สรุปการประชุมสภาผู้แทนราษฎรวันพุธที่ ๒ พฤศจิกายน ๒๕๔๘

ข่าวการเมือง Thursday November 3, 2005 10:22 —รัฐสภา

          การประชุมสภาผู้แทนราษฎร ชุดที่ ๒๒ ปีที่ ๑  ครั้งที่ ๒๒  (สมัยสามัญนิติบัญญัติ)   วันพุธที่ ๒  พฤศจิกายน ๒๕๔๘ เริ่มขึ้นเมื่อเวลา ๑๓.๓๒ นาฬิกา โดยมีนายโภคิน  พลกุล  ประธานสภาผู้แทนราษฎร เป็นประธานในการประชุม เมื่อครบองค์ประชุมประธานการประชุมได้ดำเนินการประชุมตามระเบียบวาระดังนี้
๑. กระทู้ถาม (ไม่มี)
๒. เรื่องที่ประธานจะแจ้งต่อที่ประชุม
๑. รับทราบพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ ประกาศให้รัฐมนตรีพ้นจากความเป็น
รัฐมนตรีและแต่งตั้งรัฐมนตรี บัดนี้ นายกรัฐมนตรีได้กราบบังคมทูลพระกรุณาว่า นายสุชัย
เจริญรัตนกุล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ได้ลาออกจากตำแหน่งตั้งแต่วันที่ ๓๑ ตุลาคม ๒๕๔๘ ความเป็นรัฐมนตรีจึงสิ้นสุดลงตามที่ลาออก และสมควรปรับปรุงคณะรัฐมนตรีบางตำแหน่ง
เพื่อความเหมาะสมและเกิดประโยชน์ต่อทางราชการ อาศัยอำนาจตามความในมาตรา ๒๐๑ และมาตรา ๒๑๗ ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย
จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมให้รัฐมนตรีพ้นจากความเป็นรัฐมนตรีและแต่งตั้งรัฐมนตรี
- ให้รัฐมนตรีพ้นจากความเป็นรัฐมนตรี คือ นายพินิจ จารุสมบัติ รองนายกรัฐมนตรี พ้นจากความเป็นรัฐมนตรี
- ให้แต่งตั้งรัฐมนตรี คือ นายสุชัย เจริญรัตนกุล เป็นรองนายกรัฐมนตรี นายพินิจ
จารุสมบัติ เป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข
ทั้งนี้ตั้งแต่บัดนี้เป็นต้นไป ประกาศเมื่อวันที่ ๓๑ ตุลาคม ๒๕๔๘ เป็นปีที่ ๖๐ ในรัชกาล
ปัจจุบัน ผู้รับสนองพระบรมราชโองการ พันตำรวจโททักษิณ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี
๒. รับทราบเรื่องที่วุฒิสภามีหนังสือแจ้งว่า ในคราวประชุมวุฒิสภา ครั้งที่ ๑๖
(สมัยสามัญนิติบัญญัติ) เมื่อวันอังคารที่ ๑๘ ตุลาคม ๒๕๔๘ ที่ประชุมได้พิจารณาและรับทราบรายงานประจำปี ๒๕๔๖ ของสถาบันพระปกเกล้า ตามมาตรา ๒๖ แห่งพระราชบัญญัติสถาบันพระปกเกล้า พ.ศ. ๒๕๔๑ แล้ว
๓. การที่ประธานคณะกรรมาธิการวิสามัญ เพื่อพิจารณาศึกษาปัญหาภัยแล้งได้มี
หนังสือขอขยายเวลาการพิจารณาศึกษาเรื่องดังกล่าวออกไปอีก ๑๒๐ วัน ตามข้อบังคับการประชุมฯ
ข้อ ๙๗ เนื่องจากคณะกรรมาธิการฯ ไม่สามารถพิจารณาให้แล้วเสร็จภายในเวลาที่กำหนดไว้ ด้วยเหตุที่
การพิจารณานั้นมีการแต่งตั้งคณะอนุกรรมาธิการฯ เพื่อติดตามปัญหาในภาคต่าง ๆ รวม ๕ คณะ รวมทั้งต้องรับฟังข้อมูลข้อเท็จจริงและติดตามการแก้ไขปัญหาภัยแล้งของหน่วยงานต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้อง จึงต้องใช้เวลาพิจารณาศึกษาอีกระยะหนึ่ง ซึ่งพิจารณาแล้วเห็นว่าน่าจะเป็นประโยชน์แก่กิจการการทำงานของรัฐสภาจึงได้อนุญาตและให้คณะกรรมาธิการฯ ขยายระยะเวลาศึกษาออกไปตามที่ร้องขอ ซึ่งเป็นไปตามข้อบังคับข้อ ๙๗ วรรค ๒
๔. การที่ประธานวุฒิสภาได้มีหนังสือแจ้งว่าในการประชุมวุฒิสภา ครั้งที่ ๑๖ (สมัย
สามัญนิติบัญญัติ) ในวันอังคารที่ ๑๘ ตุลาคม ๒๕๔๘ ที่ประชุมได้ลงมติให้ขยายเวลาการพิจารณาร่าง
พระราชบัญญัติมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าพระนครเหนือ พ.ศ. …. ออกไปเป็นกรณีพิเศษอีก
