1. กรอบท่าทีไทยในการประชุมรัฐมนตรีองค์การการค้าโลก ครั้งที่ 4 คณะรัฐมนตรีได้ให้ความเห็นชอบกรอบท่าทีไทยสำหรับเข้าร่วมประชุมระดับรัฐมนตรี องค์การการค้าโลก ครั้งที่ 4 ในวันที่ 9-13 พฤศจิกายน 2544 ณ เมืองโดฮา ประเทศกาตาร์ ดังนี้ 1. ให้การสนับสนุนการเจรจารอบใหม่ที่ sufficiently broad based มีความสมดุล มีความยืดหยุ่น และคำนึงถึงความสามารถของประเทศสมาชิกตามระดับการพัฒนาประเทศ 1.1 เรื่องที่ประเทศไทยให้ความสนใจ ได้แก่ 1) เกษตร (1) ให้มีการปฏิรูปการค้าสินค้าเกษตรอย่างจริงจัง โดยนำไปสู่การยก เลิกการอุดหนุนการส่งออกทุกชนิดในที่สุด ลดการอุดหนุนภายในลงให้มาก และเปิดตลาดสินค้าเกษตรให้กว้างขึ้นอีก (2) ต้องมีการให้แต้มต่อ (Special and Differential Treatment : S&D) สำหรับประเทศกำลังพัฒนาที่ชัดเจน จริงจัง และขยายเพิ่มขึ้นจากเดิม (2) มีความชัดเจนเรื่องการกำหนดเวลาในแต่ละขั้นตอนการเจรจา 2) กฎเกณฑ์ที่มีอยู่แล้ว สนับสนุนให้มีการเจรจาปรับปรุงความตกลงเกี่ยวกับ กฎ ระเบียบการค้า (Rules) ที่มีอยู่แล้วให้เป็นประโยชน์และเป็นธรรมแก่สมาชิกโดยรวม ประกอบด้วย เรื่องการทุ่มตลาด การอุดหนุน และอากรตอบโต้ การอุดหนุนประมง และมาตรการปกป้อง 3) ขบวนการยุติข้อพิพาท ให้มีการปรับปรุงกระบวนการระงับข้อพิพาท (Dispute Settlement ) ของ WTO ให้เป็นธรรมและมีประสิทธิภาพมากขึ้น 4) การปฏิบัติตามพันธกรณี (Implementation) ที่ควรมีการแก้ไขเรื่องการปฏิบัติตามพันธกรณีเพื่อให้ประโยชน์แก่ประเทศสมาชิก รวมทั้งประเทศไทยมากขึ้น เช่น สิ่งทอ มาตรการสุขอนามัย มาตรการปกป้อง อุปสรรคทางเทคนิคต่อการค้าและการทุ่มตลาด 5) การปฏิบัติเป็นพิเศษแก่ประเทศกำลังพัฒนา(S&D) ต้องการให้มีการปฏิบัติที่เป็นรูปธรรมอย่างรวดเร็ว เช่น การปฏิบัติเป็นพิเศษและแตกต่าง (S&D) สำหรับประเทศกำลังพัฒนาและพัฒนาน้อยที่สุด 6) สิทธิบัตรยา สนับสนุนให้มีเรื่อง Trade-Related Aspects of Intellectual Property Right : TRIPS & Public Health ในการประชุมรัฐมนตรี WTO ครั้งที่ 4 เพื่อให้มีการแก้ไขปัญหา access to essential drugs และความสัมพันธ์ระหว่าง TRIPS และ Convention on Biological Diversity (CBD) 1.2 เรื่องที่รับให้มีการเจรจาได้ 1) บริการ เข้าร่วมเจรจาต่อไป รวมทั้งผลักดันให้ประเทศที่เปิดตลาดบริการ สามารถใช้มาตรการคุ้มกันหรือปกป้องได้ ในกรณีมีการลงทุนจากต่างประเทศเข้ามากเกินไป จนทำให้เกิดความเสียหายต่ออุตสาหกรรมภายในประเทศ (Emergency Safeguard Measures : ESMs) 2) สิทธิในทรัพย์สินทางปัญญาที่เกี่ยวกับการค้า เข้าร่วมเจรจาในเรื่องสิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ 3) การลดภาษีสินค้าอุตสาหกรรม ผลักดันให้มีเงื่อนไขพิเศษหรือแต้มต่อสำหรับประเทศกำลังพัฒนาในเรื่องระยะยาวและอัตราภาษีที่จะลด 4) พาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ สนับสนุนในหลักการเรื่องการจัดทำ Work Programme พาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ต่อไป ขยายเวลาการยกเว้นการเก็บภาษี Electronic Transmission (moratorium) เป็นการชั่วคราวถึงการประชุมรัฐมนตรี WTO ครั้งที่ 5 และสนับสนุนให้มีการจัดทำแผนงานเพื่อเพิ่มสมรรถนะของประเทศกำลังพัฒนา 5) ความโปร่งใสในการจัดซื้อโดยรัฐ ไทยควรเข้าร่วมในความตกลงนี้ภายใต้เงื่อนไขว่าประเทศกำลังพัฒนาควรมีเวลาในการปรับตัวด้วย 1.3 เรื่องที่ไม่ต้องการเจรจาจัดทำความตกลงใหม่ 1) การค้ากับการลงทุน และการค้ากับนโยบายการแข่งขัน สนับสนุนให้คณะ ทำงานใน WTO ดำเนินการศึกษาต่อไป เพื่อให้ประเทศสมาชิกโดยเฉพาะประเทศกำลังพัฒนาและพัฒนาน้อยมีความเข้าใจในเรื่องดังกล่าวอย่างถ่องแท้ก่อน จึงค่อยพิจารณาว่าควรจะมีการเจรจาทำความตกลงในเรื่องนี้หรือไม่ในโอกาสต่อไป 2) การอำนวยความสะดวกทางการค้า สนับสนุนให้ปรับปรุงกฎเกณฑ์ที่มีอยู่ในปัจจุบันเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและช่วยอำนวยความสะดวกด้านการค้า แต่ไม่จำเป็นต้องจัดทำเป็นความตกลงฉบับใหม่ 3) สิ่งแวดล้อม สนับสนุนการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม แต่ต้องไม่นำไปเป็นเหตุผลในการกีดกันทางการค้า จึงควรให้คณะกรรมการว่าด้วยการค้าและสิ่งแวดล้อมทำการศึกษาต่อไป 1.4 เรื่องที่คัดค้าน - แรงงานคัดค้านการนำเรื่องแรงงานเข้าไปเจรจาในองค์การการค้าโลก 2. รับทราบความคืบหน้าการเตรียมการประชุมรัฐมนตรีองค์การการค้าโลก ครั้งที่ 4 ที่ดำเนินการเตรียมการที่นครเจนีวา ว่าอยู่ในขั้นพิจารณาร่างปฏิญญารัฐมนตรีฯ ซึ่งมีแรงผลักดันจากประเทศสมาชิกหลายประเทศ โดยเฉพาะประเทศที่พัฒนาแล้ว เช่น สหภาพยุโรป ญี่ปุ่น และสหรัฐอเมริกา ให้เปิดการเจรจาการค้าพหุภาคีรอบใหม่ เพื่อรวมเรื่องอื่น ๆ ไว้ด้วย นอกเหนือจากเรื่องการค้าสินค้าเกษตร และการค้าบริการ ซึ่งตามข้อตกลงได้กำหนดให้เริ่มเจรจาตั้งแต่ปี 2543 อยู่แล้ว โดยเรื่องอื่น ๆ ที่มีการเสนอให้เปิดการเจรจา เช่น การลดภาษีสินค้าอุตสาหกรรม เรื่องที่ได้รับมอบหมายจากที่ประชุมรัฐมนตรี WTO ครั้งที่ 1 ณ สิงคโปร์ ให้ทำการศึกษาว่าสมควรจะมีการเจรจาจัดทำความตกลงหรือไม่ใน 4 เรื่อง ได้แก่ ความสัมพันธ์ระหว่างการค้ากับการลงทุน ความสัมพันธ์ระหว่างการค้ากับนโยบายการแข่งขัน ความโปร่งใสในการจัดซื้อโดยรัฐ และการอำนวยความสะดวกทางการค้า ตลอดจนเรื่องที่ประเทศกำลังพัฒนาเป็นผู้ผลักดัน เช่น การแก้ไขปัญหาการปฏิบัติตามพันธกรณีของการเจรจารอบอุรุกวัย (Implementation) และการแก้ไขปัญหาความยากจน เป็นต้น 2. ผลการดำเนินโครงการรับจำนำสินค้าเกษตร กระทรวงการคลังรายงานผลการดำเนินโครงการรับจำนำสินค้าเกษตรของธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร ดังนี้ 2.1 โครงการรับจำนำข้าวเปลือกนาปี ปีการผลิต 2543/2544 ธ.ก.ส. รับ จำนำข้าวเปลือกโดยตรงจากเกษตรกรและสถาบันเกษตรกรที่มียุ้งฉางเป็นของตนเอง และรับจำนำข้าวเปลือก ซึ่งฝากไว้ที่คลังสินค้าโดยสลักหลังประทวนสินค้าขององค์การคลังสินค้า (อคส.)หรือองค์การตลาดเพื่อเกษตรกร (อ.ต.ก.) กำหนดระยะเวลาไถ่ถอนภายใน 5 เดือนนับถัดจากเดือนที่จำนำ 2.2 โครงการรับจำนำข้าวสาร ปีการผลิต 2543/2544 ธ.ก.ส. รับจำนำ ข้าวสารจากเกษตรกรและสถาบันเกษตรกร โดยเกษตรกรนำข้าวเปลือกนาปรังฤดูการผลิต 2543/2544 ไปให้โรงสีที่เข้าร่วมโครงการแปรสภาพเป็นข้าวสารแล้ว ส่งมอบให้ อคส. เป็นผู้เก็บและออกประทวนสินค้าเพื่อเป็นประกันหนี้กับธนาคาร โดยกำหนดราคารับจำนำตามราคารับจำนำข้าวเปลือกนาปี ปีการผลิต 2543/2544 ระยะเวลาไถ่ถอนภายใน 4 เดือน นับถัดจากเดือนที่จำนำ 2.3 โครงการรับจำนำผลิตภัณฑ์มันสำปะหลัง ปีการผลิต 2543/2544 ธ.ก.ส. รับจำนำแป้งมันสำปะหลังและมันสำปะหลังอัดเม็ดโดยตรงจากเกษตรกรและสถาบันเกษตรกร โดยรับจำนำแป้งมันสำปะหลังและมันสำปะหลังอัดเม็ดเต็มมูลค่า เมื่อคำนวณเป็นราคาหัวมันสำปะหลังสด ในราคากิโลกรัมละ 0.85 บาท ที่เชื้อแป้ง 25% กำหนดระยะเวลา ไถ่ถอนภายใน 4 เดือน นับถัดจากเดือนที่จำนำ 2.4 โครงการรับจำนำลำไยอบแห้ง ปีการผลิต 2543 ธ.ก.