ทริสเรทติ้งคงอันดับเครดิตองค์กรและหุ้นกู้ไม่ด้อยสิทธิ ไม่มีหลักประกันชุดปัจจุบันของ บริษัท ทีพีไอ โพลีน จำกัด (มหาชน) ที่ระดับ “BBB+” พร้อมทั้งจัดอันดับเครดิตหุ้นกู้ไม่ด้อยสิทธิ ไม่มีหลักประกันชุดใหม่ในวงเงินไม่เกิน 17,000 ล้านบาทของบริษัทที่ระดับ “BBB+” โดยแนวโน้มยังคง “Stable” หรือ “คงที่” ทั้งนี้ บริษัทจะนำเงินที่ได้จากการออกหุ้นกู้ชุดใหม่จำนวนประมาณ 14,000 ล้านบาทไปใช้ไถ่ถอนเงินกู้ยืมของบริษัท ส่วนที่เหลือจะใช้สำหรับเงินทุนหมุนเวียนและการลงทุนต่าง ๆ
อันดับเครดิตสะท้อนถึงความสามารถในการแข่งขันที่แข็งแกร่งของบริษัทในอุตสาหกรรมปูนซีเมนต์ภายในประเทศ ตลอดจนการเป็นผู้ผลิตรายใหญ่ในผลิตภัณฑ์เม็ดพลาสติก LDPE homopolymer (LDPE) และ LDPE copolymer (EVA) นอกจากนี้ อันดับเครดิตยังสะท้อนถึงการที่บริษัทมีสินค้าและผลิตภัณฑ์ที่หลากหลายและมีภาระหนี้ที่อยู่ในระดับปานกลางด้วย อย่างไรก็ตาม จุดแข็งดังกล่าวถูกลดทอนบางส่วนจากลักษณะที่เป็นวงจรขึ้นลงของอุตสาหกรรมวัสดุก่อสร้างและอุตสาหกรรมปิโตรเคมี รวมถึงความเสี่ยงจากต้นทุนราคาถ่านหินที่ผันผวน ประวัติการระดมทุนผ่านตลาดเงินที่ค่อนข้างสั้นของบริษัทหลังออกจากแผนฟื้นฟูกิจการ และภาระหนี้ที่คาดว่าจะเพิ่มสูงขึ้นจากแผนการลงทุนที่เพิ่มขึ้น
แนวโน้มอันดับเครดิต “Stable” หรือ “คงที่” สะท้อนถึงการคาดการณ์ว่าบริษัทจะสามารถรักษาสถานะทางการตลาดที่แข็งแกร่งในธุรกิจปูนซีเมนต์เอาไว้ได้และผลประกอบการของธุรกิจเม็ดพลาสติกจะค่อย ๆ ฟื้นตัว ในขณะที่ธุรกิจพลังงานไฟฟ้าจะช่วยเพิ่มความสามารถในการทำกำไรและเพิ่มฐานกระแสเงินสดโดยรวม อีกทั้งจะช่วยลดทอนความผันผวนจากธุรกิจพลาสติกได้ ผลประกอบการของธุรกิจปูนซีเมนต์น่าจะได้ประโยชน์จากต้นทุนพลังงานที่ลดลงและจากโครงการโครงสร้างพื้นฐานต่าง ๆ ของภาครัฐ นอกจากนี้ ทริสเรทติ้งคาดว่าความสัมพันธ์ของบริษัทกับสถาบันการเงินต่าง ๆ จะปรับตัวดีขึ้นอย่างต่อเนื่อง อัตราส่วนเงินกู้รวมต่อโครงสร้างเงินทุนของบริษัทน่าจะอยู่ในระดับต่ำกว่า 40% ในช่วง 2 ถึง 3 ปีข้างหน้า
อันดับเครดิตหรือแนวโน้มอันดับเครดิตอาจถูกปรับลดลงหากอัตราส่วนเงินกู้รวมต่อโครงสร้างเงินทุนของบริษัทยังคงเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องและเกินกว่า 40% หรือ อัตราส่วนเงินทุนจากการดำเนินงานต่อเงินกู้รวมอยู่ในระดับต่ำกว่า 5% เป็นระยะเวลานาน เหตุการณ์ เช่น การล่าช้าของโครงการภาครัฐ หรือ ผลการดำเนินงานของธุรกิจโรงไฟฟ้านั้นต่ำกว่าคาด ก็อาจจะส่งผลกระทบในแง่ลบต่อผลประกอบการของบริษัทรวมถึงอันดับเครดิตของบริษ้ทด้วยเช่นกัน
ในทางกลับกัน อันดับเครดิตหรือแนวโน้มอันดับเครดิตอาจถูกปรับเพิ่มขึ้นหากบริษัทประสบความสำเร็จในการดำเนินงานจากโครงการต่าง ๆ ของบริษัท และสถานะการเงินที่มีความเข้มแข็งมากขึ้น จากการสร้างกระแสเงินสดที่แข็งแกร่ง และภาระหนี้สินที่ลดลง โดยสามารถเห็นได้จากอัตราส่วนเงินทุนจากการดำเนินงานต่อเงินกู้รวมคงอยู่ที่ประมาณ 15% ในขณะที่เงินกู้รวมต่อโครงสร้างเงินทุนคงอยู่ในระดับต่ำกว่า 30%
