หลักเกณฑ์ เงื่อนไข และวิธีการในการอนุญาตเกี่ยวกับการลงชื่อในทรัพย์สินของลูกค้า

ข่าวหุ้น-การเงิน Friday July 10, 2009 11:07 —ประกาศ ก.ล.ต.

ประกาศสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์

ที่ สน. 20/2552

เรื่อง หลักเกณฑ์ เงื่อนไข และวิธีการในการอนุญาตเกี่ยวกับ

การลงชื่อในทรัพย์สินของลูกค้า

__________________

อาศัยอำนาจตามความในมาตรา 138 แห่งพระราชบัญญัติหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ พ.ศ. 2535 ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติ หลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2542 อันเป็นพระราชบัญญัติที่มีบทบัญญัติบางประการเกี่ยวกับการจำกัดสิทธิและเสรีภาพของบุคคล ซึ่งมาตรา 29 ประกอบกับมาตรา 33 มาตรา 34 มาตรา 41 มาตรา 43 มาตรา 44 และมาตรา 64 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยบัญญัติ ให้กระทำได้โดยอาศัยอำนาจตามบทบัญญัติแห่งกฎหมาย สำนักงานออกข้อกำหนดไว้ดังต่อไปนี้

ข้อ 1 ให้ยกเลิก

(1) ประกาศสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ ที่ สน. 25/2543 เรื่อง หลักเกณฑ์ เงื่อนไข และวิธีการ อนุญาตให้บริษัทจัดการลงชื่อในทรัพย์สินของลูกค้า โดยไม่ต้องลงชื่อของบริษัทจัดการในฐานะผู้ทำการแทน ลงวันที่ 5 มิถุนายน พ.ศ. 2543

(2) ประกาศสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ ที่ สน. 57/2543 เรื่อง หลักเกณฑ์ เงื่อนไข และวิธีการ ในการอนุญาตเกี่ยวกับการลงชื่อในทรัพย์สินของลูกค้า ลงวันที่ 20 พฤศจิกายน พ.ศ. 2543

ข้อ 2 ในประกาศนี้

(1) “ลูกค้า” หมายความว่า บุคคลหรือคณะบุคคลที่มอบหมายให้บริษัทจัดการจัดการกองทุนส่วนบุคคล

(2) “บริษัทจัดการ” หมายความว่า บริษัทหลักทรัพย์ที่ได้รับใบอนุญาตให้ประกอบธุรกิจหลักทรัพย์ประเภทการจัดการกองทุนส่วนบุคคล

(3) “ผู้รับฝากทรัพย์สิน” หมายความว่า ผู้รับฝากทรัพย์สินของกองทุนส่วนบุคคล

(4) “ตัวแทนเก็บรักษาทรัพย์สิน” หมายความว่า บุคคลที่ผู้รับฝากทรัพย์สินตั้งให้เป็นตัวแทนในการปฏิบัติหน้าที่ในส่วนที่เกี่ยวกับการรับ ฝากทรัพย์สินของกองทุนส่วนบุคคล

ข้อ 3 บรรดาหลักทรัพย์และทรัพย์สินของลูกค้าต้องลงชื่อลูกค้าและบริษัทจัดการในฐานะผู้ทำการแทน เว้นแต่ในกรณีดังต่อไปนี้

(1) ในกรณีที่ลูกค้ามอบหมายให้บริษัทจัดการเดียว จัดการหลักทรัพย์และทรัพย์สินของตน และให้ความยินยอมให้บริษัทจัดการมอบหมาย การจัดการช่วงให้กับบุคคลอื่นได้ บริษัทจัดการผู้มอบการจัดการช่วงอาจดำเนินการให้ทรัพย์สินดังกล่าวปรากฏชื่อลูกค้าและชื่อบริษัทจัดการที่จัดการใน ส่วนที่เกี่ยวกับการจัดการลงทุน โดยไม่ปรากฏชื่อบริษัทจัดการที่จัดการในส่วนที่เกี่ยวกับการรับลูกค้า และการจัดทำทะเบียนข้อมูลก็ได้

(2) ในกรณีที่ลูกค้ามอบหมายให้บริษัทจัดการหลายบริษัท จัดการหลักทรัพย์และทรัพย์สินของตน บริษัทจัดการที่ได้รับมอบหมายจากลูกค้า ในส่วนที่เกี่ยวกับการจัดการลงทุนอาจดำเนินการให้ทรัพย์สินดังกล่าวปรากฏชื่อลูกค้าและชื่อตนเอง โดยไม่ปรากฏชื่อบริษัทจัดการที่ได้รับมอบหมายจากลูกค้าในส่วนที่เกี่ยวกับการรับลูกค้า และการจัดทำทะเบียนข้อมูลก็ได้

