

                    การประชุมสภาผู้แทนราษฎร ชุดที่ ๒๒ ปีที่ ๑ ครั้งที่ ๒๓ (สมัยสามัญนิติบัญญัติ)                วันพฤหัสบดีที่ ๓ พฤศจิกายน ๒๕๔๘ เริ่มขึ้นเมื่อเวลา ๑๐.๒๗ นาฬิกา โดยมีนายสุชาติ  ตันเจริญ              รองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่หนึ่ง เป็นประธานการประชุม เมื่อครบองค์ประชุมประธาน                    ได้ดำเนินการประชุมตามระเบียบวาระ ดังนี้ 
๑. กระทู้ถาม ไม่มี
๒. เรื่องที่ประธานจะแจ้งต่อที่ประชุม
๒.๑ รับทราบงบการเงิน ประจำปีสิ้นสุดวันที่ ๓๐ กันยายน ๒๕๔๕ ของ
สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ ซึ่งมีสมาชิกฯ อภิปรายสอบถาม ในหลายประเด็น คือ
- กรณีรายได้ของสำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปราม
การทุจริตแห่งชาติ ในหน้า ๓ ขอสรุปรายงานฉบับนี้ ในหมวดการบริจาค
จำนวน ๘๖,๐๐๐ บาท เงินจำนวนนี้มาจากที่ไหน
- ได้ดำเนินการอะไรบ้าง เพียงใด สำหรับนโยบายการป้องกันและ
ปราบปรามการทุจริตทั้งในภาครัฐ เอกชน และรัฐวิสาหกิจ
- ปัจจุบันมีคดีที่ ปปช. ยังพิจารณาไม่เสร็จจำนวนเท่าไร และคดีที่พิจารณาเสร็จแล้วเฉลี่ยจำนวนเท่าใดต่อปี
- ปปช. ได้ทำการประเมินประสิทธิภาพการดำเนินงานกับความคุ้มค่ากับการทำคดีหรือไม่
- มีการสนับสนุนให้มีการศึกษาวิจัยและเผยแพร่ความรู้เกี่ยวกับการทุจริตในวงราชการไว้หรือไม่
- มีการวิจัยเกี่ยวกับการทุจริตในองค์กรที่เกิดขึ้นใหม่ตามรัฐธรรมนูญ เช่น องค์การปกครองส่วนท้องถิ่น เป็นต้น ไว้บ้างหรือไม่
- งบประมาณในหน้า ๓ เป็นงบเพื่ออะไร และมาจากไหน
- การตรวจสอบบัญชีหนี้สินและทรัพย์สินมีเท่าใด ในทุกประเภทบุคคลและข้าราชการทั่ว ๆ ไป เคยพบว่ามีการยื่นบัญชีไม่ถูกต้องหรือไม่
นอกจากนี้ยังมีสมาชิกฝากข้อสังเกตไปยังรัฐบาลขอให้สนับสนุนเงินงบประมาณ เพื่อให้การดำเนินงานของ ปปช. มีประสิทธิภาพมากขึ้นใน ๓ ส่วน คือ
- การบรรจุแต่งตั้งบุคลากรเพิ่มมากขึ้น เพราะปัจจุบันมีบุคลากรเพียง ๔๐๐ กว่าคนเศษ ซึ่งไม่เพียงพอต่อจำนวนคดีที่เพิ่มขึ้นและภารกิจที่ ปปช. รับไว้พิจารณา
- เบี้ยเลี้ยงการเดินทางตรวจสอบในทางลับ โดยเฉพาะการเดินทางไป ต่างจังหวัด ซึ่งปัจจุบันได้รับประมาณ ๓๐๐ บาทต่อวัน ซึ่งไม่สอดคล้องกับสภาวะเศรษฐกิจในปัจจุบัน
- การจัดสร้างสำนักงาน ปปช.
