ทริสเรทติ้งจัดอันดับเครดิตตราสารหนี้และคงอันดับเครดิตองค์กร “บ. บีเอสแอล ลีสซิ่ง” ที่ระดับ “BBB”ด้วยแนวโน้ม “Stable”

ข่าวทั่วไป Wednesday June 22, 2011 13:33 —ทริส เรตติ้ง

บริษัท ทริสเรทติ้ง จำกัด ประกาศผลอันดับเครดิตหุ้นกู้ไม่มีประกันในวงเงินไม่เกิน 500 ล้านบาทของ บริษัท บีเอสแอล ลีสซิ่ง จำกัด ที่ระดับ “BBB” พร้อมทั้งประกาศคงอันดับเครดิตองค์กรของบริษัทที่ระดับ “BBB” ด้วยเช่นกัน โดยแนวโน้มยังคง “Stable” หรือ “คงที่” บริษัทจะนำเงินที่ได้จากการออกหุ้นกู้ไปใช้สำหรับการขยายสินเชื่อเป็นหลัก ทั้งนี้ อันดับเครดิตสะท้อนถึงคณะผู้บริหารที่มีประสบการณ์ แนวปฏิบัติในการบริหารความเสี่ยงที่ได้รับการยอมรับ สถานะทางการตลาดและผลประกอบการที่ปรับตัวดีขึ้น ตลอดจนการสนับสนุนทางการเงินจากผู้ถือหุ้นใหญ่ อย่างไรก็ตาม จุดแข็งดังกล่าวถูกลดทอนบางส่วนจากการที่บริษัทไม่มีเครือข่ายการให้บริการลูกค้าที่อยู่นอกบริเวณใจกลางกรุงเทพฯ ตลอดจนอัตราการก่อหนี้ที่ค่อนข้างสูงเมื่อเทียบกับผู้ประกอบการรายอื่น และการสนับสนุนทางการเงินที่จำกัดจากธนาคารกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) ซึ่งเป็นผลกระทบจากกฎระเบียบที่ออกโดยธนาคารแห่งประเทศไทยว่าด้วยเรื่องการให้กู้ยืมแก่บริษัทที่เกี่ยวข้องกันอันจะส่งผลกระทบต่อความยืดหยุ่นทางการเงินและเป็นอุปสรรคต่อการขยายธุรกิจของบริษัท

แนวโน้มอันดับเครดิต “Stable” หรือ “คงที่” สะท้อนถึงความคาดหมายของทริสเรทติ้งว่าบริษัทจะยังคงได้รับการสนับสนุนทางการเงินอย่างต่อเนื่องจากผู้ถือหุ้นรายใหญ่ไปพร้อมกับการเพิ่มความหลากหลายของแหล่งเงินกู้ ทั้งนี้ แนวโน้มอันดับเครดิตยังพิจารณารวมไปถึงความคาดหมายที่คณะผู้บริหารของบริษัทจะสามารถคงคุณภาพสินทรัพย์ที่ดีและรักษาผลการดำเนินงานให้อยู่ในระดับที่ทริสเรทติ้งคาดการณ์ไว้ด้วย

ทริสเรทติ้งรายงานว่า บริษัทบีเอสแอล ลีสซิ่งก่อตั้งในปี 2528 โดยการร่วมทุนในสัดส่วน 50:50 ระหว่างธนาคารกรุงเทพและบริษัทในกลุ่มกับ Sumitomo Mitsui Banking Corporation ประเทศญี่ปุ่น (เดิมชื่อ Mitsui Taiyo Kobe Bank) เพื่อดำเนินธุรกิจการให้บริการทางการเงินเพื่อจัดซื้อเครื่องจักรและยานพาหนะในอุตสาหกรรมภายใต้สัญญาลีสซิ่งและเช่าซื้อ และในปี 2547 ได้ขยายสู่ธุรกิจแฟคตอริ่ง การปรับโครงสร้างภายในของกลุ่มธนาคารกรุงเทพในปี 2548 มีผลทำให้ธนาคารไทยธนาคาร จำกัด (มหาชน) (ปัจจุบันคือธนาคารซีไอเอ็มบี ไทย จำกัด (มหาชน)) เป็นผู้ถือหุ้นบริษัทในสัดส่วน 10% ในขณะที่ผู้ถือหุ้นในกลุ่มธนาคารกรุงเทพมีสัดส่วนลดลงเหลือ 40% อย่างไรก็ตาม ในช่วงครึ่งแรกของปี 2552 ธนาคารกรุงเทพได้ซื้อหุ้นจำนวน 10% คืนจากธนาคารซีไอเอ็มบี ไทย ซึ่งแสดงให้เห็นถึงความตั้งใจของธนาคารกรุงเทพที่จะให้การสนับสนุนบริษัทต่อไป

