ประกาศคณะกรรมการกำกับตลาดทุนที่ ทจ. 39/2559 เรื่อง การขออนุญาตและการอนุญาตให้เสนอขายหุ้นที่ออกใหม่

ข่าวหุ้น-การเงิน Friday September 30, 2016 16:40 —ประกาศ ก.ล.ต.

ประกาศคณะกรรมการกำกับตลาดทุน

ที่ ทจ. 39/2559

เรื่อง การขออนุญาตและการอนุญาตให้เสนอขายหุ้นที่ออกใหม่

_____________________

อาศัยอำนาจตามความในมาตรา 16/6 และมาตรา 89/27 แห่งพระราชบัญญัติหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ พ.ศ. 2535 ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ฉบับที่ 4) พ.ศ. 2551 และมาตรา 35 แห่งพระราชบัญญัติหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ พ.ศ. 2535 คณะกรรมการกำกับตลาดทุนออกประกาศไว้ดังต่อไปนี้

ข้อ 1 ประกาศนี้ให้ใช้บังคับตั้งแต่วันที่ 16 พฤศจิกายน พ.ศ. 2559 เป็นต้นไป

ข้อ 2 ให้ยกเลิก

(1) ประกาศคณะกรรมการกำกับตลาดทุน ที่ ทจ. 28/2551 เรื่อง การขออนุญาตและการอนุญาตให้เสนอขายหุ้นที่ออกใหม่ ลงวันที่ 15 ธันวาคม พ.ศ. 2551

(2) ประกาศคณะกรรมการกำกับตลาดทุน ที่ ทจ. 4/2552 เรื่อง การขออนุญาตและการอนุญาตให้เสนอขายหุ้นที่ออกใหม่ (ฉบับที่ 2) ลงวันที่ 20 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2552

(3) ประกาศคณะกรรมการกำกับตลาดทุน ที่ ทจ. 42/2553 เรื่อง การขออนุญาตและการอนุญาตให้เสนอขายหุ้นที่ออกใหม่ (ฉบับที่ 3) ลงวันที่ 3 ธันวาคม พ.ศ. 2553

(4) ประกาศคณะกรรมการกำกับตลาดทุน ที่ ทจ. 8/2554 เรื่อง การขออนุญาตและการอนุญาตให้เสนอขายหุ้นที่ออกใหม่ (ฉบับที่ 4) ลงวันที่ 25 มีนาคม พ.ศ. 2554

(5) ประกาศคณะกรรมการกำกับตลาดทุน ที่ ทจ. 15/2554 เรื่อง การขออนุญาตและการอนุญาตให้เสนอขายหุ้นที่ออกใหม่ (ฉบับที่ 5) ลงวันที่ 25 กรกฎาคม พ.ศ.2554

(6) ประกาศคณะกรรมการกำกับตลาดทุน ที่ ทจ. 32/2554 เรื่อง การขออนุญาตและการอนุญาตให้เสนอขายหุ้นที่ออกใหม่ (ฉบับที่ 6) ลงวันที่ 29 ธันวาคม พ.ศ.2554

(7) ประกาศคณะกรรมการกำกับตลาดทุน ที่ ทจ. 33/2555 เรื่อง การขออนุญาตและการอนุญาตให้เสนอขายหุ้นที่ออกใหม่ (ฉบับที่ 7) ลงวันที่ 7 สิงหาคม พ.ศ. 2555

(8) ประกาศคณะกรรมการกำกับตลาดทุน ที่ ทจ. 45/2556 เรื่อง การขออนุญาตและการอนุญาตให้เสนอขายหุ้นที่ออกใหม่ (ฉบับที่ 8) ลงวันที่ 12 พฤศจิกายน พ.ศ. 2556

(9) ประกาศคณะกรรมการกำกับตลาดทุน ที่ ทจ. 42/2557 เรื่อง การขออนุญาตและการอนุญาตให้เสนอขายหุ้นที่ออกใหม่ (ฉบับที่ 9) ลงวันที่ 7 พฤศจิกายน พ.ศ.2557

(10) ประกาศคณะกรรมการกำกับตลาดทุน ที่ ทจ. 4/2558 เรื่อง การขออนุญาตและการอนุญาตให้เสนอขายหุ้นที่ออกใหม่ (ฉบับที่ 10) ลงวันที่ 23 มีนาคม พ.ศ. 2558

(11) ประกาศคณะกรรมการกำกับตลาดทุน ที่ ทจ. 24/2558 เรื่อง การขออนุญาตและการอนุญาตให้เสนอขายหุ้นที่ออกใหม่ (ฉบับที่ 11) ลงวันที่ 10 กรกฎาคม พ.ศ. 2558

(12) ประกาศคณะกรรมการกำกับตลาดทุน ที่ ทจ. 52/2558 เรื่อง การขออนุญาตและการอนุญาตให้เสนอขายหุ้นที่ออกใหม่ (ฉบับที่ 12) ลงวันที่ 13 กรกฎาคม พ.ศ. 2558

(13) ประกาศคณะกรรมการกำกับตลาดทุน ที่ ทจ. 74/2558 เรื่อง การขออนุญาตและการอนุญาตให้เสนอขายหุ้นที่ออกใหม่ (ฉบับที่ 13) ลงวันที่ 28 ตุลาคม พ.ศ.2558

ข้อ 3 ในประกาศนี้ และในแบบคำขออนุญาตเสนอขายหุ้นที่ออกใหม่ที่กำหนดตามประกาศนี้

คำว่า “ผู้ลงทุนสถาบัน” “บริษัทจดทะเบียน” “นิติบุคคลตามกฎหมายเฉพาะ” “บริษัทใหญ่” “บริษัทย่อย” “บริษัทย่อยลำดับเดียวกัน” “บริษัทร่วม” “อำนาจควบคุมกิจการ” “ผู้ที่เกี่ยวข้อง” “ผู้บริหาร” “ผู้ถือหุ้นรายใหญ่” “ผู้มีอำนาจควบคุม” “บุคคลที่อาจมีความขัดแย้ง” และ “งบการเงินรวม” ให้มีความหมายเช่นเดียวกับบทนิยามของคำดังกล่าวที่กำหนดไว้ในประกาศคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ว่าด้วยการกำหนดบทนิยามในประกาศเกี่ยวกับการออกและเสนอขายหลักทรัพย์

“กรรมการที่มีส่วนร่วมบริหารงาน” หมายความว่า กรรมการที่ดำรงตำแหน่งเป็นผู้บริหาร กรรมการที่ทำหน้าที่รับผิดชอบในการดำเนินการใด ๆ เยี่ยงผู้บริหาร และให้หมายความรวมถึงกรรมการที่มีอำนาจลงนามผูกพัน เว้นแต่จะแสดงได้ว่าเป็นการลงนามผูกพันตามรายการที่คณะกรรมการมีมติอนุมัติไว้แล้ว และเป็นการลงนามร่วมกับกรรมการรายอื่น

“ส่วนราชการ” หมายความว่า หน่วยราชการที่เป็นราชการส่วนกลางตามกฎหมายว่าด้วยระเบียบบริหารราชการแผ่นดิน

“ผู้ถือหุ้นที่มีนัย” หมายความว่า ผู้ถือหุ้นในกิจการใดเกินกว่าร้อยละ 10 ของจำนวนหุ้นที่มีสิทธิออกเสียงทั้งหมดของกิจการนั้น และการถือหุ้นดังกล่าวให้นับรวมหุ้นที่ถือโดยผู้ที่เกี่ยวข้องด้วย

“ธุรกิจสถาบันการเงิน” หมายความว่า ธุรกิจธนาคารพาณิชย์ ธุรกิจเงินทุน ธุรกิจหลักทรัพย์ ธุรกิจเครดิตฟองซิเอร์ ธุรกิจประกันชีวิต และธุรกิจประกันวินาศภัย ไม่ว่าเป็น การประกอบธุรกิจตามกฎหมายไทยหรือกฎหมายต่างประเทศ

“ผู้สอบบัญชีท้องถิ่น” หมายความว่า ผู้สอบบัญชีที่สามารถทำการสอบบัญชีได้โดยชอบด้วยกฎหมายหรือกฎเกณฑ์ของประเทศนั้น ๆ

“บุคคลต่างด้าว” หมายความว่า

(1) บุคคลธรรมดาซึ่งไม่มีสัญชาติไทย

(2) นิติบุคคลซึ่งไม่ได้จดทะเบียนในประเทศไทย แต่ไม่รวมถึงนิติบุคคลดังกล่าวที่มีผู้ถือหุ้นไม่ว่าโดยทางตรงหรือทางอ้อมเป็นบุคคลที่มีสัญชาติไทยเกินกว่าร้อยละ 50 ของจำนวน สิทธิออกเสียงทั้งหมดของนิติบุคคลนั้น

(3) นิติบุคคลซึ่งจดทะเบียนในประเทศไทย และมีบุคคลดังต่อไปนี้ถือหุ้นรวมกันเกินร้อยละ 50 ของจำนวนสิทธิออกเสียงทั้งหมดของนิติบุคคลนั้น

(ก) บุคคลธรรมดาตาม (1)

(ข) นิติบุคคลตาม (2)

(4) นิติบุคคลที่ถูกถือหุ้นต่อไปเป็นทอด ๆ เกินกว่าร้อยละ 50 ของจำนวนสิทธิออกเสียงทั้งหมดของนิติบุคคลนั้น โดยเริ่มจากการถือหุ้นของ (3)

(5) นิติบุคคลซึ่งบุคคลตาม (1) (2) (3) หรือ (4) มีอำนาจควบคุมกิจการ

“บริษัทต่างประเทศ” หมายความว่า บริษัทที่จัดตั้งขึ้นตามกฎหมายต่างประเทศ

“ตลาดหลักทรัพย์” หมายความว่า ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย

ภาค 1

ขอบเขตการใช้บังคับและอำนาจของสำนักงาน

_________________

ข้อ 4 การเสนอขายหุ้นที่ออกใหม่ ให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์ดังต่อไปนี้

(1) การเสนอขายหุ้นที่ออกใหม่ต่อประชาชนเป็นการทั่วไป ให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์ ดังนี้

(ก) การเสนอขายหุ้นที่ออกใหม่ต่อประชาชนเป็นครั้งแรก ให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์ที่กำหนดในหมวด 1 ของภาค 2

(ข) การเสนอขายหุ้นเพิ่มทุนโดยบริษัทจดทะเบียน ให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์ที่กำหนดในหมวด 2 ของภาค 2 ดังนี้

1. การเสนอขายหุ้นที่ออกใหม่ในกรณีปกติ ให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์ที่กำหนดในส่วนที่ 1

2. การเสนอขายหุ้นที่ออกใหม่โดยบริษัทจดทะเบียนที่ไม่มีประเด็นเกี่ยวกับการกำกับดูแลกิจการที่ดี ให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์ที่กำหนดในส่วนที่ 2

(ค) การเสนอขายหุ้นเพิ่มทุนของบริษัทที่ไม่มีหุ้นเป็นหลักทรัพย์จดทะเบียน ให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์ที่กำหนดในหมวด 1 ของภาค 2 โดยอนุโลม

(2) การเสนอขายหุ้นที่ออกใหม่ต่อบุคคลในวงจำกัด ให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์ ดังนี้

(ก) การเสนอขายหุ้นที่ออกใหม่โดยบริษัทจดทะเบียน ให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์ที่กำหนดในประกาศคณะกรรมการกำกับตลาดทุนว่าด้วยการอนุญาตให้บริษัทจดทะเบียนเสนอขายหุ้นที่ออกใหม่ต่อบุคคลในวงจำกัด

(ข) การเสนอขายหุ้นที่ออกใหม่กรณีอื่นนอกจาก (ก) ให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์ที่กำหนดในภาค 3

การเสนอขายหุ้นที่ออกใหม่ต่อประชาชนในกรณีดังต่อไปนี้ ให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์ในข้อ 10

(1) การเสนอขายหุ้นที่ออกใหม่ในลักษณะเป็นการทั่วไปโดยกำหนดเงื่อนไขให้ผู้ที่จะซื้อหุ้นต้องเป็นผู้ถือหุ้นของบริษัท และจำนวนการจองซื้อไม่เกินกว่าสัดส่วนการถือหุ้น โดยเป็นการเสนอขายตามมติที่ประชุมผู้ถือหุ้นที่ให้เสนอขายต่อผู้ถือหุ้นทุกรายอย่างเท่าเทียมกัน แต่จะไม่เสนอขายให้ผู้ถือหุ้นที่จะทำให้บริษัทมีหน้าที่ตามกฎหมายต่างประเทศ

(2) การเสนอขายหุ้นที่ออกใหม่ให้แก่บุคคลที่เป็นเจ้าหนี้ของบริษัทตามแผนฟื้นฟูกิจการที่ศาลให้ความเห็นชอบตามกฎหมายว่าด้วยล้มละลาย ทั้งนี้ เฉพาะกรณีที่แผนฟื้นฟูกิจการกำหนดให้เจ้าหนี้ต้องรับหุ้นที่ออกใหม่ดังกล่าวแทนการรับชำระหนี้

ข้อ 5 หลักเกณฑ์การอนุญาตให้เสนอขายหุ้นตามประกาศนี้ให้ใช้กับบุคคลดังต่อไปนี้

(1) ผู้เริ่มจัดตั้งบริษัทมหาชนจำกัดตามกฎหมายว่าด้วยบริษัทมหาชนจำกัด

(2) บริษัทมหาชนจำกัดตามกฎหมายว่าด้วยบริษัทมหาชนจำกัด

(3) นิติบุคคลตามกฎหมายเฉพาะภายใต้กฎหมายไทย

ข้อ 6 บริษัทมหาชนจำกัดจะได้รับอนุญาตให้เสนอขายหุ้นที่ออกใหม่ตามประกาศนี้ต่อเมื่อบริษัทมหาชนจำกัดนั้นไม่มีหุ้นที่ได้ซื้อคืนมาและยังจำหน่ายไม่หมด เว้นแต่จะเป็นการนำหุ้น ที่ได้ซื้อคืนมาเสนอขายพร้อมกับหุ้นที่ออกใหม่ โดยจัดสรรการขายหุ้นที่ซื้อคืนในลำดับก่อนการขายหุ้นที่ออกใหม่

ข้อ 7 ในกรณีที่ปรากฏข้อเท็จจริงต่อสำนักงานที่เป็นเหตุอันควรสงสัยอย่างใดอย่างหนึ่งดังต่อไปนี้ สำนักงานอาจไม่อนุญาตให้เสนอขายหุ้นตามคำขออนุญาตได้

(1) ผู้ขออนุญาตหรือการเสนอขายหุ้นมีลักษณะหรือรูปแบบเป็นไปตามหลักเกณฑ์หรือเงื่อนไขที่จะได้รับอนุญาตตามประกาศนี้ แต่มีข้อเท็จจริงซึ่งทำให้พิจารณาได้ว่าความมุ่งหมาย หรือเนื้อหาสาระที่แท้จริง (substance) ของการเสนอขายหุ้นนั้นเข้าลักษณะเป็นการหลีกเลี่ยงบทบัญญัติตามกฎหมายว่าด้วยหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ หรือประกาศนี้

(2) การเสนอขายหุ้นอาจขัดต่อนโยบายสาธารณะหรือนโยบายของรัฐ

(3) การเสนอขายหุ้นอาจก่อให้เกิดผลกระทบต่อความน่าเชื่อถือต่อตลาดทุนไทยโดยรวม

(4) การเสนอขายหุ้นอาจก่อให้เกิดความเสียหายต่อผู้ลงทุนโดยรวม หรืออาจทำให้ผู้ลงทุนโดยรวมไม่ได้รับความเป็นธรรม หรือผู้ลงทุนอาจไม่ได้รับข้อมูลที่ถูกต้องหรือเพียงพอประกอบการตัดสินใจลงทุน

