หลักเกณฑ์ในรายละเอียดเกี่ยวกับการโฆษณาและการส่งเสริมการขายสำหรับผู้ประกอบธุรกิจหลักทรัพย์และผู้ประกอบธุรกิจสัญญาซื้อขายล่วงหน้า

ข่าวหุ้น-การเงิน Wednesday April 1, 2015 11:43 —ประกาศ ก.ล.ต.

ประกาศสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์

ที่ สธ. 10/2558

เรื่อง หลักเกณฑ์ในรายละเอียดเกี่ยวกับการโฆษณาและ

การส่งเสริมการขายสำหรับผู้ประกอบธุรกิจหลักทรัพย์

และผู้ประกอบธุรกิจสัญญาซื้อขายล่วงหน้า

-----------------------------------

อาศัยอำนาจตามความในข้อ 5(1) และข้อ 9 วรรคหนึ่ง ประกอบกับข้อ 12(3) ข้อ 46 ข้อ 47 และข้อ 48 แห่งประกาศคณะกรรมการกำกับตลาดทุน ที่ ทธ. 35/2556 เรื่อง มาตรฐานการประกอบธุรกิจ โครงสร้างการบริหารงาน ระบบงาน และการให้บริการของผู้ประกอบธุรกิจหลักทรัพย์และผู้ประกอบธุรกิจสัญญาซื้อขายล่วงหน้า ลงวันที่ 6 กันยายน พ.ศ. 2556 สำนักงานออกข้อกำหนดไว้ดังต่อไปนี้

ข้อ 1 ประกาศนี้ให้ใช้บังคับตั้งแต่วันที่ 1 พฤษภาคม พ.ศ 2558 เป็นต้นไป

หมวด 1

ข้อกำหนดทั่วไป

ข้อ 2 ในประกาศนี้

“ประกาศมาตรฐานการประกอบธุรกิจ” หมายความว่า ประกาศคณะกรรมการกำกับตลาดทุน ที่ ทธ. 35/2556 เรื่อง มาตรฐานการประกอบธุรกิจ โครงสร้างการบริหารงาน ระบบงาน และการให้บริการของผู้ประกอบธุรกิจหลักทรัพย์และผู้ประกอบธุรกิจสัญญาซื้อขายล่วงหน้า ลงวันที่ 6 กันยายน พ.ศ. 2556

“ผู้ลงทุน” หมายความว่า ลูกค้าของผู้ประกอบธุรกิจ และให้หมายความรวมถึงผู้ที่สนใจจะใช้บริการหรือลงทุนในผลิตภัณฑ์ในตลาดทุนด้วย

“บริษัทจัดการ” หมายความว่า บริษัทหลักทรัพย์ที่ได้รับใบอนุญาตประกอบธุรกิจหลักทรัพย์ประเภทการจัดการกองทุนรวม

“กองทุน” หมายความว่า กองทุนรวม หรือกองทุนส่วนบุคคล

“กองทุนรวมมีประกัน” หมายความว่า กองทุนรวมมีประกันตามประกาศสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ว่าด้วยการจัดตั้งกองทุนรวมและการเข้าทำสัญญารับจัดการกองทุนส่วนบุคคล

“กองทุนรวมอสังหาริมทรัพย์ที่ระบุเฉพาะเจาะจง” หมายความว่า กองทุนรวมที่ระบุอสังหาริมทรัพย์ที่จะลงทุนไว้อย่างชัดเจนตามประกาศสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ว่าด้วยหลักเกณฑ์ เงื่อนไข และวิธีการจัดตั้งและจัดการกองทุนรวมอสังหาริมทรัพย์

“กองทุนรวมโครงสร้างพื้นฐาน” หมายความว่า กองทุนรวมโครงสร้างพื้นฐานตามประกาศคณะกรรมการกำกับตลาดทุนว่าด้วยหลักเกณฑ์ เงื่อนไข และวิธีการจัดตั้งและจัดการกองทุนรวมโครงสร้างพื้นฐาน

“กิจการโครงสร้างพื้นฐาน” หมายความว่า กิจการโครงสร้างพื้นฐานตามประกาศคณะกรรมการกำกับตลาดทุนว่าด้วยหลักเกณฑ์ เงื่อนไข และวิธีการจัดตั้งและจัดการกองทุนรวมโครงสร้างพื้นฐาน

“ผลิตภัณฑ์ในตลาดทุนที่มีความเสี่ยงสูงหรือมีความซับซ้อน” หมายความว่า ผลิตภัณฑ์ในตลาดทุนที่มีความเสี่ยงสูงหรือมีความซับซ้อน ตามประกาศสำนักงานคณะกรรมการ กำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ว่าด้วยหลักเกณฑ์ในรายละเอียดเกี่ยวกับการติดต่อและให้บริการลูกค้าสำหรับผู้ประกอบธุรกิจหลักทรัพย์และผู้ประกอบธุรกิจสัญญาซื้อขายล่วงหน้า

ข้อ 3 ข้อกำหนดในรายละเอียดตามประกาศนี้ กำหนดขึ้นเพื่อให้ผู้ประกอบธุรกิจปฏิบัติตามประกาศมาตรฐานการประกอบธุรกิจ ในส่วนที่เกี่ยวกับการโฆษณาและการส่งเสริมการขายในเรื่องดังต่อไปนี้ ให้เป็นไปในแนวทางเดียวกัน

(1) การโฆษณาผลิตภัณฑ์ในตลาดทุน ให้เป็นไปตามหมวด 2

(2) ข้อกำหนดเฉพาะสำหรับการโฆษณากองทุน ให้เป็นไปตามหมวด 3

(3) ข้อกำหนดเฉพาะสำหรับการโฆษณาผลิตภัณฑ์ในตลาดทุนที่มีความเสี่ยงสูงหรือมีความซับซ้อน ให้เป็นไปตามหมวด 4

(4) การส่งเสริมการขายผลิตภัณฑ์ในตลาดทุน ให้เป็นไปตามหมวด 5

ข้อ 4 ในกรณีที่มีเหตุจำเป็นและสมควร สำนักงานอาจพิจารณาผ่อนผันให้ผู้ประกอบธุรกิจไม่ต้องปฏิบัติตามข้อกำหนดในรายละเอียดเกี่ยวกับการโฆษณาและการส่งเสริม การขายในเรื่องใดเรื่องหนึ่งตามประกาศนี้เป็นการเฉพาะรายหรือเป็นการชั่วคราว โดยในการผ่อนผัน สำนักงานอาจกำหนดเงื่อนไขให้ผู้ประกอบธุรกิจต้องปฏิบัติด้วยก็ได้

