คำกล่าวของ นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง

ข่าวเศรษฐกิจ Friday March 18, 2005 15:09 —กระทรวงการคลัง

                                      คำกล่าวของ
นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์
รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง
ในการประชุมรับมอบนโยบาย
ณ ห้องประชุม ชั้น 7 กรมบัญชีกลาง
16 มีนาคม 2548
ท่านรัฐมนตรีวราเทพฯ ท่านรัฐมนตรีไชยยศฯ ท่านที่ปรึกษา ท่านผู้บริหารกระทรวงการคลัง และท่านผู้มีเกียรติทุกท่านคงเป็นเพราะว่ามีใครบางคนผูกดวงผมไว้กับกระทรวงการคลัง หรือไม่ก็เป็นเพราะว่าพวกท่านกับผมทำบุญร่วมกันไว้ค่อนข้างมากในช่วง 4 ปีที่ผ่านมา ผมและคณะจึงได้กลับมาอยู่ที่กระทรวงการคลังอีกครั้งหนึ่ง ท่านวราเทพก็เป็นอีกผู้หนึ่งที่ได้กลับมา และอาจจะต้องอยู่ยาวกว่าผมเสียด้วยซ้ำ แต่มาครั้งนี้ท่านก็มีเพื่อนมาด้วยอีกท่านหนึ่ง ก็คือท่านไชยยศ สะสมทรัพย์ ซึ่งท่านก็ไม่ใช่ใครอื่นไกล ท่านเป็นที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังอยู่ 4 ปี และรู้จักกระทรวงการคลังเป็นอย่างดี ก็ขอถือโอกาสนี้ให้พวกเราปรบมือต้อนรับท่านด้วย
สี่ปีที่ผ่านมาถือว่าเป็น 4 ปีแห่งการทำงานหนัก เรายังมีเวลาอีก 4 ปีข้างหน้า ซึ่งเราคงจะต้องทำงานหนักมากยิ่งขึ้น และช่วงเวลาทั้งสองมันมีหลายสิ่งที่แตกต่างกัน โดยเฉพาะอย่างยิ่งในเรื่องเงื่อนไขและสภาพแวดล้อมซึ่งผิดแผกแตกต่างกันออกไป แต่ทั้งสองช่วงเวลามีสิ่งที่คล้ายคลึงกันอยู่อย่างหนึ่งก็คือ ความท้าทายการทำงาน
เมื่อ 4 ปีที่แล้ว ความท้าทายคือว่าจะทำอย่างไรที่จะสร้างมั่นใจให้กับคนไทย จะทำอย่างไรที่จะทำให้เศรษฐกิจสามารถกลับฟื้นคืนมาได้อีกครั้งหนึ่ง 4 ปีข้างหน้าความท้าทายก็คือว่า จะทำอย่างไรที่จะให้เศรษฐกิจที่ฟื้นแล้วสามารถเติบโตอย่างยั่งยืน จะทำอย่างไรที่จะทำให้ประเทศไทยมีความแข็งแกร่ง มีความทันสมัยสามารถยืนหยัดอยู่ในโลกแห่งการแข่งขันของอนาคตได้ เรื่องนี้ไม่ใช่เรื่องง่าย แต่ผมเชื่อว่าถ้าพวกเรารวมพลังกันทำงานหนักอย่าง 4 ปีที่ผ่านมา สิ่งเหล่านี้ไม่ใช่อุปสรรคสำคัญ
สิ่งหนึ่งที่ผมเป็นห่วงอยู่ในใจลึกๆ ก็คือ ความคิดในเชิงลบ ผมไม่อยากให้มีอยู่ในจิตใจของพวกเรา ในการทำงานนั้นความคิดในเชิงบวกเป็นสิ่งสำคัญมาก ต้องมองเห็นอุปสรรค ต้องมองเห็นวิกฤติการณ์เป็นโอกาส ถ้าเรามองทุกสิ่งเป็นปัญหา มองทุกสิ่งเป็นอุปสรรค สมองมันจะปิด มันจะมีแต่ความทุกข์ ความกังวล จะไม่มีการคิดสิ่งที่สร้างสรรค์ สิ่งที่ดีมีประโยชน์กับการบริหารประเทศได้เลย