ข้อ 8 ในกรณีที่เข้าลักษณะอย่างใดอย่างหนึ่งดังต่อไปนี้ สำนักงานอาจผ่อนผันไม่นำหลักเกณฑ์ตามประกาศนี้มาใช้พิจารณาคำขออนุญาต หรือไม่นำเงื่อนไขตามประกาศนี้มาใช้บังคับกับการเสนอขายหุ้นที่ได้รับอนุญาตได้

(1) มีข้อเท็จจริงที่ชัดเจนซึ่งทำให้พิจารณาได้ว่าหลักเกณฑ์หรือเงื่อนไขที่จะผ่อนผันให้ ไม่มีนัยสำคัญสำหรับการพิจารณาอนุญาตในกรณีนั้น และประโยชน์ที่จะได้ไม่คุ้มค่ากับต้นทุน ในการปฏิบัติให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์หรือเงื่อนไขดังกล่าว

(2) ผู้ขออนุญาตมีข้อจำกัดตามกฎหมายอื่นที่ทำให้ไม่สามารถปฏิบัติให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์หรือเงื่อนไขที่จะผ่อนผัน

(3) ผู้ขออนุญาตมีมาตรการอื่นที่เพียงพอ และสามารถทดแทนการปฏิบัติให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์หรือเงื่อนไขที่จะผ่อนผัน

การผ่อนผันตามวรรคหนึ่งให้คำนึงถึงความเหมาะสมและความเพียงพอของข้อมูลประกอบการตัดสินใจลงทุนและมาตรการคุ้มครองผู้ลงทุนเป็นสำคัญ ทั้งนี้ สำนักงานอาจกำหนดเงื่อนไขให้ผู้ขออนุญาตต้องปฏิบัติด้วยก็ได้

ข้อ 9 ในกรณีที่ปรากฏข้อเท็จจริงต่อสำนักงานที่เป็นเหตุอันควรสงสัยอย่างใดอย่างหนึ่งดังต่อไปนี้ สำนักงานอาจสั่งระงับการเสนอขายหุ้นที่ออกใหม่ต่อบุคคลในวงจำกัดตามภาค 3 ไว้ก่อนหรือสั่งเพิกถอนการอนุญาตให้เสนอขายหุ้นที่ออกใหม่ในกรณีดังกล่าวได้

(1) ผู้ได้รับอนุญาตมีข้อบกพร่องหรือมีความไม่เหมาะสมเกี่ยวกับการปฏิบัติตามเงื่อนไขภายหลังการอนุญาตให้เสนอขายหุ้นที่ออกใหม่หรือจะไม่สามารถปฏิบัติตามเงื่อนไขภายหลัง การอนุญาตได้

(2) ผู้ลงทุนอาจไม่ได้รับข้อมูลที่มีนัยสำคัญต่อการตัดสินใจลงทุน

(3) การเสนอขายหุ้นที่ออกใหม่มีลักษณะที่อาจเข้าข่ายเป็นการหลีกเลี่ยงกฎเกณฑ์อื่นที่ออกภายใต้พระราชบัญญัติหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ พ.ศ. 2535

ข้อ 10 ให้ถือว่าบริษัทมหาชนจำกัดที่เสนอขายหุ้นเป็นการทั่วไปโดยกำหนดเงื่อนไขให้ผู้ที่จะซื้อหุ้นต้องเป็นผู้ถือหุ้นของบริษัทตามข้อ 4 วรรคสอง (1) หรือที่เสนอขายหุ้นต่อเจ้าหนี้ตามแผนฟื้นฟูกิจการตามข้อ 4 วรรคสอง (2) ได้รับอนุญาตจากสำนักงานให้เสนอขายหุ้นที่ออกใหม่ดังกล่าวแล้ว

บริษัทที่ได้รับอนุญาตตามวรรคหนึ่ง ต้องดำเนินการดังต่อไปนี้

(1) ในกรณีเป็นการเสนอขายหุ้นเป็นการทั่วไปโดยกำหนดเป็นเงื่อนไขให้ผู้ที่จะซื้อหุ้นต้องเป็นผู้ถือหุ้นของบริษัทตามข้อ 4 วรรคสอง (1) บริษัทต้องเสนอขายหุ้นให้แล้วเสร็จภายใน 6 เดือนนับแต่วันที่ที่ประชุมผู้ถือหุ้นมีมติอนุมัติให้เสนอขายหุ้นที่ออกใหม่

(2) ในกรณีเป็นการเสนอขายหุ้นต่อเจ้าหนี้ตามแผนฟื้นฟูกิจการตามข้อ 4 วรรคสอง (2) บริษัทต้องเสนอขายหุ้นให้แล้วเสร็จภายในระยะเวลาที่แผนฟื้นฟูกิจการกำหนด

ข้อ 11 ในการจำหน่ายหุ้นที่ออกใหม่ต่อประชาชนเป็นการทั่วไปตามภาค 2 ผู้ได้รับอนุญาตมีหน้าที่ปฏิบัติให้เป็นไปตามประกาศคณะกรรมการกำกับตลาดทุนว่าด้วยการจำหน่ายหลักทรัพย์ที่ออกใหม่ประเภทหุ้นและใบสำคัญแสดงสิทธิที่จะซื้อหุ้นของบริษัทที่ออกตราสารทุนด้วย

ภาค 2

การเสนอขายหุ้นที่ออกใหม่ต่อประชาชนเป็นการทั่วไป

_________________

หมวด 1

การเสนอขายหุ้นที่ออกใหม่ต่อประชาชนเป็นครั้งแรก

_________________

ส่วนที่ 1

หลักเกณฑ์การอนุญาตและวิธีการยื่นคำขออนุญาต

_________________

ข้อ 12 บริษัทมหาชนจำกัดที่ยื่นคำขออนุญาตเสนอขายหุ้นที่ออกใหม่ต่อประชาชนเป็นครั้งแรกตามที่กำหนดในข้อ 21 จะได้รับอนุญาตให้เสนอขายหุ้นที่ออกใหม่ดังกล่าวต่อเมื่อแสดงให้สำนักงานเห็นได้ว่ามีคุณสมบัติเป็นไปตามหลักเกณฑ์ในเรื่องการกำกับดูแลกิจการที่ดีและหลักเกณฑ์คุณสมบัติอื่น ๆ ดังต่อไปนี้

(1) การรักษาสิทธิของผู้ถือหุ้นและปฏิบัติต่อผู้ถือหุ้นอย่างเป็นธรรม

(ก) มีโครงสร้างการถือหุ้นที่ชัดเจน เป็นธรรม และเป็นไปตามหลักเกณฑ์ในข้อ 13 และข้อ 14

(ข) กรรมการ ผู้บริหาร และผู้ถือหุ้นรายใหญ่ ไม่มีผลประโยชน์อื่นที่อาจขัดแย้งกับผลประโยชน์ที่ดีที่สุดของกิจการ เว้นแต่ผู้ขออนุญาตสามารถแสดงได้ว่ามีกลไกที่จะทำให้เชื่อมั่นได้ว่า การบริหารจัดการบริษัทจะเป็นไปเพื่อประโยชน์ที่ดีที่สุดของกิจการและผู้ถือหุ้นโดยรวม

(ค) ไม่มีเหตุที่ทำให้สงสัยว่ากลไกการบริหารจัดการจะไม่สามารถรักษาสิทธิของผู้ถือหุ้น หรือไม่สามารถปฏิบัติต่อผู้ถือหุ้นอย่างเป็นธรรม

(2) บทบาท หน้าที่ และความรับผิดชอบของกรรมการ ผู้บริหารและผู้มีอำนาจควบคุม

(ก) คณะกรรมการเข้าใจบทบาท หน้าที่ และความรับผิดชอบของตนที่มีต่อผู้ถือหุ้นซึ่งเป็นประชาชนทั่วไปเป็นอย่างดี และแสดงได้ว่าจะสามารถปฏิบัติหน้าที่ดังกล่าวได้

(ข) โครงสร้างคณะกรรมการและการจัดการมีการตรวจสอบและถ่วงดุล (check and balance) กันอย่างเพียงพอ โดยอย่างน้อยต้องเป็นไปตามหลักเกณฑ์ในข้อ 17

(ค) กรรมการและผู้บริหารเป็นบุคคลที่มีชื่ออยู่ในระบบข้อมูลรายชื่อกรรมการและผู้บริหารของบริษัทที่ออกหลักทรัพย์ตามประกาศคณะกรรมการกำกับตลาดทุนว่าด้วยหลักเกณฑ์การแสดงชื่อบุคคลในระบบข้อมูลรายชื่อกรรมการและผู้บริหารของบริษัทที่ออกหลักทรัพย์

ในกรณีที่ผู้ขออนุญาตเป็นสถาบันอุดมศึกษาเอกชนตามกฎหมายว่าด้วยสถาบันอุดมศึกษาเอกชน ต้องไม่ปรากฏข้อเท็จจริงว่ากรรมการของสภาสถาบันอุดมศึกษาเอกชนดังกล่าว มีลักษณะขาดความน่าไว้วางใจตามประกาศคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ว่าด้วยการกำหนดลักษณะขาดความน่าไว้วางใจของกรรมการและผู้บริหารของบริษัท โดยอนุโลม

(ง) ไม่ปรากฏข้อเท็จจริงว่าผู้มีอำนาจควบคุมมีลักษณะขาดความน่าไว้วางใจตามประกาศคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ว่าด้วยการกำหนดลักษณะขาดความน่าไว้วางใจของกรรมการและผู้บริหารของบริษัท โดยอนุโลม

(3) การเปิดเผยข้อมูล

(ก) ไม่มีเหตุที่ทำให้สงสัยว่าข้อมูลที่เปิดเผยต่อประชาชนไม่ครบถ้วน ไม่เพียงพอ ต่อการตัดสินใจลงทุน หรือมีข้อความที่อาจทำให้ผู้ลงทุนสำคัญผิด

(ข) งบการเงินของผู้ขออนุญาตและงบการเงินรวมประจำงวดปีบัญชีล่าสุด และงบการเงินไตรมาสสุดท้ายก่อนยื่นคำขอต้องถูกต้อง น่าเชื่อถือ และเป็นไปตามหลักเกณฑ์ในข้อ 18

(ค) ไม่มีเหตุที่ทำให้สงสัยว่าผู้ขออนุญาตไม่มีระบบเพียงพอที่จะทำให้สามารถจัดทำและเปิดเผยข้อมูลตามหลักเกณฑ์ที่กำหนดได้อย่างต่อเนื่องและน่าเชื่อถือ

(4) คุณสมบัติอื่น ๆ

(ก) ไม่มีส่วนเกี่ยวข้องกับธุรกิจที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย

(ข) ไม่มีลักษณะตามข้อ 19

(ค) ได้รับมติโดยชัดแจ้งจากที่ประชุมผู้ถือหุ้นของบริษัทซึ่งอนุมัติการเสนอขายหุ้นในครั้งนี้ และมตินั้นได้มาแล้วไม่เกิน 1 ปีจนถึงวันยื่นคำขออนุญาต

ข้อ 13 โครงสร้างการถือหุ้นของผู้ขออนุญาต บริษัทย่อย และบริษัทร่วมต้องเป็นไปตามหลักเกณฑ์ดังต่อไปนี้

(1) สามารถสะท้อนอำนาจในการควบคุมและส่วนได้เสียของผู้ถือหุ้นได้อย่างชัดเจน

(2) ไม่มีบุคคลที่อาจมีความขัดแย้งของผู้ขออนุญาตถือหุ้นในบริษัทย่อยหรือบริษัทร่วมเกินกว่าร้อยละ 10 ของจำนวนหุ้นที่มีสิทธิออกเสียงทั้งหมดของบริษัทย่อยหรือบริษัทร่วมนั้น เว้นแต่แสดงได้ว่าการจัดโครงสร้างการถือหุ้นของบริษัทย่อยหรือบริษัทร่วมดังกล่าวเป็นไปเพื่อประโยชน์ที่ดีที่สุดของผู้ขออนุญาตแล้ว

ข้อ 14 โครงสร้างการถือหุ้นระหว่างผู้ขออนุญาตกับบริษัทอื่นต้องไม่มีลักษณะเป็นการถือหุ้นไขว้ระหว่างกันที่ขัดหรือแย้งต่อหลักเกณฑ์ตามข้อ 15 เว้นแต่จะแสดงให้เห็นได้ว่าเป็นกรณีตามข้อ 16

เพื่อประโยชน์ในการพิจารณาตามข้อ 15 และข้อ 16

(1) การพิจารณาสัดส่วนการถือหุ้น ให้คำนวณตามจำนวนหุ้นที่มีสิทธิออกเสียงทั้งหมดของนิติบุคคลที่ถูกถือหุ้น

(2) คำว่า “บริษัทอื่น” ให้หมายความรวมถึงห้างหุ้นส่วนจำกัดด้วย

ข้อ 15 ผู้ขออนุญาตและบริษัทอื่นต้องไม่มีการถือหุ้นไขว้ระหว่างกันที่ขัดหรือแย้งต่อหลักเกณฑ์ดังต่อไปนี้

(1) กรณีการถือหุ้นเกินกว่าร้อยละ 50

(ก) ผู้ขออนุญาตต้องไม่ถือหุ้นไขว้ในบริษัทอื่น ในกรณีที่บริษัทอื่นเป็นผู้ถือหุ้นในผู้ขออนุญาตเกินกว่าร้อยละ 50

(ข) ในกรณีที่ผู้ขออนุญาตเป็นผู้ถือหุ้นในบริษัทอื่นเกินกว่าร้อยละ 50 ต้องไม่ปรากฏว่าบริษัทอื่นถือหุ้นไขว้ในผู้ขออนุญาต

(ค) ในกรณีที่ผู้ขออนุญาตเป็นผู้ถือหุ้นเกินกว่าร้อยละ 50 ในบริษัทอื่น ตั้งแต่ 2 บริษัทขึ้นไป ต้องไม่ปรากฏว่าบริษัทอื่นเหล่านั้นถือหุ้นไขว้ระหว่างกัน

(2) กรณีการถือหุ้นเกินกว่าร้อยละ 25 แต่ไม่เกินกว่าร้อยละ 50

(ก) ผู้ขออนุญาตต้องไม่ถือหุ้นไขว้ในบริษัทอื่นเกินกว่าร้อยละ 10 ในกรณีที่บริษัทอื่นเป็นผู้ถือหุ้นในผู้ขออนุญาตเกินกว่าร้อยละ 25 แต่ไม่เกินกว่าร้อยละ 50

(ข) ในกรณีที่ผู้ขออนุญาตเป็นผู้ถือหุ้นในบริษัทอื่นเกินกว่าร้อยละ 25 แต่ไม่เกินกว่า ร้อยละ 50 ต้องไม่ปรากฏว่าบริษัทอื่นถือหุ้นไขว้ในผู้ขออนุญาตเกินกว่าร้อยละ 10

(3) กรณีการถือหุ้นไม่เกินกว่าร้อยละ 25

(ก) ผู้ขออนุญาตต้องไม่ถือหุ้นไขว้ในบริษัทอื่นเกินกว่าร้อยละ 25 ในกรณีที่บริษัทอื่นเป็นผู้ถือหุ้นในผู้ขออนุญาตไม่เกินกว่าร้อยละ 25

(ข) ในกรณีที่ผู้ขออนุญาตเป็นผู้ถือหุ้นในบริษัทอื่นไม่เกินกว่าร้อยละ 25 ต้องไม่ปรากฏว่าบริษัทอื่นถือหุ้นไขว้ในผู้ขออนุญาตเกินกว่าร้อยละ 25

เพื่อประโยชน์ในการพิจารณาตามวรรคหนึ่ง

(1) การพิจารณาการถือหุ้นของผู้ขออนุญาตหรือของบริษัทอื่น ให้นับการถือหุ้นไม่ว่าโดยทางตรงหรือทางอ้อมของบุคคลดังต่อไปนี้ รวมเป็นการถือหุ้นของผู้ขออนุญาตหรือของบริษัทอื่นตามแต่กรณีด้วย