ต่อมาเลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ ได้ตอบคำถาม คือ
- เงินรายได้ ๘๖,๐๐๐ บาท ได้รับบริจาคการกีฬาแห่งประเทศไทย ให้ไว้เพื่อการจัดการแข่งขันกีฬา ระหว่างข้าราชการพลเรือนกับข้าราชการ ปปช. ซึ่งหน่วยงานอื่น ๆ จะได้รับเงินลักษณะนี้เช่นกัน
- การระบุถึงวัตถุประสงค์และภารกิจไว้ในรายงานฉบับนี้ เพื่อให้สภาผู้แทนราษฎรได้รับทราบถึงการใช้เงินงบประมาณไปในทางใดบ้าง
- ณ เดือนกันยายน ๒๕๔๘ มีคดีค้างอยู่ ๘,๖๐๓ เรื่อง เหตุที่ค้างมาก เพราะคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ปปช.) หยุดปฏิบัติหน้าที่ และลาออกไป แต่ในระหว่างรอคณะกรรมการ ปปช. ชุดใหม่นี้ เจ้าหน้าที่ได้จัดทำสำนวนคดีรอไว้ จำนวน ๒,๕๐๐ เรื่อง ในขณะนี้ด้านการตรวจสอบบัญชีได้ดำเนินการไปแล้ว ๔,๐๐๐ บัญชี การไต่สวนข้อเท็จจริง จำนวน ๑,๒๐๐ คดีต่อปี
- การเปรียบเทียบความคุ้มค่าในประสิทธิภาพการดำเนินงานของ ปปช. นั้น จะมีความคุ้มค่าทางเปรียบเทียบกับการปราบปรามการทุจริต แต่หากเปรียบเทียบในเชิงเม็ดเงินจะดูว่าไม่คุ้มค่า เพราะการพิจารณา ไต่สวนจะตั้งคณะอนุกรรมการพิจารณาไต่สวน ซึ่งอนุกรรมการจะได้ เบี้ยประชุมมากน้อยแตกต่างกันไปตามจำนวนคณะอนุกรรมการ แต่ละคณะ
- การจัดทำโครงการวิจัยเกี่ยวกับการทุจริตองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นได้ดำเนินการวิจัยแล้ว และจะดำเนินการต่อไปเรื่อย ๆ รวมถึงองค์กรอิสระอื่น ๆ ด้วย
- ส่วนงบเพื่อการวิจัยหน้า ๓ ในสรุปรายงานฉบับนี้เป็นงบเพื่อการวิจัย ทั้งหมด ซึ่งงบบางส่วนได้รับความสนับสนุนจาก TDRI
- การตรวจสอบข้าราชการทั่ว ๆ ไป นอกเหนือจาก กพ. กร. องค์กร ปกครองส่วนท้องถิ่น เคยพบการยื่นบัญชีไม่ถูกต้องอยู่เช่นกัน เหมือนกับผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองเช่นเดียวกัน และได้ใช้มาตรฐานการ ตรวจสอบเดียวกันทุกประเภทบุคคล
๒.๒ รับทราบเรื่องนโยบายการตรวจเงินแผ่นดิน (พ.ศ. ๒๕๔๘ - ๒๕๕๓) ของ
คณะกรรมการตรวจเงินแผ่นดิน (เรื่องตามระเบียบวาระหมายเลข ๒.๑-๒.๒ ค้างมาจากการประชุมสภาผู้แทนราษฎร ชุดที่ ๒๒ ปีที่ ๑ ครั้งที่ ๑ (สมัยสามัญนิติบัญญัติ) วันพุธที่ ๒๔ สิงหาคม ๒๕๔๘) ซึ่งสมาชิกฯ อภิปรายสอบถามในหลายประเด็น คือ
- มีการเข้าไปตรวจสอบการทุจริตการก่อสร้างสนามบินสุวรรณภูมิมากน้อยเพียงใด
- มีการเข้าไปตรวจสอบการทุจริตในองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นหรือไม่ อย่างไร
- มีการปรับปรุงโครงสร้างเพื่อรองรับการตรวจสอบการทุจริตที่มีปริมาณเพิ่มขึ้นหรือไม่
- มีแนวทางในการแก้ไขปัญหา คตง. เรื่อง ผู้ตรวจการแผ่นดิน กรณี คุณหญิงจารุวรรณ ไว้อย่างไร มีการวางแผนรองรับผลกระทบภาวะปัญหาภายในไว้หรือไม่
- การจัดทำสรุปรายงานฉบับนี้ขาดความรอบคอบ
- คตง. มีการปรับปรุงประสิทธิภาพการประสานงานกับหน่วยงานภายนอกไว้อย่างไร เพราะต้องมีการประสานงานกับหน่วยงานอื่น ๆ จึงจะก่อให้เกิดประสิทธิภาพการดำเนินงานสูงสุด