หมวด 2

การโฆษณาผลิตภัณฑ์ในตลาดทุน

ข้อ 5 เพื่อให้การโฆษณาผลิตภัณฑ์ในตลาดทุนเป็นไปตามข้อ 46 แห่งประกาศมาตรฐานการประกอบธุรกิจ ผู้ประกอบธุรกิจต้องนำเสนอข้อมูลประกอบการโฆษณาผลิตภัณฑ์ ในตลาดทุนให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์ที่กำหนดในหมวดนี้ เพื่อประโยชน์ในการกำหนดหลักเกณฑ์ในหมวดนี้ ให้คำว่า “ผลิตภัณฑ์ในตลาดทุน” หมายความว่า หลักทรัพย์และสัญญาซื้อขายล่วงหน้า และให้หมายความรวมถึง กองทุนและโครงการจัดการลงทุน (collective investment scheme) ที่จัดตั้งขึ้นตามกฎหมายต่างประเทศด้วย

ส่วนที่ 1

มาตรฐานการโฆษณาที่เหมาะสม

ข้อ 6 ให้ผู้ประกอบธุรกิจจัดให้มีระบบงานและกระบวนการภายในเพื่อให้มั่นใจว่าการโฆษณาผลิตภัณฑ์ในตลาดทุนแต่ละครั้งมีความสอดคล้องกับข้อกำหนดเกี่ยวกับการโฆษณาตามประกาศมาตรฐานการประกอบธุรกิจ และประกาศฉบับนี้ ตลอดจนแนวทาง คำสั่ง และหนังสือเวียนที่ออกหรือวางแนวปฏิบัติตามประกาศดังกล่าว

ข้อ 7 ให้ผู้ประกอบธุรกิจนำเสนอข้อมูลประกอบการโฆษณาผลิตภัณฑ์ในตลาดทุนไม่ว่าโดยทางข้อความ ภาพ เสียง เครื่องหมาย หรือสัญลักษณ์ใด ๆ และไม่ว่าจะกระทำผ่านสื่อหรือเครื่องมือใด ๆ ตามหลักเกณฑ์ดังต่อไปนี้

(1) การโฆษณามีการนำเสนอข้อมูลที่เป็นประโยชน์ต่อการตัดสินใจลงทุนอย่างครบถ้วน โดยอย่างน้อยต้องแสดงข้อมูลดังนี้

(ก) มีการแสดงข้อมูลเกี่ยวกับลักษณะของผลิตภัณฑ์ในตลาดทุน

(ข) หากมีการแสดงข้อมูลด้านบวกหรือโอกาสที่จะได้รับผลตอบแทนต้องมีการแสดงข้อมูลด้านลบหรือความเสี่ยงจากการลงทุนในผลิตภัณฑ์ในตลาดทุนควบคู่กัน

(ค) มีการตรวจสอบความถูกต้องของถ้อยคำ เพื่อมิให้มีถ้อยคำที่ไม่ถูกต้องหรือที่มีความหมายคลุมเครือในโฆษณา

(2) การนำเสนอข้อมูลประกอบการโฆษณา ต้องไม่มีลักษณะดังนี้

(ก) ทำให้เข้าใจว่าผลิตภัณฑ์ในตลาดทุนมีความเสี่ยงต่ำกว่าความเป็นจริง หรือไม่มีความเสี่ยงจากการลงทุนในผลิตภัณฑ์ในตลาดทุน

(ข) แสดงผลตอบแทนจากการลงทุนในผลิตภัณฑ์ในตลาดทุนสูงเกินจริง

(ค) ทำให้สำคัญผิดเกี่ยวกับผลิตภัณฑ์ในตลาดทุน เช่น ประเภท ผลตอบแทน หรือความเสี่ยง เป็นต้น

(ง) ใช้คำศัพท์เทคนิคหรือคำศัพท์เฉพาะ เว้นแต่คำศัพท์ดังกล่าวเป็นคำศัพท์ที่ผู้ลงทุนทั่วไปมีความคุ้นเคยแล้ว

(จ) ใช้ภาษาที่ยากต่อการเข้าใจ หรือใช้ประโยคที่ซับซ้อน หรือใช้ข้อความที่ทำให้สามารถแปลความหมายได้หลายทาง

(ฉ) ใช้รูปแบบการนำเสนอที่ยากต่อการเข้าใจ หรือทำให้เข้าใจเกินความเป็นจริง

(ช) ใช้ภาพ เครื่องหมาย หรือสัญลักษณ์ประกอบการโฆษณาขัดแย้งกับข้อความที่ปรากฏในโฆษณา

(ซ) ใช้ภาพ เครื่องหมาย หรือสัญลักษณ์ขนาดใหญ่จนลดความสำคัญของข้อความหรือคำเตือนในโฆษณาลง

(3) ในกรณีที่การโฆษณามีการนำเสนอข้อมูลที่มิใช่ข้อมูลพื้นฐานสำหรับใช้ในการตัดสินใจลงทุน ต้องมีคำอธิบายประกอบข้อมูลดังกล่าวอย่างชัดเจน

ข้อ 8 การโฆษณาข้อมูลเกี่ยวกับตัวเลขที่แสดงถึงผลการดำเนินงานในอดีตหรือผลการเปรียบเทียบผลการดำเนินงานที่เกี่ยวข้องกับผลิตภัณฑ์ในตลาดทุน ให้ผู้ประกอบธุรกิจ จัดให้การโฆษณาข้อมูลดังกล่าวเป็นไปตามหลักเกณฑ์ดังต่อไปนี้

(1) ให้จัดทำในรูปแบบที่ผู้ลงทุนสามารถมองเห็นได้และมีระยะเวลาอย่างเพียงพอในการศึกษาและทำความเข้าใจข้อมูลดังกล่าวก่อนทำการลงทุนได้ ทั้งนี้ ไม่ว่าจะกระทำผ่านสื่อหรือเครื่องมือใด ๆ