(ก) การถือหุ้นของผู้ขออนุญาตหรือบริษัทอื่น แล้วแต่กรณี ที่มีการถือหุ้นโดยทางอ้อมผ่านนิติบุคคลอื่นทุกทอดตลอดสายเท่าที่การถือหุ้นในแต่ละทอดยังคงเกินกว่าร้อยละ 25 ของนิติบุคคลอื่นนั้น

(ข) ผู้ถือหุ้นของผู้ขออนุญาตหรือผู้ถือหุ้นของบุคคลตาม (ก) ที่เป็นสายของผู้ขออนุญาต ซึ่งเป็นบุคคลธรรมดาและถือหุ้นในผู้ขออนุญาตหรือบุคคลตาม (ก) เกินกว่าร้อยละ 25 ของผู้ขออนุญาตหรือบุคคลตาม (ก) นั้น

(ค) ผู้ถือหุ้นของบริษัทอื่นหรือผู้ถือหุ้นของบุคคลตาม (ก) ที่เป็นสายของบริษัทอื่น ซึ่งเป็นบุคคลธรรมดาและถือหุ้นในบริษัทอื่นหรือบุคคลตาม (ก) เกินกว่าร้อยละ 25 ของบริษัทอื่นหรือบุคคลตาม (ก) นั้น

(ง) การถือหุ้นของคู่สมรสและบุตรที่ยังไม่บรรลุนิติภาวะของผู้ถือหุ้นตาม (ข) หรือ (ค)

(2) ให้สำนักงานมีอำนาจประกาศกำหนดการนับรวมการถือหุ้นของบุคคลที่มีลักษณะเป็นการถือหุ้นไขว้โดยทางอ้อมซึ่งมีผลต่อความชัดเจนในโครงสร้างการถือหุ้น

ข้อ 16 ผู้ขออนุญาตอาจได้รับการผ่อนผันให้ถือหุ้นไขว้ไม่ว่าโดยทางตรงหรือทางอ้อมกับบริษัทอื่นโดยไม่ต้องอยู่ภายใต้บังคับตามข้อ 15 ได้ หากเป็นไปตามเงื่อนไขอย่างใดอย่างหนึ่งดังต่อไปนี้

(1) มีกลุ่มผู้ถือหุ้นรายอื่นที่ไม่เป็นบุคคลที่มีสายสัมพันธ์ ถือหุ้นในผู้ขออนุญาตหรือบริษัทอื่น แล้วแต่กรณี รวมกันในสัดส่วนที่มากกว่าการถือหุ้นตามข้อ 15 ของผู้ขออนุญาตหรือบริษัทอื่น แล้วแต่กรณี ซึ่งสามารถถ่วงดุลการใช้อำนาจควบคุมในผู้ขออนุญาตหรือบริษัทอื่น แล้วแต่กรณีได้

(2) การถือหุ้นไขว้มีเหตุจำเป็นและสมควร และไม่ก่อให้เกิดความไม่เป็นธรรมต่อผู้ถือหุ้น

เพื่อประโยชน์ในการพิจารณาตามวรรคหนึ่ง คำว่า “บุคคลที่มีสายสัมพันธ์” ให้หมายความถึงบุคคลที่อาจมีความขัดแย้ง โดยอนุโลม

ข้อ 17 โครงสร้างคณะกรรมการและการจัดการของผู้ขออนุญาต ต้องเป็นไปตามหลักเกณฑ์ดังต่อไปนี้

(1) มีกรรมการอิสระอย่างน้อย 1 ใน 3 ของจำนวนกรรมการทั้งหมดของผู้ขออนุญาตแต่ต้องไม่น้อยกว่า 3 คน

(2) กรรมการอิสระแต่ละคนของผู้ขออนุญาตต้องเป็นไปตามหลักเกณฑ์ดังนี้

(ก) ถือหุ้นไม่เกินร้อยละ 1 ของจำนวนหุ้นที่มีสิทธิออกเสียงทั้งหมดของผู้ขออนุญาต บริษัทใหญ่ บริษัทย่อย บริษัทร่วม ผู้ถือหุ้นรายใหญ่ หรือผู้มีอำนาจควบคุมของผู้ขออนุญาต ทั้งนี้ ให้นับรวมการถือหุ้นของผู้ที่เกี่ยวข้องของกรรมการอิสระรายนั้น ๆ ด้วย

(ข) ไม่เป็นหรือเคยเป็นกรรมการที่มีส่วนร่วมบริหารงาน ลูกจ้าง พนักงาน ที่ปรึกษาที่ได้เงินเดือนประจำ หรือผู้มีอำนาจควบคุมของผู้ขออนุญาต บริษัทใหญ่ บริษัทย่อย บริษัทร่วม บริษัทย่อยลำดับเดียวกัน ผู้ถือหุ้นรายใหญ่ หรือของผู้มีอำนาจควบคุมของผู้ขออนุญาต เว้นแต่จะได้พ้นจากการมีลักษณะดังกล่าวมาแล้วไม่น้อยกว่า 2 ปีก่อนวันที่ยื่นคำขออนุญาตต่อสำนักงาน ทั้งนี้ ลักษณะต้องห้ามดังกล่าวไม่รวมถึงกรณีที่กรรมการอิสระเคยเป็นข้าราชการ หรือที่ปรึกษา ของส่วนราชการซึ่งเป็นผู้ถือหุ้นรายใหญ่ หรือผู้มีอำนาจควบคุมของผู้ขออนุญาต

(ค) ไม่เป็นบุคคลที่มีความสัมพันธ์ทางสายโลหิต หรือโดยการจดทะเบียนตามกฎหมายในลักษณะที่เป็นบิดา มารดา คู่สมรส พี่น้อง และบุตร รวมทั้งคู่สมรสของบุตร ของกรรมการรายอื่น ผู้บริหาร ผู้ถือหุ้นรายใหญ่ ผู้มีอำนาจควบคุม หรือบุคคลที่จะได้รับการเสนอให้เป็นกรรมการ ผู้บริหาร หรือผู้มีอำนาจควบคุมของผู้ขออนุญาตหรือบริษัทย่อย

(ง) ไม่มีหรือเคยมีความสัมพันธ์ทางธุรกิจกับผู้ขออนุญาต บริษัทใหญ่ บริษัทย่อย บริษัทร่วม ผู้ถือหุ้นรายใหญ่ หรือผู้มีอำนาจควบคุมของผู้ขออนุญาต ในลักษณะที่อาจเป็นการขัดขวางการใช้วิจารณญาณอย่างอิสระของตน รวมทั้งไม่เป็นหรือเคยเป็นผู้ถือหุ้นที่มีนัย หรือผู้มีอำนาจควบคุมของผู้ที่มีความสัมพันธ์ทางธุรกิจกับผู้ขออนุญาต บริษัทใหญ่ บริษัทย่อย บริษัทร่วม ผู้ถือหุ้นรายใหญ่ หรือผู้มีอำนาจควบคุมของผู้ขออนุญาต เว้นแต่จะได้พ้นจากการมีลักษณะดังกล่าวมาแล้วไม่น้อยกว่า 2 ปีก่อนวันที่ยื่นคำขออนุญาตต่อสำนักงาน

ความสัมพันธ์ทางธุรกิจตามวรรคหนึ่ง รวมถึงการทำรายการทางการค้าที่กระทำ เป็นปกติเพื่อประกอบกิจการ การเช่าหรือให้เช่าอสังหาริมทรัพย์ รายการเกี่ยวกับสินทรัพย์หรือบริการ หรือการให้หรือรับความช่วยเหลือทางการเงิน ด้วยการรับหรือให้กู้ยืม ค้ำประกัน การให้สินทรัพย์เป็นหลักประกันหนี้สิน รวมถึงพฤติการณ์อื่นทำนองเดียวกัน ซึ่งเป็นผลให้ผู้ขออนุญาตหรือคู่สัญญา มีภาระหนี้ที่ต้องชำระต่ออีกฝ่ายหนึ่ง ตั้งแต่ร้อยละ 3 ของสินทรัพย์ที่มีตัวตนสุทธิของผู้ขออนุญาต หรือตั้งแต่ 20 ล้านบาทขึ้นไป แล้วแต่จำนวนใดจะต่ำกว่า ทั้งนี้ การคำนวณภาระหนี้ดังกล่าวให้เป็นไปตามวิธีการคำนวณมูลค่าของรายการที่เกี่ยวโยงกันตามประกาศคณะกรรมการกำกับตลาดทุนว่าด้วยหลักเกณฑ์ในการทำรายการที่เกี่ยวโยงกัน โดยอนุโลม แต่ในการพิจารณาภาระหนี้ดังกล่าว ให้นับรวมภาระหนี้ที่เกิดขึ้นในระหว่าง 1 ปีก่อนวันที่มีความสัมพันธ์ทางธุรกิจกับบุคคลเดียวกัน

(จ) ไม่เป็นหรือเคยเป็นผู้สอบบัญชีของผู้ขออนุญาต บริษัทใหญ่ บริษัทย่อย บริษัทร่วม ผู้ถือหุ้นรายใหญ่ หรือผู้มีอำนาจควบคุมของผู้ขออนุญาต และไม่เป็นผู้ถือหุ้นที่มีนัย ผู้มีอำนาจควบคุม หรือหุ้นส่วนของสำนักงานสอบบัญชี ซึ่งมีผู้สอบบัญชีของผู้ขออนุญาต บริษัทใหญ่ บริษัทย่อย บริษัทร่วม ผู้ถือหุ้นรายใหญ่ หรือผู้มีอำนาจควบคุมของผู้ขออนุญาตสังกัดอยู่ เว้นแต่จะได้พ้นจากการมีลักษณะดังกล่าวมาแล้วไม่น้อยกว่า 2 ปีก่อนวันที่ยื่นคำขออนุญาตต่อสำนักงาน

(ฉ) ไม่เป็นหรือเคยเป็นผู้ให้บริการทางวิชาชีพใด ๆ ซึ่งรวมถึงการให้บริการเป็นที่ปรึกษากฎหมายหรือที่ปรึกษาทางการเงิน ซึ่งได้รับค่าบริการเกินกว่า 2 ล้านบาทต่อปีจากผู้ขออนุญาต บริษัทใหญ่ บริษัทย่อย บริษัทร่วม ผู้ถือหุ้นรายใหญ่ หรือผู้มีอำนาจควบคุมของผู้ขออนุญาต และไม่เป็นผู้ถือหุ้นที่มีนัย ผู้มีอำนาจควบคุม หรือหุ้นส่วนของผู้ให้บริการทางวิชาชีพนั้นด้วย เว้นแต่จะได้พ้นจากการมีลักษณะดังกล่าวมาแล้วไม่น้อยกว่า 2 ปีก่อนวันที่ยื่นคำขออนุญาตต่อสำนักงาน

(ช) ไม่เป็นกรรมการที่ได้รับการแต่งตั้งขึ้นเพื่อเป็นตัวแทนของกรรมการของผู้ขออนุญาต ผู้ถือหุ้นรายใหญ่ หรือผู้ถือหุ้นซึ่งเป็นผู้ที่เกี่ยวข้องกับผู้ถือหุ้นรายใหญ่

(ซ) ไม่ประกอบกิจการที่มีสภาพอย่างเดียวกันและเป็นการแข่งขันที่มีนัยกับกิจการของผู้ขออนุญาตหรือบริษัทย่อย หรือไม่เป็นหุ้นส่วนที่มีนัยในห้างหุ้นส่วน หรือเป็นกรรมการที่มีส่วนร่วมบริหารงาน ลูกจ้าง พนักงาน ที่ปรึกษาที่รับเงินเดือนประจำ หรือถือหุ้นเกินร้อยละ 1 ของจำนวนหุ้นที่มีสิทธิออกเสียงทั้งหมดของบริษัทอื่น ซึ่งประกอบกิจการที่มีสภาพอย่างเดียวกันและเป็นการแข่งขันที่มีนัยกับกิจการของผู้ขออนุญาตหรือบริษัทย่อย

(ฌ) ไม่มีลักษณะอื่นใดที่ทำให้ไม่สามารถให้ความเห็นอย่างเป็นอิสระเกี่ยวกับการดำเนินงานของผู้ขออนุญาต ภายหลังได้รับการแต่งตั้งให้เป็นกรรมการอิสระที่มีลักษณะเป็นไปตามวรรคหนึ่ง (ก) ถึง (ฌ) แล้ว กรรมการอิสระอาจได้รับมอบหมายจากคณะกรรมการ ให้ตัดสินใจในการดำเนินกิจการของผู้ขออนุญาต บริษัทใหญ่ บริษัทย่อย บริษัทร่วม บริษัทย่อยลำดับเดียวกัน ผู้ถือหุ้นรายใหญ่ หรือผู้มีอำนาจควบคุมของผู้ขออนุญาต โดยมีการตัดสินใจในรูปแบบขององค์คณะ (collective decision) ได้

ในกรณีที่บุคคลที่ผู้ขออนุญาตแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งกรรมการอิสระเป็นบุคคลที่มีหรือเคยมีความสัมพันธ์ทางธุรกิจหรือการให้บริการทางวิชาชีพเกินมูลค่าที่กำหนดตามวรรคหนึ่ง (ง) หรือ (ฉ) ให้ผู้ขออนุญาตได้รับการผ่อนผันข้อห้ามการมีหรือเคยมีความสัมพันธ์ทางธุรกิจหรือการให้บริการทางวิชาชีพเกินมูลค่าดังกล่าว ก็ต่อเมื่อผู้ขออนุญาตได้จัดให้มีความเห็นคณะกรรมการบริษัทที่แสดงว่าได้พิจารณาตามหลักในมาตรา 89/7 แล้วว่า การแต่งตั้งบุคคลดังกล่าวไม่มีผลกระทบต่อการปฏิบัติหน้าที่และการให้ความเห็นที่เป็นอิสระ และจัดให้มีการเปิดเผยข้อมูลต่อไปนี้ในหนังสือนัดประชุมผู้ถือหุ้นในวาระพิจารณาแต่งตั้งกรรมการอิสระด้วย

(ก) ลักษณะความสัมพันธ์ทางธุรกิจหรือการให้บริการทางวิชาชีพ ที่ทำให้บุคคลดังกล่าวมีคุณสมบัติไม่เป็นไปตามหลักเกณฑ์ที่กำหนด

(ข) เหตุผลและความจำเป็นที่ยังคงหรือแต่งตั้งให้บุคคลดังกล่าวเป็นกรรมการอิสระ

(ค) ความเห็นของคณะกรรมการของผู้ขออนุญาตในการเสนอให้มีการแต่งตั้งบุคคลดังกล่าวเป็นกรรมการอิสระ

เพื่อประโยชน์ตามวรรคหนึ่ง (จ) และ (ฉ) คำว่า “หุ้นส่วน” หมายความว่า บุคคลที่ได้รับมอบหมายจากสำนักงานสอบบัญชี หรือผู้ให้บริการทางวิชาชีพ ให้เป็นผู้ลงลายมือชื่อในรายงานการสอบบัญชี หรือรายงานการให้บริการทางวิชาชีพ (แล้วแต่กรณี) ในนามของนิติบุคคลนั้น

(3) มีกรรมการตรวจสอบอย่างน้อย 3 คน ซึ่งต้องเป็นไปตามหลักเกณฑ์ดังนี้

(ก) ได้รับแต่งตั้งจากคณะกรรมการหรือที่ประชุมผู้ถือหุ้นของผู้ขออนุญาตให้เป็นกรรมการตรวจสอบ

(ข) เป็นกรรมการอิสระที่เป็นไปตาม (2) และต้อง

1. ไม่เป็นกรรมการที่ได้รับมอบหมายจากคณะกรรมการ ให้ตัดสินใจในการดำเนินกิจการของผู้ขออนุญาต บริษัทใหญ่ บริษัทย่อย บริษัทร่วม บริษัทย่อยลำดับเดียวกัน ผู้ถือหุ้นรายใหญ่ หรือผู้มีอำนาจควบคุมของผู้ขออนุญาต และ

2. ไม่เป็นกรรมการของบริษัทใหญ่ บริษัทย่อย หรือบริษัทย่อยลำดับเดียวกันเฉพาะที่เป็นบริษัทจดทะเบียน

