บริษัท ทริสเรทติ้ง จำกัด ประกาศยืนยันอันดับเครดิตองค์กรและหุ้นกู้ไม่มีประกันของ ธนาคารเกียรตินาคิน จำกัด (มหาชน) คงเดิมที่ระดับ “A-” พร้อมทั้งปรับแนวโน้มอันดับเครดิตของธนาคารเป็น “Positive” หรือ “บวก” จาก “Stable” หรือ “คงที่” โดยอันดับเครดิตสะท้อนถึงผลประกอบการทางธุรกิจและการเงินของธนาคารที่ดีขึ้น ตลอดจนคณะผู้บริหารที่มีประสบการณ์ การบริหารความเสี่ยงและแนวทางปฏิบัติที่เป็นที่ยอมรับ ผลงานในการปรับปรุงคุณภาพสินทรัพย์ให้ดีขึ้น และฐานะเงินกองทุนที่แข็งแรง แม้ว่าธนาคารจะสามารถกระจายฐานลูกค้าเงินฝากรายย่อยได้มากขึ้น แต่อันดับเครดิตยังมีแรงกดดันจากการมีมูลค่าจากเครือข่ายธุรกิจ (Franchise Value) ที่จำกัด และความเสี่ยงที่อาจเกิดขึ้นต่อตลาดระดมเงินฝากภายหลังจากที่พระราชบัญญัติประกันเงินฝากฉบับใหม่มีผลบังคับใช้ภายในเดือนสิงหาคม 2554 นอกจากนี้ ความเสี่ยงจากความไม่แน่นอนของภาวะเศรษฐกิจและการเมือง รวมทั้งการแข่งขันที่ทวีความรุนแรงทั้งในธุรกิจธนาคารพาณิชย์และหลักทรัพย์อาจจำกัดความสามารถในการขยายธุรกิจและการทำกำไรของธนาคารในอนาคต
แนวโน้มอันดับเครดิต “Positive” หรือ “บวก” สะท้อนการคาดการณ์ว่าธนาคารจะยังคงสามารถรักษาระดับการเติบโตทางธุรกิจและการทำกำไรในระยะปานกลางเอาไว้ได้ อีกทั้งยังสะท้อนถึงความสามารถของธนาคารที่จะควบคุมคุณภาพสินเชื่อและดำรงเงินกองทุนที่เพียงพอที่จะรองรับความเสี่ยงที่เกิดจากภาวะเศรษฐกิจและการเงินที่ผันผวนในอนาคต ความเสี่ยงจากความไม่มั่นคงของฐานลูกค้าเงินฝากรายย่อยเนื่องจากการคุ้มครองเงินฝากเป็นประเด็นกังวลที่สำคัญในช่วงปี 2554-2555 ดังนั้น ทริสเรทติ้งจะประเมินผลกระทบภายหลังจากการบังคับใช้มาตรการคุ้มครองเงินฝากในเดือนสิงหาคม 2554 และอันดับเครดิตอาจได้รับการทบทวนปรับเพิ่มขึ้นโดยพิจารณาถึงความสามารถของธนาคารในการรักษาจุดแข็ง รวมทั้งรักษาระดับความมั่นคงของฐานเงินฝากโดยอัตราดอกเบี้ยเงินฝากยังอยู่ในระดับที่สมเหตุผลภายหลังจากมาตรการคุ้มครองเงินฝากมีผลบังคับใช้
