สรุปภาวะเศรษฐกิจอุตสาหกรรม ไตรมาสที่ 4 (ตุลาคม - ธันวาคม พ.ศ.2548) อุตสาหกรรมเครื่องใช้ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์

ข่าวเศรษฐกิจ Tuesday March 14, 2006 14:37 —สำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม

          1.   ภาวะทั่วไปของอุตสาหกรรม
ภาวะการผลิตในสินค้าอุตสาหกรรมเครื่องใช้ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์โดยรวมของไทยในไตรมาสที่ 4 ปี 2548 ยังคงขยายตัวเพิ่มขึ้นได้ โดยเมื่อเทียบกับไตรมาสที่ผ่านมาดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรมปรับตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ 4.0 และเมื่อเทียบกับไตรมาสเดียวกันของปีก่อนดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรมปรับตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ 16.8 เนื่องจากการปรับตัวเพิ่มขึ้นมากของสินค้าในกลุ่มอิเล็กทรอนิกส์ โดยเฉพาะอย่างยิ่งฮาร์ตดิสไดรฟ์ (HDD), Semiconductor และ IC ในขณะที่การผลิตสินค้าเครื่องใช้ไฟฟ้าปรับตัวลดลงร้อยละ 9.6 โดยลดลงในสินค้าเกือบทุกรายการ เช่น เครื่องปรับอากาศ พัดลม กระติกน้ำร้อน และหม้อหุงข้าว เป็นต้น โดยในส่วนของเครื่องปรับอากาศที่มีการผลิตลดลงเนื่องจากคำสั่งซื้อที่ลดลงในตลาดยุโรป สาเหตุเพราะในปีนี้ยุโรปมีอากาศหนาวเย็นยาวนานกว่าปกติ ส่วนพัดลม กระติกน้ำร้อน และหม้อหุงข้าว ที่ปรับตัวลดลงเป็นเพราะต้องเผชิญกับการแข่งขันที่สูงขึ้นจากสินค้าจีนในตลาดส่งออก
ภาวะการส่งออกไตรมาสที่ 4 ปี 2548 ปรับตัวดีขึ้น โดยมีมูลค่าการส่งออกรวม 376,619.0 ล้านบาท ขยายตัวร้อยละ 8.8 เทียบกับไตรมาสเดียวกันของปีก่อน ส่วนใหญ่มาจากการส่งออกสินค้าอิเล็กทรอนิกส์ที่เพิ่มขึ้นมากถึงร้อยละ 19.3 ในขณะที่สินค้าไฟฟ้าหลายตัวมีมูลค่าการส่งออกลดลง เช่น พัดลม เครื่องรับโทรทัศน์ เครื่องปรับอากาศ เตาอบไมโครเวป เป็นต้น ในขณะที่การนำเข้าในไตรมาสที่ 4 ปี 2548 มีมูลค่า 299,160.0 ล้านบาท ปรับตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ 25.7 เมื่อเทียบกับไตรมาสเดียวกันของปีก่อน โดยเป็นการปรับเพิ่มขึ้นในเกือบทุกหมวดสินค้าทั้งสินค้าเครื่องใช้ไฟฟ้าและสินค้าอิเล็กทรอนิกส์ โดยเฉพาะอย่างยิ่งเทปแม่เหล็กและจานแม่เหล็กและแผ่น CD สำหรับบันทึกเสียงและภาพมีการนำเข้าเพิ่มขึ้นถึงร้อยละ 306.1 ทั้งนี้เนื่องจากปัจจุบันมีการใช้อุปกรณ์ประเภท Handy Drive , เครื่องเล่น MP3 และแผ่น CD ในการบันทึกข้อมูลอย่างแพร่หลาย และใช้แทนสื่อบันทึกชนิดอื่นๆ เช่น วีดีโอเทป และเทปคาสเซ็ต รวมถึง Floppy Disk มากขึ้น
จากการที่สินค้าอิเล็กทรอนิกส์มีการผลิตเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องตั้งแต่ต้นปีนี้ส่งผลให้ดัชนีผลผลิตของสินค้าไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์รวมในปี 2548 ปรับตัวสูงขึ้นถึงร้อยละ 18.2 โดยดัชนีผลผลิตสินค้าอิเล็กทรอนิกส์เพิ่มขึ้นร้อยละ 28.0 ในขณะที่ดัชนีผลผลิตสินค้าเครื่องใช้ไฟฟ้าปรับตัวลดลงร้อยละ 5.1 โดยสาเหตุหลักเกิดจากการผลิตที่ลดลงของเครื่องใช้ไฟฟ้าภายในบ้านขนาดเล็ก เป็นสำคัญ
