ประกาศสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ที่ สธ. 45/2561 เรื่อง การปฏิบัติงานเกี่ยวกับการให้กู้ยืมเงินเพื่อซื้อหลักทรัพย์และการให้ยืมหลักทรัพย์แก่ลูกค้าที่มิใช่ลูกค้าสถาบันเพื่อขายชอร์ต

ข่าวหุ้น-การเงิน Friday September 14, 2018 10:56 —ประกาศ ก.ล.ต.

ประกาศสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์

ที่ สธ. 45/2561

เรื่อง การปฏิบัติงานเกี่ยวกับการให้กู้ยืมเงินเพื่อซื้อหลักทรัพย์และ

การให้ยืมหลักทรัพย์แก่ลูกค้าที่มิใช่ลูกค้าสถาบันเพื่อขายชอร์ต

______________________

อาศัยอำนาจตามความในข้อ 3 แห่งประกาศคณะกรรมการกำกับตลาดทุนที่ ทธ. 25/2552 เรื่อง หลักเกณฑ์ เงื่อนไข และวิธีการให้กู้ยืมเงินเพื่อการซื้อหลักทรัพย์ ลงวันที่ 20 กรกฎาคม พ.ศ. 2552 และข้อ 5(2) แห่งประกาศคณะกรรมการกำกับตลาดทุน ที่ ทธ. 47/2552 เรื่อง การขายหลักทรัพย์โดยที่บริษัทหลักทรัพย์ยังไม่มีหลักทรัพย์นั้นอยู่ในครอบครอง ลงวันที่ 3 สิงหาคม พ.ศ. 2552 สำนักงานออกประกาศไว้ดังต่อไปนี้

ข้อ 1 ในประกาศนี้

“บริษัทหลักทรัพย์”หมายความว่า บริษัทที่ได้รับใบอนุญาตประกอบธุรกิจหลักทรัพย์ประเภทการเป็นนายหน้าซื้อขายหลักทรัพย์ การค้าหลักทรัพย์ หรือการยืมและให้ยืมหลักทรัพย์ แต่ไม่รวมถึงบริษัทที่ได้รับใบอนุญาตประกอบธุรกิจหลักทรัพย์ประเภทการให้สินเชื่อ เพื่อธุรกิจหลักทรัพย์ด้วย

“การขายชอร์ต”หมายความว่า การขายหลักทรัพย์ที่ต้องยืมหลักทรัพย์มาเพื่อการส่งมอบ

“ลูกค้า” หมายความว่า ผู้ที่ทำสัญญากู้ยืมเงินกับบริษัทหลักทรัพย์เพื่อใช้ในการซื้อหลักทรัพย์ หรือผู้ที่ทำสัญญายืมหลักทรัพย์กับบริษัทหลักทรัพย์เพื่อใช้ในการขายชอร์ต แต่ไม่รวมถึง ผู้ยืมหลักทรัพย์ที่มีฐานะเป็นลูกค้าสถาบัน

คำว่า “ลูกค้าสถาบัน” ให้มีความหมายเช่นเดียวกับบทนิยามคำว่า “ผู้ลงทุนสถาบัน” ตามมาตรา 3 แห่งพระราชบัญญัติสัญญาซื้อขายล่วงหน้า พ.ศ. 2546 และประกาศที่ออกโดยอาศัยอำนาจตามบทบัญญัติแห่งกฎหมายดังกล่าว

“บัญชีมาร์จิ้น” หมายความว่า บัญชีที่บันทึกรายการการให้ลูกค้ากู้ยืมเงินเพื่อการซื้อหลักทรัพย์หรือการให้ลูกค้ายืมหลักทรัพย์เพื่อการขายชอร์ต

“อัตรามาร์จิ้นเริ่มต้น” หมายความว่า อัตราส่วนขั้นต่ำของจำนวนเงินที่ลูกค้าต้องชำระหรือหลักทรัพย์ที่ลูกค้าต้องวางเป็นประกันเพื่อซื้อหลักทรัพย์ หรือทรัพย์สินส่วนเกินของลูกค้า ที่ลูกค้าต้องมีในบัญชีมาร์จิ้น ต่อมูลค่าซื้อหลักทรัพย์รายการใดรายการหนึ่งก่อนที่จะซื้อหลักทรัพย์รายการนั้น หรืออัตราส่วนขั้นต่ำของจำนวนเงินหรือหลักทรัพย์ที่ลูกค้าต้องวางเป็นประกันเพื่อขายชอร์ต หรือทรัพย์สินส่วนเกินของลูกค้าที่ต้องมีในบัญชีมาร์จิ้นต่อมูลค่าขายชอร์ตรายการใดรายการหนึ่ง ก่อนที่จะขายชอร์ตรายการนั้น แล้วแต่กรณี

“ทรัพย์สินส่วนเกินของลูกค้า” หมายความว่า ทรัพย์สินของลูกค้ารายใดรายหนึ่ง ในส่วนที่เกินกว่าจำนวนที่ลูกค้าต้องดำรงไว้ตามอัตราส่วนที่บริษัทหลักทรัพย์กำหนด

“ทรัพย์สินของลูกค้า” หมายความว่า มูลค่าสุทธิของเงิน หลักทรัพย์ และทรัพย์สินอื่นที่เป็นประกันการชำระหนี้ในบัญชีมาร์จิ้นของลูกค้ารายใดรายหนึ่ง เมื่อหักภาระหนี้ที่เกิดจากการซื้อหรือขายหลักทรัพย์ในบัญชีมาร์จิ้นของลูกค้ารายนั้นแล้ว

