ประกาศคณะกรรมการกำกับตลาดทุนที่ ทธ. 1/2560 เรื่อง การให้บริการแก่ลูกค้าในการลงทุนในผลิตภัณฑ์ในตลาดทุนที่เป็นสกุลเงินตราต่างประเทศ

ข่าวหุ้น-การเงิน Tuesday January 17, 2017 14:31 —ประกาศ ก.ล.ต.

ประกาศคณะกรรมการกำกับตลาดทุน

ที่ ทธ. 1/2560

เรื่อง การให้บริการแก่ลูกค้าในการลงทุนในผลิตภัณฑ์

ในตลาดทุนที่เป็นสกุลเงินตราต่างประเทศ

______________

อาศัยอำนาจตามความในมาตรา 16/6 และมาตรา 113 แห่งพระราชบัญญัติหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ พ.ศ. 2535 ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ฉบับที่ 4) พ.ศ. 2551 มาตรา 114 และมาตรา 116 แห่งพระราชบัญญัติหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ พ.ศ. 2535 และมาตรา 18 แห่งพระราชบัญญัติสัญญาซื้อขายล่วงหน้า พ.ศ. 2546 คณะกรรมการกำกับตลาดทุนออกประกาศไว้ดังต่อไปนี้

ข้อ 1 ประกาศนี้ให้ใช้บังคับตั้งแต่วันที่ 16 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2560 เป็นต้นไป

ข้อ 2 ให้ยกเลิก

(1) ประกาศคณะกรรมการกำกับตลาดทุน ที่ ทธ. 6/2557 เรื่อง การให้บริการแก่ลูกค้าในการลงทุนในผลิตภัณฑ์ในตลาดทุนที่เป็นสกุลเงินตราต่างประเทศ ลงวันที่ 30 เมษายน พ.ศ. 2557

(2) ประกาศคณะกรรมการกำกับตลาดทุน ที่ ทธ. 29/2557 เรื่อง การให้บริการแก่ลูกค้าในการลงทุนในผลิตภัณฑ์ในตลาดทุนที่เป็นสกุลเงินตราต่างประเทศ (ฉบับที่ 2) ลงวันที่ 24 กันยายน พ.ศ. 2557

ข้อ 3 ในประกาศนี้

“ผลิตภัณฑ์ในตลาดทุนที่เป็นสกุลเงินตราต่างประเทศ” หมายความว่า หลักทรัพย์หรือสัญญาซื้อขายล่วงหน้า ที่กำหนดให้มีการชำระเงินเป็นสกุลเงินตราต่างประเทศ ได้แก่

(1) ผลิตภัณฑ์ในประเทศ (inbound product)

(2) ผลิตภัณฑ์จากต่างประเทศ (outbound product)

“ผลิตภัณฑ์ในประเทศ” หมายความว่า ผลิตภัณฑ์ในตลาดทุนที่เป็นสกุลเงินตราต่างประเทศประเภทหุ้นกู้สกุลเงินตราต่างประเทศ และให้หมายความรวมถึงหน่วยของโครงการ จัดการลงทุนต่างประเทศด้วย

“ผลิตภัณฑ์จากต่างประเทศ” หมายความว่า ผลิตภัณฑ์ในตลาดทุนที่เป็นสกุลเงินตราต่างประเทศ ซึ่งเป็นผลิตภัณฑ์ที่ออกหรือเสนอขายในต่างประเทศ

“หุ้นกู้สกุลเงินตราต่างประเทศ” หมายความว่า หุ้นกู้สกุลเงินตราต่างประเทศและได้รับอนุญาตให้เสนอขายในประเทศไทยตามประกาศคณะกรรมการกำกับตลาดทุนว่าด้วยการเสนอขายหุ้นกู้สกุลเงินตราต่างประเทศในประเทศไทย หรือตามประกาศคณะกรรมการกำกับตลาดทุนว่าด้วยการขออนุญาตและการอนุญาตให้เสนอขายหุ้นกู้ที่ออกใหม่เพื่อการแปลงสินทรัพย์เป็นหลักทรัพย์

