ปาฐกถา เรื่อง “แนวโน้มเศรษฐกิจไทยใน 4 ปีข้างหน้า” โดย นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์

ข่าวเศรษฐกิจ Tuesday July 5, 2005 11:11 —กระทรวงการคลัง

                                   ปาฐกถา เรื่อง
“แนวโน้มเศรษฐกิจไทยใน 4 ปีข้างหน้า”
โดย
นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์
รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง
ณ หอประชุมกาสะลองคำ มหาวิทยาลัยราชภัฏเชียงราย
13 มิถุนายน 2548
ท่านผู้ว่าราชการจังหวัด ท่านนายกสภามหาวิทยาลัย ท่านอธิการบดี ท่านคณาจารย์ นักศึกษาและผู้มีเกียรติที่เคารพทุกท่าน
ต้องขอขอบพระคุณทางมหาวิทยาลัยที่ได้ให้เกียรติเชิญผมมาบรรยายในวันนี้ และต้องขออภัยที่รับปากว่าจะมานานแล้วแต่เพิ่งจะหาโอกาสมาได้จริงๆ ในวันนี้ เพราะโดยปกติแล้วภารกิจค่อนข้างที่จะมาก ผมมาเชียงรายหลายต่อหลายครั้งแล้ว จริงๆ แล้วจังหวัดหนึ่งที่ผมรักที่สุดชอบที่สุดคือจังหวัดเชียงราย มาทุกครั้งผมก็จะหาโอกาสขึ้นไปไหว้พระที่พระธาตุดอยตุงทุกครั้ง ตั้งแต่เมื่อครั้งที่ผมยังเป็นอาจารย์สอนอยู่ที่นิด้าและที่ธรรมศาสตร์ ยังจำได้ว่าในสมัยที่เป็นอาจารย์นั้นชีวิตมีความสุขมาก การสอนหนังสือนักศึกษาได้มีโอกาสถ่ายทอดความรู้วิทยาการให้กับเด็กรุ่นใหม่ๆ ที่จะเป็นอนาคตของประเทศ ถือว่าเป็นสิ่งที่มีคุณค่าอย่างยิ่ง ในยุคสมัยนั้น เวลาที่มีความเหนื่อยจากการทำงานผมก็จะพาภรรยาและลูกมาที่เชียงราย มาพักอยู่ที่โรงแรมดุสิตเชียงราย รีสอร์ท ตั้งแต่ลูกคนโตอายุแค่ 2 ขวบ จนเดี๋ยวนี้เขาอายุได้ 17 ขวบแล้ว
ก็น่าเสียดายที่โชคชะตาชีวิตนั้นต้องเปลี่ยนจากการเป็นอาจารย์ไปสู่การเมือง เข้ามาสู่การบริหารประเทศ แต่ต้องถือว่าสิ่งนี้เป็นสิ่งซึ่งถ้าเราทุกคน ไม่เฉพาะผม ถ้าผมหรือว่าพวกท่านในอนาคตข้างหน้า ถ้ามีผู้ใดที่มีโอกาสได้เข้าไปทำงานให้บ้านเมือง ผมคิดว่าเป็นสิ่งที่ทุกคนไม่ควรจะปฏิเสธ เพราะว่าคนเราเกิดมาชาติหนึ่ง ถ้าเรามีความพร้อมก็อยากให้มีโอกาสไปทดแทนบุญคุณของแผ่นดินที่เราเกิดมา โดยเฉพาะอย่างยิ่งท่านคณาจารย์ ท่านผู้นำท้องถิ่น และนักศึกษาของสถาบันแห่งนี้ ผมอยากให้ทุกๆ คนหันมาสนใจกับการเมืองอย่างจริงจัง ถ้ามีโอกาส ก็อยากให้โดดเข้ามาสู่การเมือง เพราะถ้าประเทศเรายิ่งมีคนดีๆ เข้ามามากเท่าไร มีคนรุ่นใหม่มากเท่าไร ก็จะเป็นการเปิดโอกาสให้บ้านเมืองได้รับการพัฒนามากเท่านั้น อย่าไปคิดว่าการเมืองต้องจำกัดเฉพาะนักการเมือง ไม่เกี่ยวกัน การเมืองเป็นเรื่องของทุกคน และผมก็อยากจะขอให้พวกเรานักศึกษาทั้งหลาย ขอให้จำคำพูดของผมเอาไว้ว่า การเมืองเป็นสิ่งจำเป็นที่พวกเราจะต้องข้องเกี่ยว
สมัยที่ผมเป็นนักศึกษา ผมศึกษาอยู่ที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ปีนั้นปีที่ 1 เป็นปีที่เกิดเหตุการณ์ 14 ตุลาคม 2516 ผมอยู่ปี 1 พอเริ่มเปิดศักราชการของเล่าเรียน ก็มีการชุมนุมประท้วงที่ลานโพธิ์ธรรมศาสตร์ เดินขบวนไปตามท้องถนน ในปีนั้น 4 ปีเต็มที่อยู่ในมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ปีที่สำเร็จการศึกษาก็เป็นปีซึ่งเกิดเหตุการณ์ 6 ตุลาคม 2519 ในขณะนั้นเหตุการณ์บ้านเมืองรุนแรง นักศึกษาเสียชีวิตเป็นจำนวนมาก อันนั้นคือสิ่งที่เกิดขึ้นมาในอดีต แต่พูดในวันนี้ อยากจะเรียนกับนักศึกษาทุกคนว่าช่วงเวลา 4 ปีที่อยู่ในรั้วมหาวิทยาลัย ที่สโลแกนของมหาวิทยาลัยบอกว่า “ฉันรักธรรมศาสตร์เพราะธรรมศาสตร์สอนให้ฉันรักประชาชน” มันยังติดอยู่ในใจจนกระทั่งเมื่อแก่ตัวลงได้มีโอกาสเข้ามาบริหารงานของกระทรวงการคลัง เราก็บอกตัวเราเองว่าเราทำงานในกระทรวงการคลัง ทำงานในตำแหน่งรองนายกรัฐมนตรีนี้ ทั้งหมดนี้ไม่ใช่เพื่อใคร ก็เพื่อประเทศ เพื่อบ้านเมือง และก็อนาคตของลูกหลาน