“มูลค่าซื้อ” หมายความว่า จำนวนเงินค่าซื้อหลักทรัพย์แต่ละรายการที่ซื้อจากบัญชีมาร์จิ้น ซึ่งรวมค่าธรรมเนียมนายหน้าซื้อขายหลักทรัพย์รายการนั้นแล้ว

“มูลค่าขายชอร์ต” หมายความว่า จำนวนเงินค่าขายชอร์ตหลักทรัพย์แต่ละรายการที่ขายชอร์ตจากบัญชีมาร์จิ้น ซึ่งหักค่าธรรมเนียมนายหน้าซื้อขายหลักทรัพย์รายการนั้นแล้ว

“อำนาจซื้อ” หมายความว่า จำนวนเงินสูงสุดที่ลูกค้าอาจสั่งซื้อหลักทรัพย์จากบัญชีมาร์จิ้นได้ ณ ขณะใดขณะหนึ่ง ซึ่งรวมค่าธรรมเนียมนายหน้าซื้อขายหลักทรัพย์แล้ว

“อำนาจขายชอร์ต” หมายความว่า จำนวนเงินสูงสุดที่ลูกค้าอาจสั่งขายชอร์ตจากบัญชีมาร์จิ้นได้ ณ ขณะใดขณะหนึ่ง ซึ่งรวมค่าธรรมเนียมนายหน้าซื้อขายหลักทรัพย์แล้ว

“ตลาดหลักทรัพย์” หมายความว่า ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย

“เงินกองทุน” หมายความว่า ผลรวมของ

(1) ส่วนของผู้ถือหุ้นตามแบบรายงานฐานะการเงิน (บ.ล. 2) ณ วันสิ้นเดือนล่าสุด ทั้งนี้ ในระหว่างที่บริษัทยังอยู่ระหว่างการจัดทำรายงานตามแบบ บ.ล. 2 ให้บริษัทนั้นใช้ข้อมูล ส่วนของผู้ถือหุ้นตามแบบ บ.ล. 2 ณ วันสิ้นเดือนก่อนหน้าวันสิ้นเดือนล่าสุดได้ จนถึงวันก่อนหน้าวันที่บริษัทได้ยื่นรายงานตามแบบ บ.ล. 2 ณ วันสิ้นเดือนล่าสุดต่อสำนักงานแล้ว หรือจนถึงวันที่ 20 ของเดือนปัจจุบัน แล้วแต่วันใดจะถึงก่อน

(2) ทุนที่ออกและชำระแล้ว ซึ่งรวมส่วนเกินมูลค่าหุ้นและหักส่วนลดมูลค่าหุ้นแล้ว ทั้งนี้ เฉพาะส่วนที่เพิ่มขึ้นหรือลดลงอันเนื่องมาจากการเพิ่มทุนหรือลดทุนของบริษัทภายหลังวันที่ระบุ ในแบบรายงานตาม (1)

(3) เงินที่บริษัทหลักทรัพย์ได้รับจากการออกใบสำคัญแสดงสิทธิที่จะซื้อหุ้นของบริษัทหลักทรัพย์นั้นภายหลังวันที่ระบุในแบบรายงานตาม (1)

ข้อ 2 ก่อนที่บริษัทหลักทรัพย์จะอนุมัติให้บุคคลใดกู้ยืมเงินเพื่อซื้อหลักทรัพย์หรือยืมหลักทรัพย์เพื่อขายชอร์ต บริษัทหลักทรัพย์ต้องดำเนินการดังนี้

(1) จัดให้มีข้อมูลเกี่ยวกับบุคคลดังกล่าวที่เพียงพอในการวิเคราะห์ความเหมาะสมในการให้กู้ยืมเงินเพื่อซื้อหลักทรัพย์หรือการให้ยืมหลักทรัพย์เพื่อขายชอร์ต และความสามารถในการชำระหนี้ของบุคคลนั้น เพื่อใช้ประกอบการพิจารณาอนุมัติให้บุคคลดังกล่าวกู้ยืมเงินเพื่อซื้อหลักทรัพย์หรือยืมหลักทรัพย์เพื่อขายชอร์ต ทั้งนี้ ข้อมูลขั้นต่ำที่บริษัทหลักทรัพย์ต้องใช้ประกอบการพิจารณาได้แก่

(ก) รายได้ ฐานะการเงิน และวัตถุประสงค์ของการลงทุน

(ข) ความรู้และความเข้าใจเกี่ยวกับการลงทุน ประวัติการลงทุน และประวัติการกู้ยืมเงินเพื่อซื้อหลักทรัพย์และการยืมหลักทรัพย์เพื่อขายชอร์ต

(ค) ความพร้อมและความเข้าใจในการปฏิบัติตามกฎระเบียบเกี่ยวกับการกู้ยืมเงินเพื่อซื้อหลักทรัพย์หรือการยืมหลักทรัพย์เพื่อขายชอร์ต

(2) ตรวจสอบเยี่ยงผู้ประกอบวิชาชีพพึงกระทำว่า บุคคลที่ขอกู้ยืมเงินเพื่อซื้อหลักทรัพย์หรือขอยืมหลักทรัพย์เพื่อขายชอร์ตเป็นผู้ที่มีอำนาจตัดสินใจสั่งซื้อขายหลักทรัพย์ และมีความสามารถในการชำระหนี้ที่เกิดจากการซื้อขายดังกล่าว ทั้งนี้ ห้ามมิให้บริษัทหลักทรัพย์ให้กู้ยืมเงินเพื่อซื้อหลักทรัพย์หรือให้ยืมหลักทรัพย์เพื่อขายชอร์ตแก่บุคคลที่บริษัทหลักทรัพย์รู้หรือควรรู้ว่าเป็นตัวแทนของบุคคลอื่นในการซื้อขายหลักทรัพย์

