สรุปภาวะการส่งออกของประเทศไทยเดือน ม.ค.- ก.พ.2549

ข่าวเศรษฐกิจ Tuesday March 28, 2006 12:05 —กรมส่งเสริมการส่งออก

1. เศรษฐกิจไทยในปี 2549  คาดว่าจะขยายตัวประมาณร้อยละ 4.7-5.7* ในขณะที่ปี 2548  GDP ไทยขยายตัวที่ร้อยละ 4.7 แต่ขณะนี้มีสถานการณ์ผันผวนด้านการเมืองตั้งแต่รัฐบาลประกาศยุบสภาฯ เมื่อวันที่ 24 กุมภาพันธ์ 2549 จะส่งผลกระทบให้เศรษฐกิจขยายตัวลดลงโดยคาดว่าจะขยายตัวร้อยละ 4.5-5.5
2. ประเทศไทยเป็นผู้ส่งออกสำคัญอันดับที่ 24 ของโลก ในช่วง ม.ค.-ส.ค 2548 มีสัดส่วนการส่งออกประมาณร้อยละ 1.16 ของการส่งออกรวมในตลาดโลก
3. ประเทศไทยเป็นผู้นำเข้าสำคัญอันดับที่ 20 ของโลก ของช่วง ม.ค.-ส.ค. 2548 มีสัดส่วนการนำเข้าประมาณร้อยละ 1.25 ของการนำเข้าในตลาดโลก
4. การค้าของไทยในเดือน ม.ค.-ก.พ. 2549 มีมูลค่า 37,651.07 ล้านเหรียญสหรัฐฯ เพิ่มขึ้นร้อยละ 13.88 แยกเป็นการส่งออกมูลค่า 18,461.20 ล้านเหรียญสหรัฐฯ เพิ่มขึ้นร้อยละ 18.18 หรือคิดเป็นร้อยละ 14.17 ของเป้าหมายการส่งออกที่ 130,288 ล้านเหรียญสหรัฐ การนำเข้ามีมูลค่า 19,189.87 ล้านเหรียญสหรัฐฯเพิ่มขึ้นร้อยละ 10.04 ไทยเสียเปรียบดุลการค้า เป็นมูลค่า 728.66 ล้านเหรียญสหรัฐฯ
5. สินค้าส่งออกสำคัญ 50 อันดับแรกซึ่งมีสัดส่วนรวมกันร้อยละ 84.92 ของมูลค่าการส่งออกเดือน ม.ค.-ก.พ. 2549 ในจำนวนนี้มีสินค้าซึ่งมีมูลค่าการส่งออกเปลี่ยนแปลงสูง ดังนี้
- ก๊าซปิโตรเลียมเหลว, ทองแดงและของทำด้วยทองแดง, ส่วนประกอบอากาศยานและอุปกรณ์การบิน, ผลิตภัณฑ์มันสำปะหลัง, และแผงวงจรไฟฟ้า เพิ่มขึ้นร้อยละ 76.34, 73.01, 64.66, 59.29 และ 51.37 ตามลำดับ
6. การส่งออกสินค้าไทยไปภูมิภาคต่างๆ มีสัดส่วนและภาวะการส่งออก ดังนี้
ภูมิภาคต่าง ๆ สัดส่วน มูลค่า %
ร้อยละ (ล้านเหรียญสหรัฐฯ) เปลี่ยนแปลง
1. อเมริกาเหนือ (สหรัฐฯ แคนาดา) 16.2 2,990 15.8
2. ยุโรป (สหภาพยุโรป & ยุโรปตะวันออก) 14.6 2,692 13.5
3. เอเชียตะวันออก(ญี่ปุ่น ไต้หวัน เกาหลี) 17.6 3,244 11.2
4. อาเซียน (9) 21.8 4,016 17.7
5. จีนและฮ่องกง 14.2 2,613 35.3
6. อินเดีย 1.1 209 -14.9
7. อื่นๆ 14.5 2,698 24.7
6.1 การส่งออกไปภูมิภาคอเมริกาเหนือ (สหรัฐฯ แคนาดา) เดือนม.ค — ก.พ. 2549 มีมูลค่า 2,990 ล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่มขึ้นร้อยละ 15.8 หรือคิดเป็นร้อยละ 14.36 ของเป้าหมายการส่งออกที่ 20,819 ล้านเหรียญสหรัฐในปี 2549 โดยการส่งออกไปสหรัฐเพิ่มขึ้นร้อยละ 15.5 ส่วนการส่งออกไปแคนาดาเพิ่มขึ้นร้อยละ 19.5
