มาตรฐานการปฏิบัติงานด้านธุรกิจหลักทรัพย์เกี่ยวกับเอกสาร และขั้นตอนการปฏิบัติงานของสมาชิก

ข่าวกฏหมายและประกาศ Monday September 20, 1999 15:25 —ข้อบังคับและประกาศตลาดหลักทรัพย์ฯ

                                  มาตราฐานการปฏิบัติงานด้านธุรกิจหลักทรัพย์
เกี่ยวกับเอกสาร และขั้นตอนการปฏิบัติงานของสมาชิก
ในการปฏิบัติงานด้านธุรกิจหลักทรัพย์ สมาชิกต้องจัดให้มีมาตรฐานการปฏิบัติงานแบ่งเป็น 7 เรื่อง โดยสมาชิกต้องจัดให้มีเอกสารและขั้นตอนการปฏิบัติงานตามที่ได้กำหนดไว้ในแต่ละเรื่อง ดังต่อไปนี้
1. การพิจารณารับลูกค้า
2. การรับคำสั่งซื้อหรือขายหลักทรัพย์
3. การปฏิบัติตามคำสั่งซื้อหรือขายหลักทรัพย์
4. การแจ้งผลการซื้อขายหลักทรัพย์และการจัดทำบันทึกรายการซื้อขายหลักทรัพย์
5. การจัดทำบันทึกการส่งมอง การรับมอง และการจัดเก็บหลักทรัพย์
6. การชำระราคาระหว่างลูกค้ากับสมาชิก
7. การจัดเก็บเอกสาร
1. การพิจารณารับลูกค้า
1.1 เอกสารที่ต้องจัดให้มี
1.1.1 หนังสือคำขอเป็นลูกค้าเพื่อเปิดบัญชีซื้อขายหลักทรัพย์ต้องมีรายละเอียดดังนี้
(1) วันที่
(2) ชื่อ ที่อยู่ และสถานที่ติดต่อได้ของลูกค้า
(3) รายได้
(4) อาชีพ สถานที่ทำงาน ตำแหน่งงาน
1.1.2 เอกสารประกอบการทำนิติกรรมสัญญา
บุคคลธรรมดา
(1) สำเนาบัตรประจำตัวประชาชน หรือสำเนาหนังสือเดินทาง
(2) สำเนาทะเบียนบ้าน
(3) ตัวอย่างลายมือชื่อ
นิติบุคคล
(1) สำเนาบัตรประจำตัวประชาชนหรือสำเนาหนังสือเดินทางของผู้มีอำนาจทำการแทน
(2) สำเนาหนังสือรับรองการจดทะเบียนหุ้นส่วนบริษัท
1.1.3 หนังสือแต่งตั้งเป็นนายหน้าหรือตัวแทนซื้อขายหลักทรัพย์
1.1.4 หนังสือสัญญาการซื้อขายหลักทรัพย์ตามประเภทการซื้อขายดังนี้
(1) การซื้อขายหลักทรัพย์ประเภทมาร์จิ้นต้องมีรายละเอียดดังนี้
. วงเงินซื้อขาย
. อัตราดอกเบี้ยรับ/อัตราดอกเบี้ยจ่าย
. หลักเกณฑ์วิธีการเกี่ยวกับการซื้อขายหลักทรัพย์ประเภทมาร์จิ้น
. หลักเกณฑ์ เงื่อนไข และวิธีการในการขายชอร์ต (กรณีลูกค้าต้องการขายชอร์ต)
. ลายมือชื่อคู่สัญญา
. ข้อความที่ระบุว่า ลูกค้ายินยอมให้สมาชิกยึดถือหลักทรัพย์ที่ซื้อและเงินค่าขายชอร์ตกรณีลูกค้าต้องการขายชอร์ตไว้เป็นประกันการชำระหนี้ในบัญชีมาร์จิ้น
. ข้อความที่แจ้งให้ลูกค้ารับทราบว่าเงินสดที่วางไว้จะไม่ได้รับความคุ้มครองจากกองทุนฟื้นฟูและพัฒนาระบบสถาบันการเงิน
. ข้อความที่ระบุว่าการกู้ยืมเงินในบัญชีมาร์จิ้นนั้นเป็นการกู้ยืมเงินในลักษณะบัญชีเดินสะพัด
(2) การซื้อขายหลักทรัพย์ด้วยเงินสด (Cash Account) ต้องมีรายละเอียดดังนี้
. วงเงินซื้อขาย
. กำหนดเวลาการชำระราคาค่าซื้อค่าขาย
. กำหนดเวลาการรับมอบส่งมอบหลักทรัพย์
