การเสนอขายตราสารด้อยสิทธิเพื่อนับเป็นเงินกองทุนของธนาคารพาณิชย์

ข่าวหุ้น-การเงิน Monday June 16, 2014 07:32 —ประกาศ ก.ล.ต.

ประกาศคณะกรรมการกำกับตลาดทุน

ที่ ทจ. 16/2557

เรื่อง การเสนอขายตราสารด้อยสิทธิเพื่อนับเป็น

เงินกองทุนของธนาคารพาณิชย์

__________________________

อาศัยอำนาจตามความในมาตรา 16/6 แห่งพระราชบัญญัติหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ พ.ศ. 2535 ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ฉบับที่ 4) พ.ศ. 2551 และมาตรา 35 และมาตรา 40(11) แห่งพระราชบัญญัติหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ พ.ศ. 2535 คณะกรรมการกำกับตลาดทุนออกข้อกำหนดไว้ดังต่อไปนี้

ข้อ 1 ประกาศนี้ให้ใช้บังคับตั้งแต่วันที่ 1 กรกฎาคม พ.ศ. 2557 เป็นต้นไป

ข้อ 2 ประกาศนี้ให้ใช้บังคับกับการเสนอขายตราสารด้อยสิทธิเพื่อนับเป็นเงินกองทุนของธนาคารพาณิชย์ต่อผู้ลงทุนในประเทศไทย

ข้อ 3 ในประกาศนี้

คำว่า “หุ้นกู้อนุพันธ์” “ผู้ลงทุนสถาบัน” “ผู้ลงทุนรายใหญ่” และ “การจัดอันดับความน่าเชื่อถือ” ให้มีความหมายเช่นเดียวกับบทนิยามของคำดังกล่าวที่กำหนดไว้ในประกาศคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ว่าด้วยการกำหนดบทนิยามในประกาศเกี่ยวกับการออกและเสนอขายตราสารหนี้ทุกประเภท

“ตราสารด้อยสิทธิเพื่อนับเป็นเงินกองทุน” หมายความว่า หุ้นกู้ที่ออกใหม่ประเภทไม่มีประกันที่มีการกำหนดให้สิทธิในการรับชำระหนี้ของผู้ถือหุ้นกู้ด้อยกว่าสิทธิของเจ้าหนี้สามัญ และมีลักษณะเป็นไปตามหลักเกณฑ์ในการนับเป็นเงินกองทุน โดยเป็นหุ้นกู้ชนิดใดชนิดหนึ่งดังต่อไปนี้

(1) มีการกำหนดเงื่อนไขให้ผู้ถือหุ้นกู้ปลดหนี้

(2) เป็นตราสารแปลงสภาพ

“ตราสารแปลงสภาพ” หมายความว่า หุ้นกู้แปลงสภาพชนิดที่มีการกำหนดเงื่อนไขบังคับแปลงสภาพเป็นหุ้นที่ออกใหม่ของผู้ออกหุ้นกู้แปลงสภาพ

“หุ้นรองรับ” หมายความว่า หุ้นออกใหม่ที่จัดไว้เพื่อรองรับการแปลงสภาพ

“เงินกองทุน” หมายความว่า เงินกองทุนสำหรับธนาคารพาณิชย์ตามประกาศธนาคารแห่งประเทศไทย

“ธนาคารพาณิชย์” หมายความว่า ธนาคารพาณิชย์ตามกฎหมายว่าด้วยธุรกิจสถาบันการเงิน แต่ไม่รวมถึงสาขาของธนาคารพาณิชย์ต่างประเทศ

“ประกาศธนาคารแห่งประเทศไทย” หมายความว่า ประกาศธนาคารแห่งประเทศไทยว่าด้วยองค์ประกอบของเงินกองทุนสำหรับธนาคารพาณิชย์ที่จดทะเบียนในประเทศ โดยอ้างอิงจากหลักเกณฑ์ BASEL III

“ข้อกำหนดสิทธิ” หมายความว่า ข้อกำหนดว่าด้วยสิทธิและหน้าที่ของผู้ออกตราสารและผู้ถือตราสาร

“สมาคมตลาดตราสารหนี้ไทย” หมายความว่า สมาคมตลาดตราสารหนี้ไทยที่ได้รับใบอนุญาตและจดทะเบียนกับสำนักงาน

หมวด 1

บททั่วไป

__________________________

ข้อ 4 เพื่อให้การเสนอขายตราสารด้อยสิทธิเพื่อนับเป็นเงินกองทุนของธนาคารพาณิชย์เป็นไปโดยเหมาะสมกับประเภทผู้ลงทุนและความเสี่ยงของตราสาร ซึ่งมีลักษณะพิเศษโดยเป็นตราสารที่ต้องสามารถรองรับผลขาดทุนของธนาคารพาณิชย์ได้ในระหว่างดำเนินการใกล้เคียงกับหุ้นสามัญ (absorb losses on a going-concern basis) หรือเมื่อธนาคารพาณิชย์มีผลการดำเนินงานที่ไม่สามารถดำเนินกิจการต่อไปได้ (gone-concern basis) จึงกำหนดให้ธนาคารพาณิชย์สามารถเสนอขายตราสารดังกล่าวได้ โดยให้ปฏิบัติตามหลักเกณฑ์ที่กำหนดในประกาศนี้