(2) ไม่มีลักษณะที่โดดเด่นเกินกว่าข้อมูลส่วนอื่นในโฆษณานั้น

(3) ได้จัดทำขึ้นตามหลักวิชาการอันเป็นที่ยอมรับหรือเป็นไปตามมาตรฐานสากล และมีการระบุแหล่งที่มาอย่างชัดเจน ทั้งนี้ ในกรณีที่เป็นการโฆษณาข้อมูลผลตอบแทนหรือ ผลการดำเนินงานในอดีตของกองทุนต้องเป็นข้อมูลที่ตรงกับข้อมูลที่ผู้ประกอบธุรกิจหลักทรัพย์ประเภทการจัดการกองทุนรวมหรือกองทุนส่วนบุคคล แล้วแต่กรณี ได้จัดทำขึ้นเพื่อวัดผล การดำเนินงานของกองทุนดังกล่าว และมีการระบุแหล่งที่มาอย่างชัดเจน

(4) ต้องจัดให้มีคำเตือนที่ระบุว่า “ผลการดำเนินงานในอดีต/ ผลการเปรียบเทียบผลการดำเนินงานที่เกี่ยวข้องกับผลิตภัณฑ์ในตลาดทุน มิได้เป็นสิ่งยืนยันถึงผลการดำเนินงานในอนาคต”

(5) ในกรณีที่มีการเปรียบเทียบผลการดำเนินงานที่เกี่ยวข้องกับผลิตภัณฑ์ในตลาดทุน กับการลงทุนโดยวิธีการอื่น การลงทุนที่สามารถนำมาเปรียบเทียบนั้นจะต้องมีความคล้ายคลึงกันโดยพิจารณาจากวัตถุประสงค์การลงทุน นโยบายการลงทุน และลักษณะความเสี่ยงในการลงทุน รวมทั้งต้องระบุข้อมูลอันเป็นสาระสำคัญที่สามารถทำให้ผู้ลงทุนเข้าใจถึงความแตกต่างในลักษณะการลงทุนแต่ละประเภทอย่างชัดเจน

ข้อ 9 การโฆษณาข้อมูลเกี่ยวกับอันดับหรือรางวัลที่เกี่ยวข้องกับผลิตภัณฑ์ในตลาดทุน ให้ผู้ประกอบธุรกิจจัดให้การโฆษณาข้อมูลดังกล่าวเป็นไปตามหลักเกณฑ์ดังต่อไปนี้

(1) การโฆษณาอันดับหรือรางวัลที่เกี่ยวกับผลการดำเนินงานของผลิตภัณฑ์ในตลาดทุนในอดีต จะกระทำได้ต่อเมื่อเป็นไปตามหลักเกณฑ์ดังนี้

(ก) อันดับหรือรางวัล ต้องเป็นข้อมูลที่มาจากการจัดอันดับหรือผู้ให้รางวัลที่น่าเชื่อถือ ซึ่งได้จัดอันดับหรือให้รางวัลโดยใช้วิธีการตามหลักวิชาการอันเป็นที่ยอมรับหรือเป็นไปตามมาตรฐานสากล และมีการระบุแหล่งที่มาอย่างชัดเจน

(ข) มีการแสดงข้อมูลอย่างน้อยดังต่อไปนี้ไว้ในหน้าเดียวกัน

1. อันดับ ชื่อรางวัล หรือประเภทรางวัลที่ได้รับ

2. เวลาหรือช่วงเวลาที่ได้รับรางวัล

3. ชื่อสถาบันที่เป็นผู้ให้รางวัลหรือเป็นผู้จัดอันดับรางวัล

4. คำเตือนตามข้อ 8(4)

(2) การโฆษณาเกี่ยวกับอันดับหรือรางวัลอื่นใดนอกเหนือจาก (1) ให้แสดงข้อมูลเฉพาะตาม (1) (ข) 1. 2. และ 3.

ข้อ 10 การโฆษณาข้อมูลเกี่ยวกับตัวเลขที่แสดงถึงประมาณการผลตอบแทนในอนาคตที่เกี่ยวข้องกับผลิตภัณฑ์ในตลาดทุน ให้ผู้ประกอบธุรกิจจัดให้การโฆษณาข้อมูลดังกล่าวเป็นไปตามหลักเกณฑ์ดังต่อไปนี้

(1) ให้จัดทำในรูปแบบที่ผู้ลงทุนสามารถมองเห็นได้และมีระยะเวลาอย่างเพียงพอในการศึกษาและทำความเข้าใจข้อมูลดังกล่าวก่อนทำการลงทุนได้ ทั้งนี้ ไม่ว่าจะกระทำผ่านสื่อหรือเครื่องมือใด ๆ

(2) ตัวเลขประมาณการผลตอบแทนในอนาคต ต้องไม่มีลักษณะที่โดดเด่นเกินกว่าข้อมูลอื่นในการโฆษณานั้น

ส่วนที่ 2

คำเตือนประกอบการโฆษณา

ข้อ 11 เพื่อให้การโฆษณามีการนำเสนอคำเตือนประกอบการโฆษณาเป็นไปตามข้อ 47 แห่งประกาศมาตรฐานการประกอบธุรกิจ ให้ผู้ประกอบธุรกิจจัดให้การนำเสนอคำเตือนเป็นไปตามหลักเกณฑ์ที่กำหนดในส่วนนี้

ข้อ 12 ในการโฆษณาผลิตภัณฑ์ในตลาดทุนทุกประเภท ผู้ประกอบธุรกิจต้องจัดให้มีข้อความที่เป็นคำเตือนว่า “ทำความเข้าใจลักษณะสินค้า เงื่อนไขผลตอบแทนและความเสี่ยง ก่อนตัดสินใจลงทุน”

ข้อ 13 ในกรณีที่เป็นการโฆษณาที่มีการระบุว่าแบบแสดงรายการข้อมูลการเสนอขายหลักทรัพย์และร่างหนังสือชี้ชวนมีผลใช้บังคับแล้ว ให้ผู้ประกอบธุรกิจจัดให้มีข้อความที่เป็นคำเตือนว่า “การมีผลใช้บังคับของแบบแสดงรายการข้อมูลการเสนอขายหลักทรัพย์และร่างหนังสือชี้ชวนเมื่อวันที่................มิได้เป็นการแสดงว่าคณะกรรมการ ก.ล.ต. คณะกรรมการกำกับตลาดทุน และสำนักงาน ก.ล.ต. ได้รับรองถึงความถูกต้องของข้อมูลในแบบแสดงรายการข้อมูลการเสนอขายหลักทรัพย์และร่างหนังสือชี้ชวนดังกล่าว และมิได้ประกันราคาหรือผลตอบแทนของหลักทรัพย์ที่เสนอขายนั้น” ในกรณีที่เป็นการโฆษณาที่มีการระบุว่ากองทุนรวมได้รับอนุมัติจากสำนักงานแล้ว ต้องจัดให้มีข้อความที่เป็นคำเตือนว่า “การที่สำนักงาน ก.ล.ต. ได้อนุมัติให้จัดตั้งและจัดการกองทุนรวม ….....…...............……. เมื่อวันที่ ………..………......…… มิได้เป็นการแสดงว่าคณะกรรมการ ก.ล.ต. คณะกรรมการกำกับตลาดทุน หรือสำนักงาน ก.ล.ต. ได้รับรองถึงความครบถ้วนและถูกต้องของข้อมูลในการเสนอขาย และมิได้ประกันราคาหรือผลตอบแทนของกองทุนรวม”