(ค) มีหน้าที่ในลักษณะเดียวกับที่กำหนดไว้ในประกาศตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยว่าด้วยคุณสมบัติและขอบเขตการดำเนินงานของคณะกรรมการตรวจสอบ

(ง) มีความรู้และประสบการณ์เพียงพอที่จะสามารถทำหน้าที่ในฐานะกรรมการตรวจสอบ ทั้งนี้ ต้องมีกรรมการตรวจสอบอย่างน้อย 1 คนที่มีความรู้และประสบการณ์ เพียงพอที่จะสามารถทำหน้าที่ในการสอบทานความน่าเชื่อถือของงบการเงินได้

(4) ในกรณีที่คณะกรรมการมีการมอบหมายให้ผู้จัดการ หรือบุคคลอื่นปฏิบัติการแทนคณะกรรมการในเรื่องใด การมอบหมายดังกล่าวต้องจัดทำเป็นลายลักษณ์อักษร หรือบันทึกเป็นมติคณะกรรมการในรายงานการประชุมคณะกรรมการอย่างชัดเจน และมีการระบุขอบเขตอำนาจหน้าที่ของผู้รับมอบอำนาจไว้อย่างชัดเจน

ข้อ 18 งบการเงินของผู้ขออนุญาตและงบการเงินรวมประจำงวดปีบัญชีล่าสุด และงบการเงินไตรมาสสุดท้ายก่อนยื่นคำขอ ต้องเป็นไปตามหลักเกณฑ์ดังต่อไปนี้

(1) จัดทำขึ้นตามมาตรฐานการรายงานทางการเงินและเป็นไปตามหลักเกณฑ์อื่นที่ออกตามความในมาตรา 56

(2) ผ่านการตรวจสอบ หรือสอบทาน (กรณีงบการเงินรายไตรมาส) จากผู้สอบบัญชีที่อยู่ในบัญชีที่สำนักงานให้ความเห็นชอบ โดยผู้สอบบัญชีดังกล่าวได้ปฏิบัติหน้าที่ครบถ้วนตามมาตรฐานการสอบบัญชี

(3) รายงานการสอบบัญชีของผู้สอบบัญชีตาม (2) ต้องไม่มีความหมายในลักษณะดังนี้

(ก) การจัดทำและเปิดเผยข้อมูลในงบการเงินไม่เป็นไปตามมาตรฐานการรายงานทางการเงินที่ต้องใช้ในการจัดทำงบการเงินนั้น

(ข) ผู้สอบบัญชีถูกจำกัดขอบเขตการตรวจสอบหรือสอบทาน แล้วแต่กรณี โดยการกระทำหรือไม่กระทำของบริษัทที่ออกหลักทรัพย์ หรือของกรรมการหรือผู้บริหารของ บริษัทที่ออกหลักทรัพย์

ในกรณีที่ผู้ขออนุญาตมีบริษัทย่อย ผู้ขออนุญาตต้องแสดงได้ว่าบริษัทย่อยดังกล่าวสามารถจัดทำข้อมูลทางการเงินและข้อมูลการเปิดเผยอื่นให้แก่ผู้ขออนุญาตเพื่อให้ผู้ขออนุญาตสามารถจัดทำงบการเงินให้เป็นไปตามมาตรฐานการบัญชีที่กำหนดในวรรคหนึ่ง (1)

ข้อ 19 ผู้ขออนุญาตต้องไม่มีลักษณะอย่างใดอย่างหนึ่งดังต่อไปนี้ เว้นแต่เป็นไปตามเงื่อนไขที่กำหนดในข้อ 20

(1) ภายในระยะเวลา 5 ปีก่อนวันยื่นคำขออนุญาตเสนอขายหุ้นที่ออกใหม่ ผู้ขออนุญาตต้องไม่มีลักษณะอย่างใดอย่างหนึ่งดังนี้

(ก) เคยมีประวัติฝ่าฝืนหลักเกณฑ์หรือเงื่อนไขเกี่ยวกับการเสนอขายหลักทรัพย์ในเรื่องที่มีนัยสำคัญ

(ข) เคยถูกสำนักงานปฏิเสธคำขออนุญาตเสนอขายหุ้นที่ออกใหม่ เนื่องจากมีเหตุที่มีนัยสำคัญอันควรสงสัยเกี่ยวกับกลไกการบริหารจัดการในลักษณะอย่างใดอย่างหนึ่งดังนี้

1. อาจไม่สามารถปฏิบัติต่อผู้ถือหุ้นได้อย่างเป็นธรรมโดยอาจมีการเอื้อประโยชน์ให้แก่ผู้ถือหุ้นกลุ่มใดกลุ่มหนึ่งซึ่งจะทำให้ได้เปรียบผู้ถือหุ้นรายอื่นหรือได้ประโยชน์มากกว่าผู้ถือหุ้นรายอื่นโดยไม่สมควร

2. อาจไม่สามารถรักษาสิทธิของผู้ถือหุ้นได้โดยทำให้บุคคลใดบุคคลหนึ่งได้รับประโยชน์ทางการเงินนอกเหนือจากที่พึงได้ตามปกติ หรือโดยทำให้บริษัทเสียประโยชน์ที่พึงได้รับ

(ค) เคยถูกสำนักงานปฏิเสธคำขออนุญาตเสนอขายหลักทรัพย์ที่ออกใหม่เนื่องจากมีเหตุที่ทำให้สงสัยเกี่ยวกับการเปิดเผยข้อมูลต่อประชาชนที่ไม่ครบถ้วน ไม่เพียงพอต่อการตัดสินใจลงทุน หรือทำให้ผู้ลงทุนสำคัญผิด ซึ่งมีลักษณะเป็นการปกปิดหรืออำพราง หรือสร้างข้อมูลที่อาจไม่มีอยู่จริงในรายการหรือการดำเนินการที่มีนัยสำคัญ

(ง) เคยถอนคำขออนุญาตเสนอขายหลักทรัพย์ที่ออกใหม่โดยไม่มีการชี้แจงเหตุสงสัยตาม (ข) หรือ (ค) ต่อสำนักงาน หรือโดยมีการชี้แจงแต่ไม่ได้แสดงข้อเท็จจริงหรือเหตุผลอย่างสมเหตุสมผลที่จะหักล้างข้อสงสัยตาม (ข) หรือ (ค) นั้น

(2) ภายในระยะเวลา 10 ปีก่อนวันยื่นคำขออนุญาตเสนอขายหุ้นที่ออกใหม่ผู้ขออนุญาตเคยต้องคำพิพากษาถึงที่สุดให้ลงโทษในความผิดเกี่ยวกับทรัพย์เฉพาะในมูลเหตุเนื่องจาก การดำเนินการที่มีลักษณะหลอกลวง ฉ้อโกง หรือทุจริต อันเป็นเหตุที่ทำให้เกิดความเสียหายในวงกว้าง ทั้งนี้ ไม่ว่าตามกฎหมายไทยหรือกฎหมายต่างประเทศ

(3) อยู่ระหว่างถูกกล่าวโทษหรือถูกดำเนินคดีในความผิดเกี่ยวกับทรัพย์โดยหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เฉพาะในมูลเหตุเนื่องจากการดำเนินการที่มีลักษณะหลอกลวง ฉ้อโกง หรือทุจริตอันเป็นเหตุที่ทำให้เกิดความเสียหายในวงกว้าง ทั้งนี้ ไม่ว่าตามกฎหมายไทยหรือกฎหมายต่างประเทศ

(4) เป็นบุคคลที่มีเหตุอันควรสงสัยว่าเป็นการจัดรูปแบบเพื่อให้บุคคลที่มีลักษณะตาม (1) (2) หรือ (3) หลีกเลี่ยงมิให้สำนักงานใช้หลักเกณฑ์การพิจารณาตาม (1) (2) หรือ (3) กับบุคคลที่มีลักษณะดังกล่าวนั้น

ข้อ 20 มิให้นำความในข้อ 19(1) และ (2) แล้วแต่กรณี มาใช้บังคับกับผู้ขออนุญาตซึ่งได้แก้ไขเปลี่ยนแปลงเหตุ ระบบงาน ระบบการบริหารจัดการ และการควบคุมการดำเนินงานที่ทำให้ผู้ขออนุญาตมีลักษณะตามข้อ 19(1) หรือ (2) แล้ว

ข้อ 21 ให้บริษัทมหาชนจำกัดที่ประสงค์จะเสนอขายหุ้นที่ออกใหม่ต่อประชาชนเป็นครั้งแรก ดำเนินการดังต่อไปนี้

(1) ยื่นคำขออนุญาตต่อสำนักงาน พร้อมทั้งเอกสารหลักฐานประกอบคำขออนุญาตทั้งนี้ ตามแบบและวิธีการที่สำนักงานประกาศกำหนด

(2) จัดให้มีที่ปรึกษาทางการเงินที่อยู่ในบัญชีที่สำนักงานให้ความเห็นชอบเป็นผู้ร่วมจัดทำคำขออนุญาต

(3) ชำระค่าธรรมเนียมคำขออนุญาตต่อสำนักงานเมื่อแบบคำขออนุญาต พร้อมทั้งเอกสารหลักฐานประกอบคำขออนุญาตถูกต้องครบถ้วนตามคู่มือสำหรับประชาชน ทั้งนี้ ตามอัตราที่กำหนดไว้ในประกาศคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ว่าด้วยการกำหนดค่าธรรมเนียมเกี่ยวกับการขออนุญาตเสนอขายหลักทรัพย์ที่ออกใหม่และการขออนุมัติโครงการแปลงสินทรัพย์เป็นหลักทรัพย์

ในกรณีที่ผู้ขออนุญาตประสงค์จะขอผ่อนผันหลักเกณฑ์ตามหมวดนี้ ให้ผู้ขออนุญาตยื่นคำขอผ่อนผัน พร้อมทั้งเอกสารหลักฐานประกอบคำขอผ่อนผันต่อสำนักงานก่อนที่สำนักงานจะเริ่มพิจารณาคำขออนุญาตตามวรรคหนึ่ง ทั้งนี้ ตามขั้นตอนและวิธีการที่ระบุในคู่มือสำหรับประชาชนโดยสำนักงานจะพิจารณาคำขอผ่อนผันให้แล้วเสร็จภายในระยะเวลาเดียวกันกับการพิจารณาการอนุญาตตามวรรคหนึ่ง

ในกรณีที่สำนักงานมีความจำเป็นต้องไปเยี่ยมชมกิจการ หรือสถานที่อื่นใดของผู้ขออนุญาตหรือบริษัทย่อยซึ่งตั้งอยู่นอกเขตกรุงเทพมหานครหรือปริมณฑล ผู้ขออนุญาตต้องเป็นผู้รับผิดชอบค่าใช้จ่ายเกี่ยวกับค่าที่พักและค่าพาหนะเดินทางที่เกิดขึ้นจากการเยี่ยมชมกิจการตามหลักเกณฑ์ที่สำนักงานกำหนด

ข้อ 22 เมื่อสำนักงานได้รับคำขออนุญาต พร้อมทั้งเอกสารหลักฐานถูกต้องครบถ้วนตามคู่มือสำหรับประชาชนแล้ว ให้สำนักงานดำเนินการดังต่อไปนี้

(1) สอบทานข้อเท็จจริงตามขั้นตอนและวิธีการที่ระบุในคู่มือสำหรับประชาชนและแจ้งประเด็นข้อสังเกตที่ได้จากการสอบทานข้อเท็จจริงเพื่อให้บริษัทชี้แจงข้อสังเกตนั้นภายในระยะเวลาที่กำหนดไว้ในหนังสือแจ้งข้อสังเกต โดยต้องดำเนินการดังกล่าวให้แล้วเสร็จภายใน 120 วันนับแต่วันที่สำนักงานได้รับคำขออนุญาต พร้อมทั้งเอกสารหลักฐานถูกต้องครบถ้วนตามคู่มือสำหรับประชาชน

(2) แจ้งผลการพิจารณาคำขออนุญาตภายใน 45 วันนับแต่วันที่สำนักงานได้รับคำชี้แจงตามข้อสังเกตจากการสอบทานข้อเท็จจริงจากผู้ขออนุญาต

ส่วนที่ 2

หลักเกณฑ์เพิ่มเติมสำหรับการเสนอขายหุ้นที่ออกใหม่

โดยบริษัทที่ประกอบธุรกิจโดยการถือหุ้นใน

บริษัทอื่น (holding company)

_________________

ข้อ 23 ในกรณีที่ผู้ขออนุญาตตามข้อ 12 เป็นบริษัทมหาชนจำกัดที่ประกอบธุรกิจโดยการถือหุ้นในบริษัทอื่น (holding company) และไม่มีการประกอบธุรกิจอย่างมีนัยสำคัญเป็นของตนเองผู้ขออนุญาตต้องแสดงได้ว่ามีลักษณะเป็นไปตามหลักเกณฑ์ดังต่อไปนี้ด้วย

(1) มีการประกอบธุรกิจหลัก ไม่ว่าจะมีธุรกิจเดียวหรือหลายธุรกิจผ่านบริษัทที่ประกอบธุรกิจหลักที่เป็นไปตามหลักเกณฑ์ในข้อ 24 ไม่ว่าบริษัทเดียวหรือหลายบริษัท

(2) ขนาดของบริษัทที่ประกอบธุรกิจหลักตามข้อ 24 ทุกบริษัทรวมกัน เมื่อเปรียบเทียบกับขนาดของผู้ขออนุญาตมีสัดส่วนไม่น้อยกว่าร้อยละ 75 ทั้งนี้ เฉพาะขนาดของบริษัทย่อยตามข้อ 24(1) หรือของบริษัทตามข้อ 24(2) มีสัดส่วนไม่น้อยกว่าร้อยละ 25 ของขนาดของผู้ขออนุญาต

(3) การดำเนินงานของผู้ขออนุญาตไม่มีลักษณะเป็นการประกอบธุรกิจบริหารจัดการเงินลงทุน (investment company) และไม่มีพฤติกรรมอื่นใดที่แสดงให้เห็นว่าการดำเนินงานของผู้ขออนุญาตมีวัตถุประสงค์เพื่อให้ผู้ลงทุนได้รับผลตอบแทนจากการลงทุนในลักษณะเช่นเดียวกับการประกอบธุรกิจบริหารจัดการเงินลงทุน เว้นแต่มีการลงทุนในบริษัทอื่นซึ่งไม่เป็นบริษัทที่ประกอบธุรกิจหลักตามข้อ 24 โดยขนาดของบริษัทอื่นดังกล่าวทุกบริษัทรวมกันมีสัดส่วนไม่เกินร้อยละ 25 ของขนาดของผู้ขออนุญาต

(4) มีกลไกการกำกับดูแลที่ทำให้ผู้ขออนุญาตสามารถควบคุมดูแลการจัดการและรับผิดชอบการดำเนินงานของบริษัทย่อยตามข้อ 24(1) ได้ เสมือนเป็นหน่วยงานหนึ่งของผู้ขออนุญาต รวมทั้งมีมาตรการในการติดตามการบริหารงานของบริษัทดังกล่าวเพื่อดูแลรักษาผลประโยชน์ในเงินลงทุนของผู้ขออนุญาตให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์ในข้อ 25

(5) บริษัทย่อยตามข้อ 24(1) หรือบริษัทตามข้อ 24(2) ต้องมีคุณสมบัติเช่นเดียวกับผู้ขออนุญาตตามหลักเกณฑ์ในข้อ 12 โดยอนุโลม ยกเว้นหลักเกณฑ์ในเรื่องโครงสร้างคณะกรรมการและ การจัดการตามข้อ 12(2) (ข) และงบการเงินตามข้อ 18 วรรคหนึ่ง

(6) ในกรณีที่บริษัทย่อยตามข้อ 24(1) หรือบริษัทตามข้อ 24(2) เป็นบริษัทต่างประเทศ ต้องเป็นไปตามหลักเกณฑ์ดังนี้ด้วย