ข้อ 5 เอกสารหรือหลักฐานที่ต้องยื่นต่อสำนักงานตามที่ประกาศนี้กำหนด ไม่ว่าก่อนหรือภายหลังได้รับอนุญาต ให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์ เงื่อนไข และวิธีการที่สำนักงานประกาศกำหนด

ข้อ 6 ในกรณีที่ปรากฏข้อเท็จจริงต่อสำนักงานที่เป็นเหตุอันควรสงสัยกรณีใดกรณีหนึ่งหรือหลายกรณีดังต่อไปนี้ สำนักงานอาจไม่อนุญาตให้เสนอขายตราสารด้อยสิทธิเพื่อนับเป็นเงินกองทุนตามคำขออนุญาตได้

(1) ผู้ขออนุญาตหรือการเสนอขายตราสารมีลักษณะหรือรูปแบบเป็นไปตามหลักเกณฑ์หรือเงื่อนไขที่จะได้รับอนุญาตตามประกาศนี้ แต่มีข้อเท็จจริงซึ่งทำให้พิจารณาได้ว่าความมุ่งหมายหรือเนื้อหาสาระที่แท้จริง (substance) ของการเสนอขายตราสารนั้นเข้าลักษณะเป็นการหลีกเลี่ยงบทบัญญัติตามกฎหมายว่าด้วยหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ หรือประกาศนี้

(2) การเสนอขายตราสารอาจขัดต่อนโยบายสาธารณะหรือนโยบายของรัฐ

(3) การเสนอขายตราสารอาจก่อให้เกิดผลกระทบต่อความน่าเชื่อถือต่อตลาดทุนไทยโดยรวม

(4) การเสนอขายตราสารอาจก่อให้เกิดความเสียหายต่อผู้ลงทุนโดยรวม หรืออาจทำให้ผู้ลงทุนโดยรวมไม่ได้รับความเป็นธรรม หรือผู้ลงทุนอาจไม่ได้รับข้อมูลที่ถูกต้องหรือเพียงพอประกอบการตัดสินใจลงทุน

ข้อ 7 ในกรณีที่ปรากฏต่อสำนักงานภายหลังการอนุญาตให้เสนอขายตราสารด้อยสิทธิเพื่อนับเป็นเงินกองทุน ว่าข้อเท็จจริงและพฤติการณ์ที่สำนักงานนำมาพิจารณาเพื่ออนุญาต ให้เสนอขายตราสารดังกล่าวเปลี่ยนแปลงไป ซึ่งหากข้อเท็จจริงและพฤติการณ์ที่เปลี่ยนแปลงไปนั้นปรากฏต่อสำนักงานก่อนการอนุญาต สำนักงานอาจไม่อนุญาตให้เสนอขายตราสารนั้น ให้สำนักงานมีอำนาจดังต่อไปนี้

(1) สั่งให้ผู้ได้รับอนุญาต กรรมการ หรือผู้บริหารของผู้ได้รับอนุญาต ชี้แจงหรือเปิดเผยข้อมูลเพิ่มเติมภายในระยะเวลาที่กำหนด และระงับการอนุญาตให้ออกตราสารหรือให้ผู้ได้รับอนุญาตระงับการเสนอขายตราสารไว้ก่อนจนกว่าจะได้ชี้แจงหรือแก้ไขให้ถูกต้อง และหากผู้ได้รับอนุญาต กรรมการ หรือผู้บริหารของผู้ได้รับอนุญาต ไม่สามารถชี้แจงหรือดำเนินการแก้ไขให้ถูกต้องได้ภายในระยะเวลาที่กำหนด สำนักงานอาจสั่งเพิกถอนการอนุญาตตาม (2) ได้

(2) สั่งเพิกถอนการอนุญาตให้เสนอขายตราสารในส่วนที่ยังมิได้เสนอขายหรือยังไม่มีผู้จองซื้อ

ในการสั่งการตามวรรคหนึ่งให้สำนักงานคำนึงถึงปัจจัยดังต่อไปนี้ประกอบการพิจารณา

(1) ความร้ายแรงของข้อเท็จจริงหรือพฤติการณ์ที่เปลี่ยนแปลงไป

(2) ผลกระทบต่อผู้ลงทุนที่จองซื้อตราสารนั้น

ข้อ 8 ในกรณีที่เข้าลักษณะอย่างใดอย่างหนึ่งหรือหลายอย่างดังต่อไปนี้ สำนักงานอาจผ่อนผันไม่นำหลักเกณฑ์ตามประกาศนี้มาใช้พิจารณาคำขออนุญาต หรือไม่นำเงื่อนไขตาม ประกาศนี้มาใช้บังคับกับการเสนอขายตราสารด้อยสิทธิเพื่อนับเป็นเงินกองทุนที่ได้รับอนุญาตได้