๓๐ วัน นับแต่วันที่ ๒๖ ตุลาคม ๒๕๔๘ ทั้งนี้เป็นไปตามมาตรา ๑๗๔ ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณา
จักรไทย
๕. ได้มีการจัดทำเหรียญบูชาของหลวงพ่อคูณ ปริสุทโธ รุ่นวันประชาธิปไตย เพื่อนำรายได้เข้ากองทุน ๑๔ ตุลาคม วันประชาธิปไตย ซึ่งยังมีเหลืออยู่ให้ได้เช่าบูชา ดังนี้
เหรียญทอง ราคา ๑๙,๙๙๙ บาท เหรียญเงิน ราคา ๙๙๙ บาท เหรียญทองแดง
ชุบทอง ราคา ๑๙๙ บาท เหรียญทองแดง ราคา ๙๙ บาท และมีแบบแพ็คเกจ โดยมีรวมเหรียญทอง
เหรียญเงิน เหรียญทองแดงชุบทอง ในราคา ๑๐,๙๙๙ บาท สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรต้องการเช่าบูชาติดต่อได้ที่ สำนักการคลังและงบประมาณ และสำนักกฎหมาย ของสำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทน
ราษฎร
๓. รับรองรายงานการประชุม (ไม่มี)
ประธานได้หารือเรื่องด่วนขึ้นมาพิจารณา คือ
๑. ร่างพระราชบัญญัติการยางแห่งประเทศไทย พ.ศ. …. ซึ่งคณะรัฐมนตรี เป็น
ผู้เสนอ
๒. ร่างพระราชบัญญัติการยางแห่งประเทศไทย พ.ศ. …. ซึ่งนายอาคม เอ่งฉ้วน กับคณะ เป็นผู้เสนอ ที่ยังค้างอยู่ และมีสมาชิกฯ ที่จะอภิปรายเหลืออีก ๗-๘ คน ก็ขอให้พิจารณาเรื่องนี้ก่อน และตามด้วยเรื่องที่กรรมาธิการพิจารณาเสร็จแล้วพิจารณาต่อ
ที่ประชุมรับทราบ
นายชินวรณ์ บุณยเกียรติ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดนครศรีธรรมราช พรรคประชาธิปัตย์ อภิปรายถึงผลดีที่นำพระราชบัญัติการยาง พ.ศ…. เข้ามาพิจารณาในช่วงนี้ เพราะ
ประการแรก รัฐวิสาหกิจการยางเป็นรัฐวิสาหกิจแรกที่รัฐบาลได้นำเสนอเป็นกฏหมายและมุ่งเน้นให้มีเอกภาพและครบวงจร และเป็นช่วงที่มีการเปลี่ยนแปลงตัวบุคคลที่รับผิดชอบของทางกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ สำหรับยางพารานั้นเป็นพืชเศรษฐกิจที่สำคัญที่สร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจเกือบถึง ๒๐๐,๐๐๐ ล้านบาท ซึ่งนับเป็นอันดับสองรองจากข้าว ปัจจุบันมีพื้นที่ปลูกยางอยู่เกือบ ทุกภาคในประเทศไทยรวมทั้งหมด ๔๒ จังหวัดไม่ใช่แค่ภาคใต้เท่านั้นและมีเกษตรกรที่ทำสวนยางพารา เกือบ ๑ ล้านครอบครัว
ประการที่สอง รัฐมนตรีที่รับผิดชอบเรื่องนี้และเพื่อนสมาชิกฯ ต้องตอบคำถาม อย่างน้อย ๖ คำถามที่เกี่ยวข้องกับการจัดตั้งการยางแห่งประเทศไทย คำถามแรก คือ ทำไมเกษตรกรชาวสวนยางยังยากจนอยู่ พื้นที่เพาะปลูกมีทั้งหมดประมาณ ๑๓ ล้านไร่ มีพื้นที่ของคนยากจนอยู่ ๑๒.๒๖ ล้านไร่ และเป็นพื้นที่ของรายใหญ่ ๙ แสนกว่าล้านไร่เท่านั้นเองคิดเป็นร้อยละ๑๐ แต่ร้อยละ ๙๐ เป็นเกษตรกรสวนยางรายย่อย คำถามที่สอง ทำไมตลาดยางถึงเป็นของผู้ซื้อ ซึ่งผู้ค้ารายใหญ่คือประเทศไทยเอง คำถามที่สาม เมื่อตลาดเป็นของผู้ซื้อ รัฐบาลมีความจำเป็นทั้ง ๆ ที่ต้องประกอบธุรกิจเกี่ยวกับเรื่องนี้หรือไม่ คำถามที่สี่ ทำไมเวลาที่รัฐบาลแทรกแซงราคายางพาราในช่วงที่ราคายางตกต่ำ รัฐบาลถึงขาดทุน กฏหมายที่ร่างขึ้นมาใหม่นั้นจะแก้ไขปัญหาในการลดภาระของรัฐบาลได้อย่างไรและต้องตอบปัญหาในอนาคตได้ว่ารัฐบาลจะประกอบธุรกิจได้หรือไม่ คำถามที่ห้า ประเทศไทยปลูกยางมา ๑๐๖ ปีทำไมไม่สามารถที่จะสร้างมูลค่าผลิตภัณฑ์ยางให้เพิ่มมากขึ้นได้ ทำไมไม่ส่งเสริมให้มีการใช้ยางในประเทศ นิคมอุตสาหกรรมยางมีความคืบหน้าไปอย่างไร