ส. รับจำนำ ประทวนสินค้าลำไยอบแห้ง ซึ่งเกษตรกรและสถาบันเกษตรกรนำไปฝากไว้กับ อคส. หรือ อ.ก.ต. ในอัตราร้อยละ 70 ของราคาเป้าหมายนำตามเกรดของลำไยที่กำหนดไว้ในโครงการ โดยมีระยะเวลาไถ่ถอนภายใน 5 เดือนนับถัดจากเดือนที่จำนำ 2.5 โครงการรับจำนำข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ ปีการผลิต 2543/2544 ธ.ก.ส. รับจำนำข้าวโพดเลี้ยงสัตว์โดยตรงจากเกษตรกรและสถาบันเกษตรกรที่มียุ้งฉางของตนเองในราคาตันละ 3,900 บาทและรับจำนำข้าวโพดซึ่งฝากไว้ที่คลังสินค้า โดยสลักหลังประทวนสินค้าของ อคส. หรือ อ.ต.ก. ในราคาตันละ 4,100 บาท กำหนดไถ่ถอนและชำระคืนเงินกู้ภายใน 5 เดือนนับถัดจากเดือนที่จำนำ รับจำนำเพิ่มเติมระหว่างเดือนมีนาคม 2544 | เมษายน 2544 กำหนดไถ่ถอนภายในเดือนกรกฎาคม 2544 2.6 โครงการรับจำนำข้าวเปลือกนาปรัง ปีการผลิต 2544 ธ.ก.ส. รับจำนำประทวนสินค้าที่ อคส. หรือ อ.ก.ต. ออกให้เกษตรกรและสถาบันเกษตรกรนำข้าวเปลือกไปฝากที่คลังสินค้าของ อคส. หรือ อ.ก.ต. โดยเริ่มรับจำนำเมษายน 2544 ถึงวันที่ 31 สิงหาคม 2544 กำหนดระยะเวลาไถ่ถอนภายใน 5 เดือนนับถัดจากเดือนที่จำนำ 3. แนวทางการจัดการธุรกิจค้าปลีกค้าส่ง คณะรัฐมนตรีให้ความเห็นชอบแนวทางการจัดการธุรกิจค้าปลีกค้าส่ง ดังนี้ 1. ด้านกฎหมาย ดำเนินการยกร่างกฎหมายว่าด้วยการค้าปลีกค้าส่งที่มุ่งเน้นให้ธุรกิจค้าปลีก ค้าส่งทุกขนาด และทุกประเภท รวมถึงการค้าบริการให้สามารถอยู่ร่วมกันได้ โดยให้มีสัดส่วนของร้านค้าขนาดต่าง ๆ ทั้งขนาดเล็ก ขนาดกลาง และขนาดใหญ่ ตามความจำเป็นของสภาพเศรษฐกิจและเมืองและชุมชน ซึ่งขณะนี้ได้ยกร่างกฎหมายใกล้จะเสร็จเรียบร้อยแล้ว เพื่อนำเสนอคณะรัฐมนตรีให้ความเห็นชอบหลักการของกฎหมาย มีสาระสำคัญสรุปได้ดังนี้ 1.1 กำหนดให้ธุรกิจค้าปลีกค้าส่ง เข้าข่ายควบคุมต้องปฏิบัติตามและอยู่ภายใต้หลักเกณฑ์เงื่อนไขที่กฎหมายจะกำหนด เช่น การอนุญาตตั้ง ขยายหรือย้ายสาขา กำหนดสถานที่หรือพื้นที่ตั้ง จำนวนหรือขนาดของพื้นที่ การประกอบธุรกิจ กำหนดวัน เวลา และชั่วโมงในการเปิดปิด กำหนดให้มีสัดส่วนพื้นที่จำหน่ายสินค้าที่ผลิตภายในประเทศต่อพื้นที่รวมของธุรกิจปลีกค้าส่งและเงื่อนไขอื่น ๆ ที่จำเป็น 1.2 โครงสร้างขององค์กรที่จะกำกับดูแลธุรกิจค้าปลีกค้าส่งประกอบด้วย คณะกรรมการกลางกำกับดูแลธุรกิจค้าปลีกค้าส่ง