เศรษฐกิจโลก
ในไตรมาสที่ 2/2549 เศรษฐกิจโลกโดยรวมยังขยายตัวได้ดี แม้ว่าภาวะเงินเฟ้อในหลายประเทศจะทำให้อุปสงค์ภายในประเทศชะลอตัวลง แต่ประเทศจีน และหลายประเทศในภูมิภาคเอเชีย สามารถเร่งการผลิตและการค้าในตลาดโลกได้อย่างเข้มแข็ง เนื่องจากการขยายการลงทุนในภาคอุตสาหกรรม ประกอบกับระดับความเชื่อมั่นของผู้ประกอบการยังอยู่ในแนวโน้มที่ดี อย่างไรก็ตาม อุปสรรคสำคัญยังคงเป็นปัจจัยต่อเนื่องมาตั้งแต่ปี 2548 ได้แก่ ราคาน้ำมันที่ทะยานเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ปัญหาภาวะสงคราม และภัยธรรมชาติในหลายประเทศ ปัจจัยเหล่านี้ อาจส่งผลให้ภาคการผลิตและการเงินในประเทศผู้ผลิตต้องชะลอตัวลง หรืออาจเข้าสู่ภาวะเศรษฐกิจชะงักงันในระยะปานกลาง
เศรษฐกิจสหรัฐฯ เติบโตชะลอตัวลงอย่างมากในไตรมาสที่ 2/2549 เนื่องจากการเติบโตในอัตราที่ลดลงของอุปสงค์ภายในประเทศ แม้ว่าดุลการค้าจะขาดดุลลดลงจนสามารถเกินดุลได้เป็นครั้งแรกอันเป็นผลมาจากค่าเงินดอลล่าร์สหรัฐฯ ที่อ่อนตัวลงในช่วงไตรมาสที่ 2 แต่คาดว่าการขาดดุลจะกลับมาอีกครั้ง เมื่อเข้าสู่ฤดูหนาว และการทุ่มงบประมาณเพื่อการทำสงครามในต่างประเทศ จะฉุดให้การเติบโตของเศรษฐกิจสหรัฐชะลอลงต่อเนื่อง
ทางด้านสหภาพยุโรป ยังคงเติบโตอย่างช้าๆต่อเนื่องจากปีก่อน เนื่องจากภาวะเงินเฟ้อที่เกิดขึ้น ส่งผลให้การบริโภคภาคเอกชน ยังไม่สามารถขยายตัวได้มากนัก แม้ว่าจะมีการลงทุนเพิ่มมากขึ้น จากความเชื่อมมั่นของภาคธุรกิจต่อภาวะเศรษฐกิจในระยะปานกลาง และอัตราผลตอบแทนจากการลงทุนที่เพิ่มสูงขึ้น แต่ไม่สามารถฉุดให้เกิดการขยายตัวของเศรษฐกิจสหภาพยุโรปได้
ส่วนประเทศจีน ยังคงต้องพยายามควบคุมไม่ให้ GDP ขยายตัวอย่างร้อนแรงมากเกินไป จนอาจนำไปสู่เศรษฐกิจฟองสบู่ได้ ทั้งด้านการลงทุนที่ยังต้องอาศัยการลงทุนภาครัฐเข้ามาเป็นตัวกระตุ้นในหลายๆสาขาอุตสาหกรรม เพื่อสร้างการพัฒนาและการกระจายรายได้ไปสู่ชนบทให้มากขึ้น ซึ่งทำให้รัฐบาลต้องหามาตรการเข้ามากำกับการลงทุนในภาคการผลิตให้อยู่ในระดับที่เหมาะสม ทางด้านประเทศญี่ปุ่นมีการเติบโตทางเศรษฐกิจอย่างช้าๆ ทั้งด้านการบริโภคภาคเอกชน การใช้จ่ายภาครัฐ แต่ภาคอุตสาหกรรมมีแนวโน้มการขยายตัวดี ส่วนด้านเงินเฟ้อที่เพิ่มสูงขึ้น และการขึ้นอัตราดอกเบี้ยของสหรัฐฯ ทำให้ญี่ปุ่นต้องตัดสินใจขึ้นอัตราดอกเบี้ยเป็นครั้งแรกในรอบหกปี
สำหรับเศรษฐกิจในภูมิภาคเอเชีย ในไตรมาสที่ 2/2549 ส่วนใหญ่มีแนวโน้มที่ดี เนื่องจากการขยายตัวของการลงทุน และการผลิตในภาคอุตสาหกรรม อย่างไรก็ตาม ภาวะเงินเฟ้อในหลายประเทศ และภาวะราคาน้ำมันแพง เป็นสาเหตุหลักที่ทำให้อุปสงค์ภายในประเทศลดลง จึงต้องหันมาพึ่งพาการส่งออกซึ่งยังขยายตัวได้ดีในหลายตลาด
GDP ของประเทศต่างๆ ไตรมาสที่ 2/2549
ประเทศ อัตราการขยายตัวของ GDP ไตรมาสที่ 2/2549
สหรัฐอเมริกา 2.5 (qoq)
จีน 11.3 (yoy)
ญี่ปุ่น 0.8 (yoy)
สหภาพยุโรป 1.8 — 2.4 (yoy)
สิงคโปร์ 8.1 (yoy)
มาเลเซีย n.a
ไต้หวัน 4.9 (yoy)
ฮ่องกง n.a
เกาหลีใต้ 5.3(yoy)
เศรษฐกิจสหรัฐอเมริกา
ประเทศสหรัฐฯ ได้ปรับตัวเลขการเติบโตของ GDP ในไตรมาสแรกของปี 2549 จากประมาณการร้อยละ 4.8 เป็นร้อยละ 5.6 สำหรับประมาณการการขยายตัวของ GDP ในไตรมาสที่ 2/2549 เติบโตชะลอตัวลง โดยขยายตัวเพียงร้อยละ 2.5 เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อน ซึ่งเป็นผลมาจากการขยายตัวลดลงของปัจจัยหลายด้าน ได้แก่ การบริโภคภาคเอกชน การลงทุนภาคเอกชน การส่งออก และการใช้จ่ายของรัฐบาลกลาง