ทริสเรทติ้งรายงานว่า ธนาคารเกียรตินาคินจัดอยู่ในธนาคารพาณิชย์ลำดับที่ 9 ด้วยส่วนแบ่งทางการตลาด 1.5% เมื่อพิจารณาจากขนาดของสินทรัพย์ ในขณะที่ส่วนแบ่งทางการตลาดของเงินให้สินเชื่ออยู่ที่ 1.6% และเงินฝาก 1.2% ณ สิ้นเดือนธันวาคม 2553 ธุรกิจหลักของธนาคารประกอบด้วยสินเชื่อเช่าซื้อรถยนต์ สินเชื่อที่อยู่อาศัย และธุรกิจการบริหารเงินลงทุนในสิทธิเรียกร้องและสินทรัพย์รอการขาย ธนาคารสามารถบริหารธุรกิจเหล่านี้ได้เป็นอย่างดีด้วยความชำนาญภายใต้คุณภาพสินทรัพย์ที่ควบคุมได้ เนื่องจากการมีนโยบายที่ให้ความสำคัญกับการเพิ่มคุณภาพสินทรัพย์ที่ดี ธนาคารจึงได้กำหนดแนวทางการอนุมัติสินเชื่อและเกณฑ์การให้สินเชื่อที่เข้มงวด เป็นผลให้สินเชื่อของธนาคารในปี 2552 เติบโตเพียง 8% จากมูลค่า 81,360 ล้านบาทในปี 2551 เป็น 87,638 ล้านบาทในปี 2552 ผลจากแรงหนุนของการขยายตัวของยอดขายรถยนต์ในประเทศในอัตรา 2 หลักและการเติบโตทางเศรษฐกิจในปี 2553 ทำให้พอร์ตสินเชื่อของธนาคารขยายตัวมากถึง 24% เป็น 108,313 ล้านบาท จากจำนวนสินเชื่อทั้งหมด ธนาคารมีสินเชื่อเช่าซื้อรถยนต์คิดเป็นสัดส่วน 71% ในขณะที่ 29% เป็นสินเชื่อเพื่อโครงการพัฒนาที่อยู่อาศัยและสินเชื่อประเภทอื่น ณ สิ้นเดือนธันวาคม 2553 สินเชื่อเช่าซื้อรถยนต์เติบโตถึง 28% โดยมีมูลค่าเท่ากับ 77,020 ล้านบาทเมื่อเทียบกับ 60,119 ล้านบาท ณ สิ้นเดือนธันวาคม 2552 ในขณะที่สินเชื่อเพื่อโครงการพัฒนาที่อยู่อาศัยและก่อสร้างเติบโตเกือบ 8% จาก 19,160 ล้านบาท เป็น 20,607 ล้านบาท
จากความพยายามในการควบคุมคุณภาพสินทรัพย์ ทริสเรทติ้งกล่าวว่า สินเชื่อที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ของธนาคารจึงลดลงอย่างต่อเนื่องตั้งแต่ปี 2550 โดยธนาคารมีอัตราส่วนสินเชื่อจัดชั้น (ชั้นปกติ ชั้นสงสัย และชั้นสงสัยจะสูญ) ต่อสินเชื่อรวมลดลงอย่างมากจากระดับ 14.5% ในปี2549 เป็น 4.6% ในปี 2553 ซึ่งเป็นอัตราที่ต่ำกว่าค่าเฉลี่ยที่ระดับ 4.7% ของธนาคารพาณิชย์ไทยทั้ง 11 แห่ง อย่างไรก็ตาม สินเชื่อจัดชั้นที่ค้างชำระเกิน 3 เดือนในสินเชื่อโครงการอสังหาริมทรัพย์มีสัดส่วน 16% ของสินเชื่อโครงการอสังหาริมทรัพย์ทั้งหมดของธนาคาร ในขณะที่ค่าเฉลี่ยอุตสาหกรรมของสินเชื่อจัดชั้นที่ค้างชำระเกินกว่า 3 เดือนของหมวดสินเชื่อนี้มีสัดส่วน 10% ธนาคารมีอัตราส่วนสินทรัพย์ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (ประกอบด้วยสินเชื่อจัดชั้นที่ค้างชำระเกิน 3 เดือน และยอดคงค้างสินเชื่อที่ปรับโครงสร้างหนี้และสินทรัพย์รอการขาย) คิดเป็น 