. การบังคับขายและการบังคับซื้อ
. ลายมือชื่อคู่สัญญา
(3) การยืมและให้ยืมหลักทรัพย์ระหว่างสมาชิกและลูกค้า ซึ่งมีรายละเอียดตามมาตรฐานการปฏิบัติงานด้านธุรกิจหลักทรัพย์เกี่ยวกับการยืมและให้ยืมหลักทรัพย์ของสมาชิกที่ตลาดหลักทรัพย์กำหนด (กรณีลูกค้าต้องการยืมหลักทรัพย์จากสมาชิก)
1.1.5 หนังสือมอบอำนาจให้บุคคลอื่นกระทำการใดๆ แทนลูกค้าต้องมีรายละเอียดดังนี้
(1) วันที่
(2) ชื่อ และที่อยู่ของผู้มอบอำนาจ
(3) ชื่อ ที่อยู่ และสถานที่ติดต่อได้ของผู้รับมอบอำนาจ
(4) รายละเอียดเงื่อนไขในการมอบอำนาจ หรือภาระผูกพันใดๆ
(5) ลายมือชื่อผู้มอบอำนาจ
(6) ลายมือชื่อผู้รับมอบอำนาจ
1.2 ขั้นตอนที่ต้องถือปฏิบัติ
1.2.1 สมาชิกต้องจัดให้มีเอกสารตามข้อ 1.1.1 1.1.2 1.1.4 และ 1.1.5 (ถ้ามี) ประกอบการพิจารณารับลูกค้า และให้มีการจัดทำบันทึกความเห็นของเจ้าหน้าที่ในการพิจารณาเกี่ยวกับฐานะการเงินของลูกค้าให้เหมาะสมกับวงเงินที่อนุมัติ ทั้งนี้ สมาชิกอาจกำหนดขั้นตอนสำหรับการพิจารณารับลูกค้าประเภทสถาบัน โดยยกเว้นเอกสารตามข้อ 1.1.1 และ 1.1.2 ก็ได้ ถ้ามีหลักฐานอื่นให้สมาชิกแน่ใจ
ทั้งนี้ ในกรณีที่เป็นลูกค้านิติบุคคลซึ่งแยกบัญชีออกเป็นบัญชีย่อยหลายบัญชี สมาชิกอาจจัดให้มีเอกสารดังกล่าวเฉพาะบัญชีหลักของลูกค้านิติบุคคลที่เป็นผู้แยกบัญชีย่อยนั้นก็ได้
1.2.2 สมาชิกต้องจัดทำแฟ้มประวัติลูกค้าที่มีรายละเอียดเกี่ยวกับลูกค้าอย่างเพียงพอเพื่อให้รู้จักลูกค้าและสามารถประเมินได้ถึง
(1) วัตถุประสงค์ในการลงทุนของลูกค้า
(2) รายได้ ฐานะการเงินและข้อจำกัดในการลงทุนของลูกค้า
(3) พื้นฐานความรู้ความเข้าใจในการลงทุนของลูกค้า
(4) รูปแบบของการให้บริการที่เหมาะสมกับลูกค้า
โดยสมาชิกอาจใช้วิจารณญาณในการประเมินรายละเอียดเกี่ยวกับตัวลูกค้าให้เหมาะสมกับประเภทของลูกค้าได้ เช่น ลูกค้าสถาบัน อาจไม่จำเป็นต้องรวบรวมข้อมูลเกี่ยวกับวัตถุประสงค์และข้อจำกัดในการลงทุน
1.2.3 สมาชิกต้องกำหนดให้มีขั้นตอนและเจ้าหน้าที่ผู้มีอำนาจในการพิจารณาอนุมัติรับเป็นลูกค้าและกำหนดวงเงินในการซื้อขายหลักทรัพย์ของลูกค้าอย่างเหมาะสม และชัดเจน
1.2.4 สมาชิกต้องกำหนดประเภทบัญชีซื้อขายและวงเงินซื้อขายของลูกค้าทุกประเภทไว้เป็นลายลักษณ์อักษร
1.2.5 สมาชิกต้องไม่ให้ลูกค้าที่เป็นตัวแทนของบุคคลอื่นๆ (Nominee) เปิดบัญชีซื้อขายหลักทรัพย์
1.2.6 สมาชิกจะซื้อหรือขายหลักทรัพย์ให้แก่ลูกค้าก่อนการอนุมัติรับเป็นลูกค้าไม่ได้
1.2.7 สมาชิกต้องบันทึกการเปลี่ยนแปลงข้อมูลต่างๆ ของลูกค้าไว้ทุกครั้งที่มีการเปลี่ยนแปลง เช่น วงเงินซื้อขาย เลขที่บัญชี บุคคลหรือสถานที่ติดต่อ ที่อยู่ เป็นต้น