จากสถิติการส่งออกสินค้าไทยไปสหรัฐฯ 30 อันดับแรกพบว่าสินค้าส่งออกที่มีมูลค่าเพิ่มขึ้นในอัตราที่สูงมากกว่าร้อยละ 100 มี 2 รายการได้แก่ เม็ดพลาสติกและปูนซีเมนต์ สินค้าอื่นๆ ที่มีมูลค่าเพิ่มขึ้นมากว่าร้อยละ 60 ได้แก่ เครื่องคอมพิวเตอร์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ เครื่องจักรกลและส่วนประกอบของเครื่องจักรกล เครื่องปรับอากาศและส่วนประกอบ เครื่องยนต์สันดาปภายในแบบลูกสูปและส่วนประกอบ สินค้าส่งออกไปสหรัฐที่มีมูลค่าลดลงมากกว่าร้อยละ 30 ได้แก่ อัญมณีและเครื่องประดับและวงจรพิมพ์
ตลาดแคนาดาเมื่อสังเกตจากสถิติการส่งออกสินค้าไทยไปตลาดนี้ 30 อันดับพบว่ามีสินค้าส่งออกเพิ่มขึ้นในอัตราสูงมากกว่าร้อยละ 100 ได้แก่ เครื่องคอมพิวเตอร์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ เครื่องจักรกลและส่วนประกอบของเครื่องจักรกล เครื่องยนต์สันดาปภายในแบบลูกสูบและส่วนประกอบ รถยนต์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ แผงวงจรไฟฟ้า สินค้าที่มีมูลค่าลดลง ได้แก่ เสื้อผ้าสำเร็จรูป เครื่องใช้ไฟฟ้า ข้าว เฟอร์นิเจอร์และชิ้นส่วน ผลิตภัณฑ์เซรามิก ผลิตภัณฑ์พลาสติก อัญมณีและเครื่องประดับ ไม้ผลิตภัณฑ์ไม้
6.2 ยุโรป การส่งออกสินค้าไทยไปยุโรปในเดือนม.ค — ก.พ. 2549 มีมูลค่า 2,692 ล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่มขึ้นร้อยละ 13.5 หรือคิดเป็นร้อยละ 16.44 ของเป้าหมายการส่งออกที่มูลค่า 16,372 ล้านเหรียญสหรัฐ การส่งออกไปยุโรปแบ่งออกเป็น 2 ตลาดคือ
สหภาพยุโรป (15) สินค้าไทยส่งออกไปสหภาพยุโรปในเดือนม.ค. — ก.พ. 2549 มีมูลค่า 2,452.07 ล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่มขึ้นร้อยละ 11.00 จากสินค้าสำคัญ 30 อันดับแรกส่งออกไปตลาดนี้พบว่ามีสินค้าที่สามารถส่งออกได้เพิ่มขึ้นสูงกว่าร้อยละ 100 มี 1 รายการคือ เครื่องยนต์สันดาปภายในแบบลูกสูปและส่วนประกอบ สินค้าที่มีมูลค่าเพิ่มขึ้นมากกว่าร้อยละ 30 ได้แก่ รถยนต์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ แผงวงจรไฟฟ้า ยางพารา ไก่แปรรูป ผลไม้กระป๋องและแปรรูป สินค้าที่มีมูลค่าลดลง มากกว่าร้อยละ 10 ได้แก่ เครื่องปรับอากาศและส่วนประกอบ เฟอร์นิเจอร์และชิ้นส่วน เหล็ก เหล็กกล้าและผลิตภัณฑ์ เคมีภัณฑ์ วงจรพิมพ์ ไม้และผลิตภัณฑ์ไม้และเม็ดพลาสติก
