หลักเกณฑ์ เงื่อนไข และวิธีการในการเป็นนายหน้าซื้อขายหลักทรัพย์ การค้าหลักทรัพย์ และการจัดจำหน่ายหลักทรัพย์ ที่เป็นหน่วยลงทุน

ข่าวหุ้น-การเงิน Friday May 16, 2008 09:34 —ประกาศ ก.ล.ต.

                                        ประกาศคณะกรรมการกำกับตลาดทุน
ที่ ทข. 12/2551
เรื่อง หลักเกณฑ์ เงื่อนไข และวิธีการในการเป็นนายหน้าซื้อขายหลักทรัพย์
การค้าหลักทรัพย์ และการจัดจำหน่ายหลักทรัพย์ ที่เป็นหน่วยลงทุน
___________________________
อาศัยอำนาจตามความในมาตรา 16/6 มาตรา 112 มาตรา 113 มาตรา 114 และมาตรา 116 แห่งพระราชบัญญัติหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ พ.ศ. 2535 ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ฉบับที่ 4) พ.ศ. 2551 อันเป็นพระราชบัญญัติที่มีบทบัญญัติบางประการเกี่ยวกับการจำกัดสิทธิและเสรีภาพของบุคคล ซึ่งมาตรา 29 ประกอบกับมาตรา 33 มาตรา 34 มาตรา 41 มาตรา 43 มาตรา 44 และมาตรา 64 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย บัญญัติให้กระทำได้โดยอาศัยอำนาจตามบทบัญญัติแห่งกฎหมาย คณะกรรมการ ก.ล.ต. ทำหน้าที่คณะกรรมการกำกับตลาดทุนตามมาตรา 60 แห่งพระราชบัญญัติหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ฉบับที่ 4) พ.ศ. 2551 ออกข้อกำหนด ไว้ดังต่อไปนี้
ข้อ 1 ให้เพิ่มความต่อไปนี้เป็นบทนิยามคำว่า “ผู้ลงทุนประเภทสถาบัน” ระหว่างบทนิยามคำว่า “บริษัทหลักทรัพย์” และคำว่า “การขายโดยผู้ลงทุนมิได้ร้องขอ” (cold calling) ในข้อ 1 แห่งประกาศคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ ที่ กข. 42/2547 เรื่อง หลักเกณฑ์ เงื่อนไข และวิธีการในการเป็นนายหน้าซื้อขายหลักทรัพย์ การค้าหลักทรัพย์ และการจัดจำหน่ายหลักทรัพย์ ที่เป็นหน่วยลงทุน ลงวันที่ 3 สิงหาคม พ.ศ. 2547
““ผู้ลงทุนประเภทสถาบัน” หมายความว่า
(1) ธนาคารพาณิชย์
(2) บริษัทเงินทุน
(3) บริษัทหลักทรัพย์ที่ซื้อหน่วยลงทุนเพื่อเป็นทรัพย์สินของตนเอง หรือเพื่อการบริหารกองทุนส่วนบุคคล หรือเพื่อการจัดการโครงการลงทุนที่จัดตั้งขึ้นตามกฎหมายว่าด้วยการประกอบธุรกิจเงินทุน ธุรกิจหลักทรัพย์ และธุรกิจเครดิตฟองซิเอร์
(4) บริษัทเครดิตฟองซิเอร์
(5) บริษัทประกันภัย
(6) นิติบุคคลที่มีกฎหมายเฉพาะจัดตั้งขึ้นซึ่งมิได้เป็นบุคคลตาม (9)
(7) ธนาคารแห่งประเทศไทย
(8) สถาบันการเงินระหว่างประเทศ
(9) ส่วนราชการและรัฐวิสาหกิจตามกฎหมายว่าด้วยวิธีการงบประมาณ
(10) กองทุนเพื่อการฟื้นฟูและพัฒนาระบบสถาบันการเงิน
(11) กองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการ
(12) กองทุนสำรองเลี้ยงชีพ
(13) กองทุนรวมตามกฎหมายว่าด้วยหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์
(14) นิติบุคคลที่มีเงินลงทุนในหลักทรัพย์ตามงบการเงินปีล่าสุดที่ผู้สอบบัญชีตรวจสอบแล้วตั้งแต่หนึ่งร้อยล้านบาทขึ้นไป
(15) นิติบุคคลที่มีผู้ถือหุ้นเป็นบุคคลตาม (1) ถึง (14) ถือหุ้นรวมกันเกินกว่าร้อยละเจ็ดสิบห้าของจำนวนหุ้นที่มีสิทธิออกเสียงทั้งหมด
(16) ผู้ลงทุนต่างประเทศซึ่งมีลักษณะเดียวกับผู้ลงทุนตาม (1) ถึง (15) โดยอนุโลม
(17) นิติบุคคลตามที่สำนักงานอนุญาตเป็นรายกรณี ซึ่งนิติบุคคลนั้นต้องประกอบธุรกิจหลักสอดคล้องกับธุรกิจหลักที่กองทุนรวมต้องการลงทุนตามที่กำหนดไว้ในนโยบายการลงทุน”
ข้อ 2 ให้ยกเลิกความใน (1) ของข้อ 3 แห่งประกาศคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ ที่ กข. 42/2547 เรื่อง หลักเกณฑ์ เงื่อนไข และวิธีการในการเป็นนายหน้าซื้อขายหลักทรัพย์ การค้าหลักทรัพย์ และการจัดจำหน่ายหลักทรัพย์ ที่เป็นหน่วยลงทุน ลงวันที่ 3 สิงหาคม พ.ศ. 2547 และให้ใช้ความต่อไปนี้แทน
“(1) จัดให้มีผู้ติดต่อกับผู้ลงทุนซึ่งได้รับความเห็นชอบจากสำนักงานตามหลักเกณฑ์ที่สำนักงานประกาศกำหนดเป็นผู้ทำหน้าที่ขายหรือรับซื้อคืนหน่วยลงทุนหรือให้คำแนะนำ กับผู้ลงทุนที่มิใช่ผู้ลงทุนประเภทสถาบัน รวมทั้งต้องดูแลให้ผู้ติดต่อกับผู้ลงทุนปฏิบัติตามหลักเกณฑ์ที่สำนักงานประกาศกำหนดและตามมาตรฐานการปฏิบัติงานและมาตรฐานในการให้คำแนะนำด้วย”
ข้อ 3 ประกาศนี้ให้ใช้บังคับตั้งแต่วันที่ 1 มิถุนายน พ.ศ. 2551 เป็นต้นไป
ประกาศ ณ วันที่ 16 พฤษภาคม พ.ศ. 2551
(นายสุรพงษ์ สืบวงศ์ลี)
รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง
ประธานกรรมการ คณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