(1) รวบรวมจาก www.epi.org และสถิติจาก www.bea.gov , www.federalreserve.org
ทั้งนี้ การบริโภคภาคเอกชนในไตรมาสที่ 2/2549 ขยายตัวจากไตรมาสก่อนร้อยละ 2.5 น้อยกว่าการขยายตัวในไตรมาสก่อน ซึ่งขยายตัวถึงร้อยละ 4.8 ทางด้านการลงทุนภาคเอกชน มีการขยายตัวร้อยละ 1.7 ชะลอตัวลงจากไตรมาสที่ 1/2549 ที่ขยายตัวถึงร้อยละ 7.8 สำหรับการส่งออกมีการเติบโตลดลงเหลือร้อยละ 3.3 จากร้อยละ 14.0 ในไตรมาสก่อน ปัจจัยที่สำคัญอีกประการหนึ่งที่ทำให้ GDP ของสหรัฐฯขยายตัวลดลง ได้แก่ การใช้จ่ายของรัฐบาลกลาง ซึ่งหดตัวลงถึงร้อยละ 3.4 ในขณะที่ไตรมาสก่อนขยายตัวถึงร้อยละ 8.8 ทางด้านการลงทุนในที่อยู่อาศัยลดลงมากที่สุด โดยหดตัวถึงร้อยละ 6.3 ซึ่งเป็นการหดตัวติดต่อกันเป็นไตรมาสที่ 3 แสดงให้เห็นว่าภาคอสังหาริมทรัพย์ของสหรัฐฯ ไม่ได้เป็นปัจจัยหลักในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจในระยะสั้น
เมื่อพิจารณาด้านดุลการค้าระหว่างประเทศในไตรมาสที่ 2/2549 การส่งออกขยายตัวร้อยละ 3.3 ขณะที่การนำเข้าขยายตัวเพียงร้อยละ 0.2 ทำให้สัดส่วนของการส่งออกสุทธิในการเติบโต GDP ของสหรัฐฯ ไตรมาสที่ 2 เป็นบวกโดยอยู่ที่ระดับร้อยละ 0.33 จากที่ไตรมาสที่ 1/2549 อยู่ที่ระดับร้อยละ -0.04 อันเป็นผลมาจากการอ่อนตัวของค่าเงินดอลล่าร์สหรัฐฯ และการส่งออกสินค้าไปยังประเทศที่ทำข้อตกลงการค้า FTAs ที่สหรัฐฯ ลงนามไปก่อนหน้านี้
ทางด้านอุปสงค์ภายในประเทศ ซึ่งวัดจากการจำหน่ายสินค้าขั้นสุดท้ายภายในประเทศ (Final sales to domestic purchasers) มีการเติบโตชะลอตัวลงเหลือเพียงร้อยละ 1.6 เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อนซึ่งเติบโตถึงร้อยละ 5.4 ในทางกลับกัน ทางด้านการออมกลับหดตัวลงอย่างต่อเนื่อง แม้ว่าการใช้จ่ายของประชาชนจะลดลง โดยอัตราการออมหดตัวลงร้อยละ 1.5 ซึ่งเป็นการหดตัวติดต่อกันเป็นไตรมาสที่ 5 อันเป็นผลมาจากการชะงักงันของการเติบโตรายได้สุทธิของประชาชน (Real disposable personal income) โดยเพิ่มขึ้นน้อยกว่าร้อยละ 1 ในไตรมาสที่ 2/2549 ซึ่งยิ่งกดให้อุปสงค์ภายในประเทศลดลง
ส่วนภาวะเงินเฟ้อของสหรัฐฯ พิจารณาจากอัตราเงินเฟ้อหลัก (Core Inflation) คือ เงินเฟ้อในกลุ่มสินค้าเพื่อการบริโภคกลุ่มหลัก ยกเว้นอาหารและพลังงาน พบว่า ในไตรมาส 2/2549 เพิ่มขึ้นถึงร้อยละ 2.7 เมื่อเปรียบเทียบกับไตรมาสก่อน ซึ่งเพิ่มขึ้นเพียงร้อยละ 1.6 ทำให้เป็นแรงสนับสนุนการขึ้นอัตราดอกเบี้ยของธนาคารกลาง หรือ อัตราดอกเบี้ย Fed Funds เพื่อต้านแรงกดดันของเงินเฟ้อ แต่อาจส่งผลให้ GDP ชะลอตัวลงอีก โดยอัตราดอกเบี้ยเฉลี่ยในไตรมาสที่ 2/2549 อยู่ที่ระดับร้อยละ 4.9 ซึ่งสูงกว่าอัตราดอกเบี้ยเฉลี่ยของไตรมาสก่อน ที่ระดับร้อยละ 4.75