แต่เดิมนั้นเขาบอกว่าคนที่เป็นอาจารย์จะอยู่การเมืองไม่ได้ เพราะว่าอาชีพอาจารย์มีแต่คนยกมือไหว้ ไม่มีใครเขาด่า แต่พอเข้าการเมืองแล้วคนจะเริ่มด่า แล้วท่านจะทนไม่ได้ ผมอยู่มาแล้วปีนี้เป็นปีที่ 5 ดร.สุวิทย์ (เมษินทรีย์) ที่เป็นผู้ช่วยรัฐมนตรีของผมก็เป็นอาจารย์เก่ามาก่อน ฉะนั้นจะอาชีพไหนไม่สำคัญขอเพียงว่ามีความมุ่งมั่น ทำงานด้วยความซื่อสัตย์สุจริต ใครก็ทำร้ายท่านไม่ได้ และถ้าท่านยืนอยู่ได้ อนาคตผมก็เชื่อว่าจะมีอาจารย์ที่ 2, ที่ 3, ที่ 4 นักศึกษาทั้งหลายจะเดินตามเข้าสู่การเมือง และการเมืองก็จะเป็นเรื่องของอนาคต เป็นเรื่องของคนรุ่นใหม่ที่ต้องการทำงานการเมืองอย่างสร้างสรรค์
เมื่อนายกรัฐมนตรี คือท่านทักษิณ เข้ามาบริหารราชการแผ่นดินในครั้งแรก ณ ขณะนั้นท่านตั้งพรรรคการเมืองใหม่ขึ้นมาพรรคหนึ่ง ชื่อพรรคไทยรักไทย ผมในฐานะอยู่ใกล้ชิดกับท่าน ก็ช่วยกันเขียนนโยบายพรรค ช่วยกันเลือกสรรคนรุ่นใหม่ๆ ที่จะมาเปิดพรรคใหม่ และเมื่อเราชนะการเลือกตั้ง มีโอกาสเข้ามาบริหารประเทศ ในช่วงนั้นผมจำได้ เศรษฐกิจในขณะนั้น ต้องใช้คำพูดชาวบ้านว่ามันกำลังดิ่งเหว สิ่งที่น่ากลัวมากในขณะนั้นก็คือว่าเมื่อเข้ามาจับงานจริงๆ แล้ว ความมั่นใจแทบจะไม่มีเหลือเลยจริงๆ เศรษฐกิจกำลังหดตัว ความเชื่อมั่นในสังคมหายไป ประชาชนชะลอการจับจ่ายใช้สอย เพราะไม่มั่นใจว่าอนาคตจะเป็นอย่างไร ทุกคนถามคำถามเดียวว่าเมื่อไรเราจะหลุดพ้นจากวิกฤติการณ์ทางเศรษฐกิจ เมื่อประชาชนไม่มีความมั่นใจ พ่อค้านักธุรกิจก็ไม่กล้าลงทุน ในขณะนั้นธนาคารก็ไม่กล้าให้สินเชื่อ เพราะให้ไปแล้วก็กลัวว่าจะเป็น NPL ไม่จ่ายหนี้ เพราะหนี้ที่มีอยู่ก็แทบจะล้นทะลักออกมาแล้ว สภาพเศรษฐกิจในขณะนั้นก็เสมือนหนึ่งเครื่องยนต์กลไกซึ่งหยุดชะงัก ในครั้งนั้นผมจำได้ว่ารัฐบาลมีการประชุมพิเศษทุกเช้าวันจันทร์ที่บ้านพิษณุโลก เพื่อประเมินสถานการณ์ว่าเหตุการณ์เลวร้ายเพียงใด และมีโอกาสใดที่เราจะสามารถพลิกฟื้นเศรษฐกิจได้ เป็นรัฐบาลอยู่ได้มีกี่เดือนก็เกิดกรณี 9/11 (11 กันยายน 2544) ที่มีเครื่องบินไปชนตึก World Trade ในขณะนั้นเป็นเรื่องที่รุนแรงมาก เพราะก่อให้เกิดความหวาดผวาในเรื่องของการท่องเที่ยวและการก่อการร้ายทั่วโลก อันนี้คือสถานการณ์เมื่อปี 2544
ผมจำได้ว่า GDP ในขณะนั้นเติบโตอยู่ที่ประมาณร้อยละ 2 เศษๆ สิ่งแรกที่รัฐบาลทำ ผมจะขออนุญาตเล่าสักนิดหนึ่งก่อน ก่อนที่จะมาถึงปัจจุบัน รัฐบาลประกาศนโยบายหลายๆ นโยบายออกมาอย่างต่อเนื่อง