“หน่วยของโครงการจัดการลงทุนต่างประเทศ” หมายความว่า หน่วยของโครงการจัดการลงทุนที่จัดตั้งขึ้นในประเทศกลุ่มอาเซียน (ASEAN Collective Investment Schemes) ซึ่งสามารถเสนอขายหน่วยดังกล่าวในประเทศไทยได้ตามประกาศคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ว่าด้วยการไม่นำบทบัญญัติว่าด้วยการเสนอขายหลักทรัพย์ต่อประชาชนมาใช้บังคับกับการเสนอขายหน่วยของโครงการจัดการลงทุนต่างประเทศ

“ผู้ประกอบธุรกิจ” หมายความว่า

(1) บริษัทหลักทรัพย์ที่ได้รับใบอนุญาตประกอบธุรกิจหลักทรัพย์ประเภทการเป็นนายหน้าซื้อขายหลักทรัพย์ การค้าหลักทรัพย์ หรือการจัดจำหน่ายหลักทรัพย์

(2) ผู้ได้รับใบอนุญาตประกอบธุรกิจสัญญาซื้อขายล่วงหน้าประเภทการเป็นตัวแทนซื้อขายสัญญาซื้อขายล่วงหน้า หรือผู้ค้าสัญญาซื้อขายล่วงหน้า

“วงเงินจัดสรร” หมายความว่า วงเงินลงทุนในผลิตภัณฑ์ในตลาดทุนที่เป็นสกุลเงินตราต่างประเทศซึ่งธนาคารแห่งประเทศไทยมอบหมายให้สำนักงาน ก.ล.ต. เป็นผู้จัดสรรวงเงิน

“ประกาศมาตรฐานการประกอบธุรกิจ” หมายความว่า ประกาศคณะกรรมการกำกับตลาดทุนว่าด้วยมาตรฐานการประกอบธุรกิจ โครงสร้างการบริหาร ระบบงาน และการให้บริการของผู้ประกอบธุรกิจหลักทรัพย์และผู้ประกอบธุรกิจสัญญาซื้อขายล่วงหน้า รวมทั้งประกาศหรือแนวปฏิบัติที่ออกตามประกาศดังกล่าว

ข้อ 4 ในการให้บริการแก่ลูกค้าในการลงทุนในผลิตภัณฑ์ในตลาดทุนที่เป็นสกุลเงินตราต่างประเทศ นอกจากผู้ประกอบธุรกิจต้องปฏิบัติให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์ที่กำหนดไว้ในประกาศมาตรฐานการประกอบธุรกิจแล้ว ให้ผู้ประกอบธุรกิจปฏิบัติให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์ที่กำหนดในประกาศนี้ด้วย และในกรณีที่หลักเกณฑ์การให้บริการแก่ลูกค้าในการลงทุนในผลิตภัณฑ์ในตลาดทุนที่เป็นสกุลเงินตราต่างประเทศตามที่ประกาศนี้กำหนดไว้เป็นการเฉพาะ แตกต่างจากหลักเกณฑ์ที่กำหนดไว้ในประกาศมาตรฐานการประกอบธุรกิจ ให้ผู้ประกอบธุรกิจถือปฏิบัติตามหลักเกณฑ์ที่กำหนดในประกาศนี้

ข้อ 5 ประกาศนี้มีข้อกำหนดเกี่ยวกับการให้บริการแก่ลูกค้าในการลงทุนในผลิตภัณฑ์ในตลาดทุนที่เป็นสกุลเงินตราต่างประเทศ ในเรื่องดังต่อไปนี้

(1) ข้อกำหนดทั่วไปเกี่ยวกับการให้บริการ ให้เป็นไปตามหมวด 1

(2) ข้อกำหนดเฉพาะเกี่ยวกับการให้บริการผลิตภัณฑ์ในประเทศที่เป็นหุ้นกู้สกุลเงินตราต่างประเทศ ให้เป็นไปตามหมวด 2

(3) ข้อกำหนดเฉพาะเกี่ยวกับการให้บริการผลิตภัณฑ์จากต่างประเทศ ให้เป็นไปตามหมวด 3

(4) บุคลากรที่ให้บริการ ให้เป็นไปตามหมวด 4

ข้อ 6 สำนักงาน ก.ล.ต. อาจกำหนดแนวทาง (guideline) การปฏิบัติในรายละเอียดของข้อกำหนดตามประกาศนี้ เพื่อเป็นการให้แนวทางที่ถือว่าเหมาะสมและสอดคล้องตามประกาศนี้ และหากผู้ประกอบธุรกิจปฏิบัติตามแนวทางดังกล่าวแล้ว ให้ถือว่าผู้ประกอบธุรกิจได้ปฏิบัติตามข้อกำหนดในประกาศนี้แล้ว