ส่วนการผลิตภาคอุตสาหกรรมของสหรัฐฯ ในไตรมาสที่ 2/2549 มีการขยายตัวโดยรวมสูงขึ้น โดยดัชนีอุตสาหกรรมและเหมืองแร่ เพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีก่อนร้อยละ 6.6 ดัชนีผลผลิตสินค้าอุตสาหกรรม เพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีก่อนร้อยละ 5.4 ทั้งนี้ กลุ่มอุตสาหกรรมที่มีผลผลิตเพิ่มขึ้นมากที่สุด 3 กลุ่มแรก เป็นการขยายตัวต่อเนื่องจากไตรมาสก่อน ได้แก่ กลุ่มการผลิตคอมพิวเตอร์ และสินค้าอิเล็กทรอนิกส์ ซึ่งเติบโตร้อยละ 17.1 เทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน รองลงมาคือ ผลิตภัณฑ์เหล็กพื้นฐาน ซึ่งเติบโตร้อยละ 15.8 และอันดับสามได้แก่ กลุ่มเครื่องใช้ไฟฟ้า ซึ่งเติบโตถึงร้อยละ 12.6 ส่วนการผลิตสินค้าอุปโภคบริโภค (Nondurable goods) มีการเติบโตในไตรมาสที่ 2/2549 ร้อยละ 2.2 ชะลอตัวลงจากไตรมาสก่อนที่เติบโตถึงร้อยละ 6.4 โดยอุตสาหกรรมสิ่งพิมพ์และผลิตภัณฑ์ที่เกี่ยวข้อง เติบโตสูงสุดร้อยละ 7.1 รองลงมาคือ อุตสาหกรรมเคมี ซึ่งเติบโตร้อยละ 6.8 และกลุ่มเครื่องหนัง ซึ่งเติบโตร้อยละ 6.5 ทำให้ภาพรวมของอุตสาหกรรมยังขยายตัวได้ดีต่อเนื่องมาตั้งแต่ปลายปีก่อน และเป็นปัจจัยสำคัญในการกระตุ้นการเติบโตของ GDP รวมของประเทศ
จากสถานการณ์ข้างต้น แสดงให้เห็นว่า เศรษฐกิจของสหรัฐฯ ได้เกปลี่ยนจากการพึ่งพาความเข้มแข็งของการเติบโตด้านอุปสงค์ของประเทศ และการขยายตัวของตลาดที่อยู่อาศัย และหันมาพึ่งพาการเติบโตของการส่งออก และภาคอุตสาหกรรม ซึ่งมีแนวโน้มเติบโตได้ดีโดยได้รับแรงสนับสนุนของการอ่อนตัวของค่าเงินดอลล่าร์สหรัฐฯ อย่างไรก็ตาม การปรับตัวในลักษณะนี้ต้องอาศัยการสนับสนุนจากการเพิ่มอุปสงค์ภายในประเทศในระยะสั้น ซึ่งต้องเพิ่มรายได้ให้แก่ประชาชนเพื่อกระตุ้นการบริโภค พร้อมกับการส่งเสริมการออมควบคู่กัน
เศรษฐกิจจีน
GDP ของจีนในไตรมาสที่ 2/2549 ยังคงร้อนแรง โดยขยายตัวสูงถึงร้อยละ 11.3 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ต่อเนื่องจากไตรมาสก่อนซึ่งขยายตัวถึงร้อยละ 10.2 ทำให้การขยายตัวของ GDP ในครึ่งปีแรกของจีนอยู่ที่ร้อยละ 10.9 อันเนื่องมาจากการขยายตัวของการส่งออก การเติบโตของการผลิตและการลงทุนในภาคอุตสาหกรรมเพิ่มขึ้นอย่างมหาศาลในไตรมาสที่ 2/2549 โดยในครึ่งปีแรก จีนมีการส่งออกเพิ่มขึ้นร้อยละ 25.2 เทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ทางด้านผลผลิตภาคอุตสาหกรรมและเหมืองแร่ขยายตัวถึงร้อยละ 17.7 และการลงทุนในภาคอุตสาหกรรม มีการเติบโตจากปีก่อนร้อยละ 28.0 ส่วนทางด้านการลงทุนภาคก่อสร้าง และเครื่องจักรโรงงานพุ่งสูงถึงร้อยละ 35 ทำให้ประมาณการการขยายตัวของ GDP ประเทศจีนมีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้นอย่างรวดเร็ว ซึ่งการเติบโตที่ร้อนแรงเกินไป อาจเกิดปัญหาเศรษฐกิจฟองสบู่ได้ ทำให้คณะกรรมการปฎิรูปและพัฒนาประเทศของจีน กำลังพยายามหาแนวทางในการควบคุมการลงทุนเกินขนาดในภาคอุตสาหกรรม ซึ่งเป็นหนึ่งในปัจจัยสำคัญในการรักษาเสถียรภาพของการเติบโตทางเศรษฐกิจ
ทางด้านภาคเกษตรกรรมในช่วงครึ่งปีแรกของปี 2549 ผลผลิตเกษตรในช่วงเก็บเกี่ยวที่ผ่านมา ขยายตัวร้อยละ 7.0 ส่วนผลผลิตปศุสัตว์ขยายตัวร้อยละ 4.4 ทางด้านการผลิตภาคอุตสาหกรรมและเหมืองแร่มีการขยายตัวร้อยละ 17.7 โดยผลผลิตของอุตสาหกรรมหนักขยายตัวร้อยละ 18.5 ซึ่งการผลิตรถยนต์ขยายตัวร้อยละ 53.2 การผลิตเครื่องคอมพิวเตอร์ขยายตัวสูงสุดถึงร้อยละ 34.0 และการผลิตเหล็กม้วนขยายตัวถึงร้อยละ 25.8 ซึ่งเป็นผลมาจากการผลักดันนโยบายส่งเสริมอุตสาหกรรมผลิตรถยนต์ และเครื่องคอมพิวเตอร์ของจีน และการขยายการลงทุนในภาคอุตสาหกรรมเพิ่มสูงขึ้นอย่างมาก ส่วนผลผลิตอุตสาหกรรมเบาขยายตัวร้อยละ 15.8