ข้อ 3 เมื่อบริษัทหลักทรัพย์อนุมัติให้บุคคลใดกู้ยืมเงินเพื่อซื้อหลักทรัพย์หรือยืมหลักทรัพย์เพื่อขายชอร์ตแล้ว บริษัทหลักทรัพย์ต้องดำเนินการดังนี้

(1) กำหนดวงเงินสูงสุดที่ลูกค้าอาจเป็นหนี้บริษัทหลักทรัพย์ได้ ณ ขณะใดขณะหนึ่งเนื่องจากการกู้ยืมเงินเพื่อซื้อหลักทรัพย์หรือการยืมหลักทรัพย์เพื่อขายชอร์ต โดยพิจารณาตามความเหมาะสมของลูกค้ารายนั้น ทั้งนี้ สำหรับลูกค้ารายที่ได้รับอนุมัติให้ทำธุรกรรมทั้งสองลักษณะ ให้บริษัทหลักทรัพย์กำหนดวงเงินสูงสุดเป็นวงเงินรวม

(2) จัดให้ลูกค้าทำสัญญากู้ยืมเงินเพื่อซื้อหลักทรัพย์หรือยืมหลักทรัพย์เพื่อขายชอร์ตเป็นลายลักษณ์อักษร โดยสัญญาดังกล่าวต้องมีข้อความที่ลูกค้าแสดงความยินยอมให้บริษัทหลักทรัพย์ยึดถือหลักทรัพย์ที่ซื้อจากบัญชีมาร์จิ้นหรือเงินค่าขายชอร์ตไว้เพื่อเป็นประกันการชำระหนี้ในบัญชีมาร์จิ้นของลูกค้ารายนั้น ทั้งนี้ สำหรับลูกค้ารายที่ได้รับอนุมัติให้ทำธุรกรรมทั้งสองลักษณะ สัญญาที่บริษัทหลักทรัพย์จัดให้ลูกค้าลงนามต้องมีข้อความที่ลูกค้าแสดงความยินยอมให้บริษัทหลักทรัพย์ยึดถือทั้งหลักทรัพย์ที่ซื้อจากบัญชีมาร์จิ้นและเงินค่าขายชอร์ตไว้เพื่อเป็นประกันการชำระหนี้ในบัญชีมาร์จิ้นของลูกค้ารายนั้น

(3) แจ้งให้ลูกค้าเข้าใจและลงนามรับทราบถึงลักษณะความเสี่ยงของการกู้ยืมเงินเพื่อซื้อหลักทรัพย์หรือการยืมหลักทรัพย์เพื่อขายชอร์ต รวมทั้งความเสี่ยงจากการวางเงินไว้กับบริษัทหลักทรัพย์ ซึ่งเงินดังกล่าวจะไม่ได้รับความคุ้มครองจากกองทุนเพื่อการฟื้นฟูและพัฒนาระบบสถาบันการเงิน ทั้งนี้ บริษัทหลักทรัพย์ต้องทำความเข้าใจกับลูกค้าเกี่ยวกับกฎระเบียบในการกู้ยืมเงินเพื่อซื้อหลักทรัพย์หรือการยืมหลักทรัพย์เพื่อขายชอร์ตด้วย

(4) รวบรวมข้อมูลและหลักฐานที่เกี่ยวกับลูกค้าไว้ในแฟ้มรายตัว และปรับปรุงให้แฟ้มดังกล่าวเป็นปัจจุบันอยู่เสมอ

(5) ทบทวนวงเงินตาม (1) ของลูกค้าอย่างน้อยปีละ 1 ครั้ง เว้นแต่ในกรณีที่มีการเปลี่ยนแปลงข้อมูลเกี่ยวกับลูกค้าอย่างมีนัยสำคัญ ให้บริษัทหลักทรัพย์พิจารณาทบทวนวงเงินนั้น เมื่อพบการเปลี่ยนแปลงดังกล่าว

ข้อ 4 ให้บริษัทหลักทรัพย์กำหนดรายชื่อหลักทรัพย์ที่จะอนุญาตให้ลูกค้าซื้อหรือขายชอร์ตจากบัญชีมาร์จิ้นและอัตรามาร์จิ้นเริ่มต้นสำหรับแต่ละหลักทรัพย์นั้นไว้เป็นลายลักษณ์อักษร โดยในการกำหนดรายชื่อหลักทรัพย์และอัตรามาร์จิ้นเริ่มต้นดังกล่าว บริษัทหลักทรัพย์ต้องคำนึงถึงสภาพคล่อง ความผันผวนของราคา และความเสี่ยงของแต่ละหลักทรัพย์เป็นสำคัญ

อัตรามาร์จิ้นเริ่มต้นสำหรับแต่ละหลักทรัพย์ที่บริษัทหลักทรัพย์กำหนดตามวรรคหนึ่งต้องเป็นไปตามหลักเกณฑ์ดังต่อไปนี้

(1) กรณีเป็นการซื้อหลักทรัพย์ อัตรามาร์จิ้นเริ่มต้นต้องไม่ต่ำกว่าอัตราที่กำหนดในประกาศคณะกรรมการกำกับตลาดทุนว่าด้วยหลักเกณฑ์ เงื่อนไข และวิธีการให้กู้ยืมเงินเพื่อการซื้อหลักทรัพย์

(2) กรณีเป็นการขายชอร์ต อัตรามาร์จิ้นเริ่มต้นต้องไม่ต่ำกว่าอัตราที่กำหนดในประกาศคณะกรรมการกำกับตลาดทุนว่าด้วยหลักเกณฑ์ เงื่อนไข และวิธีการให้กู้ยืมเงินเพื่อการซื้อหลักทรัพย์ โดยอนุโลม