ผมจำได้ว่าเมื่อ 4 ปีที่แล้ว เมื่อขึ้นมาใหม่ๆ มีแต่คนตั้งคำถามว่าเมื่อไหร่ประเทศจะฟื้นสักที ถามแล้วก็นั่งก้มหน้าต่อไปไม่คิดทำอะไร ถ้าเป็นอย่างนั้น ประเทศมันต้องจมหายไปแน่นอน แต่ถ้าเราคิดในเชิงบวกว่าเอาละประเทศกำลังย่ำแย่ แต่ความย่ำแย่นั้นเป็นโอกาสที่ดี คุณสามารถพลิกฟื้นประเทศในทิศทางที่คุณต้องการ ไม่มีใครจะต่อต้านได้ เพราะการเปลี่ยนแปลงมันเป็นความเปลี่ยนแปลงต้องมีคนที่ต่อต้าน ไม่มีใครให้อยากให้มีความเปลี่ยนแปลง ผมอยากให้มองในเชิงบวก ขณะนี้ไปที่ไหนก็มีคนพูดถึงแต่ว่าอุปสรรคข้างหน้าใหญ่หลวงนัก มองว่าประเทศไทยจะต้องเผชิญศึกหนักข้างหน้า อุปสรรคมีแน่นอน แต่อยากให้พวกเราคิดในเชิงบวก
ยกตัวอย่างง่ายๆ เมื่อเช้านี้ไปกราบพระบรมรูป ร. 5 พอเราปักธูปเสร็จ ผมกระซิบท่านวราเทพว่าปักธูปปั๊บฟ้าสว่างเลย ดุลบัญชีเดินสะพัดเกินดุลแน่ 100% ฝนตกตั้งแต่เช้า พอถึงเวลาที่เราจะลงไปกราบไหว้ ฝนก็หยุด มีแต่ความร่มเย็น เป็นฤกษ์ที่ดี ถ้าเราคิดในแง่บวก จิตใจก็สบายขึ้น ไม่ทุกข์จนกระทั่งไม่สามารถคิดทางออกได้ ถามว่าอุปสรรคข้างหน้ามีไหม มีแน่นอน ราคาน้ำมันพุ่งสูงขึ้นเช่นนี้เป็นสิ่งที่ทุกคนต้องเป็นห่วง แต่ความเป็นห่วงเราคิดหาทางแก้ไข แต่คำว่าวิตกจริตมันคนละเรื่องกัน ถ้าเรามีแต่วิตกจริต มองในเชิงลบ ข่าวดีไม่พูดถึง พูดถึงแต่ข่าวร้าย หุ้นตกไม่กี่จุด ทุกคนเหมือนกับเผชิญปัญหาใหญ่ โลกแตก แล้วบอกว่าทำไมฝรั่งขายหุ้น ก็คนไทยยังคิดจะขายหุ้นเลยแล้วจะให้ฝรั่งอยู่ได้อย่างไร
จิตใจที่เข้มแข็งเป็นสิ่งสำคัญ น้ำมันขึ้นราคาแน่นอน คนเกรงกันว่าสิ่งที่จะตามมาคือเศรษฐกิจชะลอตัวลง เงินจะเฟ้อ นำเข้าจะสูงขึ้น ขาดดุลการค้าจะมีมากขึ้น อันนั้นคือความคิดที่เรามองออกไป แต่ต้องมองว่าวันนี้มันจาก 4 ปีที่แล้ว วันนี้เราไม่ใช่คนตัวเปล่าเล่าเปลือย หน้าตักก็มี 50 Billion dollar
ถ้าเรารู้ว่าน้ำมันราคามันแพง สิ่งที่คนกลัวในขณะนี้ก็คือว่า กลัวความไม่แน่นอน พรุ่งนี้ท่านรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน และรัฐมนตรีอีกหลายท่านจะมาหารือร่วมกัน เพื่อสร้างความชัดเจนของราคาน้ำมัน ผมให้โจทย์ท่านรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงานว่าผมต้องการง่ายๆ ถ้าราคาน้ำมันดิบเท่ากับ X ราคาน้ำมันดีเซลควรจะไม่เกินเท่ากับ Y Impact ต่อ GDP เท่ากับ Z ถ้าหากว่าราคาน้ำมันดิบเพิ่มเป็น X prime ราคาน้ำมันดีเซลที่ขายกัน ควรจะเท่ากับเท่าไหร่ ไม่เกิน Y prime Impact ต่อ GDP เท่ากับ Z prime ขออย่างนี้สัก 3 — 4 layers แล้วดูว่าที่สุดแล้วนี้ Impact ต่อ GDP จะมีสักเท่าไหร่