นอกจากนี้ ในช่วงครึ่งปีแรกของปี 2549 การลงทุนในสินทรัพย์ถาวรอยู่ในอัตราเร่ง โดยขยายตัวถึงร้อยละ 29.8 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ทั้งนี้ การลงทุนในเขตเมืองขยายตัวร้อยละ 31.3 ซึ่งเน้นการพัฒนาอสังหาริมทรัพย์เป็นหลัก ทำให้การลงทุนในการพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ เพิ่มขึ้นร้อยละ 24.2 จากช่วงเดียวกันของปีก่อน ทางด้านการลงทุนในอุตสาหกรรมหนัก ขยายตัวถึงร้อยละ 32.6 ทำให้การขยายการผลิตในอุตสาหกรรมหนักขยายตัวสูงขึ้นตามที่ได้กล่าวข้างต้น
ทางด้านอุปสงค์ภายในประเทศ ยังมีแนวโน้มการเติบโตที่มีเสถียรภาพ โดยในครึ่งปีแรกของปี 2549 การจำหน่ายสินค้าเพื่อการบริโภคเพิ่มขึ้นร้อยละ 13.3 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ซึ่งการเติบโตของยอดจำหน่ายในเขตเมืองขยายตัวร้อยละ 14.0 ในขณะที่ยอดจำหน่ายในเขตนอกเมืองขยายตัวร้อยละ 12.0 สำหรับอัตราเงินเฟ้อในช่วงครึ่งปีแรก ขยายตัวร้อยละ 1.3 ซึ่งขยายตัวต่ำกว่าช่วงเดียวกันของปีก่อน เมื่อพิจารณาด้านรายได้ของประชาชนในช่วงครึ่งปีแรก รายได้สุทธิเฉลี่ย (Per Capita Disposable Income) ของประชาชนในเขตเมืองขยายตัวร้อยละ 10.2 จากช่วงเดียวกันของปีก่อน และรายได้เฉลี่ยของประชาชนในเขตชนบทขยายตัวร้อยละ 11.9 ซึ่งเพิ่มขึ้นมากกว่าการขยายตัวในช่วงเดียวกันของปีก่อนถึงร้อยละ 0.7 และ0.6 ตามลำดับ อันเนื่องมาจากการขยายตัวช้าลงของอัตราเงินเฟ้อ ทำให้อุปสงค์ภายในประเทศเทศยังคงมีแนวโน้มที่ดี และสามารถเป็นปัจจัยหลักในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจต่อไป
อย่างไรก็ตาม ดุลการค้าของจีนในครึ่งปีแรกของปี 2549 เริ่มเกินดุลการค้าลดลง โดยการส่งออกขยายตัวร้อยละ 25.2 ซึ่งต่ำกว่าการขยายตัวของช่วงเดียวกันในปีก่อนร้อยละ 7.5 ทางด้านการนำเข้ามีการขยายตัวร้อยละ 21.3 ซึ่งสูงกว่าการขยายตัวของช่วงเดียวกันในปีก่อนร้อยละ 7.3 และมีการไหลเข้าของเงินทุนจากต่างประเทศเพิ่มขึ้นร้อยละ 2.7 แต่มีการใช้ปัจจัยทุนลดลงร้อยละ 0.5
ปัญหาหลักของเศรษฐกิจจีนในช่วงนี้ คือ การเพิ่มรายได้ของเกษตรกรยังอยู่ในระดับต่ำ การขยายตัวเร็วเกินไปของการลงทุนในสินทรัพย์ถาวร การให้สินเชื่อเพื่อการผลิตมากเกินไปเนื่องมาจากการเพิ่มขึ้นของราคาวัตถุดิบ ราคาน้ำมัน และราคาพลังงาน ทำให้ผลตอบแทนจากการลงทุนมีข้อจำกัดมากขึ้น รัฐบาลควรมีมาตรการควบคุมปัจจัยที่กระตุ้นการเติบโตของเศรษฐกิจมากเกินไป เช่น การลงทุน และการส่งออก และการปรับโครงสร้างเศรษฐกิจให้เติบโตอย่างมีเสถียรภาพ
เศรษฐกิจญี่ปุ่น
เศรษฐกิจญี่ปุ่นขยายตัวเป็นบวกในอัตราชะลอตัว เนื่องจากการใช้จ่ายของผู้บริโภคและการส่งออกชะลอตัวลง โดย Real GDP ไตรมาสที่ 2/2549 ขยายตัวร้อยละ 0.8 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ซึ่งต่ำกว่าการขยายตัวของไตรมาสที่ 1/2549 ซึ่งขยายตัวร้อยละ 1.2 โดยการขยายตัวของ Real GDP ในไตรมาสนี้ ได้รับแรงสนับสนุนจากการขยายตัวของอุปสงค์ภายในประเทศ ร้อยละ 0.3 การส่งออกสินค้าและบริการลดลงร้อยละ 0.1 จากช่วงเดียวกันของปีก่อน