ชุดที่ 1 เป็นกลุ่มของนโยบายที่ต้องการลดรายจ่าย เพิ่มรายได้ เราเริ่มมีการประกาศพักหนี้เกษตรกร ติดตามมาด้วยการให้มีกองทุนหมู่บ้าน เพื่อให้มีเงินอัดฉีดเข้าไปในหมู่บ้านในการพัฒนา เริ่มมีการริเริ่มโครงการธนาคารประชาชน เพื่อช่วยคนยากจนให้มีเงินกู้ไปชดใช้เงินกู้เดิม ซึ่งเราเรียกว่า Loan shark คือเงินกู้นอกระบบ จากกรณีของการพักหนี้ การมีกองทุนหมู่บ้าน การมีโครงการธนาคารประชาชนโดยธนาคารออมสิน ติดตามมาด้วยนโยบายที่ท่านนายกรัฐมนตรีบอกว่าเราต้องการรักษาระดับราคาสินค้าเกษตรให้สูงไว้ เพื่อคงเอาไว้ซึ่งอำนาจซื้อของประชาชนในชนบท ตรงนี้เป็นหัวใจสำคัญมาก ขณะนั้นสินค้าหลายตัวทีเดียวไม่ว่าข้าว ยางพารา ได้รับการดูแลเป็นอย่างดี โดยเฉพาะอย่างยิ่งยางพารา การที่พยายามลดรายจ่าย ทำให้รัฐบาลประกาศนโยบาย 30 บาทรักษาทุกโรค ตัวนี้เสมือนหนึ่งเป็นการช่วยลดภาระของประชาชน เมื่อท่านลดรายจ่ายเรื่องหยูกยา พยายามสร้างรายได้ด้วยการดูแลรักษาราคาสินค้าเกษตร ปล่อยสินเชื่อจาก ธ.ก.ส. เข้าไปพัฒนาชนบท จากนั้นระดมอัดฉีดด้วยกองทุนหมู่บ้าน อันนี้เป็นชุดที่ 1
ชุดที่ 2 ที่ตามมา ก็คือความมั่นใจที่มีต่อเมืองไทย โดยเฉพาะความมั่นใจของคนต่างประเทศที่มีต่อประเทศไทย ในขณะนั้นฝรั่งไม่คิดที่จะมาลงทุนในเมืองไทยเลย เขามองว่าเมืองไทยกำลังจะล่มจม เพราะธนาคารพาณิชย์ทั้งหลายแออัดไปด้วย NPL เป็นส่วนใหญ่ หนี้เสียพุ่งสูงถึง 40 กว่าเปอร์เซ็นต์ของสินเชื่อทั้งระบบ
สิ่งแรกที่รัฐบาลทำในขณะนั้น ก็คือการจัดตั้งสิ่งที่เราเรียกว่าบรรษัทบริหารสินทรัพย์ไทย หรือ บสท. ตั้งเป็นหน่วยงานขึ้นมา และหน่วยงานนี้ซื้อหนี้เสียออกจากธนาคารพาณิชย์ทั้งระบบ แล้วไปบริหารจัดการเพื่อให้ได้กำไร เมื่อ บสท. ถูกจัดตั้งขึ้นมา และซื้อหนี้เสียออกมา ก็เป็นโอกาสให้ธนาคารพาณิชย์สามารถฟื้นคืนสู่ปกติ สามารถทำธุรกิจตามปกติได้
จาก บสท. อีกสิ่งหนึ่งที่ต่างประเทศห่วงใย ก็คือหนี้สินกองทุนฟื้นฟูฯ ซึ่งมีหนี้อยู่จำนวนมาก นับ 100,000 ล้าน ว่าหนี้กองหนี้จะจัดการกันอย่างไร กระทรวงการคลังร่วมกับแบงก์ชาติ ก็ได้จัดทำระบบการแก้หนี้ของกองทุนฟื้นฟูฯ จนสำเร็จเรียบร้อย แล้วประกาศให้ต่างประเทศทราบ
เมื่อ Settle เรื่อง บสท. เรื่องหนี้สินกองทุนฟื้นฟูฯ อีกนโยบายหนึ่งจึงเริ่มตามมา นโยบายนี้ ก็คือนโยบายที่เกี่ยวข้องกับอสังหาริมทรัพย์ นโยบายนี้เกิดขึ้นเมื่อผมนั่งอยู่บนรถของผมในขณะที่ไปทำงาน ผมมองเห็นบ้านที่เขาปลูก เป็นบ้านที่ขายไม่ออกแล้ว ผมก็คิดว่าอุตสาหกรรมอสังหาริมทรัพย์นี้เป็นอุตสาหกรรมที่สำคัญอย่างยิ่ง ถ้าฟื้นตัวขึ้นมา ก็หมายความว่าฝ้า เพดาน ซีเมนต์ เฟอร์นิเจอร์ หลอดไฟ เครื่องเสียง ทุกอย่างจะฟื้นตามมา คำถามก็คือว่าจะทำอย่างไรที่จะให้อสังหาริมทรัพย์ฟื้นขึ้นมา? เราต้องมานั่งนึกถึงสภาพความเป็นจริงว่าจริงๆ แล้วสภาพความต้องการที่อยู่อาศัยมีเป็นจำนวนมาก ดอกเบี้ยในขณะนั้นก็ถูก ในเมื่ออุปสงค์มีอยู่สูง ทำไมไม่สามารถทำให้อุปสงค์กับอุปทานมาเจอกันได้
ผมก็เรียกประชุมคณะทำงาน ก็มี กบข. แล้วก็ทีมที่ปรึกษาของผม เอาภาคเอกชนมาช่วยเหลือกัน ผมให้โจทย์ว่าผมต้องการให้อสังหาริมทรัพย์ สามารถปลูกบ้าน และขายบ้านให้ประชาชน ผ่อนส่งในระดับที่ต้นทุนต่ำ พูดง่ายๆ ก็คือว่าทำสินค้าให้ประชาชนสามารถซื้อ หรือผ่อน ด้วยต้นทุนที่ถูก หลังจากนั้นประมาณ 2-3 อาทิตย์ ข้อเสนอก็เกิดขึ้น ให้ทำบ้านกบข. เป็นบ้านที่มีไว้ให้ข้าราชการ ผ่อน 30 ปี ดอกเบี้ยถูก กลุ่มเป้าหมายคือกลุ่มข้าราชการ ซึ่งความเสี่ยงต่ำ เพราะมีรายได้ประจำ โครงการนี้เป็นโครงการแรกที่จุดพลุขึ้นมาโดย กบข. ธนาคารอาคารสงเคราะห์ ช่วยเหลือกัน ผลก็คือว่าเป็นการจุดไฟให้เริ่มติดขึ้นมา ความตื่นตัวของธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ก็เริมตื่นหลังจากจุดนั้น ทำให้อุตสาหกรรมทั้งหลายที่เกี่ยวข้องนั้นเริ่มติดตามมา หลังจากวันนั้นเป็นต้นมาอุตสาหกรรมอสังหาริมทรัพย์ทั้งระบบก็เริ่มค่อยๆ ฟื้นขึ้นมา มาตรการชุดที่ 2 ผ่านไปผมก็มีมาตรการชุดที่ 3 ตามมา