ทริสเรทติ้งกล่าวว่า สถานะทางธุรกิจและการตลาดของบริษัทบีเอสแอล ลีสซิ่งปรับตัวดีขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยบริษัทเป็นผู้ให้บริการสินเชื่อและลีสซิ่งอุปกรณ์และเครื่องจักรในลำดับที่ 3 ในจำนวนผู้ให้บริการรายใหญ่ 12 รายซึ่งอยู่ในฐานข้อมูลของทริสเรทติ้งในปี 2552 โดยปรับเพิ่มขึ้นจากลำดับที่ 5 ในปี 2551 สินเชื่อคงค้างของบริษัทเพิ่มขึ้นเท่าตัวจาก 2,438 ล้านบาทในปี 2547 เป็น 4,568 ล้านบาทในปี 2552 และยังคงเพิ่มขึ้นเป็น 4,848 ล้านบาท ณ สิ้นเดือนธันวาคม 2553 ด้วยเหตุที่ธุรกิจของบริษัทมีการกระจุกตัวเฉพาะในเขตกรุงเทพฯ และปริมณฑลผ่านการให้บริการของสำนักงานใหญ่เพียงแห่งเดียว จึงทำให้เกิดการจำกัดลูกค้าไว้เฉพาะในเขตกรุงเทพฯ และบริเวณใกล้เคียง ส่งผลให้บริษัทมีฐานลูกค้าที่ขาดความหลากหลายในเชิงพื้นที่เมื่อเทียบกับสถาบันการเงินรายใหญ่อื่น ๆ

ในปี 2551 บริษัทได้ปรับปรุงนโยบายด้านบัญชีในการบันทึกค่าเสื่อมราคาโดยเปลี่ยนวิธีคำนวณค่าเสื่อมราคาจากการรวมผลจำนวนงวดเพื่อลดราคาตามบัญชี (Sum of the Years Digits -- SYD) มาเป็นแบบเส้นตรง (Straight-line) พร้อมรวมการประเมินค่าซากในการคำนวณค่าเสื่อมราคา ซึ่งการเปลี่ยนนโยบายค่าเสื่อมราคาดังกล่าวทำให้ผลประกอบการทางการเงินของบริษัทปรับตัวดีขึ้นอย่างมากในปี 2551-2552 เนื่องจากค่าเสื่อมราคาจากสินทรัพย์ให้เช่าลดลงอย่างมีนัยสำคัญ โดยรายได้สุทธิ (ปรับจากรายได้สุทธิของธุรกิจให้เช่าดำเนินงาน) อยู่ระหว่าง 100-300 ล้านบาทต่อปีในช่วงปี 2546-2550 ก่อนที่จะเพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญเป็น 587 ล้านบาทในปี 2551 และลดลงเป็น 493 ล้านบาทในปี 2552 รายได้สุทธิปรับลดลงสู่ระดับปกติที่ 415 ล้านบาทในปี 2553 แต่ยังคงเพิ่มขึ้นจากช่วงก่อนการเปลี่ยนแปลงวิธีคำนวณค่าเสื่อมราคาเนื่องจากสินเชื่อที่ขยายตัวเพิ่มขึ้น บริษัทมีอัตราส่วนผลตอบแทนต่อส่วนของผู้ถือหุ้นถัวเฉลี่ยในระดับสูงที่ 26.79% ในปี 2549 ระดับ 28.19% ในปี 2550 ระดับ 48.71% ในปี 2551 และระดับ 27.82% ในปี 2552 ฐานทุนที่เพิ่มขึ้นจากผลประกอบการที่ดีในระหว่างปี 2551-2552 ส่งผลให้อัตราส่วนผลตอบแทนต่อส่วนของผู้ถือหุ้นปรับลดลงเป็น 16.43% ในปี 2553