คณะกรรมการส่วนจังหวัดกำกับดูแลธุรกิจค้าปลีกค้าส่งและคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์ 1.3 กำหนดมาตรฐานของร้านค้าปลีกค้าส่ง เพื่อคุ้มครองผู้บริโภคในตัวกฎหมาย เพื่อคุ้มครองมิให้ประชาชนซื้อสินค้าที่มีคุณภาพต่ำ หรือถูกหลอกลวงในเรื่องราคา 1.4 สำหรับโทษที่จะกำหนดตามกฎหมายว่าด้วยการประกอบธุรกิจค้าปลีกค้าส่ง จะมีทั้งโทษทางปกครอง เช่น การตำหนิต่อสาธารณะ การปรับการปกครอง โทษทางอาญา ได้แก่ จำคุกหรือปรับ 2. ด้านการปฏิบัติ 2.1 มาตรการส่งเสริมร้านค้าปลีกค้าส่งขนาดกลางและขนาดเล็ก และ ร้านค้าชุมชน กระทรวงพาณิชย์เห็นว่า มีความจำเป็นจะต้องส่งเสริมให้ร้านค้าปลีกค้าส่งขนาดกลางและขนาดเล็กมีความแข็งแรง เพื่อที่จะสามารถแข่งขันกับร้านประเภทดิสเคานท์สโตร์ รวมทั้งการจัดตั้งร้านค้าปลีกชุมชนตามหลักการดังต่อไปนี้ 1) สำรวจร้านค้าปลีกค้าส่งขนาดกลางและขนาดเล็กที่จำหน่ายสินค้าอุปโภคบริโภคทั้งในส่วนกลางและภูมิภาค เพื่อทราบจำนวนและปัญหาที่แท้จริงจากผลกระทบของการขยายตัวของร้านค้าดิสเคานท์สโตร์ รวมทั้งสอบถามความต้องการที่จะให้ทางราชการช่วยเหลือ เช่น ด้านเงินทุน ด้านบริหารการจัดการ ด้านการซื้อสินค้าจากผู้ผลิตโดยตรง เป็นต้น พร้อมกันนี้จะได้ขึ้นทะเบียนร้านค้าปลีกค้าส่งเหล่านี้ เพื่อเป็นข้อมูลในการช่วยเหลือต่อไป 2) จัดตั้งและสนับสนุนร้านค้าปลีกชุมชน โดยจะเริ่มจากชุมชนนอกเมืองก่อน แล้วขยายเข้ามาสู่ในเมืองของแต่ละจังหวัด ทั้งนี้ เพื่อป้องกันไม่ให้ร้านดิสเคานท์สโตร์เข้ามาแข่งขันในชุมชนได้ กระทรวงพาณิชย์จะจัดทำรูปแบบร้านค้าปลีกเป็น 2 ขนาดคือ ขนาดเล็กและขนาดกลาง เพื่อรองรับในแต่ละชุมชน โดยทางราชการอาจจัดหาแหล่งเงินทุนให้กู้ยืมในอัตราดอกเบี้ยต่ำ หรืออาจเข้าร่วมถือหุ้นในร้านค้าปลีกชุมชนตามความเหมาะสม และเมื่อร้านเหล่านี้มีความเข้มแข็งแล้ว ก็สามารถซื้อหุ้นคืนไปได้ทั้งหมด 3) ได้จัดอบรมให้ความรู้ด้านการบริหารจัดการร้านค้าสมัยใหม่ และจัดทำคู่มือ “เคล็ดลับ สูตรสำเร็จร้านค้าปลีก” เผยแพร่ให้ร้านค้าปลีกได้ปรับตัวให้มีการจัดการที่ทันสมัย อนุญาตให้ร้านค้าที่มีมาตรฐานได้ใช้เครื่องหมายรับรองของกระทรวงพาณิชย์ เพื่อจูงใจให้ผู้บริโภคมาใช้บริการเพิ่มมากขึ้น 4) สร้างเครือข่ายร้านค้าปลีก โดยเชื่อมโยงผู้ผลิต ผู้แทนจำหน่าย ผู้ค้าส่งกับร้านค้าปลีกที่ขึ้นทะเบียนและร้านค้าปลีกชุมชนที่จัดตั้งขึ้น