(ก) กรรมการของบริษัทดังกล่าวอย่างน้อย 1 คนต้องมีถิ่นที่อยู่ในประเทศไทย

(ข) งบการเงินของบริษัทดังกล่าวต้องผ่านการตรวจสอบหรือสอบทาน แล้วแต่กรณี โดยบุคคลใดบุคคลหนึ่งดังต่อไปนี้

1. ผู้สอบบัญชีของผู้ขออนุญาต เว้นแต่ผู้สอบบัญชีดังกล่าวไม่สามารถทำการสอบบัญชีได้โดยชอบด้วยกฎหมายหรือกฎเกณฑ์ของประเทศที่บริษัทดังกล่าวจัดตั้งขึ้น

2. ผู้สอบบัญชีท้องถิ่นซึ่งสังกัดสำนักงานสอบบัญชีที่เป็นเครือข่ายเดียวกับสำนักงานสอบบัญชีของผู้สอบบัญชีของผู้ขออนุญาต โดยสำนักงานสอบบัญชีทั้ง 2 แห่งนั้นเป็นสมาชิกประเภทเต็มรูปแบบ (full member) ของเครือข่ายดังกล่าว

ผู้สอบบัญชีของผู้ขออนุญาตตามวรรคหนึ่ง หมายความว่า ผู้สอบบัญชีที่ลงลายมือชื่อตรวจสอบหรือสอบทานงบการเงินของผู้ขออนุญาตตามข้อ 18(2)

(ค) แสดงได้ว่ากฎหมายและกฎเกณฑ์ของประเทศที่บริษัทดังกล่าวจัดตั้งขึ้นมีหลักเกณฑ์เกี่ยวกับการบริหารกิจการของบริษัทและการคุ้มครองผู้ถือหุ้นในเรื่องที่สำคัญเทียบเคียงได้กับกฎหมายที่กำกับดูแลบริษัทมหาชนจำกัดของประเทศไทย หรือแสดงได้ว่ามีกลไกที่จะทำให้การบริหารกิจการของบริษัทและการคุ้มครองผู้ถือหุ้นในเรื่องที่สำคัญดังกล่าวเทียบเท่ากับกฎหมายที่กำกับดูแลบริษัทมหาชนจำกัดของประเทศไทย

(7) ในกรณีที่ผู้ขออนุญาตมีบริษัทย่อยตามข้อ 24(1) หรือบริษัทตามข้อ 24(2) เป็นบริษัทต่างประเทศ หากผู้ขออนุญาตมีบุคคลต่างด้าวเป็นผู้ถือหุ้นรวมกันเกินกว่าร้อยละ 50 ของจำนวนสิทธิออกเสียงทั้งหมดของผู้ขออนุญาต หรือผู้ขออนุญาตมีบุคคลต่างด้าวเป็นผู้ถือหุ้นไม่ว่าในจำนวนใด ๆ เป็นผู้มีบทบาทในการบริหารจัดการผู้ขออนุญาตอย่างมีนัยสำคัญ นอกจากต้องเป็นไปตามหลักเกณฑ์ใน (6) แล้ว ต้องเป็นไปตามหลักเกณฑ์เพิ่มเติมดังต่อไปนี้ด้วย

(ก) ผู้ขออนุญาตต้องมีกรรมการอย่างน้อย 2 คนเป็นบุคคลสัญชาติไทยซึ่งมีถิ่นที่อยู่ในประเทศไทยด้วย โดยอย่างน้อย 1 คนในจำนวนดังกล่าวต้องเป็นกรรมการตรวจสอบตามข้อ 17(3)

(ข) ไม่มีเหตุอันควรสงสัยว่าหน่วยงานกำกับดูแลตลาดทุนของประเทศที่บริษัทดังกล่าวจัดตั้งขึ้น หรือมีการประกอบธุรกิจที่มีนัยสำคัญ จะไม่สามารถให้ความช่วยเหลือแก่สำนักงานในการตรวจสอบหรือให้ข้อมูลเกี่ยวกับการฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามข้อกำหนดของกฎหมายว่าด้วยหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ และหลักเกณฑ์ที่ออกตามกฎหมายดังกล่าว

(ค) แสดงได้ว่าผู้ขออนุญาตได้จัดให้มีสัญญาที่ผูกพันที่ปรึกษาทางการเงินที่ร่วมจัดทำคำขออนุญาตให้ทำหน้าที่ตามที่กำหนดในวรรคสอง เป็นระยะเวลาติดต่อกัน 3 ปีนับจากวันที่แบบแสดงรายการข้อมูลการเสนอขายหลักทรัพย์และร่างหนังสือชี้ชวนมีผลใช้บังคับ โดยสัญญาดังกล่าวต้องไม่มีข้อกำหนดเกี่ยวกับการเลิกสัญญาในลักษณะที่อาจส่งผลให้ผู้ขออนุญาตหรือที่ปรึกษาทางการเงินใช้เป็นเหตุในการหลีกเลี่ยงการปฏิบัติหน้าที่ดังกล่าว

สัญญาตามวรรคหนึ่งต้องมีข้อกำหนดให้ที่ปรึกษาทางการเงินชี้แจงข้อมูลเมื่อเกิดเหตุการณ์ตามที่กำหนดในข้อ 21(2) (3) และ (4) แห่งประกาศสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ว่าด้วยการให้ความเห็นชอบที่ปรึกษาทางการเงินและขอบเขตการดำเนินงาน และติดตามดูแลและให้คำแนะนำแก่ผู้ขออนุญาตในการปฏิบัติหน้าที่ภายหลังการออกและเสนอขายหลักทรัพย์โดยเฉพาะอย่างยิ่งหน้าที่ดังต่อไปนี้

1. การจัดทำและส่งแบบแสดงรายการข้อมูลประจำปี และสารสนเทศอื่นที่สำคัญของผู้ขออนุญาต

2. การปฏิบัติตามหลักเกณฑ์ในมาตรา 57 และมาตรา 58

3. การปฏิบัติให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์เกี่ยวกับการทำรายการที่เกี่ยวโยงกันและหลักเกณฑ์เกี่ยวกับการทำรายการที่มีนัยสำคัญที่เข้าข่ายเป็นการได้มาหรือจำหน่ายไปซึ่งทรัพย์สิน ตลอดจนร่วมจัดทำรายงานและเอกสารต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้อง

ให้สำนักงานมีอำนาจผ่อนผันหลักเกณฑ์ตามวรรคหนึ่งและวรรคสองไม่ว่าทั้งหมดหรือบางส่วน โดยอาจกำหนดเงื่อนไขให้ผู้ขออนุญาตต้องปฏิบัติด้วยก็ได้

(ง) มูลค่าของหุ้นที่ขออนุญาตเสนอขายยังอยู่ในวงเงินที่ธนาคารแห่งประเทศไทยกำหนดสำหรับการควบคุมการทำธุรกรรมในตลาดทุนที่เกี่ยวข้องกับเงินตราต่างประเทศ

ความในวรรคหนึ่ง (6) (ข) และ (ค) และ (7) มิให้นำมาใช้บังคับในกรณีที่ขนาดของบริษัทย่อยตามข้อ 24(1) หรือบริษัทตามข้อ 24(2) ที่เป็นบริษัทต่างประเทศมีสัดส่วนที่ไม่มีนัยสำคัญเมื่อเทียบกับขนาดของผู้ขออนุญาต

การพิจารณาขนาดของผู้ขออนุญาตและขนาดของบริษัทตามวรรคหนึ่ง (2) และ (3) และวรรคสอง ให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์และวิธีการที่สำนักงานกำหนด

ข้อ 24 บริษัทที่จะถือว่าเป็นบริษัทที่ประกอบธุรกิจหลักตามข้อ 23 วรรคหนึ่ง (1) ของผู้ขออนุญาตซึ่งเป็นบริษัทมหาชนจำกัดที่ประกอบธุรกิจโดยการถือหุ้นในบริษัทอื่น (holding company) ตามข้อ 23 ต้องเป็นไปตามหลักเกณฑ์ดังต่อไปนี้

(1) เป็นบริษัทย่อยของผู้ขออนุญาต

(2) เป็นบริษัทที่ผู้ขออนุญาตไม่สามารถถือหุ้นในบริษัทดังกล่าวได้ถึงสัดส่วนที่จะเป็นบริษัทย่อยตาม (1) เนื่องจากมีข้อจำกัดตามกฎหมายอื่น หรือมีเงื่อนไขในการร่วมทุนกับภาครัฐ โดยผู้ขออนุญาตถือหุ้นไม่น้อยกว่าร้อยละ 40 ของจำนวนสิทธิออกเสียงทั้งหมดของบริษัทดังกล่าว และผู้ขออนุญาตแสดงได้ว่ามีส่วนร่วมในการบริหารจัดการบริษัทดังกล่าวอย่างน้อยตามสัดส่วนการถือหุ้น ในบริษัทนั้น

(3) เป็นบริษัทร่วม ที่มีลักษณะอย่างใดอย่างหนึ่งดังนี้

(ก) เป็นบริษัทที่ผู้ขออนุญาตถือหุ้นเกินกว่าร้อยละ 25 ของจำนวนสิทธิออกเสียงทั้งหมดของบริษัทดังกล่าว

(ข) เป็นบริษัทที่ผู้ขออนุญาตถือหุ้นตั้งแต่ร้อยละ 20 แต่ไม่เกินร้อยละ 25 ของจำนวนสิทธิออกเสียงทั้งหมดของบริษัทดังกล่าว และผู้ขออนุญาตแสดงได้ว่าผู้ขออนุญาตสามารถมีส่วนร่วมในการตัดสินใจในเรื่องที่มีนัยสำคัญของบริษัทนั้นได้ไม่แตกต่างจากการเป็นผู้ถือหุ้นในสัดส่วนเกินกว่าร้อยละ 25 ของจำนวนสิทธิออกเสียงทั้งหมดของบริษัท

(ค) เป็นบริษัทที่ผู้ขออนุญาตแสดงได้ว่าจะเป็นผู้ถือหุ้นในบริษัทดังกล่าวเกินกว่าร้อยละ 25 ของจำนวนสิทธิออกเสียงทั้งหมดของบริษัทภายหลังการเสนอขายหุ้นที่ออกใหม่ซึ่งได้รับอนุญาตในครั้งนี้

ข้อ 25 ผู้ขออนุญาตต้องแสดงได้ว่ามีกลไกในการกำกับดูแลบริษัทย่อยตามข้อ 24(1) อย่างน้อยในลักษณะดังต่อไปนี้

(1) มีการส่งบุคคลเข้าเป็นกรรมการหรือผู้บริหารของบริษัทย่อยอย่างน้อยตามสัดส่วนการถือหุ้นในบริษัทย่อยนั้น และมีระเบียบปฏิบัติหรือข้อกำหนดที่ทำให้การส่งบุคคลดังกล่าวจะต้องได้รับมติเห็นชอบจากที่ประชุมคณะกรรมการของผู้ขออนุญาต

(2) มีการกำหนดขอบเขตหน้าที่และความรับผิดชอบของกรรมการและผู้บริหารที่ได้รับแต่งตั้งตาม (1) ไว้อย่างชัดเจน ซึ่งรวมถึง

(ก) การกำหนดกรอบอำนาจในการใช้ดุลพินิจที่ชัดเจน และที่มีผลให้การพิจารณาของกรรมการและผู้บริหารดังกล่าวในการออกเสียงในการประชุมคณะกรรมการของบริษัทย่อยในเรื่องสำคัญต้องได้รับความเห็นชอบจากคณะกรรมการของผู้ขออนุญาตก่อน

(ข) การติดตามดูแลให้บริษัทย่อยมีการเปิดเผยข้อมูลเกี่ยวกับฐานะการเงินและผลการดำเนินงาน การทำรายการระหว่างกัน และการได้มาหรือจำหน่ายไปซึ่งทรัพย์สินที่มีนัยสำคัญให้ครบถ้วนถูกต้อง

(ค) การติดตามดูแลให้กรรมการและผู้บริหารของบริษัทย่อยปฏิบัติให้เป็นไปตามหน้าที่และความรับผิดชอบตามที่กฎหมายกำหนด

(3) มีกลไกในการกำกับดูแลที่มีผลให้การทำรายการระหว่างบริษัทย่อยกับบุคคลที่เกี่ยวโยง การได้มาหรือจำหน่ายไปซึ่งทรัพย์สิน หรือการทำรายการสำคัญอื่นใดของบริษัทย่อย ต้องได้รับมติจากที่ประชุมคณะกรรมการหรือที่ประชุมผู้ถือหุ้นของผู้ขออนุญาตก่อนการทำรายการดังกล่าว ทั้งนี้ ให้พิจารณาการทำรายการดังกล่าวของบริษัทย่อยทำนองเดียวกับการทำรายการในลักษณะและขนาดเดียวกันกับที่ผู้ขออนุญาตต้องได้รับมติจากที่ประชุมคณะกรรมการหรือที่ประชุมผู้ถือหุ้นของผู้ขออนุญาต

ข้อ 26 ให้นำหลักเกณฑ์ตามข้อ 25(1) และ (2) มาใช้บังคับกับบริษัทที่ประกอบธุรกิจหลักตามข้อ 24(2) และ (3) ด้วย โดยอนุโลม

หมวด 2

การเสนอขายหุ้นเพิ่มทุนโดยบริษัทจดทะเบียน

_________________

ส่วนที่ 1

การเสนอขายหุ้นที่ออกใหม่ในกรณีปกติ

_________________

ข้อ 27 ผู้ขออนุญาตซึ่งเป็นบริษัทจดทะเบียนจะได้รับอนุญาตให้เสนอขายหุ้นที่ออกใหม่ตามส่วนนี้ ต่อเมื่อเป็นไปตามหลักเกณฑ์ดังต่อไปนี้

(1) มีลักษณะเป็นไปตามหลักเกณฑ์ที่กำหนดในข้อ 12(1) (2) (3) (4) (ก) และข้อ 19(1) (ก) เว้นแต่ได้รับการผ่อนผันจากสำนักงาน

(2) ไม่อยู่ระหว่างการดำเนินการในเรื่องใดเรื่องหนึ่งดังนี้

(ก) ค้างการนำส่งงบการเงินหรือรายงานที่มีหน้าที่ต้องจัดทำตามมาตรา 56 หรือมาตรา 199 ประกอบมาตรา 56 แล้วแต่กรณี

(ข) ค้างส่งรายงานที่มีหน้าที่ต้องจัดทำและจัดส่งต่อสำนักงานหรือตลาดหลักทรัพย์ตามมาตรา 57 หรือมาตรา 199 ประกอบมาตรา 57 แล้วแต่กรณี

(ค) ปรับปรุงแก้ไขงบการเงิน หรือรายงานที่มีหน้าที่ต้องจัดทำตามมาตรา 56 หรือมาตรา 57 หรือมาตรา 199 ประกอบมาตรา 56 หรือมาตรา 57 ตามที่สำนักงานหรือตลาดหลักทรัพย์ แล้วแต่กรณี แจ้งให้ดำเนินการปรับปรุงแก้ไข

(ง) ปฏิบัติตามคำสั่งของสำนักงานหรือตลาดหลักทรัพย์ตามมาตรา 58 หรือมาตรา 199 ประกอบมาตรา 58 แล้วแต่กรณี

(3) ไม่อยู่ระหว่างดำเนินการตามคำสั่งของสำนักงานหรือตลาดหลักทรัพย์ในเรื่องที่เกี่ยวข้องกับการไม่รักษาสิทธิของผู้ถือหุ้น การปฏิบัติต่อผู้ถือหุ้นอย่างไม่เป็นธรรม หรือ การเปิดเผยข้อมูลต่อผู้ถือหุ้นและผู้ลงทุนทั่วไป เว้นแต่ได้รับการผ่อนผันจากสำนักงาน