สำหรับภาวะการส่งออกรวมของสินค้าไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ในปี 2548 พบว่าปรับตัวดีขึ้นเมื่อเทียบกับปี 2547 โดยมีมูลค่าส่งออกรวม 1,413,557.0 ล้านบาท ปรับตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ 8.8 โดยเป็นการเพิ่มขึ้นในส่วนของสินค้ากลุ่มอิเล็กทรอนิกส์ร้อยละ 8.8 เนื่องจากสินค้าประเภทอุปกรณ์ประกอบเครื่องคอมพิวเตอร์ อุปกรณ์ใช้สำหรับโทรศัพท์ โทรเลขและอุปกรณ์ และ IC การส่งออกมีการส่งออกเพิ่มขึ้น ในขณะที่การส่งออกในส่วนของสินค้าไฟฟ้ายังคงทรงตัวโดยเพิ่มขึ้นร้อยละ 0.3 และการนำเข้าในปี 2548 ทั้งปีพบว่ามีมูลค่าสูงถึง 1,146,600 ล้านบาท ปรับตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ 16.4 โดยส่วนใหญ่เป็นการนำเข้าชิ้นส่วนเพื่อมาประกอบเป็นหลัก ซึ่งจากการที่มูลค่านำเข้าที่ปรับตัวเพิ่มขึ้นอย่างมากนี้ทำให้ไทยเกินดุลการค้าสินค้าไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ลดลงจาก 321,793 ล้านบาท ในปี 2547 เหลือ 266,957 ล้านบาทในปี 2548 หรือลดลงร้อยละ 17.0
เมื่อเปรียบเทียบกับประเทศผู้ผลิตสินค้าไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ที่สำคัญ เช่น ประเทศญี่ปุ่นพบว่าภาวะการผลิตสินค้าในกลุ่มเครื่องใช้ไฟฟ้ายังคงทรงตัวเช่นกัน โดยเมื่อเทียบกับไตรมาสเดียวกันของปีก่อน ดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรมไตรมาสที่ 4 ปี 2548 ในกลุ่ม HouseHold Electrical Machinery ซึ่งรายงานโดย Ministry of Economic, Trade and Industry ประเทศญี่ปุ่นปรับตัวเพิ่มขึ้นเล็กน้อยร้อยละ 1.79 จากสินค้าที่มีเทคโลยีสูง เช่นจอภาพ LCD กล้องวีโอและกล้องถ่ายรูปดิจิทัล เป็นต้น ในขณะที่เมื่อพิจารณามูลค่าการจำหน่าย Semiconductor ของภูมิภาคต่างๆ ของโลกพบว่ามีมูลค่าการจำหน่ายเพิ่มขึ้นเมื่อเทียบกับไตรมาสเดียวกันของปีก่อนโดย Semiconductor Industry Association (SIA) ได้รายงานการจำหน่าย Semiconductor ของตลาดโลกในไตรมาสที่ 4 ปี 2548 มีมูลค่าจำหน่ายประมาณ 60.4 พันล้านเหรียญสหรัฐฯ เพิ่มขึ้นร้อยละ 7.6 โดยได้แรงฉุดจากสินค้าในกลุ่มของ Personal Computer และ Cellular Phone ส่วนมูลค่าการจำหน่ายทั้งปีมีมูลค่าถึง 225.6 พันล้านเหรียญสหรัฐฯ เพิ่มขึ้นร้อยละ 7.3 จากปี 2547 แม้ว่าจะต้องประสบกับสถานการณ์ราคาน้ำมันแพงขึ้นและภัยธรรมชาติที่เกิดขึ้นอย่างรุนแรงในหลายๆภูมิภาคก็ตาม โดยภูมิภาค Asia Pacific มีการขยายตัวสูงสุดถึงร้อยละ 16.4 เมื่อเทียบกับปีก่อน โดยเฉพาะประเทศจีนที่ได้กลายเป็นแหล่งผลิตสินค้าอิเล็กทรอนิกส์ที่ใหญ่ที่สุดของโลกไปแล้ว
แนวโน้มภาวะการผลิตสินค้าเครื่องใช้ไฟฟ้าในไตรมาส 1 ปี 254 มีโอกาสจะปรับตัวเพิ่มขึ้นจากไตรมาสที่ 4 ปี 2548 เนื่องจากบริษัทต่างๆเริ่มกลับมาผลิตใหม่อีกครั้งหลังจากหยุดยาวในช่วงเทศกาล โดยเฉพาะอย่างยิ่งสินค้าเครื่องใช้ไฟฟ้าสำหรับฤดูร้อน เช่น พัดลม ตู้เย็น และเครื่องปรับอากาศ คาดว่าน่าจะมีการเพิ่มกำลังการผลิตในส่วนของการส่งออก คาดว่าสินค้าไฟฟ้า จะมีการส่งออกเพิ่มขึ้นได้เนื่องจากเศรษฐกิจของโลกยังขยายตัวได้อย่างต่อเนื่องส่วนการส่งออกสินค้าอิเล็กทรอนิกส์โดยรวมคาดว่าจะเพิ่มขึ้นเช่นกัน เนื่องจากความต้องการสินค้า Computer และ Consumer Electronic ของโลกที่ขยายตัวสูงมาก อย่างไรก็ตามยังมีปัจจัยเสี่ยงที่น่าจับตา เช่น ปัจจัยราคาน้ำมันที่ยังคงผันผวนและอยู่ในระดับสูง เนื่องจากปัญหานิวเคลียร์ของประเทศอิหร่าน ซึ่งหากหากปัญหารุนแรงขึ้นคาดว่าโอกาสที่ราคาน้ำมันจะขึ้นไปแตะระดับ 70-75 เหรียญฯสหรัฐต่อบาร์เรลมีโอกาสเป็นไปได้สูงมาก ซึ่งจะส่งผลต่อการเติบโตของการบริโภคสินค้าไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์โดยรวมของโลกให้ลดลงได้