ด้านการบริโภคภาคเอกชน ขยายตัวร้อยละ 0.5 ในไตรมาสที่ 2/2549 มากกว่าการขยายตัวของไตรมาสก่อน ซึ่งขยายตัวร้อยละ 0.2 ส่วนการลงทุนในที่อยู่อาศัยของภาคเอกชนไตรมาสนี้ ลดลงร้อยละ 2.7 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ซึ่งในไตรมาสก่อนขยายตัวร้อยละ 0.7 ส่วนการลงทุนภาคเอกชนในส่วนอื่นๆ ขยายตัวร้อยละ 3.8 หลังจากที่ขยายตัวร้อยละ 3.3 ในไตรมาสก่อน ทำให้การบริโภคภาคเอกชนยังคงเป็นปัจจัยกระตุ้นการเติบโตทางเศรษฐกิจได้ดี
สำหรับบทบาทของการใช้จ่ายภาครัฐในไตรมาสที่ 2/2549 ลดลงร้อยละ 0.2 ซึ่งไตรมาสก่อนหน้าไม่มีการขยายตัว แสดงถึงการเริ่มใช้นโยบายการคลังแบบเกินดุล ส่วนการลงทุนของภาครัฐในไตรมาสที่ 2/2549 ลดลงร้อยละ 4.6 และการเปลี่ยนแปลงสินค้าคงคลังของรัฐบาลไม่เปลี่ยนแปลงจากไตรมาสก่อนหน้า
ทางด้านการส่งออกสินค้าและบริการในไตรมาสที่ 2/2549 ขยายตัวร้อยละ 0.9 ซึ่งต่ำกว่าการขยายตัวของไตรมาสก่อนที่ระดับร้อยละ 2.2 สำหรับการนำเข้ามีการขยายตัวร้อยละ 1.8 ซึ่งต่ำกว่าไตรมาสก่อนหน้าเช่นเดียวกัน เนื่องจากปัญหาการอ่อนค่าเงินดอลล่าร์สหรัฐฯ ราคาน้ำมัน และราคาวัตถุดิบ
ทางด้านการผลิตภาคอุตสาหกรรม ดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรมและเหมืองแร่ ไตรมาส 2/2549 อยู่ที่ระดับ 104.9 ขณะที่ไตรมาสก่อนอยู่ที่ระดับ 104.0 โดยในไตรมาสที่ 2/2549 การผลิตของเล่นขยายตัวสูงสุดถึงร้อยละ 42.64 รองลงมาคืออุตสาหกรรมการผลิตเหล็กสำหรับเครื่องจักรอุตสาหกรรม ขยายตัวร้อยละ 39.81 และการผลิตเครื่องจักรอุตสาหกรรม ขยายตัวร้อยละ 23.63
จากสถานการณ์เศรษฐกิจที่ยังมีแนวโน้มหดตัว ทำให้ธนาคารกลางประเทศญี่ปุ่นตัดสินใจรักษาระดับอัตราดอกเบี้ยไว้ที่ร้อยละ 0.25 หลังจากที่ได้ขึ้นอัตราดอกเบี้ยเป็นครั้งแรกในรอบหกปี เมื่อเดือนที่แล้ว ทำให้อัตราดอกเบี้ยของญี่ปุ่นมีค่ามากกว่าศูนย์เป็นครั้งแรก ในขณะที่ค่าเงินเยนแข็งค่าขึ้นเล็กน้อยอยู่ที่ 115.25 เยนต่อดอลล่าร์สหรัฐฯ ทำให้ญี่ปุ่นยังคงต้องเผชิญปัญหาภาวะเงินฝืดต่อไปอีกระยะ
เศรษฐกิจสหภาพยุโรป
กรรมาธิการสหภาพยุโรปได้ประมาณการค่าเฉลี่ยการขยายตัวของ GDP สหภาพยุโรป ปี 2006 อยู่ในช่วง ร้อยละ 1.8 และ 2.4 และชะลอตัวลงอยู่ในช่วงร้อยละ 1.3 และ 2.3 ในปี 2007 ซึ่งได้รวมปัจจัยแนวโน้มการเพิ่มขึ้นของราคาน้ำมันในระยะยาวไว้ในการวิเคราะห์ ส่วนด้านอัตราเงินเฟ้อยังคงอยู่ในระดับร้อยละ 2.1 — 2.5 เนื่องจากการเพิ่มขึ้นของราคาปัจจัยการผลิตและสินค้าต่างๆ ที่ปรับตามราคาน้ำมันในตลาดโลก
สำหรับภาวะภาคการผลิตใน EU ขยายตัวอย่างเล็กน้อยโดยเพิ่มขึ้นร้อยละ 1 ในไตรมาสแรกของปีนี้ โดยประเทศเยอรมนี และอิตาลีมีมูลค่าการผลิตสูงสุด อย่างไรก็ตาม อัตราการขยายการผลิตจะไม่ขยายตัวมากนักเนื่องจากต้นทุนการผลิตสูงขึ้น และคาดว่าในไตรมาสที่ 2/2549 การผลิตจะขยายตัวลดลงเหลือร้อยละ 0.6 และคาดว่าจะกลับมาขยายตัวในไตรมาสที่ 3 ที่ระดับร้อยละ 0.7 เนื่องจากการขยายการผลิตในเดือนพฤษภาคมและเดือนมิถุนายน ที่เร่งมากขึ้นเพื่อต้อนรับเทศกาลคริสมาสในช่วงปลายปี
การบริโภคภาคเอกชนขยายตัวจากการพัฒนาในตลาดแรงงาน ส่วนการจ้างงานมีการเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ทำให้อัตราการว่างงานมีแนวโน้มลดลง การพัฒนาตลาดแรงงานช่วยเพิ่มรายได้ภาคครัวเรือน ซึ่งทำให้กำลังซื้อในภูมิภาคเพิ่มขึ้น แม้ว่าประเทศเยอรมนีจะได้รับผลทางบวกจากการจัดการแข่งขันฟุตบอลโลกในไตรมาสที่ 2/2549 แต่ไม่ได้ช่วยกระจายรายได้ให้แก่ประเทศอื่นในภูมิภาค ทำให้การบริโภคภาคเอกชนโดยรวมขยายตัวเพียงร้อยละ 0.6 ในไตรมาสที่ 2 และคาดว่าในจะขยายตัวร้อยละ 0.4 และ 0.5 ในไตรมาสที่ 3 และ 4 ตามลำดับ อย่างไรก็ตาม การบังคับใช้อัตราภาษีมูลค่าเพิ่มที่สูงขึ้น ในปี 2550 จะทำให้การบริโภคของภาคครัวเรือนในสหภาพยุโรปขยายตัวได้เพียงประมาณร้อยละ 0.1 ในไตรมาสที่ 4