(4) ได้รับมติโดยชัดแจ้งจากที่ประชุมผู้ถือหุ้นของบริษัทซึ่งอนุมัติการเสนอขายหุ้นในครั้งนี้ และมตินั้นได้มาแล้วไม่เกิน 1 ปีจนถึงวันยื่นคำขออนุญาต ทั้งนี้ ในการเรียกประชุมผู้ถือหุ้นเพื่อขอมติดังกล่าว บริษัทได้จัดส่งหนังสือนัดประชุมถึงผู้ถือหุ้นล่วงหน้า โดยหนังสือนัดประชุมดังกล่าว มีข้อมูลตามที่กำหนดในประกาศคณะกรรมการกำกับตลาดทุนว่าด้วยรายการในหนังสือนัดประชุม ผู้ถือหุ้นของบริษัทจดทะเบียนเพื่อขออนุมัติการออกและเสนอขายหลักทรัพย์

(5) ในกรณีที่ประสงค์จะเสนอขายให้เฉพาะบุคคลที่กำหนด (placement) และเป็นการเสนอขายหุ้นที่ออกใหม่ในราคาต่ำกว่าร้อยละ 90 ของราคาตลาด ต้องปฏิบัติตามหลักเกณฑ์ดังต่อไปนี้ด้วย เว้นแต่ได้รับการผ่อนผันจากสำนักงานเนื่องจากมีเหตุจำเป็นและสมควร

(ก) ในการเรียกประชุมผู้ถือหุ้นเพื่อขอมติที่ประชุมผู้ถือหุ้นให้บริษัทเสนอขายหุ้นที่ออกใหม่ในราคาต่ำดังกล่าว บริษัทได้จัดส่งหนังสือนัดประชุมถึงผู้ถือหุ้นล่วงหน้าอย่างน้อย 14 วันก่อนวันประชุมผู้ถือหุ้น

(ข) หนังสือนัดประชุมตาม (ก) ต้องมีข้อมูลตามที่กำหนดในประกาศคณะกรรมการกำกับตลาดทุนว่าด้วยรายการในหนังสือนัดประชุมผู้ถือหุ้นของบริษัทจดทะเบียนเพื่อขออนุมัติการออกและเสนอขายหลักทรัพย์ ในส่วนที่ใช้บังคับกับการขออนุมัติการออกและเสนอขายหุ้นต่อบุคคลในวงจำกัดในราคาต่ำกว่าราคาตลาด โดยอนุโลม

(ค) จัดส่งหนังสือมอบฉันทะไปพร้อมหนังสือนัดประชุมผู้ถือหุ้น โดยมีการแสดงรายละเอียดเกี่ยวกับกรรมการอิสระอย่างน้อย 1 ราย ที่ผู้ถือหุ้นซึ่งไม่สามารถเข้าร่วมประชุมและใช้สิทธิออกเสียงด้วยตนเอง สามารถมอบฉันทะให้เป็นผู้ใช้สิทธิแทนผู้ถือหุ้นได้ และในกรณีที่กรรมการอิสระดังกล่าวเป็นบุคคลที่อาจได้รับการจัดสรรหลักทรัพย์ที่ขออนุมัติ ให้แสดงส่วนได้เสียพิเศษของกรรมการอิสระดังกล่าวด้วย

(ง) ได้รับมติจากที่ประชุมผู้ถือหุ้นอนุมัติการเสนอขายหุ้นที่ออกใหม่ในราคาดังกล่าว ด้วยคะแนนเสียงไม่น้อยกว่า 3 ใน 4 ของจำนวนเสียงทั้งหมดของผู้ถือหุ้นที่มาประชุมและมีสิทธิออกเสียง และไม่มีผู้ถือหุ้นจำนวนรวมกันตั้งแต่ร้อยละ 10 ของจำนวนเสียงทั้งหมดของผู้ถือหุ้นที่มาประชุมและมีสิทธิออกเสียงคัดค้านการเสนอขายหุ้นในราคาดังกล่าว

วิธีการคำนวณราคาเสนอขายและการกำหนดราคาตลาดตามวรรคหนึ่ง ให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์ที่สำนักงานประกาศกำหนด

ข้อ 28 ในกรณีผู้ขออนุญาตซึ่งเป็นบริษัทจดทะเบียนที่ประสงค์จะเสนอขายหุ้นที่ออกใหม่ตามส่วนนี้ เป็นบริษัทมหาชนจำกัดที่ประกอบธุรกิจโดยการถือหุ้นในบริษัทอื่น (holding company) และไม่มีการประกอบธุรกิจอย่างมีนัยสำคัญเป็นของตนเอง ต้องเป็นไปตามหลักเกณฑ์เพิ่มเติมดังต่อไปนี้ด้วย

(1) มีการประกอบธุรกิจหลักผ่านบริษัทย่อยตามข้อ 24(1) หรือผ่านบริษัทตามข้อ 24(2)

(2) มีกลไกการกำกับดูแลบริษัทย่อยตามข้อ 24(1) ให้เป็นไปตามข้อ 25 หรือบริษัทตามข้อ 24(2) ให้เป็นไปตามข้อ 26 แล้วแต่กรณี

(3) การดำเนินงานของบริษัทจดทะเบียนไม่เป็นการลงทุนในบริษัทอื่นในลักษณะเป็นการประกอบธุรกิจบริหารจัดการเงินลงทุน (investment company) และไม่มีพฤติกรรมที่แสดงให้เห็นว่าการดำเนินงานของบริษัทจดทะเบียน การบริหารงานของกรรมการและผู้บริหาร ตลอดจนการเปิดเผยนโยบาย

การดำเนินงานของบริษัทจดทะเบียนต่อสาธารณชน มีวัตถุประสงค์เพื่อให้ผู้ลงทุนได้รับผลตอบแทนจากการลงทุนในลักษณะเช่นเดียวกับการประกอบธุรกิจบริหารจัดการเงินลงทุน เว้นแต่เป็นการลงทุนในบริษัทอื่นซึ่งไม่เป็นบริษัทที่ประกอบธุรกิจหลักตามข้อ 24 โดยเป็นไปตามหลักเกณฑ์ในข้อ 29 หรือเป็นการลงทุนในบริษัทอื่นที่ไม่เป็นไปตามข้อ 29 ก่อนวันที่ 1 กันยายน พ.ศ. 2555 และตั้งแต่วันดังกล่าวบริษัทจดทะเบียนไม่มีการลงทุนเพิ่มในบริษัทอื่นอีก

(4) ในกรณีที่บริษัทย่อยตามข้อ 24(1) หรือบริษัทตามข้อ 24(2) จัดตั้งขึ้นตามกฎหมายต่างประเทศ ต้องเป็นไปตามหลักเกณฑ์ดังต่อไปนี้ เว้นแต่ในกรณีที่ขนาดของบริษัทดังกล่าวมีสัดส่วนที่ไม่มีนัยสำคัญเมื่อเทียบกับขนาดของบริษัท ไม่ต้องปฏิบัติตามหลักเกณฑ์ใน (ข) และ (ค)

(ก) กรรมการของบริษัทดังกล่าวอย่างน้อย 1 คนต้องมีถิ่นที่อยู่ในประเทศไทย

(ข) แสดงได้ว่าบริษัทดังกล่าวเป็นไปตามหลักเกณฑ์ในข้อ 23(6) (ข) และ (ค)

(ค) ในกรณีที่บริษัทจดทะเบียนมีลักษณะตามข้อ 23(7) ต้องแสดงได้ว่าเป็นไปตามหลักเกณฑ์ในข้อ 23(7) (ก) และ (ง) ด้วย

ข้อ 29 การลงทุนในบริษัทอื่นซึ่งไม่เป็นบริษัทที่ประกอบธุรกิจหลักตามข้อ 24 ซึ่งได้รับยกเว้นตามข้อ 28(3) ต้องเป็นการลงทุนที่เมื่อคำนวณขนาดของบริษัทอื่นดังกล่าวทุกบริษัท รวมกันแล้วมีสัดส่วนไม่เกินร้อยละ 25 ของขนาดของบริษัทจดทะเบียน ทั้งนี้ การพิจารณาสัดส่วนการลงทุนดังกล่าวมิให้นับรวมสัดส่วนการลงทุนดังต่อไปนี้

(1) ในกรณีที่บริษัทย่อยตามข้อ 24(1) ประกอบธุรกิจสถาบันการเงิน มิให้นับรวมการลงทุนของบริษัทย่อยดังกล่าวในหลักทรัพย์ที่ออกโดยบริษัทอื่นซึ่งไม่เป็นบริษัทที่ประกอบธุรกิจหลัก (portfolio investment)

(2) การลงทุนในบริษัทอื่นที่บริษัทจดทะเบียนแสดงได้ว่าประสงค์จะลงทุนในบริษัทดังกล่าวเป็นเวลามากกว่า 1 ปี ทั้งนี้ เฉพาะกรณีที่บริษัทอื่นนั้นเป็นบริษัทที่ประกอบธุรกิจประเภทเดียวกับบริษัทที่ประกอบธุรกิจหลักตามข้อ 24

(3) การลงทุนในบริษัทอื่นเนื่องจากการใช้สิทธิซื้อหลักทรัพย์ตามสัดส่วนการถือหุ้น (right offering)

(4) สัดส่วนที่เพิ่มขึ้นซึ่งไม่ได้เกิดจากการลงทุนเพิ่มในบริษัทอื่นของบริษัทจดทะเบียน เช่น การเพิ่มขึ้นของมูลค่าตลาดของเงินลงทุน หรือการลดลงของมูลค่าสินทรัพย์ของบริษัทที่ประกอบธุรกิจหลักตามข้อ 24

ข้อ 30 ให้นำขั้นตอนและวิธีการยื่นคำขออนุญาต และการพิจารณาคำขออนุญาตตามข้อ 21 และข้อ 22 ของส่วนที่ 1 ของหมวด 1 มาใช้บังคับกับการขออนุญาตเสนอขายหุ้นที่ออกใหม่ของบริษัทจดทะเบียนตามส่วนนี้ โดยอนุโลม

ส่วนที่ 2

การเสนอขายหุ้นที่ออกใหม่โดยบริษัทจดทะเบียนที่ไม่มี

ประเด็นเกี่ยวกับการกำกับดูแลกิจการที่ดี

----------------------

ข้อ 31 ผู้ขออนุญาตซึ่งเป็นบริษัทจดทะเบียนจะได้รับอนุญาตให้เสนอขายหุ้นที่ออกใหม่ตามส่วนนี้ ต่อเมื่อเป็นไปตามหลักเกณฑ์ดังต่อไปนี้

(1) สามารถแสดงได้ว่าไม่มีข้อเท็จจริงในประเด็นเกี่ยวกับการกำกับดูแลกิจการที่ดี ทั้งนี้ ตามที่กำหนดในข้อ 32 หรือข้อ 33 แล้วแต่กรณี

(2) จำนวนหุ้นออกใหม่ที่ขออนุญาตต้องมีจำนวนไม่เกินร้อยละ 25 ของจำนวนหุ้นที่จำหน่ายได้แล้วทั้งหมดของผู้ขออนุญาตในวันยื่นคำขออนุญาต

(3) เป็นการเสนอขายที่เข้าลักษณะดังนี้

(ก) การเสนอขายหุ้นที่ออกใหม่ในราคาไม่ต่ำกว่าร้อยละ 90 ของราคาตลาดตามที่กำหนดในข้อ 34

(ข) มิใช่เป็นการเสนอขายหุ้นที่ออกใหม่เพื่อเป็นสิ่งตอบแทนในการเสนอซื้อหุ้นของบริษัทอื่น (share swap)

(4) ได้รับมติโดยชัดแจ้งจากที่ประชุมผู้ถือหุ้นของบริษัทซึ่งอนุมัติการเสนอขายหุ้นในครั้งนี้ และมตินั้นได้มาแล้วไม่เกิน 1 ปีจนถึงวันยื่นคำขออนุญาต ทั้งนี้ ในการเรียกประชุมผู้ถือหุ้นเพื่อขอมติดังกล่าว บริษัทได้จัดส่งหนังสือนัดประชุมถึงผู้ถือหุ้นล่วงหน้า โดยหนังสือนัดประชุมดังกล่าวมีข้อมูลตามที่กำหนดในประกาศคณะกรรมการกำกับตลาดทุนว่าด้วยรายการในหนังสือนัดประชุมผู้ถือหุ้นของบริษัทจดทะเบียนเพื่อขออนุมัติการออกและเสนอขายหลักทรัพย์

(5) มีกรรมการและผู้บริหารเป็นบุคคลที่มีชื่ออยู่ในระบบข้อมูลรายชื่อกรรมการและผู้บริหารของบริษัทที่ออกหลักทรัพย์ตามประกาศคณะกรรมการกำกับตลาดทุนว่าด้วยหลักเกณฑ์ การแสดงชื่อบุคคลในระบบข้อมูลรายชื่อกรรมการและผู้บริหารของบริษัทที่ออกหลักทรัพย์

ในกรณีที่เป็นสถาบันอุดมศึกษาเอกชนตามกฎหมายว่าด้วยสถาบันอุดมศึกษาเอกชน ต้องไม่ปรากฏข้อเท็จจริงว่ากรรมการของสภาสถาบันอุดมศึกษาเอกชนดังกล่าว มีลักษณะขาดความน่าไว้วางใจตามประกาศคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ว่าด้วยการกำหนดลักษณะขาดความน่าไว้วางใจของกรรมการและผู้บริหารของบริษัท โดยอนุโลม

(6) มีผู้มีอำนาจควบคุมที่ไม่มีลักษณะขาดความน่าไว้วางใจตามประกาศคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ว่าด้วยการกำหนดลักษณะขาดความน่าไว้วางใจของกรรมการและผู้บริหารของบริษัท โดยอนุโลม

ข้อ 32 กรณีที่ถือว่ามีประเด็นเกี่ยวกับการกำกับดูแลกิจการที่ดี ได้แก่กรณีใดกรณีหนึ่งดังต่อไปนี้

(1) อยู่ระหว่างการดำเนินการในเรื่องใดเรื่องหนึ่งดังนี้

(ก) ค้างการนำส่งงบการเงินหรือรายงานที่มีหน้าที่ต้องจัดทำตามมาตรา 56 หรือมาตรา 199 ประกอบมาตรา 56 แล้วแต่กรณี

(ข) ค้างส่งรายงานที่มีหน้าที่ต้องจัดทำและจัดส่งต่อสำนักงานหรือตลาดหลักทรัพย์ตามมาตรา 57 หรือมาตรา 199 ประกอบมาตรา 57 แล้วแต่กรณี

(ค) ปรับปรุงแก้ไขงบการเงิน หรือรายงานที่มีหน้าที่ต้องจัดทำตามมาตรา 56 หรือมาตรา 57 หรือมาตรา 199 ประกอบมาตรา 56 หรือมาตรา 57 ตามที่สำนักงานหรือตลาดหลักทรัพย์ แล้วแต่กรณี แจ้งให้ดำเนินการปรับปรุงแก้ไข

(ง) ปฏิบัติตามคำสั่งของสำนักงานหรือตลาดหลักทรัพย์ตามมาตรา 58 หรือมาตรา 199 ประกอบมาตรา 58 แล้วแต่กรณี

(2) อยู่ระหว่างดำเนินการตามคำสั่งของสำนักงานหรือตลาดหลักทรัพย์ในเรื่องที่เกี่ยวข้องกับการไม่รักษาสิทธิของผู้ถือหุ้น การปฏิบัติต่อผู้ถือหุ้นอย่างไม่เป็นธรรม หรือการเปิดเผยข้อมูลต่อผู้ถือหุ้นและผู้ลงทุนทั่วไป

(3) มีลักษณะอย่างใดอย่างหนึ่งดังนี้ ในช่วง 5 ปีก่อนวันยื่นคำขออนุญาตเสนอขายหุ้นที่ออกใหม่

(ก) มีประวัติฝ่าฝืนหลักเกณฑ์หรือเงื่อนไขเกี่ยวกับการเสนอขายหลักทรัพย์ในเรื่องที่มีนัยสำคัญ

(ข) มีประวัติถูกสำนักงานสั่งระงับการเสนอขายหรือสั่งยกเลิกการอนุญาตให้เสนอขายหุ้นที่ออกใหม่ในส่วนที่ยังมิได้มีการจดทะเบียนเปลี่ยนแปลงทุนชำระแล้ว