กฏหมายฉบับนี้จะส่งเสริมให้มีนิคม อุตสาหกรรมยางหรือเมืองยางได้อย่างไร คำถามที่หก จะส่งเสริมให้ตัวแทนเกษตรกรชาวสวนยางให้มีความเข้มแข็งได้อย่างไร กฏหมายฉบับนี้ ได้รองรับให้สหภาพการยางแห่งประเทศไทยได้มีส่วนกำหนด และได้มีการบริหารจัดการได้อย่างไร คำถามสุดท้าย ทำอย่างไรให้การบริหารภาคยางให้เป็นเอกภาพและครบวงจรอย่างแท้จริง คณะกรรมาธิการฯ อันดับแรกที่ต้องให้ความสำคัญสูงสุดในกฏหมายฉบับนี้ต้องส่งเสริมให้มีการปลูกยางที่มีคุณภาพ ทั้งในเรื่องน้ำยาง ไม้ยางและใบยางที่เป็นห่วงก็คือพันธุ์กล้ายางตามโครงการ ๑ ล้านไร่ เป็นกล้าพันธุ์ตาสอยที่ไม่ได้เกิดในภาคใต้ อาจไม่ใช่กล้ายางพันธุ์ดีที่จะมีปัญหาใน อีก ๗ ปี หรือ ๒๕ ปีข้างหน้า ซึ่งควรจะมีหน่วยงานของการยางแห่งประเทศไทย
ที่ต้องรับผิดชอบเรื่องนี้อันดับสองคือ วัตถุประสงค์ของการยางแห่งประเทศไทยต้องเน้นการวิจัยและพัฒนา เพื่อเพิ่มการใช้ยางในประเทศและอันดับสามคือ การส่งเสริมและให้ความช่วยเหลือแก่เกษตรกรชาวสวนยาง ๑ ล้านครอบครัว ครอบครัวละ ๔ คน ก็ประมาณ ๔ ล้านคน และคนที่เข้ามาเกี่ยวข้องกับวงจรยางอีกทั้งหมด ๑ ล้านครอบครัวไม่ว่าจะเป็นผู้ผลิตพันธ์ยาง คนค้ายาง เจ้าของโรงงานยางกฎหมายฉบับนี้ต้องดูแล ตั้งแต่การผลิต การแปรรูป การอุตสาหกรรม การตลาด การจำหน่าย ตลอดถึงการยกระดับคุณภาพชีวิตให้สูงขึ้นและสิ่งที่สำคัญเรื่องสุดท้ายคือ เรื่องการประกอบธุรกิจเรื่องยาง
สำหรับมาตรา ๙ (๒) คือ ประกอบธุรกิจเกี่ยวกับยางพารา ส่วนใหญ่อยู่ในความ รับผิดชอบของภาคเอกชน ภาครัฐนั้น รับผิดชอบเฉพาะองค์การสวนยาง ซึ่งเป็นรัฐวิสาหกิจนำร่อง ในการแปรรูป การตลาด การอุตสาหกรรม เห็นว่า การยางแห่งประเทศไทย การประกอบธุรกิจในส่วน ที่เป็นโครงการนำร่องเพื่อส่งเสริมการวิจัยหรือเพื่อประกอบธุรกิจ เพื่อจะแข่งขันกับภาคเอกชน และมีข้อสังเกตดังนี้
๑. ในเรื่องของวัตถุประสงค์ของการยางแห่งประเทศไทย และเรียงลำดับความสำคัญของวัตถุประสงค์เสียใหม่ เพื่อให้เป็นองค์กรที่ครบวงจรอย่างแท้จริง และอำนาจที่ให้กระทำ เพื่อดำเนินการตามวัตถุประสงค์นั้นต้องมี ๓ ส่วนคือ ส่วนที่ ๑. การบริหารจัดการในรูปรัฐวิสาหกิจ ส่วนที่ ๒. ต้องจัดตั้งเป็นบริษัท จำกัด หรือ บริษัท (มหาชน) จำกัด ส่วนที่ ๓ ส่วนของกองทุนพัฒนายาง
ต้องแยกส่วนให้ชัดเจนในเรื่องวัตถุประสงค์ของการจัดตั้งการยางแห่งประเทศไทย พ.ศ. …. ที่จะต้องสนองตอบต่อการพัฒนาเกษตรกรชาวสวนยาง พัฒนาและวิจัยยาง ตลอดจนถึงการดำเนินการประกอบธุรกิจเพื่อการนำร่อง เพื่อการเปิดตลาด และรักษาเสถียรภาพของราคาเท่านั้น
๒. เกี่ยวกับผู้ว่าการฯ และคณะกรรมการฯ ซึ่งควรจะมีคณะกรรมการ ๒ ระดับ ระดับแรกเรียกว่า ระดับนโยบายยางแห่งประเทศไทย ควรประกอบด้วย นายกรัฐมนตรี หรือรองนายก รัฐมนตรีที่ได้รับมอบหมาย มีหน้าที่ในการกำหนดกรอบนโยบายและทิศทางในการพัฒนายางในฐานะพืชเศรษฐกิจที่ต้องปรับเปลี่ยนตามสถานการณ์ ตลอดจนถึงมีอำนาจหน้าที่ในการดูแลคณะกรรมการบริหารการยางแห่งประเทศไทย ระดับที่สอง คือ คณะกรรมการการยางแห่งประเทศไทย มีหน้าที่สนับสนุนการปลูกยางทดแทน ปลูกใหม่ของเกษตรกรด้วยยางพันธุ์ดีที่ให้ผลผลิตสูง และใช้เทคโนโลยีที่ทันสมัย ปรับปรุงคุณภาพของผลผลิต รวมกลุ่มเกษตรกรสวนยาง พัฒนาผลิตภัณฑ์ยางและไม้ยาง