(1) มีข้อเท็จจริงที่ชัดเจนซึ่งทำให้พิจารณาได้ว่าหลักเกณฑ์หรือเงื่อนไขที่จะผ่อนผันให้ไม่มีนัยสำคัญสำหรับการพิจารณาอนุญาตในกรณีนั้น และประโยชน์ที่จะได้ไม่คุ้มค่ากับต้นทุนในการปฏิบัติให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์หรือเงื่อนไขดังกล่าว

(2) ผู้ขออนุญาตมีข้อจำกัดตามกฎหมายอื่นที่ทำให้ไม่สามารถปฏิบัติให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์หรือเงื่อนไขที่จะผ่อนผัน

(3) ผู้ขออนุญาตมีมาตรการอื่นที่เพียงพอ และสามารถทดแทนการปฏิบัติให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์หรือเงื่อนไขที่จะผ่อนผันการผ่อนผันตามวรรคหนึ่งให้คำนึงถึงความเหมาะสมและความเพียงพอของข้อมูลประกอบการตัดสินใจลงทุนและมาตรการคุ้มครองผู้ลงทุนเป็นสำคัญ ทั้งนี้ สำนักงานอาจกำหนดเงื่อนไขให้ผู้ขออนุญาตต้องปฏิบัติด้วยก็ได้

หมวด 2

หลักเกณฑ์เกี่ยวกับการขออนุญาตและการอนุญาต

__________________________

ส่วนที่ 1

การยื่นคำขออนุญาตและการพิจารณาคำขออนุญาต

__________________________

ข้อ 9 ให้ธนาคารพาณิชย์ที่ประสงค์จะเสนอขายตราสารด้อยสิทธิเพื่อนับเป็นเงินกองทุนยื่นคำขออนุญาตต่อสำนักงาน และชำระค่าธรรมเนียมในวันยื่นคำขอดังกล่าวตามอัตราที่กำหนดไว้ในประกาศคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ว่าด้วยการกำหนดค่าธรรมเนียมเกี่ยวกับการขออนุญาตเสนอขายหลักทรัพย์ที่ออกใหม่ และการขออนุมัติโครงการแปลงสินทรัพย์เป็นหลักทรัพย์

ในกรณีที่เป็นการขออนุญาตเสนอขายตราสารด้อยสิทธิเพื่อนับเป็นเงินกองทุนที่ประสงค์จะจัดให้มีผู้แทนผู้ถือหุ้นกู้ด้วย ให้ธนาคารพาณิชย์ดำเนินการดังต่อไปนี้มาพร้อมกับการยื่นคำขออนุญาตตามวรรคหนึ่ง

(1) เสนอร่างข้อกำหนดสิทธิและร่างสัญญาแต่งตั้งผู้แทนผู้ถือหุ้นกู้

(2) เสนอรายชื่อบุคคลที่จะแต่งตั้งให้เป็นผู้แทนผู้ถือหุ้นกู้ซึ่งเป็นบุคคลที่มีรายชื่ออยู่ในบัญชีรายชื่อบุคคลที่มีคุณสมบัติเป็นผู้แทนผู้ถือหุ้นกู้ตามประกาศคณะกรรมการกำกับตลาดทุนว่าด้วยคุณสมบัติของผู้แทนผู้ถือหุ้นกู้ และการกระทำตามอำนาจหน้าที่ของผู้แทนผู้ถือหุ้นกู้

ข้อ 10 ในการพิจารณาคำขออนุญาต ให้สำนักงานมีอำนาจแจ้งเป็นหนังสือให้ธนาคารพาณิชย์มาชี้แจง หรือส่งเอกสารหลักฐานอื่นเพิ่มเติมได้ภายในระยะเวลาที่สำนักงานกำหนด ในกรณีที่ธนาคารพาณิชย์ไม่มาชี้แจง หรือไม่ส่งเอกสารหลักฐานภายในระยะเวลาที่สำนักงานกำหนด ให้ถือว่าธนาคารพาณิชย์ไม่ประสงค์จะขออนุญาตเพื่อเสนอขายตราสารด้อยสิทธิเพื่อนับเป็นเงินกองทุนนั้นอีกต่อไป

ข้อ 11 ให้สำนักงานแจ้งผลการพิจารณาคำขออนุญาตภายในเจ็ดวันทำการนับแต่วันที่สำนักงานได้รับเอกสารหลักฐานที่ถูกต้องและครบถ้วน

