การประชุมรัฐมนตรี WTO นอกรอบ

ข่าวเศรษฐกิจ Thursday July 14, 2005 15:39 —กรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ

          นายทนง   พิทยะ  รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์   เปิดเผยถึงผลการประชุมรัฐมนตรีองค์การการค้าโลกอย่างไม่เป็นทางการ ณ เมืองต้าเหลียน  สาธารณรัฐประชาชนจีน ว่าประเทศสมาชิก WTO  กว่า 30 ประเทศ อาทิ  สหรัฐสหภาพยุโรป อินเดีย บราซิล  ญี่ปุ่น  ออสเตรเลีย  ได้หารือประเด็นที่สำคัญ คือ   การเปิดตลาดสินค้าอุตสาหกรรม ซึ่งประเทศสมาชิกยังมีท่าทีที่แตกต่างกันในประเด็นหลักๆ  ได้แก่  สูตรการลดภาษี  การนำสินค้าที่ยังไม่มีข้อผูกพันอัตราภาษีมาผูกพันการลดภาษี และการเร่งลดภาษีสินค้าอุตสาหกรรมรายสาขาลงเหลือร้อยละ 0  
นายทนง กล่าวต่อว่า ประเทศสมาชิกไม่สามารถหาข้อยุติเรื่องสูตรการลดภาษี ซึ่งมีทางเลือก 2 สูตร คือ สูตรสวิส (เสนอโดยสวิตเซอร์แลนด์) กับสูตร Girard (สูตรที่เสนอโดยอดีตประธานกลุ่มเจรจาเรื่องนี้) เนื่องจากมีการเผชิญหน้ากันระหว่างสมาชิกที่มีท่าทีต่างกัน 2 กลุ่ม ได้แก่ กลุ่มสนับสนุนสูตรสวิส อาทิ สหรัฐญี่ปุ่น สหภาพยุโรป ออสเตรเลีย จีนและไทย เป็นต้น กับกลุ่ม 3ประเทศ ประกอบด้วย อาร์เจนตินา บราซิลและอินเดีย ซึ่งสนับสนุนการใช้สูตร Girard โดยกลุ่มหลังมีท่าทีแข็งกร้าว แม้ว่าที่ประชุมส่วนใหญ่ต้องการใช้สูตรสวิสก็ตาม ทั้งนี้สูตรสวิสจะทำให้อัตราภาษีหลังลดต่ำกว่าสูตร Girard ในที่สุดที่ประชุมรัฐมนตรีได้ตกลงให้เจ้าหน้าที่เจรจากันต่อที่นครเจนีวา เพื่อตกลงกำหนดสูตรการลดภาษีให้ได้เพื่อนำเสนอสูตรที่สมบูรณ์เต็มรูปแบบต่อที่ประชุมรัฐมนตรี WTO ครั้งที่ 6 ในเดือนธันวาคม ศกนี้ ที่ฮ่องกง
สำหรับเรื่องการผูกพันสินค้าที่ยังไม่เคยมีข้อผูกพันการลดภาษีนั้น ประเทศสมาชิกส่วนใหญ่มีความเห็นสอดคล้องกันเกี่ยวกับแนวทางต่างๆ เช่น ต้องผูกพันการลดภาษีสินค้าทุกรายการ การแก้ไขปัญหาสินค้าที่มีอัตราภาษีต่ำอยู่แล้ว วิธีการกำหนดอัตราฐานก่อนเข้าสูตรการลดภาษี เป็นต้น
นอกจากนี้เสียงส่วนมากของที่ประชุม สนับสนุนการลดภาษีสินค้ารายสาขาลงเหลือ ร้อยละ 0 โดยในแต่ละสาขาจะต้องมีจำนวนประเทศสมาชิกเข้าร่วมและมีมูลค่าการค้าในสาขานั้นๆ มากพอ และเป็นการเข้าร่วมโดยสมัครใจ ซึ่งก่อนหน้าก็มีการชักชวนประเทศที่เป็นสมาชิกอื่นเข้าร่วมประชุมหารือกันไปบ้างแล้ว รวมทั้งไทย ในสาขาอัญมณีและเครื่องประดับ
“ ทั้งนี้ ฝ่ายไทยได้เจรจาผลักดันในหลายเรื่อง ได้แก่ การใช้สูตรสวิสลดภาษี การผูกพันการลดภาษีทุกรายการ และการกำหนดอัตราฐานสำหรับสินค้าที่ยังไม่ได้ผูกพันการลดภาษี โดยเฉพาะไทยได้คัดค้านวิธีการกำหนดอัตราฐานก่อนการลดภาษีที่จะทำให้ไทยต้องลดภาษีและผูกพันในอัตราต่ำมาก โดยได้เสนอให้ใช้วิธีการอื่นแทน คือ กำหนดอัตราขั้นต่ำสุดหลังการลดภาษี ” นายทนง กล่าว
กรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ กระทรวงพาณิชย์ อาคาร ค ถ.ราชดำเนินกลาง แขวงบวรนิเวศน์ เขตพระนคร กรุงเทพมหานคร 10200 โทรศัพท์ (66) 2282-6171-9 แฟกซ์ (66) 2280-0775
-พห-

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