ชุดที่ 3 ในขณะนั้นก็คือว่าผมเรียกแนวคิดนี้ว่า “Marketing Thailand” หรือการตลาดเพื่อประเทศไทย ผมกับคณะก็เริ่มออกสู่ต่างประเทศ ส่งเสริมการท่องเที่ยว ส่งเสริมการส่งออก ส่งเสริมการลงทุนจากต่างประเทศ โดยเอาตัวเลขการประมาณการที่เรามั่นใจว่าจะเป็นไปได้ เอาตัวเลขทรัพย์สินของประเทศให้ต่างประเทศดูว่าคุณอย่าดูแค่หนี้สินอย่างเดียว เรามีทรัพย์สินมหาศาล ซึ่งเราสามารถสร้างเป็นเงินได้ในอนาคตข้างหน้า ประเทศไทยไม่ล่มจมหรอก เราเดินสายไปประเทศจีน ญี่ปุ่น อเมริกา ยุโรป ความมั่นใจเริ่มกลับคืนมา การลงทุนจากต่างประเทศเริ่มกลับคืนสู่ประเทศไทย การส่งออกดีขึ้น ท่องเที่ยวดีขึ้น ปีนั้นก็คือปี 2546 เศรษฐกิจเริ่มฟื้นตัวขึ้นมาจาก 2 เปอร์เซ็นต์เศษๆ กลายเป็น 3 เป็น 4 เป็น 6 เป็นต้น ปี 2546-2547 คือปี Peak ปีดีที่สุดของเศรษฐกิจไทย เศรษฐกิจฟื้นตัวทั้งระบบ ในขณะนั้นผมจำได้เลยในสภาผู้แทนราษฎรเถียงกันอยู่นั้นแหละว่าฟื้นจริง ไม่จริง สุดท้ายเศรษฐกิจสามารถฟื้นตัวทั้งระบบ อันนี้คือ Shot ที่ 1
Shot ที่ 2 ตั้งแต่ต้นปี 2547 มรสุมเริ่มตั้งเค้าขึ้นมา เริ่มต้นจากเรื่องของไข้หวัดนก สูญเสียการส่งออกมหาศาล การก่อม็อบรัฐวิสาหกิจเพื่อต่อต้านการแปรรูป ไล่มาตั้งแต่สิ้นปี 2546 เปิด 47 มรสุมก็ค่อยๆ ทยอยมาทีละลูกๆ ที่สำคัญที่สุดคือช่วงปลายปี 47 เกิดสึนามิทางภาคใต้ สึนามิเกิดขึ้นในช่วงใกล้คริสต์มาส ทำให้คนต่างประเทศทั้งหลายไม่กล้ามาเมืองไทย โดยเฉพาะอย่างยิ่งนักท่องเที่ยวจากจีน ญี่ปุ่น เกาหลีใต้
จากสึนามิตามมาด้วยภัยแล้ง ซึ่งทำให้สินค้าเกษตรหายไปเป็นจำนวนมาก ทั้งๆ ที่ตลาดโลกต้องการแต่ไม่มีสินค้าที่จะขาย ภัยแล้งตามมาด้วยสถานการณ์ทางใต้ ซึ่งมีการวางระเบิดที่หาดใหญ่ สร้างความสะเทือนกับเรื่องการท่องเที่ยวเป็นอย่างยิ่ง จากการ Bomb ที่หาดใหญ่ตามมาด้วยราคาน้ำมัน ซึ่งขึ้นสูงเป็นปรากฏการณ์ที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน จาก Barrel หนึ่ง 20 กว่าเหรียญ 30 เหรียญ วันนี้น้ำมันพุ่งขึ้นไปถึงเกือบ 50 เหรียญ สิ่งที่เกิดขึ้นมาคืออะไร?
ไตรมาส 1 เศรษฐกิจชะลอตัว ปีที่แล้วทั้งปีอัตราการเจริญเติบโตของ GDP ประมาณร้อยละ 6.1 ก่อนหน้านั้นสูงมาก ผมจำได้ประมาณเกือบร้อยละ 7 หรือร้อยละ 7 กว่า ไตรมาส 1 GDP หรืออัตราการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจ เหลือเพียงร้อยละ 3.3 การที่อัตราการเจริญเติบโตหล่นลงมาเหลือร้อยละ 3.3 ก็เกิดความวิตกกังวลในหมู่พ่อค้าประชาชน เพราะว่าสิ่งสำคัญก็คือเรื่องราคาน้ำมัน ราคาน้ำมันขึ้นเอาๆๆ เมื่อราคาน้ำมันขึ้นสูงขึ้นการขาดดุลการค้าก็ตามมา เราเริ่มขาดดุลการค้าในไตรมาส 1 ขาดดุลบัญชีเดินสะพัด ดุลบัญชีเดินสะพัดก็คือเอาดุลการค้าบวกกับดุลบริการ แรกๆ เราก็เกินดุลบัญชีเดินสะพัด แต่พอท่องเที่ยวซบ ดุลบัญชีเดินสะพัดก็เริ่มขาดดุลทันที ขาดดุลบัญชีเดินสะพัดไปแล้ว Net ประมาณ 3 billion US dollars ก็คือ 3,000 ล้านเหรียญสหรัฐ คูณด้วย 40 เข้าไป ท่านก็จะรู้ว่าเราขาดดุลเท่าไหร่