1.2.8 สมาชิกต้องให้ลูกค้าเปิดบัญชีแต่ละประเภทเพียงหนึ่งบัญชี และมิให้เปิดบัญชีร่วมกับบุคคลอื่น
1.2.9 สมาชิกต้องทบทวนวงเงินของลูกค้าที่มีรายการซื้อขายหลักทรัพย์เป็นประจำอย่างน้อยปีละ 1 ครั้ง หรือเมื่อมีการเปลี่ยนแปลงข้อมูลสำคัญ
1.2.10 สมาชิกต้องทำความเข้าใจกับลูกค้าเกี่ยวกับกฎระเบียบที่ตลาดหลักทรัพย์ และสมาชิกกำหนด รวมทั้งชี้แจงให้ลูกค้าเข้าใจและให้ลูกค้าลงนามรับทราบถึงความเสี่ยงที่อาจเกิดขึ้นจากการลงทุน
1.2.11 ในการเป็นนายหน้าซื้อขายใบสำคัญแสดงสิทธิอนุพันธ์ให้ลูกค้า สมาชิกต้องปฏิบัติดังนี้
(1) ชี้แจงให้ลูกจ้างเข้าใจถึงลักษณะและความเสี่ยงของใบสำคัญแสดงสิทธิอนุพันธ์พร้อมทั้งเผยแพร่เอกสารที่มีเนื้อหาครอบคลุมถึงลักษณะและประโยชน์ของใบสำคัญแสดงสิทธิดังกล่าว กลยุทธ์ในการป้องกันความเสี่ยงโดยใช้ใบสำคัญแสดงสิทธินั้น วิธีการซื้อขาย การชำระราคาและการส่งมอบ ผลตอบแทน และความเสี่ยงจากการซื้อขาย ให้ลูกค้าศึกษาก่อนที่จะเริ่มทำการซื้อขาย
(2) ให้ลูกค้าลงนามเพื่อแสดงว่าลูกค้ามีความเข้าใจถึงลักษณะและความเสี่ยงของใบสำคัญแสดงสิทธิอนุพันธ์ ตลอดจนลักษณะของใบสำคัญแสดงสิทธิที่มีวันหมดอายุ ซึ่งลูกค้าจะไม่สามารถซื้อขายได้หลังวันหมดอายุ (สำหรับลูกค้าที่เปิดบัญชีซื้อขายหลักทรัพย์กับสมาชิกอยู่แล้วในปัจจุบัน สมาชิกอาจใช้วิธีส่งเอกสารไปให้ลูกค้าลงนาม โดยในเอกสารดังกล่าวระบุว่าหากลูกค้าไม่ส่งกลับภายในกำหนดจะถือว่าลูกค้ารับทราบและยอมรับข้อความดังกล่าวก็ได้)
ทั้งนี้ สมาชิกอาจยกเว้นขั้นตอนข้างต้นสำหรับลูกค้าประเภทสถาบันหรือลูกค้าที่ซื้อขายใบสำคัญแสดงสิทธิอนุพันธ์ที่จะซื้อหุ้นที่ออกโดยหน่วยงานของรัฐหรือใบสำคัญแสดงสิทธิที่มีหลักประกันรองรับเต็มจำนวนได้
1.2.12 ในการอนุมัติให้ลูกค้าไปขายชอร์ตในบัญชีมาร์จิ้น ให้สมาชิกประเมินฐานะการเงิน ความเหมาะสม และพฤติกรรม ของลูกค้าโดยใช้เกณฑ์ที่เข้มงวดกว่าเกณฑ์การอนุมัติให้ซื้อขายหลักทรัพย์ตามปกติ
1.2.13 สมาชิกต้องให้ลูกค้าจัดทำหนังสือมอบอำนาจกรณีมีการมอบอำนาจใดๆ ให้ผู้อื่นกระทำการแทนโดยต้องระบุรายละเอียดและเงื่อนไขเกี่ยวกับการมอบอำนาจนั้นให้ครบถ้วนชัดเจนและต้องจัดให้มีเอกสารประกอบการทำนิติกรรมสัญญาของผู้รับมอบอำนาจตามข้อ 1.1.2 ให้ครบถ้วน
1.3 แนวทางที่ควรถือปฏิบัติ
1.3.1 สมาชิกควรจัดให้มีระเบียบในการขอถอน Excess Equity ของลูกค้า (เช่น สัดส่วนที่ถอนได้ ระยะเวลาที่ต้องแจ้งล่วงหน้า ฯลฯ)
2. การรับคำสั่งซื้อหรือขายหลักทรัพย์
2.1 เอกสารที่ต้องจัดให้มี
2.1.1 ใบคำสั่งซื้อหรือขายหลักทรัพย์ ต้องมีรายละเอียดดังนี้
(1) ชื่อและเลขที่บัญชี
(2) วันที่สั่งซื้อหรือขาย
