หลักเกณฑ์ในการมอบหมายให้ผู้อื่นทำหน้าที่เป็นผู้ติดต่อกับผู้ลงทุนในนามของบริษัทหลักทรัพย์

ข่าวกฏหมายและประกาศ Monday May 8, 2006 09:43 —ประกาศ ก.ล.ต.

                              ประกาศสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์
ที่ สธ. 19/2549
เรื่อง หลักเกณฑ์ในการมอบหมายให้ผู้อื่นทำหน้าที่เป็นผู้ติดต่อ
กับผู้ลงทุนในนามของบริษัทหลักทรัพย์
__________________________
อาศัยอำนาจตามความในข้อ 22/1 แห่งประกาศคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ ที่ กธ. 42/2543 เรื่อง หลักเกณฑ์ เงื่อนไข และวิธีการในการเป็นนายหน้าซื้อขายหลักทรัพย์และการค้าหลักทรัพย์ ที่มิใช่ตราสารแห่งหนี้ ลงวันที่ 26 กันยายน พ.ศ. 2543 ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยประกาศคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ ที่ กธ. 10/2549 เรื่อง หลักเกณฑ์ เงื่อนไข และวิธีการในการเป็นนายหน้าซื้อขายหลักทรัพย์และการค้าหลักทรัพย์ ที่มิใช่ตราสารแห่งหนี้ (ฉบับที่ 9) ลงวันที่ 2 พฤษภาคม พ.ศ. 2549 สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ออกข้อกำหนดไว้ดังต่อไปนี้
ข้อ 1 ในประกาศนี้
(1) “บริษัทหลักทรัพย์” หมายความว่า บริษัทที่ได้รับใบอนุญาตประกอบธุรกิจหลักทรัพย์ประเภทการเป็นนายหน้าซื้อขายหลักทรัพย์
(2) “ผู้ให้บริการ” หมายความว่า ผู้ให้บริการเป็นผู้ติดต่อกับผู้ลงทุนในนามของบริษัทหลักทรัพย์
(3) “ตัวแทนซื้อขายสัญญา” หมายความว่า ผู้ได้รับใบอนุญาตประกอบธุรกิจสัญญาซื้อขายล่วงหน้าประเภทตัวแทนซื้อขายสัญญาซื้อขายล่วงหน้าตามกฎหมายว่าด้วยสัญญาซื้อขายล่วงหน้า
(4) “ธนาคารพาณิชย์” หมายความว่า ธนาคารพาณิชย์ตามกฎหมายว่าด้วยการธนาคารพาณิชย์
(5) “สำนักงาน” หมายความว่า สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์
ข้อ 2 บริษัทหลักทรัพย์จะมอบหมายให้ผู้ให้บริการใดทำหน้าที่เป็นผู้ติดต่อกับผู้ลงทุนในนามของบริษัทหลักทรัพย์ ผู้ให้บริการนั้นต้องมีลักษณะและคุณสมบัติดังต่อไปนี้
(1) เป็นตัวแทนซื้อขายสัญญาที่มีความสัมพันธ์เกี่ยวข้องกับบริษัทหลักทรัพย์ผู้มอบหมายในลักษณะใดลักษณะหนึ่งดังต่อไปนี้
(ก) ตัวแทนซื้อขายสัญญาที่บริษัทหลักทรัพย์ถือหุ้นไม่น้อยกว่าร้อยละเจ็ดสิบห้าของจำนวนหุ้นที่จำหน่ายได้แล้วทั้งหมดของตัวแทนซื้อขายสัญญานั้น
(ข) ตัวแทนซื้อขายสัญญาที่มีธนาคารพาณิชย์รายใดรายหนึ่งถือหุ้นไม่น้อยกว่าร้อยละเจ็ดสิบห้าของจำนวนหุ้นที่จำหน่ายได้แล้วทั้งหมดของตัวแทนซื้อขายสัญญานั้น และธนาคารพาณิชย์ดังกล่าวถือหุ้นในบริษัทหลักทรัพย์ผู้มอบหมายไม่น้อยกว่าร้อยละห้าสิบของจำนวนหุ้นที่จำหน่ายได้แล้ว
ทั้งหมดของบริษัทหลักทรัพย์นั้นด้วย
(2) มีความมั่นคงทางด้านการเงินรวมทั้งความสามารถและความพร้อมในการให้บริการและการปฏิบัติตามกฎเกณฑ์ที่คณะกรรมการ ก.ล.ต. หรือสำนักงานกำหนด และระเบียบวิธีปฏิบัติที่บริษัทหลักทรัพย์กำหนดขึ้นเพื่อให้เป็นไปตามกฎเกณฑ์ดังกล่าว โดยอย่างน้อยต้องมีระบบการควบคุมภายใน ระบบการรักษาความปลอดภัยของข้อมูลเพื่อป้องกันมิให้บุคคลที่ไม่มีอำนาจหน้าที่เกี่ยวข้องล่วงรู้หรือแก้ไขเปลี่ยนแปลงข้อมูล และระบบป้องกันการล่วงรู้ข้อมูลอันมิพึงเปิดเผยระหว่างหน่วยงานและบุคลากร ที่มีประสิทธิภาพ ตลอดจนมีมาตรการรองรับเหตุฉุกเฉินในกรณีต่าง ๆ ซึ่งมีการกำหนดขั้นตอนและผู้รับผิดชอบในแต่ละกรณีไว้อย่างชัดเจน