เมื่อมีการขาดดุลบัญชีเดินสะพัดราคาน้ำมันยังแพงอยู่ ประกอบกับความหวั่นเกรงว่าราคาน้ำมันจะทำให้เกิดเงินเฟ้อ ตรงนี้นั่นเองคือสิ่งซึ่งผมรู้สึกเป็นห่วงอย่างยิ่ง ที่เป็นห่วงเพราะอะไร เพราะจริงๆ แล้วสถานการณ์ทางเศรษฐกิจของเราไม่ได้เลวร้ายจนเกินไปนัก การเติบโตร้อยละ 3.3 นั้นต้องถือว่ายังดีอยู่มากเมื่อเทียบกับต่างประเทศ สิงคโปร์ ซึ่งอยู่เหนือเรา ไตรมาส 1 เหลือแค่ร้อยละ 2.5 ไต้หวันเหลือแค่ร้อยละ 2.5 เกาหลีใต้ เหลือ 2.7 ญี่ปุ่นเหลือ 1.1 EU เหลือ 1.4 ประเทศเหล่านี้การเติบโตทางเศรษฐกิจเขาดีกว่าเราทั้งสิ้น และที่สำคัญก็คือเขาเจอมรสุมเพียงลูกเดียว คือราคาน้ำมัน แต่เมื่อตอนไตรมาส 1 เราเจอ 5 ลูก : ภัยแล้ง หวัดนก สึนามิ ภาคใต้ และราคาน้ำมัน 5 ลูก เกิดขึ้นพร้อมๆ กันใน 1 ไตรมาส เหมือนเราถูกล็อตเตอรี่รางวัลที่ 1 แต่ครั้งนั้นเรายืนอยู่ได้ที่ร้อยละ 3.3
การที่เรายืนอยู่ได้ร้อยละ 3.3 เราไปดูตัวเลขโดยละเอียด การส่งออกในไตรมาส 1 เติบโตถึงร้อยละ 12 การลงทุนในภาคเอกชนเติบโตประมาณร้อยละ 10 การลงทุนต่างประเทศที่ขอบัตรส่งเสริมเติบโต 110% ไตรมาสเทียบกับไตรมาสปีที่แล้ว มีเพียงการท่องเที่ยวที่ตกลงมาเพราะเหตุการณ์สึนามิ ช่วยไม่ได้ นักท่องเที่ยวกลัวผี ไม่กล้าไปภูเก็ต พอเราแยกตัวเลขออกมา กลายเป็นว่าจริงๆ แล้วการส่งออกก็ยังดีอยู่ การลงทุนก็ยังดีอยู่ แต่เจ้ากรรมก็คือว่าหาเท่าไหร่ไม่เพียงพอที่เราต้องจ่ายค่าน้ำมัน ค่าพลังงาน เศรษฐกิจที่เติบโตทำให้มีความจำเป็นในการซื้อวัตถุดิบมาเพื่อทำการผลิตต่อ แต่อีกส่วนหนึ่งนั้นหมดไปกับการจับจ่ายค่าซื้อน้ำมันมา นั่นคือเหตุผลที่ก่อให้เกิดการขาดดุลการค้า
สิ่งที่เราพยายามทำคืออะไร เราก็พยายามที่จะดัน Export ให้สูงขึ้นไว้ อย่าให้ตก พยายามปั๊มเรื่องการท่องเที่ยวให้เต็มที่ พยายามบอกประชาชนว่าต้องช่วยกันในการรณรงค์การประหยัดน้ำมัน เพราะไม่อย่างนั้นเหมือนท่านเป็นหัวหน้าครอบครัว หาเงินมาได้เท่าไหร่ไม่พอจ่ายค่าน้ำค่าไฟ ยังโชคดีว่าเรามีเงินสำรองต่างประเทศอยู่ 49 billions หรือ 49 พันล้านเหรียญสหรัฐ หน้าตักเราใหญ่ มั่นคงพอ ฉะนั้นมีหน้าตักหนาเพียงพอที่จะทนไปได้เป็นปี อันนี้ไม่ต้องห่วง แต่ถ้าไม่จำเป็น เราก็ไม่อยากให้เงินตราต่างประเทศนี้ร่อยหรอลงไป ฉะนั้นเราต้องประหยัดในขณะเดียวกันต้องหารายได้เพิ่มขึ้น แต่สิ่งหนึ่งที่ผมเป็นห่วงในขณะนี้ก็คือว่าความมั่นใจ ถ้าความมั่นใจไม่มี ประชาชนคิดว่าเกิดเหตุการณ์ผิดปกติ ไม่จับจ่ายใช้สอย ชะลอการตัดสินใจซื้อของ พ่อค้าก็จะลดการลงทุน ถ้าพ่อค้าลดการลงทุนมันก็เสมือนหนึ่งเศรษฐกิจเริ่มชะลอตัวลง
วันก่อนผมไปพูดที่หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ (เศรษฐกิจไทยในภาวะสร้างสรรค์, 10 มิถุนายน 2548) ผมบอกว่าคนไทยในวันนี้ ทั้งๆ ที่เศรษฐกิจไม่ได้เลวร้ายอย่างที่คิด แต่เรากำลังอยู่ใน “กับดักของความรู้สึก” ข้างหน้าความห่วงเรื่องราคาน้ำมัน ทำให้จิตใจไม่ปลอดโปร่ง ข้างหลังเราเอาความรู้สึกของไตรมาส 1 ซึ่งเจอมรสุม 5 ลูกมาบอกว่าอนาคตเมืองไทยจะเป็นอย่างนั้น เสมือนหนึ่งว่า 5 ลูกนั้นกำลังจะเกิดขึ้นอีกในไตรมาส 3 ในไตรมาส 4 ข้อสำคัญก็คือว่าร้อยละ 3.3 ที่มันชะลอตัวลง มันผ่านไปแล้วนะ มันไม่ใช่สิ่งซึ่งกำลังจะเกิดขึ้น ผมถามท่านในห้องนี้ว่าในไตรมาส 1 ท่านรู้สึกว่าเศรษฐกิจย่ำแย่หนักหน่วงหรือไม่ จริงๆ แล้วมันผ่านมาแล้ว แทบจะไม่รู้สึกอะไร รู้แต่ว่ามีข่าวรายงานตลอดเวลาว่าเศรษฐกิจถดถอย เราเอาความรู้สึกของไตรมาส 1 บวกกับความห่วงใยทำให้เกิดความรู้สึกกังวล ความกังวลนี้เป็นสิ่งที่ไม่มีปัญหา แต่อย่ากังวลจนกระทั่งเกิดความวิตก การมองโลกในแง่ร้ายจนเกินไป