(3) ประเภทบัญชีที่ซื้อหรือขาย (Cash หรือ Margin)
(4) ประเภทของการขาย (Long หรือ Short)
(5) ชื่อหลักทรัพย์ จำนวนและราคา
(6) ลายมือชื่อผู้สั่งซื้อหรือขาย
2.2 ขั้นตอนที่ต้องถือปฏิบัติ
2.2.1 ในการรับคำสั่งขายหลักทรัพย์ที่อยู่ในรายชื่อหลักทรัพย์ที่ได้รับอนุญาตให้ขายชอร์ตสมาชิกต้องแน่ใจว่าคำสั่งขายนั้นเป็นการขายชอร์ตหรือเป็นการขายหลักทรัพย์ตามปกติ
2.2.2 ในการรับคำสั่งขายชอร์ตจากลูกค้าสถาบัน ให้สมาชิกดำเนินการให้แน่ใจว่าลูกค้าได้ทำสัญญายืมหลักทรัพย์และแจ้งความจำนงในการยืมหลักทรัพย์นั้น (Borrowing Request) กับผู้ให้ยืมแล้ว แต่สำหรับลูกค้าประเภทอื่น ซึ่งต้องยืมหลักทรัพย์จากสมาชิกให้สมาชิกตรวจสอบว่ามีหลักทรัพย์ที่จะส่งมอบ
2.2.3 สมาชิกต้องจัดให้มีใบคำสั่งซื้อหรือขายหลักทรัพย์ตามคำสั่งที่ได้รับจากลูกค้า และใบยกเลิกคำสั่งซื้อหรือขายในกรณีที่มีการยกเลิกคำสั่งซื้อหรือขายทุกครั้ง เว้นแต่ในกรณีที่ลูกค้าสั่งซื้อขายหรือยกเลิกคำสั่งทางโทรศัพท์ สมาชิกจะบันทึกคำสั่งซื้อขาย หรือการยกเลิกคำสั่งนั้นเข้าในระบบการซื้อขายโดยไม่จัดทำใบคำสั่งซื้อหรือขายหลักทรัพย์หรือใบยกเลิกคำสั่งซื้อหรือขายก็ได้
2.2.4 สมาชิกต้องเก็บหลักฐานใบคำสั่งหรือขาย และใบยกเลิกคำสั่งซื้อหรือขายของแต่ละวันไว้ที่บริษัทให้ครบถ้วนทุกฉบับ
2.2.5 สมาชิกต้องทำการซื้อหรือขายหลักทรัพย์ตามลำดับก่อนหลังของคำสั่งโดยทันที เว้นแต่คำสั่งนั้นมีเงื่อนไขในการเสนอซื้อขาย
2.2.6 สมาชิกต้องจัดให้มีการตรวจสอบเงินและยอดหุ้นคงเหลือในบัญชีลูกค้าแต่ละรายทุกครั้งก่อนดำเนินการซื้อหรือขายตามคำสั่งของลูกค้า
2.2.7 เมื่อลูกค้าส่งคำสั่งใช้สิทธิ (Excrcise) สมาชิกต้องแน่ใจว่าลูกค้ามีใบสำคัญแสดงสิทธิอนุพันธ์ที่สามารถใช้สิทธิได้
2.2.8 สมาชิกต้องจัดให้มีการบันทึกคำสั่งที่ได้รับจากลูกค้าทางโทรศัพท์ และเก็บไว้อย่างน้อย 2 สัปดาห์
2.3 แนวทางที่ควรถือปฏิบัติ
2.3.1 สมาชิกควรจัดทำสำเนาหรือใบต่อของคำสั่งซื้อหรือขายหลักทรัพย์เพื่อให้ลูกค้าเก็บไว้ใช้อ้างอิง
3. การปฏิบัติตามคำสั่งซื้อหรือขายหลักทรัพย์
3.1 เอกสารที่ต้องจัดให้มี
3.1.1 ทะเบียนรับคำสั่งซื้อและขายหลักทรัพย์ ต้องมีรายละเอียดดังนี้
(1) วันที่รับคำสั่ง
(2) หมายเลขประจำตัวเจ้าหน้าที่รับอนุญาต (Trader ID)
(3) เลขที่คำสั่ง
(4) เวลาที่บันทึกคำสั่ง (Key-in) เป็นเวลาที่อยู่ในระบบคอมพิวเตอร์
(5) ชื่อและเลขที่บัญชี
(6) ชื่อหลักทรัพย์ จำนวนและราคาของคำสั่งซื้อหรือขาย
(7) ประเภทบัญชีที่ซื้อหรือขาย (Cash หรือ Margin)
(8) ประเภทของการขาย (Ling หรือ Short)
(9) ผลการซื้อขาย หรือการยกเลิกคำสั่ง