ข้อ 5 ในการให้กู้ยืมเงินเพื่อซื้อหลักทรัพย์หรือการให้ยืมหลักทรัพย์เพื่อขายชอร์ต ให้บริษัทหลักทรัพย์ปฏิบัติดังต่อไปนี้

(1) จัดให้มีบัญชีมาร์จิ้นสำหรับลูกค้าแต่ละราย

(2) ดำเนินการให้ลูกค้านำเงินหรือหลักทรัพย์ประเภทใดประเภทหนึ่งหรือหลายประเภทดังนี้ มาวางไว้ในบัญชีมาร์จิ้นเพื่อเป็นประกันการซื้อขายหลักทรัพย์ ก่อนที่จะให้ลูกค้าเริ่มซื้อหลักทรัพย์หรือขายชอร์ตจากบัญชีมาร์จิ้นครั้งแรก ทั้งนี้ ให้บริษัทหลักทรัพย์คำนวณมูลค่าตามวิธีการที่กำหนดใน (5) โดยอนุโลม

(ก) หลักทรัพย์จดทะเบียน

(ข) หน่วยลงทุนของกองทุนรวมเปิดที่กำหนดวันทำการซื้อขายหน่วยลงทุนทุกวันทำการ (daily redemption fund) แต่ไม่รวมถึงหน่วยลงทุนที่มีข้อจำกัดการโอน

(ค) ตั๋วเงินคลัง

(ง) พันธบัตรรัฐบาลไทย

(จ) พันธบัตรธนาคารแห่งประเทศไทย

(ฉ) พันธบัตรหรือตราสารแห่งหนี้ที่กระทรวงการคลังเป็นผู้รับอาวัลทั้งจำนวน หรือเป็นผู้ค้ำประกันต้นเงินและดอกเบี้ยเต็มจำนวนอย่างไม่มีเงื่อนไข หรือที่กองทุนเพื่อการฟื้นฟูและพัฒนาระบบสถาบันการเงินเป็นผู้ออกหรือค้ำประกันต้นเงินและดอกเบี้ยเต็มจำนวนอย่างไม่มีเงื่อนไข

(ช) ตราสารแห่งหนี้ที่ตัวตราสารนั้นเอง หรือผู้ออกตราสาร ผู้ค้ำประกันต้นเงินและดอกเบี้ยเต็มจำนวนอย่างไม่มีเงื่อนไข ผู้รับรองโดยเป็นการรับรองตลอดไป ผู้รับอาวัลทั้งจำนวน หรือผู้สลักหลังโอนประเภทมีสิทธิไล่เบี้ยทั้งจำนวนอย่างไม่มีเงื่อนไข ได้รับการจัดอันดับความน่าเชื่อถือตั้งแต่ระดับบีบีบี (BBB) ขึ้นไปหรือเทียบเท่าหลักทรัพย์ตาม (ค) (ง) (จ) (ฉ) หรือ (ช) ต้องได้รับการขึ้นทะเบียนกับสมาคมตลาดตราสารหนี้ไทย

ให้บริษัทหลักทรัพย์ดำเนินการจดทะเบียนจำนำหรือดำเนินการอื่นใดตามวิธีการที่กฎหมายที่เกี่ยวข้องกำหนด เพื่อให้บริษัทหลักทรัพย์มีบุริมสิทธิเหนือหลักทรัพย์ดังกล่าวก่อน

(3) ไม่ยินยอมให้ลูกค้ากู้ยืมเงินเพื่อซื้อหลักทรัพย์หรือขายชอร์ตจากบัญชีมาร์จิ้นเกินกว่าอำนาจซื้อหรืออำนาจขายชอร์ตที่คำนวณได้ ณ ขณะใดขณะหนึ่ง

ในการคำนวณอำนาจซื้อและอำนาจขายชอร์ตของลูกค้า ณ ขณะใดขณะหนึ่ง

ให้บริษัทหลักทรัพย์คำนึงถึงทรัพย์สินส่วนเกินของลูกค้าในขณะนั้น เว้นแต่เป็นกรณีที่ลูกค้าไม่มีทรัพย์สินส่วนเกิน แต่ได้นำเงินหรือหลักทรัพย์ตาม (2) มาวางเป็นประกันการซื้อขายหลักทรัพย์เฉพาะคราวให้บริษัทหลักทรัพย์คำนวณอำนาจซื้อหรืออำนาจขายชอร์ตของลูกค้าจากจำนวนเงินหรือหลักทรัพย์ที่ลูกค้านำมาวางไว้เฉพาะคราวที่มีอยู่ในขณะนั้น ทั้งนี้ เมื่อสิ้นวันทำการของวันที่ลูกค้านำเงินหรือหลักทรัพย์มาวางเป็นประกันแล้ว หากมีเงินหรือหลักทรัพย์คงเหลืออยู่จากการที่ลูกค้าซื้อหรือขายชอร์ตไม่เต็มตามจำนวนเงินหรือตามมูลค่าหลักทรัพย์ที่วางไว้ ให้บริษัทหลักทรัพย์คืนเงินหรือหลักทรัพย์คงเหลือนั้นให้แก่ลูกค้าหรือโอนไปบันทึกในบัญชีมาร์จิ้นของลูกค้าเสมือนว่าลูกค้าได้นำเงินหรือหลักทรัพย์มาวางเพิ่มเติม ตามแต่จะตกลงกับลูกค้า

(4) กำหนดประเภทของทรัพย์สินที่ลูกค้าอาจนำมาวางเพิ่มเติมเพื่อเป็นประกันการชำระหนี้ในบัญชีมาร์จิ้น