บริษัททีพีไอ โพลีน ก่อตั้งในปี 2530 โดยตระกูลเลี่ยวไพรัตน์ ณ เดือนมีนาคม 2558 ตระกูลเลี่ยวไพรัตน์มีสัดส่วนการถือหุ้นในบริษัทคิดเป็นประมาณ 56% ของจำนวนหุ้นทั้งหมด บริษัทดำเนินธุรกิจ 2 ประเภทหลัก ได้แก่ ธุรกิจผลิตปูนซีเมนต์ (ผลิตภัณฑ์ปูนซีเมนต์และคอนกรีต) และธุรกิจผลิตเม็ดพลาสติก (LDPE และ EVA) บริษัทมีรายได้ในปี 2557 อยู่ที่ 3.01 หมื่นล้านบาท โดยรายได้จากธุรกิจปูนซีเมนต์คิดเป็น 68% ของรายได้รวม ส่วนรายได้จากธุรกิจเม็ดพลาสติกคิดเป็น 26%
สถานะทางธุรกิจของบริษัทอยู่ในระดับปานกลาง บริษัทเป็นผู้ผลิตปูนซีเมนต์รายใหญ่อันดับ 3 ของประเทศ โดยมีกำลังผลิตที่ 9 ล้านตันต่อปี และมีส่วนแบ่งทางการตลาดในช่วงหลายปีที่ผ่านมาอยู่ที่ประมาณ 18% โรงงานผลิตปูนซีเมนต์แห่งที่ 4 ของบริษัทซึ่งมีกำลังการผลิตที่ 4.5 ล้านตันนั้นคาดว่าจะเริ่มดำเนินงานได้ในระหว่างไตรมาสที่สี่ของปี 2558 หรือต้นปี 2559 บริษัทมีสายการผลิตปูนซีเมนต์ที่ครบวงจรตั้งแต่การผลิตปูนเม็ด ปูนซีเมนต์ ปูนสำเร็จรูป คอนกรีต กระเบื้องหลังคาคอนกรีต และไฟเบอร์ซีเมนต์ โดยความต่อเนื่องในสายการผลิตปูนซีเมนต์ทำให้บริษัทได้รับประโยชน์จากการประหยัดต่อขนาดและมีโครงสร้างต้นทุนที่สามารถแข่งขันได้ในตลาด
ทริสเรทติ้งมองว่าโครงการขยายโรงงานผลิตปูนซีเมนต์เป็นโครงการที่มีความเสี่ยงด้านการตลาดต่อบริษัทในระยะปานกลาง ถ้าหากความต้องการปูนซีเมนต์ในประเทศยังคงซบเซา กำลังการผลิตของปูนซีเมนต์ที่เพิ่มขึ้นเป็น 13.5 ล้านตันต่อปี อาจทำให้สถานการณ์ตลาดที่มีสินค้าเกินความต้องการนั้นแย่ลงและก่อให้เกิดการแข่งขันด้านราคาขึ้นได้ อย่างไรก็ตาม ความเสี่ยงดังกล่าวบรรเทาลงบางส่วนด้วยตำแหน่งทางการตลาดที่แข็งแกร่งของบริษัทและการเร่งอนุมัติการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานของรัฐบาลซึ่งน่าจะช่วยกระตุ้นการใช้ปูนซีเมนต์ในประเทศให้เพิ่มขึ้นได้
บริษัทเป็นผู้ผลิตเม็ดพลาสติก LDPE และ EVA รายใหญ่ของประเทศด้วยกำลังการผลิตที่ 158,000 ตันต่อปี ในปี 2557 บริษัทมีสัดส่วนทางการตลาดในประเทศสำหรับผลิตภัณฑ์ LDPE อยู่ที่ 20% และปัจจุบันเป็นผู้ผลิต EVA รายเดียวในประเทศ บริษัทเน้นการผลิต EVA เพื่อส่งออกเป็นหลัก ธุรกิจเม็ดพลาสติกของบริษัทมีความเสี่ยงจากการที่บริษัทซื้อวัตถุดิบ Ethylene จากผู้จำหน่ายเพียงรายเดียว อีกทั้งยังมีความเสี่ยงจากราคาที่ผันผวนของผลิตภัณฑ์ปิโตรเคมี ตลอดจนความท้าทายจากสินค้าทดแทน การเปลี่ยนแปลงทางด้านเทคโนโลยี และการแข่งขันจากผู้ผลิตทั่วโลกด้วยเช่นกัน อันดับเครดิตของบริษัทสะท้อนถึงประโยชน์จากการประกอบธุรกิจที่หลากหลาย โดยรายได้จากธุรกิจปูนซีเมนต์ที่อาจผันผวนตามภาวะเศรษฐกิจภายในประเทศจะได้รับการถ่วงดุลโดยรายได้จากการส่งออกผลิตภัณฑ์ EVA
