บันทึกการประชุมวุฒิสภา ครั้งที่ ๑๙ (สมัยสามัญนิติบัญญัติ)

ข่าวการเมือง Tuesday October 17, 2000 10:25 —รัฐสภา

                                                      บันทึกการประชุมวุฒิสภา
ครั้งที่ ๑๙ (สมัยสามัญนิติบัญญัติ)
วันศุกร์ที่ ๑๓ ตุลาคม ๒๕๔๓
ณ ตึกรัฐสภา
เริ่มประชุมเวลา ๐๙.๔๕ นาฬิกา
เมื่อสมาชิกฯ มาครบองค์ประชุมแล้ว นายสนิท วรปัญญา ประธานวุฒิสภา
นายเฉลิม พรหมเลิศ รองประธานวุฒิสภาคนที่หนึ่ง และนายบุญทัน ดอกไธสง รองประธาน
วุฒิสภาคนที่สอง ขึ้นบัลลังก์
ประธานวุฒิสภาได้กล่าวเปิดประชุม แล้วแจ้งให้ที่ประชุมรับทราบเรื่องต่าง ๆ ดังนี้
๑. เหตุขัดข้องที่ไม่อาจบรรจุกระทู้ถามเข้าระเบียบวาระการประชุมได้ภายในกำหนด
เวลา ตามข้อบังคับฯ ข้อ ๑๒๙ จำนวน ๑ กระทู้ คือกระทู้ถามเรื่องยอดหนี้เงินกู้ของประเทศและ
การปฏิรูประบบราชการของนายบุญเลิศ ไพรินทร์
๒. ในคราวประชุมสภาผู้แทนราษฎร เมื่อวันพุธที่ ๑๑ ตุลาคม ๒๕๔๓ ที่ประชุม
ได้พิจารณาร่างพระราชบัญญัติ ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร
และสมาชิกวุฒิสภา (ฉบับที่ ..) พ.ศ. …. ซึ่งวุฒิสภาแก้ไขเพิ่มเติม และลงมติไม่เห็นชอบ
ด้วยกับการแก้ไขเพิ่มเติม และได้กำหนดจำนวนบุคคล ที่จะประกอบเป็นคณะกรรมาธิการร่วมกัน
สภาละ ๑๐ คน ตามรัฐธรรมนูญฯ มาตรา ๑๗๕ (๓)
ต่อมาประธานวุฒิสภาได้ปรึกษาที่ประชุมเพื่อขอนำเรื่อง ตั้งกรรมาธิการร่วมกันเพื่อ
พิจารณาร่างพระราชบัญญัติดังกล่าว ให้ที่ประชุมพิจารณาซึ่งที่ประชุมมีมติเห็นชอบและมีมติให้ตั้ง
กรรมาธิการร่วมกันฝ่ายวุฒิสภา จำนวน ๑๐ คน ประกอบเป็นคณะกรรมาธิการร่วมกันเพื่อพิจารณา
ร่างพระราชบัญญัติดังกล่าว ประกอบด้วย
๑. นายไสว พราหมณี ๒. นายปรีดี หิรัญพฤกษ์
๓. นายการุณ ใสงาม ๔. นายวิชิต พูลลาภ
๕. พลเอก หาญ ลีนานนท์ ๖. นางอรัญญา สุจนิล
๗. นายชุมพล ศิลปอาชา ๘. นายสัก กอแสงเรือง
๙. นายประสิทธิ์ พิทูรกิจจา ๑๐. นายสมเกียรติ อ่อนวิมล
จากนั้นรองประธานวุฒิสภาคนที่หนึ่งผู้ปฏิบัติหน้าที่แทนประธานวุฒิสภา ได้ดำเนินการ
ประชุมต่อโดยสนอให้ที่ประชุมรับรองรายงานการประชุมวุฒิสภา ครั้งที่ ๒ (สมัยสามัญนิติบัญญัติ)
วันศุกร์ที่ ๑๑ สิงหาคม ๒๕๔๓ ซึ่งที่ประชุมได้รับรองรายงานการประชุมครั้งดังกล่าว
ต่อมาผู้ปฏิบัติหน้าที่แทนประธานวุฒิสภาได้ปรึกษาที่ประชุมเพื่อขอนำเรื่องคณะกรรมาธิ
การวิสามัญฯ ขอขยายเวลาการพิจารณาร่างพระราชบัญญัติ สภาอุตสาหกรรมท่องเที่ยวแห่ง
ประเทศไทย พ.ศ. ….ออกไปเป็นกรณีพิเศษอีก ๓๐ วัน นับแต่วันที่ ๑๗ ตุลาคม ๒๕๔๓ ให้ที่