ในกรณีที่ธนาคารพาณิชย์ได้รับอนุญาตให้เสนอขายตราสารด้อยสิทธิเพื่อนับเป็นเงินกองทุนชนิดที่เป็นตราสารแปลงสภาพ ให้ถือว่าธนาคารพาณิชย์ได้รับอนุญาตให้เสนอขายหุ้นรองรับด้วยในกรณีที่ธนาคารพาณิชย์ได้รับอนุญาตให้เสนอขายตราสารด้อยสิทธิเพื่อนับเป็นเงินกองทุนที่จัดให้มีผู้แทนผู้ถือหุ้นกู้ ให้ถือว่าสำนักงานได้ให้ความเห็นชอบในการแต่งตั้งผู้แทนผู้ถือหุ้นกู้ในวันที่ได้รับอนุญาตดังกล่าวด้วย

ส่วนที่ 2

หลักเกณฑ์การอนุญาต

__________________________

ข้อ 12 ธนาคารพาณิชย์จะได้รับอนุญาตให้เสนอขายตราสารด้อยสิทธิเพื่อนับเป็นเงินกองทุนเมื่อเป็นไปตามหลักเกณฑ์ดังต่อไปนี้

(1) ตราสารที่จะเสนอขายดังกล่าวมีลักษณะตามข้อ 13

(2) มีคำเรียกชื่อที่บ่งชี้ลักษณะเฉพาะตามที่กำหนดในข้อ 14

(3) เป็นการเสนอขายตราสารต่อผู้ลงทุนที่มีลักษณะตามข้อ 15

(4) ผู้ถือหุ้นของธนาคารพาณิชย์มีมติโดยชัดแจ้งให้ธนาคารพาณิชย์ออกตราสารด้อยสิทธิเพื่อนับเป็นเงินกองทุนได้ โดยมติดังกล่าวเป็นไปตามกฎหมายว่าด้วยบริษัทมหาชนจำกัด เว้นแต่กรณีที่ธนาคารพาณิชย์ต้องออกตราสารด้อยสิทธิเพื่อนับเป็นเงินกองทุนตามแผนฟื้นฟูกิจการตามกฎหมายว่าด้วยล้มละลายซึ่งศาลเห็นชอบด้วยแผนนั้นแล้ว หรือกรณีอื่นใดที่ได้รับการผ่อนผันจากสำนักงาน

(5) ในกรณีที่เป็นการขออนุญาตเสนอขายตราสารด้อยสิทธิเพื่อนับเป็นเงินกองทุนชนิดที่เป็นตราสารแปลงสภาพ จะต้องดำเนินการให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์ที่กำหนดในข้อ 16

(6) ยื่นจดข้อจำกัดการโอนตราสารที่จะเสนอขายต่อสำนักงานโดยต้องมีข้อความซึ่งแสดงได้ว่าผู้ออกตราสารจะไม่รับจดทะเบียนการโอนตราสารไม่ว่าทอดใด ๆ แก่ผู้ลงทุนที่ไม่เป็นไปตามหลักเกณฑ์ในข้อ 15 แล้วแต่กรณี เว้นแต่เป็นการโอนทางมรดก

ข้อ 13 ตราสารด้อยสิทธิเพื่อนับเป็นเงินกองทุนที่ออกโดยธนาคารพาณิชย์จะต้องมีลักษณะดังต่อไปนี้

(1) มีการกำหนดอัตราดอกเบี้ยไว้อย่างแน่นอน หรือเป็นอัตราที่ผันแปรตามอัตราดอกเบี้ยของสถาบันการเงินหรืออัตราดอกเบี้ยอื่น

(2) ไม่มีลักษณะเป็นหุ้นกู้อนุพันธ์

(3) มีข้อตกลงให้ชำระค่าตราสารเป็นสกุลเงินบาท

ข้อ 14 คำเรียกชื่อที่บ่งชี้ลักษณะเฉพาะของตราสารด้อยสิทธิเพื่อนับเป็นเงินกองทุนต้องมีลักษณะดังต่อไปนี้

(1) ระบุชื่อเรียกว่า “ตราสารด้อยสิทธิเพื่อนับเป็นเงินกองทุนประเภทที่ 1” สำหรับตราสารที่เสนอขายเพื่อนับเป็นเงินกองทุนประเภทเงินกองทุนชั้นที่ 1 หรือเรียกว่า “ตราสารด้อยสิทธิเพื่อนับเป็นเงินกองทุนประเภทที่ 2” สำหรับตราสารที่เสนอขายเพื่อนับเป็นเงินกองทุนประเภทเงินกองทุนชั้นที่ 2 แล้วแต่กรณี

(2) ระบุข้อความเพิ่มเติมต่อท้ายชื่อตราสารตาม (1) เพื่อแสดงถึงคุณสมบัติและเงื่อนไขของตราสารที่เสนอขายเพื่อนับเป็นเงินกองทุนชั้นที่ 1 หรือเงินกองทุนชั้นที่ 2 แล้วแต่กรณี ทั้งนี้ หากตราสารดังกล่าวมีกำหนดเวลาไถ่ถอนให้ระบุปีที่ครบกำหนดไถ่ถอนด้วย