การลงทุนที่กลับมาฟื้นตัวในไตรมาสก่อน ทำให้ทิศทางการลงทุนในช่วงที่เหลือของปียังมีแนวโน้มขยายตัวขึ้น เนื่องจาก บริษัทขนาดใหญ่ยังมีทัศนคติที่ดีต่อตลาด และการขยายการผลิตในสาขาอุตสาหกรรมหลัก รวมทั้งอัตราดอกเบี้ยในระยะยาวที่มีแนวโน้มลดลง ทำให้การลงทุนในไตรมาสที่ 1/2549 เติบโตร้อยละ 0.8
ทางด้านภาวะเงินเฟ้อในเดือนเมษายน กลับมาเพิ่มขึ้นอีกครั้ง เนื่องจากราคาน้ำมันในตลาดโลกปรับตัวสูงขึ้น อีกทั้งอัตราแลกเปลี่ยนดอลล่าร์ต่อยูโรมีความผันผวนในช่วง 1.26 และ 1.30 ทำให้อัตราเงินเฟ้อหลักมีทิศทางเพิ่มขึ้นไม่มากนัก ประมาณร้อยละ 2.2 ในไตรมาสที่ 3 และร้อยละ 2.1 ในไตรมาสที่ 4 อย่างไรก็ตาม ภาวะสงครามในประเทศเลบานอน อาจส่งผลต่อราคาน้ำมันในช่วงไตรมาสที่ 2 และ 3 แต่จะไม่ยืดเยื้อเป็นเวลานาน
เศรษฐกิจอาเซียน
ในช่วงครึ่งปีแรกของปี 2549 เศรษฐกิจเอเชียตะวันออกขยายตัวในอัตราเร่ง โดยในไตรมาสแรก GDP ขยายตัวร้อยละ 8.1 สูงกว่าไตรมาสก่อนหน้า และต่อเนื่องมาถึงไตรมาสที่ 2/2549 เนื่องจากการส่งออกที่ขยายตัวอย่างต่อเนื่อง โดยการส่งออกสินค้าอุตสาหกรรมยังคงเป็นตัวขับเคลื่อนหลัก ขณะเดียวกัน การเติบโตของตลาดภายในภูมิภาคยังมีแนวโน้มขยายตัวอย่างรวดเร็วจากการลงทุน และการร่วมทุนระหว่างประเทศในภูมิภาค แม้ว่าราคาพลังงานยังคงสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง และส่งผลต่อภาวะเงินเฟ้อในภูมิภาคอย่างมากก็ตาม โดยเฉพาะกลุ่มประเทศ ASEAN ที่มีแนวโน้มขยายตัวเข้มแข็งทั้งด้านการลงทุนและการผลิต
สิงคโปร์
กระทรวงการค้าและอุตสาหกรรมของสิงคโปร์ได้ประกาศตัวเลขประมาณการ GDP ของสิงคโปร์ในไตรมาสที่ 2/2549 เติบโตร้อยละ 8.1 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ชะลอตัวจากไตรมาสที่ผ่านมา ซึ่งขยายตัวร้อยละ 10.8 เนื่องจากอุปสงค์ต่างประเทศชะลอการเติบโตจากร้อยละ 16 ในไตรมาสก่อน เป็นร้อยละ 13 ในไตรมาสนี้ แม้ว่าอุปสงค์ภายในประเทศจะเพิ่มขึ้นมากกว่าไตรมาสแรกจากร้อยละ 4.3 เป็นร้อยละ 4.9 ในไตรมาสที่ 2/2549 แต่อุปสงค์ต่างประเทศมีสัดส่วนสูงกว่า ทำให้อุปสงค์รวมชะลอตัวลง โดยเติบโตลดลงจากร้อยละ 14 ในไตรมาสแรก เป็นร้อยละ 11 ในไตรมาสที่ 2/2549
ภาวะเงินเฟ้อในไตรมาสที่ 2/2549 สูงขึ้นร้อยละ 1.2 เทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ลดลงเล็กน้อยจากร้อยละ 1.4 ในไตรมาสที่ 1/2549 โดยเงินเฟ้อหมวดที่อยู่อาศัยเพิ่มขึ้นสูงสุดถึงร้อยละ 3.7 ส่วนในหมวดอาหาร การศึกษา การรักษาพยาบาล และเสื้อผ้าเครื่องนุ่งห่ม ขยายตัวเล็กน้อยที่ระดับร้อยละ 1.6 ร้อยละ 2.1 ร้อยละ 1.0 และร้อยละ 0.5 ตามลำดับ มีเพียงเงินเฟ้อหมวดการขนส่งและการสื่อสารที่ลดลงร้อยละ 1.2 เนื่องจากการเข้ามาเปิดตลาดของรถยนต์ราคาประหยัด
ด้านการผลิตภาคอุตสาหกรรมในไตรมาสที่ 2/2549 ขยายตัวร้อยละ 12 ชะลอตัวจากไตรมาสก่อนที่เติบโตถึงร้อยละ 21 เนื่องจากการผลิตยา และเครื่องจักรเพื่อใช้ในอุตสาหกรรมและภาคขนส่ง ชะลอตัวลงอย่างมาก ส่วนการผลิตหมวดอิเล็กทรอนิกส์มีการขยายตัวดี โดยเติบโตถึงร้อยละ 9.8 โดยเฉพาะการผลิต Semiconductors ขณะเดียวกัน การผลิตกลุ่มเคมีภัณฑ์กลับมาฟื้นตัวอีกครั้ง โดยเติบโตร้อยละ 5.4 สูงกว่าไตรมาสก่อนซึ่งเติบโตร้อยละ 2.9 ทางด้านภาคการก่อสร้างมีการขยายตัวเป็นบวกอีกครั้งที่ร้อยละ 0.2 หลังจากหดตัวลงร้อยละ 0.8 ในไตรมาสแรกของปี