(10) หมายเลข Confirm ในระบบการซื้อขาย (Deal Confirm)
3.1.2 ใบบันทึกการอนุมัติเปลี่ยนแปลงแก้ไขรายการซื้อหรือขายหลักทรัพย์ต้องมีรายละเอียดข้อมูลทั้งที่เกิดก่อนและหลังการเปลี่ยนแปลงแก้ไขดังนี้
(1) วันที่แก้ไขรายการ
(2) ชื่อและเลขที่บัญชี
(3) ชื่อหลักทรัพย์
(4) จำนวนและราคา
(5) เลขที่คำสั่ง
(6) วันที่ซื้อขายหลักทรัพย์
(7) ประเภทบัญชีที่ซื้อหรือขาย
(8) ชื่อผู้แก้ไขรายการ
(9) เหตุผลที่มีการเปลี่ยนแปลงแก้ไขรายการ
(10) ลายมือชื่อผู้มีอำนาจอนุมัติการเปลี่ยนแปลง
3.2 ขั้นตอนที่ต้องถือปฏิบัติ
3.2.1 สมาชิกต้องบันทึกคำสั่งซื้อหรือขายหลักทรัพย์ในทะเบียนรับคำสั่งซื้อและขายหลักทรัพย์ประจำวันเรียงตามลำดับคำสั่งที่ได้รับทั้งหมดในแต่ละวันไม่ว่าจะเป็นรายการที่ซื้อขายได้หรือไม่ก็ตาม และให้รวมถึงคำสั่งที่ได้รับจากสำนักงานบริการด้านหลักทรัพย์และสาขาของสมาชิกด้วย
3.2.2 สมาชิกต้องเก็บรักษาทะเบียนรับคำสั่งตามข้อ 3.2.1 ไว้ที่บริษัท โดยอาจจัดเก็บในรูปของข้อมูลในสื่อใดๆ ซึ่งสามารถเรียกข้อมูลหรือจัดพิมพ์ได้ในเวลอันสมควร และในกรณีที่มีการแก้ไขเปลี่ยนแปลงคำสั่ง สมาชิกต้องจัดเก็บข้อมูลคำสั่งทั้งที่เกิดก่อนและหลังการแก้ไขเปลี่ยนแปลง
3.2.3 ในกรณีมีการเปลี่ยนแปลงแก้ไขรายการซื้อขายหลักทรัพย์ สมาชิกต้องปฏิบัติดังต่อไปนี้
(1) ผู้มีอำนาจอนุมัติรายการเปลี่ยนแปลงแก้ไข ต้องเป็นเจ้าหน้าที่ผู้ได้รับอำนาจจากสมาชิก
(2) จัดเก็บใบบันทึกการขออนุมัติเปลี่ยนแปลงไว้เป็นหลักฐาน โดยจัดเรียงลำดับตามวันที่ที่เกิดรายการขึ้น
(3) ดำเนินการแก้ไขรายการที่ขอเปลี่ยนแปลงในทะเบียน บันทึกรายการซื้อขายหลักทรัพย์ประจำวันและบัญชีแยกประเภทรายตัวลูกค้า ตลอดจนรายการต่างๆ ที่เกี่ยวข้องให้ถูกต้องอย่างช้าภายในวันทำการถัดจากวันที่ขอแก้ไข
4. การแจ้งผลการซื้อขายหลักทรัพย์และการจัดทำบันทึกรายการซื้อขายหลักทรัพย์
4.1 เอกสารที่ต้องจัดให้มี
4.1.1 ใบยืนยันการซื้อหรือขายหลักทรัพย์ ต้องมีรายละเอียดดังนี้
(1) วันที่ซื้อหรือขายหลักทรัพย์
(2) ข้อความที่ระบุว่าสมาชิกได้ซื้อหรือขายหลักทรัพย์ให้แก่ลูกค้า
(3) ชื่อลูกค้า
(4) เลขที่อ้างอิง (Reference Number)
(5) ประเภทบัญชีที่ซื้อหรือขาย (Cash หรือ Margin)
(6) ประเภทของการขาย (Long หรือ Short)
(7) ชื่อหลักทรัพย์ จำนวนและราคา ค่านายหน้า ค่าภาษีมูลค่าเพิ่ม
(8) มูลค่าซื้อหรือขายสุทธิ
(9) วันที่ครบกำหนดชำระราคาค่าซื้อหรือขาย
(10) ข้อความที่ระบุว่าลูกค้ายอมรับรายการซื้อหรือขายหลักทรัพย์นั้นว่าถูกต้องตามคำสั่ง หากไม่ดำเนินการคัดค้านภายในเวลาที่กำหนด
(11) ลายมือชื่อลูกค้า
(12) ลายมือชื่อผู้รับมอบอำนาจของสมาชิก