ข้อ 15 การเสนอขายตราสารด้อยสิทธิเพื่อนับเป็นเงินกองทุนจะเสนอขายได้เฉพาะต่อผู้ลงทุนที่มีลักษณะดังต่อไปนี้

(1) ผู้ลงทุนสถาบัน

(2) ผู้ลงทุนรายใหญ่ ทั้งนี้ เฉพาะกรณีที่ตราสารดังกล่าวมีลักษณะอย่างใดอย่างหนึ่งดังนี้

(ก) เป็นตราสารชนิดที่มีการกำหนดเงื่อนไขให้ผู้ถือตราสารปลดหนี้ให้แก่ธนาคารพาณิชย์ภายหลังการลดทุนของธนาคารพาณิชย์และเป็นตราสารเพื่อนับเป็นเงินกองทุนชั้นที่ 2 โดยการปลดหนี้ดังกล่าวต้องกำหนดไว้ไม่มากกว่าอัตราส่วนการลดทุนนั้น

(ข) เป็นตราสารแปลงสภาพ

(3) ผู้ลงทุนโดยเฉพาะเจาะจงซึ่งไม่เกินสิบรายในรอบระยะเวลาสี่เดือนใด ๆ ทั้งนี้ ไม่ว่าผู้ลงทุนในจำนวนดังกล่าวจะมีผู้ลงทุนสถาบันหรือผู้ลงทุนรายใหญ่รวมอยู่ด้วยหรือไม่ก็ตาม

ในกรณีที่ศูนย์รับฝากหลักทรัพย์ ผู้รับฝากทรัพย์สิน นายหน้าซื้อขายหลักทรัพย์ ผู้ค้าหลักทรัพย์หรือบุคคลอื่นใด มีการถือครองตราสารแทนบุคคลอื่น การนับจำนวนผู้ลงทุนตามวรรคหนึ่ง (3) ให้นับจากบุคคลที่เป็นเจ้าของที่แท้จริงของตราสารนั้น

ข้อ 16 ในกรณีที่เป็นการขออนุญาตเสนอขายตราสารด้อยสิทธิเพื่อนับเป็นเงินกองทุนชนิดที่เป็นตราสารแปลงสภาพ ธนาคารพาณิชย์จะต้องมีการดำเนินการดังต่อไปนี้

(1) จัดให้มีหนังสือนัดประชุมผู้ถือหุ้นเพื่อขออนุมัติการออกตราสารดังกล่าว และหุ้นรองรับ โดยหนังสือนัดประชุมต้องระบุข้อมูลดังนี้

(ก) ข้อมูลเบื้องต้นเกี่ยวกับตราสาร เช่น ราคาหรืออัตราที่คาดว่าจะเป็น ราคาหรืออัตราการแปลงสภาพ ระยะเวลาและวันสิ้นสุดของการดำเนินการแปลงสภาพ เป็นต้น

(ข) ผลกระทบต่อผู้ถือหุ้นของธนาคารพาณิชย์ (dilution effect) หากมีการดำเนินการตามข้อกำหนดบังคับการแปลงสภาพของตราสาร โดยอย่างน้อยให้ระบุผลกระทบต่อราคาตลาดของหุ้น (price dilution) และผลกระทบต่อส่วนแบ่งกำไรหรือผลกระทบต่อสิทธิออกเสียงของผู้ถือหุ้นเดิม (control dilution)

(ค) วิธีการจัดสรรตราสาร

(ง) ข้อมูลอื่นใดตามที่สำนักงานประกาศกำหนดโดยคำนึงถึงการคุ้มครองประโยชน์ของผู้ถือหุ้นของธนาคารพาณิชย์ที่ได้รับอนุญาต

(2) จัดให้ได้มาซึ่งมติโดยชัดแจ้งจากที่ประชุมผู้ถือหุ้นของธนาคารพาณิชย์ให้ออกหุ้นรองรับตามข้อกำหนดบังคับการแปลงสภาพ

(3) มีการกำหนดราคาและอัตราแปลงสภาพไว้อย่างชัดเจน ทั้งนี้ ในกรณีที่เป็นการเสนอขายต่อผู้ลงทุนสถาบันตามข้อ 15(1) หรือผู้ลงทุนรายใหญ่ตามข้อ 15(2) ราคาแปลงสภาพของตราสารที่ธนาคารพาณิชย์กำหนดไว้ในข้อกำหนดสิทธิต้องเป็นราคาที่จะสามารถสะท้อนถึงมูลค่าตลาดของหุ้นสามัญของธนาคารพาณิชย์ในช่วงระยะเวลาก่อนหรือขณะที่เกิดเหตุการณ์ซึ่งเป็นเงื่อนไขการบังคับแปลงสภาพ หรือเป็นราคาตามมูลค่าทางบัญชี (book value) ที่ผ่านการตรวจสอบหรือสอบทานโดยผู้สอบบัญชีในช่วงระยะเวลาดังกล่าวหากไม่สามารถใช้ราคาที่จะสามารถสะท้อนถึงมูลค่าตลาดได้