ภาคการขนส่งและการสื่อสารมีการขยายตัวลดลงในไตรมาสที่ 2/2549 โดยขยายตัวร้อยละ 3.7 จากที่เติบโตร้อยละ 5 ในไตรมาสก่อน เนื่องจากการขนส่งทางอากาศมีการขยายตัวช้าลง แม้ว่าการขนส่งทางทะเลจะขยับสูงขึ้นก็ตาม ส่วนด้านการสื่อสารมีการขยายการให้บริการหมายเลขโทรศัพท์เคลื่อนที่ และ Broadband เพิ่มขึ้นเล็กน้อย แต่การให้บริการโทรศัพท์ทางไกลต่างประเทศหดตัวลงร้อยละ 0.2 จากที่ขยายตัวร้อยละ 4.4 ในไตรมาสก่อน
ด้านการค้าต่างประเทศของสิงคโปร์มีการขยายตัวลดลงจากไตรมาสก่อนเล็กน้อย จากร้อยละ 21 เหลือร้อยละ 18 โดยการส่งออกรวมขยายตัวร้อยละ 17 และการส่งออกสินค้ายกเว้นน้ำมันมีการขยายตัวเหลือร้อยละ 15 จากร้อยละ 17 ในไตรมาสแรก ขณะเดียวกันการนำเข้าน้ำมันเติบโตลดลงเล็กน้อย เหลือร้อยละ 14 ในไตรมาสที่ 2/2549 จากที่ขยายตัวร้อยละ 17 ในไตรมาสก่อน ทำให้ดุลการชำระเงินของสิงคโปร์ในไตรมาสที่ 2/2549 เกินดุลลดลงเล็กน้อย เหลือ 5.1 พันล้านดอลล่าร์สิงคโปร์ จาก 8.4 พันล้านดอลล่าร์สิงคโปร์ในไตรมาสก่อน ส่วนใหญ่เป็นการไหลออกของเงินทุนต่างประเทศ ซึ่งชดเชยกับการเกินดุลในภาคการเงิน
มาเลเซีย
เศรษฐกิจมาเลเซียยังคงเติบโตอย่างมีเสถียรภาพ โดยในไตรมาสแรกของปี 2549 GDP ขยายตัวร้อยละ 5.3 หลังจากที่รัฐบาลลดการแทรกแซงราคาน้ำมันในเดือนกุมภาพันธ์ ทำให้อัตราเงินเฟ้อเพิ่มขึ้นร้อยละ 4.6 ในเดือนเมษายน และค่าไฟฟ้าเพิ่มสูงขึ้นร้อยละ 12 รัฐบาลมาเลเซียจึงประกาศขึ้นอัตราดอกเบี้ยเป็นร้อยละ 3.5 เพื่อสะกัดกั้นภาวะเงินเฟ้อ ทางด้านการบริโภคภาคเอกชน มีแนวโน้มการขยายตัวได้ดี โดยในไตรมาสแรกปี 2549 ขยายตัวถึงร้อยละ 7.5 ทำให้การบริโภคภาคเอกชนยังคงเป็นปัจจัยหลักปัจจัยหนึ่ง ในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศ
ทางด้านภาคอุตสาหกรรม ในไตรมาสที่ 2/2549 ดัชนีอุตสาหกรรมและเหมืองแร่ขยายตัวร้อยละ 6.1 ขึ้นมาอยู่ที่ระดับ 132.9 ส่วนดัชนีการผลิตอุตสาหกรรม (ไม่รวมเหมืองแร่ การผลิตกระแสไฟฟ้า และการก่อสร้าง) ขยายตัวร้อยละ 8.6 จาก 128.3 ในไตรมาสก่อนเป็น 139.3 ในไตรมาส 2/2549 โดยดัชนีการผลิตโทรทัศน์และวิทยุ ขยายตัวสูงสุดถึงร้อยละ 51 ส่วนดัชนีการผลิตคอมพิวเตอร์และส่วนประกอบเพิ่มขึ้นร้อยละ 23.9 และดัชนีการผลิตผลิตภัณฑ์จากปิโตรเลียมขยายตัวร้อยละ 15.8 เมื่อพิจารณาช่วงครึ่งปีแรกของปี 2549 ดัชนีการผลิตอุตสาหกรรม ขยายตัวจากช่วงเดียวกันของปีก่อนร้อยละ 7.8 ซึ่งมีอุตสาหกรรม 22 กลุ่มจาก 38 กลุ่มที่มีการขยายตัวสูง โดยดัชนีการผลิตโทรทัศน์ และวิทยุ ขยายตัวสูงสุดถึงร้อยละ 32.6 รองลงมาคือดัชนีการผลิตเครื่องจักรสำนักงาน และเครื่องคำนวณ ขยายตัวร้อยละ 25.9 และดัชนีการผลิตผลิตภัณฑ์พลาสติกขยายตัวร้อยละ 21.4