ในกรณีที่ทรัพย์สินที่บริษัทหลักทรัพย์ได้รับเพิ่มเติมจากลูกค้าเพื่อเป็นประกันการชำระหนี้ในบัญชีมาร์จิ้นมิใช่ทรัพย์สิน ตราสารทางการเงิน และหนังสือสัญญาในประเภทต่อไปนี้ ห้ามมิให้บริษัทหลักทรัพย์นับรวมทรัพย์สินนั้นเป็นทรัพย์สินของลูกค้าเพื่อประโยชน์ในการคำนวณใด ๆ ตามประกาศนี้

(ก) เงิน

(ข) หลักทรัพย์จดทะเบียน

(ค) หน่วยลงทุนของกองทุนรวมเปิดที่กำหนดวันทำการซื้อขายหน่วยลงทุนทุกวันทำการ (daily redemption fund) แต่ไม่รวมถึงหน่วยลงทุนที่มีข้อจำกัดด้านการโอน

(ง) ตั๋วเงินคลัง

(จ) พันธบัตรรัฐบาลไทย

(ฉ) พันธบัตรธนาคารแห่งประเทศไทย

(ช) พันธบัตรหรือตราสารแห่งหนี้ที่กระทรวงการคลังเป็นผู้รับอาวัลทั้งจำนวน หรือเป็นผู้ค้ำประกันต้นเงินและดอกเบี้ยเต็มจำนวนอย่างไม่มีเงื่อนไข หรือที่กองทุนเพื่อการฟื้นฟูและพัฒนาระบบสถาบันการเงินเป็นผู้ออกหรือค้ำประกันต้นเงินและดอกเบี้ยเต็มจำนวนอย่างไม่มีเงื่อนไข

(ซ) ตราสารแห่งหนี้ที่ตัวตราสารนั้นเอง หรือผู้ออกตราสาร ผู้ค้ำประกันต้นเงินและดอกเบี้ยเต็มจำนวนอย่างไม่มีเงื่อนไข ผู้รับรองโดยเป็นการรับรองตลอดไป ผู้รับอาวัลทั้งจำนวน หรือผู้สลักหลังโอนประเภทมีสิทธิไล่เบี้ยทั้งจำนวนอย่างไม่มีเงื่อนไข ได้รับการจัดอันดับความน่าเชื่อถือตั้งแต่ระดับบีบีบี (BBB) ขึ้นไปหรือเทียบเท่า

(ฌ) บัตรเงินฝากที่ธนาคารพาณิชย์หรือบริษัทเงินทุนเป็นผู้ออก หรือ

(ญ) หนังสือค้ำประกันที่สถาบันการเงินออกให้ไว้แก่บริษัทหลักทรัพย์เพื่อเป็นประกันการชำระหนี้ในบัญชีมาร์จิ้นของลูกค้า โดยสถาบันการเงินนั้นยินยอมรับผิดในฐานะลูกหนี้ชั้นต้น ทั้งนี้ ไม่ว่าหนังสือนั้นจะออกเป็นเล็ตเตอร์ออฟเครดิตหรือหนังสือค้ำประกัน

ให้บริษัทหลักทรัพย์นับรวมมูลค่าของทรัพย์สินที่ได้รับเพิ่มเติมจากลูกค้าเพื่อเป็นประกันการชำระหนี้ในบัญชีมาร์จิ้นเพื่อประโยชน์ในการคำนวณอำนาจซื้อหรืออำนาจขายชอร์ตของลูกค้าได้เฉพาะกรณีที่ทรัพย์สินนั้นเป็นทรัพย์สินตาม (ก) ถึง (ซ) ทั้งนี้ หากเป็นทรัพย์สินประเภท (ง) (จ) (ฉ) (ช) หรือ (ซ) ต้องได้รับการขึ้นทะเบียนกับสมาคมตลาดตราสารหนี้ไทยด้วย

(5) ปรับปรุงมูลค่าหลักประกันและยอดหนี้ของลูกค้าในบัญชีมาร์จิ้นทุกบัญชีให้เป็นปัจจุบันอย่างน้อยทุกสิ้นวันทำการ

ในการคำนวณมูลค่าหลักทรัพย์ที่ให้ยืมเพื่อขายชอร์ตและมูลค่าหลักประกันที่มิใช่เงิน เล็ตเตอร์ออฟเครดิต หรือหนังสือค้ำประกันที่ออกโดยสถาบันการเงินที่เป็นสกุลบาท ให้บริษัทหลักทรัพย์คำนวณตามวิธีใดวิธีหนึ่งต่อไปนี้

(ก) ให้ใช้ราคาปิด ณ สิ้นวันทำการก่อนวันที่คำนวณมูลค่าที่ประกาศโดยตลาดหลักทรัพย์ หรือราคาอ้างอิง ณ สิ้นวันทำการก่อนวันที่คำนวณมูลค่าที่ประกาศโดยสมาคมตลาดตราสารหนี้ไทย Thomson Reuters Bloomberg หรือผู้ประกอบธุรกิจให้บริการข้อมูลเกี่ยวกับการซื้อขายหลักทรัพย์ที่สำนักงานยอมรับ หรือ

(ข) ให้ใช้ราคาที่เห็นว่าสามารถสะท้อนถึงมูลค่าตลาดในปัจจุบัน (current market price) ของหลักทรัพย์หรือหลักประกันแต่ละประเภท

