บทสรุปภาวะการส่งออกของประเทศไทยเดือน ม.ค.-มิ.ย. 2548

ข่าวเศรษฐกิจ Thursday July 28, 2005 14:56 —กรมส่งเสริมการส่งออก

          1. เศรษฐกิจไทยในปี 2548  คาดว่าจะขยายตัวประมาณร้อยละ 5.25-6.25 ส่วนปี 2547 GDP ของไทยขยายตัวที่ประมาณร้อยละ 6.3
2. ประเทศไทยเป็นผู้ส่งออกสำคัญอันดับที่ 23 ของโลก ในปี 2547 มีสัดส่วนการส่งออกประมาณร้อยละ 1.13 ของการส่งออกรวมในตลาดโลก (ปี 2546 ไทยอยู่อันดับที่ 23 สัดส่วนร้อยละ 1.16)
3. ประเทศไทยเป็นผู้นำเข้าสำคัญอันดับที่ 23 ของโลก ของปี 2547 มีสัดส่วนการนำเข้าประมาณร้อยละ 1.66 ของการนำเข้าในตลาดโลก
4. การค้าของไทยในเดือน ม.ค.-มิ.ย 2548 มีมูลค่า 111,810.51 ล้านเหรียญสหรัฐฯ เพิ่มขึ้นร้อยละ 22.39 แยกเป็นการส่งออกมูลค่า 51,828.48 ล้านเหรียญสหรัฐฯ เพิ่มขึ้นร้อยละ 12.91 การนำเข้ามีมูลค่า 59,982.02 ล้านเหรียญสหรัฐฯเพิ่มขึ้นร้อยละ 31.98 ไทยเสียเปรียบดุลการค้า เป็นมูลค่า 8,153.54 ล้านเหรียญสหรัฐฯ
5. กระทรวงพาณิชย์ได้ตั้งเป้าหมายการส่งออกในปี 2548 ที่มูลค่า 115,837 ล้านเหรียญสหรัฐฯ เพิ่มขึ้นร้อยละ 20 การส่งออกเดือน ม.ค.-มิ.ย. 2548 มีมูลค่า 51,828.48 ล้านเหรียญสหรัฐฯ เพิ่มขึ้นร้อยละ 22.39 หรือคิดเป็นร้อยละ 44.74 ของเป้าหมายการ ส่งออก
6. สินค้าส่งออกสำคัญ 50 อันดับแรก สัดส่วนรวมกันร้อยละ 83.20 ของมูลค่าการส่งออกเดือน มิ.ย. 2548 สินค้าที่มีมูลค่าการส่งออกเปลี่ยนแปลงสูง มีดังนี้
- เพิ่มขึ้นมากกว่าร้อยละ 50 มี 2 รายการ คือ ไก่แปรรูป และผลิตภัณฑ์ข้าวสาลีและอาหารสำเร็จรูปอื่นๆ เพิ่มขึ้นร้อยละ 59.76 และ 62.15 ตามลำดับ
7. ตลาดส่งออกสำคัญ 50 อันดับแรก สัดส่วนรวมกันร้อยละ 95.95 ของมูลค่าการส่งออกเดือน
มิ.ย. 2548 ตลาดที่มีมูลค่าการส่งออกเปลี่ยนแปลงสูง มีดังนี้
- เพิ่มขึ้นมากกว่าร้อยละ 100 มี 1 ตลาด ได้แก่ อาร์เจนตินา โดยมีอัตราการขยายตัวร้อยละ 265.48
- เพิ่มขึ้นมากกว่าร้อยละ 50 มี 5 ตลาด ได้แก่ อินเดีย ตุรกี นิวซีแลนด์ และไนจีเรีย โดยมีอัตราการขยายตัวร้อยละ 81.37, 56.95, 72.09,68.49 และ 55.55 ตามลำดับ
8. การนำเข้า
8.1 สินค้านำเข้ามีสัดส่วนโครงสร้างดังนี้
- สินค้าเชื้อเพลิง สัดส่วนร้อยละ 17.90 เพิ่มขึ้นร้อยละ 78.21
- สินค้าทุน สัดส่วนร้อยละ 27.78 เพิ่มขึ้นร้อยละ 28.86
- สินค้าวัตถุดิบและกึ่งสำเร็จรูป สัดส่วนร้อยละ 43.27 เพิ่มขึ้นร้อยละ 24.36
- สินค้าบริโภค สัดส่วนร้อยละ 6.37 เพิ่มขึ้นร้อยละ 13.89
