บันทึกการประชุมวุฒิสภา ครั้งที่ ๓๕ (สมัยสามัญนิติบัญญัติ)

ข่าวการเมือง Monday November 19, 2001 11:40 —รัฐสภา

                                บันทึกการประชุมวุฒิสภา
ครั้งที่ ๓๕ (สมัยสามัญนิติบัญญัติ)
วันศุกร์ที่ ๑๖ พฤศจิกายน ๒๕๔๔
ณ ตึกรัฐสภา
เริ่มประชุมเวลา ๐๙.๓๕ นาฬิกา
เมื่อสมาชิกฯ มาครบองค์ประชุมแล้ว พลตรี มนูญกฤต รูปขจร ประธานวุฒิสภา
นายพิเชฐ พัฒนโชติ รองประธานวุฒิสภาคนที่หนึ่ง และนายบุญทัน ดอกไธสง รองประธานวุฒิสภา
คนที่สอง ขึ้นบัลลังก์
ประธานวุฒิสภาได้กล่าวเปิดประชุม แล้วแจ้งให้ที่ประชุมรับทราบเรื่องต่าง ๆ ดังนี้
๑. ในคราวประชุมสภาผู้แทนราษฎร เมื่อวันพุธที่ ๗ พฤศจิกายน ๒๕๔๔
ที่ประชุมได้ลงมติเห็นชอบด้วยกับร่างพระราชบัญญัติเงินเดือนและเงินประจำตำแหน่งข้าราชการอัยการ
พ.ศ. …. ซึ่งวุฒิสภาแก้ไขเพิ่มเติม จึงถือว่าร่างพระราชบัญญัติดังกล่าวได้รับความเห็นชอบของรัฐสภาแล้ว
ตามรัฐธรรมนูญฯ มาตรา ๑๗๕ (๓)
๒. ตามที่วุฒิสภาได้มีมติเห็นชอบด้วยกับข้อสังเกตของคณะกรรมาธิการ และส่งให้
คณะรัฐมนตรีรับไปพิจารณาดำเนินการ นั้น คณะรัฐมนตรีได้มีมติเมื่อวันที่ ๖ พฤศจิกายน ๒๕๔๔
รับทราบข้อสังเกตของคณะกรรมาธิการ ดังนี้
๑) ข้อสังเกตของคณะกรรมาธิการการแรงงานและสวัสดิการสังคม เกี่ยวกับ
ร่างพระราชบัญญัติแรงงานสัมพันธ์ (ฉบับที่ ..) พ.ศ. …. และมอบให้กระทรวงมหาดไทย
และกระทรวงแรงงานและสวัสดิการสังคมรับไปพิจารณาดำเนินการ
๒) ข้อสังเกตของคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาร่างพระราชบัญญัติ
กองทุนฟื้นฟูและพัฒนาเกษตรกร (ฉบับที่ ..) พ.ศ. …. และมอบให้กระทรวงการคลังและ
กระทรวงเกษตรและสหกรณ์รับไปพิจารณาดำเนินการ รวมทั้งเห็นชอบให้นำบันทึกเหตุผล
ของร่างพระราชบัญญัติดังกล่าว ซึ่งจะได้นำลงประกาศในราชกิจจานุเบกษาพร้อมกับ
ร่างพระราชบัญญัติดังกล่าว
๓. สำนักงานศาลรัฐธรรมนูญ ได้ส่งสำเนาคำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญที่ ๓๓/๒๕๔๔
เรื่อง พระราชกำหนดบรรษัทบริหารสินทรัพย์ไทย พ.ศ. ๒๕๔๔ มาตรา ๑๑ มาตรา ๕๘
วรรคสี่ และมาตรา ๗๒ วรรคสอง (๒) มีปัญหาเกี่ยวกับความชอบด้วยรัฐธรรมนูญ ซึ่งศาลรัฐธรรมนูญ
มีมติวินิจฉัยด้วยเสียงข้างมากว่า พระราชกำหนดบรรษัทบริหารสินทรัพย์ไทย พ.ศ. ๒๕๔๔
มาตราดังกล่าว ไม่ขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญ จึงไม่มีปัญหาเกี่ยวกับความชอบด้วยรัฐธรรมนูญ
ต่อมา ประธานวุฒิสภาได้เสนอให้ที่ประชุมพิจารณาเรื่องตามระเบียบวาระ
เรื่องด่วน คือ ตั้งคณะกรรมาธิการสามัญเพื่อทำหน้าที่ตรวจสอบประวัติและความประพฤติของ
บุคคลผู้ได้รับการเสนอชื่อให้ดำรงตำแหน่งตุลาการศาลรัฐธรรมนูญผู้ทรงคุณวุฒิสาขานิติศาสตร์
แทนตำแหน่งที่ว่าง ๑ ตำแหน่ง ตามรัฐธรรมนูญฯ มาตรา ๑๓๕ ประกอบข้อบังคับฯ ข้อ ๙๖
และข้อ ๙๗ จำนวน ๑๑ คน ประกอบด้วย