หมวด 1

ข้อกำหนดทั่วไปเกี่ยวกับการให้บริการ

ข้อ 7 การให้บริการแก่ลูกค้าในการลงทุนในผลิตภัณฑ์ในตลาดทุนที่เป็นสกุลเงินตราต่างประเทศ ผู้ประกอบธุรกิจต้องปฏิบัติให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์ดังต่อไปนี้

(1) ให้บริการตามขอบเขตของใบอนุญาตแต่ละประเภทที่ผู้ประกอบธุรกิจได้รับ

(2) ดำเนินการให้ลูกค้าสามารถเข้าถึงข้อมูลซึ่งจัดทำโดยผู้ประกอบการต่างประเทศหรือผู้ออกหรือเสนอขายผลิตภัณฑ์ดังกล่าว เพื่อประกอบการตัดสินใจลงทุน

(3) เปิดเผยค่าธรรมเนียมที่ผู้ประกอบธุรกิจเรียกเก็บจากลูกค้า

ข้อ 8 ในกรณีที่เป็นการให้บริการแก่ลูกค้าที่ต้องใช้วงเงินจัดสรร ผู้ประกอบธุรกิจต้องดำเนินการดังต่อไปนี้เพิ่มเติมด้วย

(1) ขอรับการจัดสรรเงินลงทุนจากวงเงินจัดสรรให้กับลูกค้าแต่ละรายก่อนเริ่มให้บริการ ทั้งนี้ การขอรับการจัดสรรเงินลงทุนดังกล่าวให้เป็นไปตามรูปแบบและวิธีการที่สำนักงาน ก.ล.ต. กำหนด

(2) ดำเนินการตรวจสอบวงเงินทุกครั้งก่อนลูกค้าใช้บริการ เพื่อให้มั่นใจว่าการลงทุนของลูกค้ายังคงอยู่ภายในวงเงินที่ได้รับจัดสรรตาม (1)

หมวด 2

ข้อกำหนดเฉพาะเกี่ยวกับการให้บริการผลิตภัณฑ์ในประเทศที่เป็นหุ้นกู้สกุลเงินตราต่างประเทศ

ข้อ 9 ในกรณีที่ผู้ประกอบธุรกิจให้บริการผลิตภัณฑ์ในประเทศที่เป็นหุ้นกู้สกุลเงินตราต่างประเทศที่เสนอขายเป็นการทั่วไป หุ้นกู้สกุลเงินตราต่างประเทศนั้นต้องมีอันดับ ความน่าเชื่อถือของหุ้นกู้ ผู้ออกหุ้นกู้ หรือผู้ค้ำประกันหุ้นกู้ อยู่ในอันดับที่สามารถลงทุนได้ (investment grade)

หมวด 3

ข้อกำหนดเฉพาะเกี่ยวกับการให้บริการผลิตภัณฑ์จากต่างประเทศ

ข้อ 10 ในการให้บริการแก่ลูกค้าในการลงทุนในผลิตภัณฑ์จากต่างประเทศ ผู้ประกอบธุรกิจต้องมีกระบวนการที่ทำให้มั่นใจได้ว่าผลิตภัณฑ์จากต่างประเทศนั้นมีลักษณะดังต่อไปนี้

(1) เป็นผลิตภัณฑ์ที่ออกหรือเสนอขายในต่างประเทศ โดยผู้ออกหรือเสนอขายผลิตภัณฑ์จากต่างประเทศดังกล่าวไม่มีเจตนานำเข้ามาเสนอขายในประเทศไทย

(2) เป็นผลิตภัณฑ์ที่มีลักษณะตามที่กำหนดในข้อ 12 เว้นแต่เป็นกรณีที่กำหนดไว้ในข้อ 13 และข้อ 14

ข้อ 11 เพื่อประโยชน์ในการพิจารณาตามข้อ 10(1) ให้ถือว่าการดำเนินการในลักษณะใดลักษณะหนึ่งดังต่อไปนี้ เป็นกรณีที่ผู้ออกหรือเสนอขายผลิตภัณฑ์จากต่างประเทศ มีเจตนาเข้ามาเสนอขายในประเทศไทย ทั้งนี้ ไม่ว่าจะเป็นการดำเนินการโดยผู้ประกอบธุรกิจผู้ประกอบธุรกิจต่างประเทศ หรือผู้ออกหรือเสนอขายผลิตภัณฑ์จากต่างประเทศก็ตาม