(6) เรียกเก็บดอกเบี้ยจากการให้กู้ยืมเงินเพื่อซื้อหลักทรัพย์หรือการให้ยืมหลักทรัพย์เพื่อขายชอร์ตจากลูกค้า หรือชำระดอกเบี้ยสำหรับเงินที่ลูกค้านำมาวางเป็นประกันการชำระหนี้ในบัญชีมาร์จิ้นในส่วนที่คงเหลืออยู่จากการที่ลูกค้ายังซื้อหลักทรัพย์ไม่เต็มตามจำนวนเงินที่วางไว้ โดยให้ดำเนินการอย่างน้อยเดือนละครั้ง โดยคำนวณจากยอดคงค้างในแต่ละวันตามอัตราดอกเบี้ย ที่ได้ตกลงไว้กับลูกค้า ทั้งนี้ ให้บริษัทหลักทรัพย์เรียกเก็บหรือชำระดอกเบี้ยดังกล่าวโดยวิธีปรับปรุงจากบัญชีมาร์จิ้นเสมือนว่าลูกค้าได้ถอนเงินหรือนำเงินมาวางเพิ่มในบัญชีมาร์จิ้น แล้วแต่กรณี

(7) จัดทำและจัดส่งรายงานให้แก่ลูกค้าอย่างน้อยเดือนละครั้ง เพื่อสรุปความเคลื่อนไหวของสถานะความเป็นลูกหนี้หรือเจ้าหนี้ของลูกค้า พร้อมทั้งรายการหลักประกันในบัญชีมาร์จิ้นและหลักทรัพย์ที่ลูกค้ายืมคงค้าง

ข้อ 6 ในกรณีที่บริษัทหลักทรัพย์ประสงค์จะนับรวมทรัพย์สินใดที่มิใช่หลักทรัพย์จดทะเบียนที่บริษัทหลักทรัพย์ได้ยึดถือไว้เป็นประกันตามมาตรา 195 เป็นทรัพย์สินของลูกค้าเพื่อประโยชน์ในการคำนวณใด ๆ ตามประกาศนี้ ให้บริษัทหลักทรัพย์นับรวมได้ต่อเมื่อได้ดำเนินการจดทะเบียนจำนำหรือดำเนินการอื่นใดตามวิธีการที่กฎหมายที่เกี่ยวข้องกำหนด เพื่อให้บริษัทหลักทรัพย์มีบุริมสิทธิเหนือทรัพย์สินดังกล่าวแล้ว เว้นแต่จะเข้ากรณีที่กำหนดไว้ในข้อ 7 หรือข้อ 8

ข้อ 7 ในกรณีที่บริษัทจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์เสนอขายหุ้นเพิ่มทุนต่อผู้ถือหุ้นเดิม กรรมการหรือพนักงานของบริษัท หรือบุคคลในวงจำกัด ซึ่งลูกค้าได้รับสิทธิในการจองซื้อ หุ้นเพิ่มทุนของบริษัทนั้นและมีหุ้นของบริษัทดังกล่าวเป็นประกันการชำระหนี้ในบัญชีมาร์จิ้นอยู่ด้วย ให้บริษัทหลักทรัพย์นับรวมมูลค่าสิทธิในการจองซื้อหุ้นเพิ่มทุนเป็นหลักประกันได้ตั้งแต่วันที่ลูกค้าทราบแน่นอนถึงจำนวนและราคาจองซื้อหุ้นเพิ่มทุนจนถึงวันก่อนวันที่ลูกค้าชำระเงินค่าจองซื้อ วันที่ลูกค้าปฏิเสธสิทธิในการจองซื้อ หรือวันพ้นกำหนดชำระเงินค่าจองซื้อ แต่มิให้นับรวมมูลค่าสิทธิในการจองซื้อหุ้นเพิ่มทุนดังกล่าวเป็นอำนาจซื้อหรืออำนาจขายชอร์ตของลูกค้า ทั้งนี้ เมื่อลูกค้าได้ชำระเงินค่าจองซื้อแล้ว ให้บริษัทหลักทรัพย์นับรวมมูลค่าสิทธิที่จะได้รับหุ้นเพิ่มทุนเป็นหลักประกันและอำนาจซื้อหรืออำนาจขายชอร์ตของลูกค้าได้ ตั้งแต่วันที่บริษัทหลักทรัพย์จัดให้มีมาตรการที่เพียงพอที่จะทำให้มั่นใจได้ว่าเมื่อลูกค้าได้รับหุ้นเพิ่มทุนที่จองซื้อแล้วจะนำหุ้นดังกล่าวทั้งจำนวนมาจดทะเบียนจำนำหรือดำเนินการอื่นใดตามวิธีการที่กฎหมายที่เกี่ยวข้องกำหนด เพื่อให้บริษัทหลักทรัพย์มีบุริมสิทธิเหนือหุ้นนั้น จนถึงวันก่อนวันที่บริษัทผู้ออกหุ้นทำการออกหุ้นเพิ่มทุนนั้น

ในกรณีที่บริษัทจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์เสนอขายหุ้นเพิ่มทุนต่อบุคคลใด ๆ และลูกค้าได้ชำระเงินค่าจองซื้อหุ้นเพิ่มทุนดังกล่าวแล้ว ให้บริษัทหลักทรัพย์นับรวมมูลค่าสิทธิที่จะได้รับหุ้นเพิ่มทุนเป็นหลักประกันและอำนาจซื้อหรืออำนาจขายชอร์ตของลูกค้าได้ตั้งแต่วันที่ลูกค้าทราบแน่นอนถึงจำนวนหุ้นเพิ่มทุนที่ได้รับการจัดสรรและบริษัทหลักทรัพย์จัดให้มีมาตรการที่เพียงพอ ที่จะทำให้มั่นใจได้ว่าเมื่อลูกค้าได้รับหุ้นเพิ่มทุนที่จองซื้อแล้วจะนำหุ้นดังกล่าวทั้งจำนวนมาจดทะเบียนจำนำหรือดำเนินการอื่นใดตามวิธีการที่กฎหมายที่เกี่ยวข้องกำหนด เพื่อให้บริษัทหลักทรัพย์มีบุริมสิทธิเหนือหุ้นนั้น จนถึงวันก่อนวันที่บริษัทผู้ออกหุ้นทำการออกหุ้นเพิ่มทุนนั้น