การบริหารมูลค่าคงเหลือของสินทรัพย์ให้เช่า (Residual Value) ที่มีประสิทธิภาพทำให้บริษัทสามารถสร้างรายได้ที่มิใช่ดอกเบี้ยจากกำไรที่ได้จากการขายสินทรัพย์ให้เช่าดังกล่าวอย่างต่อเนื่อง ทั้งนี้ ก่อนการเปลี่ยนแปลงนโยบายทางบัญชีในปี 2551 บริษัทมีรายได้ในส่วนนี้คิดเป็น 22%-23% ของรายได้สุทธิ บริษัทมีกำไรจากการขายสินทรัพย์ให้เช่าอย่างต่อเนื่องที่ระดับ 72 ล้านบาทในปี 2549 ระดับ 73 ล้านบาทในปี 2550 และระดับ 32 ล้านบาทในปี 2551 ก่อนที่จะเพิ่มขึ้นเป็น 85 ล้านบาทในปี 2552 เนื่องจากมีสินทรัพย์ให้เช่าจำนวนมากที่หมดอายุสัญญาเช่าในปีเดียวกันนั้น ต่อมากำไรดังกล่าวลดลงเหลือ 23 ล้านบาทในปี 2553 ทั้งนี้ หลังจากการเปลี่ยนแปลงวิธีคำนวณค่าเสื่อมราคาแล้วบริษัทก็มีกำไรจากการขายสินทรัพย์ให้เช่าต่อรายได้รวมในสัดส่วนที่ลดลง

เมื่อวันที่ 3 สิงหาคม 2551 ธนาคารแห่งประเทศไทยได้ออกประกาศปรับปรุงกฎระเบียบที่เกี่ยวข้องกับสถาบันการเงินหลายฉบับ โดยหนึ่งในระเบียบดังกล่าวกำหนดให้ธนาคารพาณิชย์จำกัดการให้สินเชื่อแก่บริษัทที่เกี่ยวข้อง โดยบริษัทที่เกี่ยวข้องได้แก่บริษัทที่ธนาคารพาณิชย์ถือหุ้นเกิน 10% ซึ่งสินเชื่อที่จะให้แก่บริษัทที่เกี่ยวข้องนั้นจะต้องไม่เกิน 5% ของเงินกองทุนของธนาคารพาณิชย์ หรือไม่เกิน 25% ของหนี้สินทั้งหมดของบริษัทที่เป็นลูกหนี้ ซึ่งแล้วแต่จำนวนใดจะต่ำกว่า ผลจากประกาศดังกล่าวทำให้ความยืดหยุ่นในการหาแหล่งเงินทุนของบริษัทมีข้อจำกัดมากขึ้นเนื่องจากในขณะนั้นบริษัทพึ่งพาแหล่งเงินทุนจากธนาคารกรุงเทพเป็นหลัก อย่างไรก็ตาม ตั้งแต่ปี 2552 บริษัทได้กระจายแหล่งกู้ยืมไปยังสถาบันการเงินอื่นมากขึ้น และเริ่มมีการออกตั๋วสัญญาใช้เงินในปี 2553 ณ สิ้นเดือนธันวาคม 2553 บริษัทมีสัดส่วนเงินกู้เพียง 7% ที่กู้ยืมจากผู้ถือหุ้นใหญ่คือธนาคารกรุงเทพและมีวงเงินกู้ยืมที่ยังสามารถใช้ได้จากผู้ถือหุ้นใหญ่จำนวนรวม 1,415 ล้านบาทซึ่งจะเป็นแหล่งเงินทุนที่ใช้ป้องกันความเสี่ยงด้านสภาพคล่องระยะสั้นที่อาจเกิดขึ้นโดยคาดไม่ถึง