ยุโรปตะวันออก สินค้าไทยส่งออกไปยุโรปตะวันออกในเดือนม.ค. — ก.พ. 2549 มีมูลค่า 239.83 ล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่มขึ้นร้อยละ 47.69 สินค้าที่สามารถขยายการส่งออกไปตลาดนี้ได้เพิ่มขึ้นมากกว่าร้อยละ 100 ได้แก่ วงจรพิมพ์ เครื่องคอมพิวเตอร์อุปกรณ์และส่วนประกอบ เตาอบไมโครเวฟและเครื่องใช้ไฟฟ้าที่ให้ความร้อน ตู้เย็น ตู้แช่แข็งและส่วนประกอบ ก๊อก วาวล์และส่วนประกอบ แผงวงจรไฟฟ้า อุปกรณ์กึ่งตัวนำทรานซิสเตอร์และไดโอด รองเท้าและชิ้นส่วน สินค้าที่มีมูลค่าลดลง กว่าร้อยละ 10 ได้แก่ เม็ดพลาสติก อัญมณีและเครื่องประดับ หม้อแปลงไฟฟ้าและส่วนประกอบ เหล็กกล้าและผลิตภัณฑ์
ตลาดในยุโรปตะวันออกที่สามารถขยายการส่งออกได้เพิ่มขึ้นสูง คือ มอลโดวา คีร์กิซสถาน ฮังการี เบลาลุส และสาธารณรัฐสโลวัก โดยขยายตัวร้อยละ 1,187.29, 513.17, 185.54, 153.34 และ 142.30 ตามลำดับ
6.3 เอเชียตะวันออก (ญี่ปุ่น ไต้หวัน และเกาหลีใต้) การส่งออกสินค้าไทยไปยังเอเชียตะวันออกในช่วง ม.ค. — ก.พ. 2549 มีมูลค่า 3,244 ล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่มขึ้นร้อยละ 11.2 หรือคิดเป็นร้อยละ 13.6 ของเป้าหมายการส่งออกที่ 23,750 ล้านเหรียญสหรัฐ
ญี่ปุ่น การส่งออกสินค้าไทยไปญี่ปุ่นในเดือน ม.ค. — ก.พ. 2549 มีมูลค่า 2,409.30 ล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่มขึ้นร้อยละ 6.88 จากสถิติสินค้าไทย 30 อันดับแรกส่งออกไปตลาดนี้มีสินค้าที่สามารถส่งออกได้เป็นมูลค่าเพิ่มขึ้นสูงกว่าร้อยละ 100 มี 2 รายการคือ เครื่องยนต์สันดาปภายในแบบลูกสูบและส่วนประกอบและผลิตภัณฑ์เซรามิก สินค้าอื่นที่มีมูลค่าสูงกว่าร้อยละ 20 ได้แก่ เครื่องคอมพิวเตอร์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ เลนซ์ เครื่องใช้ไฟฟ้าและส่วนประกอบอื่นๆ เครื่องสำอาง สบู่และผลิตภัณฑ์รักษาผิว ผลิตภัณฑ์ยาง สินค้าที่มีมูลค่าลดลง มากกว่า 20 ได้แก่ เครื่องรับวิทยุโทรทัศน์และส่วนประกอบ เตาอบไมโครเวฟ และเครื่องใช้ไฟฟ้าที่ให้ความร้อนและวงจรพิมพ์