2. อุตสาหกรรมเครื่องใช้ไฟฟ้า
2.1 การผลิต
ภาวะการผลิตสินค้าในกลุ่มเครื่องใช้ไฟฟ้าในไตรมาสที่ 4 ปี2548 ชะลอตัวลงจากไตรมาสก่อน โดยดัชนีผลผลิตปรับตัวลดลงร้อยละ 2.6 และเมื่อเทียบกับไตรมาสเดียวกันของปีก่อนปรับตัวลดลงร้อยละ 9.6 สินค้าเครื่องใช้ไฟฟ้ามีการผลิตลดลงเกือบทุกประเภทสินค้า โดยเครื่องปรับอากาศแบบแยกส่วน คอนเดนซิ่งยูนิตมีการผลิตลดลงร้อยละ 4.3 และเครื่องปรับอากาศแบบแยกส่วน แฟนคอยด์ยูนิตลดลงร้อยละ 20.3 คอมเพรสเซอร์ลดลงร้อยละ 7.5 เนื่องจากคำสั่งซื้อที่ลดลงในตลาดยุโรป สาเหตุเพราะในปีนี้ยุโรปมีอากาศหนาวเย็นยาวนานกว่าปกติ สำหรับกลุ่มเครื่องใช้ไฟฟ้าภายในบ้านขนาดเล็ก เช่น พัดลม กระติกน้ำร้อน และหม้อหุงข้าว มีการผลิตลดลงร้อยละ 64.0, 12.3 และ 18.7 ตามลำดับ โดยส่วนใหญ่เป็นการลดลงในส่วนของการผลิตเพื่อส่งออกเนื่องจากต้องแข่งขันกับสินค้าจากจีนที่มีราคาถูกกว่า
เมื่อพิจารณาการผลิตสินค้าไฟฟ้ารวมทั้งปี 2548 พบว่าทรงตัวจากปี 2547 โดยดัชนีผลผลิตเป็นลดลงเล็กน้อยร้อยละ 5.1 โดยเครื่องใช้ไฟฟ้าภายในบ้านหลักๆ ยังมีการผลิตเพิ่มขึ้นได้ เช่น เครื่องรับโทรทัศน์ขนาดจอ 21 นิ้วขึ้นไป เพิ่มขึ้นร้อยละ 20.2 เครื่องปรับอากาศเพิ่มขึ้นร้อยละ 12.7 ตู้เย็นส่งออกผลิตเพิ่มขึ้น ร้อยละ 4.4 เครื่องรับโทรทัศน์เพิ่มขึ้นร้อยละ 20.2 และกระติกน้ำร้อนเพิ่มขึ้นร้อยละ 3.4 เครื่องซักผ้า 17,510 ล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 18.2 ส่วนหม้อหุงข้าวผลิตลดลงเล็กน้อยร้อยละ 6.6 สำหรับสินค้าที่มีการผลิตลดลงมากได้แก่ พัดลม เนื่องจากเหตุผลที่ได้กล่าวมาแล้ว และโทรทัศน์ขนาดจอน้อยกว่า 20 นิ้วร้อยละ 10.3 เนื่องจากได้รับความนิยมลดลง
เมื่อเปรียบเทียบกับดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรมในกลุ่มเครื่องใช้ไฟฟ้า (Household electrical machinary) ของประเทศญี่ปุ่นไตรมาสที่ 4 ปี 2548 ซึ่งรายงานโดย Ministry of Economic, Trade and Industry ประเทศญี่ปุ่น พบว่าดัชนีผลผลิตมีการปรับตัวลดลงเล็กน้อยร้อยละ 0.14 เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อน และปรับตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ 1.79 เมื่อเทียบกับไตรมาสเดียวกันของปีก่อน ซึ่งเมื่อพิจารณาในรายสินค้าพบว่า ดัชนีผลผลิตมีการปรับตัวเพิ่มขึ้นในส่วนของสินค้าที่ใช้เทคโนโลยีสูง เช่น จอภาพ LCD และกล้องวีดีโอ Digital เป็นต้น โดยจอภาพ LCD มีการผลิตเพิ่มขึ้นถึงร้อยละ 115.15 รายละเอียดแสดงในตารางที่ 3) อย่างไรก็ตามเมื่อพิจารณาดัชนีผลผลิตรวมของญี่ปุ่นในปี 2548 ทั้งปีพบว่าลดลงร้อยละ 4.3 สาเหตุจากสินค้าหลักๆมีการผลิตที่ลดลง รายละเอียดแสดงในตารางที่ 4
2.2 การตลาด
จากรายงานดัชนีการส่งสินค้าของสำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรมพบว่า ในไตรมาสที่ 4 ปี 2548 ดัชนีการส่งสินค้าเครื่องใช้ไฟฟ้าปรับตัวลดลงเช่นกัน โดยปรับตัวลดลงร้อยละ 4.7 เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อน และลดลงร้อยละ 7.4 เมื่อเทียบกับไตรมาสเดียวกันของปีก่อน โดยเป็นการลดลงมากจากสินค้าเครื่องปรับอากาศ พัดลม หม้อหุงข้าวและกระติกน้ำร้อน เช่นเดียวกับดัชนีผลผลิต
ในขณะที่เมื่อพิจารณาดัชนีส่งสินค้ารวมในปี 2548 พบว่าค่อนข้างทรงตัว โดยดัชนีปรับตัวลดลงเล็กน้อยร้อยละ 1.5 โดยสินค้าที่ดัชนีปรับตัวลดลงมากคือ พัดลม โดยปรับตัวลดลงถึงร้อยละ 51.1 เนื่องจากพัดลมของจีนแย่งส่วนแบ่งตลาดส่งออกของไทยไปมาก สำหรับในส่วนของสินค้าครื่องใช้ไฟฟ้าอื่นๆพบว่ายังมีการส่งสินค้าเพิ่มขึ้นได้ เช่น เครื่องปรับอากาศเพิ่มขึ้นร้อยละ 11.0 เครื่องรับโทรทัศน์เพิ่มขึ้นร้อยละ 22.5 และตู้เย็นร้อยละ 6.3 เป็นต้น