เพื่อให้ได้สินค้าในราคาถูกสำหรับบริการแก่ผู้บริโภค 2.2 มาตรการสร้างความสมดุลย์ของธุรกิจ 1) เพื่อให้เกิดความสมดุลย์ในเรื่องการประกอบธุรกิจและการแข่งขันของร้านค้าปลีกค้าส่งทั้งขนาดเล็ก ขนาดกลาง และขนาดใหญ่ กระทรวงพาณิชย์จึงประสานงานโดยประชุมหารือกับหน่วยงานต่าง ๆ ของกระทรวงมหาดไทย เพื่อนำกฎหมายที่ใช้อยู่ในปัจจุบันมาควบคุมการเปิดหรือขยายสาขาของธุรกิจดิสเคานท์สโตร์ โดยให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยออกประกาศกระทรวงมหาดไทยในเรื่องการก่อสร้าง ดัดแปลง หรือเปลี่ยนการใช้อาคารบางชนิดหรือบางประเภทในบริเวณพื้นที่ต่าง ๆ เพื่อเปิดเป็นธุรกิจดิสเคานท์สโตร์ แต่ก็ให้สามารถเปิดสาขาใหม่ได้ในท้องที่ห่างจากตัวเมือง ซึ่งจะไม่กระทบกระเทือนต่อร้านค้าปลีกค้าส่งขาดกลางและขนาดเล็ก ประกาศกระทรวงมหาดไทยฉบับนี้จะมีผลบังคับใช้ได้เพียง 1 ปีนับแต่วันที่ประกาศ 2) ในระหว่างที่ประกาศกระทรวงมหาดไทยตามข้อ 1) มีผลบังคับ หากมีความจำเป็นต้องควบคุมการตั้งหรือขยายสาขาของธุรกิจดิสเคานท์สโตร์ต่อไปอีก ก็ให้กระทรวงมหาดไทยใช้อำนาจตามมาตรา 8 (10) แห่งกฎหมายว่าด้วยการควบคุมอาคารออกเป็นกฎกระทรวงต่อไป 4. การปรับเปลี่ยนสำนักงานส่งเสริมการค้าต่างประเทศตามนโยบายการส่งออกไป ตลาดใหม่ คณะรัฐมนตรีรับทราบผลการประชุมคณะกรรมการพัฒนาการส่งออก ครั้งที่ 3/2544 ในการย้ายสำนักงานส่งเสริมการค้าในต่างประเทศจากประเทศบรูไน ไปยังประเทศอียิปต์ ซึ่งเป็นตลาดที่มีประชากรมากถึง 66 ล้านคน และเป็นตลาดที่ต้องการสินค้านำเข้าหลากหลายและนำเข้าสินค้าเพิ่มขึ้นทุกปี จึงเป็นโอกาสที่ไทยจะสามารถเจาะขยายตลาดได้ นอกจากนี้ อียิปต์ยังเป็นประตูการค้าที่สำคัญ (gateway) ที่จะกระจายสินค้าไทยไปยังภาคเหนือและตะวันออกของทวีปแอฟริกา 5. การประชุมระดับรัฐมนตรีกลุ่มเคร์นส์ ครั้งที่ 22 ณ อุรุกวัย คณะรัฐมนตรีรับทราบผลการประชุมระดับรัฐมนตรีกลุ่มเคร์นส์ ครั้งที่ 22 ณ เมือง ปุนต้า เดล เอสเต้ ประเทศอุรุกวัย ดังนี้ 1. รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงพาณิชย์ ได้นำคณะผู้แทนไทย ซึ่งประกอบด้วยผู้แทนจากกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กระทรวงพาณิชย์ และกระทรวงการต่างประเทศ เข้าร่วมการประชุมระดับรัฐมนตรีของกลุ่มเคร์นส์ ครั้งที่ 22 ณ เมือง Punta del Este ประเทศอุรุกวัย