- มีการวางระบบการตรวจสอบการทุจริตไว้อย่างไรที่จะให้ทันต่อพัฒนาการของการทุจริตรุดหน้าไปอย่างรวดเร็ว
- ในอำนาจหน้าที่ของ คตง. เรื่องการตรวจเงินแผ่นดินนั้นได้มีการสอบ ข้อบกพร่องในเรื่องของการตรวจเงินแผ่นดินไว้หรือไม่ และมีอะไรบ้าง
- ตรวจสอบแล้วพบการทุจริตอะไรบ้าง
จากนั้นคณะกรรมการตรวจเงินแผ่นดินได้ตอบชี้แจงดังนี้
- เรื่องของคุณหญิงจารุวรรณ เมณฑกา เกิดขึ้นก่อนคณะกรรมการชุดนี้ จะเข้ามารับหน้าที่ ดังนั้นการดำเนินการทุกอย่างต้องเป็นไปด้วยความรอบคอบและระมัดระวังสูงสุด
- คณะกรรมการตรวจเงินแผ่นดินขอยืนยันว่าจะทำหน้าที่ให้ดีที่สุด เพื่อเป็นที่พึ่งของประชาชน และไม่ให้ผู้ใดมีอิทธิพลครอบงำ คตง. ได้ เพราะ คตง. ได้รับฉันทานุมัติจากวุฒิสภาให้เข้ามาปฏิบัติหน้าที่
โดยสมาชิกฯ ได้ฝากข้อเสนอแนะให้แก่ คตง. ดังนี้
- ควรมีการปกป้องผู้ให้ข้อมูล ข้อเท็จจริง สำหรับการตรวจสอบอย่างจริงจังด้วย
- ควรมีการจัดทำรางวัลให้ผู้ที่ให้ความร่วมมือกับการดำเนินงานของ คตง.
- ควรมีการพัฒนาประสิทธิภาพการประชาสัมพันธ์และการสื่อสารที่มี ปฏิสัมพันธ์ ๒ ทาง ระหว่างองค์กร หน่วยงาน ปปช. กับ คตง. ให้มากขึ้น
- ควรสนับสนุนให้ ปปช. สนใจเข้าให้ข้อมูลเพื่อการตรวจสอบของ คตง. ให้มากขึ้น
ต่อจากนั้นประธานการประชุมได้ดำเนินการประชุมตามระเบียบวาระกระทู้ถาม ตามลำดับคือ
กระทู้ถามสด จำนวน ๓ เรื่อง
๑. กระทู้ถามสดของนายนิพิฏฐ์ อินทรสมบัติ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดพัทลุง
พรรคประชาธิปัตย์ เป็นผู้ตั้งกระทู้ถาม เรื่อง ความชอบธรรมและความเป็นธรรมในการบริหารราชการแผ่นดิน ถามนายกรัฐมนตรี ซึ่งรัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี (นายสุรนันทน์ เวชชาชีวะ) ได้รับมอบหมายให้ตอบกระทู้ว่า ตามที่นายกรัฐมนตรีกล่าวที่จังหวัดนครสวรรค์ เมื่อวันที่ ๓๑ ตุลาคม ๒๕๔๘ ว่า ผมตรงไปตรงมา ไม่อ้อมค้อม จังหวัดไหนมอบความไว้วางใจให้ เราต้องดูและเป็นพิเศษ และจังหวัดไหนที่ไว้ใจเราน้อยต้องเอาไว้ทีหลัง นั้น มิได้หมายความว่านายกรัฐมนตรีจะดูแลเฉพาะ บางจังหวัดเท่านั้น แต่จะดูแลทุกจังหวัดเหมือนกัน เพียงแต่บางจังหวัดที่มีสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร พรรคไทยรักไทยอยู่อาจจะสามารถรับฟังปัญหาได้สะดวก รวดเร็วกว่าบางจังหวัด อย่างไรก็ตามจะยึดหลักการบริหารที่ให้มีความเสมอภาคกันทั้งประเทศ
๒. กระทู้ถามสดของนายก่อเกียรติ สิริยะเสถียร สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัด
นครปฐม พรรคไทยรักไทย เป็นผู้ตั้งกระทู้ถาม เรื่อง มาตรการการแก้ไขปัญหาความเดือดร้อนในการใช้น้ำบาดาล ถามรัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ซึ่งรัฐมนตรีว่าการ
กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (นายยงยุทธ ติยะไพรัช) ได้ตอบกระทู้ว่า คณะรัฐมนตรี มีมติห้ามใช้น้ำบาดาล และสั่งปิดบ่อบาดาล ยกเว้นเขตที่น้ำประปาไปไม่ถึง ซึ่งเขตวิกฤติที่ห้ามใช้ น้ำบาดาลโดยเด็ดขาด มี ๗ จังหวัด