ข้อ 14 การสื่อสารคำเตือนประกอบการโฆษณาผ่านสื่อหรือเครื่องมือใด ๆ ให้ผู้ประกอบธุรกิจปฏิบัติตามหลักเกณฑ์ดังต่อไปนี้

(1) รูปแบบการนำเสนอคำเตือนต้องมีความคมชัดและสังเกตได้ง่าย โดยให้พิจารณาเลือกใช้โทนสีที่มีความแตกต่างจากสีพื้นโฆษณาหรือใช้ตัวอักษรหนาขึ้น และมีขนาดของตัวอักษรไม่เล็กกว่าขนาดตัวอักษรส่วนใหญ่ในโฆษณา

(2) การอ่านออกเสียงคำเตือนต้องอยู่ในวิสัยที่ผู้ฟังสามารถจับใจความของถ้อยคำได้อย่างชัดเจน โดยเฉพาะอย่างยิ่งต้องจัดให้มีการอ่านออกเสียงด้วยความเร็วปกติ

ข้อ 15 ให้นำความในข้อ 14 มาใช้บังคับกับการนำเสนอข้อมูลเกี่ยวกับความเสี่ยงในการลงทุนของผลิตภัณฑ์ในตลาดทุนที่ปรากฏในการโฆษณาด้วย โดยอนุโลม

หมวด 3

ข้อกำหนดเฉพาะสำหรับการโฆษณากองทุนรวม

ข้อ 16 การโฆษณากองทุนรวม ต้องมีข้อความหรือคำเตือนอย่างน้อยดังต่อไปนี้

(1) ข้อความที่ระบุช่องทางในการขอรับข้อมูลเพิ่มเติมหรือหนังสือชี้ชวน

(2) การโฆษณาเกี่ยวกับกองทุนรวมที่ให้สิทธิประโยชน์ทางภาษีแก่ผู้ลงทุน ต้องจัดให้มีข้อความที่เป็นคำเตือนที่แสดงว่า ผู้ลงทุนควรศึกษาคู่มือภาษีของกองทุนรวมดังกล่าวด้วย

ข้อ 17 การโฆษณาการส่งเสริมการขายกองทุนรวม ต้องมีข้อมูลสำคัญของกองทุนรวม อย่างน้อยดังต่อไปนี้

(1) ชื่อกองทุนรวม

(2) ประเภทของกองทุนรวม

(3) นโยบายการลงทุน

(4) ความเสี่ยงที่สำคัญของกองทุนรวม

(5) ผลการดำเนินงานของกองทุนรวม (ถ้ามี)

ในกรณีที่การโฆษณาการส่งเสริมการขายกลุ่มกองทุนรวมที่ไม่ใช่เพื่อกองทุนรวมใดกองทุนรวมหนึ่งเป็นการเฉพาะ หากผู้ประกอบธุรกิจไม่สามารถแสดงข้อมูลตามวรรคหนึ่งของทุกกองทุนรวมได้อย่างครบถ้วน ให้ผู้ประกอบธุรกิจระบุถึงข้อมูลของกองทุนรวมแต่ละกองโดยสังเขป และมีคำเตือนให้ผู้ลงทุนศึกษาข้อมูลของกองทุนรวมโดยเฉพาะอย่างยิ่งนโยบายการลงทุน ความเสี่ยง และผลการดำเนินงานของกองทุนรวมที่เปิดเผยไว้ในแหล่งต่าง ๆ หรือให้ขอข้อมูลจากบุคคลที่ขายหน่วยลงทุนก่อนการตัดสินใจลงทุน ทั้งนี้ คำเตือนดังกล่าวต้องชัดเจนและเด่นชัดเพื่อให้ผู้ลงทุนเห็นได้ง่ายด้วย

ข้อ 18 การโฆษณาข้อมูลเกี่ยวกับตัวเลขที่แสดงถึงประมาณการผลตอบแทนในอนาคตของกองทุนรวมจะกระทำได้เมื่อเป็นกองทุนรวมประเภทใดประเภทหนึ่งดังต่อไปนี้

(1) กองทุนรวมมีประกัน

(2) กองทุนรวมที่กำหนดไว้อย่างชัดเจนว่าจะถือทรัพย์สินที่ลงทุนตลอดอายุโครงการจัดการกองทุนรวมหรือตลอดรอบการลงทุนในแต่ละรอบ ที่มีลักษณะดังนี้

(ก) ทรัพย์สินที่กองทุนรวมลงทุนมีการกำหนดระยะเวลาและอัตราผลตอบแทนที่จะได้รับไว้อย่างชัดเจน

(ข) ในกรณีที่ทรัพย์สินที่กองทุนรวมลงทุนครบกำหนดระยะเวลาการลงทุนก่อนครบอายุโครงการจัดการกองทุนรวม และบริษัทจัดการจะนำเงินที่ได้รับมานั้นไปลงทุนต่อจนครบอายุโครงการในทรัพย์สินที่ไม่มีความเสี่ยงด้านความผันผวนทางราคา (market risk) และความเสี่ยงด้านสภาพคล่อง (liquidity risk)

(3) กองทุนรวมอสังหาริมทรัพย์ที่ระบุเฉพาะเจาะจง

(4) กองทุนรวมโครงสร้างพื้นฐาน

ข้อ 19 การโฆษณาข้อมูลเกี่ยวกับตัวเลขที่แสดงถึงประมาณการผลตอบแทนในอนาคตของกองทุนรวมตามข้อ 18(2) (3) หรือ (4) ให้ผู้ประกอบธุรกิจจัดให้การโฆษณาข้อมูลดังกล่าวเป็นไปตามหลักเกณฑ์ดังต่อไปนี้

