รถพนักงานเครือซีพี ชนรถพ่วง 18 ล้อ ที่จังหวัดเพชรบุรี ผู้บาดเจ็บและเสียชีวิตได้รับความคุ้มครองจากการประกันภัย

ข่าวเศรษฐกิจ Wednesday June 14, 2006 14:16 —คปภ.

          จากข่าวอุบัติเหตุเมื่อวันที่ 5 มิถุนายน 2549 เวลาประมาณ 16.40 น. เกิดอุบัติเหตุ รถยนต์โดยสารสองแถวหมายเลขทะเบียน 10-0372 เพชรบุรี ซึ่งเป็นรถรับ-ส่งคนงานของโรงงาน ซีพีเอส ในเครือเจริญโภคภัณฑ์ จ.สมุทรสาคร เฉี่ยวชนกับรถยนต์เก๋ง หมายเลขทะเบียน สท-4608 กรุงเทพมหานคร และรถยนต์กระบะ หมายเลขทะเบียน น-4972 และเสียหลักไปขวางถนนเป็นเหตุให้ถูกชนโดยรถบรรทุกพ่วง 18 ล้อ ซึ่งประกอบไปด้วยหัวลากจูงหมายเลขทะเบียน 70-1161 สุราษฎร์ธานี และรถพ่วงหมายเลขทะเบียน 70-1162 สุราษฎร์ธานี เป็นเหตุให้คนงานที่โดยสารมากับรถเสียชีวิต 18 ราย และบาดเจ็บ 8 ราย เหตุเกิดที่บริเวณแยกวัดเขาตะเครา ถนนเพชรเกษมหลักกิโลเมตรที่ 153 - 154 หมู่ที่ 1 ต.เวียงคอย อ.เมือง จ.เพชรบุรี 
นางสาวชำเลือง ชาติสุวรรณ รองอธิบดีกรมการประกันภัย เปิดเผยว่า จากการตรวจสอบการประกันภัยพบว่ารถทุกคันมีการทำประกันภัยไว้ โดยรถยนต์โดยสารสองแถวมีการทำประกันภัยเฉพาะการประกันภัยรถตาม พ.ร.บ. ไว้กับบริษัท ไทยเศรษฐกิจประกันภัย จำกัด (มหาชน) รถบรรทุกพ่วง 18 ล้อ มีการทำประกันภัยรถตาม พ.ร.บ. และภาคสมัครใจประเภท 3 ทั้งหัวลากจูง และรถพ่วง ไว้กับบริษัท สัมพันธ์ประกันภัย จำกัด รถยนต์เก๋ง มีการทำประกันภัยรถตาม พ.ร.บ. และภาคสมัครใจประเภท 1 ไว้กับบริษัท มิตซุย สุมิโตโม อินชัวรันส์ จำกัด ส่วนรถยนต์กระบะมีการทำประกันภัยเฉพาะการประกันภัยรถตาม พ.ร.บ. ไว้กับบริษัท เอเชียประกันภัย 1950 จำกัด
เนื่องจากในขณะนี้ยังไม่ทราบผลคดีว่าฝ่ายใดเป็นฝ่ายประมาท ผู้ประสบภัยและทายาทสามารถเรียกร้องจากบริษัทประกันภัยตามหลักการสำรองจ่ายไปก่อน กล่าวคือ ผู้โดยสารที่อยู่ในรถยนต์โดยสารสองแถวสามารถเรียกร้องจากบริษัท ไทยเศรษฐกิจประกันภัย จำกัด (มหาชน) จากการทำประกันภัยตาม พ.ร.บ. กรณีบาดเจ็บเป็นค่ารักษาพยาบาลตามที่จ่ายจริงรายละไม่เกิน 50,000 บาท และกรณีเสียชีวิตรายละ 100,000 บาท ยกเว้นผู้ขับขี่จะได้รับเฉพาะค่าเสียหายเบื้องต้น โดยกรณีเสียชีวิตจะได้รับค่าปลงศพจำนวน 35,000 บาท และกรณีบาดเจ็บจะได้รับค่ารักษาพยาบาลตามที่จ่ายจริงไม่เกิน 15,000 บาท
นางสาวชำเลืองฯ กล่าวเพิ่มเติมว่า หากต่อมาทราบผลคดีว่าฝ่ายใดเป็นฝ่ายประมาท จะสามารถเรียกร้องค่าสินไหมทดแทนจากการประกันภัย แยกเป็น 2 กรณี ดังนี้