(3) ในกรณีที่เป็นการจัดการกองทุนส่วนบุคคลที่เป็นกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ และบริษัทจัดการได้ดำเนินการให้มีการลงชื่อของกองทุนสำรองเลี้ยงชีพในหลักทรัพย์และทรัพย์สินนั้นแล้ว บริษัทจัดการจะไม่ลงชื่อของบริษัทจัดการในหลักทรัพย์และทรัพย์สินดังกล่าวในฐานะผู้ทำการแทนก็ได้

(4) ในกรณีที่ผู้รับฝากทรัพย์สินมีการตั้งตัวแทนเก็บรักษาทรัพย์สิน บรรดาหลักทรัพย์และทรัพย์สินของลูกค้าที่เก็บรักษาไว้ที่ตัวแทนเก็บรักษาทรัพย์สินดังกล่าวอาจไม่ต้องลงชื่อลูกค้าและบริษัทจัดการในฐานะผู้ทำการแทนได้ หากได้รับความยินยอมจากลูกค้าและเป็นไปตามหลักเกณฑ์ดังต่อไปนี้

(ก) บริษัทจัดการและผู้รับฝากทรัพย์สินต้องมีระบบงานในการจัดทำบัญชีแสดงรายการหลักทรัพย์และทรัพย์สินที่ลูกค้าแต่ละรายเป็น เจ้าของแยกต่างหากจากบัญชีหลักทรัพย์และทรัพย์สินที่เป็นส่วนตัวของตน ซึ่งสามารถใช้ติดตามหลักทรัพย์และทรัพย์สินของลูกค้าได้

(ข) ตัวแทนเก็บรักษาทรัพย์สินต้องมีการจัดทำบัญชีแสดงรายการหลักทรัพย์และทรัพย์สินของลูกค้าแยกต่างหากจากบัญชีหลักทรัพย์และทรัพย์สินที่เป็นส่วนตัวของตน และ

(ค) บริษัทจัดการ ผู้รับฝากทรัพย์สิน และตัวแทนเก็บรักษาทรัพย์สิน ต้องมีการสอบทานความถูกต้องระหว่างกันถึงบัญชีแสดงรายการ หลักทรัพย์และทรัพย์สินของลูกค้าที่บริษัทจัดการ ผู้รับฝากทรัพย์สิน และตัวแทนเก็บรักษาทรัพย์สิน จัดทำขึ้น

ความในวรรคหนึ่ง (4) มิให้นำมาใช้บังคับกับการลงชื่อในบรรดาหลักทรัพย์และทรัพย์สินของลูกค้าที่เป็นกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ

ข้อ 4 ประกาศนี้ให้ใช้บังคับตั้งแต่วันที่ 16 กรกฎาคม พ.ศ. 2552 เป็นต้นไป

ประกาศ ณ วันที่ 10 กรกฎาคม พ.ศ. 2552

(นายธีระชัย ภูวนาถนรานุบาล)

เลขาธิการ

สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์

หมายเหตุ : เหตุผลในการออกประกาศฉบับนี้ คือ (1) เพื่อรวบรวมหลักเกณฑ์ที่เกี่ยวข้องกับการลงชื่อในบรรดาหลักทรัพย์และทรัพย์สินของลูกค้า

ไว้ในประกาศฉบับเดียวกัน (2) เพื่อรองรับกรณีที่ผู้รับฝากทรัพย์สินมีการแต่งตั้งตัวแทนเก็บรักษาทรัพย์สิน ให้สามารถเก็บรักษาหลักทรัพย์

และทรัพย์สินของลูกค้าในบัญชีที่ไม่เปิดเผยชื่อลูกค้าที่ตัวแทนเก็บรักษาทรัพย์สิน ภายใต้หลักเกณฑ์ว่าบริษัทจัดการ ผู้รับฝากทรัพย์สิน และ

ตัวแทนเก็บรักษาทรัพย์สิน ต้องจัดทำบัญชีหลักทรัพย์และทรัพย์สินของลูกค้าแต่ละรายแยกต่างหากจากบัญชีของตน รวมทั้งต้องดำเนินการ

สอบทานความถูกต้องระหว่างกันของบัญชีด้วย ทั้งนี้ เพื่อให้สอดคล้องกับหลักปฏิบัติอันเป็นสากลของธุรกิจการรับฝากทรัพย์สิน จึงจำเป็น

ต้องออกประกาศนี้


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