(1) ให้จัดทำในรูปแบบที่ผู้ลงทุนสามารถมองเห็นได้และมีระยะเวลาอย่างเพียงพอในการศึกษาและทำความเข้าใจข้อมูลดังกล่าวก่อนทำการลงทุนได้ ทั้งนี้ ไม่ว่าจะกระทำผ่านสื่อหรือเครื่องมือใด ๆ

(2) ตัวเลขประมาณการผลตอบแทนในอนาคต ต้องไม่มีลักษณะที่โดดเด่นเกินกว่าข้อมูลอื่นในการโฆษณานั้น

(3) ข้อมูลเกี่ยวกับตัวเลขที่แสดงถึงประมาณการผลตอบแทนในอนาคตของกองทุนรวมต้องถูกจัดทำโดยบริษัทจัดการซึ่งรับจัดการกองทุนนั้น ทั้งนี้ ในกรณีที่ผู้ประกอบธุรกิจนำข้อมูลดังกล่าวไปเผยแพร่ต่อ ต้องไม่ทำการเปลี่ยนแปลงข้อมูลนั้นเป็นประการอื่นด้วย

(4) การเปิดเผยข้อมูลที่เกี่ยวข้องกับการลงทุนของกองทุนรวมตามข้อ 18(2) มีการแสดงข้อมูลอย่างน้อยดังนี้ โดยข้อมูลดังกล่าวต้องเป็นข้อมูลอย่างเดียวกับข้อมูลที่ปรากฏในโครงการจัดการกองทุนรวมและหนังสือชี้ชวน

(ก) ประเภททรัพย์สินที่จะลงทุน

(ข) อัตราผลตอบแทนของทรัพย์สินที่จะลงทุนแต่ละชนิด

(ค) สัดส่วนการลงทุน

(ง) ระยะเวลาการลงทุน

(จ) อายุของกองทุนรวม

(ฉ) ค่าธรรมเนียมและค่าใช้จ่ายของกองทุนรวม

(5) ในกรณีที่เป็นการโฆษณากองทุนรวมตามข้อ 18(3) หรือ (4) ต้องมีการแสดงและเปิดเผยข้อมูลดังนี้ไว้ในโครงการจัดการกองทุนรวมและหนังสือชี้ชวนแล้ว

ก) ประมาณการรายได้และค่าใช้จ่ายของกองทุนรวมซึ่งมีการระบุข้อมูลในลักษณะดังนี้

1. มีการระบุสมมติฐานที่สำคัญที่ใช้อ้างอิงอย่างชัดเจนและเข้าใจง่าย รวมทั้งระบุรายละเอียดเกี่ยวกับการคาดการณ์ในอนาคตและความเสี่ยงที่อาจทำให้ผลตอบแทนหรือผลการดำเนินการของกองทุนรวมไม่เป็นไปตามที่ประมาณการไว้ และ

2. มีการระบุประมาณการรายได้จากอสังหาริมทรัพย์หรือทรัพย์สินของกิจการโครงสร้างพื้นฐาน ที่ได้รับการรับรองจากผู้ประเมินค่าทรัพย์สินซึ่งได้รับความเห็นชอบจากสำนักงาน ซึ่งจัดทำรายงานการประเมินค่าทรัพย์สินที่กองทุนใช้อ้างอิงในการลงทุนในทรัพย์สินดังกล่าว

(ข) ข้อมูลเกี่ยวกับการวิเคราะห์ความไวต่อการเปลี่ยนแปลง (sensitivity analysis) โดยผ่านการตรวจสอบจากผู้สอบบัญชีหรือที่ปรึกษาทางการเงินที่ได้รับความเห็นชอบจากสำนักงานหรือบุคคลอื่นใดตามที่สำนักงานให้ความเห็นชอบ และข้อมูลเกี่ยวกับการวิเคราะห์ดังกล่าวมีการเปิดเผยสมมติฐานที่ใช้อ้างอิงอย่างชัดเจนและเข้าใจง่าย

(6) ในกรณีที่เป็นการนำเสนอตัวเลขประมาณการผลตอบแทนของกองทุนรวมตามข้อ 18(3) หรือ (4) ต้องเป็นไปตามหลักเกณฑ์ดังนี้

(ก) แสดงในรูปอัตราเงินปันผล โดยข้อมูลที่ใช้ในการจัดทำอัตราเงินปันผลดังกล่าว ต้องมาจากประมาณการงบการเงินที่ผ่านการพิจารณาจากผู้สอบบัญชีที่ได้รับความเห็นชอบจากสำนักงานว่าสอดคล้องกับนโยบายการบัญชีและมาตรฐานการบัญชีที่กองทุนรวมต้องปฏิบัติ

(ข) ข้อมูลที่ใช้ในการประมาณการต้องเป็นข้อมูลที่คาดว่าจะเกิดขึ้นในระหว่างรอบปีบัญชีที่มีการโฆษณาประมาณการดังกล่าว โดยอาจใช้ข้อมูลที่คาดว่าจะเกิดขึ้นในรอบระยะเวลาบัญชีถัดไปด้วยก็ได้ แต่ต้องไม่เกินหนึ่งรอบปีบัญชี

(ค) ในกรณีที่กองทุนรวมมีนโยบายการลงทุนในสิทธิการเช่า สิทธิสัมปทาน สิทธิในการรับประโยชน์จากรายได้ในอนาคต หรือสิทธิตามสัญญาแบ่งรายได้ในอนาคตของกิจการโครงสร้างพื้นฐาน หรือสิทธิอื่นใดในทำนองเดียวกัน ต้องแสดงให้เห็นอย่างชัดเจนด้วยว่าตัวเลขประมาณการไม่รวมส่วนที่เป็นเงินคืนทุน

(7) ต้องมีข้อความดังนี้ อธิบายประกอบตัวเลขประมาณการผลตอบแทนในอนาคต

(ก) กรณีที่เป็นกองทุนรวมตามข้อ 18(2) ให้มีข้อความประกอบว่า “หากไม่สามารถลงทุนให้เป็นไปตามที่กำหนดไว้เนื่องจากสภาวะตลาดมีการเปลี่ยนแปลงไป ผู้ลงทุนอาจไม่ได้รับผลตอบแทนตามอัตราที่โฆษณาไว้”