1. กรณีรถยนต์โดยสารสองแถวเป็นฝ่ายประมาท ผู้ที่ได้รับบาดเจ็บสามารถเรียกร้องค่ารักษาพยาบาลตามที่จ่ายจริงและค่าอนามัยตามความเหมาะสมไม่เกิน 50,000 บาท ส่วนทายาทของผู้ประสบภัยที่เสียชีวิตจะได้รับค่าสินไหมทดแทนรายละ 100,000 บาท ยกเว้นผู้ขับขี่รถยนต์โดยสารสองแถวจะได้รับเพียงค่าเสียหายเบื้องต้นจำนวน 35,000 บาท (ทั้งนี้ หากได้รับค่าปลงศพหรือค่ารักษาพยาบาลตามหลักการสำรองจ่ายไปแล้วให้ถือเป็นส่วนหนึ่งของค่าสินไหมทดแทน)
2. กรณีรถบรรทุกพ่วงเป็นฝ่ายประมาท จะสามารถเรียกร้องค่าสินไหมทดแทนทั้งจาก หัวลากจูงและรถพ่วง ซึ่งค่าสินไหมทดแทนที่ผู้ประสบภัยและทายาทสามารถเรียกร้องจากการประกันภัยรวมทั้งสิ้น (หากได้รับค่าปลงศพหรือค่ารักษาพยาบาลตามหลักการสำรองจ่ายแล้วให้ถือเป็นส่วนหนึ่งของค่าสินไหมทดแทน) สรุปได้ดังนี้
2.1 ทายาทของผู้ที่เสียชีวิตที่อยู่ในรถยนต์โดยสารสองแถว จะได้รับค่าสินไหมทดแทนจากการประกันภัย รวมทั้งสิ้นรายละไม่เกิน 700,000 บาท แยกเป็นจากการประกันภัยตาม พ.ร.บ. 2 กรมธรรม์ๆละ 100,000 บาท และจากการประกันภัยประเภท 3 ในส่วนของความคุ้มครองความรับผิดต่อบุคคลภายนอกตามความเหมาะสมหรือตามฐานานุรูป 2 กรมธรรม์ๆละไม่เกิน 250,000 บาท
2.2 ผู้โดยสารที่ได้รับบาดเจ็บที่อยู่ในรถยนต์โดยสารสองแถว สามารถเรียกร้อง ค่ารักษาพยาบาลตามที่จ่ายจริงและค่าอนามัยตามความเหมาะสม รวมทั้งสิ้นรายละไม่เกิน 600,000 บาท แยกเป็นจากการประกันภัยตาม พ.ร.บ. 2 กรมธรรม์ๆละไม่เกิน 50,000 บาท ส่วนเกินสามารถเรียกร้องจากการประกันภัยประเภท 3 ในส่วนของความคุ้มครองความรับผิดต่อบุคคลภายนอก 2 กรมธรรม์ๆละไม่เกิน 250,000 บาท
อย่างไรก็ตาม กรมการประกันภัยจะได้ประสานไปยังบริษัทประกันภัยให้เร่งดำเนินการพิจารณาจ่ายค่าสินไหมทดแทนแก่ผู้ประสบภัยและทายาทโดยเร็วต่อไป
นางสาวชำเลืองฯ กล่าวเพิ่มเติมว่า อุบัติเหตุที่เกิดขึ้นดังกล่าว เป็นเหตุการณ์ที่น่าเศร้าสลดอย่างยิ่ง จึงขอฝากเตือนให้ผู้ที่ประกอบอาชีพรับ-ส่งผู้โดยสารจำนวนมากเช่นนี้ ได้มีการทำประกันภัย ภาคสมัครใจอย่างน้อยการประกันภัยประเภท 3 เพิ่มเติมนอกเหนือจากการประกันภัยตามพระราชบัญญัติคุ้มครองผู้ประสบภัยจากรถ เพื่อบรรเทาความเสียหายที่อาจเกิดขึ้นเช่นครั้งนี้ให้กับผู้ประสบภัยและทายาทผู้ประสบภัยให้ได้รับการชดใช้มากขึ้น รวมถึงคุ้มครองความเสียหายที่อาจเกิดขึ้นกับทรัพย์สินของบุคคลภายนอกด้วย และขอความร่วมมือให้ผู้ขับขี่รถทุกคนหมั่นตรวจสภาพรถและเตรียมสภาพร่างกายให้พร้อมในการขับขี่ เพื่อลดความสูญเสียที่อาจเกิดขึ้น
หากมีปัญหาและข้อสงสัยเกี่ยวกับการประกันภัยรถ สามารถสอบถามเพิ่มเติม ได้ที่กรมการประกันภัย โทร. 0-2547-4524 หรือสายด่วนประกันภัย 1186 กลุ่มคุ้มครองผู้เอาประกันภัยเขต และสำนักงานประกันภัยจังหวัดทุกจังหวัด
ที่มา: http://www.doi.go.th

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