4.1.2 ทะเบียนบันทึกรายการซื้อขายหลักทรัพย์ประจำวัน ต้องมีรายละเอียดดังนี้
(1) วันที่ซื้อหรือขายหลักทรัพย์
(2) ชื่อหลักทรัพย์ จำนวนและราคา
(3) ชื่อลูกค้าและเลขที่บัญชี ผู้ซื้อหรือขาย
(4) เลขที่อ้างอิง (Reference Number)
(5) เลขที่คำสั่ง
(6) หมายเลข Confirm ในระบบการซื้อขาย (Deal Confirm)
(7) มูลค่าซื้อหรือขายสุทธิ
(8) ประเภทบัญชีที่ซื้อหรือขาย (Cash หรือ Margin)
(9) ประเภทของการขาย (Long หรือ Short)
4.1.3 บัญชีแยกประเภทรายตัวลูกค้า ต้องมีรายละเอียดดังนี้
(1) วันที่ซื้อหรือขายหลักทรัพย์
(2) ชื่อลูกค้าและเลขที่บัญชี
(3) ชื่อหลักทรัพย์
(4) จำนวน และราคาหลักทรัพย์ที่ซื้อขาย
(5) วันที่และจำนวนหลักทรัพย์ที่รับมอบจากลูกค้า
(6) วันที่และจำนวนหลักทรัพย์ที่ส่งมองให้แก่ลูกค้า
(7) จำนวนหลักทรัพย์คงเหลือของลูกค้าแยกตามประเภทบัญชีและรายหลักทรัพย์ยอดลูกหนี้ เจ้าหนี้ค้างชำระระหว่างลูกค้ากับสมาชิก ณ สิ้นวัน วันที่ชำระราคาค่าซื้อหรือขาย เลขที่อ้างอิง (Reference Number)
4.1.4 บัญชีเงินลงทุนของสมาชิก ต้องมีรายละเอียดดังต่อไปนี้
(1) เลขที่บัญชี
(2) ชื่อหลักทรัพย์
(3) วันที่ซื้อหรือขายหลักทรัพย์
(4) จำนวนและราคา มูลค่าของหลักทรัพย์ที่ซื้อหรือขาย กำไรขาดทุน
(5) จำนวนหลักทรัพย์คงเหลือ มูลค่ารวมตามบัญชีและราคาเฉลี่ยต่อหลักทรัพย์
4.1.5 เอกสารรายงานประจำวัน ต้องมีรายงานดังต่อไปนี้
(1) บันทึกรายการการขายชอร์ต
(2) รายงานการขายหลักทรัพย์ผิดพลาด ให้แสดงจำนวนหุ้นที่ขายเกินกว่ายอดคงเหลือตามบัญชีของลูกค้า และบัญชีเงินลงทุนของสมาชิกทุกครั้งที่เกิดรายการขายเกินดังกล่าว แม้สิ้นวันจะมียอดสุทธิคงเหลือเพียงพอก็ตาม
(3) รายงานการซื้อและ/หรือขายชอร์ตเกินวงเงินที่กำหนด ให้แสดงรายละเอียดการซื้อและ/หรือขายชอร์ตรวมทั้งจำนวนมูลค่าซื้อและ/หรือขายชอร์ตเกินกว่าวงเงินที่กำหนดตามรายการที่เกิดขึ้นทุกครั้งแม้ในระหว่างวันลูกค้าได้ขายและ/หรือซื้อคืนหลักทรัพย์ จนทำให้หนี้อยู่ในวงเงินที่กำหนดแล้วก็ตาม
(4) รายงานรายการเช็คชำระราคาค่าซื้อหลักทรัพย์ที่ธนาคารปฏิเสธการจ่ายเงิน
(5) รายงานแสดงสถานะบัญชีมาร์จิ้นรายตัวลูกค้า (Margin Control) โดยแสดงรายละเอียด Cash Balance, หลักประกัน, Margin, Short Market Value, Equity, Excess Equity มูลค่าหลักประกันที่ต้องดำรงไว้ และมูลค่าหลักประกันขั้นต่ำ
(6) รายงานรายการครบกำหนดชำระหนี้ของบัญชีเงินสด (Cash Account)โดยแสดงรายละเอียด ชื่อหลักทรัพย์ จำนวนหลักทรัพย์ มูลค่าซื้อหรือขายสุทธิ รายละเอียดเกี่ยวกับการรับชำระราคาค่าซื้อจากลูกค้าหรือการจ่ายชำระราคาค่าขายให้ลูกค้า