- สินค้ายานพาหนะและอุปกรณ์ขนส่ง สัดส่วนร้อยละ 3.44 เพิ่มขึ้นร้อยละ 13.52
- สินค้าอื่นๆ สัดส่วนร้อยละ 1.24 เพิ่มขึ้นร้อยละ 65.11
8.2 แหล่งนำเข้าสำคัญ 10 อันดับแรก
มีสัดส่วนรวมกันร้อยละ 68.35 ของมูลค่าการนำเข้าเดือน มิ.ย. 2548 ได้แก่ ญี่ปุ่น จีน สหรัฐอเมริกา มาเลเซีย สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ สิงคโปร์ ไต้หวัน เกาหลีใต้ ซาอุดีอาระเบียและออสเตรเลีย สัดส่วนร้อยละ 21.88, 9.29, 7.20, 7.13, 5.06, 4.44, 3.79, 3.31, 3.23 และ 3.02 โดยมีอัตราการขยายตัวร้อยละ 20.12, 50.76, 23.18, 60.72, 99.95, 30.63, 13.43, 5.52, 58.87 และ 85.51 ตามลำดับ
9. ข้อคิดเห็น
1. ดร.สมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ได้เปิดเผยว่า ตัวเลขดุลการค้าในรอบเดือนมิถุนายน มีแนวโน้มที่ดีขึ้นแต่จะต้องสังเกตอีกในระยะ 2-3 เดือนว่าจะเป็นอย่างไร คาดว่าการส่งออกมีแนวโน้มในครึ่งปีหลังจะปรับตัวดีขึ้น
ดร. อัจนา ไวความดี ผู้ช่วยผู้ว่าการสายนโยบายการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย กล่าวว่า ธนาคารแห่งประเทศไทยยังไม่ได้แก้ไขประมาณการตัวเลขเศรษฐกิจหลังจากที่จีนได้ปรับระบบค่าเงินหยวน เนื่องจากได้คาดการณ์ว่าค่าเงินบาทและค่าเงินในภูมิภาคเอเชียจะปรับตัวขึ้น ทั้งนี้ การเปลี่ยนแปลงค่าเงินของจีนเป็นการเปลี่ยนแปลงที่ดีขึ้นแต่จะไม่เปลี่ยนแปลงมากนักเนื่องจากจีนเป็นประเทศที่มีความสามารถในการแข่งขันมากกว่าประเทศอื่น เนื่องจากต้นทุนด้านแรงงานอยู่ในระดับต่ำ การส่งออกจะเป็นอย่างไรคงจะต้องรอดูในระยะยาวต่อไป ทั้งนี้ การประมาณการเศรษฐกิจล่าสุด ธนาคารแห่งประเทศไทยเห็นว่าการขยายตัวทางเศรษฐกิจของไทยจะขยายตัวต่ำกว่าการประมาณการก่อนหน้า ซึ่งครึ่งปีหลังการส่งออกและการท่องเที่ยวของไทยจะปรับตัวดีขึ้น แต่ภาพรวมทั้งปีจะอยู่ในเกณฑ์ที่ชะลอตัวลงจากเดิม 4.5-5.5% มาเป็น 3.5-4.5%
นายสาธิต สิริรังคมานนท์ เลขาธิการคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน กล่าวว่าหลังจากจีนได้ปรับค่าเงินหยวนให้แข็งค่าขึ้นจะมีผลดีต่อประเทศไทยที่จะเร่งทำให้นักลงทุนเลือกตัดสินใจลงทุนในไทยมากยิ่งขึ้น ถึงแม้ว่าเศรษฐกิจไทยยังคงมีปัจจัยเสี่ยง เช่น ปัญหาราคาน้ำมันที่สูงขึ้น ปัญหาขาดดุลบัญชีเดินสะพัด ปัญหาความไม่สงบในภาคใต้ เป็นต้น
