บทสรุปภาวะการส่งออกของประเทศไทยระหว่างเดือน ม.ค.- ต.ค. 2547

ข่าวเศรษฐกิจ Wednesday January 5, 2005 17:08 —กรมส่งเสริมการส่งออก

          1. เศรษฐกิจไทยในปี 2547 คาดว่าจะขยายตัวประมาณร้อยละ 6.0-6.5 โดยครึ่งปีแรก GDP ขยายตัวประมาณร้อยละ 6.6  ส่วนไตรมาสที่สามประมาณร้อยละ 6.0 ในและปี 2548 คาดว่าจะขยายตัวประมาณร้อยละ 5.5-6.5
2. ประเทศไทยเป็นผู้ส่งออกสำคัญอันดับที่ 23 ของโลก ในปี 2546 มีสัดส่วนการส่งออกประมาณร้อยละ 1.20 ของการส่งออกรวมในตลาดโลกมูลค่าประมาณ 6,673 พันล้านเหรียญสหรัฐฯ (ปี 2545 ไทยอยู่อันดับที่ 23 สัดส่วนร้อยละ 1.19)
3. ประเทศไทยเป็นผู้นำเข้าสำคัญอันดับที่ 22 ของโลก ในปี 2546 มีสัดส่วนการนำเข้าประมาณร้อยละ 1.11 ของการนำเข้าในตลาดโลกมูลค่าประมาณ 6,839 พันล้านเหรียญสหรัฐฯ (ปี 2545 ไทยอยู่อันดับที่ 22 สัดส่วนร้อยละ 1.10)
4. การค้าของไทยช่วง 10 เดือน(ม.ค.-ต.ค.)2547 มีมูลค่า 159,215.16 ล้านเหรียญสหรัฐฯ เพิ่มขึ้นร้อยละ 25.69 แยกเป็นการส่งออกมูลค่า 80,432.16 ล้านเหรียญสหรัฐฯ เพิ่มขึ้น ร้อยละ 22.63 การนำเข้ามีมูลค่า 78,783 ล้านเหรียญสหรัฐฯ เพิ่มขึ้นร้อยละ 28.98 ไทยได้เปรียบดุลการค้าเป็นมูลค่า 1,649.16 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ลดลงร้อยละ 63.40 สำหรับเดือน ตุลาคม 2547 ไทยได้ดุลการค้าเป็นมูลค่า 673.20 ล้านเหรียญสหรัฐฯ
5. กระทรวงพาณิชย์ได้ตั้งเป้าหมายการส่งออกในปี 2547 ที่มูลค่า 92,060 ล้านเหรียญสหรัฐฯ เพิ่มขึ้นร้อยละ 15 การส่งออกเดือน ม.ค.-ต.ค. 2547 มีมูลค่า 80,432.16 ล้านเหรียญสหรัฐฯ คิดเป็นร้อยละ 87.37 ของเป้าหมายการส่งออก
6. สินค้าส่งออกสำคัญ 50 อันดับแรก สัดส่วนรวมกันร้อยละ 82.72 ของมูลค่าการส่งออกเดือน ม.ค.- ต.ค. 2547 สินค้าที่มีมูลค่าการส่งออกเปลี่ยนแปลงสูง มีดังนี้
- เพิ่มขึ้นมากกว่าร้อยละ 100 มี 2 รายการ คือ วงจรพิมพ์ เครื่องยนต์สันดาปภายในแบบลูกสูบและส่วนประกอบ เพิ่มขึ้นร้อยละ 104.81 และ 143.19 ตามลำดับ
- เพิ่มขึ้นมากกว่าร้อยละ 50 มี 9 รายการคือ ข้าว เครื่องใช้ไฟฟ้าและส่วนประกอบอื่นๆ น้ำมันสำเร็จรูป ส่วนประกอบอากาศยานและอุปกรณ์การบิน แผงสวิทช์และแผงควบคุมกระแสไฟฟ้า เลนซ์ เตาอบไมโครเวฟและเครื่องใช้ไฟฟ้าที่ให้ความร้อน รถจักรยาน-ยนต์และส่วนประกอบ และเครื่องคอมเพรสเซอร์ของ เครื่องทำความเย็น
