พยากรณ์อากาศเกษตรรายปักษ์ ระหว่าง วันที่ 1-15 พฤศจิกายน พ.ศ. 2548

ข่าวทั่วไป Wednesday November 2, 2005 14:23 —กรมอุตุนิยมวิทยา

          พยากรณ์อากาศเกษตรรายปักษ์
ระหว่าง วันที่ 1-15 พฤศจิกายน พ.ศ. 2548 ฉบับที่ 21/2548
สภาวะอากาศ
ในระยะครึ่งแรกของเดือนพฤศจิกายน มรสุมตะวันออกเฉียงเหนือหรือลมหนาวจากประเทศจีนจะพัดปกคลุม ประเทศไทยตอนบนเป็นระยะๆ ซึ่งจะทำให้มีฝนฟ้าคะนองและลมกระโชกแรงได้บางพื้นที่ และอุณหภูมิจะลดลง โดยเฉพาะ ภาคเหนือและภาคตะวันออกเฉียงเหนือจะมีอากาศหนาวเย็นกับมีหมอกในตอนเช้า บริเวณยอดดอยและยอดภูจะมีอากาศหนาว ถึงหนาวจัดกับมีหมอกหนาในบางพื้นที่ ส่วนภาคกลางและภาคตะวันออกจะมีอากาศเย็นกับมีหมอกบางในตอนเช้า สำหรับภาคใต้ ร่องความกดอากาศต่ำจะเลื่อนลงไปพาดผ่านตอนล่างของภาคประกอบกับภาคใต้ฝั่งตะวันออกซึ่งเป็นด้านรับลมมรสุมตะวันออกเฉียงเหนือ ทำให้ภาคใต้ฝั่งตะวันออกจะมีฝนตกหนักถึงหนักมากบางพื้นที่ ตั้งแต่จังหวัดชุมพรลงไป ซึ่งอาจเกิดสภาวะน้ำท่วมฉับพลัน น้ำป่าไหลหลากและน้ำล้นตลิ่งในที่ลาดเชิงเขาและที่ลุ่มได้ นอกจากนี้คลื่นลมในอ่าวไทยจะมีกำลังแรง เป็นครั้งคราว
ข้อควรระวัง
ในระยะครึ่งแรกเดือนนี้อาจมีหย่อมความกดอากาศต่ำกำลังแรงก่อตัวขึ้นในทะเลจีนใต้ตอนล่าง และอาจทวีกำลังแรงขึ้นเป็นพายุหมุนเขตร้อนและเคลื่อนตัวผ่านภาคใต้ของประเทศไทยซึ่งจะทำให้บริเวณที่มีพายุหมุนเขตร้อนเคลื่อนตัวผ่านมีฝนตกเป็นบริเวณกว้าง และอาจเกิดคลื่นพายุซัดฝั่งตามบริเวณชายฝั่งของภาคใต้ฝั่งตะวันออก ดังนั้นเกษตรกร และชาวเรือควรติดตามข่าวพยากรณ์อากาศและคำเตือนเรื่องพายุหมุนเขตร้อนจากกรมอุตุนิยมวิทยาด้วย
สภาวะอากาศที่มีผลกระทบต่อการเกษตร
ไม้ผล ในช่วงที่อากาศแห้งเกษตรกรควรระวังการระบาดของศัตรูพืชจำพวกปากดูด เช่น ไรแดงในทุเรียน ไรลิ้นจี่และลำไยพืชไร่ เนื่องจากระยะต่อไปปริมาณฝนจะลดลง เกษตรกรควรเลือกปลูกพืชที่อายุการเก็บเกี่ยวสั้นและใช้น้ำน้อย ยางพารา ในบางช่วงมีฝนตกชุกชาวสวนยางพาราในภาคใต้ฝั่งตะวันออก ควรระวังการระบาดของโรคที่เกิดจากเชื้อรา เช่นโรคใบยางร่วงลูกยางเน่าและโรคหน้ากรีดยางด้วย
คำเตือน
ในระยะครึ่งแรกของเดือนนี้บริเวณประเทศไทยตอนบนจะเป็นช่วงต้นฤดูหนาว เกษตรกรควรดูแลสุขภาพ ให้แข็งแรงรวมทั้งควรให้ความอบอุ่นแก่ตนเองและสัตว์เลี้ยงด้วย เพื่อป้องกันการเจ็บป่วย ช่วงนี้บางพื้นที่อาจมี หมอกหนาดังนั้นควรใช้รถใช้ถนนด้วยความระมัดระวัง และเนื่องจากปริมาณฝนจะลดลง เกษตรกรควรใช้น้ำ อย่างประหยัดและวางแผนการใช้น้ำในการเกษตรตลอดช่วงแล้งต่อไป
กลุ่มอุตุนิยมวิทยาเกษตร สำนักพัฒนาอุตุนิยมวิทยา กรมอุตุนิยมวิทยา โทร 02-3992322

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