ธนาคารแห่งประเทศไทยประกาศออกมาแล้วว่า แม้น้ำมันจะพุ่งสูงเช่นนี้ GDP อย่างไรเสียก็อยู่ที่ 5 — 6% ถามว่าพอไหม เหลือเฟือ เติบโต 5 — 6% เหลือเฟือ เขาบอกว่า Inflation อย่างไรก็ 3 กว่า ถามว่าอันตรายไหม ไม่อันตรายเลยถ้าหากว่า GDP growth เป็นเช่นนี้ ถ้าหากว่าเราพยายามควบคุมราคาสินค้าอย่าให้แกว่งจนเกินไป
ผมได้หารือกับรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพานิชย์ ท่านจะเชิญพ่อค้า เชิญ Supplier รายใหญ่มาช่วยกันดู ไม่ให้มีความตื่นตระหนกเพื่อรักษาเสถียรภาพของราคาเอาไว้ จะปรับราคาปรับตามต้นทุนจริง ไม่ใช่ต่างคนต่างปรับ ใครต่างคนต่างปรับเจอดีแน่นอน เวลาสบายต้องร่วมกันสบาย เวลาลำบากต้องลำบากด้วยกัน ไม่ใช่เอาแต่สบายคนเดียว
ถ้าเงินเฟ้ออยู่ใน Range นี้ GDP อยู่ใน Range นี้ Current account แน่นอน น้ำมันเพิ่ม ต้นทุนก็ต้องเพิ่ม ฉะนั้นถ้าเราคิดอย่างมีสติ เราต้องพยายาม Save energy กันไว้ เราต้องพยายามหารายได้ด้าน Export ท่องเที่ยว มา Cover ดุลการค้า เพื่อให้ดุลทั้งหมดนั้นมันเกินดุล ทั้งปีเกินดุลแน่นอนอยู่แล้วเรื่องดุลบัญชีเดินสะพัด บนหน้าตักเรามีอีก 50 billion ไม่พอเหรอ? เหลือเฟือ ถ้าเป็นอย่างนี้ถามว่าแล้วอย่างนี้กลัวอะไร ตอบว่าไม่ทราบ เพียงแค่ได้ยินว่าน้ำมันราคาเพิ่ม ตกใจกลัวแล้ว ถ้าเป็นอย่างนี้ทั้งประเทศ ภาษาชาวบ้านเขาเรียกว่า “ปิดร้าน” ดีกว่า ไม่มีสิ่งใดที่ต้องตื่นตระหนก เรารู้ว่าอุปสรรคกำลังมา เราวิเคราะห์มัน ดูแล ช่วยกัน และมันก็ไม่มีทางที่กระทรวงหนึ่งกระทรวงใดที่จะดูแลทั้งหมดได้
กระทรวงพาณิชย์ก็ดูแลเรื่องราคา พลังงาน Set ราคาให้ดี ๆ ดูแลพลังงานทดแทนอย่างจริงจัง และก็สร้างความมั่นใจให้คนไทยร่วมกัน If the worst comes to the worse GDP อยู่ที่แค่นี้ละ inflation แค่นี้ มันเป็นอุปสรรค แต่มันไม่ใช่เป็นอุปสรรคปัญหาโลกแตก มันเป็นอุปสรรคที่เรา Manage ได้ ภายใต้ภาวะที่มีอุปสรรค ภายใต้ภาวะที่มีวิกฤติ ใจยิ่งต้องนิ่ง สมองมันถึงจะเปิด สิ่งที่จะพิสูจน์ว่าเราเป็นผู้ใหญ่ หรือเราเป็นเด็ก ก็คือในช่วงที่มีอุปสรรค