(ข) กรณีที่เป็นกองทุนรวมตามข้อ 18(3) ให้มีข้อความประกอบว่า “อัตราเงินปันผลดังกล่าวคำนวณจากราคาเสนอขายหน่วยลงทุน ณ ราคา ...........บาท และจากอัตราการให้เช่าพื้นที่ ที่ ...............% ซึ่งเป็นเพียงการแสดงการประมาณการสำหรับรอบระยะเวลาบัญชี สิ้นสุด ณ วันที่.........................และไม่อาจรับรองผลได้”

(ค) กรณีที่เป็นกองทุนรวมตามข้อ 18(4) ให้มีข้อความประกอบว่า “อัตราเงินปันผลดังกล่าวคำนวณจากราคาเสนอขายหน่วยลงทุน ณ ราคาที่ .........บาท และจากสมมติฐานว่า ..........(ให้ระบุสมมติฐานหลักที่ทำให้เกิดที่มาของรายได้ที่กองทุนรวมจะได้รับ เช่น อัตราการใช้กำลัง การผลิต หรือสัดส่วนรายได้ที่กองทุนได้รับ หรืออัตราการให้บริการของกิจการโครงสร้างพื้นฐานนั้น)....... ซึ่งเป็นเพียงการแสดงประมาณการสำหรับรอบระยะเวลาบัญชี สิ้นสุด ณ วันที่ ........................................ และไม่อาจรับรองผลได้”ข้อมูลตามวรรคหนึ่ง (4) และข้อความตามวรรคหนึ่ง (7) ต้องแสดงอยู่ในหน้าเดียวกันกับข้อมูลตามวรรคหนึ่ง (2) และขนาดตัวอักษรของข้อมูลตามวรรคหนึ่ง (4) และข้อความตามวรรคหนึ่ง (7) ต้องมีความชัดเจนและไม่เล็กไปกว่าตัวอักษรปกติของข้อมูลส่วนใหญ่ในการโฆษณา

ข้อ 20 การโฆษณากองทุนรวมมีประกัน ให้ผู้ประกอบธุรกิจแสดงข้อมูลเกี่ยวกับการประกันหรือผู้ประกันของกองทุนรวมดังกล่าวด้วย

ข้อ 21 การโฆษณาข้อมูลเกี่ยวกับการจ่ายเงินปันผลของกองทุนรวม ให้ผู้ประกอบธุรกิจแสดงข้อมูลเกี่ยวกับอัตราการจ่ายเงินปันผลและประวัติการจ่ายเงินปันผลในอดีตที่ผ่านมาย้อนหลังอย่างน้อยห้าปี โดยหากกองทุนรวมมีการจัดตั้งมาแล้วน้อยกว่าห้าปี ให้แสดงข้อมูลดังกล่าวตั้งแต่จัดตั้งกองทุนรวม

ข้อ 22 การโฆษณาของกองทุนรวมที่ระบุว่าจะเลิกกองทุนหรือรับซื้อคืนหน่วยลงทุนอัตโนมัติเมื่อหน่วยลงทุนมีมูลค่าตามเป้าหมายที่กำหนด (trigger fund) โดยมีการระบุเป้าหมายนั้นไว้อย่างชัดเจนหรือโดยมีการระบุเป้าหมายนั้นไว้ในชื่อของกองทุนรวม ให้ผู้ประกอบธุรกิจจัดให้การโฆษณาข้อมูลเกี่ยวกับกองทุนรวมดังกล่าวเป็นไปตามหลักเกณฑ์ดังต่อไปนี้

(1) จัดให้มีข้อความที่เป็นคำเตือนว่า “การกำหนดมูลค่าหน่วยลงทุนที่เป็นเป้าหมายเป็นเพียงเหตุให้มีการเลิกกองทุนหรือรับซื้อคืนหน่วยลงทุนอัตโนมัติเมื่อมูลค่าหน่วยลงทุนเป็นไปตามเป้าหมายนั้น การกำหนดเป้าหมายดังกล่าวไม่ใช่การประมาณการหรือการรับประกันว่าผู้ลงทุนจะได้รับผลตอบแทนตามมูลค่าที่กำหนดเมื่อเลิกกองทุนหรือเมื่อมีการรับซื้อคืนหน่วยลงทุนอัตโนมัติ ทั้งนี้ หากภาวะตลาดหรือภาวการณ์ลงทุนเปลี่ยนแปลงไปจากการคาดการณ์ กองทุนรวมอาจไม่ดำเนินการเลิกกองทุนหรือรับซื้อคืนหน่วยลงทุนอัตโนมัติก็ได้”

(2) ไม่มีข้อความใด ๆ ที่ทำให้ผู้ลงทุนเข้าใจว่ามูลค่าหน่วยลงทุนซึ่งกำหนดเป็นเป้าหมายนั้นเป็นอัตราผลตอบแทนภายในระยะเวลาที่กำหนด

(3) ไม่ใช้คำว่า “ผลตอบแทน” เพื่อสื่อถึงมูลค่าหน่วยลงทุนซึ่งกำหนดเป็นเป้าหมาย

(4) ในกรณีที่มีการกำหนดมูลค่าหน่วยลงทุนเป้าหมายเป็นอัตราร้อยละ ตัวเลขที่ใช้เป็นอัตราดังกล่าวต้องสอดคล้องกับระยะเวลาเป้าหมายที่กำหนดด้วย เช่น กำหนดระยะเวลาเป้าหมายภายในหกเดือน ต้องใช้ตัวเลขที่เป็นอัตรา X% สำหรับระยะเวลาหกเดือน เป็นต้น

(5) มีข้อความอธิบายเกี่ยวกับการดำเนินการเมื่อหน่วยลงทุนมีมูลค่าไม่เป็นไปตามเป้าหมายภายในระยะเวลาที่กำหนด เช่น การเลิกกองทุนรวมและโอนเงินค่าขายคืนหน่วยลงทุนเข้าบัญชีของผู้ถือหน่วยลงทุน เป็นต้น

(6) การโฆษณาข้อมูลเกี่ยวกับความสำเร็จของกองทุนรวมที่สามารถดำเนินการได้ตามเป้าหมายที่กำหนด ต้องให้ข้อมูลจำนวนกองทุนรวมที่กำหนดเป้าหมายภายใต้การจัดการ ของบริษัทจัดการเดียวกันทั้งหมด เพื่อเป็นข้อมูลเปรียบเทียบจำนวนกองทุนรวมที่สามารถดำเนินการได้ตามเป้าหมายและระยะเวลาที่ใช้ในการถึงเป้าหมาย ทั้งนี้ อาจจัดทำข้อมูลกองทุนรวมที่สามารถดำเนินการได้ตามเป้าหมายเป็นอัตราร้อยละของจำนวนกองทุนรวมที่กำหนดเป้าหมายทั้งหมดก็ได้