ไต้หวัน การส่งออกสินค้าไทยไปไต้หวันในเดือน ม.ค. — ก.พ. 2549 มีมูลค่า 447 ล้านเหรียญสหรัฐเพิ่มขึ้นร้อยละ 23.13 จากสถิติสินค้าไทย 30 อันดับแรกส่งออกไปตลาดนี้มีสินค้าที่สามารถขยายการส่งออกได้เพิ่มขึ้นมากกว่าร้อยละ 100 มี 3 รายการ ได้แก่ เครื่องคอมพิวเตอร์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ น้ำมันสำเร็จรูป ทองแดงและของทำด้วยทองแดง อัญมณีและเครื่องประดับ สินค้าที่มีมูลค่าเพิ่มขึ้นมากกว่าร้อยละ 40 ได้แก่ เครื่องพักกระแสไฟฟ้า เครื่องซักผ้าและเครื่องซักแห้งและส่วนประกอบ และเสื้อผ้าสำเร็จรูป สินค้าที่มีมูลค่าลดลง มากกว่าร้อยละ 30 ได้แก่ อุปกรณ์กึ่งตัวนำ ทรานซิสเตอร์และไดโอด เหล็กกล้าและผลิตภัณฑ์ เครื่องพักกระแสไฟฟ้า เหล็ก หนังและผลิตภัณฑ์หนังฟอกและหนังอัด
เกาหลีใต้ การส่งออกสินค้าไทยไปเกาหลีใต้ในเดือน ม.ค. — ก.พ. 2549 มีมูลค่า 386.8 ล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่มขึ้นร้อยละ 29.8 จากสถิติการส่งออกสินค้าไทยไปตลาดนี้ 30 อันดับแรกมีสินค้าที่สามารถขยายการส่งออกได้เพิ่มขึ้นมากกว่าร้อยละ 100 มี 4 รายการ ได้แก่ เครื่องคอมพิวเตอร์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ น้ำมันสำเร็จรูป เครื่องจักรกลและส่วนประกอบของเครื่องจักรกล และทองแดงและของที่ทำด้วยทองแดง สินค้าที่เพิ่มขึ้นมากกว่าร้อยละ 50 ได้แก่ แผงวงจรไฟฟ้า ไม้และผลิตภัณฑ์ไม้ เครื่องใช้ไฟฟ้าและส่วนประกอบอื่นๆ เหล็ก เหล็กกล้า และผลิตภัณฑ์ สินค้าที่มีมูลค่าลดลง มากกว่าร้อยละ 30 ได้แก่ เม็ดพลาสติก เครื่องสำอางสบู่และผลิตภัณฑ์รักษาผิว
6.4 อาเซียน(9) การส่งออกสินค้าไทยไปตลาดอาเซียนในเดือน ม.ค. — ก.พ. 2549 มีมูลค่า 3,951.8 ล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่มขึ้นร้อยละ 15.82 หรือคิดเป็นร้อยละ 14.01 ของเป้าหมายการส่งออกที่ 28,650 ล้านเหรียญสหรัฐ จากสถิติการส่งออกสินค้าไทยไปตลาดนี้ 30 รายการแรกมีสินค้าที่สามารถขยายการส่งออกได้เพิ่มขึ้นสูงถึงร้อยละ 447 มี 1 รายการ คือ อัญมณีและเครื่องประดับ สินค้าที่มีมูลค่าเพิ่มขึ้นสูงกว่าร้อยละ 100 มี 2 รายการคือ ก๊าซปิโตรเลียมเหลวและทองแดงและของที่ทำด้วยทองแดง สินค้าที่มีมูลค่าเพิ่มขึ้นมากกว่าร้อยละ 50 ได้แก่ น้ำมันสำเร็จรูป แผงวงจรไฟฟ้า ยางพารา ส่วนประกอบอากาศยานและอุปกรณ์การบิน เครื่องปรับอากาศและส่วนประกอบ สินค้าที่มีมูลค่าลดลง มากกว่าร้อยละ 20 ได้แก่ น้ำตาลทราย