8.96% ของสินทรัพย์ทั้งหมด ซึ่งใกล้เคียงกับระดับเฉลี่ย 8.57% ของธนาคารพาณิชย์ไทยทั้ง 11 แห่ง ธนาคารมีสัดส่วนการตั้งสำรองหนี้สงสัยจะสูญต่อสินเชื่อด้อยคุณภาพที่ระดับ 109 % นับว่าสูงกว่าค่าเฉลี่ยของธนาคารพาณิชย์ไทยทั้ง 11 แห่งซึ่งอยู่ที่ระดับ 91% ในปี 2553 แม้ว่าธนาคารจะมีการขยายสินเชื่อแก่โครงการพัฒนาที่อยู่อาศัยที่มีความเสี่ยงสูง แต่ธนาคารก็ดำรงเงินกองทุนและตั้งสำรองค่าเผื่อหนี้สงสัยจะสูญให้เพียงพอเพื่อรองรับความเสี่ยงที่อาจเกิดจากสินทรัพย์ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ ทั้งนี้ ธนาคารมีอัตราส่วนสินทรัพย์ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ต่อเงินกองทุนซึ่งรวมค่าเผื่อหนี้สงสัยจะสูญคิดเป็น 0.55 เท่า ซึ่งดีกว่าระดับเฉลี่ยที่ 0.61 เท่าของธนาคารพาณิชย์ไทยทั้ง 11 แห่ง
ธนาคารสามารถสร้างรายได้ที่ดีขึ้นและคงระดับผลตอบแทนจำนวนมากจากสินทรัพย์ในธุรกิจหลักของธนาคาร ในขณะเดียวกันก็สามารถควบคุมค่าใช้จ่ายในการดำเนินงานได้เป็นอย่างดี ในปี 2553 ธนาคารจึงรายงานผลกำไรสุทธิเท่ากับ 2,840 ล้านบาท ซึ่งเพิ่มขึ้นถึง 27% จาก 2,229 ล้านบาทในปี 2552 สัดส่วนค่าใช้จ่ายต่อรายได้รวมเพิ่มขึ้นเล็กน้อยเป็น 35% จาก 33% ในปี 2552 โดยต่ำกว่าค่าเฉลี่ย 46% ของธนาคารพาณิชย์ไทยทั้ง 11 แห่ง ธนาคารมีอัตราส่วนผลตอบแทนต่อสินทรัพย์รวมถัวเฉลี่ยเพิ่มขึ้นเป็น 2.11% ในปี 2553 จาก 1.84% ในปี 2552 ในขณะที่ผลตอบแทนต่อส่วนของผู้ถือหุ้นถัวเฉลี่ยเพิ่มขึ้นเช่นกันเป็น 14.62% จาก 12.69%
ในด้านเงินทุนนั้น กลยุทธ์ในการเพิ่มจำนวนบัญชีเงินฝากรายย่อยที่มีปริมาณเงินฝากน้อยกว่าส่งผลให้สัดส่วนเงินฝากออมทรัพย์เพิ่มขึ้นเป็น 6% ของเงินฝากทั้งหมด ณ เดือนธันวาคม 2553 จาก 0.7% ณ สิ้นเดือนธันวาคม 2551 ธนาคารมีฐานเงินทุนที่แข็งแกร่งโดยสะท้อนจากสัดส่วนเงินกองทุนต่อสินทรัพย์เสี่ยงซึ่งอยู่ที่ระดับ 15.18% ณ สิ้นปี 2553 เนื่องจากธนาคารเน้นสินเชื่อความเสี่ยงสูงที่ให้ผลตอบแทนสูงโดยเฉพาะสินเชื่อโครงการที่อยู่อาศัย การดำรงเงินกองทุนและการตั้งสำรองค่าเผื่อหนี้สงสัยจะสูญที่แข็งแกร่งจึงเป็นสิ่งจำเป็นที่จะใช้รองรับความเสียหายที่คาดไม่ถึงจากความเสี่ยงที่อาจเกิดขึ้นในอนาคต ทริสเรทติ้งกล่าว — จบ