๑. นายจอน อึ๊งภากรณ์ ๒. นายวิโรจน์ อมตกุลชัย
๓. พลโท โอภาส รัตนบุรี ๔. พลตำรวจโท ทวี ทิพย์รัตน์
๕. นายทองใบ ทองเปาด์ ๖. พลตำรวจเอก สมชาย ไชยเวช
๗. นายสราวุธ นิยมทรัพย์ ๘. พันตำรวจเอก สุรพงศ์ ไผ่นวล
๙. พลเอก บัณฑิตย์ มลายอริศูนย์ ๑๐. พลเอก ยุทธนา คำดี
๑๑. นายสันติ์ เทพมณี
จากนั้น ประธานวุฒิสภาได้ปรึกษาที่ประชุมเพื่อขอนำเรื่องด่วน ลำดับที่ ๕
ขึ้นมาให้ที่ประชุมพิจารณาก่อน ซึ่งที่ประชุมมีมติเห็นชอบ ประธานวุฒิสภาจึงเสนอให้ที่ประชุมพิจารณา
เรื่องด่วน คือ การเลือกผู้ว่าการตรวจเงินแผ่นดิน หลังจากคณะกรรมาธิการสามัญ
เพื่อทำหน้าที่ตรวจสอบประวัติและความประพฤติของบุคคลผู้ได้รับการเสนอชื่อให้ดำรงตำแหน่ง
ผู้ว่าการตรวจเงินแผ่นดินได้แถลงรายงาน มีสมาชิกฯ อภิปราย คณะกรรมาธิการฯ ตอบชี้แจงแล้ว
ที่ประชุมมีมติให้มีการเลือกและให้ความเห็นชอบผู้ดำรงตำแหน่งผู้ว่าการตรวจเงินแผ่นดิน
จากบัญชีรายชื่อที่คณะกรรมการตรวจเงินแผ่นดินเสนอโดยที่ประชุมได้ดำเนินการประชุมลับ
เพื่อพิจารณาเรื่องดังกล่าว ตามข้อบังคับฯ ข้อ ๑๐๓ วรรคสอง ตามที่คณะกรรมาธิการฯ
ร้องขอ ซึ่งที่ประชุมได้ลงมติเลือกและให้ความเห็นชอบให้ นางจารุวรรณ เมณฑกา
ดำรงตำแหน่งผู้ว่าการตรวจเงินแผ่นดิน
ต่อมา รองประธานวุฒิสภาคนที่หนึ่ง และรองประธานวุฒิสภาคนที่สอง
ได้ผลัดเปลี่ยนกันเป็นประธานของที่ประชุม แล้วได้ดำเนินการประชุมโดยเปิดเผยโดยเสนอให้
ที่ประชุมพิจารณาเรื่องด่วน คือ ร่างพระราชบัญญัติวิชาชีพการสัตวแพทย์ พ.ศ. ….
ซึ่งคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาเสร็จแล้ว โดยประธานของที่ประชุมได้อนุญาตให้
นายยุคล ลิ้มแหลมทอง รองอธิบดีกรมปศุสัตว์ นายสงคราม เหลืองทองคำ รองปลัด
ทบวงมหาวิทยาลัย นายปานเทพ รัตนากร คณบดีคณะสัตวแพทย์ศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล
นางอุษุมา กู้เกียรตินันท์ ผู้เชี่ยวชาญด้านป้องกันกำจัดโรคสัตว์ กรมปศุสัตว์ และ
นายประเวศ อรรถศุภผล นักกฎหมายกฤษฎีกา ๘ ว. เข้าร่วมชี้แจงต่อที่ประชุม
ตามข้อบังคับฯ ข้อ ๖๐ ที่ประชุมได้พิจารณาในวาระที่ ๒ เริ่มต้นด้วยชื่อร่าง คำปรารภ
แล้วเรียงตามลำดับมาตราจนจบร่าง และลงมติในวาระที่ ๓ ให้แก้ไขเพิ่มเติม
อนึ่ง คณะกรรมาธิการฯ ได้เสนอข้อสังเกตในการพิจารณาร่างพระราชบัญญัติ
ดังกล่าว ซึ่งที่ประชุมมีมติเห็นด้วยกับข้อสังเกตของคณะกรรมาธิการฯ เพื่อแจ้งไปยัง
คณะรัฐมนตรีพิจารณาดำเนินการต่อไป
เลิกประชุมเวลา ๑๗.๓๕ นาฬิกา
(ลายเซ็น)
(นายจำนงค์ สวมประคำ)
เลขาธิการวุฒิสภา
สรุปผลการพิจารณาร่างพระราชบัญญัติ
ให้แก้ไขเพิ่มเติมร่างพระราชบัญญัติ จำนวน ๑ ฉบับ คือ
- ร่างพระราชบัญญัติวิชาชีพการสัตวแพทย์ พ.ศ. ….
กลุ่มงานรายงานการประชุม
สำนักการประชุม
โทร. ๐ ๒๒๔๔ ๑๕๖๘
โทรสาร ๐ ๒๒๔๔ ๑๕๖๖

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