(7) รายงานการรับชำระราคาค่าซื้อหลักทรัพย์จากลูกค้าล่าช้า (Over Due)
(8) รายงานการรับมอบหลักทรัพย์จากลูกค้าล่าช้า
(9) รายงานการบังคับชำระหนี้
4.2 ขั้นตอนที่ต้องถือปฏิบัติ
4.2.1 สมาชิกต้องแจ้งผลการซื้อหรือขายหลักทรัพย์แก่ลูกค้าเป็นลายลักษณ์อักษร
4.2.2 สมาชิกต้องบันทึกรายการซื้อขายหลักทรัพย์ประจำวันในทะเบียนบันทึกรายการซื้อขายหลักทรัพย์ โดยแยกตามเลขที่บัญชีและตามประเภทบัญชีที่ซื้อขาย (Cash หรือ Margin) และสมาชิกต้องจัดเก็บทะเบียนบันทึกรายการซื้อขายหลักทรัพย์ประจำวัน และรายการแก้ไขเปลี่ยนแปลงทั้งหมดที่เกิดขึ้นเรียงลำดับตามวันที่ซื้อหรือขายไว้ที่บริษัทให้ครบถ้วน การจัดเก็บอาจอยู่ในรูปข้อมูลในระบบก็ได้
4.2.3 ในกรณีลูกค้าเป็นบริษัทหลักทรัพย์ที่มิใช่สมาชิก ให้สมาชิกแจ้งเลขที่คำสั่งซื้อหรือขายและหมายเลข Confirm ในระบบการซื้อขายให้แก่บริษัทหลักทรัพย์ที่มิใช่สมาชิกนั้นด้วย
4.2.4 ให้สมาชิกใช้เกณฑ์สิทธิ (Accrual Basis) ในการลงบัญชีซื้อขายหลักทรัพย์และการรับรู้รายได้
4.2.5 การจัดทำบัญชีแยกประเภทรายตัวลูกค้า สมาชิกต้องปฏิบัติดังนี้
(1) ให้จัดทำบัญชีแยกประเภทรายตัวลูกค้าอย่างน้อยทุกสิ้นวันทำการ
(2) ให้จัดทำระบบการประมวลข้อมูลการซื้อขายจากบัญชีแยกประเภทรายตัวลูกค้าโดยแสดงรายละเอียดดังนี้
. การซื้อหรือขายหลักทรัพย์ มูลค่าซื้อหรือมูลค่าขายและการชำระราคาของทุกหลักทรัพย์ หรือเฉพาะหลักทรัพย์ใดหลักทรัพย์หนึ่งในแต่ละวัน
. การซื้อหรือขายหลักทรัพย์ จำนวนหลักทรัพย์ที่ซื้อหรือขายและการส่งมอบหรือรับมอบหลักทรัพย์ในหลักทรัพย์ใดหลักทรัพย์หนึ่ง
(3) ให้บันทึกรายการซื้อขายหลักทรัพย์ รายการชำระราคา และรายการส่งมอบหลักทรัพย์ตามวันที่ที่เกิดขึ้นจริง
4.2.6 ในกรณีบัญชีมาร์จิ้น (Margin Account) สมาชิกต้องจัดส่งรายการ Cash Balance, หลักประกัน, Margin, Short Market Value, Equity มูลค่าหลักประกันที่ต้องดำรงไว้ และมูลค่าหลักประกันขั้นต่ำให้ลูกค้าทุกรายการทราบทุกสิ้นเดือน
4.2.7 ในกรณีบัญชีเงินสด (Cash Account) สมาชิกต้องจัดส่งเอกสารรายการยอดหลักทรัพย์คงเหลือและยอดเงินค้างชำระให้ลูกค้าทุกรายทราบทุกสิ้นเดือน โดยยอดหลักทรัพย์คงเหลือควรแยกเป็นยอกหลักทรัพย์ที่ลูกค้าสามารถสั่งขายได้ และยอดหลักทรัพย์ที่ยังไม่สามารถสั่งขายได้ เช่น หุ้นเพิ่มทุนที่ยังไม่ได้รับอนุมัติให้ซื้อขายได้ในตลาดหลักทรัพย์
4.2.8 สมาชิกต้องจัดทำบัญชีหลักทรัพย์เพื่อค้าและเพื่อลงทุน แยกตามประเภทของหลักทรัพย์โดยให้แสดงจำนวนคงเหลือของหลักทรัพย์แต่ละประเภท และแสดงยอดเงินการได้มาของหลักทรัพย์นั้นๆ และการตัดจำหน่ายต้นทุนของหลักทรัพย์ที่ขายให้ใช้วิธีตามหลักการบัญชีที่รับรองโดยทั่วไป ทั้งนี้ ขึ้นอยู่กับวิธีการบัญชีที่สมาชิกใช้อยู่
