เจ้าของเรือโดยสารต้องจัดให้มีการประกันภัยอุบัติเหตุคุ้มครองผู้โดยสารเรือ

ข่าวเศรษฐกิจ Friday December 29, 2006 09:31 —คปภ.

          นางจันทรา บูรณฤกษ์ อธิบดีกรมการประกันภัย เปิดเผยว่า จากการที่กระทรวงคมนาคมได้ออกกฎกระทรวงกำหนดให้เจ้าของเรือโดยสารรับจ้างที่บรรทุกผู้โดยสารเกิน 12 คนขึ้นไปต้องจัดให้มีการทำประกันภัยอุบัติเหตุสำหรับคุ้มครองผู้โดยสาร นั้น กรมการประกันภัยได้พิจารณาแล้วเห็นว่าการประกันภัยสำหรับผู้โดยสารเรือโดยสารรับจ้างที่ผ่านมาไม่สอดคล้องกับภาวการณ์ในปัจจุบันเมื่อเปรียบเทียบกับการประกันภัยตามพระราชบัญญัติคุ้มครองผู้ประสบภัยจากรถซึ่งให้ความคุ้มครองมากกว่า กรมการประกันภัยจึงได้ร่วมกับกรมการขนส่งทางน้ำและพาณิชยนาวี และสมาคมประกันวินาศภัย ปรับปรุงกฎกระทรวง กรมธรรม์ประกันภัย และอัตราเบี้ยประกันภัย โดยเพิ่มจำนวนเงินความคุ้มครองสำหรับการเสียชีวิต ทุพพลภาพ และค่ารักษาพยาบาลหากเกิดอุบัติเหตุขึ้น และกำหนดให้เจ้าของเรือทุกลำต้องทำประกันภัย สำหรับรายละเอียดความคุ้มครองและอัตราเบี้ยประกันภัยปรากฏ ดังนี้
- การเสียชีวิต หรือทุพพลภาพถาวรสิ้นเชิง หรือสูญเสียมือ เท้า หรือสายตาสองข้าง คนละ 100,000 บาท (เดิมคนละ 50,000 บาท)
- การสูญเสียมือ เท้า หรือสายตาหนึ่งข้าง คนละ 60,000 บาท (เดิมคนละ 25,000 บาท)
- ค่ารักษาพยาบาลต่ออุบัติเหตุหนึ่งครั้ง คนละไม่เกิน 15,000 บาท (เดิมคนละไม่เกิน 10,000 บาท) การกำหนดอัตราเบี้ยประกันภัยคิดตามขนาดเรือที่บรรทุกผู้โดยสาร ดังนี้
- จำนวนผู้โดยสาร 1-12 คน อัตราเบี้ยประกันภัยอยู่ระหว่าง 50-80 บาท ต่อผู้โดยสารหนึ่งคนต่อปี (เดิมเรือที่บรรทุกผู้โดยสารไม่เกิน 12 คน ไม่ต้องจัดทำประกันภัย)
- จำนวนผู้โดยสารตั้งแต่ 13 คนขึ้นไป อัตราเบี้ยประกันภัยอยู่ระหว่าง 100—150 บาทต่อผู้โดยสาร หนึ่งคนต่อปี (อัตราเบี้ยประกันภัยเท่าเดิม)
ขณะนี้กระทรวงคมนาคมได้ออกกฎกระทรวงฉบับที่ 73 (พ.ศ.2549) ออกตามความในพระราชบัญญัติการเดินเรือในน่านน้ำไทย พระพุทธศักราช 2456 กำหนดให้เจ้าของเรือทุกลำที่ยื่นขอรับใบอนุญาตใช้เรือโดยสารตั้งแต่วันที่ 30 ธันวาคม 2549 เป็นต้นไป ต้องจัดทำประกันภัยผู้โดยสารเรือสำหรับโดยสาร
นางจันทรา บูรณฤกษ์ กล่าวต่อไปว่า กรมการประกันภัย ขอให้เจ้าของเรือที่ยังไม่ได้จัดทำประกันภัยผู้โดยสารสำหรับเรือโดยสารไว้ หรือยังไม่ได้ต่ออายุการประกันภัยให้เร่งจัดทำประกันภัยกับบริษัทประกันภัยให้เป็นไปตามกฎกระทรวงดังกล่าว ทั้งนี้ หากมีข้อสงสัยเกี่ยวกับการทำประกันภัยดังกล่าวสามารถติดต่อสอบถามได้ที่ ศูนย์บริการประกันภัยสายด่วน 1186 หรือติดต่อผ่านเว็บไซต์ของกรมการประกันภัย http://www.doi.go.th
ที่มา: http://www.doi.go.th

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