๓. องค์ประกอบของคณะกรรมการทั้ง ๒ ระดับต้องมาจาก ๓ ส่วน คือ ๑. รัฐมนตรี ๒. ปลัดกระทรวงการคลังการเกษตร เลขาธิการคณะกรรมการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ และ ๓. กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ ต้องมีตัวแทนของเกษตรกร ตัวแทนสหภาพการยางแห่งประเทศไทย
๔. ผู้ว่าการการยางแห่งประเทศไทย ควรมีสถานภาพที่ชัดเจน เพื่อไม่ให้มีการเมืองเข้ามาเกี่ยวข้อง
๕. กองทุนพัฒนายางควรแยกออกจากการยางแห่งประเทศไทยโดยชัดเจน เพราะเป็นส่วนได้ส่วนเสียโดยตรงของเกษตรกรที่ต้องเสียค่าส่งยางพาราออกนอกราชอาณาจักร กรรมการฯ ต้องจัดสรรเงินกองทุนพัฒนายางแบ่งออกเป็น ๓ ส่วน
- จำนวนไม่เกินร้อยละ ๕ เป็นค่าใช้จ่ายการศึกษาวิเคราะห์ วิจัย และพัฒนายาง
- จำนวนไม่เกินร้อยละ ๓ เป็นค่าใช้จ่ายส่งเสริม สนับสนุน เกษตรกรสวนยาง
- จำนวนไม่เกินร้อยละ ๑๒ เป็นค่าใช้จ่ายในการบริหารจัดการ กิจการของการยาง
แห่งประเทศไทย จำนวนร้อยละ ๘๐ นอกเหนือจากนั้นต้องจ่ายคืนให้แก่ เกษตรกรชาวสวนยาง เพื่อ
การสนับสนุน ส่งเสริม ในการปลูกแทน จำนวนร้อยละ ๒๐ ใช้ในการวิจัยพัฒนา ส่งเสริม และสนับสนุน
เกษตรกรและเมื่อบริหารกิจการ ตรงนี้เปลี่ยนแปลงไม่ได้ การมีคณะกรรมการสำหรับกองทุนพัฒนายาง
ที่อยู่ภายใต้ข้อบังคับของกรรมการการยางแห่งประเทศไทย เพื่อความคล่องตัวในการบริหารจัดการ
๖. การมีบทบัญญัติในเรื่องการจัดการบริหารการยางแห่งประเทศไทย มีหน่วยราชการ
ใดบ้างที่รับผิดชอบดูแล
๗. การตรวจสอบและควบคุมกำกับ ควรให้รัฐมนตรีมีอำนาจในการควบคุมและกำกับ
การยางแห่งประเทศไทยเพื่อประโยชน์โดยภาพรวม
นายเรวัติ สิรินุกุล สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดกาญจนบุรี พรรคไทยรักไทย อภิปรายสนับสนุนการออกกฎหมายฉบับนี้ว่า เพื่อรองรับความมั่นคงของเกษตรกรชาวสวนยาง เพื่อ แก้ไขปัญหาความยากจน และยกระดับคุณภาพชาวสวนยางให้เป็นตลาดผู้ขาย
นายนคร มาฉิม สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดพิษณุโลก พรรคประชาธิปัตย์ อภิปรายสนับสนุนการออกกฎหมายฉบับนี้ว่า เพื่อให้ประเทศไทยเป็นศูนย์กลางยางพาราของโลกอย่างแท้จริงจากการศึกษาที่ผ่านมามีปัญหาและอุปสรรคดังนี้ คือ
- องค์การที่รับผิดชอบมีหลายองค์กร เช่น สำนักงานกองทุนสงเคราะห์การทำสวนยาง (สกย.) องค์การสวนยาง (อสย.) และสถาบันวิจัยยาง ทำให้การบริหารจัดการไม่เป็นเอกภาพ ขาดการ
บูรณาการ
- การบริหารจัดการระบบการตลาด ยังไม่ดีเท่าที่ควร
- ปัจจัยการผลิตยังไม่เต็มประสิทธิภาพ ทำให้คุณภาพของยางลดลง
และขอถามฝากว่า รัฐบาลมีนโยบายอย่างไรที่จะผ่อนปรนให้เกษตรกรได้ปลูกยางในที่ที่ตนครอบครองอยู่ แต่ยังไม่มีกรรมสิทธิ์ รัฐบาลควรเร่งรัดการออกเอกสารสิทธิ์ให้เร็วที่สุดทั่วประเทศ เพื่อให้เกษตรกรเข้าถึงโอกาสในการที่จะปลูกยางอย่างแท้จริง จะแก้ไขปัญหาความยากจนได้
นายสุนัย จุลพงศธร สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรระบบบัญชีรายชื่อ พรรคไทยรักไทย อภิปรายขอสนับสนุน เพื่อช่วยแก้ปัญหาความยากจนให้แก่เกษตรกรชาวสวนยางและยกระดับคุณภาพการยางขึ้นมา