หมวด 4

ข้อกำหนดเฉพาะสำหรับการโฆษณาผลิตภัณฑ์ในตลาดทุน

ที่มีความเสี่ยงสูงหรือมีความซับซ้อน

ข้อ 23 นอกจากการปฏิบัติให้เป็นไปตามข้อกำหนดในหมวด 2 และหมวด 3 แล้ว ให้ผู้ประกอบธุรกิจจัดให้การโฆษณาผลิตภัณฑ์ในตลาดทุนที่มีความเสี่ยงสูงหรือมีความซับซ้อน เป็นไปตามข้อกำหนดเฉพาะตามที่กำหนดในหมวดนี้ด้วย

ข้อ 24 การโฆษณาผลิตภัณฑ์ในตลาดทุนที่มีความเสี่ยงสูงหรือมีความซับซ้อน ให้ผู้ประกอบธุรกิจแสดงข้อความอธิบายเกี่ยวกับผลิตภัณฑ์ในตลาดทุนดังกล่าวแก่ผู้ลงทุนในเรื่อง ดังต่อไปนี้

(1) ปัญหาสภาพคล่องหรือข้อจำกัดการโอน (ถ้ามี)

(2) ความเสี่ยงหรือความซับซ้อนที่สำคัญ

ข้อ 25 การโฆษณาผลิตภัณฑ์ในตลาดทุนที่มีความเสี่ยงสูงหรือมีความซับซ้อนซึ่งมีปัจจัยอ้างอิง (underlying asset) และกำหนดเงื่อนไขการจ่ายผลตอบแทนโดยอ้างอิงกับ ปัจจัยอ้างอิงดังกล่าว ให้ผู้ประกอบธุรกิจแสดงข้อความอธิบายในเรื่องดังนี้เพิ่มเติมด้วย

(1) การลงทุนในผลิตภัณฑ์ในตลาดทุนที่มีความเสี่ยงสูงหรือมีความซับซ้อนซึ่งมีปัจจัยอ้างอิง มีความแตกต่างจากการลงทุนในปัจจัยอ้างอิงโดยตรง จึงอาจทำให้ราคาของ ผลิตภัณฑ์ในตลาดทุนดังกล่าวมีความผันผวนแตกต่างจากราคาของปัจจัยอ้างอิงได้

(2) ผู้ลงทุนควรทำความเข้าใจเงื่อนไขการจ่ายผลตอบแทนและความเสี่ยงที่เกี่ยวข้องก่อนทำการลงทุน

ข้อ 26 ให้ผู้ประกอบธุรกิจจัดให้มีคำเตือนแก่ผู้ลงทุนถึงความจำเป็นในการขอคำแนะนำเพิ่มเติมจากผู้ประกอบธุรกิจก่อนทำการลงทุน

ข้อ 27 ในกรณีที่เป็นการโฆษณาผลิตภัณฑ์ในตลาดทุนที่มีความเสี่ยงสูงหรือมีความซับซ้อนดังต่อไปนี้ ให้ผู้ประกอบธุรกิจแสดงข้อมูลเกี่ยวกับผลกระทบหากมีสถานการณ์ ในเชิงลบอย่างมากที่สุดเกิดขึ้น (worst case scenario) ด้วย ทั้งนี้ ตามที่ปรากฏในหนังสือชี้ชวนและเอกสารสรุปข้อมูลสำคัญของผลิตภัณฑ์ในตลาดทุน (factsheet)

(1) หน่วยลงทุนของกองทุนรวมที่เสนอขายต่อผู้ลงทุนที่มิใช่รายย่อย ตามประกาศคณะกรรมการกำกับตลาดทุนว่าด้วยหลักเกณฑ์ เงื่อนไข และวิธีการจัดตั้ง จัดการและลงทุนของกองทุนรวมที่เสนอขายต่อผู้ลงทุนที่มิใช่รายย่อย ซึ่งมีนโยบายการลงทุนในสัญญาซื้อขายล่วงหน้ามากกว่าร้อยละหนึ่งร้อยของมูลค่าทรัพย์สินสุทธิของกองทุนรวม

(2) ตราสารด้อยสิทธิเพื่อนับเป็นเงินกองทุน ตามประกาศคณะกรรมการกำกับตลาดทุนว่าด้วยการเสนอขายตราสารด้อยสิทธิเพื่อนับเป็นเงินกองทุนของธนาคารพาณิชย์

หมวด 5

การส่งเสริมการขายผลิตภัณฑ์ในตลาดทุน

ข้อ 28 เพื่อให้การจัดให้มีการส่งเสริมการขายเป็นไปตามข้อ 48 แห่งประกาศมาตรฐานการประกอบธุรกิจ ให้ผู้ประกอบธุรกิจจัดให้การส่งเสริมการขายเป็นไปตามหลักเกณฑ์ที่กำหนดในหมวดนี้

ข้อ 29 ในกรณีที่ผู้ประกอบธุรกิจเข้าร่วมในการจัดงานมหกรรม ให้ผู้ประกอบธุรกิจแจ้งแก่ผู้จัดงานทราบถึงขอบเขตการจัดให้มีการส่งเสริมการขายที่ผู้ประกอบธุรกิจสามารถดำเนินการได้ รวมทั้งปฏิเสธไม่เข้าร่วมการส่งเสริมการขายของผู้จัดงานที่ไม่เป็นไปตามข้อกำหนดที่ผู้ประกอบธุรกิจต้องปฏิบัติ

ข้อ 30 การจัดให้มีการส่งเสริมการขาย ให้ผู้ประกอบธุรกิจปฏิบัติให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์ดังต่อไปนี้

(1) จำนวนของสมนาคุณต้องมีอย่างเพียงพอสำหรับผู้ลงทุนที่ใช้บริการหรือลงทุนตามเงื่อนไขที่ผู้ประกอบธุรกิจกำหนด

(2) ผู้ลงทุนที่ใช้บริการหรือลงทุนตามเงื่อนไขเดียวกันต้องมีสิทธิได้รับของสมนาคุณเท่าเทียมกัน