(3) มีบุคลากรที่ได้รับความเห็นชอบจากสำนักงานเป็นผู้ดำเนินการติดต่อ ชักชวน หรือให้คำแนะนำให้แก่ผู้ลงทุนหรือลูกค้าของบริษัทหลักทรัพย์เกี่ยวกับการลงทุนในหลักทรัพย์ หรือเป็นผู้ดำเนินการวิเคราะห์การลงทุนในหลักทรัพย์
ข้อ 3 ให้บริษัทหลักทรัพย์ที่ประสงค์จะมอบหมายให้ผู้ให้บริการทำหน้าที่เป็นผู้ติดต่อกับผู้ลงทุน ยื่นคำขออนุญาตต่อสำนักงานพร้อมเอกสารหลักฐานที่แสดงรายละเอียดดังต่อไปนี้
(1) ขอบเขตในการมอบหมายให้ทำหน้าที่เป็นผู้ติดต่อกับผู้ลงทุน
(2) เอกสารหลักฐานที่แสดงว่าผู้ให้บริการที่จะรับมอบหมายมีลักษณะและคุณสมบัติตามที่กำหนดในข้อ 2
สำนักงานจะพิจารณาและแจ้งผลการพิจารณาให้บริษัทหลักทรัพย์ทราบภายในสามสิบวันนับแต่วันที่ได้รับคำขอและเอกสารหลักฐานถูกต้องครบถ้วน เว้นแต่เป็นกรณีที่มีเหตุจำเป็นต้องตรวจสอบระบบหรือพิจารณาข้อเท็จจริงเพิ่มเติมและสำนักงานได้แจ้งเหตุจำเป็นดังกล่าวให้บริษัทหลักทรัพย์ทราบก่อนสิ้นสุดระยะเวลาสามสิบวันแล้ว สำนักงานอาจขยายระยะเวลาในการพิจารณาคำขอออกไปเท่าเหตุจำเป็นที่มีได้
ข้อ 4 บริษัทหลักทรัพย์ต้องจัดให้มีสัญญากับผู้ให้บริการไว้เป็นลายลักษณ์อักษร โดยมีสาระสำคัญอย่างน้อยในเรื่องดังต่อไปนี้
(1) หน้าที่และความรับผิดชอบของผู้ให้บริการ ซึ่งรวมถึงความรับผิดต่อบริษัทหลักทรัพย์และลูกค้าของบริษัทหลักทรัพย์อันเนื่องมาจากการกระทำหรือการละเลยการกระทำหน้าที่โดยจงใจหรือประมาทเลินเล่อของผู้ให้บริการ
(2) เงื่อนไขและวิธีการในการเลิกสัญญาหรือระงับการให้บริการ
(3) อัตราค่าธรรมเนียมในการให้บริการ
ข้อ 5 เพื่อให้มั่นใจว่าบริษัทหลักทรัพย์จะสามารถประกอบธุรกิจหลักทรัพย์ได้อย่างต่อเนื่อง บริษัทหลักทรัพย์ต้องจัดให้มีแผนงานหรือมาตรการรองรับในกรณีที่บริษัทหลักทรัพย์หรือผู้ให้บริการบอกเลิกสัญญาระหว่างกันหรือผู้ให้บริการไม่สามารถให้บริการแก่บริษัทหลักทรัพย์ต่อไปได้
ข้อ 6 บริษัทหลักทรัพย์ต้องกำหนดให้ผู้ให้บริการจัดเก็บเอกสารและหลักฐานที่เกี่ยวข้องกับการติดต่อกับผู้ลงทุน เช่น บันทึกการให้คำแนะนำ การรับคำสั่งซื้อขายหลักทรัพย์ และรายละเอียดเกี่ยวกับการทำรายการซื้อขายหลักทรัพย์ให้แก่ลูกค้า เป็นต้น ไว้ให้ครบถ้วนและเป็นปัจจุบัน โดยต้องจัดเก็บในลักษณะที่พร้อมให้บริษัทหลักทรัพย์เรียกดูหรือตรวจสอบได้ในทันที และสามารถจัดให้สำนักงานและผู้สอบบัญชีของบริษัทหลักทรัพย์ตรวจสอบได้เมื่อได้รับการร้องขอ
ข้อ 7 ในกรณีที่สำนักงานเห็นสมควร บริษัทหลักทรัพย์ต้องจัดให้สำนักงานเข้าตรวจสอบการปฏิบัติงานของผู้ให้บริการในส่วนที่ให้บริการแก่บริษัทหลักทรัพย์ได้
ข้อ 8 ในกรณีที่ปรากฏต่อสำนักงานในภายหลังว่าบริษัทหลักทรัพย์ฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามประกาศนี้หรือผู้ให้บริการไม่มีลักษณะหรือขาดคุณสมบัติตามที่กำหนดในข้อ 2 สำนักงานอาจสั่งให้บริษัทหลักทรัพย์นั้นแก้ไข กระทำการหรืองดเว้นกระทำการใด ๆ เกี่ยวกับการมอบหมายให้ผู้อื่นทำหน้าที่เป็นผู้ติดต่อกับผู้ลงทุนในนามของบริษัทหลักทรัพย์ได้
ข้อ 9 ประกาศนี้ให้ใช้บังคับตั้งแต่วันที่ 16 พฤษภาคม พ.ศ. 2549 เป็นต้นไป
ประกาศ ณ วันที่ 8 พฤษภาคม พ.ศ. 2549
(นายธีระชัย ภูวนาถนรานุบาล)
เลขาธิการ
สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