นายชวลิต มหาจันทร์ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดชัยภูมิ พรรคไทยรักไทย อภิปรายสนับสนุนร่างพระราชบัญญัติฯ เพราะรัฐบาลได้ปฏิบัติตามรัฐธรรมนูญในมาตรา ๘๕ รัฐต้องจัดระบบการถือครองที่ดินและการใช้ดินอย่างเหมาะสม และจัดหาแหล่งน้ำในการเกษตรกรรมให้เกษตรกรอย่างทั่วถึง รักษาผลประโยชน์ของเกษตรกรในการผลิต และการตลาดของสินค้าเกษตรให้ได้รับผลตอบแทนสูงสุด รวมทั้งส่งเสริมการรวมตัวของเกษตรกร เพื่อวางแผนการเกษตรและรักษา ผลประโยชน์ร่วมกันของเกษตรกร และเป็นแนวทางในการแก้ปัญหาร่วมกัน รวมทั้งทุกภาคก็ใช้พื้นที่ในการปลูกยางเพิ่มขึ้น
นายสถาพร มณีรัตน์ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดลำพูน พรรคไทยรักไทย อภิปรายสนับสนุนกฎหมายฉบับนี้ เพราะเป็นประโยชน์แก่ประชาชน แต่มีข้อสังเกตคือ ทำไมไม่ใช้ชื่อ พระราชบัญญัติการยางพาราแห่งประเทศไทย พ.ศ. …. เพื่อจะได้ชัดเจนส่วนของคณะกรรมการฯ และผู้ว่าการฯ นั้น เห็นด้วยที่ให้มีตัวแทนของเกษตรกรเข้ามาร่วมด้วย แต่ขอสนับสนุนให้มีผู้แทนสหภาพองค์กรสวนยาง เข้ามาในกรรมการ เพื่อเป็นตัวแทนของพนักงานเข้ามาดูแลจะช่วยตรวจสอบข้อมูล ต่าง ๆ ส่วนเรื่องบทกำหนดโทษ ไม่มีความชัดเจน
นายสงกรานต์ คำพิไสย์ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดหนองคาย พรรคไทยรักไทย อภิปรายสนับสนุนกฎหมายฉบับนี้ แต่มีข้อสังเกตดังนี้ คือ
๑. การที่มีหลายหน่วยงานดูแลทำให้ไม่เกิดความมีเอกภาพ
๒. เรื่องคุณสมบัติของประธานฯ และกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิมีเพียง ๒ ข้อ ซึ่งน้อย
เกินไป เมื่อไปเปรียบเทียบกับอำนาจในการดูแลภารกิจอันยิ่งใหญ่ที่กำหนดไว้ ซึ่งจะต้องกำหนดนโยบาย แผนการดำเนินการ และการดำเนินธุรกิจด้านยางพารา
๓. ควรให้มีการสนับสนุนส่งเสริมการวิจัยและพัฒนาทั้งพันธุ์ยางและนำผลผลิตไป
แปรรูปในลักษณะต่าง ๆ
นายวัฒนา เซ่งไพเราะ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรกรุงเทพมหานคร พรรคไทยรักไทย อภิปรายสนับสนุนกฎหมายฉบับนี้ว่า จะทำให้ยางมีค่ามากที่สุด เพราะจะให้มีองค์การการยาง เพื่อการวิจัยและพัฒนายาง เพื่อทำธุรกิจให้เป็นประโยชน์ส่วนรวมของประเทศ แต่มีข้อสังเกตคือ อำนาจของ ผู้ว่าการฯ ว่าควรกำหนดอายุตั้งแต่เท่าไรถึงเท่าไรเพราะมีอำนาจมากเช่น กำหนดกฎเกณฑ์ รวมทั้งอำนาจในการแต่งตั้งโยกย้าย ปลด
นายสมบูรณ์ อุทัยเวียนกุล สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดตรัง พรรคประชาธิปัตย์ อภิปรายว่า เห็นชอบกับกฎหมายฉบับนี้ แต่มีข้อสังเกตดังนี้ คือ อย่าเพียงแต่ส่งน้ำยางพารา หรือ ไม้ยางออกไปขาย ควรนำมาทำการวิจัยเพื่อแปรรูปให้เป็นสินค้ารูปแบบต่าง ๆ เพื่อใช้ในประเทศและ ส่งออกให้เพิ่มมากขึ้นอีก
นายบัวสอน ประชามอญ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดเชียงราย พรรคไทยรักไทย อภิปรายสนับสนุนกฎหมายฉบับนี้ แต่ขอฝากถึงผู้ที่เป็นกรรมาธิการทุกท่านว่า พระราชบัญญัติฯ นี้ เกษตรกรจะได้ผลประโยชน์อะไรบ้าง
นายทวี สุระบาล สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรระบบบัญชีรายชื่อ พรรคไทยรักไทย เห็นด้วยกับกฎหมายฉบับนี้ แต่มีข้อสังเกตดังนี้ คือ
๑. ควรปรับปรุงพันธุ์ยางให้ดีขึ้น
๒. การรวม ๓ หน่วยงานคือ สำนักงานสงเคราะห์การทำสวยยาง องค์การสวนยาง
และสถาบันวิจัยยาง เป็นรัฐวิสาหกิจขนาดใหญ่การรวมกันครั้งนี้ ควรมีตัวแทนของเกษตรกรทั้ง ๔
ภูมิภาคอยู่ในองค์กรนี้ด้วย