ข้อ 17 ในกรณีที่ธนาคารพาณิชย์ได้รับอนุญาตให้เสนอขายตราสารด้อยสิทธิเพื่อนับเป็นเงินกองทุนชนิดที่เป็นตราสารแปลงสภาพ หากต่อมาภายหลังการขายตราสารดังกล่าวธนาคารพาณิชย์จะต้องมีการออกหุ้นใหม่เพิ่มเติมเนื่องจากเหตุดังต่อไปนี้ ให้ถือว่าธนาคารพาณิชย์ได้รับอนุญาตจากสำนักงานให้ออกหุ้นใหม่เพิ่มเติมเพื่อรองรับการแปลงสภาพเมื่อที่ประชุมผู้ถือหุ้นของธนาคารพาณิชย์มีมติให้ออกหุ้นเพิ่มเติมเพื่อรองรับการแปลงสภาพนั้นและได้ยื่นมติดังกล่าวต่อสำนักงานแล้ว

(1) มีเหตุตามข้อตกลงที่ทำให้ธนาคารพาณิชย์ต้องเปลี่ยนแปลงข้อกำหนดบังคับการแปลงสภาพ

(2) มีการกำหนดอัตราการแปลงสภาพไว้แบบผันแปรตามราคาตลาดของหุ้นรองรับ ซึ่งเมื่อคำนวณจำนวนหุ้นตามอัตราดังกล่าวแล้วทำให้จำนวนหุ้นที่เดิมได้รับอนุญาตจากสำนักงานมีไม่เพียงพอรองรับการแปลงสภาพนั้น

หมวด 3

เงื่อนไขที่ต้องปฏิบัติภายหลังได้รับอนุญาต

__________________________

ส่วนที่ 1

เงื่อนไขทั่วไป

__________________________

ข้อ 18 แต่งตั้งบุคคลที่ได้รับความเห็นชอบจากสำนักงานตามข้อ 9 วรรคสอง (2) ประกอบกับข้อ 11 วรรคสาม เป็นผู้แทนผู้ถือหุ้นกู้

ในกรณีที่มีการเปลี่ยนแปลงผู้แทนผู้ถือหุ้นกู้ภายหลังการออกตราสารด้อยสิทธิเพื่อนับเป็นเงินกองทุน บุคคลที่จะได้รับแต่งตั้งให้เป็นผู้แทนผู้ถือหุ้นกู้รายใหม่จะต้องเป็นบุคคลที่มีรายชื่ออยู่ในบัญชีรายชื่อบุคคลที่มีคุณสมบัติเป็นผู้แทนผู้ถือหุ้นกู้ตามประกาศคณะกรรมการกำกับตลาดทุนว่าด้วยคุณสมบัติของผู้แทนผู้ถือหุ้นกู้ และการกระทำตามอำนาจหน้าที่ของ ผู้แทนผู้ถือหุ้นกู้

ให้ธนาคารพาณิชย์ส่งเอกสารหรือหลักฐานการเปลี่ยนแปลงผู้แทนผู้ถือหุ้นกู้ต่อสำนักงานตามหลักเกณฑ์ที่สำนักงานประกาศกำหนดตามข้อ 5

ข้อ 19 ธนาคารพาณิชย์ที่ได้รับอนุญาตให้เสนอขายตราสารด้อยสิทธิเพื่อนับเป็นเงินกองทุนต้องดำเนินการดังต่อไปนี้

(1) จัดให้ตราสารที่จะเสนอขายเป็นชนิดระบุชื่อผู้ถือ และต้องมีข้อความในใบตราสารที่เสนอขายซึ่งระบุว่าธนาคารพาณิชย์หรือผู้ได้รับมอบหมายจากธนาคารพาณิชย์จะไม่รับจดทะเบียนการโอนตราสารไม่ว่าในทอดใด ๆ หากการโอนนั้นจะขัดกับข้อจำกัดการโอนที่ได้จดจดทะเบียนไว้ต่อสำนักงาน

(2) จัดให้เอกสารประกอบการเสนอขายมีข้อความที่ระบุถึงข้อจำกัดการโอนตาม (1) และให้ระบุรายละเอียดการด้อยสิทธิ เงื่อนไขการปลดหนี้ หรือเงื่อนไขการบังคับแปลงสภาพ ไว้ให้ชัดเจน

(3) จัดให้มีการเปิดเผยข้อมูลเกี่ยวกับเงินกองทุนเป็นรายเดือนภายในวันที่ยี่สิบห้า ของเดือนถัดไปไว้บนเว็บไซต์ของธนาคารพาณิชย์ดังนี้

(ก) เงินกองทุนขั้นต่ำและเงินกองทุนส่วนเพิ่ม (minimum capital requirement and capital buffer) ตามอัตราที่ธนาคารแห่งประเทศไทยกำหนดดังนี้