เมื่อสักครู่นี้นั่งอยู่บนเรือบินคุยกับผู้ช่วยรัฐมนตรี ว่าในภาษาอังกฤษมีคำอยู่คำหนึ่งเขาเรียกว่า “Perception” Perception ก็คือการมองโลก ความรู้สึกในการมอง Perceive อีกคำหนึ่งชื่อว่า Reality คือความเป็นจริง Perception อย่างหนึ่ง Reality อย่างหนึ่ง แต่ถ้าเรา Perceive อย่างนี้ไปเรื่อยๆ ก็เสมือนหนึ่ง Perception นั้นคือ Reality คือความเป็นจริง
ฉะนั้นนานๆ ครั้งหนึ่งผมก็ต้องมาบอกว่าความเป็นจริงเศรษฐกิจชะลอตัวลงนะ แต่ว่ามันยังไม่ได้เลวร้ายถึงขนาดที่ว่าย่ำแย่ หน้าตักผม 4 9 ล้าน billions ยังไม่ได้หายไปไหน การส่งออกยังดีอยู่ การลงทุนยังดีอยู่ ฉะนั้นต้องรักษาการส่งออกไว้ รักษาการลงทุนเอาไว้ ดูแลสินค้าเกษตรอย่าให้ราคาตก เพื่อให้อำนาจซื้อมันยังอยู่ รักษาความมั่นใจนี้เอาไว้ อย่าประมาท แล้วรัฐบาลจะดูแลทุกอย่าง ระวังอย่าให้เกิดเงินเฟ้อ ขอให้ท่านทำมาหากินไปตามปกติ เพียงแต่ว่าขอให้ช่วยกันประหยัดพลังงาน ผมขอแค่นี้
แต่ถ้าเมื่อไรที่ทุกคนบอกว่า “แย่แล้ว” “เจ๊งแล้ว” ผมหวั่นเกรงเป็นอย่างยิ่งว่าความรู้สึกอันนั้น ถามตัวท่านดู ถ้าท่านเกิดความรู้สึกนี้ ท่านยังคิดอยากไปเที่ยวข้างนอกไหม อยากดูหนังไหม อยากซื้อบ้านไหม ท่านจะเริ่มรู้สึกว่าเก็บเงินเอาไว้ก่อน พ่อค้าจะขึ้นคอนโดหรูจาก 2 เฟส 3 ตึก บอกว่าขอแค่ตึกเดียวก่อนได้ไหม 30 ชั้น เหลือแค่ 15 ชั้นก่อนได้ไหม ตรงนี้แหละที่รัฐบาลเป็นห่วง
วันนี้ยืนยันอีกครั้งหนึ่งว่าเศรษฐกิจไม่ได้ร้ายแรงปานนั้น เทียบกับเกาหลี เทียบกับไต้หวัน เทียบกับสิงคโปร์ เรายังดีกว่า เราแพ้มาเลเซีย แพ้อินโดนีเซีย เพราะว่าเขามีน้ำมัน เราไม่มีน้ำมัน แต่สิ่งสำคัญไม่ได้อยู่ที่ตรงนี้ สิ่งสำคัญคือสิ่งที่ผมพยายามบอกว่าให้มองไกลไปในอนาคต คนเรานะครับ ท่านสังเกตไหมว่าทำไมว่าคนนั้นเขาไปได้ดี ทำไมคนนี้ถึงไปไม่ได้ดีทั้งที่เรียนเก่งกว่า คำตอบก็คือว่าชีวิตคนเรานั้นมันอยู่ที่การมองการณ์ ใครมองการณ์ได้ไกล อ่านอนาคตได้ทะลุ มีการเตรียมการคนนั้นจะไปได้ดี แต่คนไหนที่ไม่สามารถมองการณ์ ปล่อยชีวิตของเราเองนั้นเสมือนหนึ่งผมเรียกว่าเครื่องเล่น Pinball ท่านเคยเล่นไหม ไอ้ติ๊งๆ สมัยก่อน ที่เด้งไปเด้งมาแล้วแต่ว่ามันจะเด้งไปทางไหน ไม่เคยคิดเลยว่าชาตินี้ผมจะเป็นอะไร ผมจะเตรียมการอะไร คนเหล่านั้นทั้งชีวิตไม่มีทางประสบความสำเร็จ โดยเฉพาะอย่างยิ่งนักศึกษาที่นั่งอยู่ในห้องนี้ ถ้าวันๆ ยังเอาแต่เล่น กิ๊กกั๊กๆ ไม่คิดถึงอนาคต คิดว่าวันที่เรียนจบคือวันที่สำเร็จการศึกษา ชีวิตของท่านจะจบ เพราะจริงๆ แล้วอนาคตของท่านจะเริ่มวันแรกก็คือวันที่ท่านสำเร็จการศึกษาแล้วเดินออกไป ท่านต้องศึกษาตลอดชีวิต คิดตลอดชีวิตว่าท่านจะเป็นอะไร จะทำอะไร จะเตรียมการอะไร
ประเทศก็เหมือนกัน ถ้าวันๆ มองอยู่แค่นี้ อีกหน่อยเชียงรายก็ไม่มีอะไรเหลือ และเชียงรายรู้จักมองการณ์ไปข้างหน้ามองว่ารัฐบาลขณะนี้ทำอะไร ยกตัวอย่างเช่น