อันดับเครดิตของบริษัทมีข้อจำกัดบางส่วนจากประวัติการระดมทุนผ่านตลาดเงินที่ค่อนข้างสั้นหลังจากที่บริษัทออกจากกระบวนการฟื้นฟูกิจการ ทั้งนี้ ประวัติการผิดนัดชำระหนี้และการปรับปรุงโครงสร้างหนี้ของบริษัทในช่วงวิกฤตเศรษฐกิจของประเทศในอดีตทำให้มีความจำเป็นที่จะต้องมีการประเมินความเสี่ยงด้านเครดิตของบริษัทอย่างระมัดระวังด้วยเช่นกัน
สถานะทางการเงินของบริษัทอ่อนแอลงหลังช่วงกลางปี 2557 เนื่องจากความต้องการของวัสดุก่อสร้างภายในประเทศที่ลดลงและการขาดทุนของมูลค่าสินค้าในธุรกิจพลาสติก ทั้งนี้ รายได้ของบริษัทลดลงประมาณ 10% เมื่อเทียบกับปีก่อน โดยอยู่ที่ 7.1 พันล้านบาทในไตรมาสแรกของปี 2558 อัตราส่วนกำไร (อัตราส่วนกำไรจากการดำเนินงานก่อนค่าเสี่อมราคาและค่าตัดจำหน่ายต่อรายได้) ซึ่งไม่รวมกำไรจากอัตราแลกเปลี่ยนลดลงเหลือ 7.5% เมื่อเปรียบเทียบกับ 8.8% ในปี 2557 อัตราส่วนเงินกู้รวมต่อโครงสร้างเงินทุนในไตรมาสแรกของปี 2558 เพิ่มขึ้นเป็น 34.5% จากการลงทุนอย่างต่อเนื่องของบริษัท หนี้สินที่เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วส่งผลให้สภาพคล่องของบริษัทอ่อนแอลงดังเห็นได้จากอัตราส่วนเงินทุนจากการดำเนินงานต่อเงินกู้รวม (หลังปรับเป็นอัตราส่วนเต็มปีด้วยตัวเลข 12 เดือนย้อนหลัง) ซึ่งลดลงสู่ระดับต่ำที่ 5.2%
โครงการลงทุนของบริษัทซึ่งประกอบด้วยโรงงานผลิตปูนซีเมนต์แห่งที่ 4 ธุรกิจโรงไฟฟ้า ผลิตภัณฑ์ไฟเบอร์ซีเมนต์ ผลิตภัณฑ์อิฐมวลเบา และโรงผลิตปูนสำเร็จรูปคาดว่าจะทยอยเริ่มเปิดดำเนินงานได้ในปี 2558 เป็นต้นไป ค่าใช้จ่ายฝ่ายทุนของบริษัทคาดว่าจะยังเหลืออีกประมาณ 6-7 พันล้านบาทระหว่างปี 2558-2559 ซึ่งรวมถึงการลงทุนโรงไฟฟ้ากำลังการผลิต 70 เมกะวัตต์แห่งใหม่ที่มีมูลค่าประมาณ 3.3 พันล้านบาทด้วย โดยโรงไฟฟ้าดังกล่าวคาดว่าจะเริ่มการผลิตได้ในช่วงต้นปี 2560
ประมาณการของทริสเรทติ้งในกรณีฐานคาดว่ารายได้ของบริษัทจะเติบโตถึง 10%-20% ต่อปีในช่วง 2 ถึง 3 ปีข้างหน้า และจะอยู่ที่ประมาณ 4.0-4.3 หมื่นล้านบาทหลังจากทุกโครงการเริ่มดำเนินงานอย่างเต็มที่ ความสามารถในการทำกำไรและการสร้างเงินทุนจากการดำเนินงานคาดว่าจะปรับตัวดีขึ้นและมีความมั่นคงมากขึ้นเมื่อโครงการโรงไฟฟ้าแห่งใหม่รวมเข้ากับธุรกิจที่มีอยู่ในปัจจุบัน อัตราส่วนกำไรคาดว่าจะอยู่ในช่วง 13%-16% บริษัทจะยังมีการลงทุนขนาดใหญ่อย่างต่อเนื่องจนกระทั่งถึงปี 2559 ซึ่งส่งผลให้อัตราส่วนเงินกู้รวมต่อโครงสร้างเงินทุนน่าจะสูงขึ้นจนแตะระดับ 40%-42% ภายในปีดังกล่าว ทริสเรทติ้งคาดว่าบริษัทจะคอยควบคุมระดับค่าใช้จ่ายฝ่ายทุนและพยายามไม่เพิ่มอัตราส่วนเงินกู้รวมต่อโครงสร้างเงินทุนให้สูงกว่าระดับดังกล่าวเพื่อให้สอดคล้องกับอันดับเครดิตที่ระดับ “BBB+” ทริสเรทติ้งยังคาดด้วยว่าเงินทุนจากการดำเนินงานของบริษัทจะเพิ่มขึ้นเป็น 4-5 พันล้านต่อปี และอัตราส่วนเงินทุนจากการดำเนินงานต่อเงินกู้รวมจะปรับตัวดีขึ้นและมีสัดส่วนมากกว่า 15% ในระหว่างปี 2559-2560