เปรียบเทียบกับดัชนีส่งสินค้าในกลุ่มเครื่องใช้ไฟฟ้าของประเทศญี่ปุ่น พบว่ายังคงทรงตัวโดยปรับตัวเพิ่มเล็กน้อยร้อยละ 1.67 เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อน และลดลงร้อยละ 0.41 เมื่อเทียบกับไตรมาสเดียวกันของปีก่อน โดยสินค้าส่วนใหญ่ยังมีการส่งสินค้าเพิ่มขึ้นได้เล็กน้อยร้อยละ 1-5 ยกเว้นสินค้าในกลุ่มสินค้าที่มีเทคโนโลยีสูงเช่น จอภาพ LCD กล้องวีดีโอและกล้องถ่ายรูปดิจิทัลที่มีการส่งสินค้าเพิ่มขึ้นมาก (รายละเอียดในตารางที่ 7) และเมื่อพิจารณาดัชนีการส่งสินค้ารวมทั้งปีของประเทศญ่ปุ่นพบว่ายังคงทรงตัวจากปี 2547 โดยดัชนีปรับตัวเพิ่มขึ้นได้เล็กน้อยร้อยละ 1.8 โดยสินค้าที่มีการปรับตัวเพิ่มขึ้นมากคือจอภาพ LCD (เพิ่มขึ้นร้อยละ 58.4) ส่วนเครื่องรับโทรทัศน์ปรับตัวลดลงร้อยละ 28.7 เนื่องจากตลาดญี่ปุ่นหันมานิยมใช้จอ LC D แทนจอภาพโทรทัศน์แบบเดิมมากขึ้น (รายละเอียดแสดงในตารางที่ 8)
ตลาดส่งออก
การส่งออกสินค้าไฟฟ้าของไทยในไตรมาสที่ 4 ปี 2548 มีมูลค่า 129,292.0 ล้านบาท ปรับตัวลดลงร้อยละ 10.3 เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อน และลดลงร้อยละ 6.8 เมื่อเทียบกับไตรมาสเดียวกันของปีก่อน โดยสินค้าเครื่องใช้ไฟฟ้าหลักๆหลายตัวมีการส่งออกลดลงมาก เช่น พัดลม (ร้อยละ 87.2) หลอดภาพโทรทัศน์ (ร้อยละ 61.2) เครื่องรับโทรทัศน์ (ร้อยละ 15.7) เครื่องปรับอากาศ (ร้อยละ 8.9) มอเตอร์ขนาดเล็ก (ร้อยละ 13.6) และเครื่องกำเนิดไฟฟ้า (ร้อยละ 23.3) เป็นต้น โดยพัดลมที่มีการส่งออกลดลงมากเนื่องจากถูกพัดลมราคาถูกจากจีนแย่งส่วนแบ่งในตลาดหลักๆไปมาก ส่วนหลอดภาพโทรทัศน์ที่ลดลงมากสาเหตุจากหลายปัจจัยเช่น การเข้ามาแทนที่ของหลอดภาพแบบ LCD และ Plama เพิ่มขึ้น การแข่งขันจากหลอดภาพราคาถูกจากประเทศจีน และมีการลักลอบใช้หลอดภาพคอมพิวเตอร์มือสองดัดแปลงมาใช้กับหลอดภาพโทรทัศน์ เป็นต้น และเมื่อพิจารณาการส่งออกสินค้าไฟฟ้ารวมทั้งปี 2548 พบว่ายังคงทรงตัวจากปี 2547 โดยมีมูลค่าการส่งออก 543,587 ล้านบาท ปรับตัวเพิ่มขึ้นเล็กน้อยร้อยละ 0.3 โดยเมื่อพิจารณาแยกตามกลุ่มสินค้าพบว่ากลุ่มสินค้าเครื่องเล่นภาพและเสียงยังเป็นกลุ่มสินค้าไฟฟ้าหลักของไทย โดยมีสัดส่วนการส่งออกร้อยละ 27.5 รองลงมาคือกลุ่มเครื่องทำความเย็นและส่วนประกอบ มีสัดส่วนร้อยละ 25.8
กลุ่มสินค้าที่มีการส่งออกเพิ่มขึ้นเมื่อเทียบกับปี 2547 ได้แก่ กลุ่มอุปกรณ์ที่ให้ความร้อนและส่วนประกอบ เครื่องทำความเย็นและส่วนประกอบ มอเตอร์และส่วนประกอบ โดยปรับตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ 17.0, 8.4 และ 10.5 ตามลำดับ กลุ่มสินค้าที่มีการปรับตัวลดลงได้แก่ กลุ่มเครื่องเล่นภาพและเสียงและส่วนประกอบ กลุ่มเครื่องอุปกรณ์ไฟฟ้า สำหรับตัดต่อป้องกันวงจรไฟฟ้า รวมถึงแป้นและแผงควบคุม(ฟิวส์,สวิตช์,ปลั๊ก,socket) และกลุ่มหม้อแปลงไฟฟ้า โดยปรับตัวลงลงร้อยละ 8.4, 11.0 และ 9.2 ตามลำดับ