(1) การจัดให้ผู้ลงทุนในวงกว้างได้ประชุมพบปะโดยตรงกับกรรมการหรือผู้บริหารของผู้ออกหรือเสนอขายผลิตภัณฑ์จากต่างประเทศ (roadshow) เพื่อชักชวนให้ลงทุนในผลิตภัณฑ์จากต่างประเทศซึ่งยังไม่ได้รับการจดทะเบียนหรือได้รับอนุญาตให้ทำการซื้อขายในตลาดหลักทรัพย์ต่างประเทศหรือศูนย์ซื้อขายสัญญาซื้อขายล่วงหน้าต่างประเทศ โดยการชักชวนให้ลงทุนดังกล่าว มีลักษณะเป็นการเสนอขายต่อประชาชนเป็นการทั่วไป (public offering)

(2) การชักชวนผู้ลงทุนให้ไปลงทุนในผลิตภัณฑ์จากต่างประเทศที่ออกใหม่เพื่อเสนอขายต่อประชาชนเป็นการทั่วไปในตลาดแรก (primary market) ในลักษณะอื่นตามที่สำนักงาน ก.ล.ต. กำหนด

ข้อ 12 ผลิตภัณฑ์จากต่างประเทศที่ผู้ประกอบธุรกิจสามารถนำมาให้บริการแก่ลูกค้าต้องมีลักษณะดังต่อไปนี้อย่างครบถ้วน

(1) เป็นผลิตภัณฑ์จากต่างประเทศซึ่งมีลักษณะและเงื่อนไขทำนองเดียวกับผลิตภัณฑ์ในตลาดทุนที่สามารถออกหรือเสนอขายในประเทศไทย เว้นแต่สำนักงาน ก.ล.ต. จะกำหนดเป็นอย่างอื่น

(2) เป็นผลิตภัณฑ์จากต่างประเทศที่อยู่ภายใต้การกำกับดูแลของหน่วยงานกำกับดูแล หน่วยงานใดหน่วยงานหนึ่งดังนี้ และต้องไม่อยู่ระหว่างถูกหน่วยงานกำกับดูแลดังกล่าวสั่งห้ามการซื้อขายผลิตภัณฑ์จากต่างประเทศนั้น

(ก) หน่วยงานกำกับดูแลที่เป็นสมาชิกของ International Organization of Securities Commissions (“IOSCO”) โดยหน่วยงานดังกล่าวต้องเป็นพหุภาคีประเภท Signatory A ใน Multilateral Memorandum of Understanding Concerning Consultation and Cooperation and the Exchange of Information (“MMOU”) (“IOSCO MMOU”)

(ข) หน่วยงานกำกับดูแลในกลุ่มประเทศ Organization for Economic Co-operation and Development (“OECD”)

(ค) หน่วยงานกำกับดูแลของประเทศที่อยู่ในประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน (ASEAN Economic Community) (“AEC”)

(3) เป็นผลิตภัณฑ์จากต่างประเทศที่มีการเสนอขายในลักษณะใดลักษณะหนึ่งดังนี้

(ก) เป็นผลิตภัณฑ์จากต่างประเทศที่มีการเสนอขายอยู่ในประเทศที่หน่วยงานกำกับดูแลตาม (2) ตั้งอยู่ (skin in the game)

(ข) เป็นผลิตภัณฑ์จากต่างประเทศที่เป็นตราสารหนี้ที่ได้รับอนุญาตให้เสนอขายในลักษณะโครงการ (Debt Issuance Program) จากหน่วยงานกำกับดูแลตาม (2) เพื่อผู้ลงทุนแต่ละรายแบบเฉพาะเจาะจง (tailor-made product)

(ค) กรณีอื่นใดนอกจาก (ก) และ (ข) เป็นผลิตภัณฑ์จากต่างประเทศที่เสนอขายเพื่อผู้ลงทุนแต่ละรายแบบเฉพาะเจาะจง