(3) กำหนดระยะเวลาในการจัดให้มีการส่งเสริมการขายไม่น้อยกว่าสิบห้าวัน เว้นแต่เป็นการส่งเสริมการขายสำหรับการเสนอขายผลิตภัณฑ์ในตลาดทุนเป็นครั้งแรก (IPO) หรือเป็นการส่งเสริมการขายในการจัดงานมหกรรมที่มีผู้ประกอบธุรกิจหลายรายเข้าร่วมและผู้ประกอบธุรกิจไม่มีส่วนเกี่ยวข้องกับผู้จัดงาน

(4) ของสมนาคุณมีมูลค่าไม่เกินกว่าที่กำหนดตามข้อ 31

ข้อ 31 มูลค่าของสมนาคุณ ให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์ดังต่อไปนี้

(1) มูลค่าของสมนาคุณสำหรับการส่งเสริมการขายหน่วยลงทุนของกองทุนรวมให้เป็นไปตามที่สมาคมบริษัทหลักทรัพย์จัดการลงทุนกำหนด

(2) มูลค่าของสมนาคุณสำหรับการส่งเสริมการขายหุ้นหรือผลิตภัณฑ์ในตลาดทุนที่ซื้อขายในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย ให้เป็นไปตามที่สมาคมบริษัทหลักทรัพย์ไทยกำหนด

(3) มูลค่าของสมนาคุณสำหรับการส่งเสริมการขายหน่วยลงทุนตามโครงการที่มีลักษณะเป็นการลงทุนอย่างสม่ำเสมอต่อเนื่องทุกเดือนเป็นระยะเวลาอย่างน้อยหนึ่งปี ต้องไม่เกินร้อยละ 0.5 ของมูลค่าการลงทุนขั้นต่ำสำหรับผู้ลงทุนแต่ละราย เช่น โครงการสานฝันเริ่มต้นด้วยพันบาท

(4) มูลค่าของสมนาคุณสำหรับการส่งเสริมการขายตราสารหนี้ ต้องไม่เกินร้อยละ 0.2 ของมูลค่าการลงทุนขั้นต่ำสำหรับผู้ลงทุนแต่ละราย ทั้งนี้ ในกรณีที่ของสมนาคุณ เป็นอัตราดอกเบี้ยหรืออัตราผลตอบแทนเพิ่มเติมจากอัตราปกติของตราสารหนี้ ให้ถือเอามูลค่าดอกเบี้ยหรือผลตอบแทนเพิ่มเติมที่จะได้รับตลอดอายุของตราสารหนี้นั้นเป็นมูลค่าของสมนาคุณ

(5) มูลค่าของสมนาคุณสำหรับการเปิดบัญชีซื้อขายผลิตภัณฑ์ในตลาดทุนที่ไม่มีเงื่อนไขให้ผู้ลงทุนต้องทำการซื้อขายหรือลงทุนตามจำนวนขั้นต่ำภายในระยะเวลาที่ ผู้ประกอบธุรกิจกำหนด ต้องไม่เกินสองร้อยบาท

ข้อ 32 การส่งเสริมการขายที่เป็นการจัดกิจกรรมในลักษณะดังต่อไปนี้ ผู้ประกอบธุรกิจอาจไม่ถือปฏิบัติตามข้อกำหนดในข้อ 30 ก็ได้ ทั้งนี้ ต้องไม่มีเจตนาเลี่ยง การปฏิบัติตามข้อ 30

(1) การจัดกิจกรรมให้ผู้ลงทุนแข่งขันลงทุนโดยมีการให้ความรู้เกี่ยวกับการลงทุนแก่ผู้ลงทุนตลอดระยะเวลาที่จัดกิจกรรม เพื่อให้เกิดความเข้าใจเกี่ยวกับการลงทุน ที่เหมาะสม และสิทธิประโยชน์ของผู้ลงทุน

(2) การให้ของขวัญในโอกาสอันเป็นประเพณีที่ถือปฏิบัติกันโดยทั่วไป

(3) การจัดกิจกรรมสันทนาการหรือให้ความบันเทิงแก่ลูกค้าในโอกาสต่าง ๆ เพื่อสร้างความสัมพันธ์อันดีหรือแสดงความขอบคุณแก่ผู้ลงทุน

ข้อ 33 ในการส่งเสริมการขายผลิตภัณฑ์ในตลาดทุน ให้ผู้ประกอบธุรกิจปฏิบัติตามประกาศของสมาคมที่ได้รับความเห็นชอบจากสำนักงาน ดังต่อไปนี้ด้วย

(1) ในกรณีที่เป็นหุ้นหรือผลิตภัณฑ์ในตลาดทุนที่ซื้อขายในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย ให้ปฏิบัติตามประกาศสมาคมบริษัทหลักทรัพย์ไทยว่าด้วยการจัดกิจกรรม ส่งเสริมการขายของบริษัทสมาชิก

(2) ในกรณีที่เป็นหน่วยลงทุน ให้ปฏิบัติตามประกาศสมาคมบริษัทจัดการลงทุนว่าด้วยแนวปฏิบัติในการจัดรายการส่งเสริมการขายหน่วยลงทุนของกองทุนรวม

(3) ในกรณีที่เป็นสัญญาซื้อขายล่วงหน้า ให้ปฏิบัติตามแนวทางของสมาคมบริษัทหลักทรัพย์ไทยในส่วนที่เกี่ยวกับประกาศคณะกรรมการชมรมผู้ประกอบธุรกิจสัญญาซื้อขายล่วงหน้า ว่าด้วยวงเงินการจัดกิจกรรมส่งเสริมการขายสัญญาซื้อขายล่วงหน้า

หมวด 6

บทเฉพาะกาล

ข้อ 34 ในกรณีที่การโฆษณาผลิตภัณฑ์ในตลาดทุนของผู้ประกอบธุรกิจซึ่งใช้โฆษณาอยู่ในวันที่ประกาศนี้มีผลใช้บังคับ ยังไม่มีข้อความที่เป็นคำเตือนตามที่กำหนดไว้ในข้อ 12 ให้ผู้ประกอบธุรกิจดำเนินการปรับปรุงหรือแก้ไขให้การโฆษณาดังกล่าวมีข้อความที่เป็นคำเตือนตามที่กำหนดภายในโอกาสแรกที่สามารถทำได้ แต่ต้องไม่เกินกว่าวันที่ 31 ธันวาคม พ.ศ. 2558

ประกาศ ณ วันที่ 1 เมษายน พ.ศ. 2558

(นายวรพล โสคติยานุรักษ์)

เลขาธิการ

สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