เมื่อพิจารณาเป็นรายสินค้าพบว่าสินค้าที่มีการส่งออกสูงสุดได้แก่ เครื่องปรับอากาศ (79,403) ล้านบาท รองลงมาคือ เครื่องรับโทรทัศน์ (59,851 ล้านบาท) (รายละเอียดแสดงในตารางที่ 9) นอกจากนี้พบว่าสินค้าเครื่องใช้ไฟฟ้าขนาดเล็กของไทยเริ่มได้รับผลกระทบจากการแข่งขันกับสินค้าราคาถูกจากประเทศจีน เช่น พัดลม หม้อหุงข้าง กระติกน้ำร้อน อุปกรณ์ของเครื่องรับโทรทัศน์ และเครื่องอุปกรณ์ไฟฟ้า สำหรับตัดต่อป้องกันวงจรไฟฟ้า รวมถึงแป้นและแผงควบคุม(ฟิวส์,สวิตช์,ปลั๊ก,socket) ทำให้มีการส่งออกลดลง แต่ในส่วนของเครื่องใช้ไฟฟ้าขนาดใหญ่เช่น เครื่องปรับอากาศ ตู้เย็น และเครื่องซักผ้า พบว่ายังมีการส่งออกเพิ่มขึ้นได้
2.3 การนำเข้า
การนำเข้าสินค้าไฟฟ้าของไทยในไตรมาสที่ 4 ปี 2548 มีมูลค่าทั้งสิ้น 105398 ล้านบาท ลดลงร้อยละ 2.8 เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อน แต่เพิ่มขึ้นถึงร้อยละ 34.5 เมื่อเทียบกับไตรมาสเดียวกันของปีก่อน สินค้าที่ไทยมีการนำเข้ามาก ได้แก่ เครื่องอุปกรณ์ไฟฟ้าสำหรับตัดต่อป้องกันวงจรไฟฟ้า รวมถึงแป้นและแผงควบคุม(ฟิวส์,สวิตช์,ปลั๊ก,socket) มูลค่า 81707 ล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 20.6 รองลงมาคือเทปแม่เหล็กและจานแม่เหล็ก,แผ่น CD สำหรับบันทึกเสียง ,ภาพ มูลค่า 60660 ล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 306.1 และหลอดภาพโทรทัศน์สี มูลค่า 24179 ล้านบาท ลดลงร้อยละ 34.8 ซึ่งการที่สินค้าเทปแม่เหล็กและจานแม่เหล็ก,แผ่น CD สำหรับบันทึกเสียง ,ภาพ มีมูลค่านำเข้าขยายตัวอย่างมากดังกล่าวเนื่องจากปัจจุบันมีการใช้แผ่น CD อย่างแพร่หลาย และใช้แทนสื่อบันทึกชนิดอื่นๆ เช่น วีดีโอเทป และเทปคาสเซ็ต รวมถึง Floppy Disk มากขึ้น
เมื่อพิจารณามูลค่าการนำเข้าสินค้าไฟฟ้าในปี 2548 รวมทั้งปี พบว่ามีมูลค่าการนำเข้า 406,450.0 ล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 25 จากปี 2547 โดยปรับตัวเพิ่มขึ้นในเกือบทุกกลุ่ม สินค้าที่มีการนำเข้าสูงสุดของไทยยังคงได้แก่ สินค้าอุปกรณ์ไฟฟ้า สำหรับตัดต่อป้องกันวงจรไฟฟ้า รวมถึงแป้นและแผงควบคุม มีมูลค่าการนำเข้าถึง 81,707.0 ล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 15.1 รองลงมาคือ เทปแม่เหล็กและจานแม่เหล็ก,แผ่น CD สำหรับบันทึกเสียง ,ภาพ และเครื่องเล่นแผ่นเสียง มีมูลค่าการนำเข้า 60,660 ล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 301.4 นอกจากนี้พบว่าไทยมีการนำเข้าส่วนประกอบสำหรับเครื่องใช้ไฟฟ้าจากต่างประเทศมากขึ้นเนื่องจากเหตุผลด้านราคา โดยชิ้นส่วนสำหรับเครื่องรับโทรทัศน์นำเข้าเพิ่มขึ้นร้อยละ 32.2 และชิ้นส่วนเครื่องปรับอากาศเพิ่มขึ้นร้อยละ 39.0 เป็นต้น
3. อุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์
3.1 การผลิต
ภาวะการผลิตของอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์ในไตรมาส 4 ปี 2548 ขยายตัวเล็กน้อย โดยจากรายงานของสำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม พบว่าดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์ในไตรมาส 4 เพิ่มขึ้นร้อยละ 3.8 เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อน และเมื่อเทียบกับไตรมาสเดียวกันของปีก่อนเพิ่มขึ้นถึงร้อยละ 26.6 โดยสินค้าที่มีการปรับตัวเพิ่มขึ้นมาก คือ Other IC , Monolithic IC และ HDD เพิ่มขึ้นร้อยละ 43.7 30.4 และ 30.8 ตามลำดับ เนื่องจากความต้องการคอมพิวเตอร์ในตลาดโลกของไตรมาสที่ 4 ปี 2548 มีการปรับตัวเพิ่มขึ้นถึงร้อยละ 17 เมื่อเทียบกับไตรมาสเดียวกันของปีก่อน รวมถึงความต้องการ Consumer electronic ได้เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องเช่นกันในหลายผลิตภัณฑ์ เช่น โทรศัพท์เคลื่อนที่ กล้องดิจิตอล เครื่องรับโทรทัศน์แบบดิจิตอล เครื่องเล่น MP3 เป็นต้น ส่วนสินค้าที่มีการปรับตัวลดลงมากเมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนยังคงเป็นหลอดภาพเครื่องรับโทรทัศน์ (CRT) ลดลงมากถึงร้อยละ 42.0 ซึ่งเป็นการชะลอการผลิตมาตั้งแต่ต้นปี โดยมีสาเหตุมาจากหลายปัจจัย เช่น หลอดภาพ CRT ของไทยสูญเสียตลาดรัสเซียให้กับหลอดภาพจากจีน รวมถึงราคาของจอประเภท LCD/Plasma ที่ลดลงอย่างต่อเนื่อง ทำให้ส่วนแบ่งตลาดของจอ CRT ลดลง อย่างไรก็ตามแนวโน้มจะมีการปรับตัวดีขึ้น เนื่องจากประเทศจีนผลิต CRT ไม่ทันกับความต้องการ ทำให้เริ่มมีคำสั่งซื้อกลับเข้ามา รวมถึงตลาดรัสเซีย และกลุ่มประเทศ CIS เริ่มมีโอกาสที่จะเข้าไปจำหน่ายได้มากขึ้นเช่นกัน รองลงมา คือ หลอดภาพคอมพิวเตอร์ลดลงร้อยละ 43.3 ก็ลดลงมามากเช่นกัน เพราะมีสินค้าจากจีนเข้าไปแย่งส่วนแบ่งตลาด และ Printer ลดลงร้อยละ 32.9 เนื่องจากลูกค้ารายใหญ่ได้มีการยกเลิกคำสั่งซื้ออย่างกะทันหัน
เมื่อพิจารณาการผลิตอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์ในปี 2548 พบว่ามีการปรับตัวเพิ่มขึ้นมากเมื่อเทียบกับปี 2547 โดยดัชนีผลผลิตเพิ่มขึ้นถึงร้อยละ 28.0 ซึ่งมาจากการขยายตัวของ HDD และ Other IC มากถึงร้อยละ 45.2 และ 11.7 ตามลำดับ เนื่องจากเป็นไปตามภาวะอิเล็กทรอนิกส์ของโลกที่มีการขยายตัวค่อนข้างมาก โดยเฉพาะกลุ่ม Consumer Electronic มีการเติบโตอย่างต่อเนื่องอันเป็นผลมาจากการพัฒนาเทคโนโลยีและนวัตกรรมทางด้าน Wireless devices , Flat Panel Displays , MP3 devices and gaming consoles and Software ที่สามารถตอบสนองความต้องการของผู้บริโภคได้เป็นอย่างดี จึงเป็นแรงผลักดันให้ตลาดมีความต้องการอิเล็กทรอนิกส์เพิ่มขึ้นตามไปด้วย นอกจากนี้แล้วในส่วนของประเทศไทยได้มีการปรับปรุงสิทธิประโยชน์การลงทุนในอุตสาหกรรม HDD ทำให้บริษัทชั้นนำต่างๆ ได้เพิ่มการลงทุนและขยายการผลิต HDD ส่งผลให้ปัจจุบันไทยกลายเป็นฐานการผลิต HDD อันดับ 1 ของโลกไปแล้วอย่างไรก็ตามในปี 2548 สินค้าอิเล็กทรอนิกส์ที่มีการปรับตัวลดลงมาก ได้แก่ หลอดภาพเครื่องรับโทรทัศน์ (CRT) และ หลอดภาพคอมพิวเตอร์ ตามเหตุผลที่ได้กล่าวมาแล้วข้างต้น
3.2 การตลาด
ภาวะตลาดของอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์ในไตรมาส 4 ปี 2548 มีการเพิ่มขึ้นเล็กน้อย โดยจากรายงานดัชนีการส่งสินค้าอิเล็กทรอนิกส์ของสำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรมพบว่าเมื่อเทียบกับไตรมาสก่อนภาวะตลาดของอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์เพิ่มขึ้นร้อยละ 4.5 ซึ่งเป็นภาวะปกติของสินค้าอิเล็กทรอนิกส์ที่จะทรงตัวในช่วงปลายปี เนื่องจากไตรมาสที่ผ่านมาได้ส่งสินค้าเพื่อป้อนตลาดในช่วงปลายปีแล้ว และเมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนมีการปรับตัวเพิ่มขึ้นถึงร้อยละ 21.1 โดยเป็นผลมาจากการขยายตัวของ Other IC , Monolithic IC และ HDD ร้อยละ 38.3 29.6 และ 27.4 ตามลำดับ (รายละเอียดแสดงในตารางที่ 10 )
สำหรับภาวะตลาดในปี 2548 มีการปรับตัวเพิ่มขึ้นเช่นเดียวกันกับภาวะการผลิต โดยดัชนีการส่งสินค้าเพิ่มขึ้นร้อยละ 21.1 ซึ่งมาจาก HDD และ Other IC ที่ขยายตัวถึงร้อยละ 43.7 และ 10.9 ตามลำดับ อย่างไรก็ตามสินค้าอิเล็กทรอนิกส์ที่มีการปรับตัวลดลงค่อนข้างมาก คือ หลอดภาพเครื่องรับโทรทัศน์ (CRT) และหลอดภาพคอมพิวเตอร์ ลดลงถึงร้อยละ 42.6 และ 13.1 ตามลำดับ