ภารกิจจริงๆ ของรัฐบาลชุดนี้ ไม่ใช่แค่อุปสรรคข้างหน้าที่เห็น แต่มันเป็นสิ่งที่เราเคยคุยมาแล้ว 2 — 3 ปี ว่าถ้าคุณต้องการให้ประเทศนี้ก้าวต่อไปอย่างยั่งยืน คุณต้องปฏิรูปครั้งใหญ่ อันนี้คือสิ่งสำคัญ ถ้าคุณสามารถ Manage ให้ต่างประเทศเห็นว่าคุณดูแลเรื่องการบริหารจัดการ คุณ Manage เรื่อง GDP growth ให้อยู่ในช่วงที่เหมาะสม Inflation เหมาะสม Current account ให้อยู่ใน Level ที่ใช้ได้ แล้วบวกด้วยความมุ่งมั่นที่เขาเห็นเลยว่าเราไม่เคยหยุดนิ่งกับการ Reform ฝรั่งนักลงทุนก็ต้องมาลงทุนในเมืองไทยแน่นอน เพราะการที่ P/E ประเทศไทยใกล้เคียงมาเลเซีย สิงคโปร์ อันนั้นไม่ไกลเกินเอื้อม จะเอาเมืองไทยไปเปรียบเทียบกับฟิลิปปินส์ อินโดนีเซีย อันนั้นผมถือว่าคนที่วิเคราะห์อย่างนั้นไม่มี IQ ในสมองเลย แต่สิ่งหนึ่งที่เขานั่งเฝ้า มองเราอยู่ก็คือว่าเราจะสามารถ Manage ได้อย่างมีสติหรือไม่ เราต้องพิสูจน์ให้เขาเห็นด้วยการกระทำ
สิ่งที่ผมอยากจะขอร้องพวกท่านก็คือว่า
1. ทำในสิ่งที่พวกท่านช่วยผมมา 4 ปีเต็ม ทำงานด้วยความซื่อสัตย์สุจริต ทำงานด้วยความขยันขันแข็ง
2. ใช้ปัญญา คิดแทนผมว่าภายใต้ภาวการณ์เช่นนี้ และทิศทางแห่งอนาคต กรมสรรพากรจะทำอะไร กรมศุลกากรจะทำอะไร กรมสรรพสามิตจะทำอะไร ทุกๆ กรมจะทำอะไร ไม่ต้องรอให้ผมและรัฐมนตรีอีก 2 ท่านสั่งการ ของบางอย่างทำล่วงหน้าไปได้ ถามว่าแล้วล่วงหน้าจะทำได้อย่างไรละ ท่านนั้นต้องศึกษาทิศทางของรัฐบาล จริงๆ แล้วเรากำหนดยุทธศาสตร์มา 2 ปีเต็มแล้ว ยุทธศาสตร์ข้างหน้าก็สอดรับกับสิ่งที่อยู่ในนั้น ไม่ได้ฉีกหนีไปไหน
วันที่ 23 มีนาคมนี้ จะมีการแถลงนโยบายต่อสภาฯ Agenda หลักๆ
1. เรื่องการขจัดความยากจน
2. เรื่องการพัฒนาคุณภาพคนและสังคม
3. เรื่องการปรับโครงสร้างเศรษฐกิจ และการทำให้ประเทศมีความสามารถเชิงแข่งขัน
4. เรื่องของการ Manage ทรัพยากรและสิ่งแวดล้อม
5. เรื่องการ Deal กับต่างประเทศ
6. เรื่องการปฏิรูประบบราชการ รัฐวิสาหกิจ ระบบกฎหมายทั้งหมด เป็นต้น
ถ้าท่านดูจาก Agenda เหล่านี้ ท่านก็ต้องมองย้อนกลับมา การขจัดความยากจนมันเกี่ยวอะไรกันบ้าง ตั้งแต่เรื่อง SML ตั้งแต่เรื่องการยกกองทุนหมู่บ้านเป็นธนาคารหมู่บ้าน เรื่อง OTOP เรื่องระบบภาษี เรื่องการพัฒนาภาคชนบทให้แข็งแกร่ง อะไรบ้างที่เกี่ยวข้องกับกระทรวงการคลัง อะไรบ้างที่เกี่ยวข้องกับ ธ.ก.ส. ผมจะบอกให้เลยนะครับว่า ธ.ก.