ข้อที่ 1 รัฐบาลเปิด FTA กับจีน เรามองดูว่าเชียงรายมีอะไร ทรัพยากรธรรมชาติ เกษตร แหล่งท่องเที่ยว ที่สำคัญที่สุดก็คือว่าเป็นจุดเปิดทะลุถึงจีน ทะลุ GMS GMS ก็คือ Greater Mekong Subregion ก็คือ พม่า ลาว จีน ไทย ตรงนี้คือจุดมหาศาลเลยว่าอนาคตถ้าท่าน Manage ให้ดี เชียงรายจะรวยไม่รู้เรื่อง แต่ถ้าไม่มองการณ์เหล่านั้น โอกาสจะหายไป ถามว่าทำไม ประเทศจีนมีพลเมืองพันกว่าล้านคน มลฑลที่ติดอยู่กับเชียงรายใกล้สุดก็คือมลฑลยูนาน มีประชากรนั้นนับสิบๆ ล้านคน ถนนหนทางเชื่อมโยงใกล้จะจบแล้ว อีกหน่อยจากจีนสามารถทะลุยูนานลงมาเมืองไทยได้ ต่อไปถึงอินโดจีน ต่อไปถึงมาเลเซีย แปลว่าถ้าท่านวางแผนให้ดีๆ พัฒนาแหล่งท่องเที่ยวให้ดีๆ แหล่งท่องเที่ยวนี้ผมหมายถึงการทำแหล่งท่องเที่ยวให้มันดี ดึงดูดต่างประเทศ ไม่ใช่แค่ว่าให้เขามาแล้วก็มาเที่ยวเท่านั้นเอง
ผมยกตัวอย่างง่ายๆ สามเหลี่ยมทองคำมีอะไรบ้างนอกจากสามเหลี่ยม ผมไปมา 3 ครั้งแล้วคิดว่าผมจะไม่ไปเหยียบอีกเลย เพราะไม่มีอะไรเลย แค่มองว่าอันนี้นะพม่า อันนี้คือลาว และอันนี้คือไทย แต่ถ้าท่านรู้จักรักษาศักยภาพของสามเหลี่ยมทองคำนี้เอาไว้ จัดระเบียบให้ดีๆ สร้างหมู่บ้านท่องเที่ยวเชื่อมโยงสามเหลี่ยมทองคำมากับหอฝิ่น ท่านทราบใช่ไหมว่าต่างประเทศต้องการมาเยี่ยมหอฝิ่น มาดู สามเหลี่ยมทองคำมันดังเพราะอะไร ดังเพราะยาเสพติดที่ขึ้นชื่อลือชา เขาจะมาดูด้วยตาว่าสามเหลี่ยมทองคำนั้นคืออะไร ถ้าท่านรู้จักเชื่อมสามเหลี่ยมทองคำเข้ากับหอฝิ่น เข้ากับแหล่งท่องเที่ยวของเชียงราย
เชียงรายไม่มีอะไรสักอย่างที่แพ้เชียงใหม่เลย ดอยตุง แม่สะลอง เต็มไปหมดเลยที่จะเป็นแหล่งท่องเที่ยว สร้างหมู่บ้าน OTOP ขึ้นมา เอางบประมาณจังหวัดมาสร้างพัฒนาหมู่บ้านขึ้นมา ฝรั่งเวลามาเที่ยวไม่ใช่ไปซื้อตาม Department ให้เขาไปดูในหมู่บ้านท่องเที่ยว ดูว่าสินค้านั้น ชานั้นทำยากยังไง กระบวนการมันดียังไง สร้างเป็นหมู่บ้านท่องเที่ยว พัฒนาขึ้นมาให้น่าท่องเที่ยว สินค้าท่านจะขายที่ราคาแพงกว่าเดิมหลายสิบเท่า โรงงานแปรรูปจำเป็นต้องมีหรือไม่ นิคมอุตสาหกรรมเร่งหน่อย ส่งทีมไปต่างประเทศ ไปที่เมืองจีน ดึงดูดนักลงทุนเข้ามา อะไรที่ยังติดขัดช่วยกันแก้ไข
FTA เรื่องผักผลไม้เป็นแค่จุดเริ่มต้น อีกหน่อยมีอีกเยอะที่จะตามมา แต่พอเริ่มเปิดเราก็เริ่มโวย เช่นบอกว่าเปิดกับจีนมีอะไรดี เราเสียเปรียบ เปิดแล้วเราขาดดุลการค้ากับเขา จริงๆ แล้วเราก็ส่งออกเพิ่มได้มากขึ้น เขาก็ส่งออกเพิ่มมากขึ้น เพียงแต่ว่าในระยะเริ่มต้นนั้นเขาขายได้มากกว่าที่เราขายได้มากขึ้น แต่ทำไมเราไม่คิดในมุมกลับว่าทำไมเขาขายได้มากกว่า คนเขาพันล้านคน คนไทยเรามีแค่ 60 ล้านคน แต่ในช่วงเริ่มต้นนี้เราต้องยอมรับว่าพ่อค้าเขาเก่งกว่าพ่อค้าเรา ผลไม้ของเขา Packaging อย่างใหม่ ทำอย่างดี บังเอิญคนไทยรู้จักผลไม้เขาดี เช่น สาลี่ แอปเปิล ทุกคนเห็นแอปเปิลก็รู้ว่านี่แอปเปิล นี่คือสาลี่ แต่คนจีนเจอมังคุดไม่รู้จักมังคุด กินไม่เป็น เจอลองกองกินไม่เป็น เจอลางสาดกินไม่เป็น เจอเงาะกินไม่เป็น เจอทุเรียนกินไม่เป็น แต่ถ้าใครได้มีโอกาสได้ลองแล้วเขาจะรู้ว่าอร่อยติดใจกันทุกคน
ผมเพิ่งไปเมืองจีนมา เราเอาสินค้าไปโชว์ คนที่เอาไปโชว์ก็ลืมไปว่าเขากินไม่เป็น ไม่รู้จัก เจอคนจีนเข้ามาเราชวนให้เขากิน เขาหยิบมังคุดขึ้นมาตัดเป็น 2 ท่อนควักเนื้อออก กินเปลือก ลางสาดกัดทั้งลูก ไปเจอลูกชุบ เป็นมังคุด พยายามปลอกเปลือกลูกชุบ มันแปลว่าอะไร มันแปลว่าความพยายามในการสร้างให้เขารู้จักสินค้าเรามีไม่พอ ถ้าท่านรุกทีละมณฑลๆๆ ๆ มณฑลหนึ่ง 60 ล้านคน 60 ล้านคน 60 ล้านคน มีที่ไหนที่เราจะเสียเปรียบ