ตลาดในกลุ่มอาเซียนที่ไทยสามารถขยายการส่งออกได้เพิ่มขึ้นสูงคือ ลาว บรูไน และกัมพูชา โดยมีอัตราการเปลี่ยนแปลงเพิ่มขึ้นร้อยละ 54.06, 48.43 และ 29.24 ตามลำดับ ตลาดที่มีมูลค่าลดลงมีเพียงประเทศเดียวคือ อินโดนีเซีย ลดลงร้อยละ 18.78
6.5 จีนและฮ่องกง มูลค่าการส่งออกสินค้าไทยไปจีนและฮ่องกงในเดือน ม.ค. — ก.พ. 2549 มีมูลค่า 2,613 ล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่มขึ้นร้อยละ 35.3 หรือคิดเป็นร้อยละ 13.10 ของเป้าหมายการส่งออกที่มีมูลค่า 19,943 ล้านเหรียญสหรัฐ
จีน การส่งออกสินค้าไทยไปจีนในเดือน ม.ค. — ก.พ. 2549 มีมูลค่า 1,650.8 ล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่มขึ้นร้อยละ 42.88 จากสถิติการส่งออกสินค้าไทยไปจีน 30 อันดับแรกมีสินค้าที่สามารถขยายการส่งออกไปจีนได้เพิ่มขึ้นมากกว่าร้อยละ 100 มี 7 รายการ ได้แก่ แผงวงจรไฟฟ้า น้ำมันดิบ น้ำมันสำเร็จรูป ผลิตภัณฑ์ยาง วงจรพิมพ์ แผงสวิทช์ และแผงควบคุมกระแสไฟฟ้า เลนซ์ เครื่องพักกระแสไฟฟ้า สินค้าที่มีมูลค่าลดลง มากกว่าร้อยละ 30 มี 1 รายการคือ เหล็ก เหล็กกล้าและผลิตภัณฑ์
ฮ่องกง การส่งออกสินค้าไทยไปฮ่องกงในเดือน ม.ค. — ก.พ. 2549 มีมูลค่า 962 ล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่มขึ้นร้อยละ 23.9 จากสถิติการส่งออกสินค้าไทย 30 อันดับแรกมีสินค้าไทยที่สามารถขยายการส่งออกได้เพิ่มขึ้นมากกว่า 100 มี 7 รายการ ได้แก่ เครื่องคอมพิวเตอร์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ น้ำมันสำเร็จรูป เครื่องโทรสาร โทรพิมพ์ โทรศัพท์อุปกรณ์และส่วนประกอบ เคมีภัณฑ์ เครื่องส่งวิทยุโทรเลขโทรศัพท์ ยางพารา เครื่องปรับอากาศและส่วนประกอบ สินค้าที่มีมูลค่าเพิ่มขึ้นมากว่าร้อยละ 50 มี แผงวงจรไฟฟ้า ผลิตภัณฑ์พลาสติก เครื่องรับวิทยุโทรทัศน์ ด้ายเส้นใยประดิษฐ สินค้าที่มีมูลค่าลดลง มากว่าร้อยละ 30 มี 1 รายการได้แก่ เหล็ก เหล็กกล้าและผลิตภัณฑ์