นายอรรถสิทธิ์ คันคาย ทรัพยสิทธิ์ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดนครพนม พรรคไทยรักไทย ได้ตั้งข้อสังเกตดังนี้
๑. ในมาตรา ๔๓ กรณีที่บัญญัติให้เจ้าของสวนยางผู้ได้รับความสงเคราะห์ตาม
พระราชบัญญัติฉบับนี้ ไม่ปฏิบัติตามหรือฝ่าฝืนกฎกระทรวง ข้อบังคับ ระเบียบหรือคำสั่งของคณะกรรมการหรือพนักงาน ซึ่งสั่งการตามพระราชบัญญัตินี้ คณะกรรมการมีอำนาจสั่งให้ระงับการสงเคราะห์ได้ ซึ่งถือว่าให้อำนาจแก่เจ้าพนักงานมากเกินไป เกษตรกรจะไม่ได้รับความเป็นธรรม
๒. บทกำหนดโทษในมาตรา ๕๘ ซึ่งหนักเกินไปสำหรับเกษตรกรชาวสวนยาง ซึ่งไม่ใช่
อาชญากร
๓. กรณีบทเฉพาะกาลที่จะมีการยุบหน่วยงานมารวมกัน ๓ หน่วยงาน ซึ่งจะมีเกณฑ์อย่างไร ให้เป็นธรรมกับพนักงาน เพื่อเป็นขวัญและกำลังใจ
นายอดิศร เพียงเกษ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กล่าวถึงร่างพระราชบัญญัติทั้ง ๒ ฉบับ ที่มีความคล้ายคลึงกันอย่างมาก ข้อสังเกตต่าง ๆ ที่ สมาชิกฯ ให้มาจะนำไปพิจารณาในขั้นของคณะกรรมาธิการวิสามัญ เพื่อให้เสร็จทันและส่งวุฒิสภาต่อไป
นายอาคม เอ่งฉ้วน สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดกระบี่ พรรคประชาธิปัตย์ กล่าวถึงพระราชบัญญัติทั้ง ๒ ฉบับว่า การเก็บเงินจากผู้ขายยางไปเข้ากองทุนสงเคราะห์สวนยาง เพื่อให้ใช้ในการจัดทำวิจัยและพัฒนาพันธุ์ยางและบริหารบุคคล ที่เหลือคืนกลับไปให้เกษตรกรผู้ปลูกยางปี พ.ศ. ๒๕๓๕ มาตรา ๒๑ (ทวิ) แก้ไขพระราชบัญญัติฯ ให้เกษตรกรภาคอีสานได้เข้ามาร่วมทำการปลูกสวนยางได้ สำหรับยุทธศาสตร์ ๑๒ ล้านไร่
นายสุนัย จุลพงศธร สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรระบบบัญชีรายชื่อ พรรคไทยรักไทย กล่าวว่า ยางที่ราคาสูงอย่างนี้ คือ ขบวนการจัดการในการเปลี่ยนแปลง
นายทวี สุระบาล สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรระบบบัญชีรายชื่อ พรรคไทยรักไทย ขอใช้สิทธิ์พาดพิง ในช่วงปี ๒๕๔๓ ได้มีการแทรกแซงราคายางมาตลอดโดยต้องกู้เงินจากธนาคาร กรุงไทย ปีละ ๒,๐๐๐ - ๔,๐๐๐ ล้านบาท และต้องระบายยางออก ๔๕๐,๐๐๐ ตัน จนกระทั่งมาถึง ปี ๒๕๔๔ แก้ไขปัญหาได้ โดยไม่ต้องแทรกแซงราคายางตั้งแต่บัดนั้น
นายชินวรณ์ บุณยเกียรติ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดนครศรีธรรมราช พรรคประชาธิปัตย์ ขอใช้สิทธิ์พาดพิง กล่าวว่า ส่วนหนึ่งที่เกษตรกรยังยากจนอยู่ เป็นข้อมูลจากการปฏิรูปการพัฒนายางพาราไทย ส่วนหนึ่งมีคณะทำงานจากกรรมการปฎิรูปยางพารา
ประธานขอมติจากที่ประชุม เพื่อจะรับหลักการร่างพระราชบัญญัติทั้ง ๒ ฉบับมีมติเป็นเอกฉันท์ ๓๒๔ คน ที่ประชุมฯ มีมติให้ตั้งกรรมาธิการวิสามัญ ๓๕ คน กำหนดแปรญัตติ ๗ วัน
๔. เรื่องที่คณะกรรมาธิการพิจารณาเสร็จแล้ว
ร่างพระราชบัญญัติทะเบียนพาณิชย์ (ฉบับที่ ..) พ.ศ. …. ซึ่งคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาเสร็จแล้ว
นายไพจิต ศรีวรขาน สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดนครพนม พรรคไทยรักไทย ในฐานะประธานคณะกรรมาธิการวิสามัญฯ ขอรายงานผลการพิจารณาร่างพระราชบัญญัติดังนี้ ตามที่ประชุมสภาผู้แทนราษฎร ชุดที่ ๒๒ ปีที่ ๑ ครั้งที่ ๑๐ (สมัยสามัญนิติบัญญัติ) วันพุธที่ ๒๑ กันยายน ๒๕๔๘ ได้ลงมติรับหลักการพระราชบัญญัตินี้และตั้งคณะกรรมาธิการขึ้นมาชุดหนึ่ง เพื่อพิจารณา บัดนี้ได้ดำเนินการเสร็จแล้ว
