พยากรณ์อากาศเกษตรรายปักษ์ ระหว่าง วันที่ 16 - 31 มีนาคม พ.ศ. 2549

ข่าวทั่วไป Thursday March 16, 2006 14:30 —กรมอุตุนิยมวิทยา

พยากรณ์อากาศเกษตรรายปักษ์ ระหว่าง วันที่ 16-31 มีนาคม พ.ศ. 2549 ฉบับที่ 6/2549 สภาวะอากาศ ในระยะครึ่งหลังของเดือนมีนาคมอยู่ในช่วงฤดูร้อน แต่ในตอนเช้าของภาคเหนือและภาคตะวันออกเฉียงเหนือยังคงมีอากาศเย็น ส่วนในตอนกลางวันจะมีอากาศร้อนอบอ้าวทั่วไป เนื่องจากมีหย่อมความกดอากาศต่ำเนื่องจากความร้อนปกคลุมประเทศไทยตอนบน โดยในบางพื้นที่ของภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และภาคกลางจะมีอากาศร้อนถึงร้อนจัด อุณหภูมิสูงสุด 40-41 องศาเซลเซียส สำหรับภาคใต้จะมีอากาศร้อนกับมีฝนบางพื้นที่ ข้อควรระวัง ระยะนี้คาดว่าจะมีฝนตกเป็นช่วงๆ แต่ปริมาณฝนที่ตกอาจจะไม่เพียงพอต่อการอุปโภคและบริโภค รวมทั้งการใช้น้ำทางเกษตรกรรมโดยเฉพาะพื้นที่ซึ่งเคยแล้งซ้ำซาก ประชาชนจึงควรวางแผนการใช้น้ำอย่างมีประสิทธิภาพ และในบางช่วงอากาศจะแห้งมาก อาจจะเกิดอัคคีภัยและไฟป่าได้ง่าย จึงขอให้ระมัดระวังและเตรียมการป้องกันไว้ด้วย อนึ่ง บริเวณประเทศไทยตอนบนอาจจะมีพายุฝนฟ้าคะนอง ลมกระโชกแรง และลูกเห็บตกในบางพื้นที่ ซึ่งจะก่อให้เกิดความเสียหายต่ออาคารบ้านเรือนและเรือกสวนไร่นาได้ ประชาชนจึงควรระวังอันตรายและเตรียมป้องกันความเสียหายจากสภาวะดังกล่าว รวมทั้งควรติดตามข่าวพยากรณ์อากาศจากกรมอุตุนิยมวิทยาต่อไปด้วย สภาวะอากาศที่มีผลกระทบต่อการเกษตร ไม้ผล สำหรับไม้ผลชนิดต่างๆ เช่น เงาะ ทุเรียน มังคุด ลำไย ลิ้นจี่ และมะม่วง ชาวสวนควรดูแลให้น้ำอย่างพอเพียง และคลุมโคนต้นพืชเพื่อสงวนความชื้นในดิน รวมทั้งควรระวังและป้องกันการระบาดของศัตรูพืชจำพวกปากดูด เช่น เพลี้ยและไรต่างๆ ด้วย สัตว์น้ำ ระยะนี้อากาศร้อนและมีแสงแดดจัดในตอนกลางวัน เกษตรกรที่เลี้ยงสัตว์น้ำควรทำร่มเงาพรางแสงเพื่อให้สัตว์เข้าไปอาศัยหลบซ่อนในช่วงที่มีแสงแดดจัด และยังช่วยลดอุณหภูมิของน้ำด้วยสัตว์เลี้ยง เนื่องจากสภาพอากาศที่ร้อนอบอ้าวจะทำให้สัตว์กระหายมากขึ้น กินอาหารน้อยลง และเจ็บป่วยได้ง่าย ดังนั้นเกษตรกรควรลดอุณหภูมิภายในโรงเรือน รวมทั้งควรจัดหาน้ำให้แก่สัตว์เลี้ยงอย่างเพียงพอด้วย คำเตือน ในระยะนี้บริเวณประเทศไทยตอนบนอาจเกิดพายุฝนฟ้าคะนอง ลมกระโชกแรง และมีลูกเห็บตกได้บางพื้นที่ ชาวสวนผลไม้ควรผูกยึดหรือค้ำยันกิ่งและลำต้นของไม้ผลที่รับน้ำหนักมากให้แข็งแรงเพื่อป้องกันความเสียหายจาก สภาวะดังกล่าว ส่วนผู้ที่อยู่นอกเขตพื้นที่ชลประทานควรจัดหาแหล่งน้ำสำรองไว้ใช้ในฤดูแล้งและหากต้องการปลูกพืชควรเลือกปลูกพืชที่อายุการเก็บเกี่ยวสั้นและใช้น้ำน้อย กลุ่มอุตุนิยมวิทยาเกษตร สำนักพัฒนาอุตุนิยมวิทยา กรมอุตุนิยมวิทยา โทร 02-3992322-สส-

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