การคำนวณมูลค่าสิทธิในการจองซื้อหุ้นเพิ่มทุนหรือมูลค่าสิทธิที่จะได้รับหุ้นเพิ่มทุนเป็นหลักประกันและอำนาจซื้อหรืออำนาจขายชอร์ตตามวรรคหนึ่งและวรรคสอง ให้บริษัทหลักทรัพย์คำนวณโดยวิธีดังต่อไปนี้

(1) กรณีลูกค้ายังไม่ได้ชำระเงินค่าจองซื้อหุ้นเพิ่มทุน ให้คำนวณมูลค่าสิทธิในการจองซื้อหุ้นเพิ่มทุนโดยการนำราคาตลาดของหุ้นที่มีการออกหุ้นเพิ่มทุนหักด้วยราคาจองซื้อและคูณด้วยจำนวนหุ้นเพิ่มทุนที่จะได้รับตามสิทธิ

(2) กรณีลูกค้าชำระเงินค่าจองซื้อหุ้นเพิ่มทุนแล้ว ให้คำนวณมูลค่าสิทธิที่จะได้รับหุ้นเพิ่มทุนโดยการนำราคาตลาดของหุ้นที่มีการออกหุ้นเพิ่มทุนคูณด้วยจำนวนหุ้นเพิ่มทุนที่จะได้รับจากการจัดสรร

ข้อ 8 ในกรณีที่มีการทำคำเสนอซื้อหลักทรัพย์เพื่อครอบงำกิจการพร้อมกับการเสนอขายหุ้นที่ออกใหม่ของผู้ทำคำเสนอซื้อหลักทรัพย์ที่เป็นบริษัทจดทะเบียนให้แก่ผู้เสนอขายตามคำเสนอซื้อหลักทรัพย์นั้น และลูกค้าของบริษัทหลักทรัพย์ประสงค์จะขอถอนหลักทรัพย์ของกิจการดังกล่าวที่เป็นประกันการชำระหนี้ในบัญชีมาร์จิ้นเพื่อไปเสนอขายตามคำเสนอซื้อหลักทรัพย์ ให้บริษัทหลักทรัพย์นับรวมมูลค่าหุ้นที่ลูกค้าจะได้รับจากการจองซื้อหุ้นที่ออกใหม่ดังกล่าวเป็นหลักประกันและอำนาจซื้อหรืออำนาจขายชอร์ตของลูกค้าได้ตั้งแต่วันที่บริษัทหลักทรัพย์ได้ดำเนินการถอนหลักทรัพย์ที่เป็นประกันนั้นออกจากบัญชีมาร์จิ้นและบริษัทหลักทรัพย์ได้จัดให้มีมาตรการที่เพียงพอที่จะทำให้มั่นใจได้ว่าเมื่อลูกค้าได้รับหุ้นที่ออกใหม่ดังกล่าวแล้วจะนำหุ้นดังกล่าวทั้งจำนวนมาจดทะเบียนจำนำหรือดำเนินการอื่นใดตามวิธีการที่กฎหมายที่เกี่ยวข้องกำหนด เพื่อให้บริษัทหลักทรัพย์มีบุริมสิทธิเหนือหุ้นนั้น ตลอดจนผู้ทำคำเสนอซื้อหลักทรัพย์ได้มีการระบุสัดส่วนของหุ้นที่ออกใหม่ที่ลูกค้าจะได้รับไว้อย่างชัดเจนแล้ว ทั้งนี้ จนถึงวันก่อนวันที่ผู้ทำคำเสนอซื้อหลักทรัพย์ได้ออกหุ้นใหม่

การคำนวณมูลค่าหุ้นที่ลูกค้าจะได้รับจากผู้ทำคำเสนอซื้อหลักทรัพย์ตามวรรคหนึ่ง ให้บริษัทหลักทรัพย์คำนวณโดยการนำราคาตลาดของหุ้นดังกล่าวคูณด้วยจำนวนหุ้นที่ลูกค้าจะได้รับนั้น

เพื่อประโยชน์ตามความในข้อนี้ คำว่า “กิจการ” หมายความว่า บริษัทที่มีหุ้นเป็นหลักทรัพย์จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์

ข้อ 9 ห้ามมิให้บริษัทหลักทรัพย์มียอดหนี้คงค้างเนื่องจากการให้กู้ยืมเงินเพื่อซื้อหลักทรัพย์แก่ลูกค้ารายใดรายหนึ่ง เมื่อสิ้นวันหนึ่ง ๆ เกินกว่าร้อยละ 25 ของเงินกองทุนของบริษัทหลักทรัพย์ และห้ามมิให้บริษัทหลักทรัพย์มียอดหนี้คงค้างเนื่องจากการให้กู้ยืมเงินเพื่อซื้อหลักทรัพย์แก่ลูกค้าทุกรายรวมกันภายหลังหักค่าเผื่อหนี้สงสัยจะสูญแล้ว เมื่อสิ้นวันหนึ่ง ๆ เกินกว่า 5 เท่าของเงินกองทุนของบริษัทหลักทรัพย์