(4) มีลักษณะอย่างใดอย่างหนึ่งดังนี้ ในช่วง 1 ปีก่อนวันยื่นคำขออนุญาต

(ก) มีประวัติถูกสำนักงานสั่งให้แก้ไขงบการเงิน

(ข) เป็นบริษัทที่เป็นเหตุให้สำนักงานหรือตลาดหลักทรัพย์ออกข่าวเตือนผู้ลงทุนหรือผู้ถือหุ้นของบริษัทดังกล่าวเกี่ยวกับการพิจารณาข้อมูลประกอบการตัดสินใจลงทุนหรือการใช้สิทธิออกเสียงของผู้ถือหุ้นในการพิจารณาเกี่ยวกับการดำเนินการใด ๆ ของบริษัท

(ค) ถูกสำนักงานหรือตลาดหลักทรัพย์มีคำสั่งหรือมีหนังสือกำชับหรือตักเตือนบริษัทเกี่ยวกับการไม่รักษาสิทธิของผู้ถือหุ้น การปฏิบัติต่อผู้ถือหุ้นอย่างไม่เป็นธรรมหรือการเปิดเผยข้อมูลต่อผู้ถือหุ้นและผู้ลงทุนทั่วไป

(5) เป็นบริษัทที่อยู่ระหว่างถูกตลาดหลักทรัพย์ขึ้นเครื่องหมาย NP (Notice Pending) หรือตลาดหลักทรัพย์มีคำสั่งห้ามซื้อหรือขายหลักทรัพย์จดทะเบียนของบริษัทเป็นการชั่วคราวโดยขึ้นเครื่องหมาย SP (Trading Suspension)

(6) มีกรรมการ ผู้บริหาร หรือผู้มีอำนาจควบคุมที่มีลักษณะดังนี้

(ก) กรรมการหรือผู้บริหารถูกสำนักงานหรือตลาดหลักทรัพย์มีคำสั่งหรือมีหนังสือกำชับหรือตักเตือนเกี่ยวกับการไม่ปฏิบัติตามหน้าที่ของกรรมการหรือผู้บริหารด้วยความรับผิดชอบ ความระมัดระวัง และความซื่อสัตย์สุจริต หรือการไม่ปฏิบัติให้เป็นไปตามกฎหมาย วัตถุประสงค์ ข้อบังคับของบริษัท มติคณะกรรมการ หรือมติที่ประชุมผู้ถือหุ้น ในช่วง 1 ปีก่อนวันยื่นคำขออนุญาต

(ข) กรรมการ ผู้บริหาร หรือผู้มีอำนาจควบคุมอยู่ระหว่างถูกสำนักงานสั่งให้ชี้แจง เนื่องจากมีเหตุสงสัยว่าบุคคลนั้นอาจมีส่วนเกี่ยวข้องกับการกระทำความผิด การกระทำที่ต้องห้าม หรือการกระทำที่เป็นเหตุให้มีลักษณะต้องห้าม ทั้งนี้ เฉพาะกรณีดังต่อไปนี้ และกรณีดังกล่าวยังอยู่ระหว่างการพิจารณาของสำนักงาน

1. การกระทำการโดยไม่สุจริต หรือประมาทเลินเล่ออย่างร้ายแรง

2. การเปิดเผยหรือเผยแพร่ข้อมูล หรือข้อความอันเป็นเท็จที่อาจทำให้สำคัญผิด หรือปกปิดข้อความจริงที่ควรบอกให้แจ้งในสาระสำคัญซึ่งอาจมีผลกระทบต่อการตัดสินใจของผู้ถือหุ้น ผู้ลงทุน หรือผู้ที่เกี่ยวข้อง

3. การกระทำอันไม่เป็นธรรมหรือการเอาเปรียบผู้ลงทุนในการซื้อขายหลักทรัพย์หรือสัญญาซื้อขายล่วงหน้า หรือมีหรือเคยมีส่วนร่วมหรือสนับสนุนการกระทำดักล่าว

(ค) กรรมการ ผู้บริหาร หรือผู้มีอำนาจควบคุมอยู่ระหว่างถูกกล่าวโทษโดยหน่วยงานทางการซึ่งเป็นผู้กำกับดูแลการประกอบธุรกิจโดยตรงของบริษัท หรือ อยู่ระหว่างถูกดำเนินคดีอันเนื่องจากกรณีที่หน่วยงานดังกล่าวกล่าวโทษ ในมูลเหตุเนื่องจากการดำเนินงานที่มีลักษณะหลอกลวง ฉ้อโกง หรือทุจริต เกี่ยวกับทรัพย์สินอันเป็นเหตุที่ทำให้เกิดความเสียหายในวงกว้าง ทั้งนี้ ไม่ว่าตามกฎหมายไทยหรือกฎหมายต่างประเทศ

(7) รายงานการสอบบัญชีของผู้สอบบัญชีต่องบการเงินประจำงวดปีบัญชีล่าสุดและงบการเงินรายไตรมาสสุดท้ายก่อนยื่นคำขออนุญาตของบริษัท มีความหมายในลักษณะดังนี้

(ก) การจัดทำและเปิดเผยข้อมูลในงบการเงินไม่เป็นไปตามมาตรฐานการรายงานทางการเงินที่ต้องใช้ในการจัดทำงบการเงินนั้นไม่ว่าด้วยเหตุใด

(ข) ผู้สอบบัญชีถูกจำกัดขอบเขตการตรวจสอบหรือสอบทาน

(ค) ผู้สอบบัญชีมีเงื่อนไขหรือมีวรรคอธิบายเพิ่มเติมหรือมีวรรคเน้นในหน้ารายงานของผู้สอบบัญชีเกี่ยวกับความถูกต้องเชื่อถือได้ของรายการในงบการเงิน หรือความไม่แน่นอนและผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นจากรายการที่ยังไม่ได้แสดงหรือเปิดเผยในงบการเงิน

ข้อ 33 ในกรณีผู้ขออนุญาตซึ่งเป็นบริษัทจดทะเบียนที่ประสงค์จะเสนอขายหุ้นที่ออกใหม่ตามส่วนนี้ เป็นบริษัทมหาชนจำกัดที่ประกอบธุรกิจโดยการถือหุ้นในบริษัทอื่น (holding company) และไม่มีการประกอบธุรกิจอย่างมีนัยสำคัญเป็นของตนเอง หากบริษัทย่อยตามข้อ 24(1) หรือบริษัทตามข้อ 24(2) จัดตั้งขึ้นตามกฎหมายต่างประเทศ นอกจากบริษัทจดทะเบียนดังกล่าว ต้องมีลักษณะตามที่กำหนดในข้อ 32 แล้ว จะต้องเป็นไปตามหลักเกณฑ์ดังต่อไปนี้ด้วย

(1) กรรมการของบริษัทย่อยตามข้อ 24(1) หรือบริษัทตามข้อ 24(2) อย่างน้อย 1 คนต้องมีถิ่นที่อยู่ในประเทศไทย

(2) ในกรณีที่บริษัทจดทะเบียนมีลักษณะตามข้อ 23(7) ต้องแสดงได้ว่าเป็นไปตามหลักเกณฑ์ในข้อ 23(7) (ก) และ (ง) เว้นแต่ในกรณีที่ขนาดของบริษัทย่อยตามข้อ 24(1) หรือบริษัทตามข้อ 24(2) มีสัดส่วนที่ไม่มีนัยสำคัญเมื่อเทียบกับขนาดของบริษัทจดทะเบียน

ข้อ 34 ราคาตลาดตามข้อ 31(3) (ก) ให้คำนวณจาก ราคาถัวเฉลี่ยถ่วงน้ำหนักของหุ้นในตลาดหลักทรัพย์ย้อนหลังไม่น้อยกว่า 7 วันทำการติดต่อกัน แต่ไม่เกิน 15 วันทำการติดต่อกันก่อนวันกำหนดราคาเสนอขายหุ้นนั้น โดยราคาที่นำมาถัวเฉลี่ยดังกล่าวต้องใช้ราคาเฉลี่ยของการซื้อขายหุ้นนั้นในแต่ละวัน และวันกำหนดราคาเสนอขายหุ้นต้องย้อนหลังไม่เกินกว่า 3 วันทำการก่อนวันแรกที่เสนอขายต่อผู้ลงทุน

ข้อ 35 ให้นำขั้นตอนและวิธีการยื่นคำขออนุญาตตามข้อ 21(1) และ (3) ของส่วนที่ 1 ของหมวด 1 มาใช้บังคับกับการยื่นคำขออนุญาตเสนอขายหุ้นที่ออกใหม่ของบริษัทจดทะเบียนที่ไม่มีประเด็นเกี่ยวกับการกำกับดูแลกิจการที่ดี โดยอนุโลม

ให้สำนักงานแจ้งผลการพิจารณาคำขออนุญาตภายใน 14 วันนับแต่วันที่สำนักงานได้รับเอกสารหลักฐานถูกต้องครบถ้วนตามคู่มือสำหรับประชาชน

หมวด 3

เงื่อนไขการอนุญาต

----------------------

ข้อ 36 ให้ผู้ได้รับอนุญาตตามหมวด 1 และหมวด 2 ของภาคนี้ ปฏิบัติตามเงื่อนไขที่กำหนดในหมวดนี้

ข้อ 37 ในกรณีที่ปรากฏต่อสำนักงานภายหลังการอนุญาตให้เสนอขายหุ้นว่าข้อเท็จจริงและพฤติการณ์ที่สำนักงานนำมาพิจารณาเพื่ออนุญาตให้เสนอขายหุ้นที่ออกใหม่เปลี่ยนแปลงไป ซึ่งหากข้อเท็จจริงและพฤติการณ์ที่เปลี่ยนแปลงไปนั้นปรากฏต่อสำนักงานก่อนการอนุญาต สำนักงานอาจไม่อนุญาตให้เสนอขายหุ้นนั้น และหากผู้ได้รับอนุญาตยังมิได้จดทะเบียนเปลี่ยนแปลงทุนชำระแล้วสำหรับหุ้นที่ได้รับอนุญาตนั้น ให้สำนักงานมีอำนาจดังต่อไปนี้

(1) สั่งให้ผู้ได้รับอนุญาต หรือกรรมการหรือผู้บริหารของผู้ได้รับอนุญาตชี้แจงหรือเปิดเผยข้อมูลเพิ่มเติมภายในระยะเวลาที่กำหนด และระงับการอนุญาตให้ออกหุ้นหรือให้ ผู้ได้รับอนุญาตระงับการเสนอขายหุ้นไว้ก่อนจนกว่าจะได้ชี้แจงหรือแก้ไขให้ถูกต้อง และหากผู้ได้รับอนุญาต หรือกรรมการหรือผู้บริหารของผู้ได้รับอนุญาต ไม่สามารถชี้แจงหรือดำเนินการแก้ไขให้ถูกต้องได้ภายในระยะเวลาที่กำหนด สำนักงานอาจสั่งเพิกถอนการอนุญาตตาม (2) ได้

(2) สั่งเพิกถอนการอนุญาตให้เสนอขายหุ้นที่ออกใหม่ในส่วนที่ยังมิได้เสนอขายหรือยังมิได้มีการจดทะเบียนเปลี่ยนแปลงทุนชำระแล้ว

ในการสั่งการตามวรรคหนึ่งให้สำนักงานคำนึงถึงปัจจัยดังต่อไปนี้ประกอบการพิจารณา

(1) ความร้ายแรงของข้อเท็จจริงหรือพฤติการณ์ที่เปลี่ยนแปลงไป

(2) ผลกระทบต่อผู้ลงทุนที่จองซื้อหุ้นนั้น

ข้อ 38 ผู้ได้รับอนุญาตต้องปฏิบัติตามเงื่อนไขดังต่อไปนี้

(1) ผู้ได้รับอนุญาตที่จะนำหุ้นของบริษัทเข้าซื้อขายในตลาดหลักทรัพย์ ต้องไม่กำหนดราคาหุ้นในบางส่วนที่เสนอขายต่อประชาชนทั่วไป สูงกว่าราคาหุ้นในส่วนที่แบ่งสรรไว้เป็นการเฉพาะเพื่อการเสนอขายต่อบุคคลที่กำหนด ไม่ว่าการเสนอขายต่อบุคคลที่กำหนดดังกล่าวจะเกิดขึ้นในช่วงเวลาเดียวกันกับการเสนอขายต่อประชาชนทั่วไป หรือในช่วง 90 วันก่อนการเสนอขายต่อประชาชนทั่วไป เว้นแต่การเสนอขายต่อบุคคลที่กำหนดดังกล่าวเข้าลักษณะใดลักษณะหนึ่งดังต่อไปนี้

(ก) การเสนอขายต่อกรรมการและพนักงานของบริษัทหรือบริษัทย่อยตามที่ได้รับอนุมัติจากคณะกรรมการบริษัทหรือที่ประชุมผู้ถือหุ้น

(ข) การเสนอขายต่อบุคคลใดตามโครงการแปรรูปรัฐวิสาหกิจที่ได้รับความเห็นชอบจากคณะรัฐมนตรี

(ค) เป็นกรณีที่มีเหตุจำเป็นและสมควรโดยได้รับการผ่อนผันจากสำนักงาน

(2) ผู้ได้รับอนุญาตที่เข้าข่ายดังต่อไปนี้ ต้องจัดให้มีคำเตือนในแบบแสดงรายการข้อมูลการเสนอขายหลักทรัพย์และในหนังสือชี้ชวน ที่สามารถทำให้ผู้ลงทุนได้ทราบถึงข้อเท็จจริงที่เกี่ยวข้องและเข้าใจถึงโอกาสของความเสี่ยงจากการลดลงของราคาหุ้นดังกล่าวเมื่อเข้าซื้อขายในตลาดหลักทรัพย์

(ก) ผู้ได้รับอนุญาตมีวัตถุประสงค์จะนำหุ้นที่เสนอขายเข้าเป็นหลักทรัพย์จดทะเบียนเพื่อซื้อขายในตลาดหลักทรัพย์เป็นครั้งแรก และ

(ข) ผู้ได้รับอนุญาตมีการเสนอขายหุ้นประเภทเดียวกันต่อบุคคลใดในราคาที่ต่ำกว่าราคาที่เสนอขายในครั้งนี้ โดยการเสนอขายดังกล่าวเกิดขึ้นในระหว่าง 6 เดือนก่อนการเสนอขายในครั้งนี้และหุ้นที่เสนอขายในระหว่าง 6 เดือนดังกล่าวรวมกันแล้วเกินกว่าร้อยละ 10 ของจำนวนหุ้นทั้งหมดที่เสนอขายในครั้งนี้

(3) นับแต่วันที่แบบแสดงรายการข้อมูลการเสนอขายหลักทรัพย์และร่างหนังสือชี้ชวน มีผลใช้บังคับ หากผู้ได้รับอนุญาตจะจัดให้มีการโฆษณาชี้ชวนเกี่ยวกับหุ้นโดยวิธีการอื่นนอกจากการแจกจ่ายหนังสือชี้ชวน ข้อมูลที่จะใช้ในการโฆษณาต้องเป็นไปตามหลักเกณฑ์ดังต่อไปนี้

(ก) ไม่มีลักษณะเป็นเท็จ เกินความจริง บิดเบือน ปิดบัง หรือทำให้สำคัญผิดในสาระสำคัญ

(ข) สาระสำคัญของข้อมูลที่แสดงในโฆษณาต้องไม่นอกเหนือไปจากข้อมูลที่แสดงไว้ในแบบแสดงรายการข้อมูลการเสนอขายหลักทรัพย์และร่างหนังสือชี้ชวนที่ได้ยื่นต่อสำนักงาน

ในกรณีที่ผู้ได้รับอนุญาตไม่ปฏิบัติให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์ในวรรคหนึ่ง ผู้ได้รับอนุญาตต้องปฏิบัติให้เป็นไปตามคำสั่งของสำนักงานที่จะสั่งให้ดำเนินการอย่างใดอย่างหนึ่ง หรือหลายอย่าง ดังนี้