6.6 อินเดีย การส่งออกสินค้าไทยอินเดียในเดือน ม.ค. — ก.พ. 2549 มีมูลค่า 208 ล้านเหรียญสหรัฐ เทียบกับ 245.20 ล้านเหรียญสหรัฐของปี 2548 ในช่วงเดียวกันลดลงร้อยละ 14.94 หรือคิดเป็นร้อยละ 4.2 ของเป้าหมายการส่งออกที่มูลค่า 2,451 ล้านเหรียญสหรัฐจากสถิติการส่งออกสินค้าไทยไปตลาดนี้ 30 อันดับแรก มีสินค้าที่ขยายการส่งออกได้เพิ่มขึ้นสูงมากกว่าร้อยละ 100 มี 7 รายการได้แก่ เครื่องปรับอากาศและส่วนประกอบ ทองแดงและของทำด้วยทองแดง หม้อแปลงไฟฟ้าและส่วนประกอบ กระดาษ เตาอบไมโครเวฟและเครื่องใช้ไฟฟ้าที่ให้ความร้อนและน้ำมันสำเร็จรูป สินค้าที่มีมูลค่าเพิ่มมากกว่าร้อยละ 50 ได้แก่ เคมีภัณฑ์ ผลิตภัณฑ์พลาสติก ผลิตภัณฑ์อลูมิเนียม ผ้าผืน เครื่องใช้ไฟฟ้าและส่วนประกอบอื่นๆ สินค้าที่มีมูลค่าส่งออกลดลง มากกว่าร้อยละ 20 ได้แก่ เม็ดพลาสติก สิ่งทออื่นๆ เครื่องคอมพิวเตอร์และส่วนประกอบ อัญมณีและเครื่องประดับ
7. การนำเข้า
7.1 สินค้านำเข้ามีสัดส่วนโครงสร้างดังนี้
- สินค้าเชื้อเพลิง สัดส่วนร้อยละ 18.81 เพิ่มขึ้นร้อยละ 42.86
- สินค้าทุน สัดส่วนร้อยละ 29.92 เพิ่มขึ้นร้อยละ 15.90
- สินค้าวัตถุดิบและกึ่งสำเร็จรูป สัดส่วนร้อยละ 40.23 ลดลงร้อยละ 2.72
- สินค้าบริโภค สัดส่วนร้อยละ 7.03 เพิ่มขึ้นร้อยละ 13.49
- สินค้ายานพาหนะและอุปกรณ์ขนส่ง สัดส่วนร้อยละ 3.12 ลดลงร้อยละ 3.83
- สินค้าอื่นๆ สัดส่วนร้อยละ 0.90 ลดลงร้อยละ 19.05
7.2 แหล่งนำเข้าสำคัญ 10 อันดับแรก
มีสัดส่วนรวมกันร้อยละ 65.83 ของมูลค่าการนำเข้าเดือน ม.ค.-ก.พ. 2549 ได้แก่ ญี่ปุ่น จีน สหรัฐอเมริกา มาเลเซีย สิงคโปร์ สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ ไต้หวัน เกาหลีใต้ ฝรั่งเศส และโอมาน สัดส่วนร้อยละ 20.74, 9.10, 6.93, 6.50, 4.55, 4.28, 4.12, 3.79, 3.00 และ 2.82 โดยมีอัตราการขยายตัวร้อยละ -0.28, 12.06, -1.61, -0.30, 18.43, -0.48, 19.41, 20.84, 172.18 และ 29.36 ตามลำดับ
8. สรุปข้อคิดเห็น
1. การส่งออกสินค้าไทยไปทั้ง 6 ภูมิภาคมีภาวะเพิ่มขึ้น 5 ภูมิภาคโดยภูมิภาคจีนและฮ่องกง เพิ่มขึ้นร้อยละ 35.3 รองลงไปคือ อาเซียน ยุโรป สหรัฐอเมริกา และเอเชียตะวันออก ส่วนอินเดีย ลดลงร้อยละ 14.9 เนื่องจากมีสินค้าไทยหลายรายการมีสถิติลดลง เช่น เม็ดพลาสติก เครื่องคอมพิวเตอร์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ อัญมณีและเครื่องประดับ ไม้และผลิตภัณฑ์ไม้ และสายไฟฟ้า สายเคเบิ้ล เป็นต้น