- เพิ่มขึ้นร้อยละ 59.22, 95.47, 57.97, 52.51, 50.09, 61.10, 56.68, 54.56 และ 60.52 ตามลำดับ
7. ตลาดส่งออกสำคัญ 50 อันดับแรก สัดส่วนรวมกันร้อยละ 95.22 ของมูลค่าการส่งออกเดือน ม.ค.-ต.ค. 2547 ตลาดที่มีมูลค่าการส่งออกเปลี่ยนแปลงสูง มีดังนี้
- เพิ่มขึ้นมากกว่าร้อยละ 50 มี 7 ตลาด ได้แก่ แอฟริกาใต้ อิหร่าน ตุรกี ไนจีเรีย ฟินแลนด์ อิรัก และเซเนกัล โดยมีอัตราการขยายตัวร้อยละ 72.43, 60.49, 67.09, 50.64, 65.70, 82.19 และ 70.11 ตามลำดับ
8. การนำเข้า
8.1 สินค้านำเข้ามีสัดส่วนโครงสร้างดังนี้
- สินค้าเชื้อเพลิง สัดส่วนร้อยละ 13.41 เพิ่มขึ้นร้อยละ 45.49
- สินค้าทุน สัดส่วนร้อยละ 43.07 เพิ่มขึ้นร้อยละ 25.21
- สินค้าวัตถุดิบและกึ่งสำเร็จรูป สัดส่วนร้อยละ 30.78 เพิ่มขึ้นร้อยละ 31.93
- สินค้าบริโภค สัดส่วนร้อยละ 7.85 เพิ่มขึ้นร้อยละ 20.85
- สินค้ายานพาหนะและอุปกรณ์ขนส่ง สัดส่วนร้อยละ 3.85 เพิ่มขึ้นร้อยละ 21.37
- สินค้าอื่นๆ สัดส่วนร้อยละ 1.03 เพิ่มขึ้นร้อยละ 13.20
8.2 แหล่งนำเข้าสำคัญ 10 อันดับแรก
มีสัดส่วนรวมกันร้อยละ 67.44 ของมูลค่าการนำเข้าทั้งสิ้น(ม.ค.-ต.ค.2547) ได้แก่ ญี่ปุ่น จีน สหรัฐอเมริกา มาเลเซีย สิงคโปร์ ไต้หวัน เกาหลีใต้ สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ เยอรมนี และอินโดนีเซีย สัดส่วนร้อยละ 23.89, 8.38, 7.65, 5.90, 4.47, 4.29, 3.86, 3.67, 3.00 และ 2.33 โดยมีอัตราการขยายตัวร้อยละ 27.75, 34.93, 10.25, 29.14, 32.76, 29.52, 30.50, 74.10, 13.87 และ 22.67 ตามลำดับ
9. ข้อคิดเห็น
1. แนวโน้มเศรษฐกิจไทยปี 2547 ตามคาดการณ์ของสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ(ศสช.) คาดว่าจะเติบโตมากกว่าร้อยละ 6.2 โดยในครึ่งปีแรกของปี 2547 GDP ขยายตัวร้อยละ 6.6 และในไตรมาสที่ 3 เติบโตร้อยละ 6 จากแรงกระตุ้นของอุปสงค์ภายในประเทศและการส่งออก และยังมีโอกาสที่จะขยายตัวได้ต่อเนื่อง จากปัจจัยสนับสนุนหลายประการ ได้แก่
- เศรษฐกิจโลกที่ยังคงขยายตัวต่อเนื่องแม้จะชะลอลงเล็กน้อย แต่ยังเป็นปัจจัยสนับสนุนให้มูลค่าการส่งออกเพิ่มขึ้น