ระหว่างวันที่ 3 | 5 กันยายน 2544 2. ในการประชุมระดับรัฐมนตรีกลุ่มเคร์นส์ครั้งนี้ ประเทศสมาชิกได้พร้อมใจกันประกาศจุดยืนของกลุ่มในเรื่องการเจรจา WTO รอบใหม่ที่กรุงโดฮา ประเทศกาต้าร์ว่าโอกาสในการเปิดเจรจารอบใหม่จะขึ้นอยู่กับสมาชิกมีความทะเยอทะยานและมุ่งปฏิรูปการค้าสินค้าเกษตรมากเพียงใด และได้ออกแถลงการณ์เรียกร้องให้ที่ประชุม WTO ที่โดฮา กาต้าร์ ตกลงในเรื่องเกษตรดังนี้ 1) ยุติการเลือกปฏิบัติกับสินค้าเกษตร 2) ปฏิรูปการค้าสินค้าเกษตรอย่างจริงจัง โดยการยกเลิกการอุดหนุนส่งออก (export subsidies) ทุกชนิด ลดการอุดหนุนภายในลงให้มาก และเปิดตลาดสินค้าเกษตรให้กว้างขึ้นอีก 3) เรื่องที่ไม่เกี่ยวกับการค้า (non-trade concerns) จะต้องเป็นเรื่องรองและต้องไม่มีผลกระทบบิดเบือนการค้า รวมทั้งไม่เป็นข้ออ้างให้นำมาตรการกีดกันใหม่ ๆ มาใช้ด้วย 4) มีการให้แต้มต่อสำหรับประเทศกำลังพัฒนาที่ชัดเจน จริงจังและขยายเพิ่มขึ้นจากเดิม 5) มีความชัดเจนในเรื่องกำหนดเวลา กำหนดเป้าหมายในแต่ละขั้นตอนและรูปแบบโครงสร้างการเจรจาการค้าสินค้าเกษตร 3. ในการประชุมครั้งนี้ นาย Robert Zoellick ผู้แทนการค้าสหรัฐฯ (USTR) และนาง Anne Veneman รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรของสหรัฐฯ ได้รับเชิญมาพบสมาชิกกลุ่มเคร์นส์ด้วย และเป็นครั้งแรกที่สหรัฐฯ ได้แสดงท่าทีแข็งขันในการสนับสนุนการเจรจาเกษตร รวมทั้งแสดงจุดยืนซึ่งใกล้เคียงกับกลุ่มเคร์นส์ เช่น ต้องการให้ยกเลิกการอุดหนุนส่งออกและการมีกำหนดเวลาในการเจรจาที่แน่ชัด 4. สำหรับประเทศไทยได้ผลักดันประเด็นที่เป็นปัญหาของไทยในแถลงการณ์ด้วย เช่น ปัญหาการกีดกันการนำเข้าโดยการใช้มาตรการสุขอนามัยและสุขอนามัยพืช ปัญหาที่ประเทศพัฒนาแล้วให้การอุดหนุนจำนวนมากจนประเทศที่มีศักยภาพในการผลิตไม่สามารถแข่งขันได้ โดยได้พูดกรณีที่ประเทศไทยเป็นผู้ส่งออกข้าวรายใหญ่ของโลกในปีหนึ่งส่งออกประมาณ 6 ล้านตัน แต่การที่ประเทศพัฒนาแล้วให้การอุดหนุนการผลิตทำให้ไทยไม่สามารถแข่งขันได้ หากการอุดหนุนเหล่านี้ลดลงไทยก็จะสามารถขยายการส่งออกทำให้มีรายได้เพิ่มขึ้น ดังนั้น จึงได้มีการแถลงการณ์ร่วมกันให้ลดการช่วยเหลือภายในของสินค้าเกษตรลงอย่างมาก ยกเลิกการอุดหนุนส่งออกและในขณะเดียวกันก็มีการปฏิบัติที่พิเศษและแตกต่าง (S&D) แก่ประเทศกำลังพัฒนา(ยังมีต่อ)