ข้อ 13 ในการให้บริการแก่ลูกค้าดังต่อไปนี้ ผู้ประกอบธุรกิจสามารถให้บริการแก่ลูกค้าดังกล่าวในการลงทุนในผลิตภัณฑ์จากต่างประเทศนอกเหนือจากที่กำหนดในข้อ 12 ได้

(1) ธนาคารแห่งประเทศไทย

(2) ธนาคารพาณิชย์

(3) สถาบันการเงินที่มีกฎหมายเฉพาะจัดตั้ง

(4) บริษัทหลักทรัพย์

(5) ผู้ประกอบธุรกิจสัญญาซื้อขายล่วงหน้า

(6) บริษัทประกันชีวิต

(7) บริษัทประกันวินาศภัย

(8) กองทุนรวม

(9) กองทุนส่วนบุคคล

(10) กองทุนสำรองเลี้ยงชีพ

(11) กองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการ

(12) กองทุนประกันสังคม

(13) บริษัทจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย

(14) นิติบุคคลที่จดทะเบียนตามกฎหมายไทยที่มีสินทรัพย์ตามงบการเงินตั้งแต่ 5,000 ล้านบาทขึ้นไป

(15) บุคคลอื่นที่ธนาคารแห่งประเทศไทยกำหนดให้สามารถนำเงินไปลงทุนในผลิตภัณฑ์จากต่างประเทศได้ ทั้งนี้ ตามที่สำนักงาน ก.ล.ต. กำหนด

ข้อ 14 ในการให้บริการแก่ลูกค้าที่เป็นนิติบุคคลที่จดทะเบียนตามกฎหมายไทย หรือบุคคลธรรมดาที่มีถิ่นที่อยู่ในประเทศไทย ซึ่งมีเงินลงทุนในตราสารหรืออนุพันธ์ หรือเงินฝาก ตั้งแต่ 100 ล้านบาท ผู้ประกอบธุรกิจสามารถให้บริการแก่ลูกค้าดังกล่าวในการลงทุนในผลิตภัณฑ์จากต่างประเทศนอกเหนือจากที่กำหนดในข้อ 12(1) และ (3) ได้

หมวด 4

บุคลากรที่ให้บริการ

ข้อ 15 ผู้ประกอบธุรกิจต้องมอบหมายให้บุคลากรในธุรกิจตลาดทุนที่ได้รับความเห็นชอบจากสำนักงาน ก.ล.ต. ตามประกาศคณะกรรมการกำกับตลาดทุนว่าด้วยหลักเกณฑ์เกี่ยวกับบุคลากรในธุรกิจตลาดทุน ซึ่งผ่านการอบรมหลักสูตรเกี่ยวกับความเสี่ยงด้านอัตราแลกเปลี่ยนจากหน่วยงานที่สำนักงาน ก.ล.ต. ยอมรับแล้ว เป็นผู้ทำหน้าที่ให้บริการแก่ลูกค้าในการลงทุนในผลิตภัณฑ์ในตลาดทุนที่เป็นสกุลเงินตราต่างประเทศ

ข้อ 16 ในกรณีที่ผู้ประกอบธุรกิจประสงค์จะจัดให้บุคลากรจากต่างประเทศเข้ามาให้ข้อมูลหรือคำแนะนำเกี่ยวกับการลงทุนในผลิตภัณฑ์ในตลาดทุนที่เป็นสกุลเงินตราต่างประเทศแก่ลูกค้า ให้ผู้ประกอบธุรกิจแจ้งชื่อพร้อมรายละเอียดของบุคลากรจากต่างประเทศดังกล่าว ให้สำนักงาน ก.ล.ต. ทราบล่วงหน้าอย่างน้อย 1 วันทำการก่อนเริ่มดำเนินการ เว้นแต่เป็นการเข้ามาให้ข้อมูลหรือคำแนะนำแก่ลูกค้าตามข้อ 13

การแจ้งชื่อบุคลากรจากต่างประเทศตามวรรคหนึ่ง ให้เป็นไปตามแบบและวิธีการที่จัดไว้บนเว็บไซต์ของสำนักงาน ก.ล.ต.