ประชุมพิจารณาซึ่งที่ประชุมมีมติเห็นชอบ และมีมติให้ขยายเวลาการพิจารณาร่างพระราชบัญญัติ
ดังกล่าวได้ตามที่คณะกรรมาธิการวิสามัญฯ ร้องขอ
จากนั้น ผู้ปฏิบัติหน้าที่แทนประธานวุฒิสภา ได้เสนอให้ที่ประชุมพิจารณาเรื่องตาม
ระเบียบวาระเรื่องด่วนตามลำดับ ดังนี้
๑. ขออนุญาตวุฒิสภาเพื่อหมายเรียกตัว พลตำรวจโท ณรงค์ อมาตยกุล สมาชิกวุฒิ
สภา ไปทำการสอบสวนในฐานะผู้ต้องหาในคดีอาญา ในระหว่างสมัยประชุมตามรัฐธรรมนูญฯ
มาตรา ๑๖๕ หลังจากสมาชิกฯ อภิปราย ที่ประชุมมีมติไม่อนุญาต
๒. การเลือกตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ แทนตำแหน่งที่ว่าง ๑ ตำแหน่ง
เนื่องจากคณะกรรมาธิการสามัญเพื่อทำหน้าที่ตรวจสอบประวัติและความประพฤติ
ของบุคคลผู้ได้รับการเสนอชื่อให้ดำรงตำแหน่งตุลาการศาลรัฐธรรมนูญได้ร้องขอให้มีการประชุมลับ
เพื่อพิจารณาเรื่องดังกล่าวตามข้อบังคับฯ ข้อ ๙๙ วรรคสอง ซึ่งที่ประชุมมีมติเห็นชอบผู้ปฏิบัติหน้าที่
แทนประธานวุฒิสภา จึงได้ดำเนินการประชุมลับเพื่อพิจารณาเรื่องดังกล่าว เมื่อคณะกรรมาธิการฯ
เสนอรายงานและมีสมาชิกฯ อภิปรายแล้วที่ประชุมได้มีมติเลือกนายอมร รักษาสัตย์ ดำรงตำแหน่ง
ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ แทนตำแหน่งที่ว่าง
ต่อมารองประธานวุฒิสภาคนที่สองผู้ปฏิบัติหน้าที่แทนประธานวุฒิสภาได้ดำเนินการประชุม
ต่อโดยเสนอให้ที่ประชุมพิจารณาเรื่องตามระเบียบวาระเรื่องด่วนการเลือกกรรมการสิทธิมนุษยชน
แห่งชาติ
เมื่อคณะกรรมาธิการฯ เสนอรายงาน และมีสมาชิกฯ อภิปรายแล้ว ที่ประชุม
ได้มีมติเลือกกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ จำนวน ๙ คน (ซึ่งยังไม่ครบจำนวน ๑๑ คน
ตามมาตรา ๕ แห่งพระราชบัญญัติคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ พ.ศ. ๒๕๔๒)
ประกอบด้วย
๑. นายสุรสีห์ โกศลนาวิน ๒. นายเสน่ห์ จามริก
๓. นายจรัล ดิษฐาอภิชัย ๔. คุณหญิงอัมพร มีศุข
๕. คุณหญิงจันทนี สันตะบุตร ๖. นายประดิษฐ์ เจริญไทยทวี
๗. นายวสันต์ พานิช ๘. นางสาวอาภร วงษ์สังข์
๙. นางสาวนัยนา สุภาพึ่ง
จากนั้น ประธานวุฒิสภาได้ดำเนินการประชุมโดยเปิดเผย แล้วได้ปรึกษาที่ประชุม
เพื่อขอนำเรื่องตามระเบียบวาระ เรื่องที่คณะกรรมาธิการพิจารณาเสร็จแล้ว ขึ้นมาพิจารณาก่อน
ซึ่งที่ประชุมมีมติเห็นชอบ ประธานวุฒิสภาจึงเสนอให้ที่ประชุมพิจารณาเรื่องตามระเบียบวาระ
เรื่องที่คณะกรรมาธิการพิจารณาเสร็จแล้ว ตามลำดับ ดังนี้
๑. ร่างพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ (ฉบับที่ ..) พ.ศ. ….