4.2.9 สมาชิกต้องจัดส่งเอกสารสรุปรายการเคลื่อนไหว (Movement) ของรายการซื้อขายหลักทรัพย์ในบัญชีลูกค้าเมื่อลูกค้าร้องขอ
4.3 แนวทางที่ควรถือปฏิบัติ
4.3.1 สมาชิกควรแจ้งผลการซื้อหรือขายหลักทรัพย์แก่ลูกค้าภายในวันที่ครบกำหนดชำระราคาและให้ลูกค้าลงลายมือชื่อในใบยืนยันการซื้อหรือขายหลักทรัพย์นั้นให้ครบถ้วน ในกรณีที่สมาชิกแจ้งผลการซื้อหรือขายหลักทรัพย์ทางไปรษณีย์ ลูกค้าอาจไม่ลงลายมือชื่อในใบยืนยันการซื้อหรือขายหลักทรัพย์นั้นก็ได้
4.3.2 สมาชิกควรจัดทำใบยืนยันการซื้อหรือขายหลักทรัพย์อย่างน้อย 2 ชุด มีข้อความตรงกันเพื่อส่งมอบให้แก่ลูกค้า 1 ชุด และเก็บไว้ที่บริษัทเรียงลำดับตามวันที่ 1 ชุด โดยให้จัดเก็บต้นฉบับใบยืนยันการซื้อหรือขายหลักทรัพย์ที่ลูกค้าลงลายมือชื่อไว้เป็นหลักฐานของสมาชิก ส่วนในกรณีที่แจ้งผลการซื้อหรือขายหลักทรัพย์ทางไปรษณีย์ให้สมาชิกจัดเก็บสำเนาใบยืนยันการซื้อหรือขาย และหลักฐานการจัดส่งใบยืนยันการซื้อหรือขายทางไปรษณีย์ให้ครบถ้วน
4.3.3 ใบยืนยันการซื้อหรือขายหลักทรัพย์อาจทำเป็นสำเนาคู่ฉบับ โดยมีความแตกต่างกันไปในแต่ละสำเนา เพื่อใช้ในหลายวัตถุประสงค์ดังนี้
(1) เพื่อเป็นใบเสร็จรับเงิน
(2) เพื่อเป็นใบบันทึกบัญชี
(3) เพื่อเป็นหลักฐาน
4.3.4 ควรใช้ยอดรวมจากทะเบียนบันทึกรายการซื้อขายหลักทรัพย์ประจำวันผ่านบัญชีในแต่ละวัน เพื่อให้ผ่านบัญชีแยกประเภทง่ายขึ้น ซึ่งได้แก่
บัญชีลูกหนี้ลูกค้า (จากการซื้อหลักทรัพย์) คือ มูลค่ารวมของหลักทรัพย์บวกค่านายหน้าและภาษีซื้อ
บัญชีเจ้าหนี้ลูกค้า (จากการขายหลักทรัพย์) คือ มูลค่ารวมของหลักทรัพย์หักค่านายหน้าและภาษีขาย
บัญชีลูกหนี้ศูนย์รับฝากหลักทรัพย์ คือ มูลค่าสุทธิของหลักทรัพย์ที่บริษัทสมาชิกนั้นทำการขาย โดยชำระราคาและส่งมอบหลักทรัพย์ผ่านศูนย์รับฝากหลักทรัพย์
บัญชีเจ้าหนี้ศูนย์รับฝากหลักทรัพย์ คือ มูลค่าสุทธิของหลักทรัพย์ที่บริษัทสมาชิกนั้นทำการซื้อ โดยชำระราคาและส่งมอบหลักทรัพย์ผ่านศูนย์รับฝากหลักทรัพย์
บัญชีค่านายหน้า คือ ค่านายหน้าจากการซื้อและขายหลักทรัพย์ของลูกค้า
บัญชีภาษีซื้อหรือภาษีขาย คือ ค่าภาษีมูลค่าเพิ่มตามประมวลรัษฎากร
บัญชีเงินลงทุนในหลักทรัพย์จดทะเบียน คือ หลักทรัพย์ที่สมาชิกซื้อหรือขายเพื่อการลงทุนหรือการค้าของสมาชิกเอง
4.3.5 เงินลงทุนในหลักทรัพย์เพื่อค้าและเพื่อลงทุนของสมาชิกควรแสดงราคาปิด ณ สิ้นวันที่รายงานเพื่อเป็นข้อมูลเปรียบเทียบราคาต้นทุน ใช้ประกอบการพิจารณาตัดสินใจบริหารเงินลงทุนของสมาชิก
-ยังมีต่อ-

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