ส. จะเป็นพระเอกใน 4 ปีข้างหน้า SPV จะมีการนำเข้าคณะรัฐมนตรีในหนึ่งหรือสองสัปดาห์นี้ เพื่อจัดตั้งบริษัท ประธานบริษัทก็คือปลัดกระทรวงการคลัง คนที่ผมเสนอให้เป็นว่าที่ MD ของ SPV ก็คือผู้จัดการของ ธ.ก.ส. ในปัจจุบันนี้ ให้นั่งควบเลย เลียนแบบ เพราะว่า ธ.ก.ส. จะต้องมีบทบาทสูงมากใน SPV ในอนาคตข้างหน้าเวลาที่ ธ.ก.ส. ออกไปพัฒนาชนบท ก็คือการนำสิ่งทั้งหมดไปอยู่ที่ชนบท สิ่งเหล่านี้ท่านคิดล่วงหน้าได้
พอมาถึงเรื่องการพัฒนาคนและสังคม อะไรที่เกี่ยวข้องกับท่าน เรื่องการศึกษา เรื่องการดูแล เรื่องการ Training เรื่องการมีบ้านที่อยู่อาศัย เรื่องการมีครอบครัวที่ดี เหล่านี้เป็นตัวอย่าง ท่านกำลังคิดกลับมาว่าถ้าท่านเป็นกรมสรรพากร ทำอะไร ธนารักษ์ ทำอะไร ที่เกี่ยวข้องกับบ้านทั้งหลาย ต้องทำอะไรกันบ้าง ออมสินทำอะไรบ้าง ธนาคารอาคารสงเคราะห์ทำอะไรบ้าง ไม่ต้องรอให้ผมคิด ท่านคิดเองล่วงหน้าแล้วมาเสนอผม
พอมาถึงเรื่องการปรับโครงสร้างทางเศรษฐกิจ อันนี้เรื่องใหญ่ ระบบภาษีอากรจะใช้ระบบภาษีในการสร้างประเทศได้อย่างไร คิดแทนผมได้เลย จะทำอย่างไรจะสร้าง SME โดยเฉพาะท่านอธิบดีกรมสรรพากร ท่านต้องคิดมาก ๆ เลย เราต้องการสร้าง New playerขึ้นมาใหม่ ฉะนั้นคนตัวเล็กจะให้แบกน้ำหนักเท่ากับคนตัวใหญ่ไม่ถูกต้องแน่นนอน ผมก็รอฟังจากท่านอยู่ เรามีปัญหาการขาดแคลนเงินออมในอนาคตข้างหน้า สศค. คิดไว้เรียบร้อยแล้วเรื่องของ Saving plan ก็เตรียมเอาไว้ สำหรับเอาเข้า ครม. ในอีกไม่ช้า Productivity คิดล่วงหน้า
พอมาถึงเรื่องการปฏิรูปราชการ รัฐวิสาหกิจ อันนี้ก็เรื่องใหญ่ เรื่องระบบราชการท่านวิษณุไปดูแล เรื่องรัฐวิสาหกิจเรื่องของเรา ผมเคยพูดกับผู้ว่ารัฐวิสาหกิจทั้งหมดมาแล้วรอบหนึ่ง ครั้งนี้ 4 ปี เราต้องจริงจังเข้าไปพัฒนายกระดับรัฐวิสาหกิจ ลืมได้เลยว่าถ้าพูดว่าแปรรูปเราต้องเอาเข้าตลาดหลักทรัพย์ ไม่ใช่คำพูดผมนะ แปรรูปก็คือการยกระดับขึ้นมาให้มี Efficiency ทำงานเข้มแข็งเหมือนเอกชน การเข้าตลาดหลักทรัพย์ก็คือการทำเพื่อที่จะให้ฐานการเงินแข่งแกร่ง อย่าไปมัวแต่พูดว่าเอาเข้าตลาด เอาเข้าตลาด จนคนเอาไปบิดเบือนว่าเราจะขายทรัพย์สินของประเทศ ถ้าท่านทำหน้าที่เรื่องของการแปรรูปท่านต้อง Evidence โชว์ให้ได้ว่าก่อนหน้านี้ ปตท. ก่อนเข้าตลาดสภาพเป็นอย่างไร อ.ส.ม.ท. สภาพเป็นอย่างไร วันนี้สภาพเป็นอย่างไร ฐานะทุน ฐานะบุคลากร ฐานะการเงิน ฐานะทุกอย่างและ Convince ให้กับประชาชนทราบว่าความเป็นจริงคืออย่างนี้ วันนี้เราถือหุ้น ปตท. กี่เปอร์เซ็นต์ เรายังคงอำนาจสูงสุด เงินที่เขานำส่งคลังมีเท่าไรบวกกับ Market cap มีเท่าไร ต้องใช้ข้อมูลเหล่านี้ให้ประชาชนเข้าใจ คนต่อต้านจะได้เข้าใจ จะได้เลิกต่อต้าน ไม่ใช่นั่งทำงานอยู่ห้องที่กระทรวง