๓. กระทู้ถามสดของนายชูวิทย์ กมลวิศิษฎ์ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร แบบบัญชี
รายชื่อ พรรคชาติไทย เป็นผู้ตั้งกระทู้ถาม เรื่อง การให้สัมภาษณ์ของนายกรัฐมนตรี กรณีที่จะใช้ งบประมาณพัฒนาพื้นที่ที่มีสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรพรรคไทยรักไทย ถามนายกรัฐมนตรี ซึ่งรัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี (นายสุรนันทน์ เวชชาชีวะ) ได้รับมอบหมายให้ตอบกระทู้ว่า นายกรัฐมนตรีดำเนินนโยบายการบริหารประเทศบนพื้นฐานการบูรณาการ เพื่อความเป็นธรรมทุกพื้นที่ สร้างโอกาสให้ทุกพื้นที่ได้รับการพัฒนาเท่าเทียมกัน ไม่มีการเลือกปฏิบัติ
กระทู้ถามทั่วไป จำนวน ๔ เรื่อง
๑. กระทู้ถามของนายวัฒนา เซ่งไพเราะ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรกรุงเทพมหานคร
พรรคไทยรักไทย เป็นผู้ตั้งกระทู้ถาม เรื่อง การจัดสรรงบประมาณเพื่อกิจกรรมราษฎรอาสาพัฒนาชาติ ถามนายกรัฐมนตรี ซึ่งรัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี (นายสุรนันทน์ เวชชาชีวะ) ได้รับมอบหมายให้ตอบกระทู้ว่า นายกรัฐมนตรีมีนโยบายจัดสรรงบประมาณเพื่อราษฎรอาสาไว้ภายใต้งบประมาณของกระทรวงพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ กว่า ๓๕ ล้านบาท เพื่อการศึกษา อบรม สัมมนา ไว้ให้ทุกกลุ่มชุมชนทุกระดับอยู่แล้ว และมีการประสานงานการทำงานร่วมกันขององค์กรปกครอง ส่วนท้องถิ่นด้วย เช่น การทำงานกับ กทม.
๒. กระทู้ถามของนายสุรชาติ ชำนาญศิลป์ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดอุดรธานี
พรรคไทยรักไทย เป็นผู้ตั้งกระทู้ถาม นโยบายเงินช่วยเหลือค่าตอบแทนให้กลุ่มพลังต่าง ๆ ที่ช่วยเหลือภาครัฐ ถามรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง เนื่องจากผู้ตั้งกระทู้ถามได้รับการชี้แจงเป็นที่พอใจแล้ว จึงไม่ติดใจที่จะถาม ซึ่งกระทำได้ตามข้อบังคับการประชุมสภาผู้แทนราษฎร พ.ศ. ๒๕๔๔ ข้อ ๑๓๕
๓. กระทู้ถามของนายสุรวิทย์ คนสมบูรณ์ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดชัยภูมิ
พรรคไทยรักไทย เป็นผู้ตั้งกระทู้ถาม เรื่อง การยกฐานะสถานีอนามัยขนาดใหญ่ขึ้นเป็นโรงพยาบาล ถามรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข แต่เนื่องจากผู้ตั้งกระทู้ถามได้มีหนังสือแจ้งความประสงค์ ขอถอนกระทู้ถามดังกล่าว ซึ่งกระทำได้ตามข้อบังคับการประชุมสภาผู้แทนราษฎร พ.ศ. ๒๕๔๔ ข้อ ๑๓๕
๔. กระทู้ถามของนายนคร มาฉิม สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดพิษณุโลก พรรค
ประชาธิปัตย์ เป็นผู้ตั้งกระทู้ถาม เรื่อง ปัญหาราคาสินค้าเกษตรมีราคาตกต่ำ ถามรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ เนื่องจากผู้ตั้งกระทู้ถามได้รับหนังสือการตอบชี้แจง แต่ยังมีข้อสงสัยเพิ่มเติม จึงขอให้รัฐมนตรีตอบชี้แจงเป็นหนังสืออีกครั้ง
ปิดประชุมเวลา ๑๕.๑๖ นาฬิกา

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