2. จากกรณีที่คณะกรรมาธิการยุโรป หรือ EU ได้ประกาศเรียกเก็บภาษีตอบโต้การทุ่มตลาด (AD) สินค้ารองเท้าหนังนำเข้าจากจีนและเวียดนาม (ไม่รวมรองเท้าเด็กและรองเท้าไฮเทค) ตั้งแต่วันที่ 7 เมษายน 2549 เป็นต้นไป ส่งผลให้ผู้นำเข้ารองเท้าจากยุโรปย้ายคำสั่งซื้อมายังประเทศไทยเป็นจำนวนมากเพราะไทยเป็นแหล่งผลิตรองเท้าที่มีคุณภาพได้มาตรฐานแห่งหนึ่งจึงคาดว่าการส่งออกรองเท้าของไทยจะมีมูลค่าเพิ่มขึ้นในอัตราสูงในปีนี้
3. ผลกระทบจากภาวการณ์ผันผวนทางการเมืองซึ่งนายกรัฐมนตรี พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร ได้ประกาศยุบสภาผู้แทนราษฎรเมื่อ 24 กุมภาพันธ์ 2549 กำหนดให้มีการเลือกตั้งใหม่วันที่ 2 เมษายน 2549 และขณะนี้ภาวะการเมืองยังมีความไม่แน่นอน ในความไม่แน่นอนนี้จะก่อให้เกิดผลกระทบต่อเศรษฐกิจของประเทศในหลายด้านด้วยกันสรุปได้ดังนี้
3.1 การลงทุนของนักลงทุนทั้งของผู้ประกอบการภายในประเทศและการลงทุนจากต่างประเทศขาดความเชื่อมั่นในเสถียรภาพของรัฐบาลมีผลให้การตัดสินใจลงทุนชะลอลงและอาจจะเคลื่อนย้ายการลงทุนไปยังประเทศอื่นที่ภาวะการเมืองมีเสถียรภาพเช่น เวียดนามและมาเลเซีย เป็นต้น นอกจากนี้ การลงทุนในโครงการขนาดใหญ่ (เมกะโปรเจกต์) ต้องล่าช้าออกไปแม้จะยังไม่ส่งผลในปีนี้อย่างชัดเจนแต่จะส่งผลโดยตรงในปี 2550
3.2 การบริโภคในภาคเอกชนชะลอตัวลงเพราะผู้บริโภคมีความกังวลในความไม่ชัดเจนและไม่รู้ว่าจะเกิดอะไรขึ้น
3.3 การท่องเที่ยวในปี 2549 ซึ่งคาดว่าจะขยายตัวสูงประมาณร้อยละ 18 หรือมีรายได้ประมาณ 4.27 แสนล้านบาทหากปัญหาการเมืองไม่ยืดเยื้อยาวนานก็เชื่อว่าจะสามารถขยายตัวได้ตามเป้าหมาย
3.4 ด้านการส่งออกนับเป็นปัจจัยสำคัญที่สุดปัจจัยหนึ่งที่จะสามารถขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศให้เติบโตต่อไปได้เพราะจากข้อมูลสถิติการส่งออกสินค้าไทยขยายตัวในระดับที่น่าพอใจ
3.5 การเจรจาจัดทำข้อตกลงเขตการค้าเสรีกับสหรัฐต้องล่าช้าออกไป แต่หากมาเลเซียและเกาหลีสามารถเจรจาตกลงกับสหรัฐฯได้ จะมีผลให้ไทยเสียเปรียบหรือไม่และไทยจะยังคงรักษาส่วนแบ่งตลาดในสหรัฐได้ในระดับเดิมหรือไม่
3.6 หากการเมืองยังมีความผันผวนต่อไปหลังจากการเลือกตั้ง 2 เมษายน 2549 แล้วโดยยังไม่ได้รัฐบาลชุดใหม่เข้ามาแก้ไขสถานการณ์เศรษฐกิจได้ทันท่วงทีก็จะมีผลให้การพัฒนาเศรษฐกิจของไทยต้องได้รับผลกระทบอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้
ที่มา: http://www.depthai.go.th

แท็ก การส่งออก   ก.พ.   GDP  

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