2. ในกรณีที่จีนได้มีการปรับค่าเงินหยวนให้ใกล้เคียงกับประเทศคู่ค้าและคู่แข่งในการส่งออกมากยิ่งขึ้น และเนื่องจากความได้เปรียบของค่าเงินหยวนได้ลดลงจะเป็นผลดีของการแข่งขันด้านการส่งออกของทุกประเทศ ไม่ใช่แต่เฉพาะไทยเท่านั้น และได้คาดการณ์ว่าจีนจะปรับระบบอัตราแลกเปลี่ยนให้แข็งค่าขึ้นอีกภายใน 3 ปี
ศูนย์วิเคราะห์เศรษฐกิจมหภาค ธนาคารกรุงเทพ จำกัด(มหาชน) ได้ประเมินว่าในปี 2548 นี้ค่าเงินหยวนจะแข็งขึ้นประมาณ 6.15% โดยจะอยู่ที่ระดับ 7.64 หยวนต่อดอลลาร์ ซึ่งจะมีผลกระทบต่อไทยมากหรือน้อยขึ้นอยู่กับปัจจัยสำคัญ 2 ประการคือ ความสามารถและประสิทธิภาพของไทยในการเจาะตลาดจีน โดยเฉพาะการใช้ประโยชน์จากเอฟทีเอและการดึงดูดการท่องเที่ยวและการลงทุนจากจีน ซึ่งได้สอดคล้องกับความเห็นของ นายโฆสิต ปั้นเปี่ยมรัษฎ์ ประธานกรรมการบริหารธนาคารกรุงเทพ จำกัด (มหาชน)
บริษัท ศูนย์วิจัยกสิกรไทย จำกัด ได้วิเคราะห์ถึงประเด็นที่ตามมาหลังจากที่จีนได้ปรับค่าเงินหยวน คือ ความเสี่ยงในเรื่องอัตราแลกเปลี่ยนที่เพิ่มสูงขึ้นอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ รวมทั้งเงินดอลลาร์ยังอยู่ภายใต้ความเสี่ยงจากปัญหาดุลบัญชีเดินสะพัดของสหรัฐฯ ซึ่งจะมีผลต่อผู้ส่งออกและนำเข้า นอกจากนี้ยังได้วิเคราะห์ว่าการแข็งค่าของเงินบาทในอัตราที่น้อยกว่าการปรับค่าเงินหยวนของจีน น่าจะเป็นผลดีต่อการส่งออกของไทยไปยังจีน โดยเฉพาะกลุ่มสินค้าโภคภัณฑ์และเคมีภัณฑ์ที่จีนได้นำเข้าเพื่อใช้เป็นวัตถุดิบในการผลิต อย่างไรก็ตาม สิ่งที่ควรจะต้องพิจารณาก็คือ ความต้องการนำเข้าสินค้าประเภทดังกล่าวของจีนนั้นขึ้นอยู่กับการขยายตัวทางเศรษฐกิจมากกว่าที่จะเป็นผลมาจากการเปลี่ยนแปลงอัตราแลกเปลี่ยนหรือปัจจัยด้านราคา ดังนั้น ถ้าเศรษฐกิจจีนชะลอตัวลงความต้องการนำเข้าสินค้าดังกล่าวก็คงจะลดลงอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ อย่างไรก็ตามเป็นที่คาดการณ์กันว่าในปี 2548 เศรษฐกิจของจีนจะยังคงขยายตัวได้ประมาณ 8-9%
ในรายงานของเศรษฐกิจอาเซียนล่าสุดของเมอร์ริลลินซ์ ได้กล่าวถึงผลกระทบที่จะมีต่อประเทศในเอเชียของการเปลี่ยนแปลงมาใช้ระบบตะกร้าเงินของจีนที่ทำให้ค่าเงินแข็งขึ้นว่าจะเป็นตัวกระตุ้นให้ค่าเงินสกุลต่างๆ แข็งค่าขึ้นซึ่งจะเป็นผลลบต่อภาวะเศรษฐกิจและอัตราการเติบโตของรายได้ ถ้าหากมีการแข็งค่ามากกว่า 2% แต่ถ้าแข็งค่าขึ้น 2% ผลกระทบจะเกิดน้อยมากหรือแทบจะไม่มี