1. อัตราส่วนเงินกองทุนชั้นที่ 1 ที่เป็นส่วนของเจ้าของ (common equity tier 1 ratio: CET1 ratio)

2. อัตราส่วนเงินกองทุนชั้นที่ 1 (tier 1 ratio)

3. อัตราส่วนเงินกองทุนทั้งสิ้น (total capital ratio)

(ข) อัตราส่วนของเงินกองทุนตาม (ก) 1. 2. และ 3. ที่ธนาคารพาณิชย์ดำรงได้ ณ สิ้นวันทำการสุดท้ายของแต่ละเดือน

(4) กรณีที่เป็นการเสนอขายต่อผู้ลงทุนโดยเฉพาะเจาะจงซึ่งไม่เกินสิบรายตามข้อ 15(3) ธนาคารพาณิชย์ต้องไม่โฆษณาการเสนอขายตราสารดังกล่าว และหากจะมีการแจกจ่ายเอกสารประกอบการเสนอขาย ธนาคารพาณิชย์ต้องแจกจ่ายให้แก่ผู้ลงทุนโดยเฉพาะเจาะจงซึ่งไม่เกินสิบรายตามที่ได้รับอนุญาตนั้น

(5) กรณีที่เป็นการเสนอขายตราสารด้อยสิทธิเพื่อนับเป็นเงินกองทุนชนิดที่เป็นตราสารแปลงสภาพ ให้ธนาคารพาณิชย์ดำเนินการดังนี้

(ก) เสนอขายตราสารให้แล้วเสร็จภายในหนึ่งปีนับแต่วันที่ที่ประชุมผู้ถือหุ้นมีมติอนุมัติให้ธนาคารพาณิชย์ออกตราสารดังกล่าวและหุ้นรองรับ

(ข) จัดให้มีข้อตกลงเกี่ยวกับค่าเสียหายหรือมาตรการเยียวยาอื่น ๆ ที่ผู้ถือตราสารจะได้รับ ในกรณีที่ธนาคารพาณิชย์ไม่สามารถจัดให้มีหุ้นรองรับได้

ข้อ 20 ในกรณีที่มีบุคคลใดแสดงความประสงค์ที่จะลงทะเบียนการโอนตราสารด้อยสิทธิเพื่อนับเป็นเงินกองทุน ให้ธนาคารพาณิชย์ตรวจสอบความถูกต้องของการโอนตราสารดังกล่าว หากพบว่าเป็นการโอนที่ขัดต่อข้อจำกัดการโอนที่ได้จดทะเบียนไว้ต่อสำนักงาน ให้ธนาคารพาณิชย์ปฏิเสธการลงทะเบียนการโอนตราสารนั้น

ในกรณีที่ธนาคารพาณิชย์มอบหมายบุคคลอื่นให้จัดทำทะเบียนตราสารด้อยสิทธิเพื่อนับเป็นเงินกองทุน ธนาคารพาณิชย์ต้องควบคุมและดูแลให้บุคคลที่ได้รับมอบหมายนั้นปฏิบัติตามหลักเกณฑ์ที่กำหนดในวรรคหนึ่งด้วย

ส่วนที่ 2

เงื่อนไขเพิ่มเติมสำหรับการเสนอขายต่อ

ผู้ลงทุนสถาบันและผู้ลงทุนรายใหญ่

__________________________

ข้อ 21 ความในหมวดนี้ให้ใช้บังคับกับการเสนอขายตราสารด้อยสิทธิเพื่อนับเป็นเงินกองทุนไม่ว่าเป็นการเสนอขายต่อผู้ลงทุนสถาบันตามข้อ 15(1) หรือผู้ลงทุนรายใหญ่ตามข้อ 15(2) เว้นแต่ข้อ 22 ข้อ 23 และข้อ 24 ให้ใช้บังคับเฉพาะกรณีที่เป็นการเสนอขายต่อผู้ลงทุนรายใหญ่ ตามข้อ 15(2)

ข้อ 22 ก่อนการเสนอขายตราสารด้อยสิทธิเพื่อนับเป็นเงินกองทุนในแต่ละครั้งต่อผู้ลงทุนรายใหญ่ตามข้อ 15(2) ธนาคารพาณิชย์ต้องจัดให้มีการจัดอันดับความน่าเชื่อถือของตราสาร (issue rating) ที่เสนอขาย โดยสถาบันจัดอันดับความน่าเชื่อถือที่ได้รับความเห็นชอบจากสำนักงาน

ความในวรรคหนึ่งมิให้ใช้บังคับกับกรณีดังต่อไปนี้

(1) สถาบันจัดอันดับความน่าเชื่อถือที่ได้รับความเห็นชอบจากสำนักงานได้มีหนังสือแจ้งต่อสำนักงานว่าไม่สามารถทำการจัดอันดับความน่าเชื่อถือตราสารนั้นได้โดยมีเหตุอันสมควร และเหตุนั้นมิได้เกิดจากผู้ออกตราสาร สำนักงานอาจผ่อนผันให้การจัดอันดับความน่าเชื่อถือนั้นกระทำโดยสถาบันจัดอันดับความน่าเชื่อถืออื่นที่สำนักงานกำหนดได้