ด้านการค้าต่างประเทศ ในช่วงครึ่งปีแรกของปี 2549 การส่งออกสินค้ากลุ่มเครื่องใช้ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ขยายตัวสูงสุด ถึงร้อยละ 7.4 เทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน โดยเฉพาะแผงวงจรไฟฟ้ามีสัดส่วนถึงร้อยละ 25.6 ของยอดการส่งออกของกลุ่มผลิตภัณฑ์นี้ทั้งหมด ในขณะที่มูลค่าการส่งออกชิ้นส่วนเครื่องใช้ไฟฟ้า หดตัวลงร้อยละ 2.6 ส่วนการส่งออกสินค้าที่มีมูลค่าสูงสุดได้แก่ การส่งออกน้ำมันดิบ ซึ่งคิดเป็นสัดส่วนถึงร้อยละ 5.7 ของมูลค่าส่งออกรวม โดยเพิ่มขึ้นถึงร้อยละ 24.3 ซึ่งเป็นผลมาจากการเพิ่มขึ้นของราคาน้ำมันดิบในตลาดโลก แต่ปริมาณการส่งออกกลับลดลงร้อยละ 5.4 ทางด้านการนำเข้าใน 3 กลุ่มหลัก ได้แก่ กลุ่มสินค้าขั้นกลาง ได้แก่ ชิ้นส่วนและอุปกรณ์ของเครื่องจักร ยกเว้นอุปกรณ์ที่เกี่ยวกับการขนส่ง มีการนำเข้าเพิ่มขึ้นร้อยละ 7.9 ส่วนมูลค่าการนำเข้ากลุ่มสินค้าทุน ขยายตัวร้อยละ 17.1 และมูลค่าการนำเข้ากลุ่มสินค้าเพื่อการบริโภค ขยายตัวร้อยละ 13.6
จากการสำรวจความเชื่อมั่นทางเศรษฐกิจของภาคครัวเรือนและภาคธุรกิจในประเทศมาเลเซียในช่วงไตรมาสที่ 2/2549 ยังคงมีทิศทางเป็นบวก แม้ว่าปัจจัยลบจะยังคงเข้ามามีบทบาท เช่น การขึ้นค่าไฟฟ้า ราคาน้ำมันเพิ่มสูงขึ้น และส่งผลให้ค่าครองชีพโดยเฉลี่ยสูงขึ้น อย่างไรก็ตาม แรงกดดันทางด้านเงินเฟ้อ และต้นทุนการผลิตของภาคอุตสาหกรรม จะส่งผลให้รัฐบาลจำเป็นต้องปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยอีกครั้งในช่วงปลายปี เพื่อบรรเทาปัญหาเงินเฟ้อในระบบ แต่อาจทำให้อุปสงค์ภายในประเทศลดลงเช่นเดียวกัน ดังนั้น รัฐบาลจึงต้องระมัดระวังในการใช้นโยบายการเงินเพื่อแก้ไขปัญหาภาวะเงินเฟ้อในระยะนี้
เศรษฐกิจของประเทศอุตสาหกรรมใหม่ในอาเซียน
ไต้หวัน
GDP ไต้หวันในไตรมาสแรกของปี 2549 ขยายตัวร้อยละ 4.93 และประมาณการการขยายตัว GDP ในไตรมาสที่ 2/2549 ไม่เปลี่ยนแปลงมากนัก อยู่ที่ร้อยละ 4.9 ส่วนการบริโภคภาคเอกชนในไตรมาสแรกของปี 2549 ร้อยละ 2.07 และคาดว่าจะขยายตัวในไตรมาสที่ 2/2549 ร้อยละ 2.31 สำหรับอัตราเงินเฟ้อในครึ่งปีแรกของปี 2549 เพิ่มขึ้นร้อยละ 1.43 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน โดยดัชนีราคาผู้บริโภคในกลุ่มผลไม้ เพิ่มขึ้นสูงสุดถึงร้อยละ 19.12 รองลงมาคือน้ำมัน เพิ่มขึ้นร้อยละ 11.0 ปัจจัยต่างๆข้างต้นทำให้อุปสงค์ภายในประเทศเพิ่มขึ้นอย่างช้าๆ โดยในครึ่งปีแรกขยายตัวเพียงร้อยละ 1.29
ทางด้านการส่งออกยังสามารถขยายตัวได้ดี โดยในครึ่งปีแรกคาดว่าจะขยายตัวร้อยละ 24.32 เทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน โดยการส่งออกกลุ่ม Electrical Machinery Product ขยายตัวสูงสุดถึงร้อยละ 44.29 ขณะที่กลุ่มรองเท้า ร่ม ดอกไม้ประดิษฐ์ และอุปกรณ์ที่ใช้กับผม มีมูลค่าการส่งออกลดลงมากที่สุด ร้อยละ 21.43 ส่วนด้านการผลิตภาคอุตสาหกรรมในเดือนมิถุนายน ดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรมขยายตัวร้อยละ 7.69 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน แต่เมื่อเทียบกับเดือนพฤษภาคม ดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรมหดตัวร้อยละ 2.48
ฮ่องกง
เศรษฐกิจของฮ่องกงในไตรมาสแรกของปี 2549 ยังขยายตัวในเกณฑ์ที่น่าพอใจ ซึ่ง GDP เติบโตถึงร้อยละ 8.2 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ซึ่งในไตรมาสสุดท้ายของปี 2548 ขยายตัวร้อยละ 7.6 อันเป็นผลมาจากการขยายการส่งออกที่เข้มแข็ง การบริโภคภาคเอกชนที่เพิ่มขึ้นอย่างมากในช่วงตรุษจีน และการขยายการลงทุนอย่างต่อเนื่องด้านเครื่องจักรและอุปกรณ์
(ยังมีต่อ)