ข้อ 17 บุคลากรจากต่างประเทศตามข้อ 16 ต้องมีคุณสมบัติดังต่อไปนี้อย่างครบถ้วน

(1) เป็นบุคลากรที่มีความน่าเชื่อถือและมีความสามารถในการให้ข้อมูลหรือคำแนะนำเกี่ยวกับผลิตภัณฑ์ในตลาดทุนที่เป็นสกุลเงินตราต่างประเทศได้เป็นอย่างดี รวมทั้งสามารถให้ข้อมูลหรือคำแนะนำได้ตามกฎหมายที่ควบคุมการประกอบธุรกิจในต่างประเทศนั้น

(2) ไม่มีเหตุอันควรเชื่อว่ามีหรือเคยมีพฤติกรรมที่ไม่เหมาะสมหรือไม่ปฏิบัติตามหลักเกณฑ์การให้ข้อมูลหรือคำแนะนำเกี่ยวกับผลิตภัณฑ์ในตลาดทุนที่เป็นสกุลเงินตราต่างประเทศ แก่ลูกค้าในประเทศไทย

(3) เข้ามาให้ข้อมูลหรือคำแนะนำเกี่ยวกับผลิตภัณฑ์ในตลาดทุนที่เป็นสกุลเงินตราต่างประเทศในประเทศไทยมาแล้ว ไม่เกิน 90 วันในรอบปีปฏิทินนั้น

ข้อ 18 ผู้ประกอบธุรกิจต้องควบคุมดูแลมิให้บุคลากรจากต่างประเทศตามข้อ 16 กระทำการใด ๆ ที่อาจเข้าข่ายผิดกฎหมายหรือไม่เป็นไปตามหลักเกณฑ์ที่เกี่ยวข้อง โดยอย่างน้อยต้องดำเนินการดังต่อไปนี้

(1) แจ้งขอบเขตการปฏิบัติหน้าที่ให้บุคลากรจากต่างประเทศทราบ

(2) ดูแลให้การให้ข้อมูลหรือคำแนะนำนั้นจำกัดเฉพาะผลิตภันฑ์ในตลาดทุนที่เป็นสกุลเงินตราต่างประเทศซึ่งผู้ประกอบธุรกิจสามารถให้บริการได้

(3) แจ้งหลักเกณฑ์เกี่ยวกับการให้คำแนะนำตามกฎหมายว่าด้วยหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์หรือกฎหมายว่าด้วยสัญญาซื้อขายล่วงหน้า ให้บุคคลต่างประเทศทราบ

(4) ระมัดระวังมิให้การให้ข้อมูลหรือคำแนะนำนั้นบิดเบือน ไม่ถูกต้อง หรือทำให้ลูกค้าสำคัญผิด

(5) ในกรณีที่เป็นการให้ข้อมูลหรือคำแนะนำแก่ลูกค้าในงานสัมมนา ต้องปฎิบัติให้เป็นไปตามข้อกำหนดเกี่ยวกับการแนะนำการลงทุนในงานสัมมนาด้วย

หมวด 5

บทเฉพาะกาล

ข้อ 19 ให้บุคลากรในธุรกิจตลาดทุนซึ่งเป็นผู้ทำหน้าที่ให้บริการแก่ลูกค้าในการลงทุนในผลิตภัณฑ์ในตลาดทุนที่เป็นสกุลเงินตราต่างประเทศอยู่ก่อนวันที่ประกาศนี้ใช้บังคับ สามารถทำหน้าที่ต่อไปได้ โดยให้ผู้ประกอบธุรกิจดำเนินการให้บุคลากรในธุรกิจตลาดทุนดังกล่าวเข้ารับการอบรมหลักสูตรเกี่ยวกับความเสี่ยงด้านอัตราแลกเปลี่ยนจากหน่วยงานที่สำนักงาน ก.ล.ต. ยอมรับภายในวันที่ 31 ธันวาคม พ.ศ. 2562

ในกรณีที่บุคลากรในธุรกิจตลาดทุนตามวรรคหนึ่งรายใดไม่ได้เข้ารับการอบรมภายในระยะเวลาที่กำหนด ให้ผู้ประกอบธุรกิจดำเนินการห้ามบุคลากรรายนั้นเป็นผู้ทำหน้าที่ให้บริการแก่ลูกค้าในการลงทุนในผลิตภัณฑ์ในตลาดทุนที่เป็นสกุลเงินตราต่างประเทศ

ประกาศ ณ วันที่ 17 มกราคม พ.ศ. 2560

(นายรพี สุจริตกุล)
เลขาธิการ
สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์
ประธานกรรมการ
คณะกรรมการกำกับตลาดทุน

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