เราต้องไม่ทำตัวเราเหมือนกับนกกระจอกเทศ เห็นความเปลี่ยนแปลงเอาหัวซุกในดิน ให้รัฐบาลปกป้อง กระแสโลกเสรีมันกำลังเกิดขึ้น ต่อให้รัฐบาลอยากจะปกป้องช่วยเหลือท่าน อีกหน่อยจะปกป้องไม่ได้ อุตสาหกรรมนั้นก็จะให้ปกป้อง อุตสาหกรรมนี้ก็จะให้ปกป้อง กฎกติกาโลกมันบอกไว้แล้วว่าถึงปีไหนภาษีต้องเท่ากับศูนย์ คุณจะยืดอย่างไรนั้นแบบนกกระจอกเทศไม่เห็นโลก ไม่มองโลก ถึงเวลาเบี้ยวเขาเฉย บอกว่ายัง ขออีก 5 ปี มีโลกที่ไหนเขาจะยอมให้ท่านทำอย่างนั้น สิ่งสำคัญคือว่าต้องเตรียมตัวเราเองว่าอีก 5 ปีนะ อีก 3 ปีนะ เราต้องยืนอยู่บนขาตัวเราเอง สินค้าตัวนี้ปลูกแล้วขายไม่ออก ต้องปลูกตัวอื่น ชีวิตต้องดิ้นรน นี่คือความเป็นจริงของประเทศ รัฐบาลอยากไปช่วยปกป้อง แต่มันปกป้องไม่ได้อีกแล้ว WTO บอกมาแล้วกี่ปีภาษีเท่ากับศูนย์ ถ้าคุณขืนปกป้องเขาจะตอบโต้คุณสินค้าส่งออกไม่ได้ เจ๊งทั้งประเทศ แต่ตรงนี้เราไม่สำเนียก ไม่สำนึก เราไม่พัฒนาตัวเราเอง
ตรงนี้ที่ผมจะบอกว่าอันนี้นี่แหละนักศึกษานี้ต้องใส่สมองไว้เลยว่าคนเราต้องยืนอยู่บนขาของตัวเอง เรารู้ว่าสิ่งนี้สู้เขาไม่ได้ สิ่งอื่นสู้ได้ไหม ต้องหาออกมา ถ้าเรารู้จักอ่านเกมว่าอนาคตจะเป็นอย่างนี้ เชียงรายมีโอกาสมหาศาล จากยูนานลงมา ยูนานมันเชื่อมต่อถึงตะวันตกของจีน ทั้งสายนี้จะเจริญ ฉะนั้นโอกาสทองมันอยู่ที่ตรงนี้นี่แหละ ก่อนจะไปถึงจังหวัดอื่น ท่านจะตักตวงจากตรงนี้ได้อย่างไร? อนาคตนักท่องเที่ยวมาที่นี่ ท่านมีมัคคุเทศก์พร้อมไหม? บริษัทที่ทำเรื่องการท่องเที่ยวพร้อมไหม? โรงแรมพร้อมไหม? แหล่งท่องเที่ยวพร้อมไหม? เตรียมตัว ผลไม้มีเยอะ โรงงานแปรรูปมีหรือไม่? จะขนส่งอย่างไรที่จะแข่งกับเขา? วันนี้มีแต่เรือจีนลงมา เรือไทยขึ้นไปไม่มี เอกชนไม่กล้าลงทนสู้ ทุกอย่างมองไปที่รัฐบาล เมื่อไหร่รัฐบาลจะทำ ผมบอกว่าประเทศแข่งขันนั้นแข่งขันด้วยเอกชน รัฐบาลช่วยในการ Support ฉะนั้นต้องลุกขึ้นสู้
เชียงราย ถ้ามองภาพให้ชัดต้องดูออกเลยว่าอนาคตผมจะต้องเตรียมอะไร มหาวิทยาลัยเรื่องภาษาสำคัญมาก การตระเตรียมวิธีการในการสร้างนักศึกษาสำคัญมาก รัฐบาลบอกว่าอีกหน่อยเราต้องการส่งเสริม SME ท่านรู้ใช่ไหม ภาคเหนือทั้งภาคสินค้าท้องถิ่นรุ่งเรืองมาก บรรดา OTOP บรรดา SME ส่วนใหญ่อยู่ที่ทาง 8 จังหวัดภาคเหนือ ตรงนี้จะรุกสู่ต่างประเทศได้อย่างไร ทำไม่ยาก บทบาทมหาวิทยาลัยมีอะไร ท่านมีคณะที่เกี่ยวข้องกับเกษตรไหม? ถ้ามีจะต่อท่อกับจังหวัดได้ยังไง? เอาความรู้ของมหาวิทยาลัยต่อท่อถึงผู้ผลิต ท่านมีคณะบริหารธุรกิจใช่ไหม อนาคตข้างหน้าเราต้องการส่งเสริม SME เราต้องสร้างพ่อค้าให้รู้จักวิทยาการใหม่ๆ ไม่ต้องเลียนแบบตามก้นฝรั่ง เราต้องการ SME ซึ่งทำมาหากินประกอบธุรกิจได้ บริหารการเงินได้ แหล่งท่องเที่ยว อนาคตเชียงรายเป็นแหล่งท่องเที่ยวใช่ไหม? การฝึกฝนมัคคุเทศก์มีไหม? การฝึกฝนการบริหารการโรงแรมมีหรือไม่? Service Industry มีหรือไม่ในการพัฒนา? เวลาคนต่างประเทศมาเที่ยวเชียงราย ป้ายบอกทางเป็นภาษาอังกฤษมีไหม? ถ้าคนจีนมาเที่ยวเป็นแหล่งใหญ่ ทำไมไม่คิดทำป้ายภาษาจีนคู่ภาษาไทย?
(ยังมีต่อ)

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