เมื่อพิจารณามูลค่าการจำหน่าย Semiconductor ของตลาดโลกในไตรมาส 4 ปี 2548 จากการรายงานของ Semiconductor Industry Association (SIA) พบว่ามีการขยายตัวเล็กน้อย โดยในไตรมาสที่ 4 ปี 2548 มีมูลค่าการจำหน่ายประมาณ 60.4 พันล้านเหรียญสหรัฐฯ เพิ่มขึ้นร้อยละ 7.6 เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อน และเมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนพบว่ามีการขยายตัวเพิ่มขึ้นถึงร้อยละ 16.0 ซึ่งเป็นผลจากความต้องการสินค้าในกลุ่ม Personal Computer , Cell Phone ที่เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องและยังมีการนำ Semiconductor ไปใช้ในสินค้าอุปโภคบริโภค(Consumer Product) มากขึ้น ส่งผลให้ความต้องการใช้ชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์เพิ่มขึ้นตามไปด้วย
มูลค่าการจำหน่าย Semiconductor ทั่วโลกในปี 2548 ถึง 225.6 พันล้านเหรียญสหรัฐฯ เพิ่มขึ้นจากปีก่อนร้อยละ 7.3 แม้ว่าจะต้องประสบกับสถานการณ์ราคาน้ำมันแพงขึ้นและภัยธรรมชาติที่เกิดขึ้นอย่างรุนแรงในหลายๆ ภูมิภาคก็ตาม แต่ความต้องการของ Semiconductor ก็ยังคงขยายตัวในเกือบทุกภูมิภาค ยกเว้นญี่ปุ่นที่ปรับตัวลดลงร้อยละ 2.3 ซึ่งนำโดยภูมิภาค Asia Pacific ที่มีการขยายตัวสูงสุดถึงร้อยละ 16.4 เมื่อเทียบกับปีก่อน โดยเฉพาะประเทศจีน ซึ่งได้กลายเป็นแหล่งผลิตสินค้าอิเล็กทรอนิกส์ที่ใหญ่ที่สุดของโลกไปแล้ว ซึ่งการเติบโตของตลาด Asia Pacific เป็นผลมาจากการเติบโตของทุกกลุ่มผลิตภัณฑ์โดยเฉพาะกลุ่มคอมพิวเตอร์และส่วนประกอบ และกลุ่มเครื่องมือสื่อสารที่ใช้สาย ที่มีการจำหน่ายเพิ่มขึ้นถึงร้อยละ 36.5 และ 38.2 ตามลำดับ ส่วนกลุ่ม Consumer Electronic อื่นๆ กลุ่มเครื่องมือสื่อสารไร้สาย และกลุ่มอิเล็กทรอนิกส์ยานยนต์ก็มีการเติบโตในระดับดีเช่นกัน
ตลาดส่งออก
จากสถิติการส่งออกซึ่งรวบรวมโดยสถาบันไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส พบว่าสินค้าอิเล็กทรอนิกส์ในไตรมาส 4 ปี 2548 มีมูลค่า 247,328 ล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 4.1 เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อน โดย HDD และ IC เป็นสินค้าที่มีการปรับเพิ่มขึ้นถึงร้อยละ 5.7 และ 5.5 เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อน ซึ่งสอดคล้องกับภาวการณ์ผลิตและภาวะตลาดโลกที่ไตรมาสนี้มีขยายตัวเล็กน้อย อย่างไรก็ตามวงจรพิมพ์ (PCB) มีการปรับตัวลดลงมาร้อยละ 18.3 ซึ่งเป็นการลดลงมาอย่างต่อเนื่องตั้งแต่ในช่วงกลางปีนี้
สำหรับการส่งออกเมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนมีการขยายตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ 19.3 โดยสินค้าสำคัญที่ผลักดันให้มีการขยายตัว คือ คอมพิวเตอร์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ วงจรรวมและ ไมโครแอสแซมบลี (Integraed Circuit) และเครื่องส่ง-เครื่องรับวิทยุ โทรเลข วิทยุโทรศัพท์ เครื่องเรดาห์เพิ่มขึ้นถึงร้อยละ 21.1 36.8 และ 30.3 ตามลำดับ อย่างไรก็ตามวงจรพิมพ์ (PCB) มีการปรับตัวลดลงมากถึงร้อยละ 42.3 เช่นเดียวกับที่ปรับลดลงเมื่อเทียบกับไตรมาสก่อน ซึ่งส่วนหนึ่งอาจจะมีการย้ายฐานการผลิตไปยังประเทศอื่นๆ จึงมีการผลิตลดลงจากปีก่อน รองลงมา คือไดโอด ทรานซิสเตอร์และอุปกรณ์กึ่งตัวนำที่ปรับลดลงร้อยละ 8.1 โดยมาจากการพัฒนาเทคโนโลยีที่สูงขึ้นจึงได้รวมไดโอด ทรานซิสเตอร์และอุปกรณ์กึ่งตัวนำไว้ใน IC ด้วยแล้ว ซึ่งจะส่งผลต่อความต้องการ ไดโอด ทรานซิสเตอร์และอุปกรณ์กึ่งตัวนำที่น่าจะปรับตัวลดลงต่อไป
