รายงานดัชนีราคาผู้ผลิตของประเทศ ประจำเดือน ก.ค.49

ข่าวเศรษฐกิจ Wednesday August 2, 2006 16:46 —สำนักดัชนีเศรษฐกิจการค้า

ดัชนีราคาผู้ผลิตเดือน กรกฎาคม 2549
กระทรวงพาณิชย์ รายงานความเคลื่อนไหว ดัชนีราคาผู้ผลิตของประเทศเดือนกรกฎาคม 2549 โดยสรุปจากการสำรวจและประมวลราคาสินค้าที่เกษตรกรและผู้ประกอบการจำหน่ายทั่วประเทศ จำนวน 506 รายการ ครอบคลุม 3 หมวด คือ หมวดผลผลิตเกษตรกรรม หมวดผลิตภัณฑ์จากเหมือง และหมวดผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม และนำมาคำนวณเพื่อเปรียบเทียบการเปลี่ยนแปลงราคาในรูปของดัชนี ดังนี้
1. ดัชนีราคาผู้ผลิตเดือนกรกฎาคม 2549
ปี 2543 ดัชนีราคาผู้ผลิตของประเทศ เท่ากับ 100 สำหรับเดือนกรกฎาคม 2549 เท่ากับ 138.6
2. การเปลี่ยนแปลงดัชนีราคาผู้ผลิตของประเทศเดือนกรกฎาคม 2549 เมื่อเทียบกับ
2.1 เดือนมิถุนายน 2549 ลดลงร้อยละ 0.4
2.2 เดือนกรกฎาคม 2548 สูงขึ้นร้อยละ 9.2
3. ดัชนีราคาผู้ผลิตของประเทศเดือนกรกฎาคม 2549 โดยเฉลี่ยลดลงเป็นเดือนที่สองต่อเนื่องจากเดือนมิถุนายน 2549 ในอัตราร้อยละ 0.4 ทั้งนี้ จากการลดลงของดัชนีราคาหมวดผลผลิตเกษตรกรรม และหมวดผลิตภัณฑ์จากเหมือง ร้อยละ 4.6 และ 0.2 ตามลำดับ ขณะที่หมวดผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม ดัชนีราคาสูงขึ้นร้อยละ 0.3
3.1 หมวดผลผลิตเกษตรกรรม ดัชนีราคาเดือนกรกฎาคม 2549 ลดลงต่อเนื่องจากเดือนก่อนหน้าร้อยละ 4.6 (เดือนมิถุนายน 2549 ลดลงร้อยละ 3.3) จากสาเหตุหลายประการ กล่าวคือ เป็นช่วงฤดูกาลสินค้าเกษตรหลายชนิดทั้ง พืชผัก ผลไม้ และดอกไม้ ที่สำคัญ เช่น มะนาว ลำไย เงาะ และดอกกล้วยไม้ สินค้าปศุสัตว์ เช่น ไก่ และสุกรมีชีวิต จากปริมาณผลผลิตมีมาก ขณะที่ความต้องการชะลอลง จากภาวะการส่งออกและกำลังซื้อลดลง สำหรับสินค้าอื่น ๆ ที่ราคาลดลง เช่น ไข่ไก่ หัวมันสำปะหลังสด และยางแผ่นดิบ
3.2 หมวดผลิตภัณฑ์จากเหมือง ดัชนีราคาลดลงร้อยละ 0.2 จากการลดลงของราคาแร่สังกะสี และแร่ตะกั่ว เป็นสำคัญ
3.3 หมวดผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม ดัชนีราคาสูงขึ้นต่อเนื่องจากเดือนก่อนหน้า ร้อยละ 0.3 (เดือนมิถุนายน 2549 สูงขึ้นร้อยละ 0.4) จากความผันผวนของราคาน้ำมันที่อยู่ในระดับสูง ส่งผลต่อต้นทุนผลิต ทำให้สินค้าหลายรายการปรับราคาสูงขึ้น ที่สำคัญ คือ เม็ดพลาสติกประเภทต่าง ๆ ไม้ยางพารา และไม้อัด สำหรับผลิตภัณฑ์อาหาร โดยเฉพาะข้าวสาร ราคายังคงเคลื่อนไหวอยู่ในระดับสูงจากความต้องการที่มีอยู่อย่างต่อเนื่องเพื่อส่งมอบต่างประเทศ
4. เมื่อพิจารณาเปรียบเทียบดัชนีราคาผู้ผลิตเดือนกรกฎาคม 2549 กับเดือนกรกฎาคม 2548 ปรากฏว่า สูงขึ้นร้อยละ 9.2 จากการสูงขึ้นของดัชนีราคาทั้ง 3 หมวด คือ หมวดผลผลิตเกษตรกรรม ดัชนีราคาสูงขึ้นร้อยละ 19.5 จากการสูงขึ้นของราคาผลผลิตการเกษตร ได้แก่ ข้าวเปลือก และยางพารา หมวดผลิตภัณฑ์จากเหมือง ดัชนีราคาสูงขึ้นร้อยละ 25.0 จากการสูงขึ้นของราคาน้ำมันดิบ และแร่สังกะสี หมวดผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม ดัชนีราคาสูงขึ้นร้อยละ 7.1 จากการสูงขึ้นของราคาน้ำมันเชื้อเพลิง ยางแผ่นรมควัน ยางแท่ง เม็ดพลาสติก และทองคำ
ที่มา: สำนักดัชนีเศรษฐกิจการค้า สำนักงานปลัดกระทรวง กระทรวงพาณิชย์

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