- ปัจจัยสนับสนุนการใช้จ่ายของครัวเรือน จากอัตราดอกเบี้ยที่แท้จริงที่ยังอยู่ในระดับต่ำเมื่อเปรียบเทียบกับราคาสินค้าที่เพิ่มขึ้น และรายได้ของครัวเรือนที่เพิ่มขึ้นจากอัตราการจ้างงานที่เพิ่มสูง การปรับเงินเดือนของภาครัฐ และมาตรการทางภาษีที่สนับสนุนสังคมและช่วยเหลือผู้มีรายได้น้อยถึงปานกลาง
- การใช้จ่ายและการลงทุนภาครัฐเพิ่มขึ้นจากโครงการลงทุนด้านโครงสร้างพื้นฐานและโครงการลงทุนขนาดใหญ่เพื่อสนับสนุนการลงทุนของภาคเอกชน
- ปัจจัยเอื้ออำนวยต่อการเพิ่มการลงทุนของภาคเอกชน ประกอบด้วย อัตราการใช้กำลังการผลิตที่ยังมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นและอยู่ในระดับสูง อัตราดอกเบี้ยที่ยังอยู่ในระดับต่ำ มาตการด้านภาษีที่สร้างแรงจูงใจต่อการลงทุน การส่งเสริมการลงทุนจากภาครัฐที่เพิ่มขึ้น โดยเฉพาะในสาขาอิเล็กทรอนิกส์และเครื่องใช้ไฟฟ้า เคมี กระดาษ พลาสติก เครื่องจักรและอุปกรณ์ขนส่ง และกิจกรรมทางด้านการเกษตร
2. ปัจจัยเสี่ยงที่อาจมีผลกระทบทางลบต่อเศรษฐกิจไทยมีประเด็นที่ต้องติดตาม ในเรื่องของราคาน้ำมันในตลาดโลกที่เพิ่มขึ้น และมีแนวโน้มจะคงอยู่ในระดับสูงเนื่องจากผู้ใช้น้ำมันรายใหญ่ เช่น จีน อินเดีย รัสเซีย ต้องการใช้เพิ่มขึ้น ระบบการเงินของโลก ต้องติดตามภาวะความผันผวนของอัตราแลกเปลี่ยนในตลาดเงินต่างประเทศและระบบการเงินการคลังของโลก จากการที่สหรัฐฯ ใช้อัตราแลกเปลี่ยนเงินดอลล่าร์สหรัฐฯ เป็นเครื่องมือในการลดการขาดดุลบัญชีเดินสะพัดของประเทศ หรือกดดันให้จีนซึ่งผูกติดอัตราแลกเปลี่ยนเงินหยวนไว้กับเงินดอลล่าร์สหรัฐฯ ปรับเปลี่ยนระบบอัตราแลกเปลี่ยน จะส่งผลให้เกิดความผันผวนในตลาดการเงินและการคลังของโลก สำหรับประเทศไทยการอ่อนค่าของเงินดอลลาร์สหรัฐฯ ก่อให้เกิดการแข็งค่าของเงินบาทและการเก็งกำไรของนักลงทุน ซึ่งจะมีผลกระทบต่ออัตรา เงินเฟ้อและแนวโน้มอัตราดอกเบี้ยของไทยได้ รวมถึงการส่งออกที่อาจจะได้รับผลกระทบ เพราะสหรัฐฯเป็นตลาดส่งออกหลักของไทย แต่คาดว่าผลจะไม่รุนแรงเพราะเป็นการปรับตัวในทิศทางเดียวกันประเทศอื่นในภูมิภาคเอเชีย