ชื่อร่าง ไม่มีการแก้ไข
คำปรารภ ไม่มีการแก้ไข
มาตรา ๑ และมาตรา ๒ ไม่มีการแก้ไข
มาตรา ๓ มีการแก้ไข มาตรา ๙ เพิ่มถ้อยคำเพื่อให้เกิดความชัดเจนขึ้น
“ให้รัฐมนตรีมีอำนาจกำหนดให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นอื่นที่มีความพร้อมเป็นสำนักงานทะเบียนพาณิชย์ เพื่อรับจดทะเบียนพาณิชย์ในท้องถิ่นอื่นได้ โดยประกาศในราชกิจจานุเบกษา ในการนี้ให้องค์การบริหารส่วนจังหวัด ยังคงมีอำนาจรับจดทะเบียนพาณิชย์เฉพาะในท้องที่นอกเขตขององค์การปกครองส่วนท้องถิ่นที่รัฐมนตรีกำหนด” ที่ประชุมมีมติให้เพิ่มข้อความ เพื่อให้ชัดเจนขึ้นตามที่กรรมาธิการฯ เสนอ
นายวัฒนา เซ่งไพเราะ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรกรุงเทพมหานคร พรรคไทยรักไทย มีข้อซักถาม ข้อความที่เพิ่มเข้ามานั้นเป็นการบังคับประชาชนให้ไปจดทะเบียนพาณิชย์เฉพาะที่ได้กำหนดให้เท่านั้น
นายกุเทพ ใสกระจ่าง สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรระบบบัญชีรายชื่อ พรรคไทยรักไทย อภิปรายว่า ข้อความเดิมนั้น ซ้ำซ้อน และไม่จำเป็น
นายสุวโรช พะลัง สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดชุมพร พรรคประชาธิปัตย์ อภิปรายว่า องค์การบริหารส่วนจังหวัดทำหน้าที่รับจดทะเบียนพาณิชย์ แต่ในหลักความเป็นจริงจะมีองค์กรอื่นทับซ้อนอยู่ไม่ว่าจะเป็น อบต. เทศบาล ในหลักกระจายอำนาจนั้น อบจ. ควรรับเป็นสำนักงานทะเบียนพาณิชย์ ในกรณีที่ไม่ได้อยู่ในส่วนที่ อบต. เทศบาล ที่ไม่มีความพร้อม
นายภูมิ สาระผล สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดขอนแก่น พรรคไทยรักไทย ขออภิปรายเสนอมาตรา ๓ ระบุถึงมาตรา ๙ วรรค ๒ ที่กำหนดให้กรุงเทพ เมืองพัทยา อบจ. เป็นสำนักงานทะเบียนพาณิชย์ เพื่อรับจดทะเบียนพาณิชย์ในท้องที่ของตน แต่เมื่อเพิ่มวรรค ๓ ที่ให้ รัฐมนตรีมีอำนาจกำหนดให้ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นที่มีความพร้อมเป็นสำนักงานทะเบียนพาณิชย์เพื่อรับจดทะเบียนในท้องถิ่นของตนได้ โดยประกาศในราชกิจจานุเบกษา ซึ่งความหมายในวรรคที่ ๓ นั้น ซ้ำซ้อน กับสองบรรทัดแรก เป็นภาษาฟุ่มเฟือย และควรตัดออก เพื่อให้มีความสมบูรณ์ขึ้น
นายสุรสิทธิ์ นิติวุฒิวรรักษ์ ในฐานะกรรมาธิการฯ อภิปรายถึงการบริหารการ ปกครองส่วนท้องถิ่นนั้น จะต้องบริหารในเขตพื้นที่ของตนเอง เพื่อป้องกันการบริหารที่ซ้ำซ้อน และจะเกิดการขัดแย้งกันได้ และการที่ให้มีการจดทะเบียนพาณิชย์ เพื่อต้องการรวบรวมข้อมูล และส่งมายังกระทรวงพาณิชย์ได้ไม่ขัดข้อง สิ่งเหล่านี้ทางกรรมาธิการฯ ได้ไตร่ตรองแล้วเห็นว่าอำนาจหน้าที่ควรแบ่งให้ชัดเจนมากขึ้น
นายพินิจ จันทรสมบูรณ์ ในฐานะเลขาคณะกรรมาธิการฯ อภิปรายต่อข้อถามว่า กรรมาธิการฯ ได้ศึกษาและไตร่ตรองอย่างถี่ถ้วนแล้ว ซึ่งมีประกาศกระทรวงพาณิชย์ในการตั้งสำนักงานทะเบียนพาณิชย์ และการแต่งตั้งพนักงานเจ้าหน้าที่ นายทะเบียนฉบับที่ ๕ ซึ่งเมื่อดูก็จะเข้าใจอย่าง ชัดเจน อีกเรื่องในข้อ ๙ ของกฎหมายฉบับนี้ เรื่องการแต่งตั้งข้าราชการสามัญระดับ ๓ ขึ้นไปให้เป็น นายทะเบียนกลาง และเป็นนายทะเบียนหรือพนักงานธุรกิจการค้าระดับจังหวัด และคำว่าความ ไม่พร้อม และคำว่ายังคง ทางกรรมาธิการฯ ก็นำมาจากเอกสารที่ทะเบียนพาณิชย์ใช้อยู่เสมอว่า หากว่างานพัฒนาเพื่อการค้ายังคงต้องได้รับคำแนะนำและอบรมอย่างสม่ำเสมอ เพื่อความพร้อมและจะมี แก้ไขในมาตราต่อไปอีกเล็กน้อย