การส่งออกของอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์โดยรวมในปี 2548 ปรับตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ 8.8ซึ่งเป็นไปในทิศทางเดียวกับภาวะการจำหน่าย Semiconductor ของโลก โดยเครื่องคอมพิวเตอร์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ เพิ่มขึ้นถึงร้อยละ 26.1 ซึ่งมาจากการขยายตัวของจีนถึงร้อยละ 61.0 ทำให้ในปี 2548 จีนกลายเป็นตลาดเครื่องคอมพิวเตอร์ อุปกรณ์และส่วนประกอบอันดับ 1 ของไทยแล้ว รองลงมา คือ วงจรรวมและไมโครแอสแซมบลี้ (Integraed Circuit) เพิ่มขึ้นร้อยละ 11.1 โดยญี่ปุ่นและฮ่องกงเป็นตลาดที่มีการขยายตัวค่อนข้างมากถึงร้อยละ 36.8 และ 32.2 ตามลำดับ
โดยสัดส่วนของสินค้าอิเล็กทรอนิกส์ที่มีมูลค่าการส่งออกมาก ได้แก่ คอมพิวเตอร์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ รองลงมาคือ วงจรรวมและไมโครแอสแซมบลี (Integraed Circuit) วงจรพิมพ์ ไดโอด ทรานซิสเตอร์และ อุปกรณ์กึ่งตัวนำ และเครื่องส่ง-เครื่องรับวิทยุโทรเลข วิทยุโทรศัพท์ เครื่องเรดาห์ ตามลำดับ
3.3 การนำเข้า
จากรายงานการนำเข้าสินค้าอิเล็กทรอนิกส์ในไตรมาส 4 ปี 2548 พบว่ามีมูลค่ารวม 299,160 ล้านบาท ขยายตัวเพิ่มขึ้นเพียงร้อยละ 0.5 เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อน โดยสินค้าสำคัญที่มีการปรับตัวเพิ่มขึ้นมาก คือ วงจรพิมพ์ และMobile Phone เพิ่มขึ้นร้อยละ 17.7 และ 9.6 ตามลำดับ (รายละเอียดแสดงในตารางที่ 18)
สำหรับการนำเข้าเมื่อเทียบกับไตรมาสเดียวกันของปีก่อนเพิ่มขึ้นค่อนข้างมากถึงร้อยละ 21.4 โดยสินค้าที่มีการนำเข้ามากยังคงเป็น Mobile Phone ขยายตัวถึงร้อยละ 45.7 ซึ่งเป็นการเพิ่มขึ้นอย่างมาก จนทำให้ปัจจุบันกลายเป็นสินค้าที่มีบทบาทมากขึ้นต่อการนำเข้าของไทย รองลงมา คือ วงจรพิมพ์ (PCB) ขยายตัวถึงร้อยละ 65.1 ซึ่งเมื่อวิเคราะห์เทียบกับการส่งออกแล้วจะพบว่าเป็นสินค้าที่มีการส่งออกลดลงอย่างมาก ขณะเดียวกันกลับมีการนำเข้าเพิ่มขึ้นมาก แสดงว่าประเทศไทยน่าจะมีการลดการผลิตแผ่นวงจรพิมพ์ลง และเปลี่ยนมาเป็นการนำเข้าแทนสำหรับที่นำมาใช้ประกอบเป็นสินค้าสำเร็จรูป
การนำเข้าสินค้าอิเล็กทรอนิกส์ไทยในปี 2548 มีการขยายตัวค่อนข้างมากถึงร้อยละ 16.4 โดยวงจรพิมพ์เป็นสินค้าที่มีการขยายมากถึงร้อยละ 41.8 ซึ่งในปีนี้มีการนำเข้ามาจากมาเลเซียมากเป็นอันดับ 1 แทนที่ประเทศญี่ปุ่น มูลค่าการนำเข้า 8,745.1 ล้านบาท เพิ่มขึ้นถึงร้อยละ 631.62 ส่วนอีกประเทศหนึ่งที่น่าจับตามอง คือ อินโดนีเซีย มีมูลค่านำเข้า 2,188.5 ล้านบาท เพิ่มขึ้นถึงร้อยละ 2,881.6 เมื่อเทียบกับปีก่อน ส่วนสินค้าอีกประเภทหนึ่งที่มีการนำเข้าเพิ่มขึ้นมาก คือ Mobile Phone ขยายตัวมากถึงร้อยละ 21.9 เมื่อเทียบกับปีก่อน และเป็นการขยายตัวอย่างต่อเนื่องตลอดทั้งปี
โดยสัดส่วนของสินค้าอิเล็กทรอนิกส์ที่มีมูลค่าการนำเข้ามาก ได้แก่ วงจรรวมและไมโครแอสแซมบลี (Integraed Circuit) รองลงมา คือ คอมพิวเตอร์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ Mobile Phone วงจรพิมพ์ ไดโอด ทรานซิสเตอร์และ อุปกรณ์กึ่งตัวนำ ตามลำดับ
แนวโน้มอุตสาหกรรมเครื่องใช้ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ในไตรมาส 1 ปี 2549 และ ปี 2549
(ยังมีต่อ)

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