(2) กรณีที่ได้รับการผ่อนผันจากสำนักงานโดยมีเหตุจำเป็นและสมควร หรือเป็นกรณีที่พิจารณาได้ว่าไม่จำเป็นต้องมีการจัดอันดับความน่าเชื่อถือ

ข้อ 23 เมื่อธนาคารพาณิชย์ได้ออกตราสารด้อยสิทธิเพื่อนับเป็นเงินกองทุนแล้ว ธนาคารพาณิชย์ต้องจัดให้มีการจัดอันดับความน่าเชื่อถือตามหลักเกณฑ์ในข้อ 22 อย่างต่อเนื่องจนกว่าสิทธิเรียกร้องตามตราสารจะระงับลง เว้นแต่ในกรณีที่มีเหตุจำเป็นและสมควร สำนักงานอาจผ่อนผันการจัดอันดับความน่าเชื่อถือของตราสารโดยกำหนดเงื่อนเวลาหรือเงื่อนไขไว้ด้วยก็ได้ ทั้งนี้ โดยคำนึงถึงความจำเป็นของผู้ลงทุนในการมีข้อมูลการจัดอันดับความน่าเชื่อถือนั้น

ข้อ 24 ในการเสนอขายตราสารด้อยสิทธิเพื่อนับเป็นเงินกองทุนต่อผู้ลงทุนรายใหญ่ตามข้อ 15(2) ธนาคารพาณิชย์ต้องจัดให้การชักชวนให้มีการลงทุนหรือการให้คำแนะนำเพื่อการซื้อหรือขายตราสาร กระทำโดยบริษัทหลักทรัพย์ที่สามารถดำเนินการเช่นนั้นได้ เว้นแต่ธนาคารพาณิชย์เป็นบริษัทหลักทรัพย์ที่สามารถดำเนินการดังกล่าวได้อยู่แล้ว โดยให้ธนาคารพาณิชย์ปฏิบัติตามหลักเกณฑ์ที่กำหนดไว้สำหรับการชักชวนให้มีการลงทุน หรือการให้คำแนะนำเพื่อการซื้อหรือขายตราสารด้วย

ข้อ 25 ธนาคารพาณิชย์ต้องจัดให้มีการแจกสรุปข้อมูลสำคัญของตราสาร (fact sheet) ให้แก่ผู้ลงทุนก่อนการเสนอขายตราสาร

ข้อ 26 ให้ธนาคารพาณิชย์ยื่นคำขอให้สมาคมตลาดตราสารหนี้ไทยพิจารณารับตราสารด้อยสิทธิเพื่อนับเป็นเงินกองทุนเป็นตราสารหนี้ที่ขึ้นทะเบียนกับสมาคมตลาดตราสารหนี้ไทยภายในสามสิบวันนับแต่วันออกตราสารดังกล่าว

ข้อ 27 ธนาคารพาณิชย์ต้องจัดให้มีข้อกำหนดสิทธิที่มีรายการอย่างน้อยตามที่กำหนดไว้ในมาตรา 42(1) ถึง (9)

การแก้ไขเพิ่มเติมข้อกำหนดสิทธิจะกระทำได้ต่อเมื่อการแก้ไขเพิ่มเติมดังกล่าวมิได้ขัดหรือแย้งกับข้อกำหนดในประกาศนี้ และการแก้ไขเพิ่มเติมดังกล่าวได้ดำเนินการโดยชอบตามข้อกำหนดสิทธิ ทั้งนี้ ให้ธนาคารพาณิชย์แจ้งการแก้ไขเพิ่มเติมนั้น พร้อมทั้งส่งสำเนาเอกสารที่เกี่ยวข้องต่อสำนักงานและสมาคมตลาดตราสารหนี้ไทยภายในสิบห้าวันนับแต่วันที่การแก้ไขเพิ่มเติมนั้นมีผลใช้บังคับ

ข้อ 28 ให้ธนาคารพาณิชย์มีหนังสือแจ้งให้ผู้ถือตราสารทราบโดยไม่ชักช้าเมื่อปรากฏข้อเท็จจริงที่เป็นไปตามเงื่อนไขในการปลดหนี้ตามตราสารให้แก่ธนาคารพาณิชย์ หรือเมื่อมีกรณีต้องบังคับแปลงสภาพตราสารเป็นหุ้นสามัญของธนาคารพาณิชย์ โดยต้องระบุรายละเอียดในการดำเนินการในเรื่องดังกล่าวไว้ให้ชัดเจนในหนังสือที่แจ้ง

ประกาศ ณ วันที่ 16 มิถุนายน พ.ศ. 2557

(นายวรพล โสคติยานุรักษ์)

เลขาธิการ

สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์

ประธานกรรมการ

คณะกรรมการกำกับตลาดทุน


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