นายตระกูลจิตร จิตตไสยะพันธุ์ รองกรรมการผู้อำนวยการและประธานเจ้าหน้าที่บริหารการลงทุนบริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน (บลจ) ธนชาติ) ได้ให้ความเห็นว่า การที่เงินหยวนปรับค่าแข็งขึ้นจะมีผลดีต่อเศรษฐกิจไทยโดยอ้อม เพราะทำให้เงินบาทกลับมาแข็งค่าขึ้นเล็กน้อยและทำให้การนำเข้าถูกลงเมื่อเทียบกับดอลลาร์ รวมถึงจะส่งผลให้เงินเฟ้อไม่สูงขึ้น ถือว่าเป็นปัจจัยบวกต่อเศรษฐกิจไทยที่กำลังขาดดุล และยังทำให้เงินทุนเริ่มไหลเข้ามาเก็งกำไรในเอเซีย เพราะมองว่าในระยะยาวค่าเงินหยวนจะปรับขึ้นมากกว่านี้
3. นายสันติ วิลาสศักดานนท์ รองประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท) เปิดเผยว่าทางคณะกรรมการร่วมภาคเอกชน (กกร) จะร่วมหารือกับ ดร.สมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ในเรื่องเศรษฐกิจและข้อเสนอมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ โดยเห็นว่าความเชื่อมั่นทางเศรษฐกิจได้เริ่มถดถอยลงจากปัญหาด้านต่างๆ เช่น ปัญหาราคาน้ำมันสูง ปัญหาความไม่สงบในภาคใต้ ผลกระทบจากภัยสึนามิ รวมทั้งเร่งส่งเสริมโครงการก๊าซเอ็นจีวีทดแทนน้ำมัน ก็น่าจะทำให้ดุลบัญชีเดินสะพัดขาดดุลน้อยลง และในขณะเดียวกันรัฐบาลจะต้องพิจารณาแก้ไขปัญหาการขาดแคลนแรงงาน เนื่องจากคนไทยเลือกงานไม่ทำงานที่มีรายได้ต่ำ
สำหรับข้อเสนอที่ กกร. มีทั้งหมด 9 ข้อ ประกอบด้วย
1. การผลักดันการส่งออกที่ต้องเร่งเจรจาการขอคืนสิทธิพิเศษทางภาษีจากอียู และเจรจาให้สหรัฐยกเลิกเอดีกุ้ง
2. ผลักดันการท่องเที่ยวที่ควรขยายเป็นแพ็คเกจทัวร์ ที่ให้สิทธิพิเศษแก่ผู้ที่เดินทางมาประเทศไทยแล้วเดินทางต่อไปประเทศเพื่อนบ้าน
3. การชะลอหรือควบคุมการนำเข้าที่มีมูลค่าการนำเข้าสูงและขยายตัวอย่างต่อเนื่อง เช่น การนำเข้าสินค้าเชื้อเพลิง เป็นต้น
4. การประหยัดพลังงาน โดยที่รัฐบาลควรเร่งส่งเสริมให้ใช้พลังงานทดแทน
5. ทบทวนโครงการลงทุนขนาดใหญ่ (เมกะโปรเจ็ก) พิจารณาถึงความคุ้มค่าและผลตอบแทนจากการลงทุนเป็นหลัก
6. เพิ่มศักยภาพด้านแรงงาน เนื่องจากมีแนวโน้มขาดแคลนแรงงานภาคอุตสาหกรรม จึงควรจัดหาจากประเทศเพื่อนบ้านมาทดแทนแรงงานที่ขาดแคลน
7. ส่งเสริมการลงทุนจากต่างประเทศและควรยกเลิกการจัดเก็บภาษีย้อนหลัง
8. รณรงค์ให้ประชาชนมีความเชื่อมั่นด้านเศรษฐกิจ และ
9. ทบทวนโครงสร้างภาษีให้เหมาะสมโดยเฉพาะภาษีนำเข้าสินค้าที่เป็นผลิตภัณฑ์ต้นน้ำ และยกเลิกการจัดเก็บภาษีซ้ำซ้อน
ที่มา: http://www.depthai.go.th

แท็ก การส่งออก   GDP  

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