การสื่อสารประชาสัมพันธ์สำคัญมาก โดยเฉพาะเมื่อท่านต้องตั้ง Holding ขึ้นมา เอะอะอะไรก็อย่าบอกว่าตั้ง Holding เราต้องบอกเจตนาว่าทำไมต้องมี Holding แต่เดิมนั้นแต่ละกระทรวงเวลาบริหารราชการแผ่นดิน สนใจอยู่เฉพาะแต่งบประมาณแผ่นดิน แต่ที่อยู่นอกงบประมาณ รัฐวิสาหกิจนั้น แต่ละปีร้อยละ 85 มาจากรัฐวิสาหกิจ แต่เราบริหารผ่านกรรมการ เราไม่ได้ลงไปดูว่าลึกลงข้างในทำงานอย่างไร เวลาผ่านมา 30 ปี 40 ปี มันจึงเป็นดินพอกหางหมูอย่างนี้ อนาคตข้างหน้าเราจึงต้องการบอกว่ายก กนร. ขึ้นมาเป็นคณะกรรมการใหญ่ นายกฯ เป็นประธาน รัฐมนตรีที่เกี่ยวข้องอยู่ในคณะกรรมการชุดนั้น การแต่งตั้งกรรมการรวมศูนย์ที่คณะกรรมการใหญ่นี้ ตั้ง Holding ขึ้นมาเพื่อที่จะManage การลงทุน การซื้อหุ้น การขายหุ้น อนาคตรัฐบาลจะลงทุนใน SPV ก็เอาเงินใน Holding นี้ไปลงทุน เอาเข้าจดทะเบียนในตลาดเมื่อได้กำไรแล้วก็ Exit มีเงินสะสมอยู่ภายใน Super holding รัฐบาลจึงต้องมีเงินเพื่อไปลงทุนใหม่ๆ ได้ ลงทุนในสิ่งซึ่งเอกชนไม่กล้าทำ
การจับเป็น Sub holding ก็เพื่อที่จะให้รัฐวิสาหกิจที่มียุทธศาสตร์คล้ายคลึงกันรวมเป็น Cluster ไม่ใช่เอาเพื่อตลาด คนละเรื่องกัน ใครจำเป็นเอาเข้าตลาดก็เอาเข้าตลาด แต่การรวมนั้นก็เพื่ออะไร การท่าเรือต้องคุยกับใคร ต้องคุยกับบริษัทอะไรบ้าง รวมเป็น Cluster เสีย และก็บริหารร่วมกัน สิ่งเหล่านี้เพื่อเพิ่ม Efficiency ของรัฐวิสาหกิจ นี่คือสิ่งซึ่งท่านต้องชี้แจงกับรัฐวิสาหกิจ ชี้แจงกับประชาชน ชี้แจงกับสหภาพ ไม่ใช่รอผมกับรัฐมนตรีชี้แจง เรื่องพวกนี้เราจะทำกัน 4 ปี ข้างหน้า
ทั้งหมดนี้เป็นเพียงตัวอย่าง ที่บอกว่าอนาคตข้างหน้ามันไม่ใช่แค่ Oil price แต่คือการ Transform ประเทศไทยไปสู่สิ่งที่เราต้องการ เด็กวันนี้การศึกษาไม่ดี ระบบการศึกษามีปัญหาแน่นอน กระทรวงการคลังจะเกี่ยวข้องกับเขาได้อย่างไร