นายสุพัฒน์ ธรรมเพชร สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดพัทลุง พรรคประชาธิปัตย์ อภิปรายว่า การเพิ่มเติมในมาตรา ๓ นี้ ต่อไปในอนาคตจะมีประโยชน์ ถ้าท้องถิ่นใดมีความพร้อมมากขึ้น ซึ่งให้อำนาจกับรัฐมนตรี มีอำนาจในการกำหนดหรือประกาศ มีข้อสังเกตว่า ในปัจจุบันความพร้อมของเทศบาลนคร เทศบาลตำบล เทศบาลเมืองนั้น มีความพร้อมมากขึ้น ในวรรค ๒ ควรเพิ่ม เทศบาลนคร เทศบาลเมืองเข้าไปด้วย
นายพิเชษฐ พันธุ์วิชาติกุล สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดกระบี่ พรรคประชาธิปัตย์ อภิปรายเห็นด้วยกับกฎหมายฉบับนี้ เพื่อจะอำนวยความสะดวกให้กับผู้ประกอบการ ทั้งหลายในการที่จะจดทะเบียนการพาณิชย์ได้คล่องตัวและหลายหลากยิ่งขึ้น แต่ไม่เห็นด้วยที่มีกรอบเฉพาะองค์การบริหารส่วนจังหวัดเท่านั้น เพราะส่วนใหญ่ผู้ประกอบการทะเบียนพาณิชย์จะอยู่ที่เทศบาล ซึ่งขณะนี้ เทศบาลทำหน้าที่เป็นนายทะเบียนราษฎรอยู่ด้วย เมื่อกฎหมายต้องการอำนวยความสะดวกให้แก่ประชาชนผู้ประกอบการพาณิชย์ก็น่าจะขยายลงไปถึงระดับเทศบาลด้วย
นายวัฒนา เซ่งไพเราะ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรกรุงเทพมหานคร พรรคไทยรักไทย อภิปรายว่า ในการแก้ไขเพิ่มเติมในมาตรา ๓ ของเดิมที่ผ่านสภาผู้แทนราษฎรนั้น กล่าวถึงมาตรา ๙ วรรค ๒ ให้ กรุงเทพ เมืองพัทยา อบจ. เป็นสำนักงานทะเบียนพาณิชย์ เพื่อรับจดทะเบียนพาณิชย์ในเขตของตน เมื่อวรรค ๓ บรรทัดที่ ๒,๓ เขียนว่า ถ้า อบต. นี้เปิดแล้ว อบจ. นี้ห้ามจด นี้คือการกระจาย
อำนาจหรือ ร่างพระราชบัญญัติฯ เดิมเหมือนกับจะขยายสำนักงานทะเบียนฯ มากขึ้น เป็นการเสรี แต่พระราชบัญญัติฉบับใหม่กลับเป็นการบังคับประชาชน
นายกุเทพ ใสกระจ่าง สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรระบบบัญชีรายชื่อ พรรคไทยรักไทย อภิปรายว่า ในวรรค ๒ เขียนไว้ชัด ในวรรค ๓ ที่เพิ่มขึ้นมา เพราะจะเปิดทางให้องค์การบริหารส่วนท้องถิ่นที่เล็กกว่า อบจ. มาเป็นผู้จดทะเบียนได้ จึงให้อำนาจรัฐมนตรีกำหนด แต่ควรเพิ่มคำอื่นขึ้นมาใน นอกเขตองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นอื่น ที่รัฐมนตรีประกาศกำหนดเพื่อลดความสับสน
นายสุพัฒน์ ธรรมเพชร สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหัดพัทลุง พรรคประชาธิปัตย์ อภิปรายถึงเจตนารมย์ของการยกร่างพระราชบัญญัติฉบับนี้ เพื่อการกระจายอำนาจ เพื่อให้พี่น้อง ประชาชนไปใช้บริการที่สำนักงานทะเบียนพาณิชย์ได้สะดวกมากขึ้น ในวรรค ๓ เรื่องความพร้อมใช้มาตราฐานวัดอย่างไร
นายพิเชษฐ พันธุ์วิชาติกุล สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดกระบี่ พรรคประชาธิปัตย์ กล่าวถึง ผู้ประกอบการส่วนใหญ่อยู่ในเขตเทศบาลและสภาฯ อยากอำนวยความสะดวกให้แก่ ประชาชนผู้ประกอบการพาณิชย์ ซึ่งเทศบาลก็เป็นนายทะเบียนท้องถิ่นอยู่แล้วด้วย จะได้เป็นการสะดวกกว่าที่จะให้เดินทางเข้ามา อบจ.
นายพินิจ จันทรสมบูรณ์ ในฐานะกรรมาธิการฯ อภิปรายเพิ่มเติมว่า สิ่งหนึ่งที่
(ยังมีต่อ)

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