บริษัทมีคุณภาพสินทรัพย์ที่ดีแม้จะมีลูกค้าหลักเป็นกลุ่มธุรกิจขนาดกลางและขนาดย่อมซึ่งมักมีความอ่อนไหวตามภาวะเศรษฐกิจที่เปลี่ยนแปลง นอกจากนี้ ยังมีอัตราส่วนเงินให้สินเชื่อที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (ค้างชำระเกิน 3 เดือน) ต่อเงินให้สินเชื่อรวมถัวเฉลี่ยในระดับประมาณ 2% ซึ่งนับว่าค่อนข้างต่ำเมื่อเทียบกับผู้ประกอบการรายอื่นที่ทริสเรทติ้งจัดอันดับเครดิต โดยบริษัทได้มีการกันสำรองสำหรับรองรับสินเชื่อที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ไว้เต็มจำนวนแล้ว ทริสเรทติ้งกล่าว — จบ

บริษัท บีเอสแอล ลีสซิ่ง จำกัด (BLS)
อันดับเครดิตองค์กร:	                                    คงเดิมที่ BBB
อันดับเครดิตตราสารหนี้:
หุ้นกู้ไม่มีประกันในวงเงินไม่เกิน 500 ล้านบาท ไถ่ถอนภายในปี 2556	BBB
แนวโน้มอันดับเครดิต:	                                   Stable (คงที่)
บริษัท ทริสเรทติ้ง จำกัด สงวนลิขสิทธิ์ พ.ศ. 2554  ห้ามมิให้บุคคลใด ใช้ เปิดเผย ทำสำเนาเผยแพร่ แจกจ่าย หรือเก็บไว้เพื่อใช้ในภายหลังเพื่อประโยชน์ใดๆ ซึ่งรายงานหรือข้อมูลการจัดอันดับเครดิต ไม่ว่าทั้งหมดหรือแต่เพียงบางส่วน และไม่ว่าในรูปแบบ หรือลักษณะใดๆ หรือด้วยวิธีการใดๆ โดยมิได้รับอนุญาต การจัดอันดับเครดิตนี้มิใช่คำแถลงข้อเท็จจริง หรือคำเสนอแนะให้ซื้อ ขาย หรือถือตราสารหนี้ใดๆ แต่เป็นเพียงความเห็นเกี่ยวกับความเสี่ยงหรือความน่าเชื่อถือของตราสารหนี้นั้นๆ หรือของบริษัทนั้นๆ โดยเฉพาะ ความเห็นที่ระบุในการจัดอันดับเครดิตนี้มิได้เป็นคำแนะนำเกี่ยวกับการลงทุน หรือคำแนะนำในลักษณะอื่นใด การจัดอันดับและข้อมูลที่ปรากฏในรายงานใดๆ ที่จัดทำ หรือพิมพ์เผยแพร่โดย บริษัท ทริสเรทติ้ง จำกัด ได้จัดทำขึ้นโดยมิได้คำนึงถึงความต้องการด้านการเงิน พฤติการณ์ ความรู้ และวัตถุประสงค์ของผู้รับข้อมูลรายใดรายหนึ่ง ดังนั้น ผู้รับข้อมูลควรประเมินความเหมาะสมของข้อมูลดังกล่าวก่อนตัดสินใจลงทุน บริษัท ทริสเรทติ้ง จำกัด ได้รับข้อมูลที่ใช้สำหรับการจัดอันดับเครดิตนี้จากบริษัทและแหล่งข้อมูลอื่นๆ ที่เชื่อว่าเชื่อถือได้ ดังนั้น บริษัท ทริสเรทติ้ง จำกัด จึงไม่รับประกันความถูกต้อง ความเพียงพอ หรือความครบถ้วนสมบูรณ์ของข้อมูลใดๆ ดังกล่าว และจะไม่รับผิดชอบต่อความสูญเสีย หรือความเสียหายใดๆ อันเกิดจากความไม่ถูกต้อง ความไม่เพียงพอ หรือความไม่ครบถ้วนสมบูรณ์นั้น และจะไม่รับผิดชอบต่อข้อผิดพลาด หรือการละเว้นผลที่ได้รับหรือการกระทำใดๆโดยอาศัยข้อมูลดังกล่าว ทั้งนี้ รายละเอียดของวิธีการจัดอันดับเครดิตของ บริษัท ทริสเรทติ้ง จำกัด เผยแพร่อยู่บน Website: http://www.trisrating.com/th/ratinginformation/rating_criteria.html

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