นอกจากนี้ความเสี่ยงจากภาวะเศรษฐกิจของจีนเป็นอีกปัจจัยที่จะส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจไทยและเศรษฐกิจของเอเชีย เนื่องจากจีนมีบทบาทสูงในภูมิภาคเอเชีย เพราะเป็นทั้งประเทศผู้นำเข้าสินค้าวัตถุดิบรายใหญ่และเป็นคู่แข่งสำคัญในตลาด ซึ่งประเด็นที่ต้องติดตามคือความพยายามในการชะลอความร้อนแรงทางเศรษฐกิจของจีน และแนวโน้มการปรับค่าเงินหยวน ซึ่งในประเด็นนี้ทางศูนย์วิจัยกสิกรไทยได้ให้ความเห็นไว้ว่า จีนน่าจะดำเนินการอย่างค่อยเป็นค่อยไป ทั้งในเรื่องของระบบอัตราแลกเปลี่ยนและในเรื่องการเปิดเสรีการเคลื่อนย้ายเงินทุนระหว่างประเทศ ทำให้คาดว่าในช่วงแรกของการดำเนินการค่าเงินหยวนคงจะปรับขึ้นในอัตราที่ไม่มากนัก จึงไม่น่าที่จะส่งผลในทางลบต่อภูมิภาค นอกจากนี้ยังจะช่วยลดแรงกดดันต่อค่าเงินเยนและเงินสกุลอื่นๆในภูมิภาค จึงน่าที่จะเป็นผลดีต่อภาวะเสถียรภาพของภูมิภาค
3. ด้านการลงทุน กลุ่มอุตสาหกรรมสิ่งพิมพ์เสนอสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน(บีโอไอ) พิจารณายกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคลเป็นเวลา 8 ปี ให้กับอุตสาหกรรมเกี่ยวเนื่องกับสิ่งพิมพ์ เช่น อุตสหกรรมเคมีภัณฑ์ ที่เข้ามาตั้งกิจการในนิคมอุตสาหกรรมการพิมพ์และบรรจุภัณฑ์ จากเดิมที่สนับสนุนเฉพาะกิจการสิ่งพิมพ์ เพราะหากได้ผู้ผลิตวัตถุดิบเข้ามาลงทุนในพื้นที่ โครงสร้างต้นทุนรวมก็จะต่ำลง เป็นการเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันให้กับอุตสาหกรรมและเตรียมความพร้อมในการเปิดเขตการค้าเสรี (FTA)
โดยในระยะ 3-5 ปี ทางกลุ่มอุตสหกรรมฯคาดว่าจะสร้างรายได้จากพื้นที่นิคมดังกล่าวประมาณ 20,000-30,000 ล้านบาทต่อปี และล่าสุดมีนักลงทุนจากมาเลเซีย สิงคโปร์ ฮ่องกง ญี่ปุ่น สนใจมาดูพื้นที่ในนิคมอุตสาหกรรม และคาดว่าในระยะยาวกลุ่มทุนจากประเทศทาง ยุโรป สหรัฐอเมริกาและญี่ปุ่น จะเข้ามาลงทุนในไทยมากขึ้น เพราะมีข้อได้เปรียบด้านต้นทุนราคาที่ดินและค่าแรงที่สามารถแข่งขันได้ เนื่องจากอุตสาหกรรมสิ่งพิมพ์ไม่จำเป็นต้องใช้เทคโนโลยีการผลิตระดับสูง ค่าแรงงานและวัตถุดิบจึงเป็นปัจจัยหลักในการตัดสินใจลงทุน และไทยก็มีความพร้อมหลายด้าน รวมถึงการสนับสนุนด้านการลงทุนจากรัฐบาล