สี่ปีที่แล้วผมใช้เวลา 2 ปี หรือ 3 ปีอยู่ในกระทรวงการคลัง เรายังสามารถบริหารจัดการข้ามกระทรวงเพื่อไปสร้างสิ่งเหล่านี้ได้ ถ้าเรานั่งตำแหน่งรองนายกฯ และสามารถประสานกับอีกหลายๆ กระทรวง ผลงานต้องมีมากกว่านี้ ไม่ใช่คิดเฉพาะอยู่ในกรอบของกระทรวง ถ้าคิดนอกกรอบไป ส่วนไหนเกี่ยวข้องกับกระทรวงใดท่านบอกผม ผมจะไปประสานงานให้ ในสมัยนี้ทุกอย่างเป็น Agenda มันไม่ใช่ระบบ Functional แบบกระทรวง แต่เนื่องจากตัวกระทรวงมันเป็นอย่างนี้มาดั้งเดิมแล้ว ปรับเปลี่ยนยาก เราต้องใช้วิธีบริหารแบบ Informal
ผมก็ฝากท่านคิดในสิ่งเหล่านี้ จะทำอย่างไรให้โครงสร้างเศรษฐกิจแข็งแรง จะทำอย่างไรให้ภาคเกษตรแข็งแรง จะทำอย่างไรจะเพิ่ม Value added ได้ จะทำอย่างไรให้ระบบเศรษฐกิจมี Innovation จะทำอย่างไรที่จะจูงใจเอกชนเข้ามาอยู่ที่นี่ มาช่วยเรา จะทำอย่างไรให้ประชาชน Save พลังงาน
วันหนึ่งผมเคยพูดแล้วว่าเรามี 24 ชั่วโมง นอนเสีย 10 ชั่วโมง ให้นอนเยอะ ๆ เลย ที่เหลือนั้นคิดทุกชั่วโมง ขึ้นรถเมล์ก็คิด ขับรถก็คิด คุยกับเมียก็คิด ยอมให้เมียด่าไม่เป็นไร ถ้าท่านใช้เวลาส่วนใหญ่ในการคิดมันก็มี Solution ถ้าท่านไม่คิดเลยถึงเวลาก็รอให้รัฐมนตรีสั่ง อย่างนี้ไม่ได้ ต้องคิด รัฐมนตรีมีหน้าที่ช่วยกรองว่าอย่างนี้ดี ไม่ดี เหมาะสม ไม่เหมาะสม สิ่งที่ผมตั้งใจมาพูดวันนี้ ก็คือสิ่งเหล่านี้คือ
1. เราเป็นหลักทางเศรษฐกิจ เราต้องไม่หวั่นไหว เจออะไรต้องนิ่ง มั่นคง ไม่กลัว
2. คิดเยอะๆ ทำเยอะๆ และขอให้เป็นการทำที่ซื่อสัตย์สุจริต ผมเคยบอกพวกท่านว่าเวลาทำงาน เอางานเป็นตัวตั้ง การปรับเปลี่ยนโยกย้ายบุคลากรไม่มี Personal ทำเพื่องาน เราต้องไม่ติดใจกัน ก็ให้ช่วยกัน
ผม ท่านวราเทพ ท่านไชยศ เราคุยกันง่าย มีอะไรเราคุยกัน อะไรที่ต้องข้ามกระทรวงก็ขอให้บอก ผมจะไม่พูดมากไปกว่านี้ ขอพูดคำเดียวว่า 4 ปีที่แล้วเราได้รับความร่วมมือจากท่าน เราหวังว่า 4 ปีจากนี้เป็นต้นไป เรายังคงได้รับความร่วมมือจากพวกท่าน และในทางกลับกันพวกเราจะพยายามทำให้กระทรวงการคลังเป็นหลักของบ้านเมือง ให้ข้าราชการกระทรวงการคลังได้รับการพัฒนา การยกระดับ เดินไปที่ไหนสง่างาม ไม่ต้องเดินก้มหน้า ผมเชื่อในข้าราชการของเรา เชื่อในความสามารถของท่านปลัดกระทรวง ท่านอธิบดีและท่านผู้บริหาร ก็ขอถือโอกาสนี้เรียกร้องความร่วมมือจากพวกท่าน ขอให้ทำงานเพื่อบ้านเมือง คิดแค่นี้แล้วท่านจะสบายใจ ต่อให้ข้างนอกโลกแตกท่านคิดอยู่คำเดียวว่าเราอยู่เพื่อทำงานให้ประเทศชาติ เราสละสุขภาพองเรา ความสุขของเรา ก็เพื่อบ้านเมือง แล้วท่านก็จะสบายใจ
กลุ่มการประชาสัมพันธ์ สำนักงานปลัดกระทรวงการคลัง

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