การให้กู้ยืมเงินเพื่อซื้อหลักทรัพย์แก่บุคคลที่เกี่ยวข้องกับลูกค้ารายใดตามนัยมาตรา 258 ให้นับรวมเป็นการให้กู้ยืมเงินเพื่อซื้อหลักทรัพย์แก่ลูกค้าตามวรรคหนึ่งด้วย โดยอนุโลมเพื่อประโยชน์ในการคำนวณยอดหนี้คงค้างตามวรรคหนึ่ง ในกรณีที่บริษัทหลักทรัพย์มีการให้ยืมหลักทรัพย์แก่ลูกค้าที่มิใช่ลูกค้าสถาบันตามประกาศสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ว่าด้วยข้อกำหนดเกี่ยวกับระบบงาน สัญญายืมและให้ยืมหลักทรัพย์และหลักประกัน ในธุรกรรมการยืมและให้ยืมหลักทรัพย์ ให้บริษัทหลักทรัพย์นับรวมยอดหนี้คงค้างเนื่องจากการให้ยืมหลักทรัพย์ดังกล่าวเป็นยอดหนี้คงค้างตามวรรคหนึ่งด้วย โดยอนุโลมความในวรรคหนึ่งมิให้นำมาใช้กับกรณีที่ยอดหนี้คงค้างของลูกค้ารายใดรายหนึ่งหรือทุกรายรวมกันสูงกว่าอัตราที่กำหนดเนื่องจากเหตุใดเหตุหนึ่ง ดังนี้

(1) หลักทรัพย์ที่ยืมมีมูลค่าสูงขึ้น

(2) การเรียกเก็บดอกเบี้ยตามข้อ 5(6)

(3) การซื้อหลักทรัพย์เพื่อนำมาคืนการยืมหลักทรัพย์เพื่อขายชอร์ต

(4) เงินกองทุนของบริษัทหลักทรัพย์ลดลง

ในกรณีที่ยอดหนี้คงค้างของลูกค้ารายใดรายหนึ่งหรือทุกรายรวมกัน สูงเกินกว่าอัตราที่กำหนดตามวรรคหนึ่ง ไม่ว่าการนั้นจะเกิดขึ้นเนื่องจากเหตุใด ห้ามมิให้บริษัทหลักทรัพย์ให้กู้ยืมเงินเพื่อซื้อหลักทรัพย์แก่ลูกค้ารายดังกล่าวเพิ่มขึ้นอีกจนกว่ายอดหนี้คงค้างของลูกค้ารายนั้นจะเป็นไปตามอัตราที่กำหนด และห้ามมิให้บริษัทหลักทรัพย์ให้กู้ยืมเงินเพื่อซื้อหลักทรัพย์แก่ลูกค้ารายใดเพิ่มเติมอีกจนกว่ายอดหนี้คงค้างของลูกค้าทุกรายรวมกันภายหลังหักค่าเผื่อหนี้สงสัยจะสูญจะเป็นไปตามอัตราที่กำหนด แล้วแต่กรณี

ข้อ 10 บริษัทหลักทรัพย์ต้องจัดให้มีระบบการควบคุมภายในและต้องตรวจสอบดูแลให้การปฏิบัติงานของพนักงานในการให้กู้ยืมเงินเพื่อซื้อหลักทรัพย์และการให้ยืมหลักทรัพย์เพื่อขายชอร์ตเป็นไปตามประกาศที่เกี่ยวข้อง

ข้อ 11 หากบริษัทหลักทรัพย์ได้โอนหนี้ในบัญชีมาร์จิ้นของลูกค้ารายใดไปบันทึกในบัญชีลูกหนี้ประเภทอื่นแล้ว ห้ามมิให้บริษัทหลักทรัพย์ให้กู้ยืมเงินเพื่อซื้อหลักทรัพย์หรือให้ยืมหลักทรัพย์เพื่อขายชอร์ตแก่ลูกค้ารายนั้นอีกจนกว่าลูกค้าจะได้ชำระหนี้คงค้างทั้งหมดแล้ว

ข้อ 12 ให้บรรดาคำสั่งหรือหนังสือเวียนที่ออกหรือวางแนวปฏิบัติตามประกาศสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ ที่ สธ. 42/2540 เรื่อง การปฏิบัติงานเกี่ยวกับการให้กู้ยืมเงินเพื่อซื้อหลักทรัพย์และการให้ยืมหลักทรัพย์แก่ลูกค้าที่มิใช่ลูกค้าสถาบันเพื่อขายชอร์ต ลงวันที่ 4 ธันวาคม พ.ศ. 2540 ซึ่งใช้บังคับอยู่ในวันก่อนวันที่ประกาศนี้ใช้บังคับ ยังคงใช้บังคับได้ต่อไปเท่าที่ไม่ขัดหรือแย้งกับข้อกำหนดแห่งประกาศนี้ จนกว่าจะได้มีคำสั่งหรือหนังสือเวียนที่ออกหรือวางแนวปฏิบัติตามประกาศนี้ใช้บังคับ

ข้อ 13 ในกรณีที่มีประกาศฉบับอื่นใดอ้างอิงประกาศสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ ที่ สธ. 42/2540 เรื่อง การปฏิบัติงานเกี่ยวกับการให้กู้ยืมเงินเพื่อซื้อหลักทรัพย์และการให้ยืมหลักทรัพย์แก่ลูกค้าที่มิใช่ลูกค้าสถาบันเพื่อขายชอร์ต ลงวันที่ 4 ธันวาคม พ.ศ. 2540 ให้การอ้างอิงดังกล่าวหมายถึงการอ้างอิงประกาศฉบับนี้

ข้อ 14 ประกาศนี้ให้ใช้บังคับตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคม พ.ศ. 2561 เป็นต้นไป

ประกาศ ณ วันที่ 14 กันยายน พ.ศ. 2561

(นายรพี สุจริตกุล)

เลขาธิการ

สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์

ที่มา: http://www.sec.or.th/


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