(ก) หยุดการโฆษณา หรือยุติการส่งเสริมการขาย ไม่ว่าทั้งหมดหรือบางส่วน

(ข) แก้ไขข้อมูลหรือข้อความในการโฆษณาหรือการส่งเสริมการขาย

(ค) ชี้แจงเพื่อให้ผู้ลงทุนได้รับข้อมูลที่ครบถ้วน ถูกต้อง ตรงต่อความเป็นจริง หรือไม่ทำให้สำคัญผิด

(ง) กระทำการหรือไม่กระทำการใดภายในระยะเวลาที่กำหนดเพื่อให้ผู้ลงทุนตัดสินใจหรือทบทวนการตัดสินใจ บนพื้นฐานข้อมูลที่ครบถ้วน ถูกต้อง ตรงต่อความเป็นจริง และไม่ทำให้สำคัญผิด

(4) ผู้ได้รับอนุญาตต้องดำเนินการขายหุ้นให้แล้วเสร็จภายใน 6 เดือนนับแต่วันที่สำนักงานแจ้งการอนุญาต หากไม่สามารถดำเนินการให้แล้วเสร็จได้ภายในระยะเวลาดังกล่าวและยังประสงค์จะเสนอขายหุ้นต่อไป ให้ผู้ได้รับอนุญาตมีหนังสือถึงสำนักงานก่อนพ้นระยะเวลาดังกล่าวไม่น้อยกว่า 30 วันเพื่อขอขยายระยะเวลาเสนอขาย โดยต้องแจ้งเหตุผลของการขอขยายระยะเวลา และแจ้งข้อมูลเกี่ยวกับลักษณะของผู้ได้รับอนุญาตตามหมวด 1 หรือหมวด 2 แล้วแต่กรณี ในส่วนที่มีการเปลี่ยนแปลงอย่างมีนัยสำคัญด้วย (ถ้ามี) ในกรณีนี้ ให้สำนักงานมีอำนาจขยายระยะเวลาให้อีกได้ตามที่เห็นควร แต่ระยะเวลาดังกล่าวต้องไม่เกิน 12 เดือนนับแต่วันที่สำนักงานแจ้งผลการอนุญาตครั้งแรก

(5) นับแต่วันที่สำนักงานแจ้งผลการอนุญาตให้เสนอขายหุ้นที่ออกใหม่จนถึงวันก่อนการจดทะเบียนเปลี่ยนแปลงทุนชำระแล้ว สำหรับการเสนอขายหุ้นที่ได้รับอนุญาตในครั้งนั้น ผู้ได้รับอนุญาตต้องไม่ดำเนินการเรียกประชุมผู้ถือหุ้นเพื่อขอมติที่อาจมีผลกระทบต่อผู้ที่จะลงทุนในหุ้นที่ออกใหม่ที่ได้รับอนุญาตดังกล่าว เว้นแต่ได้รับการผ่อนผันจากสำนักงานเนื่องจากมีเหตุจำเป็นและสมควร

(6) ตลอดระยะเวลาที่ผู้ได้รับอนุญาตมีหน้าที่ต้องปฏิบัติตามหลักเกณฑ์ที่กำหนดในประกาศคณะกรรมการกำกับตลาดทุนที่ออกตามความในมาตรา 56 ผู้ได้รับอนุญาตต้องปฏิบัติ ตามข้อผูกพันที่ให้ไว้ในคำขออนุญาต หรือแบบแสดงรายการข้อมูลการเสนอขายหลักทรัพย์และร่างหนังสือชี้ชวน รวมทั้งดำเนินการให้ผู้ถือหุ้นรายใหญ่ กรรมการ ผู้บริหาร และผู้มีอำนาจควบคุมปฏิบัติตามเงื่อนไขดังกล่าวด้วย เว้นแต่ที่ประชุมผู้ถือหุ้นจะมีมติด้วยคะแนนเสียงไม่น้อยกว่า 3 ใน 4 ของผู้ถือหุ้นที่มาประชุมและมีสิทธิออกเสียงให้ผู้ได้รับอนุญาตปฏิบัติเป็นอย่างอื่นได้ โดยไม่มีเสียงคัดค้านตั้งแต่ร้อยละ 10 ของจำนวนเสียงทั้งหมดของผู้ถือหุ้นที่มาประชุมและมีสิทธิออกเสียงนั้น

(7) ในกรณีที่ที่ปรึกษาทางการเงินที่ร่วมจัดทำคำขออนุญาตประสงค์จะได้รับหรือตรวจดูข้อมูลเพื่อประโยชน์ในการปฏิบัติหน้าที่ของที่ปรึกษาทางการเงินในส่วนที่เกี่ยวข้องกับผู้ได้รับอนุญาตตามประกาศสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ว่าด้วยการให้ความเห็นชอบที่ปรึกษาทางการเงินและขอบเขตการดำเนินงาน และตามประกาศนี้ ผู้ได้รับอนุญาตต้องให้ความร่วมมือในการให้ข้อมูลดังกล่าวแก่ที่ปรึกษาทางการเงินตลอดระยะเวลาที่ที่ปรึกษาทางการเงินมีหน้าที่ตามประกาศดังกล่าวด้วย

(8) ภายในระยะเวลา 3 ปีนับจากวันที่แบบแสดงรายการข้อมูลการเสนอขายหลักทรัพย์และร่างหนังสือชี้ชวนมีผลใช้บังคับ ผู้ได้รับอนุญาตที่เป็นบริษัทมหาชนจำกัดที่ประกอบธุรกิจโดยการถือหุ้นในบริษัทอื่น (holding company) ซึ่งมีลักษณะตามข้อ 23 วรรคหนึ่ง (7) ต้องปฏิบัติ ดังนี้

(ก) ดำเนินการเพื่อให้เป็นไปตามสัญญาซึ่งจัดทำขึ้นระหว่างผู้ได้รับอนุญาตกับที่ปรึกษาทางการเงินตามข้อ 23 วรรคหนึ่ง (7) (ค)

(ข) ในกรณีที่ที่ปรึกษาทางการเงินตาม (ก) ไม่สามารถปฏิบัติหน้าที่ได้ไม่ว่าด้วยเหตุใด ผู้ได้รับอนุญาตต้องจัดให้มีที่ปรึกษาทางการเงินรายใหม่ที่อยู่ในบัญชีที่สำนักงาน ให้ความเห็นชอบ เพื่อปฏิบัติหน้าที่ตามข้อ 23 วรรคหนึ่ง (7) (ค) แทนที่ปรึกษาทางการเงินรายเดิมโดยไม่ชักช้า

ให้สำนักงานมีอำนาจผ่อนผันหลักเกณฑ์ตามวรรคหนึ่งไม่ว่าทั้งหมดหรือบางส่วน ในกรณีที่มีเหตุจำเป็นและสมควร

ในกรณีที่ผู้ได้รับอนุญาตเป็นบริษัทมหาชนจำกัดที่ประกอบธุรกิจโดยการถือหุ้นในบริษัทอื่น (holding company) ผู้ได้รับอนุญาตต้องมีกลไกการกำกับดูแลให้บริษัทย่อยตามข้อ 24(1) หรือบริษัทตามข้อ 24(2) ปฏิบัติตามเงื่อนไขที่กำหนดในวรรคหนึ่ง (5) และ (6) โดยอนุโลมด้วย

ภาค 3

การเสนอขายหุ้นที่ออกใหม่ต่อบุคคลในวงจำกัด

โดยบริษัทที่ไม่มีหุ้นเป็นหลักทรัพย์จดทะเบียน

----------------------

หมวด 1

การอนุญาต

----------------------

ข้อ 39 การเสนอขายหุ้นที่ออกใหม่ต่อบุคคลในวงจำกัด หมายถึง การเสนอขายที่มีลักษณะใดลักษณะหนึ่งดังต่อไปนี้

(1) การเสนอขายหุ้นที่ออกใหม่ต่อผู้ลงทุนโดยเฉพาะเจาะจงซึ่งมีจำนวนไม่เกิน 50 ราย ภายในรอบระยะเวลา 12 เดือน

(2) การเสนอขายหุ้นที่ออกใหม่ที่มีมูลค่ารวมกันทั้งสิ้นไม่เกิน 20 ล้านบาท ภายในรอบระยะเวลา 12 เดือน ทั้งนี้ การคำนวณมูลค่ารวมของหุ้นดังกล่าว ให้ถือเอาราคาเสนอขายหุ้นนั้นเป็นเกณฑ์

(3) การเสนอขายหุ้นที่ออกใหม่ต่อผู้ลงทุนสถาบัน

(4) การเสนอขายหุ้นที่ออกใหม่ทั้งหมดโดยนิติบุคคลตามกฎหมายเฉพาะต่อผู้ถือหุ้นของนิติบุคคลดังกล่าวตามสัดส่วนการถือหุ้น โดยได้รับชำระราคาเต็มมูลค่าที่เสนอขายจากผู้ถือหุ้น

การนับจำนวนผู้ลงทุนตาม (1) หรือการคำนวณมูลค่ารวมการเสนอขายหุ้นตาม (2) ไม่นับรวมส่วนที่เสนอขายต่อผู้ลงทุนตาม (3) ทั้งนี้ ไม่ว่าการเสนอขายดังกล่าวจะกระทำในเวลาเดียวกันหรือต่างเวลากัน

ข้อ 40 ให้ผู้เริ่มจัดตั้งบริษัทมหาชนจำกัด บริษัทมหาชนจำกัด หรือนิติบุคคลตามกฎหมายเฉพาะ เสนอขายหุ้นที่ออกใหม่ต่อบุคคลในวงจำกัดได้โดยถือว่าได้รับอนุญาตจากสำนักงานแล้ว ทั้งนี้ ผู้ได้รับอนุญาตต้องปฏิบัติให้เป็นไปตามเงื่อนไขภายหลังการอนุญาตตามหมวด 2 ของภาคนี้ด้วย

ในกรณีเป็นการเสนอขายหุ้นที่ออกใหม่ต่อบุคคลในวงจำกัดเนื่องจากบริษัทต้องเพิ่มทุนตามแผนฟื้นฟูกิจการตามกฎหมายว่าด้วยล้มละลายซึ่งศาลเห็นชอบด้วยแผนนั้นแล้ว บริษัทดังกล่าวต้องปฏิบัติให้เป็นไปตามเงื่อนไขภายหลังการอนุญาตตามข้อ 41(1) และ (2) และบริษัทต้องเสนอขายหุ้นที่ออกใหม่ให้แล้วเสร็จภายในระยะเวลาที่แผนฟื้นฟูกิจการกำหนด

หมวด 2

เงื่อนไขภายหลังการอนุญาต

----------------------

ข้อ 41 ให้ผู้ได้รับอนุญาตตามหมวด 1 ของภาคนี้ ปฏิบัติตามเงื่อนไขดังต่อไปนี้

(1) ห้ามมิให้ผู้ได้รับอนุญาตโฆษณาการเสนอขายหุ้นที่จะออกใหม่ต่อบุคคลเป็นการทั่วไป และหากจะมีการให้ข้อมูลที่เกี่ยวกับหุ้นที่จะเสนอขายหรือกำลังเสนอขาย ผู้ได้รับอนุญาตต้องให้ข้อมูลกับบุคคลเฉพาะเจาะจงหรือบุคคลเท่าที่จำเป็น เพื่อให้การเสนอขายหุ้นดังกล่าวอยู่ภายในลักษณะที่กำหนดไว้ในข้อ 39(1) (2) (3) หรือ (4) เท่านั้น และผู้ได้รับอนุญาตต้องจัดให้มีข้อความตาม (2) ในเอกสารดังกล่าวด้วย

(2) ภายในระยะเวลา 2 ปีนับแต่วันที่จดทะเบียนเปลี่ยนแปลงทุนชำระแล้ว ซึ่งต้องไม่มีหุ้นหรือหุ้นรองรับที่สามารถเสนอขายได้โดยถือว่าได้รับอนุญาตจากสำนักงานแล้วคงค้างอยู่ ผู้ได้รับอนุญาตต้องไม่ลงลายมือชื่อเพื่อรับรองความถูกต้องของข้อมูลในแบบแสดงรายการข้อมูลการเสนอขายหลักทรัพย์และร่างหนังสือชี้ชวนที่ผู้ถือหุ้นของผู้ได้รับอนุญาตยื่นต่อสำนักงานเพื่อเสนอขายหุ้นดังกล่าวต่อประชาชน หรือดำเนินการให้หุ้นนั้นเป็นหลักทรัพย์จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ เว้นแต่ผู้ได้รับอนุญาตจะได้รับอนุญาตจากสำนักงานให้เสนอขายหุ้นที่ออกใหม่ต่อประชาชนตามภาค 2

(3) ผู้ได้รับอนุญาตที่เป็นบริษัทมหาชนจำกัดต้องเสนอขายหุ้นให้แล้วเสร็จภายใน1 ปีนับแต่วันที่ที่ประชุมผู้ถือหุ้นมีมติอนุมัติให้เสนอขายหุ้นที่ออกใหม่

(4) ผู้ได้รับอนุญาตที่เป็นนิติบุคคลตามกฎหมายเฉพาะซึ่งเสนอขายหุ้นที่ออกใหม่ต่อบุคคลในวงจำกัดตามข้อ 39(1) (2) หรือ (3) ต้องจัดให้มีเอกสารประกอบการเสนอขายที่มีข้อความแสดงว่าหุ้นที่เสนอขายมิใช่หุ้นที่ออกโดยบริษัทมหาชนจำกัด ผู้ลงทุนจึงอาจได้รับสิทธิและความคุ้มครองแตกต่างจากการเป็นผู้ถือหุ้นในบริษัทมหาชนจำกัด

ภาค 4

บทเฉพาะกาล

----------------------

ข้อ 42 ในกรณีที่สำนักงานได้รับคำขออนุญาตเสนอขายหุ้นที่ออกใหม่ไว้แล้ว ก่อนวันที่ประกาศนี้มีผลใช้บังคับ ให้การขออนุญาตและการอนุญาตเป็นไปตามหลักเกณฑ์ที่กำหนดในประกาศนี้ ทั้งนี้ ในกรณีที่ผู้ยื่นคำขออนุญาตประสงค์ให้สำนักงานพิจารณาคำขออนุญาตตามหลักเกณฑ์ที่กำหนดในส่วนที่ 2 ของหมวด 2 ของภาค 2 ของประกาศนี้ ให้ผู้ยื่นคำขออนุญาตดังกล่าวแจ้งเป็นหนังสือต่อสำนักงานภายใน 30 วันนับแต่วันที่ประกาศนี้มีผลใช้บังคับ

ข้อ 43 ให้ประกาศสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ ที่ สจ. 39/2551 เรื่อง การคำนวณราคาเสนอขายหลักทรัพย์และการกำหนดราคาตลาดเพื่อการพิจารณาการเสนอขายหุ้นที่ออกใหม่ในราคาต่ำ ลงวันที่ 24 ธันวาคม พ.ศ. 2551 ยังคงมีผลใช้บังคับได้ต่อไปจนกว่าจะได้มีการออกประกาศสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ตามข้อ 27 วรรคสอง

ข้อ 44 ให้บริษัทที่ได้รับอนุญาตตามประกาศคณะกรรมการกำกับตลาดทุนที่ ทจ. 28/2551 เรื่อง การขออนุญาตและการอนุญาตให้เสนอขายหุ้นที่ออกใหม่ ลงวันที่ 15 ธันวาคม พ.ศ. 2551 ไปแล้วก่อนวันที่ประกาศนี้มีผลใช้บังคับ และมีหน้าที่ต้องปฏิบัติตามเงื่อนไขภายหลังการอนุญาต ยังคงอยู่ภายใต้เงื่อนไขภายหลังการอนุญาตตามประกาศดังกล่าว

ประกาศ ณ วันที่ 30 กันยายน พ.ศ. 2559

(นายรพี สุจริตกุล)

เลขาธิการ

สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์

ประธานกรรมการ

คณะกรรมการกำกับตลาดทุน


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