ซึ่งคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาเสร็จแล้ว
ที่ประชุมได้พิจารณาในวาระที่ ๒ เริ่มต้นด้วยชื่อร่าง คำปรารภ แล้วเรียงตาม
ลำดับมาตราจนจบร่าง และลงมติในวาระที่ ๓ ให้แก้ไขเพิ่มเติม
อนึ่ง คณะกรรมาธิการฯ ได้เสนอข้อสังเกตในการพิจารณาร่างพระราชบัญญัติ
ดังกล่าวท้ายรายงานของคณะกรรมาธิการฯ ซึ่งที่ประชุมมีมติเห็นชอบด้วยกับข้อสังเกตของ
คณะกรรมาธิการฯ เพื่อแจ้งไปยังคณะรัฐมนตรีพิจารณาดำเนินการต่อไป
๒. ร่างพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมพระราชกำหนดป้องกันการใช้สารระเหย
พ.ศ. ๒๕๓๓ (ฉบับที่ ..) พ.ศ. …. ซึ่งคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาเสร็จแล้ว
๓. ร่างพระราชบัญญัติวัตถุที่ออกฤทธิ์ต่อจิตและประสาท (ฉบับที่ ..) พ.ศ. ….
ซึ่งคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาเสร็จแล้ว
ในการพิจารณาร่างพระราชบัญญัติตามลำดับที่ ๒ และลำดับที่ ๓ ที่ประชุม
ได้พิจารณาในวาระที่ ๒ เริ่มต้นด้วยชื่อร่าง คำปรารภ แล้วเรียงตามลำดับมาตราจนจบร่าง
และลงมติในวาระที่ ๓ ให้แก้ไขเพิ่มเติม ทั้ง ๒ ฉบับ ทีละฉบับ ตามลำดับ
ต่อมา รองประธานวุฒิสภาคนที่สอง ผู้ปฏิบัติหน้าที่แทนประธานวุฒิสภาได้
ดำเนินการประชุมต่อ โดยเสนอให้ที่ประชุมพิจารณาเรื่องตามระเบียบวาระ เรื่องที่คณะกรรมาธิการ
พิจารณาเสร็จแล้ว คือ ร่างพระราชบัญญัติสภาที่ปรึกษาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ พ.ศ. ….
ซึ่งคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาเสร็จแล้ว
ที่ประชุมได้พิจารณาในวาระที่ ๒ เริ่มต้นด้วยชื่อร่าง คำปรารภ แล้วเรียงตาม
ลำดับมาตราจนถึงมาตรา ๙ ผู้ปฏิบัติหน้าที่แทนประธานวุฒิสภาจึงได้สั่งเลื่อนการพิจารณา
ร่างพระราชบัญญัติสภาที่ปรึกษาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ พ.ศ. …. ไปพิจารณาในการ
ประชุมวุฒิสภา ครั้งที่ ๒๐ (สมัยสามัญนิติบัญญัติ) เป็นพิเศษ วันจันทร์ที่ ๑๖ ตุลาคม ๒๕๔๓
เลิกประชุมเวลา ๑๘.๔๐ นาฬิกา
พินิต อารยะศิริ
(นายพินิต อารยะศิริ)
เลขาธิการวุฒิสภา
สรุปผลการพิจารณาร่างพระราชบัญญัติ
ให้แก้ไขเพิ่มเติมร่างพระราชบัญญัติ จำนวน ๓ ฉบับ คือ
๑. ร่างพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ (ฉบับที่ ..) พ.ศ. ….
๒. ร่างพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมพระราชกำหนดป้องกันการใช้สารระเหย
พ.ศ. ๒๕๓๓ (ฉบับที่ ..) พ.ศ. ….
๓. ร่างพระราชบัญญัติวัตถุที่ออกฤทธิ์ต่อจิตและประสาท (ฉบับที่ ..) พ.ศ. ….
ฝ่ายระเบียบวาระและรายงานการประชุม
กองการประชุม
โทร. ๒๔๔๑๕๖๘
โทรสาร ๒๔๔๑๕๖๖

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