สำหรับการเปิดเขตการค้าเสรี(FTA) หากเปิดกับอินเดียคาดว่าไทยจะได้ประโยชน์มากเพราะภาษีนำเข้าสิ่งพิมพ์ของอินเดียค่อนข้างสูง แต่หากเป็นกับจีน ไทยยังคงเสียเปรียบในด้านแรงงานเพราะจีนมีค่าแรงต่ำกว่า ผู้ผลิตไทยต้องปรับตัวเพื่อเตรียมความพร้อม โดยการทำอุตสาหกรรมสิ่งพิมพ์ให้เป็นคลัสเตอร์ พร้อมสนับสนุนการปลูกป่าเพื่อป้องกันการขาดแคลนวัตถุดิบในอนาคต และพัฒนาด้านลอจิสติกส์
4. สินค้ากุ้ง กระทรวงพาณิชย์สหรัฐฯ ประกาศผลการตัดสินใจขั้นสุดท้าย ในการเก็บอัตราภาษีนำเข้ากุ้งเพื่อตอบโต้การทุ่มตลาดของประเทศจีนและเวียดนาม (AD) เมื่อวันที่ 1 ธ.ค. 2547 โดยจะกำหนดเก็บภาษีนำเข้ากุ้งจากจีนเพิ่มขึ้นมาอยู่ที่ 27.89—112.81% และจะเก็บจากเวียดนามที่ 4.13—25.76% โดยมีอัตราแตกต่างกันไปตามแต่ละบริษัทแบ่งเป็น 3 ระดับ ในส่วนของจีน ผู้ส่งออกรายใหญ่ต้องเสียภาษีในอัตรา 0.07-84.93% บริษัทเอกชนที่ไม่ถูกควบคุมโดยรัฐบาลเสียภาษี 55.23% และบริษัทอื่นๆทั่วไปเสียภาษี 112.81% ส่วนเวียดนาม ผู้ส่งออกรายใหญ่ต้องเสียภาษี 4.13-25.76% บริษัทเอกชนที่ไม่ถูกควบคุมโดยรัฐบาลเสียภาษี 4.38% และบริษัทอื่นๆทั่วไปเสียภาษี 25.76%
ซึ่งคณะกรรมาธิการการค้าระหว่างประเทศของสหรัฐฯ จะหารือกันในการประชุมวันที่ 12 มกราคม 2548 เพื่อตัดสินว่ากุ้งที่นำเข้าจากจีนและเวียดนาม ส่งผลกระทบต่ออุตสาห-กรรมกุ้งในประเทศจริงหรือไม่ ก่อนจะมีคำสั่งเรียกเก็บภาษีทุ่มตลาดในขั้นสุดท้าย และจะมีผลบังคับใช้ไปอีก 5 ปี สำหรับกุ้งนำเข้าจากอีก 4 ชาติ ได้แก่ ไทย บราซิล เอกวาดอร์ และอินเดียสหรัฐฯ จะประกาศอัตราภาษีตอบโต้การทุ่มตลาดขั้นสุดท้ายในวันที่ 20 ธ.ค. 2547
ผลจากการประกาศอัตราภาษีตอบโต้การทุ่มตลาดขั้นสุดท้ายของจีนและเวียดนาม ทำให้การส่งออกกุ้งไทยมีแนวโน้มดีขึ้น เพราะคาดว่าขีดความสามารถในการแข่งขันของหลายประเทศคู่แข่งจะต่ำลง และประเทศผู้ส่งออกกุ้งที่มีศักยภาพจะยังมีไทยและอินโดนีเซีย ซึ่งกุ้งไทยน่าจะได้รับความนิยมมากกว่าเพราะมีคุณภาพสูง และไทยมั่นใจว่าจะได้รับสิทธิพิเศษทางภาษีศุลกากร หรือ GSP คืนจากสหภาพยุโรป ในการประกาศให้สิทธิ GSP รอบใหม่ในเดือน มี.ค. 2548 จึงคาดว่าอุตสาหกรรมกุ้งไทยในปี 2548 และ 2549 จะขยายตัวเพิ่มขึ้นอีกมาก
ที่มา: http://www.depthai.go.th
-ดท-

แท็ก การส่งออก   GDP  

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